วิ่งแล้วเสียชีวิต ประเด็นที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้

หญ้ารกที่ทางเข้าบ้านมวกเหล็ก

เรียน คุณหมอสันต์

       จากข่าวเร็ว ๆ นี้        "สลดงานวิ่งดับวันเดียว 3 ราย รองอธิบดีควบคุมโรค-ระยอง 2" ทั้ง ๆ ที่มีหน่วยรักษาพยาบาลอยู่ในเหตุการณ์ อยากทราบว่าทำไมไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน และมีทางจะป้องกันเหตุการณ์แบบนี้บ้างหรือไม่ คำตอบของคุณหมอคงจะได้คลายสงสัยให้กับคนที่ชอบออกกำลังกายครับ

ขอแสดงความนับถือ

.........................................

ตอบครับ

     ปกติผมไม่ยุ่งกับข่าว แต่จดหมายถามเรื่องข่าววิ่งแล้วตายนี้มีเข้ามาหลายฉบับ และการตอบอาจจะมีประโยชน์ในแง่การอาศัยข่าวนี้สร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเองมากขึ้น

     ประเด็นที่ 1. ความเสี่ยงของการตายกะทันหันนอกโรงพยาบาล ก่อนที่เราจะตื่นตูมเรื่องอะไร เราต้องเข้าใจเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของเรื่องนั้นๆก่อน เช่นคนเขาตื่นกันว่าโลกจะแตกหรือน้ำจะท่วมกรุงเทพ โลกมันอาจจะแตกจริงๆหรือน้ำมันอาจจะท่วมกรุงเทพจริงๆสักวันหนึ่ง แต่โอกาสที่มันจะเกิดในแต่ละวันที่ผ่านไปมันมีกี่เปอร์เซ็นต์ หากเปอร์เซ็นต์มันน้อยมากมันก็ไม่คุ้มที่เราจะไปตื่นตูม ไม่งั้นเราก็จะมีชีวิตอยู่แต่ในความกลัวทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่เกิดเลยตลอดชีวิตเรา แบบที่พวกนักปฏิบัติธรรมเขาเรียกกันว่า "หาเรื่องทุกข์ฟรี"

     กลับมาที่ความเสี่ยงของการตายกะทันหันนอกโรงพยาบาลโดยไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ สถิติที่เก็บอย่างดีและเชื่อถือได้มากที่สุดน่าจะเป็นของแคนาดา คือโอกาสตายกะทันหันนอกโรงพยาบาลมี 56/100,000 ต่อปีหมายความว่าในหมู่คนหนึ่งแสนคน แต่ละปีจะตายกะทันหัน 56 คน เทียบเป็นคนไทยซึ่งปีนี้มี 66.5 ล้านคนก็เท่ากับว่าคนไทยมีตายกะทันหันปีละ 37,240 คน หรือวันละ 102 คน ฟังให้ดีนะ วันหนึ่งตายกะทันหันกันเป็นร้อย ขณะที่ตายทำอะไรกันอยู่บ้างก็มีตั้งแต่หลับตาย ตื่นใหม่ๆแล้วตาย ตายขณะนั่งเฉยๆ ตายขณะกินข้าว ตายขณะออกกำลังกาย ตายคาอก ฯลฯ ดังนั้นเมื่อมีข่าวการตายกะทันหันขึ้นมาสามรายในหนึ่งวัน ขอให้เราเข้าใจว่าปกติมันเกิดวันละเป็นร้อย เพียงแต่ที่เหลือมันไม่เป็นข่าว

     ประเด็นที่ 2. ความเสี่ยงของการตายกะทันหันขณะวิ่งมาราธอน วารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ) เคยตีพิมพ์การตายกะทันหันขณะวิ่งมาราธอนว่ามีอัตราตาย 1/126,000 (คนครั้ง) หมายความว่าหากมีคนมาวิ่งในงานราวหนึ่งแสนสองหมื่นคน จะเกิดการตายกะทันหันประมาณหนึ่งคน วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NJOM) ก็เคยตีพิมพ์สถิติอัตราตายกะทันหันขณะวิ่งมาราธอนไว้ว่าอยู่ที่ 1/250,000 (คนครั้ง)ทั้งสองรายงานเป็นข้อมูลความจริงที่เชื่อถือได้ทั้งคู่แต่รวบรวมมาจากคนละการแข่งขัน จะเห็นว่าในภาพใหญ่ความเสี่ยงของการตายกะทันหันขณะวิ่งมาราธอนเป็นความเสี่ยงในระดับที่ถือว่าต่ำมาก ทุกครั้งเมื่อเราเข้าร่วมวิ่งมาราธอน เรารู้ว่ามีความเสี่ยงนี้อยู่แล้ว แต่เราไปวิ่งเพราะประโยชน์ที่จะได้จากการวิ่งมันมีมากกว่าความเสี่ยง ส่วนด้านความเสี่ยงนั้นเราก็จัดการป้องกันในส่วนที่ป้องกันได้เสีย

     ประเด็นที่ 3. การตายกะทันหันขณะวิ่งมาราธอนเกิดจากอะไรได้บ้าง ความเป็นไปได้ของสาเหตุการตายกะทันหันขณะวิ่งออกกำลังกาย ผมคัดมาเฉพาะความเป็นไปได้สูงสุดเก้าอันดับแรก ดังนี้

     1. ร่างกายไม่ฟิต ไม่เคยใช้งานหนัก แล้วอยู่ๆก็ถูกโหมใช้งานหนัก ระบบทั้งระบบปรับตามไม่ได้ ทำให้เกิดความล้มเหลวเฉียบพลันขึ้นในระบบสำคัญเช่นระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ เป็นต้น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทุกระบบก็ทำงานได้ตามปกติ

     2. กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) หมายความว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อน แล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดนั้นเฉียบพลัน (acute MI)

     3. กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) แล้วเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน กรณีนี้มักจะเป็นกับคนหนุ่มคนสาวซึ่งเป็นนักกีฬาเล่นกีฬาหนักๆแต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ เพราะโรคนี้พวกหนึ่งเป็นมาตั้งแต่เกิด อีกพวกหนึ่งมาเป็นเอาตอนโตแล้วจากการติดเชื้อไวรัสบ้าง จากความดันเลือดสูงบ้าง

     4. อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไป (heat stroke) เหมือนรถยนต์ที่หม้อน้ำแห้งแล้วเครื่องร้อนจนลูกสูบแตก

     5. เกิดการหดตัวของหลอดเลือดหัวใจ (coronary spasm) และหลอดเลือดในที่อื่นๆทั่วร่างกาย มักเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย กลไกในระดับหลอดเลือดนั้นวงการแพทย์รู้ว่าหลอดเลือดนี้มันขยายตัวพองอยู่ได้เพราะมีการผลิตสารไนตริกออกไซด์ (NO) ขึ้นที่เยื่อบุด้านในหลอดเลือด ร่วมกับการบีบและคลายหลอดเลือดโดยระบบประสาทอัตโนมัติ มีหลายเหตุการณ์ที่พบร่วมกับการที่กลไกนี้หยุดทำงาน เหตุการณ์เหล่านั้นได้แก่ 

(1) ร่างกายขาดน้ำ 

(2) อดนอน 

(3) ความเครียดเฉียบพลัน (ระดับปรี๊ด..ด แตก) 

(4) การมีระดับเกลือ (sodium) ในกระแสเลือดสูง 

(5) การมีระดับไขมันในกระแสเลือดสูง 

(6) การมีสารพิษเช่นสารจากบุหรี่ ยาฆ่าแมลง ในกระแสเลือดสูง 

     6. น้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) มักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้วไม่ได้ปรับยาตามอาหารและกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ผิดแผกไปจากวันปกติ

     7. หลอดเลือดใหญ่ปริแตก (aortic dissection) มักเป็นกับคนที่ความดันเลือดสูง และเป็นโรคหลอดเลือดอยู่ก่อน

     8. ลิ่มเลือดอุดปอด (pulmonary embolism) คือมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดดำใหญ่ที่ท่อนล่างของร่างกาย แล้วลิ่มเลือดนั้นหลุดไปอุดหลอดเลือดที่ปอด มักเป็นกับคนที่ปกตินอนแซ่วเช่นนอนหลังผ่าตัดในโรงพยาบาลนานๆ หรือคนมีนิสัยนั่งๆนอนๆเป็นวิถีชีวิต แล้ววันหนึ่งเกิดขยันลุกขึ้นขยับหรือกระโดดโลดเต้นกระแทกกระทั้น ลิ่มเลือดที่เคยจอดนิ่งอยู่ในหลอดเลือดดำก็วิ่งจู้ดขึ้นไปอุดหลอดเลือดที่ปอดทำให้ปอดหายใจไม่ได้

     9. หัวใจเต้นผิดปกติ (arrhythmia) อันสืบเนื่องมาจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานขัดข้อง ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติแบบต่างๆ บางแบบเป็นชนิดอันตรายถึงตาย เช่น VF, VT แม้บางแบบเช่น AF ปกติไม่ก่อปัญหาถึงตาย แต่พอออกกำลังกายหนักๆก็ก่อปัญหาได้ แต่สำหรับหัวใจเต้นผิดปกติชนิด PVC ซึ่งคนเป็นกันมากนั้นไม่เกี่ยว หมายความว่า PVC ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับการตายกะทันหัน 

     นี่ว่ากันเฉพาะเหตุที่พบบ่อยนะ ยังเกิดจากเรื่องอื่นๆได้อีกอึดตะปือ แต่มันมีโอกาสเกิดน้อยไม่คุ้มที่จะเสียเวลาไปพูดถึง

     ประเด็นที่ 4. จะวิ่งมาราธอนอย่างไรให้ปลอดภัย 

     1. ต้องซ้อมก่อน ร่างกายของคนเรานี้มีความสามารถปรับตัวได้เยอะมากถ้าค่อยๆซ้อม การซ้อมแบบค่อยๆเพิ่มความหนักจะเพิ่มความฟิตของร่างกายได้ถึง 30% ในเวลาแค่ 2 เดือน การพาร่างกายซึ่ง "อ่อนซ้อม" ลงสนามแข่ง ทำให้ต้องรีดต้องเค้นร่างกายมาก จนในที่สุดร่างกายก็สู้ไม่ไหว..ตายดีกว่า

     2. ควรปรับอาหารด้วย เพราะการวิ่งมาราธอนต้องพึ่งพาการขยายตัวของหลอดเลือดที่มั่นคงแน่นอน งานวิจัยพบว่าการผลิตไนตริกออกไซด์ที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดซึ่งทำให้เลือดขยายตัวดีนั้น จะผลิตได้ดีมากหากได้อาหารพืชบางชนิดที่ให้ไนเตรท เช่น บีทรูท แตงโม ส้ม ผักใบเขียว ทับทิม องุ่น ถั่วและนัท นักวิ่งมาราธอนจึงควรเพิ่มปริมาณอาหารพืชให้หลากหลายโดยให้มีอาหารที่ให้ไนเตรทสูงเหล่านี้รวมอยู่ด้วย  

     3. ถ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว ต้องแม่นยำในการจำแนกอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) อย่างแรกนั้นอาการจะทุเลาลงทันทีและหายไปเมื่อผ่อนการออกกำลังกายลง ส่วนอย่างหลังนั้นอาการจะมากขึ้นๆแม้ว่าจะพักนานถึง 20 นาทีแล้วก็ยังไม่หาย อย่างหลังเป็นการเจ็บหน้าอกแบบอันตราย ต้องเรียกรถฉุกเฉินให้พาไปโรงพยาบาลทันที

     4. ถ้าจะเล่นกีฬาเป็นอาชีพ ซึ่งต้องเล่นระดับหนักมากเป็นประจำ หรือหากคิดจะวิ่งแบบอยากจะเอาให้หนักมากโดยไม่เคยวิ่งหนักอย่างนั้นมาก่อน ควรตรวจคัดกรองโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการเสียหน่อยก็ดี เพราะการออกกำลังกายระดับหนักมากเป็นความเสี่ยงต่อหัวใจอย่างหนึ่ง การตรวจต้องไปให้หมอหัวใจใช้เครื่องเอ็คโค (echo) เป็นเครื่องมือหลักในการตรวจ ไม่เจ็บตัว เพราะไม่ได้ฉีดสีหรือทำอะไรรุกล้ำ

     5. ให้ร่างกายได้พักผ่อนนอนหลับให้พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คืนก่อนลงสนาม 

     6. ดื่มน้ำให้มากพอ ทั้งก่อนวิ่ง ขณะวิ่ง และหลังวิ่ง

     7. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ปรุงด้วยการใช้น้ำมันผัดทอด เพราะงานวิจัยโดยใช้กล้องถ่ายรูปในหลอดเลือด (IVUS) พบว่าเกลือก็ดี ไขมันก็ดี ทำให้หลอดเลือดหดตัวง่าย

     8. กรณีกินหรือฉีดยาเบาหวาน ต้องปรับลดขนาดยาวันก่อนวิ่ง เพราะร่างกายจะใช้กลูโค้สมากกว่าปกติ ขณะที่อาหารที่กินมักจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ

     9. ในขณะวิ่งต้องเลี้ยงตัวให้อยู่ในระดับหนักพอควรก็พอ คือระดับความหนักของการออกกำลังกายนี้มีสามระดับ ถ้าร้องเพลงได้แสดงว่าอยู่ในระดับเบา ระดับหนักพอควร (moderate intensity) หมายความว่าเหนื่อยหอบจนร้องเพลงไม่ได้แต่ยังพูดได้ ส่วนระดับหนักมากหมายถึงเหนื่อยจนพูดไม่ได้เลย ในการวิ่งมาราธอนควรหลีกเลี่ยงการวิ่งในระดับหนักมาก นั่นเป็นวิธีวิ่งร้อยเมตร ไม่ใช่วิ่งมาราธอน ในแง่ของผลวิจัย การออกกำลังกายระดับหนักมากเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจมากขึ้น

     10. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารกระตุ้นระบบประสาทกลางทุกชนิด

     11. เมื่อมีอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอกเกิดขึ้น ให้ผ่อนคลายตัวเองทันที  แม้แค่รู้สึกเปลี้ย เพลีย สู้ไม่ไหวก็ให้ใส่เกียร์ถอยได้แล้ว อย่าพยายามฝืนหรือมุ่งมั่นวิ่งเข้าเส้นชัย หรือฝืนสร้างสถิติทั้งๆที่เริ่มแน่นหน้าอก ให้ผ่อนการออกแรงลงทันที หากอาการยังอยู่ก็ลดระดับการออกแรงลงไปอีกๆๆ ลดจากวิ่งเป็นเดิน จากเดินเป็นหยุดยืน จากยืนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นนอน ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายโดยการหายใจเข้าลึกๆเต็มปอด แล้วหายใจออกโดยค่อยๆเป่าลมออกจากปากช้าๆพลางสั่งให้กล้ามเนื้อร่างกายผ่อนคลายตั้งแต่หัวถึงเท้า ยิ้มที่มุมปากเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายผ่อนคลายได้แล้วจริง ทำอย่างนี้ซ้ำๆหลายๆครั้งจนอาการเหนื่อยและแน่นหายไป หัดทำอย่างนี้บ่อยๆ 

     ทุกครั้งขณะเดินเร็วหรือวิ่งอยู่ให้หัดหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนลมโดยเป่าออกทางปากช้าๆ พร้อมกับผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายไปด้วย รับรู้ความรู้สึก (feel) ร่างกายว่ายังมีพลังพอไหม ยังสบายดีอยู่หรือเปล่าตลอดเวลา ในการวิ่งอย่าคิดอะไรฟุ้งสร้านเปะปะ ให้ความสนใจอยู่กับลมหายใจและร่างกายตลอดเวลา พูดง่ายๆว่าให้ทิ้งความคิดมาอยู่กับเวทนาของร่างกาย ฝึกอย่างนี้ให้ชำนาญ

     ประเด็นที่ 5. ผู้จัดงานวิ่งควรเตรียมความพร้อมอย่างไร การจัดงานวิ่งทุกครั้งผมสังเกตเห็นว่ามีการเตรียมรถพยาบาล มาตรฐานของรถพยาบาลไทยมีเครื่องช็อกไฟฟ้า (AED) อยู่แล้วทุกคัน มีคนที่ได้รับการฝึกอบรมในการช่วยชีวิตมาอย่างดีแล้วทุกคัน แต่ยังมีบางประเด็นที่อาจจะมีประโยชน์ คือ

     1. งานวิจัยพบว่าส่วนใหญ่การเสียชีวิตกะทันหันขณะวิ่งมาราธอนเกิดขึ้นที่ 20% สุดท้ายของระยะวิ่ง หมายถึงช่วงก่อนเข้าเส้นชัย ดังนั้นการเอารถฉุกเฉินคลานตามคนวิ่งได้ที่โหล่ไป รถจะอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าเส้นชัยมาก มีอะไรเกิดขึ้นทางโน้น ทางนี้ไปไม่ทัน ดังนั้นสรรพกำลังหลักต้องปักหลักอยู่ในย่านที่มีโอกาสเกิดเหตุสูง แล้ววางแผนจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปยังจุดอื่น

     2. ผมสังเกตเห็นว่าน้องๆทีมงานช่วยชีวิตที่มากับรถฉุกเฉินเองมักจะมีสภาพร่างกายไม่พร้อม แค่ดูหุ่นและวิธีการเคลื่อนไหวไกลๆก็รู้แล้วว่าไม่พร้อม ผมพูดอย่างนี้น้องๆคงไม่โกรธ เพราะผมเองเป็นครูตระเวณสอนการช่วยชีวิตทั่วประเทศมายาวนานหลายสิบปี น้องๆที่อยู่ในแวดวงการช่วยชีวิตทุกวันนี้มีไม่น้อยที่เป็นลูกศิษย์ หรือหลานศิษย์ หรือเหลนศิษย์ของผมเอง ในการปกป้องพื้นที่ที่ยาวไกลอย่างการวิ่งมาราธอน หรือในพื้นที่ยากลำบากอย่างการวิ่ง trail ในป่า ผู้ปฏิบัติการช่วยชีวิตต้องมีร่างกายที่ฟิตอย่างยิ่ง ผมเคยพาคนไปออกกำลังกายโดยการแข่งกันวิ่งขึ้นบันไดวัดพระขาวที่กลางดง ซึ่งมีบันไดหกร้อยกว่าขั้น พอมีคนหมดสติที่ข้างบน พยาบาลผู้ช่วยชีวิตต้องขึ้นๆลงๆบันไดนั้นถึงสามรอบ ลองนึกภาพว่าหากพยาบาลไม่ฟิตจะเป็นอย่างไร ดังนั้นอย่ามองมิชชั่นการปกป้องการวิ่งมาราธอนว่าเป็นจ๊อบแถม แบบลงเวรดึกมาแล้วมาต่องานนี้ การทำงานนี้เราควรจะต้องฟิตอย่างยิ่ง ร่างกายต้องพร้อมอย่างยิ่ง ใจต้องถูกฝึกให้มีสติพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน (crisis management) อยู่ตลอดเวลา

     บทสรุป ข่าวคนตายขณะวิ่งนี้ ช่วยให้ความรู้แก่เรา ช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการออกกำลังกายของเราให้ปลอดภัยขึ้น แต่อย่าไปแพร่ข่าวเพื่อสร้างความกลัว หรือกระจายความขี้เกียจออกกำลังกาย เพราะในบรรดาความเสี่ยงตัวเบ้งๆของการตายและทุพลภาพจากโรคหัวใจนั้นมีห้าตัวคือ (1) บุหรี่ (2) ไขมัน (3) ความดัน (4) เบาหวาน (5) การไม่ออกกำลังกาย ความเสี่ยงในการออกกำลังกายมีอยู่ก็จริงแต่มีน้อย ประโยชน์ที่จะได้จากการออกกำลังกายมีมากกว่าความเสี่ยง แม้สำหรับคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเองก็ตาม ตัวผมเองก็เป็นตัวอย่างได้ ตัวผมเองเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ก็ยังออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆอยู่เกือบทุกวันโดยใช้หลักการความปลอดภัยที่เล่าไปข้างต้นทั้งหมด 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kim JH, Malhotra R. et al. for the Race Associated Cardiac Arrest Event Registry (RACER) Study Group. Cardiac Arrest during Long-Distance Running Races. N Engl J Med 2012; 366:130-140 DOI: 10.1056/NEJMoa1106468

2. Corrado D, Basso C, Rizzoli G, Schiavon M, Thiene G. Does sports activity enhance the risk of sudden death in adolescents and young adults? J Am Coll Cardiol. 2003; 42: 1959–1963.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี