เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid) ไม่ผ่าตัดได้ไหม และอายุเท่าไรควรเริ่มเอ็กซเรย์เต้านม
(ภาพวันนี้: หน้าหนาว อาทิตย์เปลี่ยนมุม ย้ายที่กินอาหารเช้ามาอยู่หน้าบ้านได้)
สวัสดีค่ะคุณหมอ
ก่อนอื่นขอบอกว่าชอบ ชื่นชม และเชื่อมั่นในตัวคุณหมอนะคะ ดิฉันขอปรึกษาสอบถามคุณหมอหน่อยค่ะ ดิฉันอายุ 48 ไปตรวจภายใน ตรวจเมมโมแกรม พบว่า เป็นเนื้องอกที่มดลูก คุณหมอแนะนำให้ตัดมดลูก และอายุเยอะแล้วให้ตัดปีกมดลูกออก 2 ข้าง ด้วยเลย ซึ่งคุณหมอก็ไม่ได้บอกว่าก้อนเนื้อขนาดเท่าไร มีกี่ก้อน ดิฉันเลยจะไปตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลอื่น พอดีเคยดูคลิปหมอสูติท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าอายุเยอะแล้ว ไม่ต้องตัดก็ได้ เพราะถ้าหมดประจำเดือน ก้อนเนื้อมันจะฝ่อไปเอง ซึ่งประจำเดือนดิฉันก็น่าจะใกล้หมดแล้ว จึงไม่อยากผ่า สามารถทานยาที่ให้ฝ่อได้หรือเปล่าค่ะ และอีก 1 เรื่อง ตรวจเมมโมแกรมแล้วพบว่ามีแคลเซียมเกาะ คุณหมอที่ทำอัลตร้าซาวน์บอกว่า เป็นระดับ 3 ถ้าเป็นระดับ 5 ถึงจะเป็นมะเร็งให้ลองปรึกษากับหมอด้านนี้อีกที ซึ่งก็ส่งตัวไปหาหมอศัลยแพทย์บอกว่าไม่เป็นไรเป็นปกติ ให้มาทำเมมโมแกรมทุก 6 เดือน ขอสอบถามคุณหมอว่า สามารถทำให้แคลเซียมหายไป หรือไม่ให้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งได้หรือเปล่า และทั้ง 2 โรคนี้ จะดูแลตัวเองยังไง ปกติตอนนี้ก็ลดทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังทานอยู่บ้างนิดหน่อยค่ะ ถ้าไม่ทานเนื้อสัตว์ ต้องทานอะไรแทน เต้าหู้ทานได้หรือเปล่า มีผลอะไรกับโรคมั้ยค่ะ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
และขอขอบคุณที่ให้ความรู้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากๆ ค่ะ
…………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าไม่มีอาการอะไรแต่ตรวจสุขภาพประจำปีพบเนื้องอกมดลูก (uteri fibroid) ไม่ผ่าตัดจะได้ไหม ตอบว่าไม่ต้องผ่าตัดก็ได้สิครับ ความจริงเนื้องอกมดลูกไม่ใช่ว่าเป็นแล้วต้องรีบผ่าออกหมด วิทยาลัยสูติแพทย์อเมริกัน (ACOG) ได้กำหนดข้อบ่งชี้ไว้ว่าควรผ่าออกเฉพาะเมื่อ (1) ประจำเดือนมากหรือปวดมากหรือก่ออาการอื่นจนใช้ชีวิตปกติลำบาก (2) เลือดออกนอกเวลาประจำเดือนปกติ (3) ไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดว่าเป็นเนื้องอกของอะไรกันแน่ เช่นไม่แน่ใจว่าเป็นมะเร็งของรังไข่หรือเปล่า (4) ก้อนโตเร็ว คือเพิ่มขนาดเกินเท่าตัวในเวลาไม่เกินปี ซึ่งชวนให้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง (ปกติเนื้องอกมดลูกมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก คือน้อยกว่า 1 ใน 1000)
กรณีของคุณนี้ไม่มีข้อบ่งชี้อะไรซ้ากกะอย่างว่าควรจะผ่าตัด จึงไม่ควรผ่าตัด เพราะหลักวิชาการผ่าตัดมีง่ายๆที่นักเรียนมัธยมก็เข้าใจได้ ว่าหากไม่มีข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัดก็ไม่ควรผ่าตัด เพราะการผ่าตัดไม่ใช่การเดินเล่นชมสวน พลาดท่าเสียทีก็เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ประเด็นขนาดของเนื้องอกหรือจำนวนของเนื้องอกไม่สำคัญตราบใดที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าควรผ่าตัด แต่การตรวจอุลตร้าซาวด์วัดขนาดของเนื้องอกอาจมีประโยชน์เพื่อการติดตามดูขนาดใน 6-12 เดือนข้างหน้า เผื่อคุณเป็นคนแจ๊คพ็อต 1 ใน 1000 ขนาดโตขึ้นเกินเท่าตัวก็จะได้ผ่าออกเสีย
2.. ถามว่ายากินให้เนื้องอกมดลูกฝ่อไปได้มีไหม ตอบว่ามีแต่ยาฉีดครับ ชื่อ gonadotropin releasing hormone analogues (GnRHas) แต่ว่าคุณอายุปูนนี้แล้วไม่ต้องฉีดหรอกครับ เดี๋ยวมันก็ฝ่อไปเอง
3.. ถามว่าตรวจแมมโมแกรมแล้วพบแคลเซี่ยมเกาะในเต้านม จะหายามาเอาแคลเซียมออกมีไหม ตอบว่าไม่มีครับ และขอแถมหน่อยว่าคุณอย่าไปกระต๊ากอะไรกับแคลเซียมในเต้านม เพราะเต้านมเขามีไว้ผลิตน้ำนม และน้ำนมก็ผลิตจากแคลเซียม มันก็ย่อมมีแคลเซียมเรี่ยราดอยู่ได้เป็นธรรมดา เนื้อเยื่ออื่นๆของเต้านมก็มักมีแคลเซียมมาเกาะมาพอกเป็นประจำเช่น ผิวหนัง หลอดเลือด เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือแคลเซียมในเต้านมที่ถือว่าปกติ ซึ่งรังสีแพทย์เขาจะมีในใจอยู่แล้วว่าอย่างไหนที่เป็นแคลเซียมแบบปกติ แต่ว่ามันเป็นธรรมเนียมที่จะต้องตามดู 1-2 ครั้งเผื่อว่าถ้ามีมะเร็งจริงตัวมะเร็งมันจะใหญ่ขึ้นอย่างน้อยเท่าตัวซึ่งโตพอที่จะดันให้แคลเซี่ยมที่ตอนแรกดูปกตินั้นโย้ผิดที่ไปได้ซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยให้วินิจฉัยมะเร็งได้ง่ายขึ้น
ในการอ่านผลแมมโมแกรมหมอรังสีเขาจะอ่านเป็นตัวเลขตามระบบฐานข้อมูลรายงานภาพเต้านม หรือ Breast Imaging-Reporting and Data System เขียนย่อว่า BIRADS ถ้า BIRADS-3 ก็แปลว่าไม่น่าจะเป็นมะเร็ง ถ้า BIRADS-4 ก็แปลว่าน่าจะเป็นมะเร็ง ถ้า BIRADS-5 ก็แปลว่าเป็นมะเร็งแหงแซะ ของคุณนี้เขาอ่านมา BIRADS-3 ก็คือไม่น่าจะเป็นมะเร็ง จึงยังไม่ต้องกระต๊าก
การติดตามทำแมมโมแกรมซ้ำเมื่ออ่านว่า BIRADS-3 เป็นสิ่งที่ควรทำสัก 1-2 ครั้งห่างกันสัก 6 เดือน ถ้ามันยังเหมือนเดิมก็เลิกติดตามได้ แค่ลดลงมาตรวจตามรอบการทำแมมโมแกรมปกติ กล่าวคือคณะทำงานป้องกันโรครัฐบาลสหรัฐ(USPSTF)แนะนำรอบการตรวจแมมโมแกรมปกติว่าควรตรวจปีเว้นปีในช่วงอายุ 50-75 ปี
โปรดสังเกตว่าคุณอายุยังไม่ถึง 50 ปีแล้วทำไมรีบไปตรวจแมมโมแกรมละครับ การที่คุณขยันไปตรวจเร็วเกินกว่าที่คำแนะนำมาตรฐานเขาแนะนำเนี่ยไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ คำแนะนำมาตรฐานเขาคำนวณความเสี่ยงและประโยชน์มาดีแล้ว การตรวจเร็วขึ้นกว่าคำแนะนำบางครั้งมันกลับนำคุณไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น ทำให้ได้รับความเสี่ยงหรือทุพลภาพมากกว่าอยู่เปล่าๆเสียอีก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์