อ้าว...จะตายแล้วหรือ

(ภาพวันนี้: เวอร์บีน่า ดูเป็นทุ่งๆมาแยะแล้ว ลองมาดูของหมอสันต์บ้าง นำเสนอเป็นแบบดอกๆ ฮิ ฮิ)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณพ่ออายุ 71 เป็นมะเร็งปอดแล้วเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก ตอนวาระสุดท้ายโรคไม่ได้ทรมานอะไรท่านมาก ไม่มีอาการปวด ไม่มีอาการไอ ตั้งแต่หลังผ่าตัดท่านก็ผอมลงๆแล้วก็หมดแรงลงจากเตียงไม่ได้ ที่หนูเขียนมาหาคุณหมอก็เพราะหนูข้องใจว่าตอนจะตายพ่อมีอาการเหมือนกับว่าไม่อยากตาย ไม่พร้อมที่จะตาย อันนี้หนูพอเข้าใจ แต่ทำไมพ่อเหมือนมีอาการประหลาดใจหรือเซอร์ไพรส์อะไรสักอย่าง ซึ่งหนูมีความรู้สึกว่าเซอร์ไพรส์นั้นไม่ใช่ของดี เพราะท่านมีอาการตกใจ เหมือนว่าทำไมไม่บอกกันแต่แรก มันคืออะไรหรือคะ อะไรที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์หรือตกใจเมื่อตอนจะตาย

ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………………….

1.. ถามว่าคนเราก่อนตายทำไมตกใจหรือประหลาดใจอะไรหรือ ตอบว่าเออ..ผมก็ยังไม่เคยตายนะ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรเล่าครับ

แต่จากการทำอาชีพนี้ทำให้ได้อยู่กับคนกำลังจะตายมาแยะและยอมรับว่าอาการอย่างที่คุณว่ามันมีอยู่จริงในคนไข้จำนวนหนึ่ง อาจจะเรียกว่ามากเกิน 50% ก็น่าจะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่เรายังไม่นิยมอัดมอร์ฟีนก่อนตายมากอย่างทุกวันนี้

ถ้าจะให้ผมเดา ผมเดาว่าอาการอย่างนั้นสะท้อนถึงความตกใจว่า

“อ้าว..จะเอาร่างกายนี้คืนไปแล้วหรือ?”

เพราะตอนที่ได้ร่างกายนี้มานึกว่าจะได้สิทธิเป็นเจ้าของแบบถาวร ใครๆก็สอนให้คิดอย่างนั้น จึงไม่ได้คิดถึงวันจะถูกทวงคืน หากรู้ว่าจะถูกทวงคืนอาจจะรีบใช้ประโยชน์จากร่างกายนี้ให้เต็มที่กว่านี้สักหน่อย แต่นี่ได้มายังไม่ทันรู้เลยว่าร่างกายนี้มันใช้ทำอะไรได้บ้าง จะเอาคืนเสียแล้วหรือ หากเปรียบร่างกายนี้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสักชิ้นหนึ่งก็เรียกว่าได้เครื่องมายังไม่ทันได้อ่านคู่มือการใช้งานหรือ instruction manual เลย ก็จะเอาของคืนเสียแล้ว

พูดถึงการอ่านคู่มือการใช้งานนี่มันสำคัญนะ ตอนที่ผมเริ่มทำคลินิกออนไลน์ใหม่ๆเมื่อสองสามเดือนก่อน โทรศัพท์ไอโฟน 6 ของผมมันชอบหน่วงสัญญาณทำให้คุยกับผู้ป่วยติดๆขัดๆ หมอสมวงศ์ได้เอาไอโฟน13 ของเธอบริจาคให้ ทำให้การตอบคำถามลื่นไหลดีมาก ขณะที่ผมตอบคำถามผู้ป่วยอย่างเจาะลึกอยู่นั้นผมมีความรู้สึกว่าคำถามบางคำถามที่ผู้ป่วยถามและคำตอบที่ผมตอบให้มันจะมีประโยชน์มากถ้ากลั่นหรือตัดแยกเอาเฉพาะส่วนที่ผมพูดเจาะลึกถึงวิธีแก้ปัญหาหนึ่งๆมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย จึงมีความคิดที่จะถ่ายทำคำตอบของผมเป็นวิดิโอคลิปเผยแพร่ฟรี แต่ว่าผมไม่ชอบเอากองถ่ายมานั่งถ่ายทำเวลาผมคุยแบบส่วนตัวกับผู้ป่วยแม้จะเป็นการคุยกันทางออนไลน์ก็ตาม ผมจึงต้องหาทางถ่ายทำและตัดต่อวิดิโอคลิปด้วยตัวผมเองคนเดียว ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องนั่งแกะคู่มือการใช้งานไอโฟนไปทีละหน้า จึงได้เห็นว่าคู่มือนี่สำคัญ ถ้าไอโฟนไม่มีคู่มือการใช้งาน งานนี้ก็เลิกคิดได้เลย

ยกตัวอย่างประกอบอีกเรื่องหนึ่ง ผมมีเพื่อนรุ่นเดียวกันคนหนึ่งเขาเป็นวิศวกรใหญ่เจ้าของโรงงาน เขาซื้อเครื่องจักรมาราคาเป็นร้อยล้าน แล้ววันหนึ่งเครื่องจักรเกิดเสีย วิศวกรในบริษัทใครๆก็ซ่อมไม่ได้ การผลิตหยุดชงัก ขาดรายได้ ผู้ขายเครื่องจะส่งวิศวกรจากเมืองนอกมาช่วยซึ่งกว่าจะมาได้ก็ต้องรอเป็นเดือน แต่ตัวเขากำลังยุ่งและต้องรีบเดินทางไปต่างประเทศเสียก่อนเพราะเขามีโรงงานอยู่ในต่างประเทศด้วย ไปเมืองนอกสามสัปดาห์กลับมาก็ตั้งใจจะมาแก้ปัญหาเครื่องจักรเดินเครื่องไม่ได้ แต่พอกลับมากรุงเทพก็พบว่าโรงงานเดินเครื่องทำการผลิตได้แล้ว เขาสอบถามว่าแก้ปัญหาอย่างไร ก็จึงได้ทราบว่าคนงานพม่าคนหนึ่งนั่งอ่านคู่มือการใช้งานไปทีละหน้าแล้วแก้ปัญหาตามไปทีละขึ้น ในที่สุดก็เดินเครื่องได้ ขณะที่วิศวกรไทยนั้นมีนิสัยว่าได้เครื่องมาฟังบรรยายสรุปฝรั่งคร่าวๆแล้วก็ลงมือใช้งานกดปุ่มนั่นปุ่มนี่ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งก็ใช้เครื่องได้เหมือนกัน แต่พอเครื่องเสียก็..จบข่าว

ประเด็นที่ผมจะพูดถึงวันนี้ก็คือในบรรดาอุปกรณ์ไอทีชิ้นที่ซับซ้อนที่สุดที่เราทุกคนได้มาก็คือชีวิตเราอันประกอบด้วยร่างกายและใจนี่เอง เราได้มาคนละชุด มันเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมากกว่าไอโฟนไม่รู้กี่เท่า แต่ว่ามันไม่มีคู่มือการใช้งานติดมาด้วย ต้องอาศัยใช้วิธีของ “ช่างเถอะ” คือกดปุ่มลองผิดลองถูกไป ดูชาวบ้านเขาแล้วทำตามเขาไป ซึ่งก็จะใช้งานได้แค่กิน นอน เคลื่อนไหว ขับถ่าย สืบพันธ์ สำหรับบางคนแค่การใช้งานเบสิกห้าอย่างนี้ก็ยังลำบากทุลักทุเล ขณะที่หมาแมวมันก็ใช้ฟังชั่นเบสิกได้เท่าเราแต่มันทำได้แบบสบายใจเฉิบไม่เห็นมันยักแย่ยักยันแบบเราเลย ที่จะหวังไปใช้ฟังชั่นสูงๆที่เครื่องมือชิ้นนี้ออกแบบมาให้ทำได้นั้นคงยากส์..ส์ แล้วปุ๊บปั๊บก็ได้เวลาตาย นาทีสุดท้ายจึงได้แต่อ้าปากตาค้างด้วยความตกใจว่า อ้าว จะตายแล้วหรือ จะเอาคืนแล้วหรือ ยังไม่ทันรู้เลยว่าเครื่องมือชิ้นนี้มันใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง

องค์ประกอบส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่พ้นความคิดและภาษา คงไม่มีใครเขียนคู่มือการใช้งานชีวิตออกมาเป็นภาษาได้ดอก อย่างดีก็ได้แต่เปรยบอกทางแบบเลาๆว่าชีวิตนี้ทำอะไรได้มากกว่าฟังชั่นเบสิกห้าอย่างคือ กิน ถ่าย นอนหลับ เคลื่อนไหว สืบพันธ์ นะ เนื่องจากคู่มือใช้งานฟังชั่นสูงๆไม่มี ผมเองก็อาศัยวิธีลองผิดลองถูกด้วยความอยากรู้ส่วนตัว จึงพอมีประสบการณ์มาบอกใบ้ให้ท่านเลาๆได้ว่าวิธีที่จะใช้งานฟังชั่นสูงๆได้ท่านต้องเลิกใช้หรือ disable ฟังชั่นเบสิกก่อน ผมหมายถึงว่าต้องทิ้งความคิดหรือคอนเซ็พท์ใดๆในหัวไปให้หมดก่อน เข้าไปอยู่ในความรู้ตัวที่ว่างเปล่าให้ได้ก่อน เมื่อเคลียร์ฟังชั่นเบสิกได้แล้วท่านจึงจะดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานฟังชั่นสูงๆมาลองเล่นได้ และในฟังชั่นสูงๆนี้เท่านั้นที่ท่านจะเข้าใจชีวิตมากพอที่จะไม่อ้าปากตาค้างด้วยความตกใจว่า

“อ้าว..จะตายแล้วหรือ”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี