เป็นคุณหมอ วางแผนเลี้ยงลูกด้วยอาหารแบบวีแกน
สวัสดีค่ะ อ.หมอสันต์
หนูจบหมอตั้งแต่ปี 2555 ตอนนี้ลาออกมาเลี้ยงลูกค่ะ มีเรื่องที่คิดหนักมากๆเลยคือหนูอยากเลี้ยงลูกเป็นวีแกน แต่หนูกลัวลูกขาดอะไรรึป่าว ก็เลยว่าจะให้กินไข่แดงบ้าง อยากทราบว่า จำเป็นต้องกินไข่มั้ยคะ ปัจจุบัน อายุ10เดือน กิน 3 มื้อ ลูกกินดังนี้ค่ะ ( วนๆค่ะ)
– ถั่วหลากสีปั่น
– ข้าว ควีนัว ผสมแฟกซีด ขี้ม้อน
2 เมนูบน สลับกัน มาผสมกับ
– อะโวคาโด กล้วย ผลไม้สลับๆ
และให้หยิบกินเล่นด้วย ตามนี้
– ผักโขม บรอคโคลี ผักบุ้ง ฟักทอง
มะเขือเทศ มันหวาน แครอท
ล่าสุดหมอว่าซีดก็มีป้อนเหล็กเสริมบ้างค่ะ กับเสริม b12 spray(ผู้ใหญ่) แบ่งมาเสี้ยวนึง ประมาณเดือนละครั้งค่ะ อาจารย์มีอะไรแนะนำเพิ่มมั้ยคะ กับไข่แดงค่ะ อยากทราบว่าถ้าไม่ให้กินจำเป็นต้องเสริมอะไรมั้ยคะ
กราบขอบพระคุณค่ะ
…
ตอบครับ
ผมจะขอตั้งประเด็นตอบเพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องนำไปใช้ในการเลี้ยงเด็กเลยนะ
ประเด็นที่ 1. เมื่อเราพูดถึงอาหารวีแกนและมังสวิรัติ มันมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะมันหมายถึงอาหารหลายแบบที่มีผลต่อการเติบโตพัฒนาการของเด็กแตกต่างกัน ผมจะลองแยกประเภทให้ดูนะ
ประเภที่ 1. มังกินปลา (pescovegetarian)
ประเภทที่ 2. มังกินไข่กินนม (lacto-ovovegetarian)
ประเภทที่ 3. มังกินนมไม่กินไข่ (lactovegietarian)
ประเภทที่ 4. พวกเจเขี่ย (flexitarian) คือกินอาหารทุกชนิดแต่พยายามเพิ่มส่วนที่เป็นพืชและลดส่วนเนื้อสัตว์ โดยเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไปให้มากที่สุด
ประเภทที่ 5. พวกวีแกน (vegan) คือไม่กินสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา หอย กรณีเป็น “เจ” ชนิดที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็อาจจะแถมไม่กินอาหารหมักดองและผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุนเช่นกระเทียม เป็นต้น
ประเภทที่ 6. พวกแมคโครไบโอติก ซึ่งคล้ายๆกับพวกเจ แต่ว่ามีข้อจำกัดในประเด็นความหลากหลายของอาหารพืชมากกว่า กล่าวคือในกลุ่มที่สุดโต่งไปด้านเข้มงวด 100% จะกินได้แต่ธัญพืชส่วนถั่วและงาจะกินไม่ได้
คำตอบของผมในวันนี้จะไม่รวมกลุ่มที่ 6 คือกลุ่มกินแมคโครไบโอติกสายฮาร์ดคอร์ที่ไม่ยอมกินถั่วและงา เพราะเป็นวิธีกินอาหารที่ปฏิบัติการเฉพาะในกลุ่มคนเล็กๆที่มีความเชื่อทางศาสนาจำเพาะเท่านั้นซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวไม่มีอยู่ในประเทศไทย
ประเด็นที่ 2. ผลของอาหารวีแกนต่อเด็กวัยหลังหย่านม
งานวิจัยติดตามดูการเติบโตของเด็กส่วนใหญ่มักเหมาเข่ง “มังสวิรัติ” ไปอยู่เข่งเดียวกันหมดเพราะมันเป็นการยากที่จะแยกแยะเช่นเด็กกินไข่ปีละฟองสองฟองว่ายังจะนับเป็นวีแกนได้หรือเปล่า เป็นต้น ผลของงานวิจัยแบบเหมาเข่งเอามังสวิรัติทุกนิกายไปรวมอยู่ในเข่งเดียวกันเหล่านี้ล้วนให้ผลสรุปที่ตรงกันว่าการเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่กินเนื้อสัตว์กับกินมังสวิรัติไม่แตกต่างกัน เช่นการวิจัยตามดูการเติบโตของเด็กกลุ่มกินมังสวิรัติกับกลุ่มกินเนื้อสัตว์ที่ประเทศอังกฤษพบว่าการเติบโตไม่ต่างกัน และพบว่าเด็กกินมังได้พลังงานจากอาหารพอเพียง อีกงานวิจัยหนึ่งงานวิจัยเปรียบเทียบความสูงของเด็กในโรงเรียนศาสนา(เซเวนเดย์แอดเวนทิส) ซึ่งกินมังจำนวน 870 คน กับโรงเรียนของรัฐซึ่งกินเนื้อสัตว์ 895 คน ที่เมืองโลมา ลินดา สหรัฐ พบว่าเด็กกินมังสวิรัติ (ซึ่งนับว่าถ้ากินเนื้อสัตว์ก็กินน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่ากินมัง) มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าเด็กกินเนื้อสัตว์แบบไม่มังที่อายุเท่ากันและเรียนระดับชั้นเดียวกัน 2.5 ซม.กรณีเด็กชาย และ 2.0 ซม.กรณีเด็กหญิง ในขณะที่ในแง่ของความอ้วนนั้นเด็กที่กินมังสวิรัติมีอัตราอ้วนน้อยกว่า โดยที่เด็กทั้งหมดในทั้งสองกลุ่มล้วนมีการเติบโตปกติค่อนไปทางโตมาก (สูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ทุกคน
อย่างไรก็ตาม ที่รัฐเทนเนสซี่ มีชุมชนที่จัดตั้งกันขึ้นมาโดยกลุ่มคนอเมริกันที่มีการศึกษาสูง มาอยู่ร่วมกันมาแล้วยาวนาน เรียกว่าชุมชน The Farm ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นคอมมูนแบบผลิตพืชอาหารบริโภคเองและนับถือศาสนาที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลย คือเป็น “วีแกน” แท้ๆ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้เข้าไปทำงานวิจัยชื่อดังชื่อ FARM Study เพื่อสำรวจตามดูการเติบโตของเด็กกินอาหารวีแกน 404 คนที่กินอาหารวีแกนตั้งหย่านมและใช้ nutrition yeast เป็นแหล่งวิตามินบี.12 ขณะทำวิจัยเด็กเหล่านี้มีอายุ 4-10 ขวบ พบว่าเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการทางร่างกายอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25-75 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็แปลว่าปกติอยู่ตรงกลางๆไม่ผอมแห้งแรงน้อยเกินไปไม่อ้วนเกินไป ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าชุมชนนี้พ่อแม่เด็กล้วนมีการศึกษาสูงและรู้วิธีเสริมวิตามินที่อาจขาดแคลน
ดังนั้นผมตอบคุณได้ในภาพใหญ่ว่าเด็กที่กินมังสวิรัติทั้งแบบไม่แยกนิกายหรือแยกเฉพาะพวกวีแกนออกมาก็ตาม หลักฐานวิทยาศาสตร์เท่าที่มีถึงทุกวันนี้พบว่าหากรู้วิธีเสริมวิตามินที่อาจขาดแคลนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินบี.12 อัตราการเติบโตและพัฒนาการของเด็กไม่แตกต่างจากเด็กที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
ประเด็นที่ 3. ปัญหาการขาดแคลนธาตุเหล็กถ้ากินไม่เป็น
การวิเคราะห์ทั้งอาหารพืชและอาหารเนื้อสัตว์พบว่าต่างอุดมด้วยเหล็กทั้งสิ้น โดยที่เหล็กในเนื้อสัตว์จับอยู่กับโมเลกุลฮีม (heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมเข้าไปใช้ได้ง่าย ขณะที่เหล็กในพืชอยู่ในรูปของเหล็กอิสระ (non heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมไปใช้ตรงๆได้น้อย ต้องอาศัยวิตามินซี.เป็นตัวพาเข้าไป ดังนั้นถ้าไม่กินอาหารอุดมวิตามินซี.ในมื้ออาหารนั้นด้วยก็อาจจะดูดซึมเหล็กได้น้อย นอกจากนั้นเหล็กอิสระยังอาจจะถูกไฟเตทซึ่งเป็นโมเลกุลในเส้นใยอาหารดึงไม่ให้เหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายๆอีกด้วย นอกจากนั้นอีกที ยังอาจจะถูกสารแทนนินในน้ำชาหรือกาแฟจับไว้ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกด้วย ดังนั้นหากกินอาหารแล้วกลั้วตามด้วยชากาแฟทันทีก็มีโอกาสได้เหล็กน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากกินอาหารวีแกนก็ควรจะพิถีพิถันให้มีอาหารอุดมธาตุเหล็ก (ถั่ว นัท ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) โดยกินควบกับอาหารอุดมวิตามินซี. (ผลไม้ต่างๆ)ในมื้อเดียวกัน เพื่อให้วิตามินซีเป็นตัวพาเหล็กอิสระเข้าสู่ร่างกาย และระวังไม่ดื่มชากาแฟตามหลังอาหารหลักทันที
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชิงระบาดวิทยายุคปัจจุบันนี้เพื่อเปรียบเทียบความชุกของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในคนกินเนื้อสัตว์ กับคนกินมังสวิรัติพบว่าต่างเป็นโรคโลหิตจางชนิดเกิดจากการขาดธาตุเหล็กไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกัน งานวิจัยระดับเหล็กที่อยู่ในรูปของการจับกับโปรตีน (ferritin) ของคนกินเนื้อสัตว์และกินมังสวิรัติต่างก็มีระดับ ferritin ในเลือดปกติทั้งคู่ เพียงแต่ว่าคนกินมังสวิรัติมีระดับต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์มีค่าปกติไปทางสูงแต่ของคนกินมังสวิรัติมีค่าปกติไปทางต่ำ โดยที่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารมังสวิรัติไม่ได้เป็นสาเหตุให้ขาดธาตุเหล็ก
ประเด็นที่ 4. โอกาสขาดโปรตีน
ร่างกายของสัตว์ทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นอาหารหลักของเราเช่น หมู วัว ล้วนไม่สามารถผลิตกรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) ขึ้นใช้งานเองได้ ต้องเอามาจากอาหาร เพราะพืชเป็นผู้ผลิตกรดอามิโนจำเป็นที่แท้จริง เนื่องจากมนุษย์กินทั้งสัตว์และพืชจึงได้โปรตีนจากทั้งสัตว์และพืช กรณีที่กินอาหารแบบวีแกน ก็มีโอกาสได้กรดอามิโนจำเป็นครบเพราะพืชหลายชนิดมีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนในตัวมันเอง เช่น ถั่วเหลือง งา คีนัวร์ เป็นต้น
แม้ว่าพืชส่วนใหญ่จะมีกรดอามิโนจำเป็นไม่ครบ แต่ธรรมชาติของมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถเลือกเอาของจำเป็นจากทางโน้นนิดทางนี้หน่อยมาประกอบกันแล้วใช้งานครบถ้วนได้ ดังนั้นการกินอาหารพืชที่หลากหลายก็ทำให้ได้รับกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนโดยปริยาย จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใดบ่งชี้ว่าการกินอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนที่มีพืชหลากหลายจะทำให้ป่วยเป็นโรคขาดโปรตีน
ส่วนการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและน้ำหนักลดหรือผอมลงนั้นมีสาเหตุหลักอยู่ที่การได้รับแคลอรีจากอาหารน้อยเกินไป จนร่างกายต้องสลายเอากล้ามเนื้อมาเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำหนักลดหรือดัชนีมวลกายต่ำผิดปกติต้องโฟกัสที่การเพิ่มอาหารให้แคลอรี่ให้มากพอก่อน ร่างกายจึงจะสามารถเพิ่มน้ำหนักได้
ประเด็นที่ 5. อาหารมาโครไบโอติกแบบจำกัดถั่วและงาไม่เหมาะกับเด็ก
มีหลักฐานจากทางเนเธอแลนด์ว่าเด็กที่เลี้ยงดูด้วยอาหารมาโครไบโอติกแบบเข้มงวดจำกัดถั่วและงา ให้กินแต่ธัญพืชเป็นหลัก พบว่า 58% ของเด็กเหล่านั้นได้รับโปรตีนไม่ถึง 80% ของที่แนะนำว่าควรได้ต่อวัน (RDA) อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เนเธอร์แลนดเช่นกันเด็กเล็กที่กินมังแบบแมคโครไบโอติกแบบเข้มงวดขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กกินเนื้อ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กที่กินอาหารมาโครไบโอติกแบบเข้มงวดจะขาดวิตามินบี.12 ถึงระดับที่ส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาท
ประเด็นที่ 6. อาหารวีแกนที่ทดแทนวิตามินใช้กับเด็กได้ตั้งแต่หลังหย่านม
งานวิจัยในเด็กตั้งแต่หลังหย่านมที่กินมังสวิรัติหรือวีแกนที่ได้รับการทดแทนวิตามินบี.12 เพียงพอ พบว่าอัตราการเติบโตไม่ได้ต่างจากเด็กปกติ ผมจะยกตัวอย่างมาไว้ที่นี้สองงานวิจัยคือ
งานวิจัยที่1. เป็นการสำรวจเด็กกินมังแบบไขมันต่ำหลังหย่านม 51 คนที่อะริโซนาโดยดร.สตีเว่น โกลเบิร์กและดร.เกลน ฟรีดแมน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารกุมารเวช (J of Pediatrics) ปีค.ศ. 1976 พบว่าเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุถึง3 ปี ก็ยังมีอัตราการเติบโตเท่ากับเด็กหสรัฐทั่วไปที่กินเนื้อและดื่มนมวัว
งานวิจัยที่ 2. ทำในเด็กก่อนวัยเรียนที่ใต้หวัน ดูเด็กที่กินมังสวิรัติ 42 คนเทียบกับที่กินเนื้อ 56 คน โดยวัดความสูงและดัชนีมวลกาย วัดความหนาผิวหนังหลังแขน เจาะเลือดดูสารอาหาร พบว่าทั้งสองกลุ่มมีดัชนีการเติบโตทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ประเด็นที่ 7. เด็กหลังหย่านมหากจะให้กินวีแกนควรให้กินไข่แดงไหม
ประเด็นนี้ไม่มีงานวิจัยที่จะตอบตรงๆได้ว่าการเสริมไข่แดงหรือนมให้เด็กที่กินอาหารวีแกนหลังหย่านมจะดีกว่าอยู่เปล่าๆหรือไม่ ผมจึงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ตรงนี้มันเป็นย่านที่ปลอดข้อมูล เอาเป็นว่าคุณชอบแบบไหนเอาแบบนั้นก็แล้วกัน
ประเด็นที่ 8. เด็กที่ยังไม่หย่านมจะกินอาหารวีแกนควบได้ไหม
หลักวิชาแพทย์ปัจจุบันนี้ถือว่านมแม่เป็นอาหารอย่างเดียวก็พอแล้ว จนอายุถึงวัยหย่านมคืออย่างเร็วก็ 6 เดือนเป็นต้นไป หลังจากนั้นจึงจะให้เริ่มอาหารแข็ง แต่ในชีวิตจริงอาหารเสริมสำหรับเด็กวัยก่อน 6 เดือนมีขายเกลื่อนตลาดและขายดีด้วยเพราะแม่ที่เอาแต่ทำมาหากินไม่มีเวลาหรือไม่นิยมให้น้ำนมลูก วงการแพทย์ไม่มีข้อมูลหรอกว่าอาหารแข็ง (เสริมกับนมแม่) เหล่านั้นแบบไหนดีกว่าแบบไหน รู้แต่ว่าหากให้ดื่มนมวัวตั้งแต่อายุน้อยเด็กจะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) มากขึ้นกว่าเมื่อไม่ให้ดื่มนมวัว ดังนั้นช่วงให้นมแม่ไม่ควรให้ดื่มนมวัวหรืออาหารเสริมใดๆ แต่หากจำเป็นต้องให้เพราะมีเหตุให้นมแม่ไม่ได้ก็ควรจะเป็นอาหารธรรมชาติมากกว่านมวัว ส่วนจะเป็นอาหารธรรมชาติแบบมีเนื้อสัตว์หรือแบบวีแกน แบบไหนดีกว่ากัน ตรงนี้ยังไม่มีใครทราบ คุณต้องตัดสินใจเอาเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
2. Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
3. Sabaté J1, Lindsted KD, Harris RD, Sanchez A. Attained height of lacto-ovo vegetarian children and adolescents. Eur J Clin Nutr. 1991 Jan;45(1):51-8.
4. Dagnelie PC, van Staveren WA. Macrobiotic nutrition and child health: results of a population-based, mixed-longitudinal cohort study in The Netherlands. Am J Clin Nutr. 1994 May; 59(5 Suppl):1187S-1196S.
5. Roberts IF, West RJ, Ogilvie D, Dillon MJ. Malnutrition in infants receiving cult diets: a form of child abuse. Br Med J. 1979 Feb 3; 1(6159):296-8.
6. van Dusseldorp M, Schneede J, Refsum H, Ueland PM, Thomas CM, de Boer E, van Staveren WA. Risk of persistent cobalamin deficiency in adolescents fed a macrobiotic diet in early life. Am J Clin Nutr. 1999 Apr; 69(4):664-71.
7. Yen CE1, Yen CH, Huang MC, Cheng CH, Huang YC. Dietary intake and nutritional status of vegetarian and omnivorous preschool children and their parents in Taiwan. Nutr Res. 2008 Jul;28(7):430-6. doi: 10.1016/j.nutres.2008.03.012.
8. Sanders TAB. Growth and development of British vegan children. Am J Clin Nutr. 1988;48:822–5. [PubMed] [Google Scholar]
9. Sabaté J, Lindsted K, Harris RD, Johnston PK. Anthropometric parameters of schoolchildren with different life-styles. Am J Dis Child. 1990;144:1159–63. [PubMed] [Google Scholar]
10. Sanders TA, Reddy S. Vegetarian diets and children. Am J Clin Nutr. 1994;59:1176S–81S. [PubMed] [Google Scholar]
11. Paronen J, Knip M, Savilahti E, Virtanen SM, Ilonen J, Akerblom HK, et al. Effect of cow’s milk exposure and maternal type 1 diabetes on cellular and humoral immunization to dietary insulin in infants at genetic risk for type 1 diabetes. Finnish Trial to Reduce IDDM in the Genetically at Risk Study Group. Diabetes. 2000 Oct. 49(10):1657-65.
12. Lempainen J, Tauriainen S, Vaarala O, Mäkelä M, Honkanen H, Marttila J, et al. Interaction of enterovirus infection and cow’s milk-based formula nutrition in type 1 diabetes-associated autoimmunity. Diabetes Metab Res Rev. 2012 Feb. 28(2):177-85.