ถามว่าโลกหลังการตายมันเป็นยังไงครับ
ผมติดตามคุณหมอมาหลายปี
เห็นการตอบของคุณหมอมีเหตุผลมาสนับสนุน มีระบบวิธีคิดที่ละเอียด
จึงอยากจะเรียนถามว่าโดยส่วนตัวคุณหมอคิดว่าโลกหลังการตายไปแล้วมันเป็นยังไงครับ
อย่าเข้าใจผิดนะครับผมยังไม่ได้อยากตาย ผมยังมีความสุขพอสมควรตามอัตภาพ
เพียงแต่คิดว่าสุดท้ายก็ต้องตายทุกคนจึงอยากจะรับฟังความเห็นของคุณหมอ
ผมหาข้อมูลด้านนี้ก็มีหลายแนวทาง
บางท่านก็ว่าอย่าไปรู้เลยทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็พอ(แต่ถ้ารู้ไว้ก่อนก็เป็นเรื่องดีนี่ครับ)
บางท่านก็ตอบในแนวที่ผมยิ่งงง
แต่ผมอยากทราบว่าคุณหมอมีความเห็นยังไงเพราะคุณหมอมีวิธีคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผลมาอธิบายได้
รบกวนด้วยนะครับ
นับถือ
คนเขลา
……………………………
ตอบครับ
โอ้..นี่วันนี้จะไปกันไกลถึงชีวิตหลังตายเลยนะเนี่ย
จดหมายของคุณทำให้ผมนึกถึงโจ๊กฝรั่งที่เจ้านายพูดกับเสมียนสาวว่า
เจ้านาย “ตอนนี้ผมรู้แล้ว ชีวิตหลังตายมีจริง”
เสมียนสาว “เหรอ..มันเป็นยังไงเหรอคะ”
เจ้านาย “ก็คุณลางานไปทำศพปู่คุณเจ็ดวัน
แต่เช้าวันนี้ผมยังเห็นปู่ของคุณเดินช็อปปิ้งที่มอลอยู่เลย”
แหะ..แหะ พล่ามไร้สาระไปงั้นแหละ ไม่เกี่ยวอะไรกับคำถามของคุณหรอก
มาตอบคำถามของคุณดีกว่า ถามว่าผมเชื่อไหมว่าชีวิตหลังตายมีหรือไม่มี ตอบว่า No
Idea เลยครับ เพราะผมไม่มีข้อมูลอะไรสักอย่าง ข้อมูลเรื่องชีวิตหลังตายที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนเป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) ทั้งสิ้น ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์ไม่นับเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้
แล้วจะให้ผมเชื่อ หรือไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้ ผมตอบไม่ได้หรอกครับ ได้แต่แบ๊ะ..แบ๊ะ
ถามว่าถ้าจะเชื่อก็ไม่ใช่
จะไม่เชื่อก็ไม่ใช่ แล้วผมเตรียมตัวตายอย่างไรบ้างไหม
ตอบว่าผมก็เตรียมตัวเหมือนกับการเผชิญกับเรื่องหลายๆอย่างในชีวิตที่เรามีข้อมูลยังไม่ครบนั่นแหละครับ
ก็คือผมใช้หลักการบริหารความเสี่ยง เพราะว่าตัวเองเคยทำงานบริหารมาก็อาศัยเครื่องมือที่ตัวเองคุ้นเคย
หลักการบริหารความเสี่ยงนี้มีหลักง่ายๆว่าให้เอาทุกความเป็นไปได้มากางเรียงกันตั้งแต่ที่มีโอกาสเป็นมากที่สุดไปจนถึงที่มีโอกาสเป็นน้อยที่สุด
แล้ววางแผนรองรับเป็นก๊อกๆ เริ่มจากรองรับสิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก่อน ลดหลั่นเรียงลงไปตามลำดับ
แบบว่าถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบที่ 1. เราจะเตรียมตัวแบบที่
1. พอถึงเวลาถ้ามันเป็นแบบที่ 1 จริงเราก็ทำตามแผนที่
1 ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบที่ 2 เราจะเตรียมตัวแบบที่
2. พอถึงเวลาถ้ามันเกิดขึ้นแบบที่สองจริง เราก็ทำตามแผนที่สอง
แล้วก็เอาแผนที่ 1, 2, 3.. มาผสมคลุกเคล้ากันเป็นแผนดำเนินชีวิตของเราในวันนี้
เรื่องแบบนี้ทหารเขาถนัดเพราะมันมีกำเนิดมาจากการรบทัพจับศึกในอดีต เขาเรียกมันว่าแผนสำหรับความเป็นไปได้ (contingency planning) เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ
วันหนึ่งผมเจอเพื่อนเป็นนายพลทหารอากาศซึ่งสอนวิชาบริหารด้วย
เราคุยกันถึงน้ำท่วมดอนเมือง
และกองทัพต้องสูญเสียเงินไปร่วมหมื่นล้านบาทเพราะน้ำเข้าไปในศูนย์บัญชาการอากาศยานซึ่งสร้างไว้อย่างดีใต้ดิน
ผมถามเพื่อนว่าเอ๊ะ เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผมหมายความว่ากองทัพซึ่งเต็มไปด้วยนายทหารนักบริหารที่มีสมองระดับเยี่ยมมากมาย
ทำไมป้องกันเรื่องแบบนี้ไม่ได้ เขาตอบว่า
“เพราะเรามองความเป็นไปได้
ว่าเป็นไปไม่ได้”
เขาหมายความว่าเพราะมันสมองของกองทัพอากาศ
ปักใจเชื่อว่ามันเป็นไปไมได้ที่น้ำจะท่วมดอนเมือง เรื่องแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้
ทำนองเดียวกัน ในประเด็นชีวิตหลังตายนี้
มันจะมีหรือไม่มีผมไม่รู้ แต่ผมก็ต้องบริหารความเสี่ยง ผมจะไม่ปักใจเชื่อว่าชาติหน้ามันไม่มี
เพราะเกิดมันมีจริงขึ้นมาโดยที่ผมไม่ได้เตรียมตัวไว้ ผมก็เจ๊งสิครับ ใช่ไหม
ดังนั้นผมจึงใช้ชีวิตในวันนี้โดยมุ่งให้ชีวิตในปัจจุบันมีคุณภาพ แต่ก็เผื่อความเป็นไปได้ที่มันจะต้องถูกลากไปต่อกันยกสองในชาติหน้าอีกด้วย
ซึ่งบังเอิ๊น บังเอิญ แนวทางสร้างชีวิตที่ดีในวันนี้กับการเตรียมตัวเพื่อการ “ไป”
แบบดีๆ มันมีส่วนทับซ้อนกันมากจนเกือบจะเหมือนกัน หมายความว่าการจะใช้ชีวิตในวันนี้ให้มีความสุข
กับการจะได้ตายดีๆ หรือไปสู่ที่ดีๆหลังการตายตามคติของศาสนาต่างๆนั้น มันมีวิธีการเตรียมตัวคล้ายๆกันมาก เช่นว่าการฝึกตัวเองให้มีสติรู้ตัวรู้ใจตัวเองอยู่เสมอ (self
awareness) การทำความคุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตด้วยการ “ให้”
อะไรๆในชีวิตของเราออกไปให้คนอื่นๆเสียบ้าง ก่อนที่มันจะหนีไปจากเราเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจจะให้มันไปแก่ใคร
เป็นต้น ดังนั้นโดยคอนเซ็พท์การบริหารความเสี่ยงนี้ ผมไม่เคยมีปัญหาต้องวอรี่ว่าชาติหน้าจะมีหรือไม่มีเลย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์