จะตรวจหัวใจตนเองด้วยการขึ้นบันไดแทน EST คุณต้องมีบันได 84 ขั้น


เรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นผู้บริหารของบริษัท ... ซึ่งต้องไปตรวจสุขภาพด้วยการวิ่งสายพานที่โรงพยาบาลทุกปี เป็นเรื่องที่เสียเวลาและน่าเบื่อมาก ผมอยากเรียนถามคุณหมอว่าเรามีวิธีตรวจหัวใจของเราเองโดยไม่ต้องไปวิ่งสายพานที่โรงพยาบาลทุกปีได้ไหมครับ

.............................................

ตอบครับ

     ถามว่ามีวิธีตรวจสุภาพหัวใจของตนเองที่บ้านแทนการวิ่งสายพานที่โรงพยาบาลไหม ตอบว่ามีครับ ก็การวิ่งด้วยตัวเองที่บ้านนั่นแหละ โดยต้องวิ่งให้ถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ ติดต่อกันเป็นเวลาสัก 30 นาที หากทำได้โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ถือว่าการทำงานของหลอดเลือดหัวใจใช้การได้ดีอยู่

     ถ้าคุณต้องการผลตรวจด้วยตัวเองที่ละเอียดเทียบเท่าการตรวจด้วยการเดินสายพานในโรงพยาบาล คุณต้องเดินขึ้นบันได 84 ขั้นให้ได้ในเวลาไม่เกินนาทีครึ่ง เพื่อให้คุณเข้าใจเรื่องนี้ ผมขออธิบายลึกสักหน่อย คุณค่อยๆทำความเข้าใจไปนะ อย่างน้อยก็มีประโยชน์ต่อคุณในแง่ที่จะทำให้คุณอ่านผลตรวจวิ่งสายพานด้วยตัวเองได้

     1. การตรวจวิ่งสายพาน Exercise stress test (EST)

     หลักพื้นฐานของการวิ่งสายพาน หรือ exercise stress test (EST) คือให้เดินสายพานโดยติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่องไว้และวัดความดันเลือดเป็นระยะๆ โดยค่อยๆเพิ่มความเร็วของสายพานและความชันของสายพานขึ้น เป้าหมายคือการบังคับให้หัวใจทำงานหนักขึ้นๆจนถึงระดับหนักมาก (high intensity) เพื่อดูว่าหัวใจแสดงอาการขาดเลือดหรืออาการล้มเหลวหรือไม่ โดยดูเอาจาก (1) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (2) อาการเจ็บแน่นหน้าอก (3) อาการหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม (4) ความดันเลือดตกวูบลง (5) หัวใจเต้นผิดปกติ

     2. หน่วยนับปริมาณพลังงาน Metabolic Equivalents (METs)

     หน่วยนับพลังงานที่ทำได้ขณะวิ่งเรียกว่า MET ย่อมาจาก metabolic equivalents แปลว่าปริมาณพลังงานที่ร่างกายใช้เมื่อนั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งเราก็ต้องใช้พลังงานเพื่อการเผาผลาญของเซลอยู่ปริมาณหนึ่งจึงจะทำให้ร่างกายนี้มีชีวิตอยู่ได้ สมมุติว่าการออกกำลังกายใดๆใช้พลังงานมากเป็น 3 เท่าของพลังงานที่ร่างกายใช้ขณะนั่งอยู่เฉยๆ ก็เรียกว่าการออกกำลังกายนั้นใช้พลังงานไป 3 METs เป็นต้น

     3. ระดับความหนักการออกแรง Exercise Intensity

     วิชาแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์การกีฬาได้เอาหน่วยนับพลังงานเป็น MET นี้มาใช้แบ่งระดับชั้นความหนักของการออกกำลังกาย ระดับความหนักของการออกกำลังกาย โดยแบ่งระดับความหนักของการอออกกำลังกายเป็นสามระดับคือ

     ระดับเบา (low intensity) คือใช้พลังงาน ต่ำกว่า 3 METs ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการหายใจและชีพจรให้เห็น เช่น ไปเดินเล่นศูนย์การค้า ทำงานเล็กๆน้อยๆในบ้านที่ไม่ต้องออกแรงมากเช่นทำครัว กวาดบ้าน เป็นต้น

     ระดับหนักปานกลาง (moderate intensity) คือใช้พลังงาน 3 - 5.9 METs ซึ่งการหายใจและชีพจรจะเร็วขึ้น วัดแบบบ้านๆก็คือยังพูดได้แต่หอบเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ เช่น เดินจ้ำอ้าว วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำเบาๆ เป็นต้น

     ระดับหนักมาก (high intensity) คือใช้พลังงาน 6 METs ขึ้นไป ซึ่งจะหายใจเร็วมากและชีพจรเร็วมาก วัดแบบบ้านๆก็คือเหนื่อยจนพูดไม่ได้ เช่น การเล่นกีฬาแบบแข่งขันต่างๆเช่นเทนนิส แบตมินตัน วิ่งแข่ง เป็นต้น

     4. วิธีตรวจของหมอบรู้ซ Bruce Protocol

     ในการตรวจ EST นี้ใช้วิธีการแบ่งชั้นของความหนักของหมอบรู้ซ (Bruce Protocol) ซึ่งแบ่งความหนักของการเดินสายพานขั้นละ 3 นาทีเป็น 7 ขั้น (stage) โดยแต่ละขั้นนิยามประเด็นหลักไว้สามประเด็นคือ (1) ปริมาณพลังงาน METs ที่ใช้ (2) เปอร์เซ็นต์ความชันของสายพาน (grade) (3) ความเร็วของสายพาน (speed) ผมให้ดูรายละเอียดแค่ 4 ขั้นแรกซึ่งใช้บ่อยที่สุด ดังนี้

Stage 1. เดินสายพานนาน 3 นาที ความชัน 10% ความเร็วสายพาน 2.7 กม/ชม. ใช้พลังงานรวม 3 METs 

Stage 2. เดินสายพานนาน 3 นาที ความชัน 12% ความเร็วสายพาน 4.0 กม/ชม. ใช้พลังงานรวม 4-5 METs

Stage 3. เดินสายพานนาน 3 นาที ความชัน 14% ความเร็วสายพาน 5.5 กม/ชม. ใช้พลังงานรวม 7 METs 

Stage 4. เดินสายพานนาน 3 นาที ความชัน 16% ความเร็วสายพาน 6.8 กม/ชม. ใช้พลังงานรวม 10 METs  

     เนื่องจากผลวิจัยในภาพรวมมีอยู่ว่าใครก็ตามที่สามารถออกแรงได้ถึง 10 METs จะมีอัตราตายเฉลี่ยในหนึ่งปีต่ำกว่า 1% หรืออัตราตายในสิบปีต่ำกว่า 10% ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงตายในระดับใกล้เคียงปกติ ดังนั้นในการตรวจวิ่งสายพานจึงมักจะปักหมุดเอาให้ถึง Stage 4 ซึ่งได้พลังงาน 10 METs เป็นเป้าหมายต่ำสุด ใครที่ทำได้ถึงตรงนี้ก็ถือว่าหัวใจฮ้อแร่ดใช้การได้เท่าคนปกติทั่วไป แต่ก็มีบ่อยเหมือนกัน โดยเฉพาะในการตรวจสุขภาพประจำปีแก่คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ถ้าหมอหัวใจเห็นว่าผู้ป่วยผอมแห้งแรงน้อยหรือไม่ฟิต ก็อาจจะให้วิ่งแค่ Stage 3 แล้วก็สรุปว่าโอเค.พอละ แล้วรวบรัดเอาดื้อๆว่าปกติ หิ หิ นี่ถือว่าเป็นความปกติแบบผสมการคาดเดา ซึ่งก็กล้อมแกล้มยอมรับกันได้ในชีวิตจริง แต่หากจะเอาปกติตามสถิติของแท้แล้วต้องวิ่งให้ถึง Stage 4 หรือให้ได้ 10 METs 

     5. การเทียบการตรวจเดินสายพานกับการขึ้นบันไดบ้าน

     ไม่นานมานี้ พวกหมอที่สเปญได้ทำวิจัยกับคนไข้หัวใจ 167 คน ให้แต่ละคนทั้งเดินสายพานด้วย เดินขึ้นบันไดตึกด้วย แล้วเทียบพลังงานที่ใช้ในการเดินสายพานกับการขึ้นบันไดตึก พบว่าการจะเดินขึ้นบันไดตึกให้ได้ 10 METs หรือ stage 4 ต้องเดินขึ้นให้ได้ 4 ชั้นโดยใช้เวลาขึ้นถึงไม่เกินนาทีครึ่ง (90 วินาที) 

     ดังนั้นหากคุณจะตรวจวัดหัวใจของตัวเองที่บ้านโดยให้ได้ความแม่นยำใกล้เคียงกับการวิ่งสายพานที่โรงพยาบาล คุณก็ต้องไปหาที่ที่มีบันไดที่เดินขึ้นลูกเดียวได้อย่างน้อย 84 ขั้น เพราะชั้นหนึ่งมีบันได 21 ขั้น หากคุณเดินขึ้นครบ 84 ขั้นได้ในเวลาไม่เกินนาทีครึ่ง ก็เท่ากับว่าผลตรวจสมรรถนะหัวใจของคุณได้ผลลบ หรือได้ผลปกติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. European Society of Cardiology. "Test your heart health by climbing stairs." ScienceDaily. ScienceDaily, 11 December 2020. <www.sciencedaily.com/releases/2020/12/201211083104.htm>.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี