ศึกสองวิชาชีพ แพทย์ vs เภสัชกร

เตรียมพร้อมสำหรับการฝึกยิงธนู

     วันนี้งดตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อเขียนบทความนี้

    สื่อมวลชนลงข่าวกันครึกโครม ถึงกรณีที่สปสช.ได้ริเริ่มโครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพนอกโรงพยาบาลซึ่งรวมถึงร้านขายยา คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัดเป็นต้น ได้ฟรี โดยสปสช.เป็นผู้จ่ายเงินให้ แล้วเกิดความขัดแย้งระหว่างแพทยสภากับสภาเภสัชกรรมถึงขั้นออกแถลงการณ์โต้กันและ "แขวะ" กันไปมา แล้วพากันไปหากรรมการกฤษฎีกาให้ตัดสิน ซึ่งเหล่านักกฎหมายท่านก็ตอบอย่างให้เกียรติอย่างยิ่งว่าไม่รับตัดสินให้เพราะเป็นเรื่องของสองวิชาชีพที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือรักษาคนเจ็บไข้ให้หาย มีอะไรก็ไปตกลงกันเองไม่ดีกว่าหรือ แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดแพทยสภายื่นฟ้องสป.สช. (ซึ่งมีสภาเภสัชกรรมร่วมอยู่ข้างเดียวกันด้วย) ว่าทำผิดกฎหมายพรบ.การประกอบวิชาชีพเวชกรรม

    ในโอกาสที่มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมองลึกลงไปในระบบการดูแลสุขภาพของเราว่ามันมีอะไรที่เรายังทำน้อยไปหรือยังไม่ได้ทำหรือเปล่า 

    ผมมองเรื่องความขัดแย้งครั้งนี้ว่ามี 2 ประเด็น

    ประเด็นที่ 1. ผลประโยชน์ของผู้ป่วย ซึ่งยังแยกออกเป็นสามประเด็นย่อยคือ 

    (1) ประเด็นการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานได้ยาก (หากมองว่าการได้กินยาเป็นบริการสุขภาพพื้นฐาน) สปสช.จึงแก้ไขด้วยการให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทั้งทางร้านยาชุมชนอบอุ่น ทางคลินิกชุมชนอบอุ่น ทางคลินิกแผนไทยชุมชนอบอุ่น ทางคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ซึ่งการทดลองที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าวิธีสร้างหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นนี้ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงนี้ได้จริง

    (2) ประเด็นผลเสียต่อสุขภาพผู้ป่วยถ้าปล่อยมือให้เภสัชกร ในแง่ที่ว่าเภสัชกรจะพลาดโอกาสรักษาผู้ป่วยหนักนั้น ผมยอมรับว่าผมเองยังไม่เคยเห็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าเคยมีผลเสียอย่างนี้เลย ทั้งๆที่ระบบให้บริการปฐมภูมิโดยผู้ไม่ใช่แพทย์นี้ก็ทำกันอยู่แล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับเมืองไทยเรื่องแบบนี้จะมีผลเสียจริงหรือไม่เรายังไม่รู้ มันต้องทดลองระบบนี้ไปก่อนแล้วทำวิจัยไล่หลังตามดู ซึ่งการวิจัยแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานเลย

    (3) ประเด็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ NCD (เช่นโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ ไต สมองเสื่อม มะเร็ง) ซึ่งเป็นภาระของระบบอย่างแท้จริงและประกอบเป็นราว 80% ของต้นทุนการรักษาทั้งหมด ซึ่งยารักษาไม่หายต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิต แต่แม้ระบบหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นนี้ก็ยังมุ่งไปที่การใช้ยา ดังนั้นระบบใหม่นี้จะไม่แก้ปัญหาโรค NCD เลย ทั้งนี้รวมถึงการใช้ยาในโรงพยาบาลที่ทำกันมาแต่เดิม ทุกวันนี้ผู้ป่วยระดับโรงพยาบาลชุมชนเช่นที่รพ.มวกเหล็กเพื่อนของผมซึ่งไปเป็นคนไข้ที่นั่นเล่าว่าผู้ป่วยต้องเอาล้อเข็นแบบที่ใช้จ่ายตลาดไปรับยาจากห้องยาของรพ.เพราะยามันมีปริมาณมากจนหิ้วด้วยสองมือกลับบ้านไม่ไหว การใช้ยากันแบบไม่บันยะบันยังทั้งๆที่มันรักษาโรคไม่หายนี่แหละคือปัญหาที่แท้จริงของชาติ โครงการร้านยาอบอุ่นของสปสช.จะไม่ได้แก้ปัญหานี้เลย หรืออาจจะพากันเข้ารกเข้าพงไปสู่การบริโภคยามากขึ้นก็ไม่รู้ อันนี้ต้องทำวิจัยตามดู ที่ผมรู้แน่ๆจากงานวิจัยที่ทำกันไว้ดีแล้วคือการเพิ่มการบริโภคยาจะไม่ทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นจากโรค NCD 

    ในโอกาสที่เรากำลังเพิ่มบทบาทของนักวิชาชีพทางการแพทย์สาขาอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ให้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพมากขึ้นนี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีบทบาทช่วยลดโรคเรื้อรังในฐานะโค้ชวิถีชีวิตด้วย ในอดีตทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ล้วนไม่เคยได้รับการฝึกสอนถึงวิธีโค้ชผู้ป่วยให้เปลี่ยนนิสัยสำเร็จเลย จึงเสียโอกาสที่จะได้ทำเรื่องเหล่านี้ควบคู่ไปพร้อมกับการทำหน้าที่ปกติของตนอย่างน่าเสียดาย นี่เรากำลังจะเอาพวกเขาเข้ามาร่วมรับมือกับปัญหาสุขภาพในระดับชาติซึ่งมีโรคเรื้อรังเป็นปัญหาหลัก เราต้องสร้างให้นักวิชาชีพสายสุขภาพทุกคนเป็นโค้ชวิถีชีวิตที่ใช้หลักวิชาเวชศาสตร์การเปลี่ยนนิสัยให้เป็นและใช้ควบคู่กับงานของตัวเองอย่างได้ผล ทั้งด้วยการมีระบบฝึกอบรมการเป็นโค้ชวิถีชีวิตให้นักวิชาชีพสายสุขภาพที่กำลังทำงานอยู่แล้ว และการปรับหลักสูตรในมหาวิทยาลัยให้การโค้ชสุขภาพหรือการโค้ชวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในคณะที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้ด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมเขียนบทความนี้

    ประเด็นที่ 2. ผลประโยชน์ส่วนตนของแพทย์และเภสัชกร เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าด้านหนึ่งคือผลประโยชน์ของผู้ป่วย แต่อีกด้านหนึ่งคือผลประโยชน์ส่วนตนของแพทย์และเภสัชกร ซึ่งจะถูกระทบกระเทือนเมื่อโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นนี้เดินหน้าต่อไป กล่าวคือ

    2.1 ในส่วนของแพทย์นั้น มีทั้งแพทย์ที่เสียบ้าง เสมอตัวบ้าง ได้บ้าง กล่าวคือ

    "เสีย" คือแพทย์ที่ทำคลินิกส่วนตัวที่อยู่นอกระบบคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่เดิมนั้นผู้ป่วยที่ต้องการยาด้วยการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆต้องชั่งใจว่าจะหลบคิวยาวที่โรงพยาบาลโดยการไปหาหมอที่คลินิกหรือจะไปซื้อยาที่ร้านขายยาดี เพราะต้องเสียเงินทั้งคู่ ผู้ป่วยก็จะกระจายๆกันไปทั้งสองทาง แต่พอมีร้านยาชุมชนอบอุ่นผู้ป่วยจะตัดสินใจหลบโรงพยาบาลโดยไปเอายาที่ร้านขายยาชุมชนอบอุ่นมากกว่าไปคลินิกแพทย์เพราะไปทางร้านยาได้ยาฟรี ทำให้แพทย์ที่ประกอบอาชีพเปิดคลินิกอิสระโดยไม่เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นมีรายได้ลดลง นี่คือส่วนที่แพทย์จะเสีย 

    "เสมอตัว" นั้นก็คือแพทย์ที่เอาคลินิกของตนเองเข้าร่วมในระบบคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อให้มีผู้ป่วยมาหาตนมากกว่าเดิมเพราะผู้ป่วยมาฟรี แต่รายได้ต่อหัวจะลดลงเพราะเบิกคืนจากสปสช.ได้จำกัดจำเขี่ยกว่าการเรียกเก็บตรงเอากับผู้ป่วยเอง ดังนั้นโหลงโจ้งแล้วก็จะได้ประมาณเท่าเดิมผมจึงเรียกว่าเสมอตัว

    "ได้" นั้นก็คือแพทย์ที่แต่เดิมทำคลินิกส่วนตัวแบบอิสระแต่ไม่ค่อยมีคนไข้ ทำแบบปริ่มๆขาดทุนอยู่ แต่ต่อมาเอาคลินิกเข้าร่วมเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นก็จะมีคนไข้มากขึ้นเพราะคนไข้มาฟรี โดยที่แพทย์ไม่ต้องไปพะวงว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นจะแย่งคนไข้ เพราะเมื่อฟรีทั้งสองข้าง ผู้ป่วยก็จะตัดสินใจว่าจะไปข้างไหนดีเอาตามความจำเป็นที่แท้จริง ทั้งสองฝ่ายก็จะได้ผู้ป่วยทั้งคู่  

    2.1 ในส่วนของเภสัชกรนั้น ก็มีได้บ้าง เสมอตัวบ้าง เสียบ้าง เช่นกัน กล่าวคือ

    "ได้" คือเภสัชกรที่แต่เดิมเปิดร้านขายยาแล้วมีลูกค้าน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเภสัชกรจบใหม่ ถึงจะขายยาได้แพงแต่จำนวนลูกค้าน้อยก็ปริ่มๆขาดทุน แต่พอเอาร้านเข้าเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นก็จะมีลูกค้าอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นทันทีเพราะลูกค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาเอายาฟรี ส่วนเภสัชกรนั้นก็ไปเบิกค่ายาเอาจากสปสช.

    "เสมอตัว" คือเภสัชกรที่เดิมเปิดร้านขายยาแล้วมีรายได้พอสมควรโดยไม่เหนื่อยมาก พอเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นค่ายาต่อหัวผู้ป่วยจะลดลง แต่จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นมาชดเชย โหลงโจ้งแล้วจึงได้เงินประมาณเท่าเดิม

    "เสีย" คือเภสัชกรที่แต่เดิมทำร้านขายยาเจริญรุ่งเรืองอยู่แล้วได้กำไรมากเป็นกอบเป็นกำอยู่แล้ว พอเกิดระบบใหม่ขึ้นก็กึ่งถูกบังคับให้เข้าร่วมร้านยาชุมชนอบอุ่น ไม่ร่วมก็ไม่ได้เพราะยอดลูกค้าจะลดลงฮวบฮาบเพราะเฮโลไปเอายาของร้านยาชุมชนอบอุ่นหมด แต่พอเข้าร่วมแล้วถึงจะรักษาระดับลูกค้าให้แน่นเท่าเดิมอยู่ได้แต่รายได้ก็จะลดลงเพราะเบิกคืนค่ายาจากสปสช.ได้น้อยกว่าขายตรงให้คนไข้เอง

    ในเรื่องผลประโยชน์ของสองวิชาชีพนี้ไม่มีวิธีใดดีไปวิธี "เกี๊ยะเซี้ย" คือคุณได้บ้าง ผมได้บ้าง แล้วเราก็อยู่ร่วมกันได้ หากจะคิดแบบว่าผมจะไม่ให้คุณเลย ผมต้องได้คนเดียวหมด คุณไม่ควรได้อะไรสักอย่าง การคิดแบบนั้นนั่นแหละที่ทำให้ทั้งโลกยังต้องทำสงครามฆ่าฟันกันมาจนถึงทุกวันนี้ 

    ทั้งสองสภาคือแพทยสภาและสภาเภสัชกรรมจะเกี๊ยะเซี้ยกันยังไงผมก็เห็นด้วยทั้งนั้น เพราะตัวผมเป็นแพทย์ก็จริง แต่ทั้งเภสัชกรก็ดี พยาบาลก็ดี นักกายภาพบำบัดก็ดี นักเทคนิคการแพทย์ก็ดี ล้วนแต่ "ร่วมรบ" เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมาตลอด ผมจะมาแยกว่านี่เป็นพวกผมนั่นเป็นพวกคุณได้อย่างไร

    สิ่งที่ผมอยากฝากทั้งสองสภาไว้มีนิดเดียว ก็คือเมื่อเรื่องเกี๊ยะเซี้ยนี้ผ่านไปแล้ว อย่าลืมมาช่วยกันหาวิธีทำอย่างไรจึงจะให้ทั้งแพทย์และเภสัชกรเป็น "โค้ชวิถีชีวิต" ที่ช่วยผู้ป่วยให้เปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตของเขาได้สำเร็จจนโรคเรื้อรังหาย นั่นคือสิ่งที่เราในฐานะที่เป็นนักวิชาชีพด้านสุขภาพควรทำอย่างแท้จริง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์  

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67