เห็นสามีดื่มกาแฟแล้ว ปี๊ด..ด...ด
เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ
หนูแต่งงานและมีลูกเล็ก สามีของหนูเป็นโรคความดันเลือดสูง
ต้องกินยาวันละเม็ด หนูขอร้องให้เขาเลิกดื่มกาแฟ แต่เขาก็ไม่ฟัง
มีอยู่วันหนึ่งหนูเห็นเขานั่งดื่มกาแฟแล้วหนูปี๊ดเลย
จึงยื่นคำขาดไปว่าถ้าไม่เลิกดื่มกาแฟก็หย่ากัน ขอรบกวนถามคุณหมอว่ามียาอะไรที่จะช่วยคนติดกาแฟให้เลิกกาแฟได้บ้างคะ
หนูไม่อยากเหนื่อยเลี้ยงลูกแล้วต้องมาเลี้ยงสามีเป็นอัมพาตเส้นเลือดสมองแตกด้วย
.................................
ตอบครับ
คุณนี่เป็นภรรยาที่บ้าอำนาจมากเลยนะ โชคดีนะที่ผมไม่ได้เป็น ผ. ของคุณ (อุ๊บ.. ขอโทษ ผมปากเสียแต่ไก่โห่เลยแฮะวันนี้)
ลืมมันเสียเถอะ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
เป็นความจริงที่ว่าเมื่อดื่มกาแฟแล้วไปวัดความดันเลือดทันที
ความดันเลือดจะสูงขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วมันก็ลง แต่ไม่เป็นความจริงที่ว่าดื่มกาแฟเป็นประจำแล้วจะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง
อันนี้ผมไม่ว่าคุณ เพราะทุกวันนี้แพทย์บางท่านก็ยังแนะนำให้คนเป็นความดันเลือดสูงเลิกดื่มกาแฟด้วยความเข้าใจผิดว่ากาแฟมีความสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง
ความเชื่อเช่นนั้นเคยมีอยู่ในหมู่แพทย์ทั่วโลกจนเมื่อหกปีที่แล้วเมื่อฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์งานวิจัยขนาดใหญ่ไว้ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) งานวิจัยนี้เป็นการตามดูผู้หญิงจำนวนถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นกว่าคนโดยติดตามนานถึง
12 ปี ในประเด็นจำนวนกาแฟที่ดื่มต่อวันกับการเป็นความดันเลือดสูง
แล้วก็มีข้อสรุปออกมาแน่ชัดว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟกับการเป็นหรือไม่เป็นความดันเลือดสูงแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ทางญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์งานวิจัยในคน 3,284
คนเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับการเป็นโรค ก็พบว่าคนดื่มกาแฟไม่เกินวันละ
4 แก้วเป็นโรคความดันเลือดสูงน้อยกว่าคนไม่ดื่ม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อดั้งเดิมเลย
ดังนั้นผมว่าคุณชงกาแฟหอมๆไปจุ๊บแก้มขอโทษสามีของคุณเสียดีกว่านะครับ
ไหนๆก็พูดถึงกาแฟแล้ว ผมขอสรุปข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับกาแฟไว้ให้ท่านผู้อ่านทราบดังนี้
ข้อดีของกาแฟ
1.
กาแฟทำให้การทำงานของสมองระยะสั้นดีขึ้น ทั้งความเร็วในการสนองตอบ ความเร็วในการตัดสินใจเลือก
การย้อนระลึกความจำชั่วคราวด้วยวาจา การใช้จินตนาการวิเคราะห์แก้ปัญหาเชิงสามมิติ (visuospatial
reasoning) งานวิจัยต่างๆล้วนให้ผลว่ากาแฟทำให้สมองทำงานเหล่านี้ดีขึ้นทุกประเด็น
ผลอันนี้พบได้แม้ในคนอายุมาก งานวิจัยในหญิงอายุ 80 พบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟมากกว่ามีการทำงานของสมองในประเด็นเหล่านี้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อยกว่า
2..กาแฟช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้
อันนี้มีหลักฐานสนับสนุนสองชิ้น
ซึ่งบังเอิญเป็นหลักฐานระดับกลางไม่ใช่หลักฐานระดับสูง กล่าวคือ
ชิ้นที่ 1
เป็นการวิจัยแบบเทียบคู่ (match case control study) โดยเอาผู้ป่วยสมองเสื่อมมา
54 คน แล้วไปเอาคนธรรมดาที่มีอายุและลักษณะอื่นๆคล้ายๆกันแต่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมมา
54 คน แล้วตรวจสอบย้อนหลังถึงปริมาณกาแฟที่ดื่มใน 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย 73.9
มก.ต่อวัน (เทียบเท่ากาแฟประมาณครึ่งแก้ว) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย
198.7 มก.ต่อวัน (เทียบได้กับกาแฟประมาณหนึ่งแก้วครึ่ง) ข้อมูลนี้บ่งบอกว่าคนชอบดื่มกาแฟอาจเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนไม่ชอบดื่มกาแฟ
ชิ้นที่ 2. เป็นงานวิจัยที่แคนาดาทำแบบติดตามกลุ่มคนไปข้างหน้า (prospective
cohort study) โดยเอาคนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่สมองยังดีๆอยู่ยังไม่เสื่อมมาหกพันกว่าคน
เอามาตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุหรืออาจะเป็นตัวช่วยป้องกันสมองเสื่อมแล้วบันทึกไว้
หลังจากนั้นอีก 5 ปีจึงตามไปดูคนกลุ่มนี้อีกครั้งซึ่งพบว่าเหลืออยู่
3,894 คน ในจำนวนนี้กลายเป็นสมองเสื่อมไป 194 คน เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆแล้วสรุปได้ว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมคือ
การมีอายุมาก มีการศึกษาต่ำ และมียีนสมองเสื่อม (ApoE4) ส่วนปัจจัยที่สัมพันธ์กับการที่สมองไม่เสื่อมมีสามปัจจัย
คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การดื่มกาแฟ และการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID)
3. กาแฟอาจช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวาน
ทั้งนี้มีหลักฐานจากงานวิจัยติดตามพยาบาลสี่หมื่นกว่าคนของฮาร์วาร์ด นาน 12
ปีพบว่าพยาบาลที่ดื่มกาแฟมาก เป็นเบาหวานน้อยกว่าพยาบาลที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อย
4. กาแฟลดโอกาสเป็นโรคพาร์คินสัน
งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าคนดื่มกาแฟมาก(เกินวันละสามแก้วครึ่ง) เป็นโรคพาร์คินสันน้อยกว่าคนไม่ดื่มกาแฟ
5. กาแฟลดโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
6. คนดื่มกาแฟเป็นตับแข็งน้อยกว่าคนไม่ดื่ม
7. งานวิจัยซึ่งเป็นหลักฐานระดับกลางพบว่าคนดื่มกาแฟเป็นมะเร็งในปาก
หลอดอาหาร ลำคอ เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ตับ และต่อมลูกหมาก น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
8. คนดื่มกาแฟเป็นเก้าท์น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
9. การแฟกระตุ้นลำไส้ใหญ่
ทำให้ขับถ่ายอุจจาระสะดวก
10. เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ตายทุกสาเหตุรวมกัน
คนดื่มกาแฟมีความเสี่ยงตายน้อยกว่าคนไม่ดื่มเล็กน้อย
ความแตกต่างนี้เห็นชัดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ข้อเสียของกาแฟ
1.
กาแฟทำให้ติด
2.
กาแฟระคายเคืองเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร
ทำให้กระเพาะอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะ
3.
กาแฟทำให้นอนไม่หลับในบางคน
แต่ก็ทำให้เป็นโรคหลับมากเกินไปในบางคน
4.
กาแฟทำให้กระวนกระวาย
โกรธง่าย ในบางคน
5.
กาแฟรบกวนการดูดซึมเหล็ก
และเพิ่มโอกาสเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
6.
กาแฟมีสารเพิ่มไขมันเลว (LDL) ในเลือด แต่สารนั้นจะถูกกรองออกทิ้งไปก่อนหากปรุงกาแฟด้วยวิธีใช้กระดาษกรอง
7.
กาแฟทำให้หญิงมีครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกตายระหว่างคลอด
8.
การกินกาแฟร่วมกับยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลเพิ่มความเสียหายต่อตับมากขึ้น
ประเด็นที่ยังเข้าใจกันผิดหรือยังสรุปไมได้เกี่ยวกับกาแฟ
คือผลของกาแฟต่อหัวใจยังสรุปไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีกันแน่
เพราะหลักฐานที่มีอยู่สรุปได้เปะปะไปคนละทาง ส่วนใหญ่ค่อนข้างคล้อยตามกันไปในทางที่ว่ากาแฟในระดับพอดี (ไม่เกิน 4 แก้วต่อวัน) ทำให้อัตราตายของโรคหลอดเลือดและหัวใจลดลง
นพ.สันต์
ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
บรรณานุกรม
1. Wolfgang C. Winkelmayer, MD, ScD, Meir J.
Stampfer, MD, DrPH, Walter C. Willett, MD, DrPH, Gary C. Curhan, MD, ScD,
"Habitual Caffeine Intake and the Risk of Hypertension in Women",
JAMA. 2005;294(18):2330-2335.doi:10.1001/jama.294.18.2330
2. Matsuura, H; Mure, K, Nishio, N, Kitano, N,
Nagai, N, Takeshita, T (2012 Feb 18). "Relationship Between Coffee
Consumption and Prevalence of Metabolic Syndrome Among Japanese Civil
Servants.". Journal of epidemiology /
Japan Epidemiological Association 22 (2): 160–6.
3. Johnson-Kozlow, M., et al., Coffee Consumption and Cognitive Function among
Older Adults, Am J Epidemiol 2002; 156:842–850
4. Maia, L.; de Mendonça, A. "Does caffeine
intake protect from Alzheimer's disease?". European Journal of Neurology2002; 9 (4): 377. doi:10.1046/j.1468-1331.2002.00421.x
5. Lindsay, J.; et al. "Risk Factors
for Alzheimer’s Disease: A Prospective Analysis from the Canadian Study of
Health and Aging". Am J Epidemiol 2002 ; 156 (5):
445–453. doi:10.1093/aje/kwf074
6. Salazar-Martinez E, Willett WC, Ascherio A, et al. "Coffee consumption and risk for type 2
diabetes mellitus". Ann. Intern. Med.2004; 140 (1):
1–8.PMID 14706966
7. Webster Ross, G. et al., Association of Coffee and Caffeine Intake With
the Risk of Parkinson Disease, JAMA 2000; 283:20
8. Leitzmann, M. F.; et al. "Coffee intake is associated with lower
risk of symptomatic gallstone disease in women". Gastroenterology
2002 ; 123 (6): 1823–30. doi:10.1053/gast.2002.37054
9. Lopez-Garcia, E, van Dam RM,
Li TY, Rodriguez-Artalejo F, Hu FB. "The Relationship of Coffee
Consumption with Mortality." Annals of Internal Medicine 2008;148(12):904-14.
10. Choi, HK; Willett W, Curhan G. "Coffee consumption and risk of incident gout in men:
A prospective study". Arthritis Rheum 2007; 56 (6): 2049–55. doi:10.1002/art.22712. PMID 17530645
11. Brown, C. A.; Bolton-Smith, C.; Woodward, M.;
Tunstall-Pedoe, H. (1993). "Coffee and tea consumption and the prevalence
of coronary heart disease in men and women: results from the Scottish Heart
Health Study".Journal of Epidemiology & Community Health 47 (3):
171.doi:10.1136/jech.47.3.171
12. Cameron MD, Wen B, Roberts AG, et al. Cooperative Binding of Acetaminophen and Caffeine within the P450 3A4 Active Site. Chem Res Toxicol 2007; Sep 26 [Epub ahead of print]
12. Cameron MD, Wen B, Roberts AG, et al. Cooperative Binding of Acetaminophen and Caffeine within the P450 3A4 Active Site. Chem Res Toxicol 2007; Sep 26 [Epub ahead of print]