ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานเร่งมากเกินไปมีลักษณะเป็นอย่างไร
(ภาพวันนี้: หน้าห้องแถวตลาดมวกเหล็ก ดูให้ดีมีทั้งดอกจริงดอกปลอม)
คุณหมอสันต์ครับ
ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากไปมีลักษณะเป็นอย่างไรครับ มีความสัมพันธ์กับโรคแพนิก หรือโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ครับ
…………………………………………………………………….
ตอบครับ
1.. ถามว่าระบบประสาทอัตโนมัติทำงานเร่งมากเกินไปคืออะไร ต้องตอบเป็นประเด็นย่อยสี่ประเด็น คือ
1.1 ระบบประสาทอัตโนมัติคืออะไร ร่างกายเรานี้แบ่งเป็น 12 ระบบ ระบบประสาทเป็นระบบหนึ่ง ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนย่อยคือระบบประสาทกลางที่เราควบคุมสั่งการได้ กับระบบประสาทระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งหมดของร่างกายโดยเราสั่งการหรือควบคุมเอาอย่างใจเราไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ทำงานผ่านจิตสำนึกรับรู้หรือการสั่งการจากสมอง
1.2 ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานอย่างไร มันทำงานด้วยวงจรสนองตอบอัตโนมัติ (reflex) ซี่งรับสัญญาณเข้ามาทางประสาทรับรู้ (sensory) แล้วสั่งการออกไปทางปลายประสาทเคลื่อนไหว (motor) อย่างเป็นอัตโนมัติ
ตัวอย่างวงจรที่ง่ายที่สุดก็เช่นวงจรการเตะเท้าเมื่อถูกเคาะเอ็นหัวเข่าซึ่งมีกลไกการทำงานว่าเมื่อถูกเคาะเอ็นหัวเข่า ปลายประสาทรับรู้การยืดตัวของเอ็นจะส่งไฟฟ้ารายงานเข้าตามเซลล์ประสาทตัวที่หนึ่ง มายังแกนประสาทสันหลังแล้วปล่อยไฟฟ้านั้นให้เซลล์ประสาทตัวที่สองซึ่งจะทำไฟฟ้าไปสั่งให้กล้ามเนื้อหน้าขาหดตัว ทั้งหมดนี้เกิดโดยอัตโนมัติไม่ต้องให้สมองสั่ง วงจรแบบนี้มีไม่รู้กี่ล้านวงจรในร่างกาย วงการแพทย์ยังรู้จักแค่ส่วนน้อย ระบบนี้ควบคุมการทำงานอวัยวะทุกอวัยวะผ่านการเชื่อมต่อกันของเส้นประสาทอย่างซับซ้อน
วงจรสนองตอบอัตโนมัติที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกจะรวมเอาความจำและความคิดเข้าพ่วงเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วย ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยดูการเกิดน้ำลายไหล (ซึ่งคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ) ทดลองให้สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งก่อนให้อาหาร นานเข้าสุนัขนั้นจะเกิดน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งทั้งๆที่ไม่ได้กลิ่นไม่เห็นอาหาร ทั้งนี้เป็นเพราะความจำของมันได้ถูกพ่วงเป็นส่วนหนึ่งของวงจรสนองตอบอัตโนมัตินี้
กลไกที่ผสมเอาความจำเข้าไปเป็นส่วนของวงจรอัตโนมัติแบบนี้ทำให้ความจำชงความคิดขึ้นมาเองแบบอัตโนมัติไม่เชื่อฟังใคร (compulsive) และความคิดเมื่อเกิดแล้วก็มีธรรมชาติจะเกิดอีกแบบเดิมๆซ้ำๆ (obsessive) ทำให้ความคิดอยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆของจิตสำนึกรับรู้
1.3 ขาเร่งกับขาหน่วงของระบบประสาทอัตโนมัติเป็นอย่างไร ระบบประสาทอัตโนมัติมีหน้าที่หลักคือเตรียมร่างกายให้พร้อมเมื่อเกิดภาวะคุกคาม (stress) ทั้งระบบผูกโยงเป็นระบบใหญ่ที่มีสองส่วน คือซีกเร่ง (sympathetic) เรียกสั้นๆว่าซิม และซีกหน่วง (parasympathetic) เรียกสั้นๆว่าพาราซิม ทั้งสองส่วนนี้ทำให้อวัยวะทุกอวัยวะทำงานอย่างได้ดุลกัน ยามใดที่มีสิ่งคุกคาม ส่วนเร่งก็จะทำงานมากกว่า ยามใดที่ปลอดโปร่งไร้สิ่งคุกคาม ส่วนหน่วงก็จะทำงานมากกว่า
1.4 เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในขาเร่งนานๆ จะเกิดอะไรขึ้น ในกรณีความเครียดระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีสิ่งคุกคามเช่นมีสัตว์ร้ายตรงเข้ามาจะทำร้าย ระบบซีกเร่งจะทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ส่งเลือดมากขึ้น หายใจเร็วขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนมากขึ้น หลอดเลือดหดตัวเพื่อเพิ่มความดันเลือด ฮอร์โมนเครียด (cortisol) ถูกปล่อยออกมามากขึ้น ทำให้มีความตื่นตัว มีการกักเกลือไว้ในเลือด เพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นพร้อมใช้เป็นพลังงาน เลือดแข็งตัวง่ายขึ้นพร้อมสำหรับการเกิดเลือดตกยางออก ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการจะสู้ หรือจะหนี ในขณะที่ระบบซีกเร่งทำงานมากขึ้น ระบบของร่างกายที่ไม่สำคัญต่อการอยู่รอดฉุกเฉินจะถูกปิดหรือลดการใช้งานลงเพื่อสงวนทรัพยากร เช่นปิดหรือหน่วงระบบภูมิคุ้มกันโรคเพื่อให้ระบบการแข็งตัวของเลือดทำงานได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ปิดระบบสืบพันธ์เพราะหน้าสิ่วหน้าขวานการสืบพันธ์ไม่สำคัญ ปิดระบบทางเดินอาหารเพราะในยามวิกฤติร่างกายมีระบบอาหารพร้อมใช้สำรองไว้ในตับเรียบร้อยแล้วไม่ต้องรอใช้อาหารที่กินเข้าไป
เมื่อสิ่งคุกคามนั้นผ่านไป ระบบประสาทอัตโนมัติก็จะกลับมาทำงานแบบสมดุลตามปกติ ดังนั้นความเครียดระยะสั้นไม่เคยก่อปัญหากับร่างกาย ดีเสียอีกทำให้ร่างกายได้รับการทดสอบความพร้อมเป็นพักๆ
แต่เนื่องจากสิ่งคุกคามในยุคปัจจุบันไม่ใช่สัตว์ร้ายในป่า กลับเป็นความคิดของเราเอง ระบบประสาทอัตโนมัติจำแนกไม่ได้ว่าความคิดไหนเป็นของจริงหรือไม่จริง จึงสนองตอบต่อความคิดลบซึ่งมีลักษณะเป็นสิ่งคุกคามไปในทางเร่งเหมือนกันหมด การที่ความคิดมีธรรมชาติเกิดขึ้นเองแบบบังคับไม่ได้และซ้ำซากวกวนยืดเยื้อเรื้อรัง นอกจากจะทำให้จิตใจกระวนกระวายไม่สงบแล้ว ยังทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานภายใต้บรรยากาศที่ถูกประเมินว่ามีภาวะคุกคามเรื้อรัง หรือเครียดเรื้อรัง จึงต้องอยู่ในขาเร่งเรื้อรัง
2.. ถามว่าการที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานในขาเร่งมากเกินไปมีความสำคัญกับโรคหัวใจขาดเลือดและโรคพานิก (panic disorder) หรือไม่ ตอบว่าสัมพันธ์กันแน่นอนครับ เพราะเมื่ออยู่ในขาเร่งมาก ระบบหัวใจหลอดเลือดก็ทำงานมากเกิน หลอดเลือดหดตัวมากเกิน ความดันสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น เลือดแข็งตัวเร็ว ยังไม่นับว่าจะมีการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามกันอีกด้วย อย่างน้อยประเด็นหลังนี้เราก็พิสูจน์ได้ในการวิจัยระยะยาวในลิง ในส่วนของโรคพานิกนั้น อาการของมันแทบแยกไม่ออกจากโรคหัวใจขาดเลือด เพราะมันเกิดจากกลไกเดียวกันคือระบบประสาทอัตโนมัติเร่งตัวเองนานเกินไปนั่นแหละ
3.. ถามว่าแล้วจะรักษาตัวเองให้รอดพ้นจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในขาเร่งมากเกินไปได้อย่างไร ตอบว่าก็ต้องสร้างดุลชีวิตขึ้นมาไม่ให้มีความคิดลบไปกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติตีความว่านี่คือภาวะคุกคามซ้ำซาก ดังนั้นหัวใจมันก็อยู่ที่การวางความคิดลบ มนุษย์เรารุ่นโบราณได้พัฒนาวิธีการที่ใช้ได้ผลดีมากไว้ให้แล้ว เราสามารถหยิบมาใช้ได้เลย งานวิจัยทางการแพทย์พบว่าวิธีปล่อยวางความคิดที่ได้ผลดีแน่นอนในการลดภาวะเครียดไม่ว่าจะวัดด้วยตัวชี้วัดไหนได้แก่ การทำสมาธิ (meditation) การฝึกโยคะ และการฝึกรำมวยจีน (Tai Chi – Gigong) ดังนั้น ฝึกทำทั้งสามอย่างนี้ได้เลย เป็นสิ่งดีแน่
ควบคู่กันไป ในการจะวางความคิดลบที่คุกคามเราลงให้ได้มากที่สุด จำเป็นต้องฝึกเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต (paradigm shift) จากเดิมที่มองออกมาจากมุมว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่งมีสถานะความเชื่อที่ต้องปกป้องหรือเชิดชู เปลี่ยนไปมองออกมาจากมุมว่าเรานี้แท้จริงแล้วเป็นความรู้ตัวที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องกับความคิด เป็นภาวะที่สงบเย็น ไม่ต้องพะวงว่าจะต้องปกป้องหรือเชิดชูอะไร
สรุปว่าทำสองอย่าง (1)วางความคิดด้วยสมาธิ/โยคะ/ไทชิ (2) เปลี่ยนมุมมองชีวิตจากการเป็นบุคคลคนนี้ไปเป็นความรู้ตัวที่ปราศผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความเป็นบุคคลคนนี้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Pavlov, I. P. (1928). Lectures on conditioned reflexes. (Translated by W.H. Gantt) London: Allen and Unwin. Pavlov, I. P. (1927).