ยาลดไขมันทำให้เป็นเบาหวานได้ไหม
เรียน คุณหมอสันต์
ยาลดไขมัน (Crestor)
นี้มันทำให้เป็นเบาหวานได้หรือเปล่าครับ ตัวผมเองอายุ 55 ปี ไม่เคยมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก่อน
ครอบครัวของผมทั้งคุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายายก็ไม่มีใครเป็นเบาหวาน
ผมเป็นไขมันในเลือดสูง หมอที่รพ...... ได้ให้ยาลดไขมันซึ่งเปลี่ยนมาหลายครั้ง
สุดท้ายตอนนี้ใช้ยา Crestor อยู่ เป็นยาตัวเดียวที่ผมกินอยู่
ตลอดสามปีที่ผ่านมาน้ำตาลในเลือดของผมสูงขึ้นๆจากเดิมไม่ถึง 100 ปีกลายเป็น 114 มาปีนี้เป็น 127 ซึ่งหมอบอกว่าผมเป็นเบาหวานและต้องกินยารักษาเบาหวาน คำถามของผมคือ (1) ยาลดไขมันเป็นต้นเหตุให้ผมเป็นเบาหวานได้ไหม (2) ถ้าเป็นได้ ยาลดไขมันตัวไหนทำให้เป็นเบาหวานมากที่สุดและตัวไหนน้อยที่สุด (3) ถ้ายาลดไขมันทำให้เป็นเบาหวานได้ คนซึ่งเป็นทั้งไขมันสูงและกลัวจะเป็นเบาหวานด้วย
ควรทำอย่างไร
.......................................
ตอบครับ
1.. ถามว่ายาลดไขมัน (ยาในกลุ่ม statin
รวมทั้ง rosuvastatin ที่มีชื่อการค้าว่า Crestor
ด้วย) เป็นต้นเหตุให้เกิดเบาหวานได้ไหม ตอบว่า
“ได้ครับ” อันนี้ไม่ใช่ความลับอะไร
การเกิดเบาหวานเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการกินยาลดไขมัน
ถ้าอ่านฉลากให้ละเอียดเขาก็เขียนไว้เพียงแต่เขียนตัวเล็กคุณต้องใช้แว่นขยายส่องจึงจะเห็น (ขอโทษ ปากเสีย ชอบถากถาง) สำหรับยา rosuvastatin นั้นมีงานวิจัยหนึ่งชื่องานวิจัยจูปิเตอร์
(JUPITER trial) เปรียบเทียบคนกินยานี้กับยาหลอก พบว่าคนกินยา
rosuvastatin เป็นเบาหวานมากกว่าคนกินยาหลอก 27%
2.. ถามว่ายา statin ตัวไหนทำให้เป็นเบาหวานมากหรือน้อยต่างกัน ตอบว่ายังไม่มีข้อมูลจากการวิจัยเปรียบเทียบครับ
มีแต่ข้อมูลเทียบกับยาหลอกแบบของใครของมัน ซึ่งภาพรวมก็ไม่แตกต่างกันครับ
คือทำให้เป็นเบาหวานได้ทุกตัว
3..ถามว่าแล้วคนที่ไขมันในเลือดสูงด้วย
กลัวเป็นเบาหวานด้วย จะทำอย่างไรดี ตอบว่า ชีวิตคนเรานี้ ได้อย่างมันก็ต้องเสียอย่างแหละครับ
อย่าเป็นคนคิดจะเอาแต่ได้เลย มันไม่ดีนะ แหะ..แหะ พูดเล่น คือในทางการแพทย์ทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง
ต้องตัดสินใจโดยเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์ แล้วเลือกใช้ยาถ้าประโยชน์มันมากกว่าความเสี่ยง
ในประเด็นนี้สำหรับยา rosuvastatin ก็มีคนทำวิจัยไว้นะ
เป็นการศึกษาในคนถึงกว่า 17,000 คนโดยให้กินยาจริงเทียบกับยาหลอกแล้วตามไปดู
แล้วก็พบว่าคนกินยาจริงรอดจากการเกิดเรื่องร้ายจากโรคหัวใจหลอดเลือด 134 ราย ขณะที่แจ๊คพอตได้เบาหวานเกิดขึ้นใหม่เป็นโรคแถม 54 ราย
หักลบกันแบบคณิตศาตร์ชั้นประถมก็สรุปได้ว่าการใช้ยานี้ได้ประโยชน์จากการป้องกันโรคหัวใจมากกว่าโทษจากการเกิดเบาหวาน
นี่เป็นข้อสรุปของวงการแพทย์และวงการยานะครับ คนไข้ในฐานะผู้บริโภคก็มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจของตัวเองได้ จะมองว่าเข้าท่าหรือไม่เข้าท่าก็โปรดตรองดูเอง
ตัวผมขอแนะนำเพิ่มเติมว่าให้หันกลับไปดูตัวเองก่อนว่าได้ทำอะไรที่เป็นการดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง
เช่น การออกกำลังกาย การโภชนาการ ซึ่งมีรายละเอียดมาก หากสนใจคุณก็หาอ่านเอาตามคำตอบเก่าๆที่ผมเคยเขียนไว้ก็แล้วกันนะครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม