หมอสันต์พูดกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เรื่องโภชนาการแม่ละลูกน้อย
(ภาพวันนี้: ดอกหญ้าอะรูมิไร้ อะไรมิรู้)
ผมได้คุยกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ซึ่งมาเข้าแค้มป์ Pregnancy Boot Camp ที่เวลเนสวีแคร์ อ.มวกเหล็ก เนื้อหาที่พูดมีประเด็นหลายประเด็นที่จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั่วไป ผมจึงขอสรุปบางส่วนมาให้อ่านวันนี้
- อาหารเจือวิตามินและแร่ธาตุ (fortified food) หลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายท่านคงรู้จักผมมาบ้างว่าผมเป็นหมอที่เน้นการกินอาหารธรรมชาติโดยไม่พึ่งวิตามินแร่ธาตุหรืออาหารเสริม แต่ในยุคสมัยนี้ การจะตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกโดยไม่ให้ทั้งตัวคุณแม่และคุณลูกกินวิตามินและอาหารเสริมเลยนั้นผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะกินอาหารแบบไหน กินเนื้อหรือกินพืช ก็ต้องกินวิตามินและอาหารเสริมทั้งนั้นทั้งแม่และลูก เพราะมันกลายเป็นทั้งมาตรฐานการแพทย์และเป็นทั้งธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว จะเลิกทันทีก็ไม่ได้เพราะต้องมีงานวิจัยที่ดีมารองรับ เช่นคุณแม่อย่างน้อยก็ต้องกินวิตามินเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินบีรวม โฟเลท แคลเซียม และเหล็ก คุณลูกนั้นอย่างน้อยก็ต้องกินอาหารเจือวิตามินดีบ้าง เจือเหล็กบ้าง และส่วนใหญ่เจือสาระพัดวิตามินแร่ธาตุ เรียกว่าอย่างไรก็หลบวิตามินและแร่ธาตุเสริมไม่พ้น
อาหารเจือวิตามินแร่ธาตุ (fortified food) และวิตามินแร่ธาตุเสริม (supplement) เป็นสิ่งที่วงการแพทย์คิดขึ้นมาใช้นมนานแล้วในประวัติศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ซึ่งสมัยที่คิดขึ้นนั้นมันไม่มีการแยกหรอกว่าผู้คนจะกินอาหารแบบวีแกนไม่วีแกน ยกตัวอย่างเช่น
ค.ศ. 1924 มีการเจือไอโอดีนลงในเกลือ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคคอพอก
ค.ศ. 1933 มีการเจือวิตามินดีในนมเพื่อป้องกันโรคกระดูกอ่อน
ค.ศ. 1940 มีการเจือวิตามินบีรวมและธาตุเหล็กลงในแป้ง
ค.ศ. 1941 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้นำคำศัพท์คำว่า enriched (อุดมด้วย) มาใช้กับอาหารที่ถูกบังคับให้เจือวิตามินและแร่ธาตุอย่างเป็นทางการ
อาหารสำหรับเด็กและนมผงเลี้ยงเด็กทุกวันนี้ล้วนถูกเจือวิตามินแร่ธาตุกันอยู่แล้วอุตลุต ไม่มีเสียหรอกครับที่จะเลี้ยงเด็กด้วยอาหารธรรมชาติเพียวๆแล้วจะเป็นที่ยอมรับของแพทย์ที่เกี่ยวข้องว่าปลอดภัย ไม่ว่าจะกินเฉพาะพืชหรือกินทั้งพืชและสัตว์ก็ตาม ดังนั้นถ้าคิดจะเลี้ยงเด็กให้เติบโตรอดปลอดภัยอย่าเกี่ยงงอนกับอาหารเจือหรือเสริมวิตามินแร่ธาตุ ขอให้ถือว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นตามยุคสมัย
2. สารอาหารที่คุณแม่มักจะขาดระหว่างตั้งครรภ์และเลี้ยงนมบุตร
งานวิจัยปัจจุบันพบว่าสารอาหารที่คุณแม่มักจะขาดในอดีตเช่น แคลอรี่ โปรตีน โฟเลท วิตามินบีรวม แคลเซียม และเหล็ก ปัจจุบันนี้หากฝากครรภ์ตามระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน สารอาหารดังกล่าวมานี้ไม่มีตัวไหนขาดแล้วเพราะทั้งเจือทั้งเสริมกันเพียบ แต่สารอาหารที่ขาดกลับกลายเป็นกากหรือเส้นใย (fiber) กล่าวคืองานวิจัยพบว่าได้เพียงวันละไม่เกิน 15 กรัมขณะที่มาตรฐานที่ควรได้คือวันละ 25-30 กรัม กากหรือเส้นใยนี้จะได้มาจากการกินพืชเท่านั้นเพราะเส้นใยไม่มีในเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นสิ่งที่ขาดหายไปในอาหารของคุณแม่ทุกวันนี้คือพืชผักผลไม้ถั่วงานัทนั่นเอง
3. สารอาหารที่คุณแม่มักจะได้มากเกินไประหว่างตั้งครรภ์
งานวิจัยพบว่า 6 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์และคลอดบุตรแล้ว 94.7% ของคุณแม่จะมีดัชนีมวลกายสูงขึ้น ซึ่งยิ่งดัชนีมวลกายเพิ่มมากก็ยิ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานมากขึ้น ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าสารอาหารตัวเอ้ที่ได้มามากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์คือแคลอรี่ จะด้วยกินมากเกินไปหรือออกกำลังกายน้อยเกินไปก็ตาม
ในส่วนของไขมันในเลือดนั้นเป็นธรรมดาที่ไขมันเลว LDL จะสูงจากเดิมในระหว่างตั้งครรภ์ได้ถึง 70% แต่ควรจะกลับมาปกติใน 1-3 เดือนหลังคลอด แต่งานวิจัยพบว่า 41% ของคุณแม่ที่คลอดบุตรแล้วมีไขมันเลว (LDL) สูงขึ้นกว่าระดับก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าไขมันอิ่มตัวเป็นสารอาหารอีกตัวหนึ่งที่ได้มามากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์
งานวิจัยทำที่บราซิลพบว่า 27% ของหญิงตั้งครรภ์กินอาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งซับซ้อน (ultra-processed Foods) เป็นประจำทุกสัปดาห์ อาหารในกลุ่มนี้หมายถึงอาหารบรรจุกล่อง ซอง ถุง ที่ใช้กระบวนการทางอุตสาหกรรมแบบต่างๆ ซับซ้อนหลายขั้นตอน มีการใช้สารคงรูป (preservatives) สารเคมีเพิ่มเติม (additives) มาก เก็บบนหิ้งได้นาน ไส้กรอก อาหารว่าง (snacks) อาหารแช่แข็ง เนยเทียม ไอศกรีม และ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น การบริโภคอาหารในกลุ่มนี้ในระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อจุลชีวิตในลำไส้ของแม่ ซึ่งจะส่งผลถึงจุลชีวิตในลำไส้และสุขภาพในระยะยาวของลูกด้วย
4.. เรื่องการแพ้ท้อง
การแพ้ท้องเป็นกลไกธรรมชาติที่ป้องกันการได้อาหารบางอย่างที่ไม่ควรได้มากเกินไป และป้องกันการขาดสารอาหารบางอย่างที่ควรได้แต่ไม่ได้ขณะตั้งครรภ์ การแพ้ท้องจึงมีสองแบบ คือแบบ “เหม็น (aversion)” อาหารบางอย่าง และอีกแบบหนึ่งคือเกิดอยากกิน (craving) อาหารบางอย่างทั้งๆที่ตัวเองไม่เคยกิน เช่นอยากกินของหมักๆดองๆ หรืออยากกินแม้กระทั่งดิน (pica)
ดังนั้นการแพ้ท้องก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี คือ
(1) หากเป็นการอยากกินสิ่งที่กินแล้วดีต่อสุขภาพของแม่ อันได้แก่พืช ผัก ถั่ว งา นัท สมุนไพร ก็ตามใจปาก กินได้เลย
(2) หากเป็นการอยากกินสิ่งที่รู้ว่ากินแล้วไม่ดี เช่นอยากกินขาหมูทั้งๆที่รู้ว่าไขมันเลวในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นอันจะมีผลต่อทั้งตนเองและลูก ก็ให้ลองอาหารทดแทนที่เป็นไขมันเหมือนกันแต่เป็นไขมันดีหรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อะโวกาโด้ ถั่ว งา นัท ทุเรียน เป็นต้น
(3) ถ้าเป็นความอยากกินที่สุดโต่งมากเกินไป เช่นอยากกินดิน อยากกินขี้เถ้า อยากกินเลือดสดๆ อยากของบูดๆเน่าๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าร่างกายกำลังขาดวิตามินหรือแร่ธาตุกลุ่มหายาก (trace elements) หรือดุลยภาพของจุลชีวิตในลำไส้กำลังผิดปกติไป วิธีจัดการคืออย่าไปกินตามความอยากเพราะอาจมีสิ่งอันตรายเช่นโรคพยาธิติดมาเป็นอันตรายต่อทารกได้ แต่ให้เอาอาหารที่กินอยู่ในแต่ละวันมาบันทึกย้อนหลังลงกระดาษ (food journaling) แล้วใคร่ครวญดูว่าโภชนาการที่ได้อยู่มันขาดอะไรไปแล้วเสริมสิ่งที่ควรได้ วิธีง่ายๆในการจัดการเรื่องแร่ธาตุหายากคือไปตลาดแล้วซื้อผักผลไม้ทุกอย่างที่เขามีขายในตลาดเอามาตัดยอดปนกันแล้วปั่นเป็นของเหลวดื่มสักสองสามเดือนครั้งก็จะป้องกันและแก้ไขการขาดแร่ธาตุหายากได้
5. ในการให้อาหารเลี้ยงลูกต้องระวังอะไรบ้าง
5.1 ประเด็นแคลอรี่
งานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่าอัตราการเติบโตของเด็กจะ “อืด” ในขวบปีที่หย่านม คือระหว่างอายุหนึ่งถึงสามปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเล็กเริ่มกินอาหารที่เป็นของแข็งโดยอาจจะยังดื่มนมแม่อยู่หรือไม่ก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตช้าลงคือเด็กได้รับแคลอรี่จากอาหารไม่พอ ทำให้ต้องสลายเอาโปรตีนในร่างกายมาสร้างเป็นพลังงานด้วย ปกติเด็กได้แคลอรี่จากอาหารธัญพืชและอาหารไขมัน ดังนั้นอย่าจำกัดอาหารธัญพืชและอาหารไขมันในช่วงนี้ จะมีข้อยกเว้นก็กรณีเด็กอ้วนเท่านั้น เพราะเด็กควรได้แคลอรีประมาณ 30 ถึง 40% จากอาหารไขมันเนื่องจากกระเพาะของเด็กเล็กการจะไปหวังได้แคลอรี่จากอาหารคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีนเป็นหลักนั้นจะทำให้ขาดแคลอรี่ อาหารไขมันต่ำไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กแน่นอน แม้แต่เด็กโตที่โตแล้วก็ยังต้องการแคลอรีจากไขมันประมาณ 25 ถึง 35% ดังนั้นควรให้อาหารพืชที่มีไขมันดีๆสูง เช่น ถั่วต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี เมล็ดพืช เนยถั่ว อะโวคาโด รวมถึงน้ำมันพืชที่เป็นไขมันดีด้วยถ้าจะใช้น้ำมันทำอาหาร ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้กินอาหารที่มีใยอาหารมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่ากระเพาะเด็กเล็กนิดเดียว เมื่ออัดอาหารกากสูงเช่นธัญพืชไม่ขัดสีเข้าไปเด็กจะอิ่มเสียก่อนที่จะได้แคลอรี่พอ ดังนั้นผมแนะนำให้ใช้ธัญพืชขัดสีเช่นข้าวขาวปนกับข้าวกล้องมากขึ้น ผลไม้ก็เลือกชนิดกากน้อย
นมเลี้ยงเด็กก็มีประเด็นแคลอรี่ด้วย ระหว่างดื่มนมแม่หรือนม(วัว)ผงเลี้ยงเด็กอยู่นั้นไม่มีปัญหา เพราะเด็กจะได้รับแคลอรีประมาณ 75% จากนมแม่หรือนมผงเลี้ยงเด็ก แต่จะลดลงเหลือ 50% ในช่วงอายุ 9 ถึง 12 เดือน และลดเหลือหนึ่งในสามในช่วงอายุ 12 ถึง 24 เดือน ดังนั้นเมื่อหย่านมแม่แล้วชนิดของนมที่เด็กดื่มก็ยังเป็นแหล่งแคลอรี่ที่สำคัญ ถ้าคุณเปรียบเทียบสารอาหารในนมสำหรับเด็กแบบต่างๆ นม(วัว)สดธรรมชาติถือกันว่าเป็นนมเลี้ยงเด็กมาตรฐานหลังหย่านมเพราะมันมีแคลอรีจากไขมันมากกว่านมจากพืช ในแง่ของโปรตีน นมถั่วเหลืองและนมถั่วพีมีปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกับนมวัวจึงเป็นตัวเลือกที่ดี นมอื่นๆ เช่น นมอัลมอนด์ นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และนมมะพร้าว มีโปรตีนต่ำมาก แถมบ่อยครั้งแคลอรี่ก็ต่ำด้วย จึงต้องย้ำกันอีกครั้งว่าไม่ควรใช้นมพวกหลังนี้เป็นนมหลักสำหรับเด็กวัยหัดเดิน นู่น รอจนเด็กโตขึ้นและได้รับแคลอรี่ที่ต้องการส่วนใหญ่จากอาหารแข็งแล้วโน่นแหละ คุณถึงจะให้ดื่มนมอะไรก็ได้ ในแง่ของวิตามินเกลือแร่ นมทุกชนิดที่ทำขายให้เด็กล้วนเจือวิตามินแร่ธาตุมีแคลเซียม เหล็ก วิตามิน B12, A และ D ในปริมาณใกล้เคียงกัน จึงไม่ใช่ปัญหา
ถามว่าการเลือกนมหลังหย่านมแม่ ถ้าให้ได้แคลอรี่เท่ากันแล้ว นมวัวยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่หรือเปล่า ตอบว่าเมื่อปี 2020 ทีมนักวิจัยที่ฮาร์วาร์ดได้ทำการทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องผลของนมและสุขภาพ พวกเขาประเมินหลักฐานทั้งหมดที่มีในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพอย่างหลากหลาย รวมถึงการเจริญเติบโต สุขภาพของกระดูก โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคภูมิแพ้ ตลอดจนอัตราการเสียชีวิตโดยรวม แล้วสรุปผลว่าถ้าเอานมไปเปรียบเทียบกับเนื้อที่ผ่านการแปรรูป (ไส้กรอก เบคอน แฮม) และเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (เนื้อหมูเนื้อวัว) แล้วพบว่า นมวัวเป็นอาหารที่ดีกว่า แต่ถ้าเอานมวัวไปเปรียบเทียบกับอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนแล้ว พบว่านมวัวเป็นอาหารที่แย่กว่า ทีมนักวิจัยนี้สรุปว่าการดื่มนมวัวมากไม่ให้ประโยชน์ แต่อาจมีโทษเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหอบหืด โรคผิวหนังแบบภูมิแพ้ และอาการแพ้ อีกทั้งนมมาจากแม่วัวที่กำลังตั้งครรภ์บ้าง กำลังให้นมลูกบ้าง การดื่มนมจึงอาจทำให้ได้รับฮอร์โมนเพศมากขึ้น ชีสและนมเองก็เป็นแหล่งสำคัญของไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพผู้ใหญ่ แคลเซียมและวิตามินดีซึ่งเป็นของดีนั้นสามารถหาได้จากอาหารเจือวิตามินแร่ธาตุหรืออาหารเสริมอื่นๆ ซึ่งดีกว่าตรงที่ไม่มีผลเสียที่มาพร้อมกับนมและผลิตภัณฑ์นม ดังนั้นกล่าวโดยสรุปหมอสันต์ไม่เชียร์นมวัวในการเลี้ยงเด็กหลังหย่านม
5.2 ประเด็นโปรตีน
ตอนนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าโปรตีนไม่ใช่สารอาหารที่น่าเป็นห่วงในเด็กไม่ว่าจะกินอาหารแบบไหนรวมทั้งแบบวีแกนตราบใดที่อาหารที่กินมีความหลากหลายและให้แคลอรี่เพียงพอ งานวิจัย VeChi ในเด็กวัยหัดเดินและเด็กโตล่าสุดก็พบว่าแม้เด็กที่กินมังสวิรัติก็ยังได้รับโปรตีนมากเป็นสองเท่าของเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผมยกเรื่องโปรตีนขึ้นมาเพื่อถือโอกาสขจัดความเชื่อผิดๆ ที่มีมาช้านานด้วยเสียเลย
ประเด็นความครบถ้วน ของกรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) ข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบคือพืชทุกชนิดล้วนมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทั้ง 9 ตัว ในขณะที่พืชบางชนิดอาจมีกรดอะมิโนบางตัวมากบางตัวน้อย สมัยก่อนเรามีความเชื่อว่าพืชที่มีโครงสร้างกรดอามิโนเสริมกันและกันควรจะเอามากินด้วยกัน เช่น ควรกินข้าวควบกับถั่วในแต่ละมื้อเพื่อให้มั่นใจว่าได้กรดอามิโนจำเป็นครบ แต่เอาเข้าจริงๆแล้วไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเลย การวางสะเป๊คว่าต้องกินพืชนี้คู่กับพืชนี้ไม่จำเป็น แค่ยึดหลักว่าในแต่ละวันให้กินพืชที่มีโปรตีนให้หลากหลายชนิดเข้าไว้โดยไม่ต้องลำบากไปกำหนดแยกแยะว่าชนิดนั้นต้องควบกับชนิดนี้
ประเด็นความพอเพียงของโปรตีน ความเป็นจริงคืออาหารทุกชนิดรวมทั้งอาหารมังสวิรัติให้โปรตีนเพียงพอแม้สำหรับเด็กที่กำลังเติบโตด้วย ตราบใดที่รับประทานอาหารให้หลากหลายและได้พลังงานมากพอ หลายคนเชื่อว่าอาหารจากสัตว์เป็นโปรตีนคุณภาพสูงกว่าโดยพิจารณาจากการที่เนื้อสัตว์ย่อยเป็นกรดอามิโนได้ง่ายกว่าและมีกรดอามิโนจำเป็นที่เมื่อแยกรายตัวแล้วแต่ละตัวมีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริงกรดอามิโนในอาหารชนิดเดียวไม่มีความหมายเพราะการกินอาหารที่หลากหลายทำให้ร่างกายเลือกดูดซึมกรดอามิโนที่ต้องการได้ตามใจชอบ และในสมัยนี้ควรคำนึงถึงว่าอาหารโปรตีนจากสัตว์มักมีฮอร์โมนตกค้าง ยาปฏิชีวนะตกค้าง ซึ่งมีผลต่อจุลชีวิตในลำไส้ และมีผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว
ในน้ำหนักที่เท่ากัน อาหารจากพืชบางชนิด เช่น เต้าหู้ ถั่ว มีโปรตีนในปริมาณใกล้เคียงกับอาหารจากสัตว์เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ และปลา เมล็ดต่างๆก็มีโปรตีนใกล้เคียงกับในชีส ไข่ และโยเกิร์ต ปริมาณโปรตีนในนมถั่วเหลืองก็ใกล้เคียงกับปริมาณโปรตีนในนมวัว ถ้าคุณยังกลัวลูกขาดโปรตีนก็ให้อาหารเช่นทำข้าวต้มแบบโอ๊ตมีลผสมถั่วนัทและเมล็ดพืช ทำเต้าหู้ผัด ทำซุปถั่ว และทำโยเกิร์ตถั่วเหลือง ก็เป็นตัวอย่างอาหารโปรตีนสูงสำหรับเด็ก
5.3 ประเด็นวิตามินบี 12
วิตามินบี.12 เป็นสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับวัยทารกและวัยสูงอายุซึ่งเป็นวัยที่มักจะขาดไม่ว่าจะกินอาหารแบบไหน ในคนที่กินแบบวีแกนยิ่งมีแนวโน้มขาดวิตามินบี 12 มาก อาการขาดวิตามินบี 12 ในวัยทารก ได้แก่ อ่อนแรง หงุดหงิด โลหิตจาง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง พัฒนาการล่าช้า โตช้า ไปจนถึงสมองเสียอย่างถาวร อาการขาดวิตามินบี 12 ในผู้ใหญ่แสดงผ่านโรคสามกลุ่มคือ (1) โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต (2) โรคสมองและประสาท (3) โรคหลอดเลือดแดงแข็ง วิตามินบี 12 นี้แท้จริงแล้วผลิตโดยแบคทีเรียและสาหร่ายเซลเดียว ในอาหารปกติจะพบมากในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ อาหารพืชไม่ใช่แหล่งที่เชื่อถือได้ของวิตามินบี 12 ดังนั้นเมื่อให้เด็กกินอาหารแบบวีแกนควรใช้อาหารเจือวิตามินบี.12 หรือให้กินวิตามินบี.12 เสริม
5.4 ประเด็นไขมันโอเมก้า 3
กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นไขมันจำเป็นชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่มีสายโซ่ยาว มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและปรับแก้การดำเนินของโรคสำคัญหลายโรครวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งหลายชนิด และยังอาจป้องกันภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน และโรคหอบหืด ได้ด้วย น้ำหนักของหลักฐานในภาพใหญ่บ่งชี้ไปทางว่าหากร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 มากขึ้นก็จะดี กรดไขมันโอเมก้า 3 นี้พบมากสาหร่ายทะเล ปลา เมล็ดแฟลกซีด และวอลนัท
เมล็ดแฟลกซีดและวอลนัทให้โอเมก้า 3 ชนิด ALA ซึ่งจะถูกแปลงเป็นไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA และ DHA ในร่างกายของเรา ขณะที่โอเมก้าชนิด EPA และ DHA นั้นส่วนใหญ่ก็ผลิตขึ้นโดยพืชในมหาสมุทร แล้วเราได้ผ่านมาทางปลา โชคไม่ดีที่ปลาเองก็มักมีสารปรอท สารพิษเช่น พีซีบี ไดออกซิน และสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในระดับสูง การกินสาหร่ายทะเล แฟลกซีด วอลนัท จึงอาจเป็นแหล่งที่ดีกว่า
5.5 ประเด็นไอโอดีน
ไอโอดีนเป็นธาตุที่จำเป็นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งควบคุมการทำงานของร่างกายหลายอย่าง การขาดสารอาหารนี้อย่างรุนแรงทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญากลายเป็นคนง่าวคนเอ๋อ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความเสียหายต่อสมองที่ป้องกันได้ ถ้ามารดาขณะตั้งครรภ์ขาดไอโอดีนเล็กน้อยลูกออกมาจะมีไอคิวต่ำลงได้ 10 ถึง 15 คะแนน ทำให้เรียนได้ช้า แหล่งอาหารหลักของไอโอดีน ได้แก่ เกลือเสริมไอโอดีน สาหร่ายทะเล และอาหารทะเล เวลาซื้อเกลือเสริมไอโอดีนต้องดูฉลากว่าเป็นเกลือเสริมไอโอดีนจริงไหม เพราะเกลือที่ใช้ในอาหารแปรรูปก็ดี เครื่องปรุงรสที่มีรสเค็มเช่นซีอิ๊วก็ดี เกลือพิเศษเช่น เกลือหิมาลัยสีชมพูก็ดี เกลือโคเชอร์ก็ดี เกลือทะเล (sea salt) ก็ดี ล้วนไม่ใช่เกลือเสริมไอโอดีน
5.6 ประเด็นแคลเซียม
เราช่วยเด็กๆให้ได้รับแคลเซียมพอเพียงได้โดยการให้อาหารที่มีแคลเซียมที่พร้อมถูกดูดซึมได้มากพอ เช่น ในผักใบเขียวเข้มที่มีออกซาเลตต่ำอย่าง บร็อคโคลี่ บกฉ่อย และคะน้า ตลอดจนเต้าหู้ชนิดที่ใช้แคลเซียมเป็นตัวทำให้แข็ง (calcium set-tofu) ถั่วขาว พืชตระกูลถั่วอื่น ๆ งาและเนยอัลมอนด์ เป็นต้น นมจากพืชเจือแคลเซียมก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากมีแคลเซียมประมาณ 300 ถึง 450 มิลลิกรัมต่อแก้ว 240 ซีซี. ดังนั้นการดื่มนมจากพืชเจือวิตามินแร่ธาตุสองแก้ว ควบคู่ไปกับการกินอาหารอุดมแคลเซียมอื่นๆก็ทำให้เด็กได้แคลเซียมเพียงพอ ทั้งนี้ต้องระวังปัจจัยที่อาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม เช่น ออกซาเลตหรือไฟเตต โซเดียม แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน ด้วย
5.7 ประเด็นธาตุเหล็ก
การวิเคราะห์ทั้งอาหารพืชและอาหารเนื้อสัตว์พบว่าต่างอุดมด้วยเหล็กทั้งสิ้น โดยที่เหล็กในเนื้อสัตว์จับอยู่กับโมเลกุลฮีม (heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมเข้าไปใช้ได้ง่าย ขณะที่เหล็กในพืชอยู่ในรูปของเหล็กอิสระ (non heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมไปใช้ตรงๆได้น้อย ต้องอาศัยวิตามินซี.เป็นตัวพาเข้าไป ดังนั้นถ้าไม่กินอาหารอุดมวิตามินซี.ในมื้ออาหารนั้นด้วยก็อาจจะดูดซึมเหล็กได้น้อย นอกจากนั้นเหล็กอิสระยังอาจจะถูกไฟเตทซึ่งเป็นโมเลกุลในเส้นใยอาหารดึงไม่ให้เหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายๆอีกด้วย นอกจากนั้นอีกที ยังอาจจะถูกสารแทนนินในน้ำชาหรือกาแฟจับไว้ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกด้วย ดังนั้นหากกินอาหารแล้วกลั้วตามด้วยชากาแฟทันทีก็มีโอกาสได้เหล็กน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากกินอาหารวีแกนก็ควรจะพิถีพิถันให้มีอาหารอุดมธาตุเหล็ก (ถั่ว นัท ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) โดยกินควบกับอาหารอุดมวิตามินซี. (ผลไม้ต่างๆ)ในมื้อเดียวกัน เพื่อให้วิตามินซีเป็นตัวพาเหล็กอิสระเข้าสู่ร่างกาย และระวังไม่ดื่มชากาแฟตามหลังอาหารหลักทันที
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชิงระบาดวิทยายุคปัจจุบันนี้เพื่อเปรียบเทียบความชุกของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในคนกินเนื้อสัตว์ กับคนกินมังสวิรัติพบว่าต่างเป็นโรคโลหิตจางชนิดเกิดจากการขาดธาตุเหล็กไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกัน งานวิจัยระดับเหล็กที่อยู่ในรูปของการจับกับโปรตีน (ferritin) ของคนกินเนื้อสัตว์และกินมังสวิรัติต่างก็มีระดับ ferritin ในเลือดปกติทั้งคู่ เพียงแต่ว่าคนกินมังสวิรัติมีระดับต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์มีค่าปกติไปทางสูงแต่ของคนกินมังสวิรัติมีค่าปกติไปทางต่ำ โดยที่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกแต่อย่างใด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารมังสวิรัติไม่ได้เป็นสาเหตุให้ขาดธาตุเหล็ก
6. จะเลี้ยงลูกด้วยอาหารแบบวีแกนได้ไหม
ผมตอบได้ทันทีว่า “ได้สิครับ” นี่ผมตอบตามแถลงการณ์ฉบับปรับปรุงครั้งสุดท้ายของ Academy of Nutrition and Dietetics ซึ่งบอกชัดเจนว่าอาหารพืชหากวางแผนให้ดีไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติหรือวีแกนล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ และอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคบางชนิด เหมาะสำหรับบุคคลในทุกช่วงอายุของวงจรชีวิต รวมถึงขณะให้นมบุตร ในวัยทารก ในวัยเด็ก ในวัยรุ่น และสำหรับนักกีฬา
เพื่อให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น ผมขอเล่าถึงงานวิจัยที่สำคัญบางชิ้นให้ฟัง
งานวิจัย The Farm Study ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics เป็นงานวิจัยใหญ่ที่มุ่งประเมินการเติบโตของเด็กในนิคมมังสวิรัติในรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการเสริมวิตามินและแร่ธาตุเป็นอย่างดี ผลวิจัยนี้พบว่าเด็กในนิคมมังสะวิรัติมีน้ำหนักแรกเกิดปกติ และเติบโตใกล้เคียงกับเด็กปกติที่ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง เพียงแต่ในช่วงอายุ 1-3 ขวบปีแรกเด็กในงานวิจัยนี้มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไปอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็ค่อยๆกลับมาเท่ากับเด็กทั่วไปเมื่ออายุ 10 ขวบ คณะผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่าอาจเกิดจากจากการที่อาหารหลังหย่านมของเด็กมังสวิรัติเช่นผักผลไม้เป็นอาหารแคลอรี่ต่ำ และการที่เด็กในนิคมนี้ดื่มนมแม่ขณะที่เด็กทั่วไปดื่มนมวัวสำหรับเลี้ยงทารก ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทารกที่ดื่มนมแม่มีอัตราการเติบโตระยะต้นช้ากว่าทารกดื่มนมวัวสำหรับเลี้ยงทารกแต่จะโตตามกันทันในเวลาไม่กี่ปี คณะผู้วิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าาเด็กที่เลี้ยงแบบวีแกนมีเชาว์ปัญญาและพลกำลังไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป
อีกงานวิจัยหนึ่ง ติดตามดูการเติบโตของวัยรุ่นที่กินมังสวิรัติในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ซึ่งรวมถึงเด็กในชุมชนเซเวนท์เดย์แอดเวนทิสพบว่าวัยรุ่นที่กินมังสวิรัติมีความสูงเฉลี่ยสูงกว่าพวกที่กินอาหารปกติเสียอีก ผู้วิจัยได้เขียนสรุปว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นระดับขาดไม่ได้สำหรับการเติบโตตามปกติของเด็กโตและวัยรุ่น ผลวิจัยนี้แตกต่างจากงานวิจัยบางงานที่ทำในนิคมมังสวิรัติที่มีวัตรปฏิบัติด้านอาหารเข้มงด เช่น กลุ่มใช้อาหารแมคโครไบโอติกหรือกลุ่มใช้แต่พืชดิบ (raw vegan) เท่านั้นซึ่งเป็นรูปแบบอาหารที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่กำลังโต
งานวิจัย VeChi Diet ซึ่งศึกษาการเติบโตของเด็กมังสวิรัติและวีแกนอายุ 1-3 ขวบในเยอรมันจำนวน 430 คนเทียบกับเด็กเด็กที่กินทั้งพืชและสัตว์ ผลวิจัยพบว่าเด็กมีการเติบโตเฉลี่ยเป็นปกติในทุกกลุ่ม แม้ว่าจำนวนเด็กในกลุ่มมังสวิรัติและกลุ่มวีแกนจะโตช้ากว่าบ้างเล็กน้อยในระยะแรก นอกจากนี้ยังพบว่าทุกกลุ่มล้วนได้โปรตีนสูงเกินมาตรฐานแนะนำของเยอรมัน 2.3 ถึง 2.5 เท่า เด็กกลุ่มมังสวิรัติและกลุ่มวีแกนได้ปริมาณใยอาหารสูงที่สุด ในแง่ของน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้าไปในอาหารและเครื่องดื่มเด็กมังสวิรัติได้รับน้ำตาลเพิ่มเพียงครึ่งหนึ่งของเด็กที่กินทั้งพืชและสัตว์ ผู้วิจัยสรุปว่าอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนในวัยเด็กสามารถรับประกันได้ว่าการเติบโตจะเป็นปกติ แต่ก็ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลให้ได้รับอาหารให้พลังงานและสารอาหารจำเป็นอย่างเพียงพอสำหรับเด็กมังสวิรัติและวีแกน
งานวิจัย VeChi Youth Study ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2020 นี้เอง เป็นการติดตามดูส่วนสูง น้ำหนัก รายการอาหารที่รับประทาน และสถานะทางโภชนาการของเด็กมังสวิรัติและวีแกนที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 19 ปี ประมาณ 400 คน เทียบกับเด็กที่รับประทานทั้งพืชและสัตว์ ผลวิจัยยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในตัวชี้วัดการเจริญเติบโต โดยที่เด็กทุกกลุ่มได้รับโปรตีนเพียงพอ แต่กลุ่มมังสวิรัติมีไขมันคอเลสเตอรอลรวม และไขมันเลว LDL ต่ำสุด มีการบริโภคน้ำตาลเพิ่มต่ำที่สุด มีการบริโภคใยอาหารที่สูงสุด ขณะที่กลุ่มกินทั้งสัตว์และพืชได้รับใยอาหารต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 14 กรัมต่อ 1,000 กิโลแคลอรี ผู้วิจัยสรุปว่างานวิจัย VeChi Youth Study นี้เป็นหลักฐานแรกชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่าการกินอาหารวีแกนสัมพันธ์กับการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น
อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นการวิจัยแบบตัดขวางในเด็กโปแลนด์ 187 คนที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 19 ปี ผลวิจัยนี้พบว่ากลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ทานอาหารเจือวิตามินหรืออาหารเสริมมีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีในเลือดต่ำกว่าเด็กทั่วไป ในงานวิจัยนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มมังสวิรัติและวีแกนไม่ได้รับอาหารเจือวิตามินบี.12 หรือวิตามินบี.12 เสริม และประมาณ 2 ใน 3 ไม่ได้รับวิตามินดี.เสริม กลุ่มวีแกนได้รับแคลเซียมต่ำสุดและมีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มอื่นราว 3 ซม.กว่าและมีมวลไขกระดูกน้อยกว่า ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มวีแกนได้รับใยอาหารมากที่สุด ขณะที่กลุ่มทานทั้งพืชและสัตว์ได้รับใยอาหารต่ำกว่าคำแนะนำมาตรฐาน กลุ่มวีแกนยังมีไขมันโคเลสเตอรอลรวมและตัวชี้วัดการอักเสบชนิด hCRP ต่ำกว่ากลุ่มทานทั้งพืชและสัตว์ด้วย ผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าภาวะวิตามินบี12 และวิตามินดีต่ำอาจแก้ไขได้ด้วยการให้วิตามินเสริม และเน้นการค้นพบที่สำคัญจากงานวิจัยนี้ว่าอาหารวีแกนในเด็กสัมพันธ์กับการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอาจนำไปสู่การลดอัตราตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุการตายหลักในวัยผู้ใหญ่ได้
สรุปว่าเราสามารถเลี้ยงเด็กด้วยอาหารวีแกนได้โดยปลอดภัยและทำให้เด็กโตขึ้นมาโดยปลอดปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจหลอดเลือดคือเด็กจะไม่มีไขมันในเลือดสูง
7. ถ้าหกเดือนแรกให้นมแม่ไม่ได้จะทำอย่างไรดี
หลักวิชาแพทย์ปัจจุบันนี้ถือว่านมแม่เป็นอาหารอย่างเดียวก็พอแล้ว จนอายุถึงวัยหย่านมคืออย่างเร็วก็ 6 เดือนเป็นต้นไป หลังจากนั้นจึงจะให้เริ่มอาหารแข็ง แต่ในชีวิตจริงอาหารเสริมสำหรับเด็กวัยก่อน 6 เดือนมีขายเกลื่อนตลาดและขายดีด้วยเพราะแม่ที่เอาแต่ทำมาหากินไม่มีเวลาหรือไม่นิยมให้น้ำนมลูก วงการแพทย์ไม่มีข้อมูลหรอกว่าอาหารแข็ง (เสริมกับนมแม่) เหล่านั้นแบบไหนดีกว่าแบบไหน รู้แต่ว่าหากให้ดื่มนมวัวตั้งแต่อายุน้อยเด็กจะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) มากขึ้นกว่าเมื่อไม่ให้ดื่มนมวัว ดังนั้นช่วงให้นมแม่ไม่ควรให้ดื่มนมวัวหรืออาหารเสริมใดๆ แต่หากจำเป็นต้องให้เพราะมีเหตุให้นมแม่ไม่ได้ก็ควรจะเป็นอาหารธรรมชาติมากกว่านมวัว ส่วนจะเป็นอาหารธรรมชาติแบบมีเนื้อสัตว์หรือแบบวีแกน แบบไหนดีกว่ากัน ตรงนี้ยังไม่มีใครทราบ คุณต้องตัดสินใจเอาเอง ในความเห็นของผมคือแบบไหนก็ได้ แต่ขอให้ เด็กได้แคลอรี่พอ
8. ข้อมูลการกินอาหารวีแกนและมังสวิรัติของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์
ยังไม่มีงานวิจัยแม่ตั้งครรภ์ที่กินอาหารวีแกนและมังสวิรัติในระดับการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) แต่มีงานวิจัยระดับตามดูกลุ่มคนทั้งไปข้างหน้าและย้อนหลังออกมาแล้วประมาณ 262 รายการ แต่ที่มีการรายงานผลลัพท์ต่อทั้งสุขภาพของแม่และทารกอย่างครบถ้วนมีเพียง 22 รายการ ได้มีผู้ทำวิจัยเมตาอานาไลซีสงานวิจัย 22 ชิ้นนี้พบว่าทุกงานวิจัยมีปัจจัยกวนมาก ผลที่ได้เปะปะไปคนละทิศจนสรุปอะไรไม่ได้ ได้แต่ภาพใหญ่ว่าโอกาสเกิดความผิดปกติของทารกระดับรุนแรงและความผิดปกติของการตั้งครรภ์และการคลอดนั้นไม่ต่างกัน แต่ข้อมูลที่ได้ขัดแย้งกันในประเด็นน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารก กล่าวคือมี 5 งานวิจัย (จาก 22 งาน) สรุปว่าแม่ที่กินอาหารวีแกนและมังสวิรัติได้ลูกที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มกินอาหารปกติ ซึ่งขัดแย้งกับอีก 2 งานวิจัย (จาก 22 งาน) ที่สรุปว่าแม่ที่กินวีแกนและมังสวิรัติได้ลูกที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มกินอาหารปกติ ผู้วิจัยเมตาอานาไลซีสนี้ได้สรุปในภาพรวมว่าการกินอาหารแบบวีแกนหรือมังสวิรัติขณะตั้งครรภ์ “อาจจะ” มีความปลอดภัยถ้าได้ดูแลเรื่องวิตามินและอาหารเสริมที่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์ให้ได้มาตรฐานการฝากครรภ์ปกติ คำสรุปที่ชัดเจนกว่านี้ยังไม่มี จนกว่าจะมีใครทำงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบในอนาคต
9. ข้อมูลเมื่อไรควรให้เด็กทารกเริ่มกินอาหารแข็ง
คำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่และคำแนะนำของ WHO แนะนำให้เด็กดื่มนมแม่อย่างเดียวไปจนอายุ 6 เดือนแล้วจึงค่อยเริ่มอาหารแข็ง แต่หากพิจารณาจากหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด ผมแนะนำว่าการเริ่มอาหารธรรมชาติจะเริ่มเมื่อใดก็ได้เมื่อเห็นว่าเด็กมีความพร้อมรับและคุณแม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือติดตามพัฒนาการของเด็กอยู่ เพราะอย่าลืมว่าช่วงอายุ 9 เดือนแรกนั้นตามธรรมชาติเด็กทารกยังช่วยตนเองเรื่องการกินไม่ได้เลย การเริ่มอาหารแข็งช้าหรือเร็วมีข้อดีข้อเสียคนละอย่าง มีหลักฐานวิจัยใหม่ๆว่าการให้เด็กเริ่มกินอาหารแข็งตั้งแต่อายุ 4 เดือนอาจช่วยลดการกินยากเมื่อโตขึ้น ช่วยทำให้เด็กชอบกินพืชผักผลไม้เมื่อโตขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงการแพ้อาหารลง โดยที่ไม่มีผลต่อโรคอ้วนเมื่อโตขึ้นแต่อย่างใด และการยิ่งเริ่มอาหารแข็งเร็งยิ่งเพิ่มความหลากหลายของจุลชีวิตในลำไส้ซึ่งลดความเสี่ยงต่อโรคได้หลายโรคเมื่อโตขึ้น
ชนิดของอาหารที่เริ่มให้เด็กกินก็สำคัญเพราะเด็กจะติดอาหารที่ได้ลิ้มรสในวัยต้น หลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าติดรสชาติอาหารที่แม่กิน(และไปสู่เด็กทางน้ำคร่ำ) ตั้งแต่เด็กเป็นทารกอยู่ในครรภ์ โดยเด็กจะกลืนน้ำคร่ำมากขึ้นหากในน้ำคร่ำมีรสหวาน และกลืนน้อยลงหากในน้ำคร่ำมีรสขม เด็กที่คุณแม่ชอบกินกระเทียม (ซึ่งมีกลิ่นอยู่ในน้ำคร่ำ)เมื่อคลอดออกมาแล้วจะขยับปากหาอาหารเมื่อได้กลิ่นกระเทียม เด็กจะยังคงความชอบนี้อยู่ในการติดตามไปดูจนเด็กอายุ 8 ปี เช่นเดียวกันกับในน้ำคร่ำ ทุกอย่างที่คุณแม่กินจะปรากฎกลิ่นและรสในน้ำนม ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะชอบอาหารจากการดื่มนมแม่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- T.G. Dinan, C. Stanton, C. Long-Smith, P. Kennedy, J.F. Cryan, C.S.M. Cowan, M.C. Cenit, J.W. van der Kamp, Y. Sanz. Feeding melancholic microbes: MyNewGut recommendations on diet and mood. Clin. Nutr. 2019 ;38(5):1995-2001. doi: 10.1016/j.clnu.2018.11.010.
- Carabotti M, Scirocco A, Maselli MA, Severi C. The gut-brain axis: interactions between enteric microbiota, central and enteric nervous systems. Ann Gastroenterol. 2015;28(2):203-209.
- Liu, J., Song, G., Meng, T. et al. Weight retention at six weeks postpartum and the risk of gestational diabetes mellitus in a second pregnancy. BMC Pregnancy Childbirth 19, 272 (2019). https://doi.org/10.1186/s12884-019-2423-3
- O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
- Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
- Weder S, Keller M, Fischer M, Becker K, Alexy U. Intake of micronutrients and fatty acids of vegetarian, vegan, and omnivorous children (1-3 years) in Germany (VeChi Diet Study). Eur J Nutr. 2022 Apr;61(3):1507-1520. doi: 10.1007/s00394-021-02753-3.
- Alexy, U.; Fischer, M.; Weder, S.; Längler, A.; Michalsen, A.; Sputtek, A.; Keller, M. Nutrient Intake and Status of German Children and Adolescents Consuming Vegetarian, Vegan or Omnivore Diets: Results of the VeChi Youth Study. Nutrients 2021, 13, 1707. https://doi.org/10.3390/nu13051707
- Piccoli GB, Clari R, Vigotti FN, Leone F, Attini R, Cabiddu G, Mauro G, Castelluccia N, Colombi N, Capizzi I, Pani A, Todros T, Avagnina P. Vegan-vegetarian diets in pregnancy: danger or panacea? A systematic narrative review. BJOG. 2015 Apr;122(5):623-33. doi: 10.1111/1471-0528.13280. Epub 2015 Jan 20. PMID: 25600902.
- Schaal B, Marlier L, Soussignan R. Human fetuses learn odours from their pregnant mother’s diet. Chem Senses. (2000) 25:729–37. 10.1093/chemse/25.6.729
- Northstone K, Emmett P, Nethersole F. The effect of age of introduction to lumpy solids on foods eaten and reported feeding difficulties at 6 and 15 months. J Hum Nutr Diet. (2001) 14:43–54. 10.1046/j.1365-277X.2001.00264.x
- Abrams EM, Greehawt M, Fleischer DM, Chan ES. Early solid food introduction: role in food allergy prevention and implications for breastfeeding. J Pediatr. (2017) 184:13–8. 10.1016/j.jpeds.2017.01.053
- Du Toit G, Roberts G, Sayre PH, Bahnson HT, Radulovic S, Santos AF, et al.. Randomized trial of peanut consumption in infants at risk for peanut allergy. NEJM. (2015) 372:803–13. 10.1056/NEJMoa1414850
- Perkins MR, Logan K, Tsent A, Raji B, Ayis S, Peacock J, et al.. Randomized trial of introduction of allergenic foods in breast-fed infants. NEJM. (2016) 374:1733–43. 10.1056/NEJMoa1514210
- Prescott SL, Smith P, Tang M, et al.. he importance of early complementary feeding in the development of oral tolerance: concerns and controversies. Pediatr Allergy Immunol. (2008). 19:375–80.
- Prescott SL, Smith P, Tang M, et al.. he importance of early complementary feeding in the development of oral tolerance: concerns and controversies. Pediatr Allergy Immunol. (2008). 19:375–80.
…………………………………………………………….