การกินโปรไบโอติกส์ลดความอ้วนได้ดีกว่ายาหลอก
คุณหมอสันต์คะ
การกินโยเกิตทำจากถั่วเหลืองแบบไม่มีน้ำตาลจะช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้นไหมคะ
................................................
ตอบครับ
มีคนทำอย่างที่คุณว่าอยู่นะครับ คือเอาแบคทีเรียอัดแคปซูล หรือที่เรียกกันว่า probiotics มากินเป็นยาลดความอ้วนบ้าง หรือกินโยเกิร์ตซึ่งมีแบคทีเรียโปรไบโอติกอยู่แล้วเป็นอาหารลดความอ้วนบ้าง จะเรียกว่าเป็นสาขาใหม่หรือสายใหม่ของการลดความอ้วนก็ว่าได้ ถ้าจะให้ผมตั้งชื่อเรียกผมคงต้องตั้งชื่อว่าพวกลดความอ้วนสายสร้างชุมชนจุลชีพ (microbiome) หมายถึงการอาศัยดุลภาพของแบคทีเรียในลำไส้มาช่วยลดความอ้วน ถามว่าการทำอย่างนี้มันได้ผลไหม อย่างน้อยก็มีหนึ่งงานวิจัยที่ทำเรื่องนี้ในเด็กและวัยรุ่นแล้วได้ข้อสรุปว่า..ได้ผลนะ
งานวิจัยนี้นำเสนอในการประชุม e-ECE 2020 ซึ่งเพิ่งประชุมกันเสร็จไปเมื่อต้นเดือนกย.นี้เอง วิธีวิจัยคือเอาเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนมา 100 คนมาเข้าโครงการลดน้ำหนัก แล้วจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้คุมอาหารโดยไม่ให้มีแคลอรีมากด้วยและให้กินแบคทีเรียชนิดมีประโยชน์ (โปรไบโอติกส์) ในรูปแคปซูลด้วย (Bifidobacterium breve สายพันธ์ BR03 และ B632) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารแบบเดียวกันควบกับกินยาหลอกแทน แล้วก็ติดตามชั่งน้ำหนัก วัดเส้นรอบพุง เจาะเลือด และตรวจอุจจาระอยู่นาน 8 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่กินโปรไบโอติกส์ลดน้ำหนักได้ดีกว่า เส้นรอบพุงลดลงมากกว่า มีภาวะดื้อต่ออินสุลินน้อยกว่า และมีปริมาณแบคทีเรียตัวเลว (E. coli) ในลำไส้ลดลงเหลือน้อยกว่า
งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่าโปรไบโอติกส์ช่วยลดน้ำหนักได้ ถือเป็นความรู้เพิ่มเติมเรื่องคุณประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ซึ่งวงการแพทย์รู้ดีมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามันช่วย (1) บรรเทาอาการท้องร่วงจากติดเชื้อหลังการใช้ยาปฏิชีวนะแบบครอบจักรวาลนานๆ (2) บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสียในคนทั่วไป ทำให้ท้องไส้ทำงานปกติมากขึ้น (3) ลดเอ็นไซม์และแบคทีเรียที่ส่งเสริมให้เกิดของเน่าเหม็นและสารก่อมะเร็งในลำไส้ (4) ป้องกันและบรรเทาผื่นผิวหนังจากการแพ้ในเด็กทารก และ (5) ป้องกันและบรรเทาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน (เช่นหวัด)
ไหนๆก็พูดถึงโปรไบโอติกส์แล้ว และนี่กำลังเข้าสู่ยุคบ้าแบคทีเรียในลำไส้ ก่อนจบผมอยากจะถือโอกาสนี้อธิบายศัพท์แสงที่คนบ้าแบคทีเรียในลำไส้เขาชอบพูดกันไว้ตรงนี้เสียเลยให้คุ้นหูท่าน
ไมโครไบโอม (microbiome) หมายถึงชุมชนของแบคทีเรียในตัวคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำไส้ ซึ่งประกอบด้วยแบคทีเรียทั้งชนิดดีและชนิดเลวอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยคุมเชิงกันอยู่ในที
โปรไบโอติกส์ (probiotics) หมายถึงแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นแลคโตบาซิลลัส ไบฟิโดบาซิลลัส เป็นต้น
พรีไบโอติกส์ (prebiotics) หมายถึงอาหาร(ไร้ชีวิต)ที่แบคทีเรียชนิดโปรไบโอติกอาศัยกินเลี้ยงตัวเองและออกลูกหลาน เช่น ผัก เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ ผิวธัญพืช และอาหารกากใยทั้งหลาย
ซินไบโอติกส์ (synbiotics) หมายถึงการเอาโปรไบโอติกส์มาผสมกับพรีไบโอติกส์เพื่อกิน (เช่นถั่วต้มราดโยเกิร์ต) หรือเพื่อใส่แคปซูลขายเอาเงินจากคนอื่นเป็นรายได้เลี้ยงชีพ
กรดไขมันสายโซ่สั้น (SCFA) เช่นกรดบิวไทริก เป็นกรดที่เกิดขึ้นในลำไส้จากการหมักอาหารที่เอ็นไซม์ของคนปกติย่อยไม่ได้ (เช่นเปลือกกิ่งไม้หรือเส้นใยหยาบๆหรือโมเลกุลโอลิโกแซคคาไรด์ในถั่ว) โดยมีแบคทีเรียชนิดโปรไบโอติกส์เป็นผู้ทำการหมัก กรดไขมันชนิดนี้ตัวมันก็เป็นอาหารให้พลังงานนั่นแหละแต่เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดแล้วจะช่วยเบรกไม่ให้ตับผลิตโคเลสเตอรอลมากเกินไป เท่ากับว่าช่วยคุมไขมันในเลือดโดยอ้อม นอกจากนี้ยังไปเอื้อปฏิกริยา histone acetylation ทำให้การก๊อปปี้ยีนและแบ่งตัวของเซลไวขึ้น และทำให้ระบบเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนและทำงานดีขึ้น พูดง่ายๆว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ระหว่าง SCFA กับระบบภูมิคุ้มกันโรค
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. European Society of Endocrinology. "Probiotics may help manage childhood obesity." ScienceDaily. ScienceDaily, 7 September 2020. <www.sciencedaily.com/releases/2020/09/200907080342.htm>.