กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

 คุณหมอครับ

 ผมเป็นFC มานานมาก ผมเองทานคีโตมา5 ปี แต่ 2 ปี หลัง ผมทาน low carb  อยู่ดี ผมเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เพิ่งไปทำ สวนหัวใจ เมื่อ 16 กย 67 เอง ยังเหลือ ตีบอีก 2 เส้น 1 เส้น 95 % 2 เส้น 80 % ตอนนี้ ผมเริ่มกลับ ทานคีโตเข้มข้น ตัด carbs ทั้งหมด
ทานแต่ ผัก เบอรรี่ กรีกโยเกิร์ต ไข่ต้ม ไก่ต้ม อโวคาโด ทานFish oil K2 Magnesium glycenate Q10 ทอรีน Metformin 500 2 เม็ด อยากขอคำแนะนำ อาจารย์ว่า จะช่วยให้เส้นเลือดลดตีบแคบลงไหม 
ขอบคุณมากครับ
ตะไครั กับใบแมงลัก


....................................................

ตอบครับ

    ป้าด..ด FC ของหมอสันต์เนี่ยช่างมีความหลากหลายทางชีวภาพเสียจริ๊ง..ง ที่กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มติดต่อกันหลายปีจนหลอดเลือดหัวใจตีบไปเลยก็มี เห็นแมะ (หิ..หิ พูดเล่นนะ อย่าซีเรียส) 

ผมจะตอบคำถามของคุณแบบตั้งประเด็นขึ้นมาให้คุณและท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องไปทีละเปลาะๆนะ 

    1. ถามว่าอาหารคีโตแบบคลาสสิกก็ดี อาหารโลว์คาร์บแบบคลาสสิกก็ดี ซึ่งกินเนื้อสัตว์กันเป็นล่ำเป็นสัน มีความสัมพันธ์กับการทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นไหม ตอบว่ามีนะครับ มีงานวิจัยจากข้อมูลความจริงในคนจำนวน 771 609 คน ที่ยืนยันได้ว่าอาหารกลุ่มโลว์คาร์บซึ่งบริโภคไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์มากสัมพันธ์กับการมีไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงขึ้น และตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น หากกินอาหารแบบนี้ติดต่อกันไปนานประมาณ 5 ปีขึ้นไป ดังนั้นหมอสันต์จึงมักย้ำนักย้ำหนาว่าใครก็ตามที่ลดน้ำหนักด้วยอาหารคีโตแบบคลาสสิก (กินเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์มาก) อย่ากินนาน พอน้ำหนักลดลงพองามแล้วก็ควรเปลี่ยนมาเป็นอาหารแบบได้ดุล (balanced diet) หรืออาหารพืชเป็นหลัก (plant-based diet) จะดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า

    2. ถามว่าการที่ไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงขึ้นในคนกินอาหารคีโตและโลว์คาร์บ สัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดไหม ตอบว่าสัมพันธ์แน่นอนซิครับ ในบรรดาตัวชี้วัดเกี่ยวกับไขมันที่วงการแพทย์โรคหัวใจให้น้ำยาอยู่ทุกวันนี้ LDL เป็นตัวเดียวที่วงการแพทย์ถือว่ามีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดอย่างแน่นอนมั่นคงที่สุด และพันธกิจของหมอโรคหัวใจทุกวันนี้ก็แทบจะมีอย่างเดียว คือลด LDL ลงให้ได้ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาให้ได้ด้วยกล

    สาวกอาหารคีโตมักชู "ข้อสันนิษฐาน" ปลอบใจกันเองว่า LDL สูงไม่เป็นไร ไม่มีนัยสำคัญ มันต้องไปดูให้ลึกลงไปถึง LDL(p) และ Apoprotein B จึงจะมีนัยสำคัญ ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ไม่ตรงกับหลักฐานวิจัยที่ยืนยันความสัมพันธ์มั่นคงรหว่าง LDL กับการเป็นโรค ส่วนประเด็น LDL(p) และ Apoprotein B นั้น มันเป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์กับโรคที่แม่นยำกว่า LDL ก็จริง แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างที่จะตะบันทำให้ LDL ของตัวเองสูงด้วยการกินอาหารทั้งๆที่รู้ๆอยู่ว่ามันจะทำให้ LDL สูง โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า LDL(p) กับ Apoprotein B ของตัวเองนั้นค่าจริงเป็นเท่าไหร่ เพราะสองค่านี้ไม่ได้เจาะกันในโรงพยาบาลทั่วไป และงานวิจัยในภาพรวมก็พบว่าคนที่ LDL(p) และ Apoprotein B สูง ค่า LDL ก็สูงตามกันไปด้วยเสียเกือบทั้งหมด (75%) มีส่วนน้อยที่ค่าจะเขย่งกัน  

    3. ถามว่าอ้าวแบบนี้ก็มาเหมาว่าอาหารไขมันเป็นของไม่ดีสิ ตอบว่าเปล่า ผมไม่ได้พูดอย่างนั้น อาหารไขมันมีสองแบบใหญ่ๆซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มไขมันเลวในเลือดต่างกัน คือ 

    3.1 ไขมันอิ่มตัว ซึ่งได้มาจากอาหารเนื้อสัตว์รวมทั้งเนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา เป็นไขมันที่เพิ่ม LDL ในเลือดได้มากและสัมพันธ์กับการเป็นโรคมาก

    3.2 ไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งได้มาจากอาหารพืชเช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด ทุเรียน เป็นไขมันที่เพิ่ม LDL ในเลือดได้น้อยกว่า และสัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อยกว่า

    ดังนั้นสำหรับผู้กินอาหารแบบได้ดุล หรือ balanced diet คือมุ่งเอาแคลอรีจากอาหารทุกส่วนคือโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เท่าๆกัน ผมแนะนำให้กินไขมันไม่อิ่มตัวจากอาหารไขมันตามธรรมชาติเช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด ทุเรียน แทนการกินเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด

    4. ถามว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตมันเลวจริงหรือ คนถึงนิยมไปกินอาหารโลว์คาร์บกันหมด ตอบว่า อาหารคาร์โบไฮเดรตหากเป็นชนิดไม่มีกาก เช่น น้ำตาล ธัญพืชขัดสี เป็นอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ประเด็นหลักก็เพราะมันไม่มีกาก แต่อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดที่อุดมกาก เช่นพวกหัวใต้ดิน และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ความรู้ปัจจุบันนี้แน่ชัดแล้วว่ากากเป็นประเด็นสำคัญของอาหารคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นอย่าอ้างว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตเลวตะพึดเพื่อจะได้หนีไปกินอาหารเนื้อสัตว์มากๆ ซึ่งการทำอย่างนั้นกลับจะทำให้เป็นโรคหลอดเลือดมากขึ้น

    สำหรับคนที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตแบบไม่มีกากอยู่มากๆเป็นอาจิณอยู่แล้วควรจะทำอย่างไร ตอบว่าก็มีให้เลือกสองทางคือ 

วิธีที่ 1. เปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเตรดแบบขัดสีเป็นแบบไม่ขัดสี เช่นเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง เปลี่ยนขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีตร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น 

วิธีที่ 2. เปลี่ยนคาร์บขัดสีเป็นอาหารไขมันธรรมชาติชนิดไม่อิ่มตัว เช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด ทุเรียน ซึ่งพวกหลังนี้บางครั้งเรียกว่าพวกคีโตวีแกน

       งานวิจัยชื่อ PREDIMET พบว่าเมื่อเปลี่ยนอาหารคาร์โบไฮเดรตแบบขัดสีเช่นขนมปังขาว ไปเป็นอาหารไขมันธรรมชาติแบบไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันมะกอก ถั่ว นัท อะโวกาโด แล้วพบว่ากลุ่มที่เปลี่ยนจากคาร์บขัดสีไปเป็นไขมันไม่อิ่มตัว มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มที่กินคาร์บขัดสี

    5. ถามว่าแล้ว กรีกโยเกิร์ต ไข่ต้ม ไก่ต้ม อโวคาโด ทานFish oil K2 Magnesium glycenate Q10 ทอรีน Metformin 500 2 เม็ด มันจะช่วยให้หลอดเลือดที่ตีบแล้วโล่งขึ้นได้ไหม ตอบว่าในบรรดาอาหารที่คุณบอกมา ผมแยกได้เป็นสามกลุ่ม คือ
 
    5.1 กรีกโยเกิร์ต ซึ่งเป็น probiotic มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคน้อยลง ทั้งนี้ไม่เกี่ยงว่าโยเกิร์ตนั้นจะทำจากนมวัว นมควาย นมถั่วเหลือง ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นโยเกร์ต ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณควรกินโยเกิร์ต มากๆ และอะโวกาโดซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวก็เป็นแหล่งพลังงานที่ดีให้คุณได้ คุณควรกินต่อไป หรือกินให้มากขึ้นกรณีคุณลดเนื้อสัตว์ลง เพื่อจะได้แคลอรีพอใช้

    5.2 ไข่ต้ม ไก่ต้ม เป็นอาหารไขมันอิ่มตัว ซึ่งเพิ่มระดับ LDL ในเลือด และสัมพันธ์กับการเป็นโรคมากขึ้น คุณควรกินแต่น้อยๆหรือเลิกกินซะ หันไปพึ่งแหล่งแคลอรีจากไขมันจากพืชธรรมชาติ เช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด ทุเรียน หรือธัญพืชไม่ขัดสีแทน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเลิกกินโลว์คาร์บมากินคาร์บไม่ขัดสีแทน

    กรณีไข่ต้มนี้ มันเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงชนิดหนึ่ง จึงไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนเป็นโรคไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวานอยู่แล้ว ในงานวิจัยของฮาร์วาร์ดที่สรุปได้ว่ากินไข่มากหรือน้อยกว่าวันละฟองล้วนเป็นโรคและตายไม่ต่างกันนั้น ข้อสรุปนั้นไม่นับรวมคนเป็นโรคไขมันสูงและเป็นเบาหวานนะครับ แต่หากคุณชอบกินไข่จริงๆ หากกินวันละไม่เกินหนึ่งฟองก็น่าจะโออยู่ เพราะหากถือเอาตามงานวิจัยเมตาอานาไลซีสที่รวมรวมครั้งใหม่ล่าสุดที่เพิ่มพิมพ์ใน BMJ เมื่อปี 2020 ซึ่งรวมเอาข้อมูลวิจัยเก่าของฮาร์วาร์ดมาวิเคราะห์ด้วย เขาสรุปได้ว่ากินไข่ไม่เกินวันละฟองไม่มีผลเสียอะไรต่อโรคหัวใจหลอดเลือด ยิ่งเป็นคนเชื้อสายเอเซียยิ่งมีผลน้อย  

    5.3 Fish oil, วิตามิน K2, Magnesium glycenate, Co Q10, ทอรีน, Metformin 500 2 เม็ด ในแง่ของโรคหลอดเลือด ทั้งหมดนั้นเป็นยาผีบอก คุณอยากกินก็กินได้ไม่มีใครว่าอะไรหรอก ตัวผมนั้นไม่ว่าอะไรคุณแน่นอนเพราะเพื่อนผมทำวิตามินขาย แต่หลักฐานที่จะบ่งชี้ว่ามันลดการเป็นโรคหลอดเลือดได้นั้นไม่มี ตัวน้ำมันปลา (fish oil) ซึ่งเป็นไขมันโอเมก้า 3 (ไขมันไม่อิ่มตัว) นั้น ครั้งหนึ่งวงการแพทย์เคยเคารพนับถือว่าลดโรคหัวใจได้ แต่พอมีหลักฐานใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อนั้นก็คลอนแคลนไปกลายเป็นเรื่องระดับที่ยังโต้แย้งกันอยู่ (controversy)

    6. สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดจนถูกหามเข้าโรงพยาบาลไปเรียบร้อยแล้วอย่างคุณนี้ การจะทำให้โรคถอยกลับ ทำให้รอยตีบกลับโล่งขึ้นก็มีหลักฐานวิจัยว่าทำได้อยู่นะ โดยการเปลี่ยนมากินอาหาร plant-based เข้มงวด คือกินแต่พืช ไม่กินเนื้อสัตว์เลย ซึ่งสมัยที่ตัวผมเองเป็นโรคนี้เมื่ออายุ 55 ปีก็กินอาหารแบบนี้อยู่นานตั้งสิบกว่าปี แต่ตอนนี้ลดสะเป๊คลงมากินเจเขี่ยแทน เพื่อให้ชีวิตมันง่ายขึ้น     

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    1. Qin P, Suo X, Chen S, Huang C, Wen W, Lin X, Hu D, Bo Y. Low-carbohydrate diet and risk of cardiovascular disease, cardiovascular and all-cause mortality: a systematic review and meta-analysis of cohort studies. Food Funct. 2023 Oct 2;14(19):8678-8691. doi: 10.1039/d3fo01374j. PMID: 37701967.
    2. Guasch-Ferré M, Salas-Salvadó J, Ros E, Estruch R, Corella D, Fitó M, Martínez-González MA; PREDIMED Investigators. The PREDIMED trial, Mediterranean diet and health outcomes: How strong is the evidence? Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2017 Jul;27(7):624-632. doi: 10.1016/j.numecd.2017.05.004. Epub 2017 Jun 10. PMID: 28684083.
    3. Ornish D, Scherwitz LW, Billings JH, Brown SE, Gould KL, Merritt TA, Sparler S, Armstrong WT, Ports TA, Kirkeeide RL, Hogeboom C, Brand RJ. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA. 1998 Dec 16;280(23):2001-7. doi: 10.1001/jama.280.23.2001. Erratum in: JAMA 1999 Apr 21;281(15):1380. PMID: 9863851.
    4. Drouin-Chartier JP, Chen S, Li Y, Schwab AL, Stampfer MJ, Sacks FM, Rosner B, Willett WC, Hu FB, Bhupathiraju SN. Egg consumption and risk of cardiovascular disease: three large prospective US cohort studies, systematic review, and updated meta-analysis. BMJ. 2020 Mar 4;368:m513. doi: 10.1136/bmj.m513. PMID: 32132002; PMCID: PMC7190072.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67