อายุ 70 เจ็บส้นเท้าสองสามก้าวแรกที่ลงจากเตียงหรือลุกจากเก้าอี้
(ภาพวันนี้: ดอกถ้วยทอง)
สวัสดีค่ะ คุณอาหมอสันต์
คุณแม่อายุ 70ปี มีอาการเจ็บส้นเท้าตอนลุกขึ้นยืนจากนั่งเก้าอี้ และเจ็บ2-3ก้าวแรกเมื่อเริ่มเดิน ก้าวต่อไปความเจ็บก็น้อยลง เคยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี เจ็บอยู่3-4เดือน แล้วจู่ๆก็หายเอง และตอนนี้กลับมาเป็นใหม่ รบกวนขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการเจ็บค่ะ (คุณแม่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติค่ะ)
ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
………………………………………………………………………
ตอบครับ
1.. ถามว่าอายุ 70 เจ็บส้นเท้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสองสามก้าวแรกที่เพิ่งลงเหยียบพื้นหลังตื่นนอนหรือหลังนั่งพักนานๆ เป็นอะไร ตอบด้วยวิธีเดาแอ็กโดยไม่ได้ตรวจร่างกายว่ามีโอกาสมากที่จะเป็นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) หรือที่เรียกแบบบ้านๆว่า “รองช้ำ” นั่นแหละ
2.. ถามว่าแล้วต้องทำไงต่อ ตอบว่าวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการยืดเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่อง ควบไปกับการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อน่อง
ท่ายืดทำได้เองก็เช่น เอาสองมือท้าวผนังก้าวขาข้างหนึ่งไปหน้ายืดอีกขาหนึ่งไปหลังโดยให้ฝ่าเท้าหลังชิดพื้นไว้แล้วโยกตัวไปหาผนังเพื่อให้น่องหลังและเอ็นร้อยหวายถูกยืดจนตึง
หรือไปยืนที่ลูกนอนของบันไดโดยเอาปลายของฝ่าเท้าวางบนพื้นผิวราบของลูกนอนบันได ให้ส้นเท้าอยู่กลางอากาศ มือจับราวบันไดไว้ แล้วเขย่งตัวขึ้นๆลงๆ
หรือให้ง่ายกว่าก็คือสั่งซื้อแท่นยืนเขย่งเท้าที่เขาทำขายกันเกร่อทางอินเตอร์เน็ทอันละ 450 – 500 บาทดังรูปตัวอย่างที่ผมลงให้ดู เอามาวางแล้วก็ขึ้นไปยืนให้ส้นเท้าอยู่ข้างต่ำนะ บางคนเอาไปยืนให้ส้นเท้าอยู่ข้างสูงอย่างนั้นใช้ของผิดสะเป๊ค หิ หิ ที่ถูกต้องยืนให้ส้นเท้าอยู่ข้างต่ำ ยืนแล้วน่องและเอ็นร้อยหวายต้องถูกยืดจนตึง
หรือถ้าชอบของนอกก็ไปซื้อกายอุปกรณ์ของฝรั่งที่ใช้รักษาโรคนี้ มีมากมายหลายแบบ เช่นแผ่นรองฝ่าเท้า (insole) ชนิดต่างๆ เฝือกใส่ยืดฝ่าเท้าตอนกลางคืน (night splint) เฝือกเท้าแบบตั้งองศาข้อเท้าได้ (foot brace) และถุงหุ้มส้นเท้ากันกระแทก (heel cup) เป็นต้น
3.. ถามว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเป็นไรไหม ตอบว่ามันก็ไม่เป็นไรถ้าทนปวดได้ เพราะโรคนี้มันมักจะเป็นเองหายเอง โดยเวลาที่หายก็ประมาณ 6-18 เดือน มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นๆหายๆ ซึ่งก็ดีตรงที่มีส่วนช่วยให้พนักงานบีบนวดมีงานทำ
แต่ในกรณีที่อาการมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต ควรไปหาหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้เขาดูว่ามันมีเหตุอะไรเป็นพิเศษที่ผิดแผกไปจากรองช้ำทั่วไปหรือเปล่า (เหตุดังกล่าวก็เช่นหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท เป็นต้น) ถ้ามีและเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ก็จะได้แก้ไขเสีย
สำหรับการกินยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่มไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID) ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรคนี้กินกันเกือบทุกคนนั้นหมอสันต์ไม่แนะนำเลย เพราะยาในกลุ่มนี้เมื่อใช้แล้วก็อดจะใช้ซ้ำซากไม่ได้ นานไปก็ชักนำให้เกิดไตวายเรื้อรังบ้าง เกิดปัญหากับหัวใจบ้าง ดังนั้นผมว่าหลีกเลี่ยงการใช้ไว้ให้ถึงที่สุดดีกว่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์