ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

เรียนคุณหมอสันต์

    ผมอายุ 70 ปีนี้ เคยสอนอยู่ที่ ม. ... เกษียณมาแล้วสิบปีพอดี ช่วงปีท้ายๆนี้ชีวิตไม่มีความสุข หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าแต่ผมว่าไม่ใช่ ปัญหาของผมคือผมพบความจริงมากขึ้นเรื่อยๆว่าแก่แล้วไม่มีอะไรดี มีแต่เรื่องเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกาย ตอนนี้ผมก็ป่วยอยู่ ผมรู้สึกว่าความแก่เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก มันอึดอัด มันกลัว มันกัดฟันสู้ทั้งๆที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ เหล่านี้มันไม่ใช่และไม่เกี่ยวอะไรกับโรคซึมเศร้าใช่ไหมครับ ผมเขียนมาหาหมอสันต์นี้ผมไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวความเจ็บป่วย กลัวปวด กลัวทรมาน ไม่อยากเป็นภาระคนอื่น ไม่อยากมีความรู้สึกเป็นคนไร้ค่า สมัยผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผมสอนนักศึกษาให้สู้ชีวิต แต่พอตัวเองตกอยู่ในมุมอับตรงนี้กลับพบว่าคำสอนนั้นใช้ไม่ได้ ผมนั่งสมาธิก็ไม่ได้ ตอนนี้อยากจะกลับตัวเป็นนักศึกษาให้คุณหมอแนะนำ ว่าผมควรจะปฏิบัติตนแนวไหนดี


(ภาพวันนี้: ชมรมนกบินเสรีเมืองทอง เอานกมาคอว์มาบินโชว์เด็กๆที่ปาร์ค)

..................................................................

 

ตอบครับ

    คุณเปรียบความทุกข์ของการเป็นผู้สูงวัยเหมือนสุนัขถูกต้อนเข้ามุมอับ นั่นเป็นมุมมองหนึ่งนะ ซึ่งก็จริงหากมองจากมุมนั้น แต่หากเรามองจากมุมอื่น มันก็จะเห็นความจริงอีกแบบ ผมแนะนำคุณว่าการจะเป็นคนแก่ที่เบิกบานมีอิสระคุณยังไม่ต้องรีบไปมีประสบการณ์ใหม่ๆแบบไหนดี แต่ผมแนะนำให้คุณเปลี่ยนมุมมองต่อสามเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เสียใหม่ มันอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากหน่อย แต่เพราะเห็นคุณเป็นอาจารย์มหาลัย ผมจึงเขียนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม หากอ่านแล้วไม่เก็ท ขอให้ค่อยๆอ่าน หรือกลับมาอ่านอีกหลายๆรอบ 

    1. เปลี่ยนมุมมองต่อร่างกายเสียใหม่ ให้คุณเปลี่ยนการมองร่างกายจากมุมเดิมที่มองว่าร่างกายนี้ประกอบขึ้นจากเซลล์ซึ่งมีการแก่ เจ็บ ตาย กำกับมาเป็นของแน่ มาเป็นมองมุมใหม่ให้เห็นว่าแท้จริงร่างกายนี้ไม่ได้มีเซลล์เป็นตัวต้นกำเนิด แต่ร่างกายทั้งหมดนี้มันเกิดจาก "ข้อมูล (information)" ที่เป็นเหมือนความจำจากอดีตอันไกลโพ้นไม่รู้กี่ชั่วอายุคนไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนปีที่ถูกถ่ายทอดมาทางยีนหรือรหัสพันธุกรรม (DNA) ซึ่งถูกก๊อปต่อๆกันจนมาอยู่ที่ใจกลางของแต่ละเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเรา ข้อมูลเหล่านี้มีไม่รู้กี่แสนกี่โกฏข้อมูลและมันไม่ได้อยู่นิ่งๆหรือถ่ายทอดคำสั่งที่แน่นอนตายตัว มันมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลอื่นๆซึ่งประกอบขึ้นเป็นทุกอย่างในจักรวาลนี้อยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยวงการแพทย์ก็รู้ว่าการแสดงออกของระหัสพันธุกรรมของแต่ละเซลล์ถูกเปลี่ยนแปลงได้ด้วยปฏิกริยาเคมีระหว่าง DNA กับสารเคมีตัวอื่นในร่างกายซึ่งเรียกกลไกนี้ว่า epigenetic ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า DNA ถูกเปลี่ยน แต่อุปมาเหมือนมันถูกใส่หมวกครอบแล้วทำให้การออกฤทธิ์หรือคำสั่งที่มันจะถ่ายทอดออกมาเปลี่ยนไป พอถอดหมวกที่ใส่ออก DNA ก็จะกลับมาออกฤทธิ์เหมือนเดิม โมเลกุลสารเคมีในร่างกายที่มาทำปฏิกริยาหรือทำตัวเป็นหมวกครอบ DNA ก็มีที่มาหลากหลาย เช่นฮอร์โมนเครียดที่เกิดขึ้นเวลาเราเครียด ฮอร์โมนสุขที่เกิดขึ้นเวลาเรามีความสุข อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากด้วยเป็นโมเลกุลที่จุลินทรีย์ในลำไส้ของเราเองผลิตขึ้น ซึ่งมันจะผลิตโมเลกุลดีร้ายแบบไหนก็สุดแล้วแต่อาหารที่เรากินเข้าไปว่าจะเป็นอาหารแบบไหน แม้สิ่งไกลตัวอย่างการหมุนของโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ กลางวัน กลางคืน ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้องหรือเหตุการณ์บ้านเมือง ก็ก่อให้เกิดสารเคมีหรือฮอร์โมนในร่างกายเราที่แตกต่างกันและมีผลต่อ DNA ต่างกันออกไป กล่าวโดยสรุป ร่างกายนี้จะป่วยจะเป็นอะไรไปนั้นเป็นผลจากความจำ (memory) จากอดีตอันไกลโพ้นบวกกับการกิน การใช้ชีวิต และวิธีการที่เราสนองตอบต่อสภาพการณ์แวดล้อมรอบตัวเราซึ่งส่วนใหญ่เรากำหนดได้ ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเซลล์ที่มีอายุกำกับว่ามันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเมื่อนั้นเมื่อนี้เป๊ะ เป๊ะ เป๊ะ เสมอไป

    อย่ามองว่าร่างกายเป็นหน่วยหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่แยกส่วนจากชีวิตอื่น เพราะความเป็นจริงร่างกายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสนามข้อมูลของจักรวาลนี้ ซึ่งยึดโยงเกี่ยวพันกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา คำว่าเป็น "สนาม" ผมยกตัวอย่างนะ สมัยผมเป็นเด็กๆ ครูสอนวิทยาศาสตร์พยายามจะให้พวกเรารู้จักสนามแม่เหล็กด้วยวิธีเอากระดาษขาววางทาบบนแท่งแม่เหล็กแล้วเอาผงตะไบเหล็กโรยไปบนกระดาษแล้วเคาะกระดาษแต๊ก แต๊ก แต๊ก ให้ผงตะไบเหล็กขยับตัว ครู่เดียวผงตะไบเหล็กก็ขยับตัวไปอยู่ในแนวเส้นแรงแม่เหล็ก ทำให้พวกเราเข้าใจว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่เรามองไม่เห็นอะไรจับต้องอะไรไม่ได้เลยนั้นความจริงแล้วเป็นสนามแม่เหล็ก ร่างกายนี้ก็อยู่ในสนามข้อมูลของจักรวาลนี้เหมือนผงตะไบเหล็กอยู่ในสนามแม่เหล็ก ดังนั้นนอกจากจะดูแลตัวเองเรื่องอาหารการออกกำลังกายและการคลายเครียดแล้ว การเปิดให้ร่างกายนี้ได้ซิ้งค์หรือเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น แสงแดด ต้นไม้ ธารน้ำ แสงจันทร์ ความสว่าง ความมืด ก็เป็นสิ่งช่วยให้ร่างกายนี้อยู่ของมันได้เองตามที่มันถูกออกแบบมาได้ 

    อีกประการหนึ่ง ร่างกายนี้ที่คุณห่วงว่ามันกำลังเป็นโน่นเป็นนี่ อันที่จริงมันเป็นเพียงประสบการณ์ในใจของเราผ่านภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัสและความคิดของเรา ทำให้เราอนุมาณเอาได้ว่านี่คือแขน นี่คือขา นี่คือตับ นี่คือปอด นี่มันกำลังเป็นมะเร็ง นี่มันกำลังปวด ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ในใจเรา หากไม่มีความรู้ตัวมารับรู้ประสบการณ์เหล่านี้ ร่างกายนี้ก็ไม่มี ดังนั้นตัวกำหนดว่าร่างกายนี้มีหรือไม่มี ดีหรือไม่ดี คือการรับรู้ประสบการณ์ของความรู้ตัว ซึ่งความรู้ตัวนี้ไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

     2. เปลี่ยนมุมมองต่อเวลาเสียใหม่ เวลาอย่างที่เราเข้าใจว่ามีอดีต ปัจจุบัน อนาคต จริงๆแล้วไม่มีนะครับ เวลาเป็นเพียงความจำ (memory) ที่เราจดจำประสบการณ์ของเราเอาไว้ จะด้วยตั้งใจจำหรือไม่ตั้งใจจำก็ตาม ถ้าไม่มีความจำ เวลาก็ไม่มี เพราะชีวิตเป็นเพียงประสบการณ์ในใจที่เกิดขึ้นทีละขณะ ทีละขณะ เท่านั้น คำว่าทีละขณะนี้เป็นคนละอันกับ "ปัจจุบัน" ในคอนเซ็พท์ของเวลาอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ทีละขณะคือโมเมนต์ที่ใจของเรากำลังมีประสบการณ์กับอะไรสักอย่าง ชีวิตคือตรงนี้ ตรงที่มีการรับรู้ประสบการณ์ทีละขณะนี่แหละ ไม่ใช่ความจำเกี่ยวกับอดีตหรือความคิดเกี่ยวกับอนาคต ความจำก็คือความจำ ความคิดก็คือความคิด มันไม่ใช่ตัวชีวิต อายุจะห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ จะหนุ่ม หรือจะแก่ ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะนั่นเป็นคอนเซ็พท์เกี่ยวกับเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคต การจะใช้ชีวิตก็คือทำอย่างไรจะให้การรับรู้และสนองตอบต่อประสบการณ์ทีละขณะนี้เป็นไปอย่างยอมรับมัน สงบเย็น เบิกบาน สร้างสรรค์ และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับโลกและชีวิตอื่น 

    อนึ่ง อย่าไปมัวเสาะหาประสบการณ์แบบโน้นแบบนี้ตามอย่างคนอื่นเขาด้วยความเชื่อว่าประสบการณ์เช่นนั้นจะพาให้พ้นทุกข์ ผมจะบอกคุณว่าไม่มีประสบการณ์แบบไหนดอกที่จะพาให้คุณพ้นทุกข์ได้ แต่การรับรู้ประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อย่างลึกซึ้งแบบเข้าไปถึงความรู้ตัวซึ่งเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์ต่างหาก ที่จะเป็นตัวพาให้คุณพ้นทุกข์ได้

    3. เปลี่ยนมุมมองต่อความคิดเสียใหม่ คนสูงอายุที่มีความทุกข์ เกือบร้อยทั้งร้อยเพราะไปสำคัญผิดว่าความคิดที่เกิดขึ้นในใจตัวเองคือ "ตัวตน" ของตัวเอง ถ้าความคิดนั้นมีเนื้อหาพาทุกข์ ตัวเองก็ทุกข์ตาม แต่ความเป็นจริงคือตัวเรากับความคิดของเราเป็นคนละอันกัน เราเป็นผู้สังเกตเห็นความคิด แล้วถ้าเราจะแอบสังเกตดูกำพึดของแต่ละความคิดสักหน่อย เราก็จะเห็นว่าความคิดแท้จริงแล้วก็ไม่หนีสกุลใดสกุลหนึ่งในสามสกุลนี้ คือ 

    (1) ความคิดที่เป็นสัญชาติญาณ (Instinct) ซึ่งจะมีมิชชั่นอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ มุ่งอยู่รอด (survival) กับมุ่งสืบพันธ์ (reproduction) ยกตัวอย่างเช่นความอิจฉานี่เป็นตัวอย่างของสัญชาติญาณที่มุ่งอยู่รอด เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฝูง หากเห็นคนอื่นได้รับการยอมรับมากกว่าเราๆก็กลัวว่าเราจะไม่ปลอดภัยเท่าเดิมเพราะจะได้รับการยอมรับจากฝูงลดลงจากเดิม ความรักในวัยหนุ่มสาวนี่ก็เป็นสัญชาติญาณของการสืบพันธ์ เป็นต้น ความคิดที่เป็นสัญชาติญาณนี้มีธรรมชาติมาแรง บางครั้งก็ต้านอยู่ บางครั้งก็ต้านไม่อยู่ แต่ต้านอยู่ไม่อยู่ไม่สำคัญ สำคัญที่ขอให้เรารู้ว่าที่กำลังมาแรงๆอยู่นี้เป็นความคิดที่ชงขึ้นมาโดยสัญชาติญาณ ไม่ใช่เป็นตัวเราซึ่งเป็นผู้สังเกตเห็นมัน

    (2) ความคิดที่เป็นเชาว์ปัญญา (Intellect) ซึ่งเกิดจากการได้เรียนรู้ตรรกะ คอนเซ็พท์ ต่างๆที่สื่อกันได้ด้วยภาษาพูด คอนเซ็พท์มีข้อดีที่จะชักนำเราไปทางที่จะทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นเขาได้ แต่ก็มีข้อเสียที่บางครั้งการไปยึดมั่นกับคอนเซ็พท์หรือตรรกะใดๆมากเกินไปก็พาให้ทุกข์ เพราะคอนเซ็พท์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ ยกตัวอย่างเช่น ศาสนานี่ก็เป็นคอนเซ็พท์ที่มนุษย์คิดขึ้น วิทยาศาสตร์ก็เป็นคอนเซ็พท์ที่มนุษย์คิดขึ้น จึงเป็นสิ่งสมมุติที่ล้วนมีธรรมชาติว่าไม่ใช่ของจริงที่จะดำรงอยู่อย่างถาวร และตัวคอนเซ็พท์เองก็มีธรรมชาติจะเปลี่ยนตัวเองไปเมื่อมนุษย์ผู้ยึดกุมคอนเซ็พท์นั้นเปลี่ยนคนไป

    (3) ความคิดที่เป็นปัญญาญาณ (Intuition) หมายถึงความคิดแบบรู้แจ้งขึ้นมาเองโดยไม่ได้เรียนรู้ด้วยเชาวน์ปัญญามาก่อน เป็นข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ในสนามแล้วได้จังหวะก็ "ผลุบ" เข้ามาในใจของเรา ซึ่งมักเป็นความคิดที่จ๊าบและใช้ประโยชน์ได้พอดี ทุกคนเคยมีความคิดแบบนี้ แต่น้อยคนนักที่จะมีใจว่างมากพอที่จะรับรู้ความคิดแบบนี้ได้เต็มๆถึงขั้นเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะใจมันมัวแต่ไปขลุกอยู่ในความคิดสองแบบข้างต้นเสียเป็นส่วนใหญ่

    ทุกครั้งที่ความคิดโผล่ขึ้นมา ให้เตือนตัวเองว่า (1) ความคิดไม่ใช่เรา (2) ดูมันหน่อยซิว่ามันเป็นความคิดสกุลไหน (3) อย่าผลีผลามตามความคิดไป หัดยั้งไว้นิดหนึ่งเสมอ รอให้รู้ตัวอย่างแจ่มชัดก่อนว่ากำลังมีความคิดนี้โผล่มานะ จะเอายังไงกับมันดี แล้วก็ค่อยตอบสนองไปอย่างรู้ตัวมีสติ

    ทฤษฎีหมาจนตรอกของคุณเป็นการมองชีวิตว่าเป็นเรื่องราวในมิติของเวลา อดีต-ปัจจุบัน- อนาคต แต่ถ้าคุณเปลี่ยนมุมมองทั้งสามเรื่องข้างบนเสียใหม่ตามที่ผมแนะนำ ชีวิตก็จะมีแต่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เหลือแต่ว่าจะเข้าถึงประสบการณ์ที่ตรงหน้านี้ให้ลึกซึ้งได้อย่างไร ชีวิตจะกลายเป็นความมหัศจรรย์ (wonder) เพราะมุมมองของผู้สังเกตนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่ามุมมองอันคับแคบของความคิดเชิงตรรกะหรือสัญชาติญาณที่เราคุ้นเคยมากนัก อีกอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปห่วงร่างกายของคุณ มันเป็นส่วนหนึ่งของสนามข้อมูลของจักรวาลนี้ มันเยียวยาตัวมันเองได้ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสิ่งรอบตัว ขอแค่คุณใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติและอย่าเอาความคิดลบของคุณไปฉุดมันให้ขยับตัวยากแค่นั้นแหละ

    ลองเปลี่ยนมุมมองดูนะครับ จากนี้หลายเดือนผ่านไป ชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าว่างก็ช่วยเล่าให้ฟังอีก


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

หมอสันต์กราบขออภัย และขอเปิดรับสมัคร์แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY 33) ใหม่

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)