มะเร็งเต้านมถ้าไม่กินทามอกซิเฟนไม่ฉายแสงจะกินเจจริงจังและนั่งสมาธิแทนได้ไหม
(ภาพวันนี้ : ต้นรังหน้าบ้านลุงดอนเปลี่ยนสี เป็นเครื่องหมายบอกถึงลี่ชุน..ฤดูใบไม้ผลิ)
เรียน อ. สันต์ ที่เคารพอย่างสูง
หนูอายุ 56 ปี อาชีพแพทย์ ยังมีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ไปตรวจ mammogram ultrasound เมือ่เดือนพฤศจิกายน 2565 เจอก้อนที่เต้านมข้างขวา ทำ biopsy ผลเป็นมะเร็ง invasive CA ผ่าตัดตัดก้อนที่เต้านม เลาะต่อมน้ำเหลือง 6 ต่อมเมื่อวันที่ 17 มค 2566 ผล patho เป็น ductal carcinoma ไม่ลามต่อมน้ำเหลือง ก้อน 0.8 cm มี ER positive 81-90 %,PR positive 31-40%,Her 2 negative, Ki 67 positive 10 % สรุปคือจัดอยู่ใน luminal A state 1
การรักษาต้องได้รับ tamoxifen 5 ปี ไม่ต้องคีโม แต่ฉายแสงรอพบแพทย์ฉายแสงแต่น่าจะต้องทำค่ะ
หนูกลัวการกินยา tamoxifen มาก ได้รับยามาแล้วแต่ยังไม่กล้ากินค่ะ เพราะเป็นคนแพ้ยาเยอะ
เรียนปรึกษาอาจารย์ว่าถ้าหนูปรับมากินพืชผักผลไม้จริงจัง ลดเนื้อสัตว์ ทำจิตใจ จะไม่กิน tamoxifen และไม่ฉายแสงได้มั้ยคะ ใจนึงก็กลัวมะเร็งกลับเป็นซ้ำ ใจนึงก็กลัวผลข้างเคียงยาค่ะ
กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ
ส่งจาก iPhone ของฉัน
…………………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วหากเปลี่ยนอาหารมากินมังสวิรัตินั่งสมาธิจะให้ผลการรักษาดีเท่าการกินยาทามอกซิเฟนควบกับการฉายแสงไหม ตอบว่ายังไม่เคยมีใครทำวิจัยประเด็นนี้ไว้แม้แต่ชิ้นเดียวนะครับ ผมจึงตอบคำถามนี้ไม่ได้
2.. ถามว่าการกินยาทามอกซิเฟนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยมะเร็งยังไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง จะดีกว่ากินยาหลอกสักแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ที่จะกิน ตอบว่าหากกินยานาน 2 ปี พบว่าอัตราปลอดโรคใน 4 ปีคือ 73% ถ้ากินทามอกซิเฟน และ 52% ถ้ากินยาหลอกครับ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยยะ เมื่อเทียบกับพิษภัยของยาซึ่งมีน้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้ วงการแพทย์ทั่วไปจึงยอมรับว่าการให้ยาทามอกซิเฟนเป็นมาตรฐานการรักษาในกลุ่มนี้ครับ
3.. ถามว่าการฉายแสงเฉพาะที่สำหรับคนเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 1 ที่ไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเมื่อเทียบกับไม่ทำจะต่างกันแค่ไหน ตอบว่างานวิจัยที่เป็นต้นแบบเรื่องนี้คือ The Early Breast Cancer Trial Collaborative Group ซึ่งให้ผลว่าการฉายแสงจะลดการกลับเป็นในสิบปีลงจาก 25% เหลือ 8% ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่มีนัยยะหากคำนึงถึงพิษภัยของการฉายแสงเฉพาะที่ซึ่งไม่ได้มากมายอะไรนัก และวงการแพทย์ก็ยอมรับเป็นมาตรฐานมาจนปัจจุบันว่ามะเร็งระยะที่ 1 ที่ไม่ลามไปต่อมน้ำเหลือง หากไม่ผ่าตัดเต้านมออกแบบราพณาสูร ก็ควรทำการฉายแสงควบหลังการผ่าตัดเสมอไป
4.. ถามว่าแล้วคุณหมอควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่า เออ มันก็ต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแล้วแหละครับ ทางเลือกในการรักษาจากนี้ไปก็คือจะกินยาทามอกซิเฟนควบฉายแสง หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือไม่ทำอะไรซักอย่าง
ผมเป็นแพทย์แผนปัจจุบันก็แนะนำได้แค่เท่าที่มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนเท่านั้น ว่าคุณหมอควรกินยาทามอกซิเฟนควบกับการฉายแสงเฉพาะที่ครับ นี่เป็นทางเลือกที่ผมแนะนำที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แต่หากคุณหมอไม่ยอมรับก็คงต้องไปทางเลือกอื่นคือไม่รักษาเลย
ส่วนการเปลี่ยนอาหาร การจัดการความเครียด หลังการเป็นมะเร็งนั้น อย่าไปมองมันเป็นทางเลือกของการรักษา ให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วไม่ว่าคุณหมอจะเลือกการรักษาแบบไหนหรือเลือกที่ไม่รักษาเลย คุณหมอก็ต้องกินให้ดีอยู่ให้ดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว
5.. ข้อนี้ผมแถมให้เพราะเห็นว่าคุณหมอชอบแนวไสยศาสตร์นิดๆจึงอาจมีประโยชน์ คืองานวิจัยติดตามสำรวจสัมภาษณ์ผู้ปฏิเสธผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสงแต่หายจากมะเร็งได้จำนวนพันกว่าคนของดร.เคลลี่ สรุปได้ว่าปัจจัยที่ทำให้หายสูงสุด 9 อย่างได้แก่
5.1 เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน ไปกินอาหารที่ไม่เคยกิน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเพิ่มการกินผักผลไม้ เลิกเนื้อสัตว์ น้ำตาล นมวัว แป้งขัดขาว
5.2 หันมารับผิดชอบดูแลตัวเองจริงจังโดยไม่หวังพึ่งใครอีกต่อไปแล้ว
5.3 เชื่อและทำตามปัญญาญาณ (intuition) ของตัวเองโดยไม่ฟังคำทัดทานทักท้วงใดๆทั้งสิ้น
5.4 ใช้พืชสมุนไพรในการรักษา
5.5 ปลดปล่อยอารมณ์ขุ่นมัวที่ค้างคาอยู่ในใจ
5.6 สร้างความคิดบวกและอารมณ์บวก
5.7 เปิดรับความเกื้อกูลทางสังคมจากคนอื่น
5.8 หันกลับไปหารากเหง้าทางจิตวิญญาณของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือความเชื่อก็ตาม
5.9 บอกตัวเองได้อย่างหนักแน่นว่าทำไมจะต้องมีชีวิตอยู่ ทำไมจะต้องไม่ตาย
กลไกของทั้ง 9 วิธีมันทำให้มะเร็งหายได้อย่างไรไม่มีใครทราบ ได้แต่เดาเอาว่ามันทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นจนทำลายเซลมะเร็งได้หมด แต่ว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่หลักฐานระดับเรื่องเล่า คือไม่มีผลวิจัยเปรียบเทียบยืนยันนะครับว่าหากทำทั้งเก้าวิธีนี้จะลดอัตราตายได้มากกว่าไม่ทำจริงหรือเปล่า หากลดได้จริงลดได้กี่เปอร์เซ็นต์ วิธีการเหล่านี้จึงไม่อาจใช้แทนวิธีมาตรฐานคือผ่าตัดฉายแสงและยาทามอกซิเฟนได้ อย่างดีที่สุดก็ควรใช้เป็นวิธีร่วมรักษา..ถ้าใจเราชอบ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Cummings FJ, Gray R, Davis TE, Tormey DC, Harris JE, Falkson GG, Arseneau J. Tamoxifen versus placebo: double-blind adjuvant trial in elderly women with stage II breast cancer. NCI Monogr. 1986;(1):119-23. PMID: 3534584.
- Early Breast Cancer Trialists’ Collaborative Group (EBCTCG); Darby S, McGale P, Correa C, et al. Effect of radiotherapy after breast-conserving surgery on 10-year recurrence and 15-year breast cancer death: meta-analysis of individual patient data for 10,801 women in 17 randomised trials. Lancet. 2011;378:1707–1716.
- Turner, KA. Radical Remission: Surviving Cancer against All Odds. New York: HarperOne, 2014.