โรคเรื้อรังทั้งหลาย แท้จริงแล้วเป็นโรคเดียว ที่มีสาเหตุเดียวกัน
(ภาพวันนี้: อ่อมแซ่บ)
วันนี้ผมจะเขียนบทความที่ยาวมากๆ เพื่อจะสื่อสิ่งที่ผมสรุปได้จากการทำอาชีพนี้มานานและรักษาผู้ป่วยหลากหลายสาขา สิ่งที่ผมจะพูด แม้จะยังไม่ใช่หลักวิชาแพทย์ที่เป็นมาตรฐานของวันนี้ แต่ผมจงใจจะพูดทิ้งไว้ เผื่อว่าผมตายไปเสียก่อน แพทย์รุ่นหลังๆอย่างน้อยก็จะได้เรียนรู้ต่อยอดจากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มา นั่นคือ
“โรคเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ อัมพาต ความดัน เบาหวาน โรคอ้วนและไขมันสูง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้เป็นโรคเดียวกัน มีสาเหตุอย่างเดียวกัน คือการกินการอยู่การใช้ชีวิต และเมื่อแก้ไขสาเหตุตรงนี้ที่เดียว ก็แก้ไขได้ทุกโรค”
ความที่ผู้ป่วยคนหนึ่งมักจะเป็นโรคเหล่านี้หลายๆโรคในคนคนเดียวกัน คือโรคกลุ่มนี้มักจะดาหน้ามาพร้อมกันกันเป็นแผง ผมจึงตั้งชื่อกลุ่มให้โรคในกลุ่มนี้ว่า “7 สหายวัฒนะ”
ในหมวกที่ผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผมมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยเมื่อเขาเริ่มมีอาการป่วย แล้วส่งต่อไปให้แพทย์เฉพาะทางตามโรคที่เขาเป็น ทำไปทำมาหลายสิบปีเข้า ทุกวันนี้กลายเป็นว่าแพทย์เฉพาะทางส่งผู้ป่วยมาให้ผมทำการรักษาเรื่องการกินการอยู่การใช้ชีวิต หลังจากที่ใช้เวลานานแล้วพบว่าการรักษาด้วยยาและหัตถการเฉพาะด้านไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหาย
เมื่อพิจารณางานวิจัยใหม่ๆที่ทยอยออกมาในโลกนี้ในหลายปีที่ผ่านมานี้ก็จะพบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรคล้วนมีกลไกพื้นฐานที่บ่มให้เกิดโรคไม่กลไกใดก็กลไกหนึ่งหรือหลายกลไกต่อไปนี้ คือ
- กลไกการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายจำนวนมากแล้วก่อความเสียต่อเนื้อเยื่อร่างกาย
- ภาวการณ์อักเสบเรื้อรังในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลายอวัยวะ
- กลไกการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป ส่วนใหญ่จากความเครียดอันสืบเนื่องมาจากความคิด
- กลไกการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจุลชีพในร่างกายแล้วนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง
- กลไกการเกิดสารทีเอ็มเอโอขึ้นในร่างกายแล้วก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง
- กลไกการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเผาผลาญและการย่อยสลายของเซลล์
- กลไกการสร้างหลอดเลือดใหม่ในจุดที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์
- กลไกการควบคุมการแสดงออกของยีน
- กลไกเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรค
วันนี้เรามาใช้เวลาทำความรู้จักกันเสียหน่อยว่ากลไกทั้ง 9 อย่างข้างต้นนี้ มันเป็นอย่างไร และเราจะพลิกผันโรคเรื้อรังผ่านแต่ละกลไกได้อย่างไร
(1) กลไกการเกิดและการต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
โมเลกุลไขมันเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลและดีเอ็นเอของเซลร่างกายเรา เมื่อเราตั้งน้ำมันผัดทอดอาหารที่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอย่างเช่นน้ำมันถั่วเหลืองไว้ในห้องครัวนานๆ มันจะขึ้นหืน (rancid) เพราะตัวน้ำมันทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศ (lipid peroxidation) ทำให้น้ำมันนั้นเก่าขึ้นหืน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเซลร่างกายได้ด้วย เพราะไขมันเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลและดีเอ็นเอ และเพราะในร่างกายมีออกซิเจนจำนวนหนึ่งที่มีอีเล็กตรอนแบบไม่มีคู่เรียกว่าอนุมูลอิสระ (radical) ซึ่งมีหลายตัวเช่น เช่นถ้ามีหนึ่งอีเล็กตรอนเรียกว่า superoxide radical (O2−)ถ้ามีสองอีเล็กตรอนก็เรียก hydrogen peroxide (H2O2)ถ้ามีสามอีเล็กตรอนก็เรียก hydroxyl radical (OH) โดยทั้งหมดนี้มีชื่อเรียกเหมาเข่งรวมว่าเป็นออกซิเจนสายพันธ์ไวต่อปฏิกริยา หรือ reactive oxygen species (ROS) ถ้ามันทำปฏิกิริยากับไขมันของเซลก็เรียกว่าเกิด oxidative stress ซึ่งจะทำให้เยื่อหุ้มเซลเปื่อย ดีเอ็นเอของเซลลุ่ยกระจุยกระจาย เซลนั้นก็จะแก่และตายไปหรือไม่ก็เป็นมะเร็งหรือเป็นโรคเรื้อรัง อนุมูลอิสระเหล่านี้นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเผาผลาญของเซลร่างกายในภาวะปกติแล้วยังเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น สารพิษในสิ่งแวดล้อมรวมทั้งกัมมันตภาพรังสีและความเครียด ข้อดีของอนุมูลอิสระคือมันช่วยฆ่าเชื้อโรค แต่ข้อเสียคือมันเป็นตัวทำลายเซลและก่อการอักเสบซึ่งหากร่างกายไม่สามารถต้านฤทธิ์ได้ก็จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง
งานวิจัยในแล็บและในร่างกายสัตว์พบว่าร่างกายมีโมเลกุลที่สามารถสลายพลังของพวก ROS เหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งออกฤทธิ์ด้วยการให้อีเล็กตรอนที่ขาดแก่ ROS เรียกสารเหล่านี้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เช่นเมลาโทนิน กลูต้าไทโอน เป็นต้น นอกจากที่ร่างกายมีอยู่แล้ว โมเลกุลอาหารอันได้แก่วิตามินแร่ธาตุต่างๆเช่นวิตามินซี. ดี. อี. สังกะสี เซเลเนียม ก็สามารถต้านอนุมูลอิสระในร่างกายให้กลับเป็นโมเลกุลที่หมดฤทธิ์เดชในการทำลายล้างได้
บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันเป็นผู้สร้างอนุมูลอิสระขึ้นมาเพื่อก่อปฏิกริยาการอักเสบโดยมีเป้าหมายทำลายเชื้อโรค แต่ว่าบางครั้งปฏิกริยาที่ก่อขึ้นใหญ่โตจนควบคุมไม่ได้เช่นในกรณีการเกิดปอดอักเสบรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด19 เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้สารต้านอนุมูลอิสระจะมีบทบาทควบคุมไม่ให้การอักเสบรุนแรงถึงขั้นทำลายร่างกายเสียเอง วิธีควบคุมก็ด้วยการเข้าไปสลายพิษของอนุมูลอิสระทั้งหลายเมื่อการทำลายเชื้อโรคบรรลุผลแล้ว
ในส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างใช้เอง เมลาโทนินสร้างจากต่อมไพเนียลในเวลากลางคืนหลังจากที่ได้เห็นแสงแดดในเวลากลางวัน และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่สร้างจากไมโตคอนเดรียของเซลทั่วร่างกายในเวลากลางวันเมื่อร่างกายได้สัมผัสแสงแดดส่วนที่เป็นรังสีใกล้ใต้แดง (NIR)เช่นแสงแดดที่สะท้อนจากใบไม้สีเขียว ส่วนกลูต้นไทโอนนั้นเซลร่างกายสร้างจากสารตั้งต้นชื่อ N-acetyl-cysteine (NAC) แล้วเก็บไว้ในน้ำวุ้น (cytomplasm) ของเซล เมื่อปล่อยอีเล็กตรอนสลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระแล้ว มันจะถูกชุบให้กลับมามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ใหม่ด้วยเอ็นไซม์ชื่อ glutathione reductase
ในส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากภายนอก งานวิจัยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังกินสารต้านอนุมูลอิสระในรูปยาเม็ดเช่นวิตามิน ซี อี ดี หรือแร่ธาตุเช่น สังกะสี เซเลเนียม แม้จะทำวิจัยอยู่นานหลายปี บางงานทำนานถึง 15 ปี กลับพบว่าไม่มีผลพลิกผันโรคได้แต่อย่างใด ขณะที่งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ผลตรงกันว่าหากให้คนกินอาหารพืชอันเป็นแหล่งธรรมชาติของวิตามินแร่ธาตุอันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลายเป็นอาหารหลัก (plant-based food) จะสามารถลดหรือพลิกผันโรคเรื้อรังเช่นความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด ได้ และลดโอกาสเป็นมะเร็งหลายชนิดเช่นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้ แสดงว่าการออกฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระนั้นเป็นการออกฤทธิ์ของโมเลกุลในอาหารพร้อมกับทีละหลายๆชนิด อาจทีละเป็นพันเป็นหมื่นชนิดก็เป็นได้ อาหารที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระแก่ร่างกายได้แก่วิตามินแร่ธาตุต่างๆและสารออกฤทธิ์จากพืชหลากหลายสีสัน
มองจากมุมของกลไกการเกิดและการต้านอนุมูลอิสระนี้ การรับประทานอาหารพืชที่หลากหลาย การหลีกเลี่ยงสารพิษในสิ่งแวดล้อมรวมทั้งบุหรี่และควันไอเสีย การลดความเครียด และการได้ใช้ชีวิตกลางแจ้งรับแสงแดดรวมทั้งแสงแดดที่สะท้อนจากใบไม้ต้นไม้ เป็นตัวช่วยพลิกผันโรคเรื้อรัง
(2) กลไกการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย
กลไกการก่อโรคเรื้อรังโดยอนุมูลอิสระที่วงการแพทย์ยอมรับกันทั่วไปแล้วกลไกหนึ่งคือการที่อนุมูลอิสระไปทำปฏิกิริยากับไขมันเลว (LDL) ที่ผนังหลอดเลือดให้เกิด oxidized LDL ซึ่งก่อปฏิกิริยาการอักเสบที่ดึงเอาเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาจมาเก็บกิน oxidized LDL แล้วตายกลายเป็นไขมันพอกผนังหลอดเลือดจนกลายตุ่มไขมัน (plaque) ที่ขนาดโตขึ้นๆจนทำให้หลอดเลือดตีบ กระบวนการอักเสบเรื้อรังนี้ใช้เวลานานหลายปีหรือหลายสิบปี เมื่อตุ่มไขมันนี้แตกออกก็เป็นเหตุให้มีลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดตรงจุดนั้นกลายเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลัน และเนื่องจากหลอดเลือดเป็นท่อส่งเลือดให้ทุกอวัยวะทั่วร่างกาย การอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือดจึงนำไปสู่โรคของอวัยวะสำคัญได้ทุกอวัยวะ รวมทั้งโรคสมองเสื่อมก็มีหลักฐานว่ามีกลไกส่วนหนึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือดขนาดเล็กในสมองด้วย และงานวิจัย Finger ซึ่งให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมระดับเบา (MCI) จัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดรวมถึงลดอาหารไขมันอิ่มตัวสูงเพิ่มการกินพืชที่มีกากมากให้หลากหลายก็พบว่าทำให้ภาวะสมองเสื่อมดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม
ไขมันอิ่มตัวในอาหาร เป็นตัวเพิ่มระดับของไขมันเลว (LDL) ในเลือด ซึ่งนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือด เราได้รับไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่มาจากอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น เนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา เป็นต้น ดังนั้นมองจากกลไกการอักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะการอักเสบของหลอดเลือดในร่างกายนี้ การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเช่นอาหารเนื้อสัตว์ให้น้อยลง หันมากินอาหารแคลอรี่ต่ำเช่นพืชผักผลไม้ถั่วนัทและธัญพืชไม่ขัดสีเป็นตัวช่วยพลิกผันโรคเรื้อรัง
(3) กลไกการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป
ระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งหมดของร่างกายโดยไม่ผ่านจิตสำนึกรับรู้หรือการสั่งการจากสมอง มันทำงานด้วยวงจรสนองตอบอัตโนมัติ (reflex) ซี่งรับสัญญาณเข้ามาทางประสาทรับรู้ (sensory) แล้วสั่งการออกไปทางปลายประสาทเคลื่อนไหว (motor) ตัวอย่างวงจรที่ง่ายที่สุดก็เช่นวงจรการเตะเท้าเมื่อถูกเคาะเอ็นหัวเข่าซึ่งมีกลไกการทำงานว่าเมื่อถูกเคาะเอ็นหัวเข่า ปลายประสาทรับรู้การยืดตัวของเอ็นจะส่งไฟฟ้ารายงานเข้ามายังแกนประสาทสันหลัง แล้วปล่อยไฟฟ้านั้นให้เส้นประสาทเคลื่อนไหวที่สั่งให้กล้ามเนื้อหน้าขาหดตัว ทั้งหมดนี้เกิดโดยอัตโนมัติไม่ต้องให้สมองสั่ง วงจรแบบนี้มีไม่รู้กี่ล้านวงจรในร่างกาย ควบคุมการทำงานอวัยวะทุกอวัยวะผ่านการเชื่อมต่อกันของเส้นประสาทอย่างซับซ้อน
วงจรสนองตอบอัตโนมัติที่ซับซ้อนจะรวมเอาความจำและความคิดเข้าพ่วงเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วย ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งทดลองให้สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งก่อนให้อาหาร นานเข้าสุนัขนั้นจะเกิดน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งทั้งๆที่ไม่ได้กลิ่นไม่เห็นอาหาร ทั้งนี้เป็นเพราะความจำของมันได้ถูกพ่วงเป็นส่วนหนึ่งของวงจรสนองตอบอัตโนมัตินี้
ระบบประสาทอัตโนมัติมีหน้าที่หลักอย่างหนึ่งคือเตรียมร่างกายให้พร้อมเมื่อเกิดภาวะคุกคาม (stress) ทั้งระบบผูกโยงเป็นระบบใหญ่ที่มีสองส่วน คือซีกเร่ง (sympathetic) และซีกหน่วง (parasympathetic) ทั้งสองส่วนนี้ทำให้อวัยวะทุกอวัยวะทำงานอย่างได้ดุลกัน ยามใดที่มีสิ่งคุกคาม ซีกเร่งก็จะทำงานมากกว่า ยามใดที่ปลอดโปร่งไร้สิ่งคุกคาม ซีกหน่วงก็จะทำงานมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีสิ่งคุกคามเช่นมีสัตว์ร้ายตรงเข้ามาจะทำร้าย ระบบซีกเร่งจะทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ส่งเลือดมากขึ้น หายใจเร็วขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนมากขึ้น หลอดเลือดหดตัวเพื่อเพิ่มความดันเลือด ฮอร์โมนเครียด (cortisol) ถูกปล่อยออกมามากขึ้น ทำให้มีความตื่นตัว มีการกักเกลือไว้ในเลือด เพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เลือดพร้อมที่จะแข็งตัวเร็วขึ้น เพื่อให้พร้อมกับการสู้หรือหนี เป็นต้น
เมื่อสิ่งคุกคามนั้นผ่านไป ระบบประสาทอัตโนมัติก็จะกลับมาทำงานแบบสมดุลตามปกติ แต่เนื่องจากสิ่งคุกคามในยุคปัจจุบันไม่ใช่สัตว์ร้ายในป่า แต่เป็นความคิดของเราเอง ซึ่งมักซ้ำซากวกวนยืดเยื้อเรื้อรัง กลายเป็นความเครียดเรื้อรังที่ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเร่งการทำงานระบบที่จำเป็นต่อการอยู่รอดเช่นระบบหัวใจหลอดเลือด ระบบการหายใจ ระบบการแข็งตัวของเลือด อย่างไม่หยุดหย่อน ขณะเดียวกันก็หน่วงหรือปิดการทำงานบางระบบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนไปหลายระบบเช่น ระบบภูมิคุ้มกันโรค ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธ์เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุและกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ยกตัวอย่างเช่นการหน่วงระบบภูมิคุ้มกันโรคทำให้เป็นมะเร็งและโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังได้ง่าย เพราะเซลที่กลายพันธ์ไปเป็นมะเร็งก็ดี การอักเสบในร่างกายก็ดี ปกติจะถูกเก็บกินหรือจัดการให้เป็นปกติโดยระบบภูมิคุ้มกันซึ่งมีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆเป็นกำลังหลัก
มองจากมุมของการที่ระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นมากเกินไป การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตมาอยู่ในวิถีที่ไม่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรังและการรู้จักผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นแล้วให้คลายตัวลงในชีวิตประจำวัน เช่นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว การฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกวางความคิด ผ่านเทคนิคเช่นโยคะ ไทเก็ก ออกกำลังกายพอดี ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก็เป็นวิธีพลิกผันโรคเรื้อรังที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง
(4) กลไกการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจุลชีพในร่างกาย
ชุมชนจุลชีพในร่างกาย (microbiomes) หมายถึงระบบนิเวศน์วิทยา(ecosystem) ในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำไส้ นึกภาพเวลาเราไปดำน้ำดูปะการังเราจะเห็นสารพัดสัตว์น้ำและพืชน้ำอยู่ด้วยกันทั้งกุ้งหอยปูปลาหลากสีหลากรูปร่าง ม้าน้ำ ปะการัง สาหร่ายแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างลงตัว ในทางเดินอาหารเราก็มีจุลชีวิตทั้งหลายทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ จำนวนมากอยู่อาศัยเป็นชุมชนในลำไส้ในลักษณะเดียวกันเดียวกับที่เราเห็นสัตว์และพืชเมื่อไปดูปะการังที่อยู่ก้นทะเลนี่แหละ มันมีกันเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามากถึง 38 ทริลเลี่ยนชีวิต ส่วนใหญ่มันจะอยู่ในร่างกายเราแบบอยู่ดีๆ ช่วยเจ้าบ้านทำโน่นทำนี่ จนมีแพทย์บางคนเรียกร่างกายเรานี้ว่าเป็น Holobiome หรือชุมชนสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เซลร่างกายของเรานะ แต่จุลชีวิตอื่นก็อาศัยอยู่ในนี้อีกเพียบโดยไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายนี้ที่แท้จริงคือใคร รู้แต่ว่าถ้าบรรดาผู้อาศัยทะเลาะกันเมื่อไหร่ทั้งร่างกายก็พังทันที เพราะจุลชีวิตในลำไส้นี้มันดำรงชีวิตและสื่อสารประสานงานอย่างแนบแน่นกับเซลของระบบต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคุ้มกันโรค เพราะอย่าลืมว่า 80% ของเซลที่เป็นกำลังพลของระบบภูมิคุ้มกันมีที่ตั้งอยู่ในลำไส้นั่นแหละ หากบรรดาจุลชีพในลำไส้อยู่ไม่สุข ก็อย่าได้หวังว่าร่างกายของเราจะได้อยู่สุข โรคเรื้อรังเกือบทุกโรคมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับชนิดของจุลชีพในลำไส้ แบคทีเรียในสำไส้ สามารถสื่อสารกับเซลสมอง เซลผิวหนัง เซลเส้นผม และมีส่วนร่วมกำกับการทำงานของเซลและเนื้อเยื่อเหล่านั้นด้วย รวมทั้งการร่วมกำกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกเชิงลบด้วย ทำให้ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความจำ อารมณ์ ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ความผุดผ่องของผิวหนัง และความมันของเส้นผม กลไกที่จุลชีวิตในลำไส้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลร่างกายนั้นทำผ่านการที่มันผลิตโมเลกุลชนิดกรดไขมันสายโซ่สั้น (short chain fatty acid – SCFA) ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่างๆต่อเซลต่างๆของร่างกายได้ สารอาไมลอยด์ที่สะสมคั่งค้างในสมองของคนเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ก็ผลิตโดยแบคทีเรียในลำไส้ ความสัมพันธ์ระหว่างโรคสมองเสื่อมกับจุลชีพในลำไส้นั้นถูกค้นพบเพิ่มขึ้นแทบจะทุกวัน
งานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีวิตในทางเดินอาหารปัจจุบันนี้ได้ก้าวหน้าไปจากสมัยก่อนมาก อาศัยข้อมูล genome mapping การศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียแค่ใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรม (DNA) ในสารคัดหลั่ง เยื่อบุ และในอุจจาระ ดูแค่นี้ก็รู้หมดแล้วว่ามีจุลชีวิตอยู่กี่ชนิดทั้ง แบคทีเรีย รา ไวรัส ชนิดไหนมีจำนวนเท่าไร ตรวจครั้งเดียวได้ถึงระดับห้าหมื่นชนิด ปัจจุบันนี้ ฐานข้อมูล ZOE มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไมโครไบโอมใหญ่มากพอจนหากตรวจทราบชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แล้วสามารถใช้ฐานข้อมูลทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะมีดัชนีวัดสุขภาพตัวอื่น เช่น ความดัน น้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด เป็นอย่างไร เพราะจุลชีวิตแต่ละชนิดต่างก็มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังแต่ละโรคไปคนละแบบ
ไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของเรานี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทางดีหรือทางร้ายได้ ตามอาหารที่เรากิน เพราะมันกินอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นแหละแต่อาหารของพวกมันเป็นส่วนที่ร่ายกายของเราย่อยไม่ได้ ไมโครไบโอมกินอาหารที่มีกากมากและหลากหลาย กากหมายถึงอาหารพืชเท่านั้น เพราะอาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก ดังนั้นเท่าที่ความรู้ของวงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ อาหารที่จะสร้างสรรค์ไมโครไบโอมดีที่สุดคืออาหารพืชที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท เมล็ดพืช ธัญญพืช ถ้าเป็นไขมันก็ควรเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันมะกอก ในแง่ของการพลิกผันโรคเรื้อรังจากมุมมองของจุลชีพในลำไส้ การได้กินอาหารพืชธรรมชาติที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ งานวิจัยความหลากหลายการกินพืชในแต่ละเดือนของคนอเมริกันพบว่าส่วนใหญ่ 70% กินพืชไม่เกิน 20 ชนิด มีเพียง 15% เท่านั้นที่กินพืชเกิน 30 ชนิดขึ้นไป ตัวอย่างของอาหารที่ส่งผลต่อการมีชุมชนจุลชีพที่ดีในลำไส้เช่น ถั่วต่างๆ ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ ถั่วเลนทิล นัทเช่นวอลนัท ผลไม้เช่น องุ่น แครนเบอรี่ กีวีฟรุต มะม่วง ทับทิม ผักเช่น เคล หน่อไม้ บรอคโคลี่ กล่ำปลี ชาดำ เห็ดชิตาเกะ อาหารหมักเช่น กิมจิ เซาครูท ขนมปังซาวโด โยเกิร์ต
นอกจากนี้จุลชีพที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ยังอ่อนไหวต่อยาปฏิชีวนะ สารกันบูด (preservative) และสารในกลุ่ม additives ได้แก่สารแต่งกลิ่น สารแต่งรสต่างๆ ที่ใส่เข้าไปเป็นจำนวนมากในอาหารสำเร็จรูประดับ ultra-processed food ผลของมันจะเหมือนกับเอาน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างพื้นเทลงในโถส้วม คือมันจะทำลายจุลชีวิตที่ช่วยย่อยสลายสิ่งปฏิกูลในถังบำบัดของส้วม ทำให้ส้วมที่ไม่เคยมีกลิ่นเน่าเกิดมีกลิ่นเน่าขึ้นมาได้ การหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปที่มีการใส่สารต่างๆที่ไม่ใช่อาหารธรรมชาติเข้าไปมากจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยพลิกผันโรคเรื้อรัง
(5) กลไกการเกิดสารทีเอ็มเอโอขึ้นในร่างกาย
โมเลกุลในอาหารเช่นโคลีนและคาร์นิทีนซึ่งมีมากในเนื้อแดง เมื่อตกถึงลำไส้แล้วจะถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนเป็น trimethylamine (TMA) ซึ่งจะถูกดูดซึมเขาไปผ่านตับแล้วถูกตับเปลี่ยนเป็น trimethylamine-N-oxide (TMAO) ซึ่งเป็นสารที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือด ข้อมูลนี้สัมพันธ์กับผลวิเคราะห์งานวิจัยติดตามดูสุขภาพพยาบาล (80978คน) และบุคลากรทางการแพทย์ (39434 คน)ของฮาร์วาร์ดที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกินโคลีนมากกับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
แบคทีเรียในลำไส้ชนิด Firmicutes และProteobacteria ซึ่งชอบอาหารไขมันสูงจะเป็นตัวเปลี่ยนอาหารเป็น TMA อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าอาหารโปรตีนสูงทำให้มีสาร TMAO ออกมาในปัสสาวะมาก อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีกากย่อยไม่ได้สูงสัมพันธ์กับการมีระดับ TMAO ในเลือดต่ำ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าการเพิ่มการกินถั่วพิชตาชิโอสัมพันธ์กับการลดลงของ TMAO อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าคนกินอาหารมังสวิรัติจะมีการเปลี่ยนอาหารเป็น TMA ต่ำ
ความรู้วิชาแพทย์เรื่องกลไกที่ TMAO ก่อโรคหลอดเลือดอย่างไรยังสรุปได้ไม่แน่ชัด ในภาพใหญ่มองจากมุมของ TMAO เท่าที่ความรู้แพทย์ปัจจุบันมีการพลิกผันโรคเรื้อรังควรลดอาหารเนื้อสัตว์ซึ่งมีสารตั้งต้นให้แบคทีเรียเปลี่ยนเป็น TMA ให้เหลือน้อยลง เพิ่มอาหารในแนวมังสวิรัติมากขึ้น
(6) กลไกการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย
พื้นฐานการเผาผลาญพลังงานในร่างกายก็คือการนำโมเลกุลอาหารชนิดที่ให้พลังงานได้ เช่นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน เข้าไปในเซลโดยมีฮอร์โมนอินสุลินซึ่งผลิตโดยตับอ่อนเป็นผู้สั่งให้เซลเปิดรับเอาโมเลกุลให้พลังงานเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้ว ไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นอวัยวะของเซลจะทำการเผาผลาญโมเลกุลเหล่านั้นให้กลายเป็นพลังงานที่แต่ละเซลเอาไปใช้เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองได้
งานวิจัยพบว่าในบรรดาอาหารให้พลังงานที่เรากินเข้าไปนั้น อาหารไขมันจะเข้าไปในกระแสเลือดได้ก่อนเพราะอาหารไขมันนอกจากจะดูดซึมผ่านหลอดเลือดฝอยเข้าสู่หลอดเลือดดำไปตับ (hepatic portal vein) ได้ตามปกติแล้วยังมีช่องทางพิเศษ สามารถดูดซึมผ่านท่อน้ำเหลืองในลำไส้ (lacteal) เข้าสู่ระบบน้ำเหลืองซึ่งเทเข้าหลอดเลือดดำใหญ่สู่หัวใจโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตับ เมื่อมีอาหารไขมันลงไปถึงลำไส้มาก ลำไส้จะปล่อยฮอร์โมน cholecystokinin ให้กระเพาะอาหารชลอการบีบตัวส่งอาหารให้ลำไส้ ทำให้อาหารอื่นๆเช่นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ยิ่งเข้าถึงกระแสเลือดได้ช้า อาหารไขมันเมื่อเข้าไปในกระแสเลือดแล้วก็จะถูกอินสุลินนำเข้าสู่เซลรวมทั้งเซลตับและกล้ามเนื้อ
ความผิดปกติเริ่มเกิดขึ้นเมื่อกินอาหารที่ให้แคลอรีสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไขมันเป็นปริมาณมากเกินไปเป็นเวลานาน เมื่อเซลรับเอาไขมันเข้าไปในเซลมากเกินไปเซลจะเกิดการดื้อต่อคำสั่งของอินสุลินทำให้อินสุลินไม่สามารถนำทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรตเช่นน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญในเซลได้ น้ำตาลจึงคั่งค้างรออยู่ในกระแสเลือด การดื้อต่ออินสุลินทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและเป็นปฐมเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ต่างจากชนิดที่ 1 ที่เกิดจากตับอ่อนถูกภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายจนผลิตอินสุลินไม่ได้)
เมื่อเซลดื้อต่ออินสุลิน ตับอ่อนจะเร่งการผลิตอินสุลินมากขึ้น จนตัวเซลตับอ่อนเองป่วยบาดเจ็บล้มตายและตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินสุลินให้พอเพียงได้ ต้องใช้วิธีฉีดอินสุลินรักษา ซึ่งไม่ได้แก้ต้นเหตุคือการกินอาหารให้พลังงานมากเกินไป โรคเบาหวานประเภทที่ 2 จึงยังคงดำเนินต่อไปแม้จะใช้ยาฉีดยากิน นำไปสู่โรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆเช่นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคไต เป็นต้น
การที่คนชอบกินอาหารให้พลังงานมากเกินไปทั้งๆที่มีกลไกป้อนกลับจากกระเพาะอาหารและเซลไขมันแจ้งว่าอิ่มแล้วก็ตาม เป็นเพราะในสมองมีกลไกการให้รางวัลและลงโทษซึ่งเป็นกลไกสนองตอบอัตโนมัติที่รวมเอาความคิดและความจำเป็นส่วนหนึ่งของกลไกด้วย กลไกนี้ใช้ตัวรับสัญญาณ opioid และ dopamine receptor เช่นเดียวกับการรับรู้สารเสพย์ติด กล่าวอีกนัยหนึ่งอาหารพลังงานสูงคืออาหารหวานและอาหารมันเป็นสิ่งเสพย์ติดสำหรับสมองคน การจะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินต้องยอมรับภาวะ “ลงแดง” เช่นเดียวกับการติดยาเสพย์ติดอื่นๆ
มองจากความผิดปกติของกลไกการเผาผลาญอาหาร การจะพลิกผันโรคเรื้อรังต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารที่ให้พลังงานสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไขมันและน้ำตาลที่สกัดหรือขัดสีเอาคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติอื่นๆทิ้งไป หันมากินอาหารให้พลังงานต่ำได้แก่พืชผักผลไม้ธัญพืชไม่ขัดสีเป็นหลัก ควบคู่กับการออกกำลังกายและฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อให้มีกล้ามเนื้อมากพอที่จะช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินทิ้งไปให้ได้ดุลกับอาหารให้พลังงานที่กินเข้ามา
(7) กลไกการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis)
ร่างกายนี้มีกลไกงอกหลอดเลือดฝอยใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อการเติบโตและซ่อมแซม กลไกนี้ถูกควบคุมให้ได้ดุลโดยโมเลกุลยับยั้งที่ผลิตออกมาโดยเนื้อเยื่อ ถ้าดุลการสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่เสีย คือสร้างมากไปก็จะเกิดโรคเช่น โรคผิวหนังบางชนิด โรคมะเร็งเพราะการสร้างหลอดเลือดฝอยเพิ่มเร็วจะทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งโตอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าสร้างหลอดเลือดฝอยขึ้นมาใช้น้อยเกินไปไปก็เกิดโรคอีกแบบเช่นตาบอดในผู้สูงวัย แผลรักษาไม่หาย โรคหัวใจขาดเลือด อัมพาตจากสมองขาดเลือด เป็นต้น
ความรู้การแพทย์ปัจจุบันรู้ว่ามีโมเลกุลที่ทำหน้าที่เป็นปัจจัยเร่งให้มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (vascular endothelial growth factor – VEGF) และรู้ว่ามีอาหารและยาหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับของโมเลกุลกลุ่มนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะพลิกผันโรคเรื้อรังรวมทั้งมะเร็งโดยใช้ความรู้เรื่องอาหารและยาเหล่านี้
ตัวอย่างของอาหารที่ช่วยเพิ่มการงอกใหม่ของหลอดเลือดซึ่งอาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือด เช่น เปลือกแอปเปิล แครนเบอรี่แห้ง เชอรี่แห้ง บลูเบอรี่ ข้าวบาร์เลย์ พริก โสม หัวหอม สะหระแหน่ เมล็ดฟักทอง สลัดสีใบแดง โรสแมรี เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น
ตัวอย่างอาหารต้านการขยายตัวของหลอดเลือดฝอย ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับโรคเช่นมะเร็ง ได้แก่ ชาเขียว ขมิ้นชัน หมาก ถั่วเหลือง โสม เห็ดมิตาเกะ องุ่นแดง เมล็ดองุ่น ลาเวนเดอร์ สตรอเบอรี่ แบลคเบอรี่ ราสเบอรี่ บลูเบอรี่ ส้ม มะนาว แอปเปิล สับประรด บ็อกชอย เคล ฟักทอง ผักชีฝรั่ง กระเทียม มันฝรั่ง น้ำมันมะกอก เหล้าไวน์ ดาร์คชอกโกแลต เป็นต้น
มองในแง่ของกลไกการเสริมและการระงับการสร้างหลอดเลือดใหม่ วิธีพลิกผันโรคเรื้อรังคือจะต้องกินอาหารพืชให้หลากหลาย และเน้นเป็นพิเศษสำหรับพืชที่มีงานวิจัยยืนยันว่ามีผลต่อการสร้างหลอดเลือดข้างต้น
(8) กลไกการควบคุมการแสดงออกของยีน (Epigenetic)
เมื่อตอนที่วงการแพทย์สามารถทำแผนผังยีนมนุษย์ (genome mapping) ออกมาได้ใหม่ๆนั้นเป็นที่คาดหมายว่าเราจะสามารถทำนายโรคต่างๆผ่านยีนได้อย่างแม่นยำ แต่ปัจจุบันนี้งานวิจัยที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านนี้ทำให้เราทราบว่าการมียีนที่เอื้อให้เกิดโรคได้ไม่ได้หมายความว่าคนผู้นั้นจะเป็นโรค เพราะยังมีปัจจัยกำหนดหรือควบคุมการแสดงออกของยีน เปรียบเหมือนยีนแต่ละตัวยังมีสวิสต์คุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ยีนจะต้องถูกเปิดสวิสต์จึงจะแสดงออกได้ ตัวเปิดสวิสต์ยีนที่เอื้อให้เกิดโรคเรื้อรังนั้นล้วนแต่เป็นปัจจัยแวดล้อมในการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร สารพิษ และความเครียด ในภาพใหญ่ โรคที่กรรมพันธุ์มีบทบาททุกโรค ปัจจัยแวดล้อมมีอิทธิพลกว่า 95% โดยที่ยีนมีผลเพียงไม่เกิน 5% เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่นโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรมมาก แต่งานวิจัย GWAS หรือ Genome-Wide Analysis ซึ่งวิจัยว่ายีนใดที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์แค่ไหน พบว่าโรคนี้มีเพียง 3% เท่านั้นที่ถูกขับเคลื่อนโดยยีนที่ควบคุมแบบเต็มร้อย หมายความว่า ถ้าคุณมียีนชนิดนั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณก็จะเป็นโรคนี้ ที่เหลืออีก 97% เป็นปัจจัยวิธีใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม แม้ใน 3% ที่ว่ายีนคุมได้หมดจริงๆแล้วก็ไม่หมด มียีนอยู่สามตัวที่ว่าเป็นตัวกลั่นที่สุดใครมีมักเป็นโรคแหงๆ คือยีน Presenilin-1, ยีน APP และยีน Presenilin-2 แต่งานวิจัยกับยีน APP พบว่าคนมียีนนี้ที่ดูแลอาหารและการใช้ชีวิตตัวเองดีก็สามารถยืดเวลาเป็นสมองเสื่อมออกไปได้นานกว่าคนมียีนแต่ไม่สนใจปรับวิธีใช้ชีวิต
ยีนสมองเสื่อมที่คนกลัวกันมากที่สุดคือยีน ApoE4 งานวิจัยพบว่าผู้มียีนหนึ่งยีนจากข้างพ่อหรือข้างแม่เพียงข้างเดียว (หนึ่งอัลลีล) มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากกว่าคนทั่วไปสี่เท่า ในขณะที่คนที่มียีนมาจากทั้งสองข้างหรือสองอัลลีลมีความเสี่ยงถึง 12 เท่า หมายความว่าผู้ที่มียีนทั้งสองข้างจะต้องเป็นโรคนี้แน่นอนอย่างนั้นหรือ ตอบว่าไม่ใช่เลย งานวิจัยติดตามดูพบว่า 50% ของคนมียีนนี้ทั้งสองข้างไม่มีใครเป็นโรคอัลไซเมอร์เลยสักคน ส่วนอีก 50% ที่เหลือซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ก็เกิดจากวิธีใช้ชีวิตของเขาเอง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดย Chicago Health and Aging Project และ Rush Memory and Aging Projects ได้ใช้ตัวชี้วัดวิธีใช้ชีวิตออกมาเป็นคะแนนในประเด็น (1) การกินอาหารดีต่อสมอง (MIND diet) (2) การออกกำลังกาย (3) การเลิกบุหรี่ (4) การนอนหลับ (5) การผ่อนคลายความเครียด และ (6)การทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง งานวิจัยพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านวิถีชีวิตเหล่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านเหล่านี้ได้ถึงสองหรือสามอย่าง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ลดลง 37% ขณะที่ผู้ที่ปฏิบัติตามได้สี่หรือห้าอย่าง ปัจจัยเหล่านี้ลดความเสี่ยงลงได้ถึง 60% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผลวิจัยสรุปว่าผู้ที่ใช้ชีวิตแบบเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมลงได้ถึง 60% ขณะที่ยาที่วิจัยกันแทบตายไม่มีตัวไหนป้องกันสมองเสื่อมได้เลย
ดังนั้นมองจากมุมมองของกลไกการควบคุมการแสดงออกของยีน การพลิกผันโรคเรื้อรังตัองให้ความสำคัญกับการกินการอยู่การใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องพันธุกรรม
(9) กลไกเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรค
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการเกิดโรคเรื้อรังทุกโรค ระบบนี้มีเซลเม็ดเลือดขาวเป็นตัวจักรสำคัญ แบ่งออกเป็นสองสาย คือสายที่ผลิตจากไขกระดูก ซึ่งจะเป็นเม็ดเลือดขาวขนาดโตมีหน้าที่เก็บกินเชื้อโรคโดยตรง และสายที่ผลิตจากต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวขนาดเล็ก มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคโดยตรงด้วย และสร้างแอนตี้บอดี้ไปทำลายเชื้อโรคด้วย
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีสองรูปแบบ คือรูปแบบที่ 1. ป้องกันและทำลายได้โดยไม่ต้องรู้จัก (innate) เช่น การก่อการอักเสบ การส่งเซลนักฆ่า (NK) ไปทำลาย การมีระบบช่วยทำลาย (compliment) รูปแบบที่ 2. รู้จักก่อนแล้วป้องกันและทำลาย เช่น การสร้างเซลเฉพาะไปทำลาย (CD8, CD4) การให้ B Cell ผลิตภูมิคุ้มกัน (antibody) ทั้งสองรูปแบบนี้ประสานกันอย่างดีและซับซ้อน และประสานกับระบบอื่นๆของร่างกายอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบประสาท หากระบบนี้ทำงานมากเกินไปก็ทำให้เกิดโรค เช่นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง การตายจากปฏิกริยาอักเสบที่ปอดเมื่อติดเชื้อโควิด19 เป็นต้น หากระบบนี้ทำงานน้อยเกินไปก็ทำให้เกิดโรค เช่นโรคมะเร็งจากการลดการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ลาดตระเวนเก็บกินเซลแปลกปลอม เป็นต้น
มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานพอดี (immunomodulating) ได้แก่ (1) การออกกำลังกาย (2) การกินอาหารพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลาย 3. การนอนหลับ 4. การผ่อนคลายความเครียด 5. การได้รับแสงแดด 6. การเสริมวิตามินแร่ธาตุที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันกรณีไม่ได้จากอาหาร เช่นวิตามินดี. วิตามินซี. และแร่ธาตุเช่นสังกะสี เป็นต้น
สรุปการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเพื่อพลิกผันโรคเรื้อรังทุกโรค
สำหรับผู้ป่วยซึ่งแต่ละคนมีโรคเรื้อรังคนละหลายๆโรค การมองว่าโรคเรื้อรังทั้งหลายเป็นโรคเดียวที่มีสาเหตุร่วมกันคือการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต จะทำให้การจัดการโรคง่ายขึ้น โดยที่ผมขอสรุปหลักพื้นฐานของการจัดการโรคเรื้อรังทุกโรครวมกันว่ามีประเด็นสำคัญดังนี้
1.. กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักแบบมีไขมันต่ำและสภาพใกล้เคียงอาหารธรรมชาติ อันได้แก่ผัก ผลไม้ ถั่ว นัท ธัญพืชไม่ขัดสี
2. ออกกำลังกายและใช้ชีวิตกลางแจ้งในธรรมชาติ ได้รับแสงแดด สัมผัสดิน น้ำ ต้นไม้ ได้อากาศบริสุทธิ์
3. จัดการความเครียดและการนอนหลับ ซึ่งรวมถึงการใช้เทคนิคเช่นโยคะ ไทเก็ก สมาธิ
4. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ให้ความรัก เผื่อแผ่เมตตาธรรม
สรุปสั้นๆได้ว่า “กินพืช ขยันขยับ วางความคิด และมีเมตตา”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
…………………………..