อาจารย์ช่วยรับฟังหนูหน่อยนะคะ
พอดีหนูได้อ่านในบล็อกของอาจารย์
ได้เห็นอาจารย์ได้ให้คำชี้แนะมากมายกับน้องๆ อินเทิร์น หนูเลยอยากได้คำชี้แนะจากอาจารย์บ้างค่ะ
เผื่อหนูจะรู้สึกดีขึ้น ตอนนี้หนูรู้สึกว่าตัวเองกำลั งเป็นผู้ป่วยซะเอง
(ป่วยทางด้านจิตใจ)
หนูเป็น
resident สูติ ที่สอบตกบอร์ดมาแล้วสองครั้ง
ครั้งที่สองก็เพิ่งสดๆ ร้อนๆ เมื่อ มิ.ย. 55 ที่ผ่านมานี่เองค่ะ
ตกด้วยคะแนนที่หายไป 1.5 คะแนน.(คิดแล้วเศร้า สะเทือนใจ) ตอนนี้หนูเครียด เบื่อ และเซ็งมากมาย ท้อแท้ สิ้นหวัง
หลายครั้งที่คิดอยากจะเลิกสอบ คิดว่าไม่เอาบอร์ดก็ได้
เพราะเหนื่อยและเครียดมากแล้ว แต่อีกใจก็ยังอยากผ่านบอร์ด เพราะจะได้สามารถขอลง
รพ.ประจำจังหวัดที่บ้านได้(หนูเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้ลองยื่
นเรื่องขอให้ อฝส ของราชวิทยาลัยสูติ พิจารณาเรื่องการสอบซ่อม เพราะปีนี้มีแพทย์ประจำบ้านตกทั
้งหมด 11 คน จากทั้งหมด 84 คน เท่ากับว่าตกถึง 1/8 เลย และใน 11 คน ก็มี 4 คน ที่ตกเป็นครั้งที่ 2 (หนูก็เป็น 1 ใน 4 นั้น) แต่สรุปแล้วทาง อฝส ไม่เห็นด้วยที่จะจัดสอบซ่อม ก็คือต้องรอสอบ มิ.ย. หน้าเลย. (ชีวิตมันเศร้า น้ำเน่ามากๆเลยค่ะ T_T )
ความรู้สึกหนูตอนนี้ ไม่รู้สึกว่ามีความหวังว่าตั
วเองจะสอบผ่านได้เลย แม้จะสอบครั้งที่ 3 อาจเป็นเริ่มเหนื่อยและท้อแท้ เบื่อหน่าย และหมดหวัง หรือไม่ก็กำลังมีอาการป่วยทางจิ
ตใจอยู่ ตอนนี้รู้สึกไม่มีความสุขและเป็
ขอบคุณค่ะ/
จาก resident สูติผู้ตกอับ
ส่งจาก iPad ของฉัน
ส่งจาก iPad ของฉัน
..................................................
ตอบครับ
จดหมายของคุณทำให้ผมนึกถึงโจ๊กที่เล่าขานกันในหมู่หมอฝึกหัด สมัยผมเป็น resident
อยู่เมืองนอก เรื่องมีอยู่ว่าหมออังกฤษคนหนึ่งแกพยายามสอบ MRCP
(เทียบได้กับบอร์ด Med บ้านเรา) พยายามสอบมาแล้ว 9 ครั้งก็ตกทุกครั้ง
คือไปตกเอาตอนสัมภาษณ์ทุกที เหตุเพราะหมอคนนี้แกหัวสมัยใหม่เกินไป อย่างตอนที่สอบครั้งที่
9 ตอนนั้นเป็นยุคที่การรักษาโรคท้องร่วงกำลังเปลี่ยนไป
จากเดิมที่ใช้ยามหาอุดเช่นทิงเจอร์ฝิ่น (Opium tincture) มาเป็นปล่อยให้ขี้ไหลโกรกๆไปแล้วคอยทดแทนน้ำและอีเล็คโตรลัยท์เอา
พออีตาหมอคนนี้แกเข้าสอบสัมภาษณ์ ก็เจอกรรมการถามว่ารักษาท้องร่วงอย่างไร
แกก็รู้ทั้งรู้ว่ากรรมการอยากจะได้คำตอบว่าใช้ทิงเจอร์ฝิ่น แต่ก็ไม่ตอบ
แต่ดันไปตอบวิธีสมัยใหม่คือปล่อยให้ขี้ไหลไป แกก็เลยตกไปตามระเบียบ
ปีต่อมาแกเข้าสอบ MRCP ครั้งที่สิบ
ดันเจอกรรมการสัมภาษณ์คนเดิมอีก แล้วกรรมการคนนี้ก็ถามแกเรื่องการรักษาท้องร่วงอีก
คุณเดาซิครับแกตอบว่าไง แกก็ตอบแบบเดิมอีก ว่าปล่อยให้ขี้ไหลไปแล้วคอยทดแทนสารน้ำเอา
ซึ่งก็แน่นอน แกสอบตกอีกตามระเบียบ
ปีต่อมาแกเข้าสอบ MRCP ครั้งที่สิบเอ็ด
เจ้ากรรมดันไปเจอเอากรรมการคนเดิมอีก แล้วท่านก็ถามคุณหมอแกเรื่องวิธีรักษาท้องร่วงอีก
คราวนี้คุณเดาว่าแกจะตอบว่ายังไง ยอมใช้ทิงเจอร์ฝิ่นละมัง เปล่าครับ แกตอบว่า
“..เอาจุกไม้ก๊อกยัดตูด แล้วเอาตรา MRCP
ปั๊มบนหัวไม้ก๊อกไว้..”
ว่าแล้วหมอคนนี้แกก็ลุกเดินอาด อาด ออกจากห้องสัมภาษณ์ไป
จบละ ตะแล้น..ตะแล้น..ตะแล้น
เอ๊ะ..นี่ผมจะคุยกับคุณเรื่องอะไรนะ
อ๋อ นึกออกละ เรื่องสอบตก เอาละเลิกนอกเรื่องมาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1.. การสอบตก เป็นเรื่องธรรมดา โตป่านนี้แล้วยังไม่เข้าใจอีกหรือ ไม่เห็นจะต้องกระต๊ากมากมายเลย
สอบตกแล้วปีหน้าก็สอบใหม่ได้ แล้วก็ไม่เห็นจะต้องปิ้งปลาประชดแมว
ผมหมายความว่าทำตัวอกหักรักคุดน้อยอกน้อยใจไม่สอบไม่เสิบมันละ แบบว่า..ประท้วงสังคม
อย่างนั้นเขาเรียกว่าปิ้งปลาประชดแมว ซึ่งคนฉลาดเขาไม่ทำกัน เพราะทำอย่างนั้นตัวเองมีแต่เสียกับเสีย
ส่วนคนที่ได้คือแมวที่ถูกเราประชด เพราะได้กินปลาปิ้งฟรีๆ สิ่งที่พึ่งทำจึงไม่ใช่การกระต๊าก
แต่ควรมาโฟกัสที่การเรียนรู้เอาประโยชน์จากการสอบตกที่ผ่านไปต่างหาก
2.. การสอบ คำเรียกมันอีกอย่างคือ “การประเมินผล” กรรมการเขาได้ประเมินเราแล้ว
ว่าเรายังไม่มีความรู้และทักษะพอที่จะเป็นหมอสูติที่ดีได้ ประเด็นของผมคือ แล้วตัวคุณได้ประเมินตัวคุณเองอย่าง
critical แล้วหรือยังว่าคุณมีความรู้และทักษะพอที่จะเป็นหมอสูติที่ดีได้ไหม
ถ้าคุณประเมินว่าตัวคุณเจ๋ง แต่กรรมการประเมินว่าตัวคุณไม่ถึงขั้น คุณทราบหรือเปล่าว่ากรรมการเขาประเมินว่าประเด็นไหนที่คุณไม่ถึงขั้น
และเขาใช้หลักฐานอะไร คือในการประเมินคนๆหนึ่งว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางที่ดีได้หรือเปล่า
เขาจะประเมินกันใน 3 ส่วน คือ (1) ความรู้
(2) ทักษะ และ (3) เจตคติ
คุณต้องรู้ก่อนว่ากรรมการเขาประเมินว่าคุณอ่อนส่วนไหนในสามส่วนนี้
ให้ผมสอนหลักชีวิตกับคุณสักหนึ่งหลักนะ ไม่ใช่ความคิดของผมเองดอก
เป็นความคิดของครูวิชาบริหารชื่อ ปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์ (Peter
F. Drucker) หลักที่เขาสอนให้ทำนี้เรียกว่า
“หลักความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ (Relationship responsibility)” หลักอันนี้มีอยู่ว่าในการทำงานร่วมกับใครต่อใครในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้นี้
เป็นความรับผิดชอบที่เราจะต้องเข้าไปหาผู้เกี่ยวข้อง
แล้วบอกให้เขาทราบว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรที่เขาจะใช้ประโยชน์ได้ และถามเขาว่าเขาต้องการอะไรจากเราบ้าง
อย่างในกรณีของคุณนี้ สิ่งที่คุณจะต้องทำ เพราะเป็นความรับผิดชอบของคุณโดยตรง
คือคุณจะต้องเดินเข้าไปหาคนที่อยู่ในระดับเป็นผู้ประเมินคุณ
นับตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษาของคุณเอง หัวหน้าภาควิชาที่คุณสังกัด กรรมการที่สัมภาษณ์คุณ
เข้าไปหา เล่าให้เขาฟังว่าคุณกำลังวางแผนปรับปรุงขีดความสามารถในวิชาชีพของตัวเอง
แล้วขอรับฟังคำชี้แนะว่าคุณต้องปรับปรุงจุดอ่อนตรงไหนบ้างจึงจะเป็นหมอสูติที่ถึงขั้นได้
รับฟังและทำความเข้าใจมุมมองของอาจารย์เหล่านั้นให้เข้าใจลึกซึ้ง เข้าใจจากมุมมองของอาจารย์นะ
ไม่ใช่จากมุมมองของเรา
เมื่อได้รับทราบและเข้าใจแล้วว่าเหล่าอาจารย์เขาใช้ข้อมูลหลักฐานอะไรประเมินเราว่าเราไม่ถึงขั้น
จากนั้นเราจึงค่อยนั่งลงมองตัวเองอย่างเป็นกลาง อะไรที่เราเห็นพ้องกับอาจารย์ก็ลงมือปรับปรุง
อะไรที่เราไม่เห็นพ้องด้วย ก็ต้องมองต่อไปอีกว่าอะไรเป็นอุปสรรคทำให้อาจารย์ไม่ได้
fact ทั้งหมดที่ควรใช้ในการประเมินเรา
แล้วก็ลงมือแก้ไขอุปสรรคนั้น
3..
ในเรื่องการสอบตกภาคความรู้ (cognitive knowledge) นั้นมันมีอยู่สองประเด็น
ประเด็นที่ 1. คือ กึ๋นของความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ตัดสินกันที่ความรู้พื้นฐานวิชาแพทย์ (กายวิภาค
สรีระ พยาธิวิทยา) ที่รองรับปัญหาทางคลินิกของสาขานั้น ถ้าพื้นฐานความรู้แพทย์ของเราไม่แน่น
เราเสียเวลาไปหาความรู้เฉพาะทางมาต่อยอดบนพื้นฐานที่ไม่แน่นนั้น ความรู้นั้นมันจะหลวมโพรกเพรก
และพอถูกแยงก็จะล่ม การฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญก็คือการหัดสาวกลับจากปัญหาเฉพาะด้านของคนไข้ลงไปยังพื้นฐานความรู้วิชาแพทย์จนเชื่อมโยงกันได้ทะลุปรุโปร่ง
การที่คุณสอบตกซ้ำซาก ผมเดาเอาว่าความรู้พื้นฐานของคุณอาจจะไม่แน่น ดังนั้นอย่าเสียดายเวลาที่จะต้องใช้ไปในการเสริมความรู้พื้นฐานของคุณให้แน่น
ถึงขั้นหยิบหนังสือ physiology ของ Ganong ขึ้นมานั่งอ่านใหม่ก็ต้องทำ
ประเด็นที่
2.
ความสำเร็จของการสอบภาคความรู้ ส่วนหนึ่งอาศัยการเดาใจกรรมการออกข้อสอบ
ผมบอกเคล็ดให้คุณนะ
ว่ากรรมการผู้ออกข้อสอบทั่วโลกจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือไม่มีเวลาออกข้อสอบ
เพราะการออกข้อสอบที่ดีต้องไปผ่านการทดสอบ validity และ reliability
ซึ่งวุ่นวายยุ่งยากมาก
ดังนั้นไปๆมาๆกรรมการก็มักจะกลับมาล้วงไหข้อสอบเดิม ซึ่งมีอยู่สองไหเท่านั้น ไหที่หนึ่งคือข้อสอบเก่าของราชวิทยาลัยเมื่อปีก่อนๆ
กับไหที่สองคือข้อสอบบอร์ดของ ACOG และ RCOG (ในกรณีที่เป็นสาขาสูติ) ไหแรกนั้นรุ่นพี่ของแต่ละสถาบันจะช่วยกันเก็บตุนไว้ให้รุ่นน้องของตัวเองอ่าน ส่วนไหที่สองนั้นคุณหาซื้อเอาได้จากอินเตอร์เน็ท
ผมแนะนำให้คุณเอาข้อสอบเก่าของสองไหนี้มาทดลองทำโดยยังไม่ดูเฉลย แล้วเปิดดูเฉลยที่หลัง
ถ้าทำผิดก็ต้องย้อนกลับไปหาพื้นฐานของหลักวิชาแพทย์ (กายวิภาค สรีระ พยาธิ) ว่าเรายังไม่เข้าใจตรงไหนจึงทำข้อสอบข้อนี้ผิดไป
เวลาที่เหลืออยู่อีกหนึ่งปีก่อนที่จะสอบครั้งหน้า คุณทำอย่างนี้ไปทุกวัน
เผลอๆปีหน้าคุณจะสอบได้ที่หนึ่งเอานะ
4..
ที่เป็นกังวลว่าไม่ได้ผ่าตัดนาน กลับมาผ่าแล้วจะผ่าไม่ได้
ประเด็นนี้อย่ากังวล เพราะการผ่าตัดก็เหมือนการเล่นดนตรี เราเคยเป็นนักดนตรี หากเราว่างเว้นการเล่นไปนานหลายปี เมื่อกลับมาเล่นใหม่ เราก็ต้องหัดต้องซ้อมใหม่แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาเล่นดนตรีไม่ได้
การกลับมาผ่าตัดวันแรก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการทำผ่าตัดด้วยตัวเอง
ไปขอช่วยน้องเขาทำสักสองสามเคสก่อนก็ได้ ตอนผมกลับจากเมืองนอก ผมทิ้งการผ่าตัดหัวใจไปใช้ทุนอยู่ต่างจังหวัดเสียสองปี
พอกลับมาผ่าตัดหัวใจผมก็กลับไปตั้งต้นด้วยการช่วยคนอื่นเขาทำก่อน พอทักษะกลับมา
เราก็ทำต่อของเราเองได้ และการเริ่มช้ากว่าเพื่อนไม่ใช่ประเด็น คนที่ทำงานทักษะเก่งๆหลายคนมาหัดทักษะเอาตอนแก่ก็มีถมไป
5.. ที่บอกว่า
“..ความรู้สึกหนูตอนนี้
ไม่รู้สึกว่ามีความหวังว่าตัวเองจะสอบผ่านได้เลย เป็นเริ่มเหนื่อยและท้อแท้ เบื่อหน่าย
และหมดหวัง หรือไม่ก็กำลังมีอาการป่วยทางจิตใจอยู่ ตอนนี้รู้สึกไม่มีความสุขและเป็นทุกข์ใจอย่างมาก..”
แหม.. อ่านแล้วมันน่าสักโป้กไหมเนี่ย
เด็กสมัยนี้มันเป็นอะไรกันไปหมดนะ เอะอะก็ต๊อแต๊ ทำไม่ด้าย.ย จิตตก เฮ้อ.. ผมคิดถึงจูเลียส ไนเยียเร่ (Julius Kambarage Nyerere) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกและถือว่าเป็นบิดาของชาติแทนซาเนีย
เขาเคยพูดว่า
“...ผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์ต้องตอบแทนความเสียสละของคนอื่น
เพราะเขาเปรียบเสมือนผู้กินอาหารทั้งหมดซึ่งชาวบ้านผู้หิวโหยมอบให้
ด้วยหวังว่าเขาจะเกิดกำลังดั้นด้นไปหาอาหารจากแดนไกลมาเลี้ยงดูกัน
ถ้าเขากินอาหารของชาวบ้านหมดแล้วไม่ช่วยทำอะไรเลย
เขาคือผู้ทรยศ
ถ้าหนุ่มสาวผู้ได้รับการศึกษาสูงโดยประชาชนเสียค่าใช้จ่ายให้
แต่ไม่พยายามต่อสู้เพื่อนำความรู้ไปช่วยชาวบ้าน
เขาคือผู้ทรยศเช่นกัน...”
แล้วนี่หนุ่มสาวผู้จะนำอาหารมาจากแดนไกลไปอยู่ไหนเสียละ
โน่น..ไปนั่งต๊อแต๊อยู่ที่มุมโน่น..แป่ว..ว
นพ.สันต์
ใจยอดศิลป์