ทำไมหมอสันต์ไม่พูดถึงนิพพานบ้าง
ภาพวันนี้:
เรียนอาจารย์หมอสันต์ที่เคารพ
เคยมาเข้า SR … ค่ะ ได้นำเครื่องมือและเทคนิคที่อ.สอนมาใช้ได้ประโยชน์มาก แม้ว่าจะไม่ได้ก้าวหน้ารวดเร็วอย่างที่อยากให้เป็น มีสิ่งติดค้างในใจอยู่อย่างหนึ่ง ตอนมาเข้า SR หนูรอฟังอาจารย์พูดถึงนิพพานตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย อาจารย์ไม่ได้พูดถึงสักคำ ทำไมละคะ
…………………………………………………..
ตอบครับ
การคุยกันเรื่อง spirituality เป็นการคุยกันถึงเรื่องที่พ้นออกไปจากภาษา ถ้าคุยกันได้โดยไม่ต้องพูดอะไรกันเป็นภาษาออกมาเลย นั่นคงจะดีที่สุด แต่ผมยังทำไม่ได้ ก็จึงยังต้องใช้ภาษาอยู่
ที่ผมไม่ได้ใช้ภาษาบาลีก็เป็นเพราะผมไม่ถนัด หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือผมไม่รู้ภาษาบาลี ในการศึกษาพุทธความที่ไม่รู้บาลีผมก็ต้องไปพึ่งภาษาอังกฤษซึ่งคนแปลพระไตรปิฎกเป็นอังกฤษก็แปลไม่เหมือนกับที่คนไทยแปลเป็นภาษาไทย ศัพท์คำเดียวกันคนไทยทั่วไปใช้กันช่ำชองอยู่แล้วในความหมายว่าอย่างหนึ่ง แต่พอแปลไปทางอังกฤษกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นศัพท์คำนั้นก็ใช้สื่อกับใครไม่ได้แล้ว ขืนเอามาใช้ก็จะกลายเป็นพูดกันคนละเรื่องเดียวกัน เหมือนอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ผมไปงานศพ มีผู้สูงอายุสองคนคุยกันถูกคอหัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก แต่พอผมไปนั่งร่วมวงในฐานะผู้ฟัง จึงได้พบความจริงว่าเขาทั้งสองคนคุยกันคนละเรื่อง นั่นประการหนึ่ง
ในการแชร์เรื่อง spirituality กับท่านผู้อ่าน ผมแชร์ประสบการณ์ของตัวเองที่ได้จากการลองผิดลองถูกและสรุปได้แล้วว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่กับท่าน ไม่ได้แชร์สิ่งที่ผมได้อ่านหรือได้ฟังมาจากขี้ปากของคนอื่นกับท่าน การจะสื่อประสบการณ์ของตัวเองออกมาจึงไม่สามารถเอาศัพท์แสงที่เขาคุยกันอยู่ทั่วไปอยู่ก่อนแล้วมาใช้ได้เพราะประสบการณ์แค่ของคนคนหนึ่ง มันเป็นเรื่องแบบบ้านๆ ก็ต้องใช้ภาษาบ้านๆมาสื่อ นั่นอีกประการหนึ่ง
อย่างเช่นคำว่า “นิพพาน” นี้ ผมรู้แต่ว่าคำนี้ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่เขียนว่า Nirvana และส่วนใหญ่คนแปลบาลีเป็นภาษาอังกฤษแปลว่า Freedom ซึ่งหากผมแปลต่อมาเป็นภาษาไทยก็ต้องแปลว่า “อิสรภาพ” เพราะฉะนั้นคำว่า Nirvana นี้เทียบเคียงในภาษาไทยก็ได้สองคำแล้ว คือ “นิพพาน” กับ “อิสรภาพ” ถ้าถามผมว่านิพพานคืออะไร ผมตอบได้ทันทีว่าผมไม่รู้ เพราะผมไม่รู้จริงๆ แต่ถ้าถามผมว่าอิสรภาพคืออะไร ผมพอจะพูดถึงได้นะ
อิสระภาพ (freedom) ในเชิงจิตวิญญาณนี้ตรงกับคำว่าการได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้น (liberation) ประเด็นคือหลุดพ้นจากอะไรหรือ คนไม่มีอิสระภาพโดยความหมายทั่วไปก็คือคนที่ถูกจับขังกรงไว้ อยากไปไหนก็ไปไม่ได้ อยากทำอะไรก็ทำไม่ได้ แล้วคนที่ไม่บรรลุอิสระภาพในเชิง spirituality นี้เขาถูกขังอยู่ในกรงอะไรหรือ เขาจะต้องหลุดพ้นจากอะไรหรือ
กรงที่คนเราถูกจับขังไว้ก็คือกรงที่ถักทอขึ้นมาจากความคิดของเราเองแต่อดีต ความคิดหลายๆความคิดมาถักทอกันขึ้นผมเรียกมันง่ายๆว่าถักทอขึ้นมาเป็นคอนเซ็พท์ (concept) มนุษย์เราถูกขังอยู่ในกรงของคอนเซ็พท์ที่เราผูกโยงขึ้นเอง คอนเซ็พท์นี้มันปั้นแต่งขึ้นมาเป็นตุเป็นตะว่าเรานี้เป็นบุคคล (person) คนหนึ่ง ซึ่งมีบุคลิก คุณลักษณะ เพศ สีผิว ชาติพันธ์ อย่างหนึ่ง สังกัดประเทศ หมู่บ้าน ตำบล ครู โรงเรียน มหาลัย บริษัท สมาคมอาชีพ อย่างหนึ่ง มีชุดของความคิด ความเชื่อ ความชอบ ความชัง อย่างหนึ่ง มีความยึดถือเกี่ยวพันในเชิงบุญคุณ ความแค้น กับคนรอบตัวจำนวนหนึ่งแบบว่าคนหนึ่งก็เกี่ยวพันกันแบบหนึ่ง ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติชื่อเสียงเกียรติยศไว้จำนวนหนึ่ง ทั้งหมดนี้ผมเรียกรวมๆว่า “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ซึ่งน่าจะตรงกับคำอังกฤษว่า identity มากที่สุด แต่คำอังกฤษแบบบ้านๆที่คนรู้จักมากกว่าและมีความหมายใกล้เคียงกันคือคำว่าอีโก้ (ego) ดังนั้นผมจะใช้ทั้งคำว่า “สำนึกว่าเป็นบุคคล” บ้าง คำว่าอีโก้บ้าง คำว่า identity บ้าง สลับกันไป โดยให้ท่านเข้าใจว่าผมหมายถึงกรงในใจที่ขังมนุษย์เราไว้นี่แหละ สิ่งนี้มันประกอบเป็นความคิดทั้งหมดในใจของเรา หรือพูดง่ายว่าอีโก้นี้มันคือ “ใจ” หรือ mind ของเรานั่นเอง โดยที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นแค่ความคิด
การบรรลุอิสรภาพหรือบรรลุความหลุดพ้น ก็คือการวางความคิดทั้งหลายที่ถักทอเป็นกรงนี้ลงไปเสียได้ พูดอีกอย่างว่าอิสรภาพก็คือการวางความคิดหรือวาง identity ลงได้สำเร็จ แค่นั้นแหละ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบทความทางด้าน spirituality ของผมกี่ครั้งต่อกี่ครั้งผมก็จะเขียนวนเวียนอยู่แต่เรื่องเดียว คือเรื่องการฝึกใช้เครื่องมือในการวางความคิด เพราะมันเป็นทางลัดสั้นตรงไปสู่อิสรภาพหรือความหลุดพ้นนั่นเอง
“อ้าว..ถ้าทิ้ง identity ไปเสียแล้ว คนเราก็ล่อนจ้อนไม่เหลืออะไรเลยสิ”
ตอบว่าถูกต้องแล้วครับ ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากความตื่นและความสามารถรับรู้ (awareness) เหลือแค่นั้นแหละ แต่ที่ว่าแค่นั้นมันเป็นอิสรภาพไร้ขอบเขตนะ เพราะมันเป็นชีวิตที่อยู่นอกกรงของความคิด มันเป็นชีวิตที่สงบเย็นและสร้างสรรค์ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเราจะไม่มีวันรู้ว่าจริงหรือไม่ หากเราไม่ทิ้งกรงของคอนเซ็พท์ออกไปอยู่ในที่ตรงนั้นด้วยตัวเองเสียก่อน
ในชีวิตของคนๆหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาระดับหนึ่งถึงขั้นเร่าร้อนพร้อมจะเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองได้แล้ว มักจะสรุปชีวิตตนเองได้อย่างทรนงว่าชั่วชีวิตฉันนี้ได้ผ่านมาเจนจบครบหมดแล้วทุกอย่าง แต่ทว่าทุกอย่างที่อ้างถึงนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงประสบการณ์ในโลกที่ภาษากล่าวถึงอธิบายได้ ในขอบเขตที่ความจำตัวเองบันทึกไว้และรีไซเคิ้ลกลับขึ้นมาได้เท่านั้น จะเรียกสิ่งที่เจนจบแล้วนี้เป็นอะไรที่รู้หมดแล้วหรือ known ก็โอเค. เอ้า แต่ว่านั่นมันเป็นแค่กรงขังที่ครอบเราอยู่นะ นอกกรงนี้ต่างหากที่เป็น unknown ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลกว่าและเป็นความท้าทายต่อการเรียนรู้อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทรนงว่าตัวเองเจนจบทุกอย่างในชีวิตมาแล้ว การแสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณก็คือการยอมย่างก้าวออกจาก known ไปสู่ unknown ที่เราไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลยนี่แหละ
“…ฮึ ไม่เอาด้วยหงะ เรื่องอะไรจะทิ้งเงินทองเกียรติยศชื่อเสียงไปอยู่กับความว่างเปล่า”
ฟังให้ดีนะ ใครกันนะที่กลัวการสูญเสียเงินทองเกียรติยศชื่อเสียง
ผู้ที่กลัวการสูญเสียก็คือ “ใจ” ของเราใช่ไหม
แล้วใจของเรานี้มันมาจากไหนนะ มันก็คือความคิดใช่ไหม
แล้วความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรานี้ ใครเป็นผู้ชงมันขึ้นมานะ
ก็คืออีโก้หรือ identity เป็นผู้ชงมันขึ้นมาใช่ไหม
อีโก้เขากลัวอะไรนักหนาหรือ ทำไมเขาถึงต่อต้านอิสรภาพจัง
ก็เขากลัวว่าเรา ซึ่งก็คือความตื่นและความสามารถรับรู้นี้ จะเกิดพบความจริง (aware) ขึ้นมาว่าอีโก้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่และการใช้ชีวิต แถมรกรุงรังห้อยแข้งห้อยขาอีกต่างหาก ถ้าทิ้งอีโก้ไปเสียได้ ก็จะพบอิสรภาพ วันไหนที่เราพบอิสรภาพ วันนั้นคือความตายของอีโก้ อีโก้เขาจึงยื้อสุดฤทธิ์ จนทำให้เราลังเล
จะทิ้ง..หรือไม่ทิ้ง จะทิ้ง..หรือไม่ทิ้ง
เพียงแค่การลังเลกลับไปกลับมาอยู่ตรงนี้ ชีวิตอันแสนสั้นก็หมดไปเสียแล้ว คนทั่วไปจึงแม้จะเรียนรู้มามาก อ่านหนังสือฟังเทปมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยเล่มกี่ร้อยม้วน จำขี้ปากนักปราชญ์ราชบัณฑิตได้จนเกือบหมดทั้งโลกแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงอิสรภาพหรือความหลุดพ้นสักที จนกระทั่งตายไปเสียก่อน
บทสรุปก็คือผมจะบอกคุณว่า การทิ้งทุกอย่างที่เรียนรู้มาเสียให้หมด แล้วก้าวจาก know ออกไปสำรวจ unknown ด้วยตัวเองอย่างไม่ลังเลเท่านั้น จึงจะถึงอิสรภาพหรือความหลุดพ้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์