ประกันบำนาญ ของจริงหรือของหลอก
(ภาพวันนี้: รัสเชียน เสจ ออกดอกมาต่อเนื่อง 3 เดือน)
เรียน คุณหมอที่เคารพรัก
ดิฉันอายุ 50 ปี ไม่ได้ทำงานแล้ว ไม่มีครอบครัว ไม่มีห่วงข้างหลัง เป็นห่วงแต่ตัวเอง มีเงินก้อนเดียว อยากวางให้ถูกที่ถูกทางค่ะ หวังให้ตัวเองมีเงินถึงวันตายเพื่อดูแลตัวเอง
สนใจประกันบำนาญค่ะ คิดเองว่าเป็นการได้เงินใช้หลัง 60 ปี จนถึง 85 ให้คล้ายบำนาญ จะเข้าไปศึกษาก็เกรงว่าเชื่อใครไม่ได้ ถามคนขายประกันก็ว่าดี ถามนักลงทุนก็ว่าไม่ดี
คุณหมอเป็นบุคคลที่ดิฉันเชื่อใจมากที่สุดค่ะ ขอความกรุณาคุณหมอให้คำแนะนำด้วยนะค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ส่งจาก iPhone ของฉัน
………………………………………………………………….
ตอบครับ
ขอบพระคุณที่เชื่อถือหมอสันต์ สมัยหนุ่มๆผมเคยเปรยให้เมียผมฟังบ่อยๆว่า
“คนไข้บางคนเนี่ย เชื่อหมอสันต์ยิ่งกว่าตัวหมอสันต์เองเสียอีก”
ผมพูดแบบนี้คุณไล่ตรรกะให้ดีก็ควรจะเข้าใจนะว่าหมอสันต์เชื่อถือได้แค่ไหน
ก่อนตอบคำถาม ขออธิบายท่านผู้อ่านทั่วไปที่เป็นแฟนบล็อกวัยทำงานค่อนไปทางอาวุโสไว้หน่อยว่าการประกันบำนาญคืออะไร มันเป็นรูปแบบการประกันชีวิตประกันภัยแบบหนึ่งที่กรมการประกันภัยอนุญาตให้นำออกขาย มันมีหลักการสำคัญว่า
(1) กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 หรือ 65 ปี ก็ได้ แล้วกำหนดอายุครบประกันที่ 85 หรือ 90 ปีก็ได้
(2) กำหนดวงเงินประกันไว้ เช่นสมมุติว่าวงเงิน 1 ล้าน แล้วผู้เอาประกันก็ทยอยจ่ายเบี้ยให้เขาไปทุกปี ดังนั้นต้องมีเวลาจ่ายเบี้ยอย่างน้อยสัก 10 ปีขึ้นไป สมมุติว่าคุณอายุ 50 จ่ายให้เขาปีละ 1 แสน สิบปีก็ครบ 1 ล้านพอดี ถึงตอนนั้นคุณอายุ 60 ปี จึงจะสิ้นสุดการชำระเบี้ย
(3) กำหนดการจ่ายสินไหมเป็นสามลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1. ถ้าขณะชำระเบี้ยไปยังอายุไม่ทันเกษียณก็เกิดตายเสียก่อน เขาคืนเงินที่จ่ายให้เขาไปทั้งหมดให้ทายาท (ไม่มีดอก)
ลักษณะที่ 2. ถ้าคุณอยู่ไปได้จนอายุครบเกษียณตามกรมธรรม เช่นครบ 60 ปี กฎหมายให้จ่ายสินไหมทดแทนในรูปของเงินบำนาญปีละ 12-15% ของวงเงินประกัน เป็นเวลาอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 15 ปี และอย่างสูงไม่เกินอายุครบประกัน (85 หรือ 90 ปี) แต่ถ้าเกษียณได้ไม่ทันถึง 15 ปีเกิดตายเสียก่อน เศษที่ยังไม่ครบ 15 ปี กฎหมายก็บังคับให้คิดเงินจ่ายคืนให้ทายาท
ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณซื้อกรมธรรมแบบจ่ายปีละ 15% ของวงเงินประกันคุณก็จะได้บำนาญปีละ 150,000 บาท ทุกปีจนอายุครบ 85 (หรือ 90 สำหรับบางบริษัท)
ลักษณะที่ 3. ถ้าคุณรับบำนาญไปจนอายุครบที่กรมธรรมกำหนด เช่น 85 ปีแล้วคุณยังไม่ตาย กฎหมายท่านว่าให้บริษัทประกันตัดหางปล่อยท่านได้ ไม่ต้องจ่ายบำนาญให้คุณอีกต่อไปแล้ว
เอาละ รู้จักประกันบำนาญกันดีแล้ว คราวนี้มาตอบคำถาม
1.. ถามว่าสินค้าตัวใหม่คือประกันบำนาญนี้ มันเป็นของจริงหรือของหลอก เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ ตอบว่ามันเป็นของจริง เชื่อได้ เพราะเมืองไทยนี้มีกฎหมายคุ้มครองโดยกรมการประกันภัย บริษัทผู้ขายประกันต้องมีเงินสำรองจ่ายสินไหมให้คุณฝากไว้กับกรม และชั่วดีถี่หากถ้าบริษัทเจ๊งไป กรมการประกันภัยก็จะเอาเงินก้อนนั้นออกมาจ่ายสินไหมให้คุณจนจบสัญญาประกันภัย
2.. ถามว่าการซื้อประกับบำนาญดีหรือไม่ดี ตอบว่าสินค้าทุกตัวมีทั้งข้อดีข้อเสีย
ข้อดีของประกันบำนาญ คือ
(1) ถ้าคุณมีรายได้ต้องเสียภาษีมากทุกปี เบี้ยประกันเอาไปลดภาษีได้
(2) ถ้าคุณอายุยืนเกิน 75 ปี คุณได้กำไรแหงๆ เพราะช่วงอายุ 75-85 ปีเป็นช่วงลุ้นว่าใครจะได้จะเสีย ถ้าคุณยังอยู่คุณได้ ถ้าคุณตาย บริษัทได้ ถ้าคุณอายุยืนมาถึง 85 ปีบริษัทเขาขาดทุน เพราะเขาต้องจ่ายเงินให้คุณทั้งหมดประมาณ 390%ของจํานวนเงินเอาประกันภัยที่คุณจ่ายให้เขา (แต่คุณไม่ต้องเป็นห่วงบริษัทเขาดอก เพราะเขาใช้หลักวิชาคณิตศาสตร์การประกันภัย ซึ่งเขารู้เต็มอกว่าอายุเฉลี่ยหญิงไทยคือ 76 ปี ชายไทยคือ 73 ปี ดังนั้นโอกาสที่เขาจะกำไรมีมากกว่าที่จะขาดทุน)
(3) ถ้าจากนี้ไปจนอายุ 60 ปีคุณไม่ขัดสนเงินทองมีเงินเหลือพอที่จะเจียดไปจ่ายเบี้ยประกันได้ การซื้อประกันบำนาญก็จะเป็นวิธีเก็บออมเงินไว้ใช้ในบั้นปลายที่มั่นคงปลอดภัยวิธีหนึ่ง
ข้อเสียของประกันบำนาญ คือ
(1) ถ้าคุณตายก่อนอายุ 75 ปี คุณขาดทุน เพราะเอาเงินที่จะจ่ายเบี้ยประกันนั้นฝากแบงค์กินดอกหรือถอนมากินมาใช้ตรงๆเสียก่อนตายย่อมเป็นกำไรมากกว่า
(2) ถ้าทุกวันนี้เงินคุณก็ไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้ว เอาเงินนั้นใช้วันนี้เสียดีกว่าเอาไปซื้อประกันบำนาญ เพราะลำดับการใช้เงินมันต้องว่ากันตามความจำเป็น และความจำเป็นที่ปัจจุบันมีลำดับความสำคัญสูงกว่าความจำเป็นที่อนาคต
(3) ถ้าคุณไม่มีรายได้แล้ว สิทธิที่จะเอาค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีไม่มีประโยชน์สำหรับคุณ
คุณชั่งน้ำหนักเอง ดีเสีย ดีหนักไปข้างไหน คุณตัดสินใจข้างนั้น
3.. ถามว่า อ้าว หาก 85 ปีแล้วยังไม่ตาย แล้วถึงตอนนั้นจะเอาเงินที่ไหนใช้ละ ตอบว่าถ้าห่วงอนาคตไกลขนาดนั้นก็มองหากรมธรรมที่ครบจ่ายบำนาญที่อายุ 90 ปีสิครับ
4.. ถามว่า อ้าว หาก 90 ปีแล้วยังไม่ตายละ ตอบว่าไม่ต้องห่วง เพราะภาษิตโบราณคนเมืองเหนือสอนไว้ว่า
“เก้าสิบ..ไข้ก็ตาย ไม่ไข้ก็ตาย”
ฮิ ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์