เรียนคุณหมอสันต์
พอดีผมอ่านเวปบล็อค ของคุณหมอมาครับ ผมมีปัญหาไขมันสูง รู้สึุกวูบตอนออกจากเล่นกีฬาตอนพักใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ชา ตะคริว มือเท้าเย็น ตอนนี้ผมอายุ 41 ครับ ไปฉีดสีแล้วพบว่าเส้นเลือดตีบคุณหมอเลยแนะนำให้ทำบอลลูนครับ ผมมีเรื่องยากปรึกษาคุณหมอครับเรื่องเกี่ยวกับการทำบอลลูน พอดีผมมีผลข้างเคียงของการทำมา ครับ ผมทำมาได้ 7 วันตีบไปสองเส้น อาการหลังทำวันที่ 3-5 มีอาการความดันขึ้นลงใจสั้น มือเท้าเย็น กล้ามเนื้อกระตุก และ หายใจไม่ปกติเหมือนก่อนครับ จนต้องเข้าแอดมิทดูอาการอีกรอบ1 คืน อาการเป็นๆหาย จนอาการดีขึ้นเมื่อวัน 5 ตอนอยู่บ้านครับ ผมอ่านเวปของคุณหมอ ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะครับ อาการ ณ ตอนนี้ หลังทำผ่านไป 6 วันอาการใจสั่นไม่เป็นจังหวะความดันสวิงหายไปครับ แต่ยังมีอาการของการเจ็บหน้าอกใจสั่น 1-2 ครั้ง บางครั้งไอรวมด้วย บางครั้งมีอาการเรอ เมื่อเราหายใจลึกหรือออกแรงครับ ตอนผมพิมพ์ส่งเมล์ถามคุณหมอก็มีอาการครับ
ไม่ทราบว่ามีคนไข้ของคุณหมอเป็นเหมือนผมไหมครับ ขอบพระคุณๆหมอ สันต์ ใจยอดศิลป์ มากๆครับ
...................................
ตอบครับ
1. ถามว่าไปทำบอลลูนมาแล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ไอ คนอื่นเขาเป็นแบบนี้บ้างไหม ตอบว่าทั้งหมดที่คุณเล่ามานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคนอื่นเขาก็เป็นกันบ้าง กล่าวคือ
1.1 อาการเจ็บหน้าอกหลังทำบอลลูน (post PCI chest pain - PPCP) พบว่าเกิดได้ 41.9%
1.2 อาการใจสั่นที่เกิดจากการเต้นผิดปกติของหัวใจชนิดรุนแรง (VT หรือ VF) ซึ่งหากไม่รักษาจะถึงตายได้ พบประมาณ 8.9% นี่ไม่นับใจสั่นแบบไร้สาระเช่นโรค ปสด. ซึ่งพบแทบจะทุกรายหลังทำบอลลูน
2. ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ต้องสืบค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการหลังการทำบอลลูนนั้น เช่นอาการเจ็บหน้าอกก็ต้องประเมินว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือดของเก่าค้างหรือของใหม่จากลิ่มเลือดอุดตันขดลวดไหม หรืออาการใจสั่นก็ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำดูใหม่บ่อยๆครั้งว่ามันเป็นการเต้นผิดปกติชนิดไหน ซึ่งควรต้องทำโดยหมอที่เขาทำบอลลูนให้ จะถามหมอสันต์ทางไปรษณีย์ว่าทำไงต่อดีหมอสันต์คงตอบไม่ได้เพราะข้อมูลรายละเอียดของตัวคุณผมไม่มี ผมจะมีรายละเอียดและแนะนำแผนการรักษาขั้นละเอียดได้ก็เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) เท่านั้นเพราะได้เห็นตัว ได้ตรวจร่างกาย ได้ตรวจหลักฐานทั้งหมดอย่างละเอียด ดังนั้น สำหรับของผมแนะนำให้เกาะติดปรึกษากับหมอที่เขาทำบอลลูนให้ ก่อนไปพบหมอให้จดข้อสงสัยหรือเรื่องที่ไม่สบายใจไปถามเป็นข้อๆทุกครั้งที่พบกันจะได้ไม่ลืม หารือและตัดสินใจร่วมกับหมอว่าจะทำอย่างไรต่อไป
3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่หมอสันต์แถมให้ เผื่อคนที่กำลังจะทำบอลลูนจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจ ว่าการทำบอลลูนนั้นมันไม่ใช่ทำแล้วจบเลย มันมีประเด็นที่ต้องตระหนักดังนี้
3.1 มันมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ที่ถึงตายก็มี 0.5-2.5% ที่คางเหลืองคือไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตก็มีสารพัดแบบ สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทางหัวใจ หรือทางไต เป็นต้น
3.2 มันต้องกินยาไปตลอดชีวิต อย่างน้อยยาต้านเกล็ดเลือดก็ต้องกินไปตลอดชีวิต ไม่กินก็จะเกิดความเสี่ยงจากการมีขดลวดอยู่ในหลอดเลือดไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น
3.3 ขดลวดหรือ stent นี้หมอเขารับจ้างเอาใส่เข้าไปอย่างเดียว เขาไม่รับจ้างเอาออก เอาใส่แล้ว หากไม่ชอบใจ จะเอาออกนั้นเป็นไปไม่ได้
3.4 หลังการทำบอลลูนแล้วชีวิตจะถูกบังคับให้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ต้องไปพบหมอทุกระยะจะถี่กี่เดือนก็แล้วแต่หมอจะนัด จะต้องมีการปรับยาเพิ่มยาลดยากันเรื่อยไป ส่วนใหญ่จะเป็นไปทางเพิ่มมากกว่าทางลด
3.5 เป็นข้อสำคัญที่สุด คือบอลลูนไม่ใช่วิธีรักษาโรคหัวใจขาดเลือดให้หาย เป็นแค่วิธีบรรเทาอาการของโรค คืออาการเจ็บหน้าอก ส่วนโรคนั้นจะดำเนินรุดหน้าต่อไป การจะทำให้โรคหาย ต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต อันได้แก่เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (โดยเฉพาะเนื้อสัตว์) ต่ำ มีแคลอรี่ต่ำ มีกาก (คือพืช) มาก เปลี่ยนนิสัยการออกกำลังกายและการจัดการความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีใครมาทำให้ ตัวเราต้องทำเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Chang CC, Chen YC, Ong ET, Chen WC, Chang CH, Chen KJ, Chiang CW. Chest pain after percutaneous coronary intervention in patients with stable angina. Clin Interv Aging. 2016 Aug 18;11:1123-8. doi: 10.2147/CIA.S103605. PMID: 27574412; PMCID: PMC4993255.
2. Rymer JA, Wegermann ZK, Wang TY, et al. Ventricular Arrhythmias After Primary Percutaneous Coronary Intervention for STEMI. JAMA Netw Open. 2024;7(5):e2410288. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.10288
...........................