เบื่อหน้าที่ อยากจะทิ้งหน้าที่ไปดื้อๆ
อาจารย์สันต์คะ
อาจารย์บอกว่าชีวิตเป็นเรื่องสมมุติ แล้วในการทำหน้าที่ในละครสมมุตินี้เราควรจะทำอย่างจริงจังประมาณไหนคะ จะทิ้งไปดื้อๆได้ไหม
........................................................
ตอบครับ
ถามอย่านี้แสดงว่ากำลังเบื่อวิถีชีวิตแบบฆราวาส เหมือนกับที่ฝรั่งเรียกว่ากำลังมี midlife crisis คือทำหน้าที่ในชีวิตมาถึงจุดหนึ่งก็เกิดความรู้สีกว่าทำไปทำไมวะ ช่างงี่เง่า ช่างน่าเบื่อ แต่ก็ไม่รู้จะหยุดหรือจะเลิกตรงไหน ได้แต่ทำต่อไปแกนๆแบบว่าเบื่อๆอยากๆ จนตายไปด้วยความเฉาหรือด้วยความแก่ สุดแล้วแต่ว่าอะไรจะมาเป็นสาเหตุการตายก่อนกัน
การเซ็งหรือเบื่อหน้าที่ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดกับคนยุคนี้ มันมีในใจคนมานานแล้ว ในหนังสือเล่มเก่าแก่ของอินเดียที่ชื่อเวดะ ซึ่งว่ากันว่าเก่าถึง 3,500 ปี หนังสือนี้เป็นหนังสือแบบว่าใครรู้อะไรหรือคิดอะไรได้ก็มาเขียนไว้ หนังสือนี้จึงมีสารพัดเรื่อง มีนิยายปรัมปราเรื่องหนึ่งชื่อมหาสงครามภารตะยุทธ์ ได้เล่าเรื่องแบบคลาสสิกของความเซ็งในหน้าที่ของมนุษย์ไว้ได้เก๋ไก๋มาก เรื่องมีอยู่ว่าพี่น้องสองสกุลคือสกุลปานฑพ และสกุลเการพ ต้องมาทำสงครามหักล้างกัน อรชุนซึ่งเป็นพระเอกของนิทานเรื่องนี้ เป็นแม่ทัพฝ่ายปานฑพ มีคนขับรถม้าชื่อกฤษณะ กฤษณะตัวจริงนั้นเป็นพระเจ้าอวตารลงมา มีศักดิ์เป็นลุงของทั้งสองฝ่ายที่ตั้งท่าจะรบกัน แต่ว่าถือหางข้างหลานปานฑพ ผมแปลเรื่องนี้ตามสำนวนของผมจากต้นฉบับภาษาอังกฤษนะ ผิดถูกอย่าว่า
ก่อนการประจันบาน อรชุนสั่งให้กฤษณะเดินรถม้าไปในระหว่างทัพอันมหึมาของทั้งสองฝ่ายเพื่อดูหน้าฝ่ายตรงข้ามว่ามีใครบ้าง เมื่อเห็นว่ามีแต่ "เคง-กัน-อน" (คนกันเอง) ทั้งนั้น อรชุนก็เกิดความเซ็งมะก้องด้องขึ้นในใจ จึงพูดกับคนขับสามล้อ..เอ๊ยไม่ใช่ คนขับราชรถว่า
“...นี่มันอะไรกันลุงกฤษณะ เขาเหล่านั้นก็เป็นพี่น้องของเราทั้งนั้น ใยต้องมาเข่นฆ่ากันให้เป็นบาปกรรมไปภายหน้าด้วยเล่า ข้าเกิดความเซ็งในหัวใจเหลือเกิน ไม่รบไม่เริ้บมันละ กลับไปอยู่บ้านขายเต้าฮวยดีกว่า..”
ว่าแล้วก็ทิ้งคันศรและธนูลงกับพื้นรถ
กฤษณะเห็นท่าไม่ดีก็ร้องปรามว่า
“...เฮ้ย อะไรกันอรชุน เอ็งจะมาท้อถอยตอนหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ได้อย่างไร คนเราเกิดมาเป็นคนก็ต้องทำหน้าที่ การจะเกิดจะตายนั้นมีใครบ้างเกิดมาแล้วไม่ตาย รบไม่รบท้ายที่สุดก็ตายกันหมดทุกคนแหละ แต่ว่าคนเราตายก็แค่ตัว แต่อาตมันไม่มีวันตาย มันเป็นแก่นแท้อันนิรันดร์ที่เพียงแค่ละร่างเก่าไปสู่ร่างใหม่ กะอีแค่หนาวร้อนสุขทุกข์ต่อร่างกายและจิตใจนี้มันก็เป็นเพียงสิ่งภายนอกผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของอาตมันชั่วคราว จะหาแก่นสารความแน่นอนได้ที่ไหน ใยเอ็งไม่หัดทำใจให้นิ่งต่อโลกธรรมเหล่านี้เสียบ้าง จะมามัวหดหู่กับมันอยู่ทำไม
อรชุน.. เมื่อรู้ว่าชีวิตมีอาตมันเป็นนิรันดร์เป็นแก่นแท้เช่นนี้แล้ว ควรหรือจะมามัวกังวลกับชีวิต จงทำหน้าที่ของตนให้มั่นอย่าหวั่นไหว เพราะเกิดมาเป็นชายชาติกษัตริย์จะมีเกียรติอะไรเสมอการทำธรรมสงครามอีกเล่า
รบเถิดอรชุน อย่าไปห่วงว่าฆ่าคนแล้วจะเป็นบาปเลย เพราะปรัชญาโยคะมีหลักว่าไม่เสียใจกับสิ่งที่เสียไป ไม่ดีใจกับสิ่งที่ได้มา อรชุน จิตที่เป็นอุเบกขาที่ข้ามพ้นสภาวะธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะการลงมือปฏิบัติฝึกฝนจิตให้นิ่งเท่านั้น ไม่ใช่การนั่งรอผลแห่งกรรมในอดีต หรือการไม่ยอมปฏิบัติการใดๆเพราะกลัวกรรมจะตามไปในอนาคต ดังนั้น รบเถิดอรชน ลุยเถอะอรชุน...”
อรชุนได้ฟังดังนั้น แม้ในใจจะคิดว่าที่คนขับสามล้อพูดมานั้นไม่เห็นจะเกี่ยวกันตรงไหนเลย แต่ก็ทำใจว่าเอาเถอะ เอาเถอะ ไม่รบก็ไม่จบ กลับบ้านไม่ได้สักที จึงสั่งเดินหน้าลุยถั่วทำสงครามเสียสิบกว่าวัน ลูกน้องทั้งสองฝ่ายตายกันเป็นเบือเลือดท่วมทุ่ง โดยฝ่ายอรชุนเป็นฝ่ายชนะในที่สุด เอวังของเรื่องภารตะยุทธ์ก็มีเพียงเท่านี้
มีหลายประเด็นเป็นคำตอบให้คำถามของคุณอยู่ในนิทานภารตะยุทธ์นี่แล้ว ผมจะไฮไลท์ให้นะ
(1) เรื่องทั้งหลายในชีวิตนี้ไม่ว่าจะเป็นหนาวร้อนสุขทุกข์ล้วนเป็นสิ่งภายนอกที่ผ่านมาสู่การรับรู้ของอาตมัน (ความรู้ตัว) แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
(2) มีอะไรที่ตรงหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำตามหน้าที่ตามบทบาทของตัวละครในละครสมมุติก็จงทำไป
(3) ไม่พึงไปอินหรือจริงจังกับการทำหน้าที่มากเกินไป ตัวตัดสินว่าอินมากเกินไปก็คือในชีวิตนี้เมื่อใดที่เกิดความเสียใจกับอดีตขึ้น หรือเกิดกังวลถึงอนาคตขึ้น นั่นแปลว่าอินมากเกินไปแล้ว
(4) สิ่งที่คนเราพึงฉวยโอกาสทำเมื่อเกิดมาเป็นคนและกำลังทำหน้าที่อยู่นี้ คือการหมั่นฝึกฝนจิตใจให้นิ่ง ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมอันเป็นสิ่งสมมุติเหล่านี้ แม้กระทั่งเกียรติในฐานะชายชาติกษัตริย์ที่คนขับสามล้อพูดโปรนักหนาก็เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่พึงไปหวั่นไหวกับมัน
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่คนขับสามล้อไม่ได้สอนไว้ในนิทานภารตะคือคำถามของคุณที่ว่าก็ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตล้วนเป็นสิ่งสมมุติ หากเราเอียนเต็มทีแล้ว เราจะทิ้งหน้าที่ไปเสียกลางคันตอนนี้เลยจะได้ไหม ไม่ทำไม่เทิมมันละ ผมจะตอบคำถามนี้ให้นะ ไม่เกี่ยวกับคำสอนในภารตะยุทธ์ เป็นคำตอบของผมเอง ผมตอบว่าคุณทิ้งหน้าที่ไปได้ อยากทิ้งไปเมื่อไหร่ก็ทิ้งไปได้ ไม่ว่าหน้าที่ของคุณจะสำคัญล้นฟ้าอย่างไรหากคุณอยากทิ้งก็ทิ้งไปได้เลย เพราะมันล้วนเป็นสิ่งสมมุติ แต่..ให้คุณสังวรไว้นิดเดียว ว่าไม่ว่าจะทำหน้าที่ หรือทิ้งหน้าที่ ก็ล้วนสัมพันธ์กับความหวั่นไหวในโลกธรรมเสมอ ดังนั้นคุณจะเลือกทางไหนดี คุณต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ก่อน ว่าคุณได้ฝึกฝนจิตใจของคุณมาให้นิ่งพอที่จะไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอันจะตามหลังมาจากทั้งการทำหน้าที่หรือการทิ้งหน้าที่แล้วหรือยัง ถ้าคุณยังไม่ได้ฝึกฝนจิตใจของคุณมาจนนิ่งพอ ก็อย่าเพิ่งไปทำอะไรแหกคอกตอนนี้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวคุณจะยิ่งหวั่นไหวหนักจนประสาทรับประทานได้ ควรที่คุณจะลงมือฝึกฝนจิตใจของตัวเองให้นิ่งจนไม่หวั่นไหวในโลกธรรมใดๆให้ได้ชัวร์ๆก่อน แล้วอยากจะทำหน้าที่ หรืออยากจะทิ้งหน้าที่ คราวนี้เชิญตามสะดวกเลยพะยะค่ะ ไม่ต้องไปห่วงคนอื่นหรอกว่าคุณทิ้งหน้าที่ไปแล้วพวกเขาจะเป็นจะตายกันอย่างไร เพราะมันเป็นแค่เรื่องสมมุติ ห่วงแต่ว่าทิ้งหน้าที่ไปแล้วตัวคุณเองจะเป็นบ้าหรือเปล่าก็พอแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์