การออกกำลังกายกับความดันลูกตาคนเป็นต้อหิน
(ภาพวันนี้: รุ่งอรุณหน้าบ้าน)
เรียนคุณหมอสันต์
ตามที่คุณหมอเคยออกคลิปสอนการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ ใน https://youtu.be/8rvIMKpDM1I ดิฉัน อายุ 67ปี ได้ทำตามคลิป ทุกท่า ยกเว้น ท่าปลาดุก (เพราะทำไม่ไหวค่ะ) โดยทำมา 5~6 เดือนค่ะ
ปกติดิฉันมีความดันตาปริ่มๆจะเป็นต้อหิน ค่าความดันตา 19~21 มม ปรอท คุณหมอตานัดให้ตรวจตาปีละ 1 ครั้ง พอดีเมื่อวานพาพี่สาวไปหาหมอตา เนื่องจากมีปัญหาโรคตา ดิฉันจึงขอตรวจความดันตาตัวเองโดยไม่ได้พบแพทย์ พบว่า ค่าความดันตาขึ้นเป็น 23, 24 (ตาซ้าย/ตาขวา) รู้สึกตกใจ ว่าทำไมขึ้น เมื่อได้ค้นข้อมูล พบว่า ท่าออกกำลังกายบางท่าอาจส่ว่างผลเพิ่มต่อความดันตาได้ ดิฉันจึงต้องรบกวนขอคุณหมอช่วยกรุณาพิจารณา ให้เป็นกรณีพิเศษ ว่าท่าใดในคลิป ที่อาจเพิ่มความดันตา จะได้หลีกเลี่ยงท่านั่นค่ะ ดิฉันบริหารสม่ำเสมอตามคลิปนี้ของคุณหมอสันต์ คือทุก 2 วันค่ะ รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำค่ะ เพราะอยากแข็งแรงค่ะ
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะกรุณาช่วยตอบคำถามนี้ค่ะ
………………………………………………………
ตอบครับ
1.. ถามว่าการออกกำลังกายสัมพันธ์กับการเพิ่มหรือลดความดันลูกตาอย่างไร ตอบว่างานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายสัมพันธ์กับการลดความดันในลูกตานะไม่ใช่เพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ความสัมพันธ์นี้แปรผันตามขนาด หมายความว่ายิ่งออกกำลังกายในขนาดสูงยิ่งลดความดันในลูกตาได้มาก
2.. ถามว่าความดันในลูกตามีความสัมพันธ์กับท่าร่างของคนเราไหม ตอบว่าสัมพันธ์แน่นอนครับ มันก็เหมือนความดันเลือดนั่นแหละ สำหรับความดันในลูกตางานวิจัยพบว่าความดันในลูกตาจะขึ้นถ้าทำท่า (1) เบ่งเหมือนเบ่งอึ (valsava maneuver) แต่พอหายเบ่งมันก็ลง (2) เมื่อออกแรงใช้กล้ามเนื้อมากๆ แต่พอหยุดใช้กล้ามเนื้อมันก็ลง (3) เมื่อเบ่งหายใจออกขณะใช้งวงช้าง (CPAP) ในคนเป็นโรคนอนกรน
3.. ถามว่าท่าออกกำลังกายของหมอสันต์มีท่าไหนที่ทำให้ความดันลูกตาขึ้นบ้าง ตอบว่าโห..หมอสันต์จะรู้ไหมเนี่ย เพราะไม่มีใครมาทำวิจัยให้ เอาเป็นว่าสำหรับคนที่เป็นต้อหิน ให้คุณใช้ผลวิจัยเก่าๆที่ฝรั่งทำไว้มาประยุกต์ใช้ก็แล้วกันว่าเวลาทำท่าตามหมอสันต์คุณอย่าไปเบ่ง อย่าไปกลั้น ถ้ามันจะออกก็ปล่อยมันออกไป (หิ หิ) และอย่าไปออกแรงตูมเดียวมากๆ ออกแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นให้ได้เคลื่อนไหวพิสัยข้อมากกว่าเน้นการใช้แรงงานกล้ามเนื้อแบบหนักๆแรงๆ
4.. อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นต้อหินผมก็ยังแนะนำให้คุณออกกำลังกายด้วยวิธีตามที่ผมบอกในข้อ 3 เพราะมีข้อมูลวิจัยชิ้นอื่นๆอีกว่าคนแก่ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอเคลื่อนไหวปร๋อไปปร๋อมาได้ดีจะมีความดันลูกตาต่ำกว่าและเป็นต้อหินน้อยกว่ากว่าคนแก่ที่สะง็อกสะแง็กเคลื่อนไหวลำบากและไม่ได้ออกกำลังกาย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
1.. Harris A, Malinovsky V, Martin B. Correlates of acute exercise-induced ocular hypotension. Invest Ophthalmol Vis Sci. 1994; 35: 3852–3957.2.
2..Conte M, Baldin AD, Russo MR, et al. Effects of high-intensity interval vs. continuous moderate exercise on intraocular pressure. Int J Sports Med. 2014; 35: 874–878.3.
3..Qureshi IA. Effects of mild, moderate and severe exercise on intraocular pressure of sedentary subjects. Ann Hum Biol. 1995; 22: 545–553.4.
4..Avunduk AM, Yilmaz B, Sahin N, et al. Comparison of intraocular pressure reductions after isometric and isokinetic exercises in normal individuals. Ophthalmologica. 1999; 213: 290–294.
7. Krist D., Cursiefen C., Junemann A. Transitory intrathoracic and abdominal pressure elevation in the history of 64 patients with normal pressure glaucoma. Klin Monbl Augenheilkd. 2001;218:209–213.
8. Kiekens S., De Groot V., Coeckelbergh T. Continuous positive airway pressure therapy is associated with an increase in intraocular pressure in obstructive sleep apnea. Invest Ophthalmol Vis Sci. 2008;49:934–940.