เชาวน์ปัญญา (Intellect) หรือการคิดด้วยตรรกะ ไม่สามารถพาเข้าถึงความรู้ตัวได้

กราบเรียนคุณหมอสันต์

    ผมได้ติดตามฟัง Dr Deepak Chopra ซึ่งเขาพูดถึง consciousness และ quantum physics บ่อยมาก ผมอยากทราบว่า consciousness ที่ Dr. Deepak Chopra พูดถึง เป็นอันเดียวกับ consciousness ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญวิชา quantum physics พูดถึงหรือไม่ แล้ว consciousness ของ Dr. Chopra เหมือนกับคำว่าวิญญาณในศาสนาพุทธหรือเปล่า แล้วคำว่าความรู้ตัวของคุณหมอสันต์เป็นอันเดียวกับคำว่า consciousness ที่ Dr Chopra หรือวิญญาณในศาสนาพุทธหรือเปล่า แล้วคำว่าความรู้ตัวของหมอสันต์ เป็นอันเดียวกับคำว่า "สติ" ไหม

    ขอบพระคุณครับ

...................................................

นกกะรางหัวขวาน ที่มวกเหล็กวาลเลย์


ตอบครับ

    1. ถามว่าคอนเชียสเนส (consciousness) ที่นพ.ดีปัค โชปรา พูดถึงนั้น มันอันเดียวกันกับคอนเชียสเนสที่เขียนไว้ในตำราควันตัม (quantum physics) หรือเปล่า ตอบว่าก็เหล่าผู้คนที่พูดคำนี้เองพวกเขาเองเขาก็ยังไม่มีความชัวร์หรือความชัดเลยว่าเขาพูดถึงอะไร แล้วผมจะไปรู้ได้อย่างไรเล่าครับ

    เมื่อหลายวันก่อนหลานชายผมคนหนึ่งเขาสอบชิงทุนญี่ปุ่นได้ แต่สาขาที่ตัวเองรู้จักคนอื่นเขาชิงเอาไปหมดแล้ว เหลือแต่สาขาควันตัมฟิสิกส์ซึ่งเขามาถามผมว่าเขาไม่รู้ว่าไปเรียนเรื่องอะไรจบมาแล้วจะใช้ทำมาหากินอะไร แต่เขาก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไปเรียนเพราะอยากไปเสาะหาประสบการณ์ในญี่ปุ่นสักหลายๆปี ผมตอบเขาว่าผมไม่รู้หรอกว่าควันตัมฟิสิกส์คืออะไร รู้แต่ว่าสมัยเรียนเตรียมแพทย์ผมสอบวิชาฟิสิกส์ส่วนที่เป็น old physics ตกแต่โชคดีได้คะแนนส่วนควันตัมฟิสิกส์ช่วยไว้ เพราะในควันตัมฟิสิกส์หากใครตอบคำถามแบบบ้าๆบอๆก็มักจะได้คะแนนดี  

    ผมจะตอบคำถามข้อนี้ของคุณโดยการเดาเอานะ ว่าคอนเชียสเนสที่นักควันตัมฟิสิกส์กล่าวถึงมันไม่เหมือนคอนเชียสเนสที่ดีปักโชปรากล่าวถึงหรอก แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะทะเลาะโต้เถียงกันได้เป็นวรรคเป็นเวรทั้งๆที่พูดกันคนละเรื่อง กล่าวคือคอนเชียสเนสในวิชาควันตัมฟิสิกส์นั้นเขาหมายถึงการรับรู้ประสบการณ์แต่ละประสบการณ์ในใจของคน ซึ่งเป็นอันเดียวกับคอนเชียสเนสในวิชาวิสัญญีแพทย์ คือเมื่อโดนยาสลบหลับไปแล้วก็รับรู้ประสบการณ์อะไรไม่ได้แล้วนั่นก็คือไม่มีคอนเชียสเนสแล้ว ทั้งหมดนี้เชื่อกันว่าคอนเชียสเนสมีศูนย์การรับรู้อยู่ที่เซลล์สมอง วิชาควันตัมฟิสิกส์จำเป็นต้องกล่าวถึงคอนเชียสเนสเพราะคอนเชียสเนสมันเป็นผู้สังเกตหรือเป็นผู้รายงานผลของการใช้เครื่องมือตรวจสถานภาพของอนุภาคและความเป็นคลื่นพลังงานของมวลสสารระดับที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม  

    ส่วนคอนเชียสเนสที่ดีปักโชปรากล่าวถึงนั้นเขาหมายถึงสภาวะที่หนังสือเวดะในศาสนาฮินดูเรียกว่า "ปรมาตมัน" ซึ่งเป็นสภาวะของคลื่นพลังงานที่จับต้องมองเห็นไม่ได้แต่กว้างใหญ่สุดประมาณและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง มีมาแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้และจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้ พูดง่ายๆว่าดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ เป็นสภาวะที่ไม่มีเกิด ไม่มีตาย แต่ว่าเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและสรรพชีวิตในจักรวาลนี้ ประมาณว่าทุกอย่างในจักรวาลนี้ (ซึ่งเรารับรู้ได้ในรูปของประสบการณ์ในใจเรา) ล้วนก่อกำเนิดมาจากคอนเชียสเนส ดำรงอยู่ชั่วขณะในคอนเชียสเนส แล้วก็ดับหายไปในคอนเชียสเนส 

      2. ถามว่าคอนเชียสเนสของดร.ดีปักโชปราเหมือนกับวิญญาณของศาสนาพุทธไหม ตอบว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แม้ว่าฝรั่งจะแปลคำว่า "วิญญาณ" ในพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษว่า consciousness ด้วยก็ตาม

    เพราะคอนเชียสเนสในความหมายของดีปักโชปรานั้นหมายความรวมถึงสองอย่างคือ primodial consciousness ที่เป็นสภาวะหนึ่งเดียวดั้งเดิมไม่แบ่งแยก กับ differentiated consciousness ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกันแต่แปรเปลี่ยนแปลงร่างให้เข้ากับแต่ละชีวิต อุปมาเหมือนน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ย่อมประกอบด้วยสองส่วนคือน้ำส่วนลึกซึ่งเป็นน้ำนิ่งๆแต่เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำส่วนผิว ซึ่งเป็นน้ำส่วนที่มีพฤติการแตกต่างกันไปเช่นน้ำไหลบ้าง น้ำนิ่งบ้าง เป็นระลอกคลื่นบ้าง เป็นฝอยน้ำแตกกระจายบ้าง เป็นต้น 

    ส่วนวิญญาณในทางศาสนาพุทธนั้นเป็นความสามารถรับรู้ ที่เกิดขึ้นมาเพียงเพื่อรับรู้องค์ประกอบอื่นๆอีกสี่อย่างของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเราแต่ละครั้ง ซึ่งรวบเรียกแบบนับรวมวิญญาณด้วยว่า "ขันธ์ 5" เมื่อองค์ประกอบอื่นๆหมดไปหรือเปลี่ยนไป หรือดับไป วิญญาณก็ดับไปด้วย ไม่มีอะไรเหลือ อุปมาเหมือนไฟย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีความร้อนมีออกซิเจน มีเชื้อไฟครบไฟก็เกิดขึ้นได้ทันที แต่เมื่อองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งหมดไป ไฟก็ดับไป ตัวไฟนั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ 

    อนึ่งพึงเข้าใจว่าคำอธิบายนี้ใช้ได้กับศาสนาพุทธสายออร์โธด็อกซ์หรือเถรวาทเท่านั้นนะ คำอธิบายนี้ย่อมใช้ไม่ได้กับพุทธนิกายอื่นเช่นมหายานสายโยคาจารซึ่งจะเหมือนไปทางฮินดูหรือเหมือนกับคอนเชียสเนสที่ดีปักโชปราเขาพูดถึง

    3. ถามว่าคอนเชียสเนสทั้งหลายนี้เหมือนกับ "ความรู้ตัว" ที่หมอสันต์พูดถึงบ่อยๆไหม ตอบว่าความรู้ตัวที่หมอสันต์พูดถึงบ่อยๆ เป็นอันเดียวกับวิญญาณตามแบบของพุทธออร์โธด็อกซ์หรือเถรวาท และเป็นอันเดียวกับคอนเชียสเนสของดีปักโชปราเฉพาะในส่วนที่เขาเรียกว่า differentiated consciousness  

    4. ถามว่า "ความรู้ตัว" ที่หมอสันต์ชอบพูดถึงบ่อยๆเป็นอันเดียวกันกับ "สติ" ไหม ตอบว่าเพื่อความง่ายเอาเป็นว่ามันเป็นอันเดียวกันก็แล้วกัน แต่ถ้าจะเอาให้ละเอียดมันก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว "สติ" ในภาษาบาลีถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "recall" และถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า "ความระลึกได้" ส่วน "ความรู้ตัว" ซึ่งเป็นคำที่ผมคิดขึ้นมาใช้เองนั้นหากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็น่าจะตรงกับคำว่า consciousness  มากที่สุดซึ่งคำนี้หากแปลกลับมาเป็นภาษาบาลีก็จะตรงกับคำว่า "วิญญาณ" ไม่ได้ตรงกับคำว่า "สติ"

    ถ้าจะให้ผมอธิบายแบบบ้านๆก็คือ "สติ" เป็นแขนของ "ความรู้ตัว" คือมันก็..เป็นตัวเดียวกันนั่นแหละ

    5. ข้อนี้เป็นของแถม ผมไม่รู้ว่าการตอบคำถามของคุณวันนี้จะมีประโยชน์สร้างสรรค์อะไรหรือเปล่า หรือจะให้ผลไปทางตรงกันข้ามเสียก็ไม่รู้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคำตอบวันนี้จะไม่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ผมจึงขอบันทึกเป็นฟุตโน้ตไว้ตรงนี้เสียหน่อยว่า 

    5.1 ภาษาเป็นอุปสรรค์อย่างใหญ่หลวงต่อการจะหลุดพ้นออกไปจากกรงของความคิด เพราะตัวมันเองเป็นคอนเซ็พท์หรือกรอบที่เป็นกรงขังอยู่ในตัวอยู่แล้ว 

    5.2 หลักคิด แนวคิด และคำสอนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ศาสนา ไสยศาสตร์ ล้วนกำเนิดมาจากความคิดแล้วใช้ภาษาสื่อให้ถึงกัน ตัวมันเอง (หลักคิดและคำสอน) อีกนั่นแหละคืออุปสรรคต่อการจะเข้าใจการรับรู้ประสบการณ์ในใจของตนอย่างถ่องแท้ เพราะการรับรู้ประสบการณ์ในใจคนที่ผมเรียกว่า "ความรู้ตัว" นั้น เกิดขึ้นนอกกรอบของหลักคิดและภาษาใดๆ และไม่อาจเข้าใจได้ด้วยการเถรตรงตามหลักคิดหรือคำสอน 

    5.3 เชาวน์ปัญญา (intellect) หรือวิธีคิดด้วยตรรกะ (dialectical logic) ไม่ว่าจะร่ำเรียนมามากแค่ไหน นานแค่ไหน อ่านคัมภีร์มากี่เล่ม ผ่านมากี่สำนัก กี่ประเทศ กี่อาจารย์ ล้วนไม่สามารถพาให้เข้าใจความรู้ตัวได้ดอก นี่เป็นข้อสรุปจากประสบการณ์ส่วนตนของผมเองคนเดียวที่ได้พยายามใช้เชาว์ปัญญามาตั้งแต่หนุ่มจนแก่นะ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณาณในการรับฟัง ถ้าไม่ใช่เพราะผมปัญญาทึบ ก็ต้องเป็นเพราะมันเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ ข้อสรุปของผมหลังจากผ่านประสบการณ์มายาวนานคือการจะเข้าใจความรู้ตัวหรือการจะ "รู้ตัว" ได้ มีวิธีเดียวคือต้องเลิกหลักคิด ตรรกะ คำสอน ขั้นตอนใดๆที่เรียนรู้มาเสียให้หมด ทิ้งมันไปให้หมด แล้ว "รู้" มันซะเดี๋ยวนี้เลย รู้ประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในใจที่ตรงนี้เลย รู้มันบ่อยๆ รู้มันเนืองๆ จนในที่สุดมันก็จะ "เก็ท" เองว่าอ้อ ความรู้ตัวคืออย่างนี้นี่เอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี