วิธีชั่งน้ำหนักคำแนะนำของแพทย์ทางเลือก ในเรื่องการรักษารากฟัน

(ภาพวันนี้: เวอร์บิน่า หลังจากยืนหยัดบานมาแล้วสามเดือน)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

อยากทราบความคิดเห็นของคุณหมอเรื่อง Root Canal Treatment ค่ะ หมอฟันของหนูแนะนำให้ทำ แต่หนูคุยกับเพื่อนที่รักษากับแพทย์ทางเลือกหลายคน ได้ข้อมูลมาว่า การรักษารากฟันเป็นวิธีที่ขัดกับหลักธรรมชาติ เพราะเป็นการเก็บฟันที่ตายแล้วให้อยู่ในร่างกาย อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียติดค้างอยู่ และ อาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้ หมอฟันของหนูบอกว่าความเชื่อแบบนี้ไม่จริง ไม่มีหลักฐานยืนยัน และบอกว่า รักษารากฟันดีกว่าถอนฟันแล้วต้องทำ implant ซึ่งก็เป็นการใส่วัตถุภายนอกเข้าไปในร่างกายเหมือนกัน

หนูสับสนมาก ไม่รู้จะเชื่อแบบไหนดี อยากทราบว่าคุณหมอมีข้อแนะนำไหมคะ

ขอบคุณมากค่ะ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ป้าด..ด โทะ มีปัญหาเรื่องฟันก็ต้องปรึกษาหมอฟันสิครับ จะมาปรึกษาหมอสันต์ซึ่งเป็นหมอแพทย์ แล้วหมอสันต์จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร เพราะหมอสันต์ไม่ใช่หมอฟัน

อีกอย่างหนึ่ง ผมนี้เกรงอกเกรงใจหมอฟันเป็นพิเศษนะ เพราะผมเห็นตัวอย่างเพื่อนซึ่งแต่งงานกับหมอฟันคนสวยประจำรุ่น เขาบอกผมว่าการอยู่กับหมอฟัน วิธีที่จะมีชีวิตที่สุขสงบมีวิธีเดียว คือ

“อ้าปาก.. แล้วฟังอย่างเดียว”

(ฮิ ฮิ พูดเล่นนะครับ)

2.. ถามว่าแพทย์ทางเลือกแนะนำตรงกันข้ามกับทันตแพทย์ที่รักษาคุณอยู่ คุณจะเชื่อใครดี ตอบว่าคุณก็จับประเด็นคำแนะนำแล้วหาหลักฐานสนับสนุนดูเองสิครับว่ามีหลักฐานสนับสนุนหนักไปข้างไหนโดยไม่ต้องไปสนใจว่าใครพูด เนื่องจากวิถีชีวิตคนในปัจจุบันไม่อาจหลีกเลี่ยงทั้งแพทย์แผนปัจจุบันบ้างแพทย์ทางเลือกบ้างชาวบ้านธรรมดาบ้างที่นำเสนอขายสินค้าบริการและแชร์ไอเดียวิธีรักษาต่างๆทุกรูปแบบ ผู้บริโภคทุกคนที่ดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยตัวเองจึงต้องฝึกประเมินชั้นของหลักฐานวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ทด้วยตัวเอง ซึ่งผมเขียนเรื่องการประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ไปหลายครั้ง ผมพูดสรุปอีกครั้งตรงนี้ก็ได้ ว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นตามความเชื่อถือได้ ดังนี้

2.1 ผลวิจัยในคนแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (randomized controlled trial หรือ RCT) เช่น ให้จับฉลาดเบอร์ดำเบอร์แดง คนจับได้เบอร์ดำ ให้กินยาจริง คนจับได้เบอร์แดง ให้กินยาหลอก โดยทั้งคนให้ยาและคนกินยาต่างก็ไม่รู้ว่าอันไหนยาจริงอันไหนยาหลอก มีแต่นายทะเบียนคนเดียวที่รู้ งานวิจัยแบบนี้เป็นงานวิจัยที่เชื่อถือได้มากที่สุด บางครั้งผู้วิจัยได้เอาข้อมูลจากงานวิจัยแบบนี้หลายๆงานวิจัยมารวมกันแล้ววิเคราะห์ผลใหม่ เรียกว่าทำเมตาอานาไลซีส (metaanalysis) ซึ่งผลที่ได้ก็ถือว่าเป็นหลักฐานที่ดีเช่นกัน

2.2 ผลวิจัยในคน โดยตามดูคนสองกลุ่มแบบตามไปดูข้างหน้า กลุ่มหนึ่งกินยาหรือผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ อีกกลุ่มกินยาหลอกหรือไม่ได้กินอะไรเลย โดยที่วิธีแบ่งกลุ่มนั้นเป็นการแบ่งกันเองตามธรรมชาติ ไม่มีการสุ่มจับฉลากแบ่งกลุ่ม (prospective non randomized trial) เช่นการวิจัยเปรียบเทียบคนดื่มกาแฟกับคนไม่ดื่มกาแฟ เป็นต้น อันนี้เป็นหลักฐานขั้นที่ดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังเชื่อถือไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นรูปแบบการวิจัยที่อาจเจอปัจจัยกวนแล้วสรุปผลออกมาผิดความจริงได้

2.3 งานวิจัยย้อนหลังดูผลการรักษาในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร (case series) หรืออาจเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มคนหนึ่งที่คล้ายๆกัน (case control study) แบบนี้ทางการแพทย์ก็ถือเป็นหลักฐานที่ต่ำลงมาอีก ยิ่งต้องฟังหูไว้หูเช่นกัน

2.4 งานวิจัยในสัตว์ หรือในห้องแล็บ หรือห้องทดลอง (animal or lab research) ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำมาก ยังเอามาใช้ในคนไม่ได้

2.5 เรื่องเล่า (anecdotal) หรือคำแนะนำ รวมถึงคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ทางวิทยาศาสตร์ไม่นับเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์

3.. ถามว่าการเก็บชิ้นส่วนหรือเซลล์ที่ตายแล้วให้อยู่ในร่างกายจะเป็นที่ซุ่มซ่อนของเชื้อแบคทีเรียแล้วทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้จริงไหม ตอบว่าประเด็นของคุณคือการเลือกรักษาด้วยวิธีรักษาคลองรากฟัน (root canal treatment) กับวิธีใส่รากเทียม (implant)ว่าเลือกวิธีไหนดีกว่ากัน ก่อนอื่นผมอยากให้คุณถอยออกมามาองภาพใหญ่ก่อน วิธีดูแลสุขภาพและรักษาโรคทุกวิธีล้วนมีความเสี่ยงและประโยชน์ของมันเองทั้งนั้น วิธีรักษามาตรฐานทุกวิธีถูกเลือกมาใช้ก็เพราะมีผลวิจัยเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์แล้วพบว่ามันให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง การเจาะเอาแต่ข้อมูลความเสี่ยงของวิธีรักษาแบบหนึ่งซึ่งอาจมีเปอร์เซ็นต์จิ๊บจ๊อยขึ้นมาไฮไลท์เพื่อให้คนกลัวการรักษาแบบนั้นโดยไม่ชั่งน้ำหนักกับประโยชน์ที่จะได้รับ และไม่เปรียบเทียบกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการรักษาทดแทนแบบอื่นที่ใช้แก้ปัญหาเดียวกัน เป็นมุมมองวิทยาศาสตร์แบบกบในกะลา (reductionism) การมองแบบนี้ก่อปัญหาและก่อความสับสนในการดูแลสุขภาพได้ไม่สิ้นสุด คุณอย่าไปมองปัญหาแบบนี้ ให้คุณหัดมองทุกปัญหาแบบกว้างขวางครอบคลุมแบบองค์รวม คือชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์ของทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธีในภาพรวมแล้วเลือกวิธีที่ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดมาใช้กับตัวเอง

ข้อมูลเปรียบเทียบก็ได้มาจากทั้งการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในที่นี้ก็คือทันตแพทย์ และอาจเสริมด้วยการเปิดอ่านวารสารเอาเองในอินเตอร์เน็ท ซึ่งในที่นี้ก็คือวารสารทันตแพทย์ บังเอิญชีวิตปกติของหมอสันต์อ่านแต่วารสารการแพทย์ทุกสาขาแต่ไม่เคยอ่านวารสารทันตแพทย์เพราะผมเป็นแพทย์ไม่ใช่ทันตแพทย์ ผมจึงไม่มีข้อมูลที่จะมาตอบคำถามคุณได้ ถ้าคุณอยาก double check ข้อมูลที่หมอฟันของคุณพูด คุณก็คงต้องไปหาความเห็นของหมอฟันคนที่สองคนที่สาม หรือไปเปิดหาอ่านงานวิจัยในวารสารทันตแพทย์เอาเองแล้วแหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี