คนแก่ที่มีศักยภาพ ในชุมชนที่เข้มแข็ง


คุณหมอสันต์ค่ะ

รบกวนปรึกษาเรื่องของคุณพ่ออายุ 81 ปีค่ะ เป็นห่วงท่านเพราะเราอยู่อยุธยากับครอบครัว คุณพ่ออยู่ตาก ตอนนี้ดูแลสุขภาพอยู่รพ. ..... ค่ะ โรคประจำตัวท่านมีพาร์คินสัน อัลไซเมอร์ และตรวจพบปริ่มๆจะเป็นโรคไตค่ะ ในแต่ละวันก้อทานยาเป็นกำเลยค่ะ ช่วงนี้ท่านเดินแข็งๆเหมือนไม่งอเข่า เรากลัวว่าจะล้ม และก้อเกิดเหตุการณ์ล้มจริงๆ หลังจากออกจากห้องน้ำ จังหวะล้มไปด้านหน้าแว่นกระแทรกตาช้ำ หน้าผากและเข่าเป็นแผลเพราะกระแทรกกับปูนค่ะ หลังจากนั้นก้อเรื่องโภชนาการท่านก้อ ทานอาหารที่เป็นผักและผลไม้นะค่ะ แต่เวลาปลดทุกข์เหมือนต้องออกแรงเบ่งมากและมีเลือดออกหลังจากการปลดทุกข์หนักค่ะ ท่านว่าท่านไม่สามารถอาบน้ำเองได้โดยที่แม่ก้อไม่พยายามช่วย เป็นเหตุให้พี่สาวต้องเข้ามาช่วยแทน มีอาการหงุดหงิดไม่พอใจง่ายมากหากขัดใจ ออกกำลังกายมากไม่ค่อยได้ค่ะ

รบกวนปรึกษาดังนี้นะคะ

1.เรื่องการขับถ่ายเราควรทำอย่างไรบ้างค่ะ
2.เห็นยาที่ท่านทานก้อท้อใจแทนค่ะ ไม่อยากให้ทานมากเพราะมันกระทบกับอวัยวะภายใน ไม่ทานจะได้ไม๊ค่ะ อยากรักษาท่านทางชีวภาพไม่ใช่ระบบเคมีค่ะ
3.ท่านสามารถปรับเปลี่ยน/พัฒนาให้เริ่มช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรได้ไม๊ค่ะ
4.ขอพาท่านไปพบเพื่อปรึกษา หรือ พูดคุยกับคุณหมอได้ไม๊ค่ะ 

รบกวนเท่านี้ค่ะ หวังว่าจะได้รับคำปรึกษาจากคุณหมอในเร็ววันนี้นะค่ะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

(...........)

……………………………………….

ตอบครับ

จดหมายของคุณทำให้ผมอยากจะคุยเรื่อง “คนแก่” แต่ก่อนที่จะพล่ามไร้สาระ ขอตอบคำถามของคุณก่อนนะ

     1.. ปัญหาท้องผูกในผู้สูงอายุ มีคนวิจัยปัจจัยเสี่ยงไว้แล้ว ว่ามีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมทั้งโรคพาร์คินสัน) ยาที่กิน การไม่ได้ออกกำลังกาย โภชนาการที่มีกากน้อยและน้ำน้อย การมีรายได้ต่ำ การมีความรู้น้อย ซึ่งผมรู้สึกว่าคุณพ่อของคุณจะมีซะเกือบครบ การจะแก้ปัญหาก็ต้องไล่ไปตามปัจจัยเสี่ยงทีละตัวละครับ เอาตัวที่ง่ายๆเบสิกๆก่อน คือดื่มน้ำให้มาก ทานอาหารที่มีกากคือผักผลไม้แยะๆ และออกกำลังกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมากๆ วิธีการทำสำหรับผู้สูงอายุเนี่ยมันมีลูกเล่นแยะเหมือนกัน เอาไว้มีเวลาค่อยมาเจาะกันในรายละเอียดนะครับ วันนี้เอาแค่หลักการก่อน

     2.. ถามว่าจะลดยาที่ท่านกินอยู่ทีละกำมือได้ไหม ตอบว่าได้ครับ แต่ต้องมีหมอเจ้าประจำที่อยู่ที่เมืองตากนั่นแหละสักคนหนึ่งมาทำหน้าที่ดูยาทั้งหลายทั้งแหล่ให้ เรียกว่าหมอประจำครอบครัว (family doctor) หมอที่คุณพ่อไปหาที่ผ่านมาล้วนเป็นหมอเฉพาะทาง ซึ่งมีแต่จะเพิ่มยาให้ ไม่มีลด เพราะทางใครก็ทางมัน หมอสาขาอื่นให้ยาอะไรแพทย์เฉพาะทางยากที่จะทราบได้เพราะอ่านลายมือกันไม่ออกหนึ่ง ถึงอ่านลายมือกันออกก็ไม่รู้จักยาในสาขาอื่นอีกหนึ่ง แถมไม่มีเวลาดูให้อีกหนึ่ง ทั้งสามด่านมะขามเตี้ยนี่รวมกันแล้วโอกาสที่หมอต่างสาขาจะร่วมรับรู้ยาของกันและกันและลดยาที่ซ้ำซ้อนกันลงได้ก็เหลือเกือบเป็นศูนย์ ดังนั้นคุณต้องหาหมอประจำครอบครัว หมอที่จะทำหน้าที่หมอประจำครอบครัวได้ดีก็คือหมอที่ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวมาโดยตรง ถ้าหาไม่ได้ก็หาหมออะไรก็ได้ที่เขามีใจจะทำหน้าที่นี้และมีเวลาให้ ย้ำ..ต้องมีเวลาให้นะ ถ้าไม่มีเวลาให้ก็ไม่เวอร์คอยู่ดี
  
     3.ถามว่าคุณพ่อแก่ปูนนี้แล้วยังจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ช่วยเหลือตัวเองได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ อันนี้เป็นหลักสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในทางการแพทย์เลยละ เรียกว่าหลักฟื้นฟู (rehabilitation) ประเด็นคือแก่แค่ไหน สะง็อกสะแง็กแค่ไหนก็ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้ ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์ที่คนไทยยังไม่เก็ท เพราะคนไทยเรานี้เชื่อกันว่าเมื่อแก่ตัวแล้วก็ต้องออกฟอร์มทำเป็นทำอะไรเองไม่ได้เพื่อให้ลูกหลานมาเอาใจ ส่วนลูกหลานก็มีหลักคิดว่าตามใจท่านเถอะเพราะท่านแก่แล้วอย่าไปเอาอะไรกับท่านมากนักเลย นี่เป็นหลักแบบไทยๆ ผลที่ได้ก็คืออย่างที่เห็นกับคุณพ่อคุณนี่แหละครับ คนแก่สุขภาพโทรมเร็ว ลูกหลานก็เหนื่อยและเซ็ง เราจึงจำเป็นต้องแหกประเพณีนี้ไปให้ได้ ช่วงน้ำท่วมใหญ่ผมออกเรือบรรเทาทุกข์ไปกับคุณบิณฑ์ (บันลือฤทธิ์) ซึ่งทำงานให้ร่วมกตัญญู เราไปกันที่อยุธยา ไปบ้านหนึ่งร้องบอกให้ไปช่วยรักษาคนแก่อายุ 90 ปีซึ่งเดินไม่ได้มาสองเดือนแล้ว ผมตรวจดูแล้วก็ไม่เห็นคุณยายแกมีปัญหาอะไรที่จะทำให้เดินไม่ได้ จึงถามคุณบิณฑ์ว่าคุณจอดเรือรอสักหนึ่งชั่วโมงไหวไหม เมื่อคุณบิณฑ์พยักหน้า ผมจึงเริ่มโปรแกรมฟื้นฟูเดี๋ยวนั้นเลย คือจับคุณยายลุกขึ้นมาหัดเดิน ทำกันอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ในที่สุดคุณยายก็เดินเองได้ คือผมจะชี้ให้เห็นว่าอายุก็ดี ความอ่อนแอที่เป็นอยู่ก็ดี ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้ทำกิจกรรมฟื้นฟูร่างกายผู้สูงอายุไม่ได้  

     4.ถามว่าขอพาคุณพ่อมาพบผมเพื่อปรึกษาได้ไหม ตอบว่าไม่ค่อยสะดวกนะครับ เพราะงานหลักของผมคือดูแลอบรมสั่งสอนคนดีไม่ให้ป่วย ส่วนการรักษาคนที่ป่วยแล้วนั้นเป็นงานของคลินิกเฉพาะโรคอื่นๆ ถ้าผมตั้งตัวรักษาคนป่วยไปด้วย ศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่าไป “แฮ็บ” คนไข้ของคนอื่นเขานะครับ ซึ่งแพทย์ที่น่ารักเขาจะไม่ทำกัน อีกอย่างหนึ่งแพทยสภาห้ามไม่ให้สมาชิกใช้สื่อทุกรูปแบบดูดคนไข้มาหาตัวเอง ผมจึงไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ที่จะเปิดรับรักษาคนไข้ผ่านบล็อกนี้ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้ให้คนเอาไปดูแลตัวเอง ไม่ใช่เพื่อดูดคนไข้มาหาตัวเอง 

      จบคำถามละ คราวนี้ผมอยากพูดอะไรก็พูดได้แล้วใช่มะ คือผมอยากพูดเรื่องคนแก่

     เริ่มตั้งแต่ ประเด็นที่ 1. เมื่อไดคนเราจะกลายเป็นคนแก่ แค่นี้ก็เถียงกันไม่ตกฟากแล้ว เพราะคนเรานี้ไม่มีใครอยากแก่สักคน เพื่อยุติข้อโต้แย้งที่ว่าเมื่อไรจึงจะเรียกคนแก่ว่าคนแก่ องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุแล้วมีมตินิยามคำว่าผู้สูงอายุ ว่าคือผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีบางประเทศที่เต็มไปด้วยคนไม่อยากแก่ไม่เห็นด้วย เช่นสหรัฐอเมริกาได้ให้สถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมาตรฐานของตัวเองซ้อนขึ้นมา ว่าช่วงอายุ 60-74 ปีถือว่ายังไม่แก่จริง จึงเลี่ยงบาลีเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุวัยต้นก็แล้วกัน ต้อง 75 ปีไปแล้วจึงจะแก่จริงและถือว่าเป็น senior citizen ตัวจริง ดังนั้นใครอยากจะจัดตัวเองเป็นคนแก่เร็วหรือช้าก็เลือกหยิบใช้มาตรฐานใดก็ได้ตามใจชอบนะครับ ถ้าไม่อยากแก่ และไม่สนมาตรฐานด้วย ผมแนะนำให้ใช้วิธีของสุรพล สมบัติเจริญ แทนก็แล้วกัน แบบว่า

“...พี่ยังไม่แก่หรอกน้อง
รับรองว่ายังหนุ่มอีกนาน
ถึงฟันจะหัก
ถึงหนังจะเหี่ยว
มันก็ไม่เกี่ยว เพราะมันเป็นเรื่องของมัน...”                          

     ประเด็นที่ 2. คนแก่ไทยในอนาคตต้องเป็นอย่างไรจึงจะไปรอด คือหมายความว่าวัฒนธรรมการดูแลคนแก่ไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แบบว่าตัวคนแก่เองก็ยิ่งแก่ยิ่งฟอร์มแยะ เรื่องมาก เพื่อให้ลูกหลานมาสนใจ ตัวลูกๆหลานๆเองก็ ฮู้ย..ย กตัญญูประคบประหงมคนแก่กันสุดฤทธิ์สุดเดช ยอมลาออกจากงานมาเฝ้า ทำอะไรแทนทุกอย่าง เอาอกเอาใจทนฟังคำด่าคำบ่นและทนหงุดหงิดกับคนแก่ที่มีแต่จะเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นๆ ทั้งๆที่รู้ว่าวิธีนี้มันทำไปได้ไม่ยืดหรอก จะต้องหมดเค้าทางการเงินหรือตะบะแตกกันไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อรุ่นนี้ยังเริ่มหงุดหงิดแล้ว รุ่นหน้าอย่าหวังว่าลูกๆหลานๆจะมาประคบประหงมคนแก่แบบรุ่นนี้ คำถามก็คือ ถ้าถึงเวลาที่ท่านผู้อ่านซึ่งวันนี้ยังไม่แก่จะต้องกลายเป็นคนแก่ในอนาคต มันต้องเป็นคนแก่แบบไหนจึงจะเอาตัวรอดได้ เรื่องนี้ได้มีงานวิจัยในประเทศฝรั่งซึ่งมีธรรมเนียมชอบปล่อยคนแก่ทิ้งไว้รอให้กลายเป็นปุ๋ยถือปฏิบัติปกติสืบต่อกันมาช้านาน เขาได้ทำวิจัยแล้วสรุปผลว่าการจะเป็นผู้สูงอายุที่ “รอด” วัยสูงอายุไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิตนั้น จะต้อง “เป็นคนสูงอายุที่มีศักยภาพและเข้มแข็งที่อยู่อาศัยในชุมชนที่เข้มแข็ง” ตรงนี้เป็นบาลีที่ต้องตีความกันให้ดีนะครับ มันมีคีย์เวอร์ดหรือคำสำคัญอยู่สามคำ คือ

(1) เป็นคนมีศักยภาพ คือก่อนจะแก่ต้องฝึกตัวเองไว้ดีพอควร ไม่ใช่แก่แดดแก่ลม ต้องทำอะไรเป็น ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และหาอะไรให้ตัวเองทำได้โดยไม่ต้องรอให้ใครไปหามาถวาย การฝึกตัวเองให้มีศักยภาพนี้หมายความรวมทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ

(2) เป็นคนเข้มแข็ง หมายความว่าเมื่อแก่แล้วไม่ใช่ทำตัวหง่อม ต้องทำตัวขยัน คึกคัก เข้มแข็ง ซึ่งจะทำได้ก็ต้องผ่านการฝึกร่างกายจิตใจตัวเองมาดีแล้ว  

(3) อยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง อันนี้หมายความว่าชีวิตคนแก่จะดีได้ต้องอยู่ในชุมชนที่มีพลังพอที่จะสนับสนุนคนแก่ด้วย ถ้าไปอยู่ในชุมชนที่ไร้พลัง คนแก่ซึ่งมีแนวโน้มจะเดี้ยงอยู่แล้วก็จะกลายเป็นเดี้ยงถาวรไปเลย ชุมชนที่มีพลังจะสร้างและธำรงรักษาระบบสนับสนุนผู้สูงอายุไว้ได้ แล้วชุมชนแบบที่ว่าเนี่ยตอนนี้มันไม่มีเราจะไปหาอยู่ที่ไหนกันละคะ คำตอบก็คือก็ต้องช่วยกันสร้างมันขึ้นมาแหละครับ มิฉะนั้นเมื่อแก่ตัวไปเราเองก็จะไม่มีที่อยู่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์     

บรรณานุกรม  

1..Everhart JE et al A longitudinal survey of self-reported bowel habits in the United States. Dig Dis Sci 1989;34:1153-1162.


---------------------------------------
6 สค. 55 (จากผู้อ่าน)
ผมสนใจข้อสองครับ ผมไปโรงพยาบาลของรัฐ เจตนาต้องการผลการตรวจทาง LAB. เพราะไปตรวจ รพ.เอกชน (เบิกไม่ได้แล้วก็แพงอีกด้วย ถึงจะบริการดีให้ความสะดวกก็เถอะครับ) แต่ก็ต้องเสียเวลาพบแพทย์สั่งและไปฟังผลเพื่อจะได้เห็นหน้าแพทย์สักสองสามนาทีและก็ได้รับยาซึ่งบางชนิดในความเห็นผมไม่จำเป็นเลย (กำลังคิดว่า จะเอาไปแลกไข่ไก่แล้ว)
..................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67