31 มีนาคม 2565

ระวังเมื่อคุณอยู่ใต้ต้นกัลปพฤษ์

(ภาพวันนี้: ราชพฤกษ์)

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาถึงนิทานโบราณเรื่องหนึ่ง เรื่อง “ต้นกัลปพฤกษ์” ไม่แน่ว่าอยู่ในหนังสือเวดะ หรือหนังสือไหน เรื่องมีอยู่ว่ามีอีตาคนหนึ่งเดินเล่นเพลินไปหน่อย จนไปถึงสวรรค์โดยไม่รู้ตัว รู้สึกเพลียก็อยากหาที่งีบ เหลือบไปเห็นใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งมีหญ้านุ่มๆเป็นบริเวณกว้างพอเอกเขนกได้ก็เอาละวะ ซักงีบ

พอตื่นขึ้นมาก็รู้สึกหิว คิดในใจว่าถ้าได้ของอร่อยๆโน่นนี่นั่นมากินตอนนี้ก็น่าจะดีนะ พอคิดจบของอร่อยเหล่านั้นก็โผล่ขึ้นมาวางเรียงไว้ตรงหน้าเลย อารมณ์หิวก็รีบกินโดยไม่ต้องสืบสาวราวเรื่องว่าอาหารมาจากไหน

อิ่มหมีพีมันดีแล้วก็รำพึงในใจว่าอ้า..า อิ่มอย่างนี้ได้สักกรึ๊บสองกรึ๊บก็จะเริ่ยม พอคิดจบทั้งวิสกี้ ทั้งเบียร์ และไวน์ที่เคยชื่นชอบก็ถูกรินใส่แก้วมาวางตรงหน้า อารามกำลังอยากก็คว้ากรึ๊บจนหนำใจ

อิ่ม และกริ่มดีแล้ว จึงมีเวลามองไปรอบตัวและคิดพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ใครกันนะที่เอาอาหารมาให้ เอาสุรามาประเคน หรือว่าที่นี่มันมี…ผี

คิดยังไม่ทันจบดี พวกผีสารพัดเผ่าพันธ์ก็มาเดินเพ่นพ่านอยู่รอบๆตัว ขวักไขว่น่ากลัวเต็มไปหมด

เขาคิดว่า ไอ้หยา.. ไอ้ผีพวกนี้มันคงไม่ได้มาดี เดี๋ยวมันคงมารุมทำร้ายและบีบคอตูข้าแน่นอน

แล้วผีพวกนั้นก็เฮโลมารุมทำร้ายเขาจริงๆ ตัวหนึ่งขึ้นนั่งทับบนหน้าอก เอาสองมือที่มีแต่กระดูกบีบคอเขาแน่นจนหายใจเกือบไม่ออก

เขาคิดว่าแย่แล้ว ตูข้าคงจะมาตายเพราะเจ้าพวกผีนี้ซะแล้ว

คิดเสร็จ เขาก็ตายจริงๆ…จบ

แล้วผู้เฒ่าที่เล่านิทานก็เฉลยว่าเพราะอีตาคนนั้นเขาไม่รู้ว่าเขากำลังนอนอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ หรือ Tree of Heaven (ฟังชื่อเหมือนหนังน้ำเน่าเกาหลีคุ้นๆนะ แต่ไม่เกี่ยวกันหรอก) ซึ่งเป็นต้นไม้สาระพัดนึก ใครไปอยู่ตรงนั้นนึกอะไรก็จะเกิดเรื่องแบบนั้นหรือเป็นแบบนั้นขึ้นมาในชีวิตจริง

เอ๊..วันนี้หมอสันต์เป็นอะไรไปนะ เขียนเรื่องไร้สาระขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

หิ..หิ เหตุที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาผมมีประเด็นเดียว คือบนเส้นทางหันกลับจากนอกเข้าใน ค่อยๆวางความคิดลงไป จนเข้าไปเป็นความรู้ตัว ตรงที่หมดความคิด หมดอีโก้แล้วนั่นแหละ ตรงนั้นมันเปรียบได้กับการนั่งอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ ถ้าคุณหมดความคิดจริงๆแล้วมันไม่มีปัญหาอะไรดอก เพราะเมื่อไม่มีอีโก้ คุณก็ไม่รู้จะคิดหาอะไรไปให้ใครอีกต่อไปแล้ว เพราะอีโก้หรือ identity มันไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีความคิด นั่งอยู่ตรงนั้นมันก็ไม่มีปัญหา

แต่มันมีปัญหาเมื่อคุณยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจะหันหลังกลับจากนอกเข้าใน ขณะที่ใจก็ยังเต็มไปด้วยความคิดที่จะปกป้องหรืออุ้มชูอีโก้อยู่ แต่บางโมเมนต์ใจมันก็เกือบว่าง และอิทธิพลของต้นกัลปพฤกษ์มันก็เริ่มออกฤทธิ์แผ่วๆ ตรงใกล้ชายขอบใกล้ร่มเงาของต้นกัลปพฤกษ์นั้นแหละ ให้ระวังความคิดของคุณให้ดี เพราะคุณคิดอะไร สิ่งนั้นมันจะมา คุณกลัวอะไร สิ่งนั้นมันจะมา ยิ่งคุณขยันคิดถึงสิ่งร้ายๆเลวๆ สิ่งร้ายๆเลวๆก็จะยิ่งขยันเข้ามาหาคุณ ประเด็นของผมมีแค่นั้น

อย่าถามผมว่ากลไกการออกฤทธิ์หรือ mechanism of action มันเป็นอย่างไรนะ เพราะผมไม่รู้

หิ หิ..จบข่าว

…………………………………………………………….

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

30 มีนาคม 2565

ชายกำลังอยากจะมี ม. หญิงกำลังอยากจะมี ผ. ท่านว่า..ห้ามขัดขวาง

(ภาพวันนี้: Tarzan Stacation ในมวกเหล็กวาลเลย์)

กราบเรียน  อ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เคารพรักอย่างสูง
ชื่อ … ค่ะ อายุ 40 ปี โสด อาชีพ … เคยไปเข้าแคมป์ Spiritual retreat รุ่นที่ … เลยศรัทธาและนับถืออาจารย์เป็นผู้นำจิตวิญญาณค่ะ
ประเด็นที่จะรบกวนขอความเห็น อ.คือ (นับว่าเป็นเรื่องไร้สาระมากๆ ที่ไม่น่านำมาถาม อ.จริง ๆค่ะ) มีผู้ชาย 1 คนมาจีบค่ะ เป็นแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดกระดูก อยู่ที่สิงคโปร์  แล้วเขาก็ดูจริงจังถึงขนาดชวนเป็น my wife แต่ประเด็นคือ หนูมีความฝันอยากทำ Depression Hub ในเมืองไทย แล้วเชื่อในเรื่องควรอยู่เป็นโสดมากที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาและพลังงานได้เหลือเฟือ หนูให้ความสำคัญกับ Passion มากกว่าการสร้างครอบครัวค่ะ (The power of ALONE from sadghuru) แต่แพทย์คนนั้นเขาเห็นต่าง เนื่องจากตัวเขาเองก็มีความมุ่งหวังจะสร้าง รพ.เล็กๆ เพื่อผ่าตัดให้กับผู้มีรายได้น้อย อะไรประมาณนี้ค่ะ คือแนว ๆ เคยทำงาน WHO มาก่อน เขาบอกว่า “มันควรเป็นทีมแบบครอบครัวสิ ถึงจะสร้างเรื่องยิ่งใหญ่ได้” คราวนี้เลยไปไม่ถูกกับแนวคิดค่ะ
หนูต้องการไปถึง enlightenment ความสัมพันธ์แบบครอบครัวแบบนี้ มีผลต่อการไปถึงมั้ยคะ หรือเป็นอุปสรรคทำให้ถึงได้ช้าลงค่ะ
ขอบพระคุณ อ.สันต์ มากค่ะ หากไม่มองเป็นเรื่องไร้สาระจนเกินไป

…………………………………………………………….

ตอบครับ

โบราณของประเทศไหนก็จำไม่ได้แล้ว สอนว่าคนกำลังปวดอึ หรือชายกำลังอยากจะมี ม. หรือหญิงกำลังอยากจะมี ผ. ท่านว่าห้ามขัดขวาง แต่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบเพราะกำลังมึนจากการเตรียมบรรยายให้ฝรั่งฟัง จึงอยากทำเรื่องไร้สาระสลับฉากบ้าง

1.. ถามว่าอยากจะบรรลุความหลุดพ้น แล้วการจะมี ผ. จะเป็นอุปสรรคไหม ตอบว่ามันเป็นอุปสรรคแหงอยู่แล้วแม่คุณ!

2.. ถามว่าหมอสันต์สนับสนุนการแต่งงานไหม ตอบว่าไม่สนับสนุนเลย ไม่ว่าคุณหรือใครๆ นี่อาจเป็นความเห็นที่ขวางโลกอยู่คนเดียว ผมไม่สนับสนุนการแต่งงานเพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการแต่งงานสมัยนี้มีอย่างเดียวคือเพื่อทำลูก ผมไม่สนับสนุนการทำลูกเพราะตอนนี้พลเมืองโลกมีมากเกินไปแล้วและโลกในวันที่คนรุ่นใหม่เกิดมามันจะไม่ได้อยู่ได้ง่ายๆอย่างทุกวันนี้ อย่าให้ผมพรรณาในรายละเอียดเลยนะ ส่วนการจะทำเรื่องอื่นร่วมกันเช่นการจะมีเซ็กซ์ จะทำธุรกิจ จะเป็นบัดดี้หรือเพื่อนซี้กัน สมัยนี้คุณย้ายไปนอนด้วยกันวันนี้ได้เลยโดยไม่ต้องแต่งงานเป็นสามีภรรยากันดอก เวลาจะชิ่งหนีออกจากกันด้วยเหตุใดก็ดีจะได้ไม่ต้องไปหย่ากันที่อำเภอให้ยุ่งยาก อย่าไปคิดว่าการเป็นบัตดี้กับใครแล้วเราจะผูกติดกันไปทั้งชาติ เพราะท่านย่อมว่า

“…ไม้ท่อนหนึ่งลอยมาพบกับไม้อีกท่อนหนึ่งกลางมหาสมุทรแล้วแยกจากกันไปฉันใด

การมาพบกันของผู้เกิดมา ก็ฉันนั้น..”

3.. ถามว่าถ้าไปอยู่ด้วยกันเพื่อเป็นบัดดี้เพื่อนคู่คิดยังจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความหลุดพ้นไหม ตอบว่ายังเป็นอุปสรรคถ้าคุณอยู่คนเดียวด้วยตัวเองยังไม่ได้แล้วไปอยู่กับคนอื่นเพื่ออิงเขา แต่ไม่เป็นอุปสรรคถ้าคุณอยู่ของคุณคนเดียวได้เองก่อนแล้วไปอยู่กับคนอื่นทีหลัง

การบรรลุความหลุดพ้นเป็น verb to be นะ ไม่ใช่ verb to do ต้องเป็นเอง ไม่สามารถเอาใครมาช่วยทำได้ หมายความว่าการอยู่นิ่งๆเฉยๆคนเดียวเป็นวันๆโดยไม่คิดอะไรไม่ทำอะไรแล้วก็ยังสุขสงบอยู่ได้นั่นแหละคุณหลุดพ้นแล้ว แก่นกลางของความเป็นมนุษย์เรา (human being) นี้เข้าถึงด้วยการ “เป็น” หรือ “be” เพราะพัฒนาการของมนุษย์เรานี้ พวกที่อยู่แถวหน้าได้พัฒนามาถึงระดับที่พัฒนากันที่ความรู้ตัวหรือ consciousness ซึ่งพัฒนาได้แม้ขณะนั่งอยู่เฉยๆแล้ว ส่วนแถวหลังซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่นั้นก็ยังง่วนอยู่กับการทำกิจกรรมพื้นฐานอย่างการกิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ และต่อสู้เพื่อปกป้อง identity ที่ตัวเองปั้นขึ้นมาเองอยู่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 มีนาคม 2565

บทแปลเล็คเชอร์ของนพ.ดีน ออร์นิช เรื่องงานวิจัยมะเร็งกับโภชนาการแบบกินพืชเป็นหลัก

นพ.ดีน ออร์นิช เป็นแพทย์โรคหัวใจที่วัยใกล้เคียงกับผม และโชคชะตาทำให้เราได้มาเป็นเพื่อนกันและพบกันหลายครั้งในโอกาสต่างๆ เมื่อวันที่ผมบรรยายในการประชุม Asian Plant Based Health Care Conference ไม่นานมานี้ นพ.ดีน ออร์นิช ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง Cancer Research and Plant Based Nutrition คำบรรยายของเขามีเนื้อหาลึกซึ้งและตั้งคำถามลึกเข้าไปในเนื้อหาวิชาแพทย์แผนปัจจุบันว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายเช่นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แท้จริงแล้วมันเป็นโรคเดียวกันที่มีสาเหตุมาจากเหตุเดียวกันหรือเปล่า ถ้าคนตั้งคำถามเช่นนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้วิชาแพทย์อย่างลึกซี้งคนก็ต้องหาว่าบ้า แต่นี่เป็นดีน ออร์นิช ซึ่งจัดได้ว่าเป็นอัจฉริยะของวงการแพทย์ของโลกใบนี้คนหนึ่งที่ได้ทำวิจัยที่มีคุณประโยชน์ไว้มากอย่างไม่น่าเชื่อว่าคนๆหนึ่งจะทำได้ในช่วงหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ คำถามนี้จึงกลายเป็นคำถามที่ทำให้วงการแพทย์ต้องอึ้งและต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป

ในการบรรยายของเขาครั้งนี้ดีนได้เล่าถึง นพ.ไมเคิล เดอเบกีย์ ซึ่งเป็นปรมาจารย์วิชาการผ่าตัดหัวใจคนดังของโลกและผมเองในฐานะหมอผ่าตัดหัวใจก็รู้จักดี ดีนเล่าว่าไมเคิลผู้มุ่งมั่นในแนวทางการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดหัวใจแก้ปัญหาโรคหัวใจให้คนไข้จนโด่งดังไปทั่วโลก และผู้ซึ่งได้เคยถากถางล้อเลียนการทำวิจัยให้คนไข้กินพืชผักของดีนสมัยดีนเรียนแพทย์ สี่สิบปีต่อมาไมเคิลได้โทรศัพท์มาหาดีนเมื่อไมเคิลอายุได้ 99 ปี และบอกดีนว่าก่อนตายเขาอยากจะบอกให้ดีนรู้ว่าผลงานของดีนมีผลต่อชีวิตของเขาและภรรยามากเพียงใดและเป็นเหตุให้เขาอายุยืนมาถึง 99 ปี บทสนทนาทางโทรศัพท์สั้นๆระหว่างสองคนในครั้งนี้คือลางสำคัญที่บอกว่าการรักษาโรคหัวใจของโลกในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปทางใด

ผมได้ขอให้คุณหมอพอซึ่งมีความรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าผมถอดคำพูดของดีนออกมาเป็นภาษาไทยแบบคำต่อคำ ผมมั่นใจว่านี่จะเป็นบทความที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งที่บล็อกนี้เคยลงมา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ดีน ออร์นิช:
สวัสดีครับ ผม นพ.ดีน ออร์นิช ยินดีที่ได้โอกาสมาพูดคุยกันทางไกลวันนี้นะครับ ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของเวชศาสตร์วิถีชีวิตหรือ lifestyle medicine ซึ่งเป็นสาขาที่ผมได้ช่วยริเริ่มขึ้นมา เขายกให้ผมเป็นบิดาแห่งเวชศาสตร์วิถีชีวิต และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนี่แหละสามารถช่วยไม่ใช่แค่ป้องกันโรค แต่ยังรักษาและพลิกผันให้ถอยกลับได้

สำหรับผม มันเป็นสาขาทางการแพทย์ที่น่าสนใจที่สุดในปัจจุบัน และเป็นคลื่นขาขึ้นที่ยังก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ หลักสูตรที่เราพัฒนาและศึกษา [00:00:30] มาตลอด 44 ปีน่าจะได้ มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 อย่าง นั่นคืออาหารธรรมชาติ (whole foods) ที่มีพืชเป็นหลัก (plant-based) ซึ่งมีไขมันและน้ำตาลต่ำโดยธรรมชาติ ส่วนใหญ่ได้แก่ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ในสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด; เทคนิคการจัดการความเครียดแบบต่างๆ รวมทั้งการยืดเหยียดแบบโยคะ ฝึกการหายใจ ทำสมาธิ และใช้จินตภาพ; การออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง ทั้งการเดินแบบแอโรบิก การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และยืดกล้ามเนื้อด้วย; [00:01:00] และสิ่งที่เราเรียกว่าการสนับสนุนทางจิตสังคม (psychosocial support) หรือก็คือความรักความอบอุ่น การใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว และชุมชน  หรือทั้งหมดก็สรุปเป็นแก่นสำคัญได้ว่า กินให้ดี เคลื่อนไหวร่างกาย ลดความเครียด และเอื้อเฟื้อความรัก เท่านั้นแหละ

และยิ่งเราศึกษาเกี่ยวกับโรคมากขึ้น ก็ยิ่งพบหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้สร้างความแตกต่างที่ทรงพลังขนาดไหน สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต ซึ่งเขาให้คะแนนแนวอาหารแบบต่างๆ ได้จัดอันดับให้แนวที่เขาเรียกว่าออร์นิชไดเอทเป็นอันดับหนึ่งสำหรับสุขภาพหัวใจในปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่ 11 [00:01:30] นับจากปี 2011 ที่เขาเริ่มให้คะแนนมา นี่เป็นแค่อีกหนึ่งเสียงที่แสดงความเชื่อมั่นว่าหลักวิทยาศาสตร์ที่เรานำมาใช้เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างจากแนวการกินอาหารอื่นๆ และการปรับวิถีชีวิตแบบอื่นๆ

เราพบว่าการปรับวิถีชีวิตแบบเดียวกันเหล่านี้ สามารถพลิกผันโรคเรื้อรังให้ย้อนกลับได้หลากหลายอย่าง ตั้งแต่โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเราพิสูจน์ได้เป็นที่แรก มะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้น ซึ่งเราก็เป็นที่แรกที่ยืนยันได้จากงานวิจัยสุ่มตัวอย่าง เบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคภูมิต้านตนเองหลายอย่าง [00:02:00] โรคอ้วน และอีกมากมาย

แล้วผมก็สงสัยว่าทำไมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเดียวกันเหล่านี้ถึงส่งผลกับโรคต่างๆ ได้หลายอย่างนัก เพราะจริงๆ แล้วมันก็คือโปรแกรมวิถีชีวิตและอาหารการกินแบบเดียวกันหมดเลย และผมก็ถูกสอนมาเหมือนกับหมอส่วนใหญ่ให้มองโรคว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การวินิจฉัยก็ต่าง การรักษาก็ต้องต่าง

ผมได้เขียนหนังสือที่ติดอันดับขายดีระดับชาติ ชื่อเรื่องว่า อันดูอิท! เพิ่งวางแผงแบบปกอ่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ซึ่งเสนอทฤษฎีที่รวบยอดแบบถอนรากถอนโคนใหม่เลย ผมร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้[00:02:30]กับภรรยาของผม ผู้ซึ่งร่วมงานกันมา 24 ปี และเนื้อหาก็เสนอให้อ่านแบบง่ายๆ มันขึ้นต้นด้วยคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นข้อความที่ผมชอบมากอันหนึ่งว่า ถ้าคุณอธิบายให้ง่ายๆ ไม่ได้ แสดงว่าคุณยังเข้าใจไม่ดีพอ

และทฤษฎีที่ว่าก็คือ เหตุผลที่การปรับวิถีชีวิตแบบเดียวกันนี้ถึงส่งผลต่อโรคได้หลากหลายมากมายนั้น ผมเรียนมาว่าต่างโรค ต่างการวินิจฉัย ต่างการรักษา แล้วทำไมโปรแกรมวิถีชีวิตแบบเดียวกันถึงส่งผลต่อโรคได้ทั้งหมดนี้  เหตุผลนั้นก็คือโรคทั้งหมดนี้ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่เลย เพราะมันมี[00:03:00]กลไกทางชีวภาพที่เป็นพื้นฐานร่วมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบเรื้อรัง ภาวะออกซิเดทีฟสเตรส การกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกมากเกิน การเปลี่ยนแปลงจุลชีพในร่างกายและทีเอ็มเอโอ การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการย่อยสลายของเซลล์ การสร้างหลอดเลือด การแสดงออกของยีน เทโลเมียร์ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

แล้วกลไกแต่ละอย่างเหล่านี้ก็ไปส่งผลต่อภาวะโรคต่างๆ อีกที และแต่ละกลไกก็ได้รับอิทธิพลจากอาหารที่เรากิน วิธีที่เราตอบสนองต่อความเครียด [00:03:30] ปริมาณที่เราออกกำลังกาย และความรักและกำลังใจที่เราได้รับ ซึ่งก็คือ กินให้ดี เคลื่อนไหวร่างกาย ลดความเครียด และเอื้อเฟื้อความรัก

มันจึงช่วยสรุปย่อสิ่งที่เราบอกกับคนไข้ให้ง่ายขึ้นมาก คือไม่ใช่บอกว่า ให้กินอย่างนี้นะเพื่อพลิกผันโรคหัวใจ กินอย่างนี้นะเพื่อพลิกผันมะเร็งต่อมลูกหมาก อะไรก็ว่าไป แต่มันเหมือนกันหมดสำหรับทั้งหมดนี่ และมันก็ช่วยอธิบายว่าทำไมเราถึงเจอสิ่งที่มักเรียกกันว่าโรคร่วม คนไข้คนเดียวกันอาจจะมีโรคแบบเดียวกันนี้หลายโรค เช่นมักจะมีความดันสูง โคเลสเตอรอลสูง [00:04:00] น้ำหนักเกิน เป็นเบาหวานประเภท 2 และก็โรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะอย่างที่บอก มันคือโรคเดียวกันที่แสดงออกคนละด้าน และก็อธิบายว่าทำไมในการศึกษาไชน่าสตัดดีย์ที่เมืองจีนของคอลิน แคมป์เบลล์ ถึงพบตั้งแต่เมื่อ 56 ปีก่อนว่าที่นั่นมีอัตราการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ต่ำมาก

แต่พอเขาเริ่มกินอาหารแบบเรา ใช้ชีวิตแบบเรา เขาก็เริ่มตายแบบเรา โรคเรื้อรังทั้งหลายเหล่านี้ต่างเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน ก็เลยเป็นว่ามันพลิกความเข้าใจของเราเกี่ยวกับภาวะที่พบนี้[00:04:30]ให้เรียบง่ายขึ้นอย่างมหาศาล ในงานวิจัยเอปิกที่ศึกษาคน 23,000 คน เราก็พบผลในรูปแบบเดียวกัน การเปลี่ยนวิถีชีวิตง่ายๆ เหล่านั้น คือเดินวันละครึ่งชั่วโมง ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ 93%  หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ 81%  สมองขาดเลือดได้ครึ่งหนึ่ง และมะเร็งทุกประเภทได้หนึ่งในสาม

ซึ่งมันก็คือโปรแกรมเดียวกัน การปรับวิถีชีวิตแบบเดียวกัน ที่ส่งผลต่อภาวะโรคได้หลากหลายอีกนั่นแหละ และน่าสนใจว่าสำหรับเบาหวานประเภท 2 [00:05:00] อย่างน้อยก็ในสหรัฐฯ และเดี๋ยวนี้ก็หลายที่ในเอเชียแล้ว คือประชากรสหรัฐฯ ครึ่งหนึ่งเป็นเบาหวานหรือภาวะใกล้เบาหวาน แต่ในงานวิจัยนี้ 93% มันป้องกันได้ น่าจะบอกได้ด้วยซ้ำว่าเบาหวานประเภท 2 เกือบ 99% ป้องกันได้ ถ้าผู้คนจะปรับเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิตมากขึ้นอีก

ส่วนในเอเชีย มันน่าเศร้าว่าผู้คนที่นั่นกำลังลอกเลียนแบบทั้งข้อผิดพลาดและความสำเร็จของโลกตะวันตก อยากขอให้ลอกไปแต่ความสำเร็จ แต่ยึดอาหารการกินและวิถีชีวิตที่มีกันมาแต่เดิม [00:05:30] ก่อนที่จะเริ่มเป็นเหมือนเรา เพราะมันเป็นวิถีการกินและใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว

ทีนี้ ก็น่าเสียดายอีกว่าอย่างน้อยก็ในประเทศนี้ แพทย์ปกติทั่วไปได้เรียนเรื่องโภชนาการน้อยมาก แค่ 4 ชั่วโมงต่อปี แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องวิตามินซี โรคลักปิดลักเปิด อะไรทำนองนั้น และแพทย์ที่ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านโรคหัวใจก็ได้เรียนเรื่องโภชนาการเป็นศูนย์ ตลอดการเรียนต่อ 4 ปี มันน่าเศร้า แต่ผมคิดว่ากำลังมีแรงผลักดันที่มาบรรจบกันทำให้นี่เป็นแนวคิดที่มาถูกที่ถูกเวลาพอดี

ในมุมหนึ่ง [00:06:00] ข้อจำกัดของการใช้ยาและการผ่าตัด ซึ่งช่วยรักษาชีวิตคนได้ถ้าใช้อย่างเหมาะสม กำลังเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการรักษาโรคเรื้อรังต่อเนื่องเป็นระยะยาว ไว้ผมจะเล่าเรื่องนี้อีกทีว่าการรักษาเช่นทำบอลลูนใส่สเต็นท์ขยายหลอดเลือดหัวใจ มันได้ผลไม่ดีในคนไข้ที่อาการคงที่ แต่เรากลับใช้เงินปีละแสนล้านดอลลาร์ไปกับการทำบอลลูนใส่สเต็นท์และผ่าตัดบายพาส ซึ่งเสี่ยงอันตราย ขาดประสิทธิผล และแพงมาก

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเหล่านี้มันไม่ไปต่อไม่ได้ ปีที่แล้วเราใช้เงินกับบริการสุขภาพในสหรัฐฯ ไป [00:06:30] 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดูแลคนป่วย และ 86% ก็ใช้ไปกับโรคเรื้อรังที่ส่วนใหญ่แล้วป้องกันได้ และมักพลิกผันให้ย้อนกลับได้ด้วยซ้ำถ้าปรับเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิตได้มากพอ  ขณะเดียวกัน พลังของการปรับวิถีชีวิตอย่างเข้มข้นเหล่านี้ ซึ่งผมจะเล่าต่อไปถึงงานวิจัยของเราและคนอื่นๆ ก็มีหลักฐานรองรับชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ มันจึงเป็นแนวคิดที่มาถูกที่ถูกเวลาเสียที

และแน่นอนว่าทั้งโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่ก็ต้องบอกไว้ว่า [00:07:00] โรคระบาดใหญ่ที่เกิดอยู่ไม่ได้มีแค่โควิด-19 แต่มีโรคหัวใจ เบาหวานประเภท 2 และอื่นๆ อีกด้วย แต่กระนั้นโควิด-19 ก็เป็นโรคที่แพร่โดยเชื้อโรค ไม่ใช่ความเจ็บป่วยที่แพร่โดยอาหารและวิถีชีวิต

แต่เรามาคุยกันสักหน่อยเกี่ยวกับงานวิจัยใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตก็มีผลต่อโควิด-19 เช่นกัน และพอมีสายพันธุ์โอมิครอนมาใหม่ นั่นก็ยิ่งน่าสนใจเพราะต่อให้คุณฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม คือครบ 2 เข็มแล้วกระตุ้นอีก ก็ยังมีประสิทธิผลป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน[00:07:30]ได้แค่ราว 80%

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะถามว่า “นอกจากใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และฉีดวัคซีน ซึ่งล้วนสำคัญแล้ว ฉันจะทำอะไรได้อีกที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงไปอีก โดยเฉพาะกับสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ได้ง่ายมาก” มันก็ปรากฏว่าโรคเรื้อรังทุกอย่างล้วนเพิ่มโอกาสต้องนอนโรงพยาบาลจากโควิด-19 และโอกาสตายจากโรค

แต่มีงานวิจัยออกมาใหม่โดยโรงเรียนแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด กับคิงส์คอลเลจลอนดอน [00:08:00] ได้ศึกษาคนเกือบ 600,000 คน พบว่าคนที่กินอาหารพืชเป็นหลักที่ดีต่อสุขภาพนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคโควิด-19 รุนแรงต่ำลง 41% และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโควิด-19 ต่ำลง 9%

อีกงานวิจัยหนึ่งศึกษาบุคลากรการแพทย์ที่มีความเสี่ยงเพราะดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ศึกษาในแพทย์และพยาบาลเกือบ 3,000 คน คนที่กินอาหารพืชเป็นหลักที่ดีต่อสุขภาพอย่างที่ผมแนะนำ มีโอกาสเป็นโควิดระดับปานกลางถึงรุนแรง[00:08:30]น้อยกว่ากันถึง 73% และคนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่งดปลา มีโอกาสน้อยกว่ากัน 59%

ขณะที่คนกินอาหารที่มีโปรตีนจากสัตว์สูงอย่างอัตกินส์ พาลีโอ คีโตเจนิก และอื่นๆ มีโอกาสที่จะเป็นโรคระดับปานกลางถึงรุนแรงสูงกว่ากันเกือบ 400% จึงเห็นได้อีกว่ากลไกทางชีวภาพเหล่านี้มีผลทั้งสองทาง มันทำให้คุณดีขึ้นได้และก็ทำให้แย่ลงได้เร็วทีเดียวเลย และวิถีชีวิตของเราก็สร้างความแตกต่างจริงๆ

อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าในคนที่ติดโควิด-19 เกือบ 50,000 คน [00:09:00] คนที่มีวิถีชีวิตนั่งๆ นอนๆ นั้นมีโอกาสมากกว่าสองเท่าที่จะเป็นโควิดและต้องเข้าโรงพยาบาลและตายจากโรคเมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกาย และโรคอ้วนเพิ่มโอกาสต้องเข้าโรงพยาบาลหรือไอซียูและตายจากโรคถึงสามเท่า โดยเฉพาะในคนอายุน้อย

หลักการสำคัญของเวชศาสตร์วิถีชีวิตทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะในงานของผม คือการตั้งคำถามคำถามหนึ่งที่ลึกถึงราก ก็คือพยายามหาสาเหตุไปให้ถึงต้นตอ และมันก็เป็นคำถามที่เรียบง่ายมากว่า สาเหตุของมันคืออะไร [00:09:30] ผมเคยให้คนวาดการ์ตูนนี้ไว้เมื่อ 40 ปีก่อน บรรดาหมอกำลังถูพื้นรอบอ่างล้างมือที่ไหลล้นอยู่

มันก็ประมาณว่า “นี่ฉันจะต้องถูพื้นไปนานเท่าไหร่” “ตลอดกาล” “แล้วทำไมเราไม่ปิดก๊อกน้ำล่ะ” ก๊อกน้ำนี่ก็คือสาเหตุของโรคเรื้อรังทั้งหลาย ก็คือวิถีชีวิตที่เราเลือกใช้อยู่ทุกวัน

เวลาคนไข้ถูกสั่งให้กินยาลดคอเลสเตอรอลหรือลดความดันเลือด แล้วถามว่า “หมอ นี่ฉันต้องกินยาไปนานเท่าไหร่” ปกติหมอจะตอบว่าไง “ตลอดกาล” มันก็เหมือน [00:10:00] “นี่ฉันต้องถูพื้นไปนานเท่าไหร่” “ตลอดกาล” แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราพบคือ ภายใต้การดูแลของแพทย์ คนส่วนใหญ่สามารถลด หรือบางคนก็เลิกใช้ยาที่เคยว่าถูกบอกว่าจะต้องกินไปตลอดชีวิตไปได้เลย ซึ่งมันส่งเสริมพลังและกำลังใจมากเวลาใครทำได้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมทึ่งได้เสมอคือการที่ร่างกายของเราสามารถรักษาตัวเองได้ ซึ่งเร็วกว่าที่เราเคยคิดมากด้วย เมื่อเราปิดก๊อกได้ เมื่อเรารักษาต้นเหตุได้ และผมคิดว่ามันสร้างความหวังและเปิดโอกาสใหม่ให้คนจำนวนมาก

[00:10:30] สาเหตุหนึ่งที่ผมใช้ชีวิตวัยทำงานกว่า 40 ปีที่ผ่านมาทำวิจัยก็คือ ถ้าทำถูกวิธีแล้ว ที่จริงอย่างแรกเลย การทำวิจัยมันยากมาก ยากที่จะหาทุน ยากที่จะหาคนมาทำ ยากที่จะได้ตีพิมพ์ และอีกมาก แต่มันคุ้มที่จะทำ เพราะทุกอย่างที่เราทำตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แทบทุกอย่างเลย สมัยนั้นผู้คนต่างคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้

และเมื่อคุณทำงานวิจัย แล้วทำถูกวิธี ได้ทำร่วมกับบุคลากรแนวหน้าของวงการแพทย์ กับนักวิทยาศาสตร์ กับแพทย์ [00:11:00] แล้วตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ มันสามารถเปลี่ยนนิยามของสิ่งที่เป็นไปได้ และเมื่อทำได้แล้ว อย่างที่ผมบอก มันสามารถสร้างความหวังใหม่ ทางเลือกใหม่ ให้กับคนนับล้าน ที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับผม ความตระหนักรู้เป็นขั้นตอนแรกของการรักษา และการสร้างความตระหนักรู้โดยทำวิจัยเป็นสิ่งที่สร้างความหมายให้กับชีวิตของผมอย่างมาก และอย่างที่บอก ผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่มาถูกที่ถูกเวลา ถ้าย้อนไปนานมาแล้ว ณ กาแล็กซีอันไกลโพ้น ตอนที่ผมเริ่มทำงานพวกนี้[00:11:30]ในปี 1977 ’78 ตอนที่ผมศึกษาแพทย์ปีที่สอง ผมหัดทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจกับ นพ.ไมเคิล เดอเบคีย์ หนึ่งในผู้บุกเบิกที่ช่วยประดิษฐ์การผ่าตัดบายพาสขึ้นมา

เราก็จะผ่าตัดแบะหน้าอกคนออก แล้วเขาก็จะวางเส้นเลือดใหม่เป็นทางเบี่ยงแทนของเก่าที่อุดตัน และส่วนใหญ่แล้วคนก็จะกลับบ้านไปแล้วก็ทำสิ่งเดิมๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแต่แรกเพราะคุณบอกเขาไปว่ารักษาหายแล้ว เขาก็จะกินอาหารขยะ ไม่จัดการความเครียด ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ นั่งๆ นอนๆ และบ่อยครั้งหลอดเลือดใหม่ก็จะอุดตันอีก แล้วต้องมาผ่าตัดอีก บางคนก็ซ้ำหลายรอบ

[00:12:00] สำหรับผม การผ่าตัดบายพาสเลยเป็นเหมือนสัญลักษณ์สื่อถึงแนวทางที่ไม่สมบูรณ์ เรากำลังทำทางเบี่ยงหนีปัญหาแท้ๆ เลย แต่เราไม่ได้รักษาสาเหตุ แล้วผมก็สงสัยว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเรารักษาสาเหตุได้ ถ้าเราปิดก๊อกเสีย

ผมก็ทำการศึกษานำร่องในปี 1977 ’78 เอาคนไข้ชายหญิงที่เป็นโรคหัวใจอย่างหนักมา 10 คน ให้อยู่ในโรงแรมเดือนหนึ่ง มีแค่ผมกับพ่อครัว แล้วพวกเขาก็ดีขึ้น ไม่ใช่แค่อาการดีขึ้น แต่คนไข้ 8 ใน 10 คนนั้นตัวโรคก็ดีขึ้นจริงๆ ตรวจได้ว่าเลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น เห็นได้จากภาพ [00:12:30] ตรงนี้คือหัวใจ ที่มองดูเหมือนโดนัท และภาพยิ่งสว่างหมายถึงเลือดมาเลี้ยงมาก

จะเห็นว่ามีพื้นที่ประมาณ 10 นาฬิกาตรงนี้ที่มืด แต่อีกเดือนต่อมามันสว่างขึ้น แสดงว่าหัวใจส่วนนั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเลือดมาเลี้ยงไม่พอ ตอนนี้มีเลือดมาเลี้ยงแล้ว และเราพบผลแบบนี้ในคนไข้ 8 จาก 10 คน

ผมอยากเล่าว่าตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแล้ววนไปเรียนกับ นพ.เดอเบคีย์เรื่องการผ่าตัดบายพาส เขาเคยถามว่า “อยู่ปีอะไรแล้ว พ่อหนุ่ม” แล้วผมก็ตอบว่ากำลังขึ้นปีสาม เขาก็บอกว่า “ให้ตายสิ [00:13:00] นี่มีแนวคิดประหลาดๆ อยู่มาได้ถึงป่านนี้ คงจะหาทางขับออกจากที่นี่ยากซะแล้ว”

แล้วผมก็ไม่ได้เจอกับเขาอีกเป็นทศวรรษ จนเขาโทรศัพท์หาผมเมื่อไม่กี่ปีมานี่ เขาก็บอกว่า “สวัสดี ดีน นี่ไมค์ เดเบคีย์” ผมก็จำสำเนียงลุยเซียนาอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาได้แม่น ผมก็ถามว่า ให้เกียรติโทรหาผมด้วยเรื่องอะไร เขาก็บอกว่า “จำเรื่องแนวคิดแปลกๆ ของคุณที่ผมเคยค่อนแคะสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์เรียนอยู่กับผมได้ไหม” ผมก็ตอบว่า จำได้ดีเลย

เขาก็บอกว่า “นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีชีวิต[00:13:30]มาตลอดถึงวันนี้เลย ผมอายุ 99 แล้ว คงจะอยู่อีกไม่นาน แต่ก่อนจะตายผมอยากให้คุณรู้ว่ามันมีความหมายกับชีวิตผมมาก ภรรยาผมก็สนใจงานของคุณมาก ก็เลยอยากให้คุณรู้” มันสะท้อนว่าเราไม่รู้เลยว่าถ้าคุณมีชีวิตอยู่นานพอ อะไรจะเกิดได้บ้าง

ผมก็กลับไปเรียนจนจบแพทย์ แล้วก็ลาพักอีกปีมาทำการศึกษายาวหนึ่งเดือน คราวนี้เราใช้การสุ่มและมีกลุ่มควบคุม และเราพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าการบีบตัวของหัวใจที่ดีขึ้น เมื่อวัดการตอบสนองจากขณะพักจนถึงออกกำลังกายระดับสูงสุด [00:14:00] คือแท่งกราฟสีเหลือง ขณะที่กลุ่มควบคุมนั้นแย่ลงในช่วงเวลาเดียวกัน

เราตีพิมพ์ผลการวิจัย… ผลมันแตกต่างกันชัดเจนมาก เราตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน เราพบด้วยว่าการเคลื่อนตัวของผนังหัวใจดีขึ้น และคนส่วนใหญ่ก็หายจากอาการเจ็บหน้าอกเช่นกัน

เราพบว่าการลดลงของอาการเจ็บหน้าอก 91% เกิดขึ้นในแค่ 24 วันแรก ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจที่ทรงพลังสำหรับคนที่เดินข้ามถนนก็เจ็บหน้าอกแล้ว หรือหลับนอนกับคู่สมรสไม่ได้ เล่นกับลูกไม่ได้ กลับไปทำงาน[00:14:30]ก็เจ็บหน้าอกรุนแรง แล้วไม่กี่สัปดาห์เขาก็ทำทั้งหมดนั้นได้ มันเปลี่ยนเหตุผลที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการกลัวตาย ซึ่งมันไม่ยั่งยืน มาเป็นการมีความสุขของชีวิต ซึ่งยั่งยืน

คนไข้จะบอกว่า สิ่งที่ได้มามันมากกว่าสิ่งที่ยอมเลิกไป และผลมันรวดเร็วชัดเจน บอกว่า ฉันชอบกินอาหารขยะก็จริง แต่ก็ชอบที่ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มากกว่าเยอะ มันจึงเป็นทางที่คุ้มจะเลือก ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันอันตรายอย่างหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือดในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า [00:15:00] แต่เพื่ออะไรที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ สิ่งที่ได้มามันมากกว่าสิ่งที่ยอมเลิกไปมาก

ผมก็ไปบอสตัน ไปฝึกอบรมเฉพาะทางที่ฮาร์วาร์ดกับโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล ย้ายไปซานฟรานซิสโกไปสอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก แล้วก็ก่อตั้งองค์การไม่แสวงกำไรชื่อสถาบันวิจัยเวชศาสตร์ป้องกัน แล้วเริ่มทำวิจัยชื่อการทดลองวิถีชีวิตกับหัวใจ ซึ่งศึกษาคนไข้ชายหญิงที่เป็นโรคหัวใจระดับรุนแรง มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม แล้วมันก็น่าขันหน่อยที่เราใช้การตรวจวัดแบบไฮเทค[00:15:30]ทันสมัยราคาแพง มาพิสูจน์ความทรงพลังของการรักษาพวกนี้ซึ่งแสนจะโลว์เทค ราคาถูก และบางอย่างก็เก่าแก่มาก

ผลการตรวจฉีดสีเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจพวกนี้ เอาไปให้บุคคลที่สามแปลผลโดยไม่รู้ว่าเป็นของใคร แล้วเราก็พบว่าปริมาณอุดตันของหลอดเลือดตอนแรกของทั้งสองกลุ่มใกล้เคียงกัน คือต่างมีรอยโรคอย่างน้อยหนึ่งจุดที่อุดตัน 75% หรือมากกว่า แต่เราก็ติดตามดูทุกจุด พบว่ามันอุดตันมากขึ้นใน 1 ปี ซึ่งแสดงด้วยเส้นสีแดง และอุดตันมากขึ้นอีกใน 5 ปี ในคนไข้ที่ถูกสุ่มเข้ากลุ่มควบคุม นี่คือสิ่งที่เคยเรียกกันว่าเป็น[00:16:00]การดำเนินของโรคหัวใจตามปกติ

ตอนนั้นเชื่อกันว่าสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็แค่ชะลอให้อาการมันทรุดช้าลง แต่สิ่งที่เราพบเป็นครั้งแรกคือแทนที่จะมีแต่ทรุดลง มันกลับดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ มันมีการพลิกย้อนกลับบางส่วนใน 1 ปี และย้อนกลับได้มากขึ้นอีกใน 5 ปี เราตีพิมพ์ผลการวิจัยที่หนึ่งปีในวารสารแลนเซต และผลห้าปีในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน

เรายังทำเพทสแกนหัวใจเพื่อวัดการไหลของเลือด ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่ทันสมัยที่สุด แล้วการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจในคนไข้เหล่านี้ดีขึ้น 400% เมื่อเทียบกับ[00:16:30]กลุ่มควบคุมหลังผ่านไป 5 ปี

นี่เป็นผลของคนไข้ตัวอย่างแสดงให้เห็นหลอดเลือดที่อุดตันน้อยลง จะเห็นได้ว่ารอยตีบมันน้อยลงเมื่อผ่านไปหนึ่งปี และเนื่องจากการไหลของเลือดมันแปรผันกับรัศมียกกำลัง 4 การลดลงของรอยตีบแม้เล็กน้อยก็ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งในกรณีนี้คือเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้นเฉลี่ย 400%

ในภาพซ้ายล่าง จะเห็นบริเวณสีฟ้ากับสีดำที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยง หนึ่งปีผ่านไปสีส้มขยายไปเต็มแล้ว มันจึงไม่ใช่[00:17:00]การเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย แต่มักเห็นผลจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงอาการเช่นเจ็บหน้าอกมันถึงดีขึ้นได้มาก และก็ไม่ใช่แค่คนไข้ไม่กี่คนที่ ขออภัยครับ ที่ดึงค่าเฉลี่ย

อย่างที่เห็น คนไข้ 99% มีการดำเนินของโรคหัวใจหยุดหรือย้อนกลับได้หลังจาก 5 ปี ขณะที่คนไข้ที่ถูกสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมมีแค่ 5% ที่ดีขึ้น ผลอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และทำให้ผมแปลกใจคือ ขออภัยครับ ผมได้คาดการณ์ไว้ [00:17:30] ซึ่งก็ปรากฏว่าคาดผิด ว่าคนไข้อายุน้อยที่โรครุนแรงน้อยกว่าจะออกมาดีกว่า แต่ผมคาดผิด ปรากฏว่ามันไม่เกี่ยวว่าอายุมากแค่ไหนหรือป่วยหนักแค่ไหน มันสัมพันธ์แต่กับว่าเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมากแค่ไหน โรคก็ดีขึ้นมากเท่านั้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่

นี่ก็เป็นสารที่ส่งเสริมพลังและกำลังใจได้อย่างมาก ที่จะบอกผู้คนว่าส่วนใหญ่แล้วมันไม่สายเกินไปเลยที่จะเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าอาการคุณคงที่อยู่ เรายังพบด้วยว่ากลุ่มที่ปรับวิถีชีวิตเกิดอุบัติการณ์เกี่ยวกับหัวใจน้อยกว่า 2.5 เท่า หมายถึงเช่นเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สมองขาดเลือด ต้องผ่าตัดบายพาส ทำบอลลูน ใส่สเต็นท์

[00:18:00] ทีนี้เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีใบหน้ามีตัวตน คนนี้ ไม่นานมานี้เอง เขาเป็นอายุรแพทย์ที่เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขนาดใหญ่ กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปมากจนหัวใจสูบฉีดเลือดได้แค่ 11 ถึง 15% ของปริมาตร ซึ่งปกติเลือดจะถูกสูบฉีดไป 50 ถึง 60% ในการบีบตัวแต่ละครั้ง แล้วเขาก็ทำอะไรแทบไม่ได้เลย ต้องถูกหามขึ้นห้อง เดินได้ไม่กี่ก้าวก็เจ็บหน้าอก แล้วหมอก็บอกเขาว่าหัวใจเขาเสียหายไปเยอะมาก ทางเดียว[00:18:30]ที่จะช่วยได้คือต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่

แล้วขณะรอที่จะมีผู้บริจาค เขาได้มาสมัครหลักสูตรพลิกผันโรคหัวใจของผมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส ศูนย์การแพทย์ยูซีแอลเอ เพื่อเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมผ่าตัดเมื่อไหร่ที่เขาหาคนได้ แต่โรคหัวใจของเขาดีขึ้นมากในช่วง 9 สัปดาห์นั้นจนเขากลับไม่ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเลย

แล้วอย่างไหนกันที่เป็นการรักษาที่เรียกได้ว่าสุดโต่งถอนรากถอนโคนมากกว่า เปลี่ยนหัวใจใหม่ ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก เอาหัวใจใหม่ใส่เข้าไป มีค่าใช้จ่าย [00:19:00] 1.5 ล้านดอลลาร์กับต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต หรือเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิต เขาบอกว่าเขาป่วยหนักมากก่อนจะเริ่มหลักสูตร เขาบอกว่า “ผมมีคนไข้ตายแล้วที่ยังดูดีกว่าผมเลย” แต่ผมขอเปิดคลิปให้ดู เพื่อให้เห็นคนที่มีใบหน้ามีตัวตนสักหน่อย

โรเบิร์ต ทรูเฮิร์ซ:
สถานการณ์ที่ผมจะเล่าเป็นเรื่องของแพทย์อายุรกรรมที่เพิ่งเริ่มบทใหม่ในชีวิตกับภรรยา ย้ายบ้าน[00:19:30]ไปเลคแอร์โรว์เฮด เพิ่งเปิดคลินิกส่วนตัวที่นั่น หลังลูกๆ แยกย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยกันหมดแล้วเลยมีโอกาสย้ายได้ แต่พอกำลังจะเดินหน้าไม่ทันไร ก็เกิดอุบัติเหตุรถชนครั้งใหญ่ กระตุ้นให้เกิดหัวใจขาดเลือดจนการทำงานของหัวใจผมลดลงไป 11 ถึง 13 หรือ 14 15% ของที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้เจ็บหน้าอกตลอดเวลา แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เดินไป[00:20:00]ห้องข้างๆ ไม่ได้ ขึ้นบันไดเองก็ไม่ไหว หมอบอกว่าต้องผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ เป็นทางเดียวที่จะอยู่รอดได้

แล้วตอนนาทีสุดท้าย ผมก็ไปเข้าร่วมโปรแกรมออร์นิช ซึ่งสอนให้ผมเปลี่ยนมุมมองใหม่หมดเลยเกี่ยวกับการจัดการความเครียด ออกกำลังกาย กินอาหาร โภชนาการ และแม้ตัวเองจะไม่ค่อยเชื่อ และก็หมอคนอื่นที่ดูแลอยู่ก็ไม่เชื่อเหมือนกัน แต่มันก็กลับได้ผลเกินกว่าที่คาดฝันที่สุด ตอนนี้ผมสามารถออกกำลังกาย[00:20:30]ในระดับปานกลาง ผมทำงานเต็มเวลาได้ ผมใช้ชีวิตที่ความสูง 6,000 ฟุตได้ และคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ

ผู้พูด 3:
ฉันยังให้เขาเช็ดลิปสติกออกให้ด้วยเลย

โรเบิร์ต ทรูเฮิร์ซ:
คุณเชื่อไหมว่านี่ภรรยาผมเอง

ดีน ออร์นิช:
และนั่นคือทำไมผมถึงชอบทำงานนี้ มันน่าอิ่มใจมากที่สามารถส่งเสริมพลังให้ผู้คนได้แบบนี้ แล้วเราก็สงสัยว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตเดียวกันเหล่านี้จะสามารถย้อนการดำเนินโรคในผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก[00:21:00]ระยะเริ่มต้นได้หรือเปล่า เพราะกลไกเบื้องลึกทางชีวภาพมันก็คล้ายกันมากอีกเช่นกัน และเราก็ทำการศึกษาร่วมกับปีเตอร์ แคร์รอลล์ ตอนที่เขาเป็นหัวหน้าศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะที่โรงเรียนแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก และบิลล์ แฟลร์ ตอนที่เขาเป็นหัวหน้าที่ศูนย์มะเร็งเมโมเรียลสโลนเคตเทอริง อย่างที่บอกว่าเราพยายามทำงานกับคนแนวหน้าของวงการเสมอ

แล้วเราก็ศึกษาในผู้ชายที่มีมะเร็งต่อมลูกหมากยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อ ที่เลือกไม่ผ่าตัดหรือฉายรังสีด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับงานวิจัย คือที่แต่ก่อนเรียกว่าเฝ้ารออย่างระมัดระวังหรือเดี๋ยวนี้เรียกติดตามสอดส่อง ซึ่งประโยชน์ของการทำแบบนี้[00:21:30]คือเราสามารถสุ่มคนแบ่งเป็นสองกลุ่มแล้วให้กลุ่มหนึ่งไม่ต้องทำอะไร เราจะได้มองหาผลเฉพาะของการปรับวิถีชีวิตได้

เราพบว่าระดับพีเอสเอ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก มันสูงขึ้นในเส้นสีแดง ซึ่งคือแย่ลง และต่ำลงในเส้นสีเขียว คือตัวโรคดีขึ้นหลังผ่านไปหนึ่งปี ความแตกต่างนั้นมันมีนัยสำคัญมาก และก็วัดได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเหมือนที่เราพบในการศึกษาก่อนๆ หน้า ยิ่งคุณเปลี่ยนวิถีชีวิตเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้นในทุกช่วงอายุ

แล้วเราก็สงสัยว่า [00:22:00] มันยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อพีเอสเอได้นอกจากมะเร็งต่อมลูกหมาก เราก็เลยเอาน้ำเลือดของพวกเขาไปหยดใส่เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากที่เพาะเลี้ยงอยู่ที่ยูซีแอลเอที่ห้องแล็บของบิลล์ อารอนสัน แล้วพบว่าการเติบโตของมะเร็งถูกยับยั้งไปถึง 70% เทียบกับ 9% ในกลุ่มควบคุม

ในสไลด์นี้ซึ่งเจ๋งมาก การยับยั้งมะเร็งที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้สัมพันธ์เป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คนนั้นทำ พูดอีกอย่างก็คือ พอคุณเปลี่ยนวิถีชีวิต จะมีบางอย่างในน้ำเลือดขอบคุณ[00:22:30]ที่สามารถยับยั้งการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และเปรียบเทียบแล้วอาจจะมีผลกับมะเร็งเต้านมได้ด้วย

แล้วเราก็แบ่งกลุ่มย่อยคนไข้มาดูการทำงานของเนื้องอกที่แล็บของจอห์น คอร์ฮาเนวิช ด้วยการตรวจที่เรียกว่าการวิเคราะห์สเปกตรัมเรโซแนนซ์แม่เหล็ก ตรงสีแดงคือการทำงานของเนื้องอก ซึ่งจะเห็นว่ามันลดลงเมื่อเวลาผ่านไป สอดคล้องกับพีเอสเอที่ต่ำลง

และก็ไม่มีคนไข้ในกลุ่มทดลองคนไหนเลยที่ต้องผ่าตัดหรือฉายรังสีหรือรับคีโมในปีแรก แต่ในกลุ่มควบคุมมี 6 คน เมื่อมองโดยรวมแล้ว นี่คืองานวิจัยแบบทดลองสุ่มตัวอย่างงานแรก และ[00:23:00]เท่าที่ผมรู้ก็ยังเป็นงานเดียว ที่แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเดียวอาจชะลอ ยับยั้ง หรือพลิกให้มะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้นถอยกลับได้

ทีนี้ที่ฮาร์วาร์ด ในงานวิจัยสุขภาพแพทย์ ซึ่งศึกษาจากแพทย์ประมาณ 100,000 คน ผู้ชายที่กินอาหารตามแบบตะวันตกเป็นหลัก มีความเสี่ยงที่จะตายด้วยเหตุสืบเนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่ากัน 250% และมีโอกาสตายโดยรวมจากทุกสาเหตุสูงขึ้น 67% ซึ่งก็เป็นอีกอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องพวกนี้มันสัมพันธ์กันขนาดไหน

ในทางกลับกัน [00:23:30] ผู้ชายที่กินอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก อย่างที่ผมแนะนำ จะลดโอกาสตายจากทุกสาเหตุ ฉะนั้นคุณจึงได้ประโยชน์สองต่อเวลาที่เปลี่ยนอาหารแบบตะวันตกที่มีไขมันจากสัตว์สูง น้ำตาลสูง โปรตีนจากสัตว์สูง มาเป็นอาหารพืชเป็นหลัก ที่เป็นรูปแบบธรรมชาติ ไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ นอกจากคุณจะหยุดเพิ่มความเสี่ยงแล้ว คุณยังทำให้มันลดลงด้วย ก็เลยเป็นประโยชน์สองต่อ

เราก็สงสัยต่อว่าจะมีกลไกอะไรบ้างที่ช่วยอธิบายประโยชน์เหล่านี้ได้ เราก็เลยทำการศึกษา[00:24:00]กับเครก เวนเทอร์ ซึ่งเป็นคนแรกที่ถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมมนุษย์สำเร็จ และเราพบว่ามียีนมากกว่า 500 ยีนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เกิดประโยชน์ในแค่ 3 เดือน เปิดสวิตช์ยีนดี ปิดสวิตช์ยีนเลว

สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ เราถูกสอนว่าวิธีเดียวที่คนเราจะเปลี่ยนยีนได้คือเปลี่ยนพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วผมก็มักได้ยินคนไข้บอกว่า ผมได้ยีนมาไม่ดี มันแก้ไขอะไรไม่ได้ ที่จริงประธานาธิบดีคลินตันเอง ซึ่งเป็นคนไข้ผมมาหลายปี เมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่เส้นเลือดที่เขาผ่าบายพาสมาอุดตัน [00:24:30] หมอโรคหัวใจของเขาแถลงข่าวกับซีเอ็นเอ็นบอกว่า มันมาจากพันธุกรรมของเขาหมดเลย อาหารการกินกับวิถีชีวิตเขาไม่เกี่ยวอะไร

แต่จากผมทำงานกับเขามาหลายปีนี้ ผมรู้ว่ามันเกี่ยวทุกอย่างเลย ผมเลยเขียนข้อความหาเขาบอกว่า นี่ ถ้ามันเป็นเรื่องของพันธุกรรม คุณก็เป็นเหยื่อ และไม่มีทางต่อสู้ แต่คุณไม่ใช่เหยื่อ คุณเป็นหนึ่งในคนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก แล้วก็แบ่งหลักฐานงานวิจัยบางส่วนให้ดูซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่การแสดงออกของยีนก็เปลี่ยนแปลงได้เวลาที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แล้วเขาก็ทำมา 14 ปีแล้ว และก็ได้เล่าออกสื่อด้วย ไม่อย่างนั้นผมก็ไม่พูดถึงหรอก [00:25:00]

เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคอการเมืองฝ่ายไหน แต่ถ้าอดีตประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นชื่อว่ากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่ เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองและทำต่อเนื่องมาได้เป็นทศวรรษแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับทุกคน

เรายังพบด้วยว่ายีนมะเร็งแรส ซึ่งเป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เต้านม และลำไส้ใหญ่ ถูกลดหรือปิดการทำงานไป อันนี้เป็นแผนผัง ซึ่งแกนทางด้านขวาเป็นยีนแต่ละอย่างที่ก่อมะเร็ง ตอนต้นที่เป็นสีแดงคือมีการแสดงออกของยีนอยู่ และสามเดือนต่อมา การแสดงออกของยีนถูกปิดไป นี่ก็เป็นอีกอย่าง[00:25:30]ที่แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตง่ายๆ เหล่านี้มันทรงพลังได้แค่ไหน ขนาดที่เราสามารถเปลี่ยนการแสดงออกของยีนได้

นักวิจัยอีกคนหนึ่ง ดาร์เรล เอลล์สเวอร์ท ซึ่งผมไม่ได้ร่วมทำงานด้วย ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของยีนในคนที่เข้าหลักสูตรเวชศาสตร์วิถีชีวิตของเราที่วินด์เบอร์ เพนซิลเวเนีย แล้วพบว่ายีนที่ควบคุมกลไกทางชีวภาพที่พูดถึงไปเมื่อตอนต้นของการบรรยายนี้ การอักเสบเรื้อรัง ภาวะออกซิเดทีฟสเตรส การสร้างหลอดเลือด และอื่นๆ ถูกปิดการแสดงออกไปใน[00:26:00]ไม่กี่สัปดาห์เมื่อคนเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต นี่ก็เป็นอีกอย่างที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมเราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในหลากหลายภาวะโรคในเวลาเพียงสั้นๆ เมื่อทำการปรับวิถีชีวิตแบบเดียวกัน

ฉะนั้นแล้ว ในกรณีส่วนใหญ่พันธุกรรมของเรามันไม่ใช่ชะตาชีวิต แต่มันเป็นแนวโน้ม และถ้าแม่และพ่อและพี่น้องและลุงป้าน้าอาของคุณตายจากโรคหัวใจ มันก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องตายอย่างนั้น มันแค่แปลว่าคุณอาจจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มากหน่อยเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น

เอาล่ะ แล้วการทำสมาธิล่ะ เราคุยเรื่องอาหารการกินมาเยอะแล้ว ผมชอบการ์ตูนนิวยอร์กเกอร์อันนี้ มันมี[00:26:30]งานวิจัยจากฮาร์วาร์ดทำโดยเจฟฟ์ ดูเส็ก เขาศึกษาคนที่ไม่ได้ทำสมาธิ คนที่ทำสมาธิมา 8 สัปดาห์ และคนที่ทำสมาธิมานาน แล้วยิ่งคนทำสมาธินานเท่าไหร่ มันก็เปลี่ยนการแสดงออกของยีนเขามากขึ้น มียีนที่เปลี่ยนแปลงเกือบ 300 ยีน ซึ่งก็เกิดขึ้นในเวลาแค่ 8 สัปดาห์ เริ่มจากสีแดงแล้วออกเขียวหน่อยๆ จนเป็นสีเขียว ส่วนอันนี้จากเขียวเป็นออกแดงแล้วเป็นสีแดง มันมีความสัมพันธ์ระหว่างขนาดกับการตอบสนอง ของการทำสมาธิกับผลต่อการแสดงออกของยีน

เราก็สงสัยว่า การปรับวิถีชีวิตแบบเดียวกันนี้จะมีผลต่อการแก่ตัวของเซลล์ด้วยไหม เราก็เลยทำวิจัย[00:27:00]ร่วมกับเอลิซาเบธ แบล็คเบิร์น ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบเทโลเมียร์ เทโลเมียร์ก็คือส่วนปลายของโครโมโซมที่ควบคุมการแก่ตัวของเซลล์ บางครั้งก็เปรียบเทียบกันว่าเหมือนพลาสติกตรงปลายเชือกผูกรองเท้าที่กันไม่ให้มันรุ่ยออกมา มันก็กันไม่ให้ดีเอ็นเอรุ่ยออกมา

แล้วพอเวลาผ่านไป เมื่อแบ่งตัวไปหลายรอบ เทโลเมียร์ก็มีแนวโน้มจะสั้นลง และพอเทโลเมียร์ของเราสั้นลง ชีวิตเราก็สั้นลง ความเสี่ยงที่จะตายก่อนวัยอันควรจากโรคหลายโรคก็เพิ่มขึ้นไปเป็นสัดส่วนกัน เขาได้ทำการศึกษาก่อนหน้าพบว่าเวลาคนกินอาหารขยะ[00:27:30]หรือสูบบุหรี่หรือนั่งๆ นอนๆ หรือมีความเครียด เทโลเมียร์ของเขาจะสั้นลงเร็วขึ้น เขายังเคยศึกษาในผู้หญิงที่เลี้ยงลูกออทิสติกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เครียดมาก

และยิ่งพวกเขาประสบความเครียดมากและนานเท่าไหร่ เทโลเมียร์ของเขาก็ยิ่งสั้นลง แล้วพอเขาเปรียบเทียบผู้หญิงที่เครียดมากกับน้อย เขาก็พบว่ากลุ่มที่เครียดมากมีอายุไขสั้นลงไป 9 ถึง 17 ปี เมื่อเทียบจากการสั้นลงของเทโลเมียร์

[00:28:00] แต่สำหรับผมข่าวดีคือ เราเห็นผู้หญิงสองคนที่อยู่ในสถานการณ์ชีวิตคล้ายกันมาก แต่คนหนึ่งรับมือได้ดีกว่า จัดการความเครียดได้ กินอาหารที่ดี เคลื่อนไหวมากกว่า มีความรักมากกว่า แล้วก็บรรเทาผลของมันได้ ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่คุณต้องเจอกับอะไร มันอยู่ที่คุณรับมือกับมันยังไง และพอปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบนี้ได้ คุณก็จะบรรเทาผลของสถานการณ์ที่สำหรับคนอื่นจะเป็นเรื่องเครียดมากได้

ทีนี้ ผมก็ทานอาหารกับเขาแล้วบอกว่า ถ้าสิ่งแย่ๆ ทำให้เทโลเมียร์สั้นลง บางทีสิ่งดีๆ จะทำให้มันยาวขึ้นก็ได้ และเราก็พบว่า[00:28:30]ในเวลาแค่ 3 เดือน เทโลเมอเรส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ซ่อมแซมและทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้น มันเพิ่มขึ้นไป 30% ซึ่งเราได้ตีพิมพ์ในวารสารมะเร็งแลนเซต และหลังจาก 5 ปี เราก็พบเป็นครั้งแรกว่าการรักษาใดๆ รวมถึงการใช้ยา สามารถทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นได้ประมาณ 10% ขณะที่มันสั้นลงในกลุ่มควบคุม

แล้วพอเราตีพิมพ์ไป บรรณาธิการแลนเซตเขาก็ออกข่าวประชาสัมพันธ์ เรียกว่าเป็นงานวิจัยแรกที่แสดงว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอาจย้อนการแก่ตัวในระดับเซลล์ได้ ซึ่งก็เป็นพาดหัว[00:29:00]ที่ดีมาก ยิ่งพอตัวผมเองก็เริ่มอายุมากด้วย

แล้วมันก็มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญเช่นเดิม ยิ่งคนเปลี่ยนวิถีชีวิตได้มากแค่ไหน เทโลเมียร์เขาก็ยิ่งยาวขึ้นไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นผลที่ดีมากเช่นกัน

เอาล่ะ ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในจังหวะที่โรคอัลไซเมอร์ตอนนี้มันคล้ายกับสถานการณ์โรคหัวใจเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้วมาก และผมก็มีความสนใจเรื่องอัลไซเมอร์เป็นพิเศษเพราะแม่ของผมตายจากโรคนี้ และพี่น้องของแม่ทุกคนก็เช่นกัน และผมก็มียีนเอโพอี4 ที่เป็นความเสี่ยงอยู่อันนึง แต่เรื่องมันคือว่ามันไม่เหมือนโรคหัวใจตรงที่มันไม่มียา[00:29:30]ที่จะยับยั้งโรคได้เลย อย่างดีที่ทำได้ก็คือชะลอให้มันช้าลงนิดนึง

แล้วพอคุณสูญเสียความทรงจำ คุณก็เสียทุกอย่าง ผู้คนก็เลยกลัวอัลไซเมอร์มากกว่าโรคอื่นๆ เพราะเขาจะถูกบอกว่า ขอโทษนะ มันมีแต่จะแย่ลง บางทีอาจจะชะลอได้นิดหน่อย คุณทำได้มากที่สุดแค่นั้น

ทีนี้ เหตุผลที่ผมคิดว่าอะไรดีต่อหัวใจก็ควรจะดีต่อสมอง คือกลไกหลายอย่างนี้ที่มีผลต่อโรคหัวใจมันก็มีผลกับโรคอีกหลากหลายมาก โรคอัลไซเมอร์หนึ่งในสามเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยง 7 อย่าง[00:30:00]ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยเดียวกับที่สัมพันธ์กับโรคหัวใจ การศึกษาต่ำ ความดันเลือดสูง เบาหวาน การไม่เคลื่อนไหว การสูบบุหรี่ โรคซึมเศร้า อะไรพวกนี้

อย่างที่บอกไป ผมคิดว่าเราอยู่ในจุดที่อัลไซเมอร์มันคล้ายกับสถานการณ์ของโรคหัวใจเมื่อก่อน หรือตามที่คำพังเพยบอกว่าการป้องกันออนซ์เดียวมีค่าเท่าการรักษาหนึ่งปอนด์ เรารู้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ไม่มากนักสามารถชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมของคนไข้ได้ ผมก็สงสัยว่าถ้าปรับเปลี่ยนให้มากขึ้นอีกจะหยุดหรือย้อนการดำเนินของโรคได้ไหม ตอนนี้เราก็กำลังทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้อยู่

[00:30:30] ทีนี้ มียาตัวเดียวที่ได้รับอนุมัติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสำหรับโรคอัลไซเมอร์ ใช้เงินกันไปหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อหายาแต่ก็ล้มเหลวกันหมด ยาตัวนี้คืออะดูแคนูแมบ ซึ่งหลายคนก็คิดว่าไม่ควรจะให้ผ่านการอนุมัติ แต่มันก็สะท้อนว่าผู้คนมีความกระเสือกกระสนต้องการอะไรสักอย่างที่เป็นความหวังแค่ไหน เพราะไม่มีอะไรอย่างอื่นได้ผลเลย

ยานี้ได้แค่ชะลออัตราการดำเนินของโรคลงไปนิดหนึ่ง คนหนึ่งในสามมีเลือดออกในสมองหรือสมองบวมแล้วต้องหยุดยา เสียค่ายาคนละ 56,000 ดอลลาร์ ผมได้อ่านบทความหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า 50% ของเบี้ยประกันสุขภาพเมดิแคร์ประเภทบี[00:31:00]ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากยาตัวนี้ตัวเดียวซึ่งไม่ได้ให้ผลดีขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าผู้คนโหยหาความหวังกันแค่ไหน

ผมหวังอยู่ว่างานวิจัยของเราจะพบว่ามันดีขึ้น ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ แต่ต้องรอติดตามดู
ข้อคำนึงสำหรับทั่วโลกของเรื่องนี้ โดยเฉพาะว่านี่เป็นการประชุมนานาชาติคือ อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่า อาหารการกินแบบเอเชียนี่แหละคือสาเหตุที่โรคหัวใจและเบาหวานและมะเร็งต่อมลูกหมากและเต้านมและลำไส้ใหญ่และอื่นๆ และโรคอ้วน [00:31:30] ถึงได้มีน้อยมากในเอเชียเมื่อ 50 หรือ 60 ปีที่แล้ว เพราะมันเป็นรูปแบบการกินที่ดีต่อสุขภาพที่สุดอย่างหนึ่ง

และแน่นอนผู้คนสมัยนั้นก็มีเรื่องต้องออกกำลังด้วย มีสายสัมพันธ์ครอบครัวที่เข้มแข็ง มีแนวปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ช่วยบรรเทาปัญหา ตามที่แดน บิวท์เนอร์ ที่เขียนเรื่องบลูโซนส์ได้พบ แต่น่าเสียดายว่าเรากำลังส่งออกวิถีการกินและวิถีการตายของเราไปจากสหรัฐฯ

น่าเสียดายที่คนในหลายประเทศมากกำลังเริ่มกินแบบเราและใช้ชีวิตแบบเราและตายแบบเรา แต่ถ้าเราจะพลิกกระแสนี้ได้ ตอนนี้แหละ[00:32:00]คือเวลาที่จะเริ่มทำ แล้วทุกวันนี้มีคนตายในเอเชียจากโรคเรื้อรังมากกว่าจากเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงแย่ลงไปแค่ไหน

แล้วบ่อยครั้งหลายคนก็จะถาม มีอะไรที่ฉันตัวคนเดียวทำได้บ้างที่จะช่วยอะไรสักนิดกับภัยคุกคามทั้งหลายของโลกทุกวันนี้ ทั้งภาวะโลกร้อน และช่วยผู้คนอดอยาก และการทำลายป่าแอมะซอน และอื่นๆ อีก ซึ่งก็ปรากฏว่าเรื่องสำคัญพื้นๆ [00:32:30] อย่างสิ่งที่เราใส่ปากกินทุกวันมันมีผลได้กับทั้งหมดนี้

และผมพบว่าถ้าเราสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เราทำกับการสำนึกถึงความหมายสำคัญ ถ้ามันเปี่ยมความหมายแล้ว มันก็ยั่งยืน แล้วมันก็ปรากฏว่าภาวะโลกร้อน วิกฤตความอดอยาก วิกฤตโลกร้อน วิกฤตสุขภาพ และการทำลายป่าแอมะซอน ทั้งหมดมันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรากินทุกวัน

และสิ่งที่ดีต่อตัวคุณมันก็ดีต่อโลกด้วย อะไรที่ยั่งยืนในสำหรับบุคคลก็ยั่งยืนสำหรับโลก ปรากฏว่า ตอนนั้นผมเป็นคณะกรรมการมูลนิธิธนาคารอาหารซานฟรานซิสโกเลย[00:33:00]ได้รู้ว่าเด็กหนึ่งในห้าคนในแถบเบย์แอเรียของซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นพื้นที่ร่ำรวยมาก ต้องเข้านอนโดยไม่มีกินทุกคืน มันช่างน่าสมเพช เราต้องทำได้ดีกว่านั้นสิ

แล้วมันก็ปรากฏว่าเราต้องใช้ทรัพยากรมากกว่า 14 เท่า เพื่อผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์หนึ่งปอนด์ เทียบกับโปรตีนจากพืช ถ้าทุกคนจะกินอาหารที่ทำจากพืชเกือบทั้งหมดแล้ว มันจะมีอาหารมากพอที่จะให้ทุกคนกิน จะไม่มีใครต้องหิวเลย

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เวลาที่เราแค่เลือกที่จะงดเนื้อในวันจันทร์ มันก็ทำให้ทางเลือกเหล่านี้เปี่ยมความหมายและทำให้มันยั่งยืน แล้วปรากฏว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนเกิดจาก[00:33:30]การบริโภคปศุสัตว์มากกว่าการคมนาคมทุกรูปแบบรวมกันเสียอีก ซึ่งมันก็ดีที่จะขับรถคันเล็กลงหรือรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผมก็ใช้ แต่ถ้าเราตระหนักได้ด้วยว่าสิ่งที่เรากินทุกวันมันก็มีผล เราก็ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้

แล้วจากมุมมองต้นทุนสาธารณสุข อย่างที่ผมบอกก่อนหน้านี้ว่า 86% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ มาจากโรคเรื้อรังที่มักป้องกันได้หรือพลิกผันย้อนกลับได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งใช้ต้นทุนแค่เศษเสี้ยวเดียว [00:34:00] และผลข้างเคียงก็มีแต่เรื่องดี แล้วเราก็จะสามารถจัดสรรบริการสุขภาพที่ดีขึ้นให้คนได้มากขึ้นในต้นทุนที่น้อยลงด้วยวิธีนี้ โดย อย่างที่บอกไปคือปิดก๊อก โดยรักษาสาเหตุ
แล้วเวชศาสตร์วิถีชีวิตก็ช่วยประหยัดเงินได้เร็วมาก

มันมีข้อถกเถียงอยู่ว่าการป้องกันมันช่วยประหยัดเงินได้จริงหรือแค่ชะลอเวลาที่จะต้องเสียเงินออกไป ซึ่งเรื่องนี้ก็คุยกันได้ แต่การนำมาใช้รักษาสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ มันช่วยประหยัดเงินได้อย่างมากตั้งแต่ปีแรก เพราะ 5% [00:34:30] เกือบ 80% ของค่าใช้จ่ายสาธารณสุขมาจาก… ขออภัยครับ ค่าใช้จ่ายสาธารณสุขส่วนใหญ่นั้นมาจากประชากร 5% พวกนี้คือคนที่เป็นโรคเรื้อรัง

และค่าใช้จ่ายสาธารณสุข 22% มาจากประชากรแค่ 1% เท่านั้น และโรคหัวใจก็เป็นอันดับหนึ่งในนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งเป้ามุ่งที่คนที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคแล้ว เราก็จะเห็นการประหยัดต้นทุนตั้งแต่ปีแรกได้อย่างชัดเจน และเราก็ทำมาแล้ว การศึกษาแรก[00:35:00]เราทำร่วมกับกองทุนประกันมิวชวลออฟโอมาฮา ซึ่งทำในแปดสถานที่ มีศูนย์วิชาการสี่แห่ง ที่ยูซีเอสเอฟ ที่ฮาร์วาร์ด ที่เบธอิสราเอลนิวยอร์ก ที่สคริปส์ในลาฮอยา แล้วก็ที่โอมาฮา เดอมอยน์ เซาท์แคโรไลนา ฟลอริดา ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนที่นั่น

สิ่งที่เขาทำก็คือเสนอโปรแกรมวิถีชีวิตของผมให้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อย่างนั้นจะต้องใส่สเตนท์หรือผ่าตัดบายพาส เสนอให้เป็นทางเลือกใหม่แยกต่างหาก แล้วคนเกือบหนึ่งในสาม… [00:35:30] ขออภัยครับ คนเกือบ 80% ก็สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดซึ่งทีแรกคาดว่าจะต้องทำได้ และมิวชวลออฟโอมาฮาก็พบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เกือบ 30,000 ดอลลาร์ต่อคนในปีแรก

การแสดงการประหยัดต้นทุนในปีแรกเป็นเรื่องสำคัญในประเทศนี้ เพราะคนประมาณหนึ่งในสามเปลี่ยนงานทุกปี และก็มักจะเปลี่ยนประกันทุกปี บริษัทประกันก็เลยต้องถามว่า ถ้าต้องใช้เวลาเกินหนึ่งปีกว่าต้นทุนจะลด เราจะลงทุนเพื่อประโยชน์ในอนาคตที่จะตกเป็นของคนไปทำไม ทีนี้พอเราแสดงให้เห็นการลดต้นทุนในปีแรกได้ มันก็เป็นเครื่องพลิกสถานการณ์[00:36:00]ได้เลย

ไฮมาร์คบลูครอสบลูชีลด์เขาไม่ได้ออกเงินประกันครอบคลุมโปรแกรมพลิกผันโรคหัวใจของผม แต่เขายังดำเนินโปรแกรมที่ศูนย์ 26 แห่งในเวสต์เวอร์จิเนีย เนบราสกา และเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นสามพื้นที่ในประเทศที่ทำการเปลี่ยนวิถีชีวิตมากๆ ได้ค่อนข้างยาก

สิ่งที่เขาพบก็คือเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่จับคู่ตามอายุ เพศ และความรุนแรงของโรคแล้ว ค่าใช้จ่ายตอนต้นก็เท่ากัน แต่หลังจากแค่ 9 สัปดาห์ก็ต่ำกว่ากัน 50% แล้วถึงตัวโปรแกรมจะนานแค่ 9 สัปดาห์ แต่ 3 ปีถัดมา[00:36:30]เขาก็ยังประหยัดต้นทุนได้อยู่อย่างที่เห็น เพราะฉะนั้นถ้าคุณเปลี่ยนการเบิกจ่ายระบบประกัน คุณก็เปลี่ยนแนวทางการแพทย์ได้ และอาจจะการศึกษาของแพทย์ด้วย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ

พอไฮมาร์คเลือกดูกลุ่มคนที่ใช้เงินไปอย่างน้อย 25,000 ดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ก็พบว่าปีถัดมานั้นลดค่าใช้จ่ายไปได้สี่เท่าตัว นี่เป็นการประหยัดต้นทุนได้มหาศาล

ในการ์ตูนนี้ หมอบอกว่า มีทางเลือกคือให้ผมผ่าตัด หรือคุณต้องคุมอาหารเคร่งครัด แล้วคนไข้ก็บอกว่า งั้นผ่าตัดดีกว่า ประกันของผมไม่ครอบคลุมการคุมอาหารเคร่งครัด ซึ่งก็สะท้อน[00:37:00]ความจริงที่น่าเศร้า ผมก็เลยตระหนักว่าต่อให้ผมทำวิจัยพันครั้ง มีคนไข้ล้านคน มันก็ไม่แพร่หลายถ้าเราไม่แก้ไขการเบิกประกัน

ซึ่งหลังจากทบทวนหลักฐานมา 16 ปี ผมก็ต้องขอบคุณมากที่ซีเอ็มเอส ซึ่งคือหน่วยงานกลางที่ดูแลระบบประกันเมดิแคร์และเมดิเคด ได้ตั้งประเภทการเบิกจ่ายขึ้นมาใหม่เพื่อครอบคลุมโปรแกรมพลิกผันโรคหัวใจของผม เรียกว่าการฟื้นฟูสุขภาพหัวใจอย่างเข้มข้น ซึ่งก็เป็นตัวพลิกสถานการณ์เลยเพราะผมขอย้ำอีกครั้ง ถ้าเปลี่ยนการเบิกจ่ายประกัน [00:37:30] คุณก็เปลี่ยนแนวทางการแพทย์ได้ และอาจจะการศึกษาของแพทย์ด้วย

ในปี 2010 เราใช้เงินไปเกือบ 8 หมื่นล้านเหรียญไปกับการรักษาแค่สองอย่างนี้ คือการทำบอลลูนกับการผ่าตัดบายพาส ซึ่งเสี่ยงอันตราย แพง และไม่ค่อยจะได้ผล มีงานวิจัยทดลองสุ่ม 8 งานเกี่ยวกับการทำพีซีไอ คือการสวนหัวใจทำบอลลูนใส่สเตนท์ เขาพบผลจากทั้ง 8 งานว่ามันไม่มีประโยชน์ ไม่พบประโยชน์ในการป้องกันการตาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การต้องสวนหัวใจหรือผ่าตัดฉุกเฉิน [00:38:00] หรืออาการแน่นหน้าอก

ซึ่งหมอโรคหัวใจหลายคนก็จะบอกว่า โอเค มันอาจจะไม่ได้ทำให้คนไข้อายุยืนขึ้น อาจจะไม่ได้ป้องกันหัวใจขาดเลือด แต่อย่างน้อยอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกก็หายไป มันก็ยังคุ้มที่จะทำเพื่อเหตุผลนี้ ซึ่งก็มีคนทำวิจัย ผมไม่รู้ว่าเขาผ่านกรรมการจริยธรรมมาได้ยังไง งานวิจัยที่ลอนดอน ตีพิมพ์ในเดอะแลนเซต เขาเอาคนไข้ชายหญิงที่เป็นโรคหัวใจที่เข้าข่ายที่จะทำบอลลูนใส่สเตนท์มา

เขาสุ่มแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม ครึ่งหนึ่งได้ใส่สเตนท์ อีกครึ่งหนึ่งใส่สายสวนเข้าไป[00:38:30]ถึงหัวใจแล้วก็เอาออกโดยไม่ทำอะไร เป็นการใส่สเตนท์หลอก แล้วอาการแน่นหน้าอกก็ลดลงเท่ากันในทั้งสองกลุ่ม แสดงว่าผลมันมาจากปรากฏการณ์ยาหลอก ไม่ได้มีประโยชน์จริงๆ มาจากตัวสเตนท์เอง

งานวิจัยอีกงานหนึ่งศึกษาคนมากกว่าพันคน พบว่าการผ่าตัดบายพาสไม่ได้ช่วยยืดอายุยกเว้นในคนกลุ่มเล็กมากๆ ที่มีการอุดตันที่โคนหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจฝั่งซ้ายและการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายไม่ดี อันนี้เป็นบันทึกมติตอนที่เมดิแคร์ตกลงให้โปรแกรมพลิกผันโรคหัวใจของผมเบิกได้ ซึ่งเป็นเครื่องพลิกสถานการณ์จริงๆ [00:39:00] และตอนนี้บริษัทประกันอีกหลายเจ้าในสหรัฐฯ ก็ให้เบิกได้แล้วเช่นกัน

ไม่กี่เดือนก่อน เมดิแคร์ได้ตกลงขยายการเบิกประกันให้ครอบคลุมการสอนคนที่บ้านผ่านซูม ก่อนหน้านั้นเราต้องอบรมผ่านโรงพยาบาลกับคลินิกกับกลุ่มแพทย์ แล้วคุณก็ต้องอยู่บ้านใกล้ๆ ขับรถไปศูนย์เหล่านี้ได้ถึงจะมีโอกาสใช้บริการ แต่ตอนนี้คุณอยู่ที่ไหนก็ได้แล้วก็สามารถทำอยู่ที่บ้านได้อย่างเป็นส่วนตัว ซึ่งก็เป็นเครื่องพลิกสถานการณ์อีกอย่างที่จะช่วยคนได้อีกมาก [00:39:30] ซึ่งเราก็ขอบคุณมาก

ทีนี้ก็มีงานวิจัยที่ออกมาไม่กี่เดือนก่อน… ขออภัยครับ อันนี้ออกมาเมื่อปี 2003 ซึ่งเปรียบเทียบคนที่เข้าโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก กับโปรแกรมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา และในทุกตัวชี้วัดก็เห็นว่าผลมันดีขึ้นมากกว่าเวลาที่คนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้มากกว่าแทนที่จะออกกำลังกายอย่างเดียว รวมถึงความดัน คอเลสเตอรอล ไขมัน น้ำตาลในเลือด [00:40:00] ไขมันในอาหาร และอื่นๆ

ทีนี้ ไม่กี่เดือนก่อน มีอีกงานวิจัยที่เปรียบเทียบการฟื้นฟูหัวใจแบบดั้งเดิมกับโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจแบบเข้มข้นที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก เขาพบว่าคนไข้สามารถปฏิบัติตามโปรแกรมของเราได้สำเร็จมากกว่าการออกกำลังกายอย่างเดียว ซึ่งโปรแกรมของเราก็มีการออกกำลังกาย แต่ยังมีการทำสมาธิ จัดการความเครียด กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และการคุมอาหารที่เข้มกว่ามากด้วย

แต่การปฏิบัติตามโปรแกรมของเรากลับดีกว่า แล้วมันก็กินเวลานานกว่ากันสองเท่าด้วย [00:40:30] คนก็บอกว่า เอ๊ะ มันเป็นไปได้ยังไง แล้วก็ คน 96% ปฏิบัติตามได้ครบ 72 ชั่วโมง ขณะที่การฟื้นฟูหัวใจแบบดั้งเดิมมีแค่ 68% ที่ปฏิบัติครบ 36 ชั่วโมง และเราก็พบการพัฒนาที่ดีกว่ามาก

เหตุผลก็คือ ผมขอย้ำอีกที เวลาคุณสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก คุณก็ได้ประโยชน์มาก ยิ่งคุณเปลี่ยนมาก คุณก็ยิ่งรู้สึกดี ตัวคุณก็ยิ่งดีในทุกๆ ทางที่วัดได้ และสำหรับหลายคน นี่เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ไม่ใช่แค่เพื่อให้อายุยืนขึ้นหรือเพื่อป้องกันสิ่งแย่ๆ ไม่ให้เกิด [00:41:00] เพราะความกลัวไม่ใช่สิ่งจูงใจที่ยั่งยืน แต่เพราะสิ่งที่คุณได้กลับมามันมากกว่าสิ่งที่ยอมเสียไปในทุกทางที่วัดได้

งานนี้ทำกันเป็นทีม ต้องมีหมอหรือพยาบาล มีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียด มีนักสรีวิทยาการออกกำลังกาย นักโภชนาการ และนักจิตวิทยา และทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีม แล้วก็ให้เข้าร่วม 18 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 9 สัปดาห์ ออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมง จัดการความเครียดหนึ่งชั่วโมง เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ฟังบรรยายพร้อมรับประทานอาหารอีกชั่วโมง แล้วเดี๋ยวผมจะเล่าเรื่องกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเพิ่มตอนหลัง

ย้ำอีกครั้งว่าถ้ามันเบิกจ่ายได้ มันก็ยั่งยืน เรื่องนั้นถึงได้สำคัญ [00:41:30] แต่นอกจากนั้นถ้ามีความสุขกับมันได้ มันก็ยั่งยืน แล้วคุณก็จะรู้สึกดีขึ้นเร็วมาก คนส่วนใหญ่พบว่าพอเปลี่ยนเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลง จากการกลัวตาย เป็นความสุขที่จะมีชีวิต แล้วถ้ามันเปี่ยมความหมาย มันก็ยั่งยืน

ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ประเพณีทางจิตวิญญาณและศาสนาเกือบทุกอย่างมีแนวปฏิบัติเรื่องอาหารคือไม่ว่า… ซึ่งมันก็มีหลากหลายด้วย ศาสนาหนึ่งบอกว่ากินนี่ได้แต่ห้ามกินโน่น หรือได้แค่บางวันในสัปดาห์หรือบางเวลาในแต่ละวันหรือบางเดือนในรอบปี หรืออะไรก็แล้วแต่ [00:42:00] พระเจ้าสับสนหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนอาหารกับปฏิบัติทางศาสนาต่างๆ นี้จะมีประโยชน์ในตัวเองยังไงบ้าง แต่แค่การเลือกที่จะไม่กินอาหารบางอย่าง ผมคิดว่ามันทำให้การตัดสินใจเลือกเช่นนั้นมีความหมาย เหมือนถ้าคุณเลือกที่จะรักเดียวใจเดียว มันคือการถูกตีตรวนจองจำหรือเปล่า

ก็อาจจะมองแบบนั้นได้ หรือจะมองว่าฉันเลือกที่จะอยู่กับคนคนเดียวเพราะมันทำให้ความสัมพันธ์มีความหมายมากขึ้นมหาศาลเวลาที่เลือกเช่นนั้น และฉันก็เปิดใจได้เต็มที่ยิ่งขึ้น เพราะคุณจะใกล้ชิดกับใครสักคนได้แค่[00:42:30]เท่าที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย เพราะเวลาคุณเปิดใจกับใครสักคนคุณก็อ่อนไหวและอาจเจ็บตัวได้ ฉะนั้นถ้าคุณตกลงปลงใจกับใครสักคนจริงๆ คุณก็ต้องตกลงที่จะไม่ทำร้ายกันและกัน และคุณก็เปิดใจได้กว้างขึ้นและกว้างขึ้นและกว้างขึ้น และเมื่อความสัมพันธ์ยิ่งใกล้ชิด มันก็ยิ่งเปี่ยมสุขสุนทรีย์และเสน่หาและช่วยเยียวยามากขึ้นเท่านั้น

และอีกครั้ง สิ่งที่คุณได้มามันมากกว่าสิ่งที่ยอมสละไปมาก มันจึงเปี่ยมความหมาย และยั่งยืน และมันก็กลายเป็นเรื่องของความสุขที่จะมีชีวิตแทนที่จะเป็นการกลัวความตาย และมันก็เร็วมากเพราะกลไกทางชีวภาพเหล่านี้มันตอบสนองเป็นพลวัต คนส่วนใหญ่จึงรู้สึก[00:43:00]ดีขึ้นเร็วมากๆ ผมขอย้ำอีกทีว่ามันเปลี่ยนเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงจากการกลัวความตายเป็นความสุขที่จะมีชีวิต

ทีนี้ โรคระบาดใหญ่อีกอย่างนอกจากโรคหัวใจกับเบาหวานกับโควิด-19 ก็คือความเหงาและโรคซึมเศร้า ในสหรัฐฯ มันเริ่มมาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว และปัจจุบันก็กำลังเห็นในเอเชียและทั่วโลก ซึ่งน่าเสียดาย ว่ามันเกิดการแตกสลายของเครือข่ายทางสังคมที่เคยช่วยให้ผู้คนได้รู้สึกถึงความรักและความสัมพันธ์กับชุมชน

ในสหรัฐฯ เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้คนส่วนใหญ่จะมีชุมชนหรือกลุ่มสังคมอยู่ เขา[00:43:30]มีละแวกบ้านที่มีคน 2 หรือ 3 รุ่นที่โตมาด้วยกัน มีครอบครัวขยายที่พบปะกันเป็นประจำ มีงานที่รู้สึกมั่นคง ที่ทำมา 10 ปีหรือมากกว่า และก็ได้รู้จักและสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน

เขามีโบสถ์คริสต์หรือยิวหรือมัสยิดหรือชมรมหรืออะไรสักอย่างที่ไปเข้าร่วมเป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้คนจำนวนมากไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย ซึ่งคุณอาจจะบอกว่า นั่นมันก็คือชีวิต คือความเจริญก้าวหน้า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ก้าวหน้าเลยเพราะงานวิจัยหลายต่อหลายงานต่างแสดงให้เห็นว่าคนที่เหงาและซึมเศร้ามีโอกาสที่จะป่วยและตายก่อนวัยอันควรมากขึ้นเป็น 3 ถึง 10 เท่า[00:44:00]เมื่อเทียบกับคนที่รู้สึกมีความรักความผูกพันและเป็นส่วนของชุมชน

แล้วผมก็ไม่รู้ว่ามีอะไรในทางการแพทย์ที่มีผลมากขนาดนั้นอีกเลย มันเป็นผลโดยตรงผ่านกลไกที่เราคุยกันมา แต่นอกจากนั้นมันก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย แล้วสิ่งหนึ่งที่มันทำได้ อะไรก็ตามที่พาให้คนเราได้มารวมกันมันมีพลังเยียวยามาก คำว่าฮีลหรือเยียวยารักษามาจากรากศัพท์แปลว่าทำให้สมบูรณ์ โยคะมาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงการเชื่อมต่อ สมาน รวมตัว พวกนี้ต่างเป็นแนวคิดเก่าแก่ที่เรากำลังค้นพบใหม่

กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน[00:44:30]ของเราจึงไม่ได้แค่ช่วยให้คนคุมอาหารได้ แต่มันสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้คนจะสามารถถอดเกราะป้องกันทางอารมณ์แล้วพูดคุยกันอย่างเปิดเผยตามความเป็นจริงว่าเรื่องราวในชีวิตเป็นยังไงบ้างโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครล้อหรือวิจารณ์หรือตำหนิหรือไม่ยอมรับ

เวลาที่คุณโตมาในครอบครัวที่มีคน 2 หรือ 3 รุ่น… ในละแวกบ้านที่มีคน 2 หรือ 3 รุ่น หรือในครอบครัว ครอบครัวขยาย พวกเขารู้จักคุณ เขารู้จักคุณจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้จักหน้าเฟซบุ๊กหรือประวัติย่อของคุณ [00:45:00] เขารู้ด้านมืดของคุณ เขารู้ว่าคุณเคยทำอะไรพลาดบ้าง เขารู้ตอนนั้นที่คุณเคยโดนจับได้ว่าเสพยาหรือที่คุณเคยคิดสั้นหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณก็รู้ว่าเขารู้ แล้วเขาก็รู้ว่าคุณรู้ว่าเขารู้ และมันมีอะไรที่เป็นธรรมชาติเบื้องลึกมาก เวลาที่รู้สึกว่ากำลังเปิดเผยให้เห็นหมดจด แบบฉันเห็นคุณ ในหนังเรื่องอวตารของเจมส์ แคเมรอน ซึ่งดีมาก ฉันเห็นคุณอย่างหมดจด และฉันก็จะอยู่เคียงข้างคุณ

งานวิจัยหนึ่งที่ผมอ้างถึงในหนังสือใหม่ของผม หนังสืออันดูอิท ที่เพิ่งวางแผงแบบปกอ่อน คือยิ่งคุณใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมาก [00:45:30] คุณจะยิ่งซึมเศร้า เพราะมันไม่ใช่ความใกล้ชิดที่แท้จริง มันเหมือนทุกคนมีชีวิตสมบูรณ์แบบ แต่นั่นมันเพราะแต่ละคนไม่โพสต์เรื่องด้านร้ายด้านมืดของตัวเอง เขาโพสต์กันแต่นี่ฉันอยู่หน้าหอไอเฟล แล้วก็นี่ฉันกำลังฉลองลูกๆ เรียนจบ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วมันก็ทำให้ดูเหมือนคุณเป็นคนเดียวที่มีปัญหาในชีวิต แล้วมันก็ทำให้คนยิ่งไม่มีความสุข

การสร้างความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดและความรู้สึกปลอดภัยนั้นจึงเป็นส่วนของการเยียวยารักษาที่ทรงพลังมาก และสำหรับผม รากลึกที่สุดของการเยียวยารักษาในความเข้าใจ[00:46:00]อันจำกัดของผม มันคือเวลาที่เราช่วยให้คนผ่านพ้นจากความรู้สึกโดดเดี่ยวแล้วสร้างเป็นความรู้สึกรักและผูกพันและเป็นส่วนของชุมชน

ทีนี้ ตัวอย่างเรื่องนี้ เดวิด สปีเกล ได้ทำวิจัยที่ดีมากตีพิมพ์ในเดอะแลนเซต เขาศึกษาผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ซึ่งทุกคนทำคีโมกับฉายรังสีกับผ่าตัดเหมือนกัน แต่นอกจากนั้น มีกลุ่มหนึ่งที่ได้พบกันครั้งละ 90 นาทีทุกสัปดาห์ ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน และได้รับการส่งเสริมให้พูดคุยอย่างเปิดเผยและจริงใจ[00:46:30]ว่าการเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายมันแย่แค่ไหน โดยแลกเปลี่ยนกับคนที่เข้าใจเพราะเขาเองก็ต่างเผชิญอยู่กับสิ่งเดียวกัน

ซึ่งเขาก็ทำไป 1 ปี สัปดาห์ละครั้ง 90 นาที ไป 1 ปี 5 ปีต่อมาเขาบอกผมว่าเขาดูข้อมูลแล้วแทบตกเก้าอี้เพราะผู้หญิงที่ได้เข้ากลุ่มมีชีวิตอยู่นานกว่ากันสองเท่า เห็นได้จากเส้นสีน้ำเงิน ผู้หญิงกลุ่มนี้มีชีวิตรอดนานเป็นสองเท่า มากกว่าสองเท่า เทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้เข้ากลุ่มเพื่อน และนั่นก็เป็นข้อแตกต่างอย่างเดียว การรักษาตามสูตรอื่นๆ เหมือนกันหมด

ทีนี้ คนที่กังขาอาจจะบอกว่า โอ๊ย ขอทีเถอะ คุณจะบอกว่าการมานั่งพูดคุยระบายอารมณ์[00:47:00]จะทำให้ฉันอายุยืนขึ้นถ้าเป็นมะเร็งเต้านมเหรอ จะเป็นไปได้ยังไง แต่มันคือความจริง มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบถึงเนื้อถึงตัวกัน เราเป็นสัตว์สังคม เผ่าพันธุ์เราอยู่รอดมาได้ก็แบบนี้ แล้วพอเราจัดการกันที่ระดับนั้นได้ เราก็พบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะเลือกและรักษาแนวทางวิถีชีวิตที่ส่งเสริมชีวิตได้มากกว่าแนวทางที่บ่อนทำลายตนเอง

จากที่ทำวิจัยพวกนี้ ผมก็ได้รู้จักกับผู้คนเหล่านี้ดีมาก แล้วผมก็จะถามเขาว่า สอนผมหน่อยสิ ทำไมคุณถึงสูบบุหรี่ และทำไมถึงกินมากเกิน และดื่มมากเกิน และทำงานหนักเกิน และเสพยาแก้ปวด [00:47:30] และเล่นวิดีโอเกมเยอะขนาดนี้ พฤติกรรมเหล่านี้สำหรับผมมันคือความไม่สามารถปรับตัว มันเป็นอันตราย แล้วเขาก็จะบอกว่า คุณไม่เข้าใจ ดีน คุณไม่รู้อะไรเลย พฤติกรรมพวกนี้ไม่ใช่ไม่ปรับตัว มันคือการปรับตัวล้วนๆ เลย มันช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บปวด ความเครียด ความเหงาได้

ผมมีคนไข้ที่เอาซองบุหรี่ให้ดูแล้วบอกว่า ฉันมีเพื่อน 20 คนอยู่ในซองบุหรี่นี้ และเขาก็อยู่เคียงข้างฉันเสมอ คนอื่นไม่มีใครเลย คุณจะพรากเพื่อนฉันไป 20 คน คุณจะให้อะไรชดเชย หรือเขาจะบอกว่าอาหารมันเติมเต็มความว่างเปล่า หรือเหล้าทำให้ความเจ็บปวดมันชา หรือไขมันมันเคลือบประสาทและทำให้ความเจ็บปวดชา [00:48:00] หรือยาแก้ปวดโอปิออยด์มันทำให้ความเจ็บปวดชา เราเลยมีภาวะยาแก้ปวดโอปิออยด์ระบาด หรือวิดีโอเกมมันช่วยให้ลืมความเจ็บปวด หรือการทำงานตลอดเวลาเป็นวิธีหลีกหนีความเจ็บปวดที่สังคมยอมรับมากกว่า

ฉะนั้นในโปรแกรมของผม และในเวชศาสตร์วิถีชีวิตทั่วไปด้วย ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การให้ข้อมูล คือข้อมูลก็สำคัญ แต่มันมักไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้คนสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในวิถีชีวิตของเขา ถ้ามันพอก็คงไม่มีใครสูบบุหรี่ มันไม่ใช่ว่าผมบอกว่า นี่ ผมต้องการให้คุณเลิกบุหรี่ มันแย่ต่อสุขภาพ รู้หรือเปล่า แล้วเขาจะตอบว่า [00:48:30] ไม่เคยรู้เลย ฉันจะเลิกวันนี้แหละ แน่ล่ะทุกคนรู้กันอยู่แล้ว มันเขียนอยู่บนบุหรี่ทุกซอง อย่างน้อยก็ในประเทศนี้

ดังนั้นแค่ข้อมูลจึงไม่พอ และการเน้นที่พฤติกรรมก็ไม่พอ เราต้องมุ่งเน้นที่ระดับลึกลงไปที่เราได้พูดถึง ความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว คนที่เข้าร่วมโปรแกรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตของผมนั้นคะแนนภาวะซึมเศร้าลดลงกันไปครึ่งหนึ่ง เรามีข้อมูลจากคนเป็นหมื่น มันได้ผลดีกว่ายาต้านซึมเศร้าเสียอีก แม้เราจะยังไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องภาวะซึมเศร้าโดยตรง

ฉะนั้นเวลาเราจัดการกันที่ระดับนั้นได้ [00:49:00] เราก็พบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะเลือกและรักษาแนวทางวิถีชีวิตที่ส่งเสริมชีวิตได้มากกว่าแนวทางที่บ่อนทำลายตนเอง ย้ำอีกครั้งว่าคุณจะใกล้ชิด ความผูกพันใกล้ชิดนั้นเป็นเครื่องเยียวยา แต่คุณจะใกล้ชิดได้แค่เท่าที่คุณจะเปิดใจและยอมอ่อนไหวได้ และคุณจะทำอย่างนั้นได้ก็แค่เท่าที่คุณรู้สึกปลอดภัย ความไว้ใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง

ฉะนั้นในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนของเรา เราจะสร้างความไว้ใจโดยบอกว่าอะไรที่เกิดขึ้นในกลุ่มก็เก็บไว้แค่ในกลุ่ม ต้องรักษาความลับ คุณจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ เราขอให้ผู้คนพูดถึงความรู้สึกเพราะความรู้สึกของเราคือสิ่งที่เชื่อมให้เรา[00:49:30]สัมผัสกันได้ อย่างที่ผมบอกไป มันจะเคยมีคนบอกว่า โปรแกรมของคุณมันชอบถึงเนื้อถึงตัวจังเลย แล้วผมก็จะร้อนตัวแล้วผมก็จะอธิบายถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์มากมายที่เรามี แต่แล้วผมก็คิดว่า รู้อะไรไหม มันก็ถึงเนื้อถึงตัวจริงๆ เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบถึงเนื้อถึงตัว นั่นแหละทำไมมันถึงได้ผลขนาดนี้ เพราะพอเราจัดการกันที่ระดับนั้นได้ การเยียวยามันก็ยิ่งทรงพลัง

เพราะฉะนั้น ต่อให้คุณดูแลคนไข้อยู่ ก็ลองให้เวลาเพิ่มไม่กี่นาทีแล้วถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง ให้เขารู้ว่าคุณเป็นห่วงเขาหรืออาจจะรักเขาก็ได้ และครอบครัวเขาเป็นยังไงบ้าง [00:50:00] สิ่งเหล่านี้มันสร้างความแตกต่างที่ทรงพลังได้จริงๆ ในกิจกรรมกลุ่มของเรา เราจะขอให้แต่ละคนมุ่งเน้นที่ความรู้สึก เพราะความรู้สึกคือสิ่งที่เชื่อมเรา

ถ้าผมบอกคุณว่า ผมคิดว่าคุณเป็นไอ้บ้า และผมคิดว่าคุณน่ะผิด คนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า ไม่ ฉันต่างหากคิดว่าคุณเป็นไอ้บ้า และคุณนั่นแหละผิด หรือเขาก็จะออกไปเลย ไม่ตอบโต้กลับก็ถอนตัว แล้วถ้าเรามีเป้าหมายที่จะใกล้ชิดกัน นี่มันก็พาไปผิดทาง แต่ถ้าผมบอกความรู้สึก ผมรู้สึกโกรธ ผมรู้สึกไม่พอใจ ต่อให้มันไม่ใช่ความรู้สึกที่ดี [00:50:30] แต่มันก็ช่วยให้คนเข้าถึงมากขึ้น

ฉะนั้นในกลุ่มของเรา เราจะขอให้แต่ละคนหาว่าตัวเองรู้สึกอะไรอยู่ แล้วแจงออกมาเป็นความรู้สึกแทนที่จะเป็นความคิดหรือการตัดสินคนอื่น แล้วมันก็อาจจะดูเหมือนเป็นการเล่นคำยิบย่อย แต่ความแตกต่างมันทรงพลังทีเดียว และผมก็อยากส่งเสริมให้คุณลองทำกับตัวเอง

ทีนี้ อารมณ์หนึ่งเดียวที่พบว่าสัมพันธ์กับโรคหัวใจคือความโกรธความมาดร้ายเป็นประจำ แล้วก็ความซึมเศร้า ซึ่งจริงๆ ก็คือความโกรธที่ถูกพลิกเข้าข้างใน มีคนศึกษาข้อความ 148 ล้านข้อความบนทวิตเตอร์ [00:51:00] แล้วรูปแบบภาษาที่สะท้อนความโกรธความมาดร้ายมากๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีข้อความที่เกรี้ยวกราดมาดร้ายบนทวิตเตอร์เยอะมากตั้งแต่ระดับบนสุดลงมา มันทำนายอัตราตายจากโรคหัวใจได้ดีกว่าปัจจัย 10 อย่างที่เรามักจะวัดกันอย่างเบาหวานและความดันเลือดสูงและความอ้วน

เวลาคุณโกรธใครคนอื่น มันเป็นพิษกับตัวคุณเอง เวลาคุณให้อภัยใครคนอื่น มันเยียวยารักษาตัวคุณ ความเมตตาและการให้อภัยนั้นไม่ได้ให้การยอมรับในสิ่งที่ใครคนอื่นทำ แต่มันปลดปล่อยคุณ[00:51:30]จากผลร้ายของมัน

ตอนที่เนลสัน แมนเดลาได้ออกจากคุกหลังถูกจองจำมา 16 ปีและเขียนหนังสือทางเดินสู่อิสรภาพอันโด่งดัง มีคนถามเขาว่า “คุณเกลียดพวกคนที่คุมขังคุณไหม” แล้วเขาก็ตอบว่า “เขาพรากช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตผมไปหลายปี แต่ถ้าผมเกลียดเขา ผมก็จะยังติดคุกอยู่ในใจตัวเอง” นี่คือวิธีหนึ่งที่เราจะเปลี่ยนสิ่งนั้นได้

และที่สุดแล้ว เทคนิคการทำจิตใจและร่างกายให้เงียบสงบลงนี้มันไม่ใช่เครื่องนำความรู้สึกสุขภาพดีขึ้นมาให้เรา มันเป็นแนวคิดที่ต่างไป[00:52:00]โดยสิ้นเชิง แต่ธรรมชาติของเรา ธรรมชาติพื้นฐานเบื้องลึกของเรา โดยส่วนใหญ่ มันมีข้อยกเว้นทางพันธุกรรมบ้าง แต่ส่วนมากแล้ว ธรรมชาติของเราคือการมีความสุขสุขภาพดี จนเราไปรบกวนมันเข้า

ทีนี้ วัฒนธรรมทั้งหมดของเราสอนเราในทางตรงข้าม อย่างอุตสาหกรรมโฆษณาบอกว่า คุณต้องมีสิ่งโน้นสิ่งนี้ถึงจะมีความสุขมีสุขภาพที่ดีได้ คุณต้องกินยาพวกนี้ ซื้อของพวกนี้ อะไรทั้งหมดนั่น และเมื่อคุณสร้างโลกทัศน์แบบนี้แล้ว ถ้าฉันได้สิ่งที่ยังไม่มีก็คงจะมีความสุขสุขภาพดี ซึ่งส่วนใหญ่คนก็จะเติมสิ่งนั้นว่า [00:52:30] ถ้าฉันมีเงินมากกว่านี้ อำนาจมากกว่านี้ ความงามมากกว่านี้ ความสำเร็จมากกว่านี้ เซ็กส์มากกว่านี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ฉันก็คงจะมีความสุข ผู้คนก็จะรักฉัน เมื่อมีแล้วฉันก็คงจะไม่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวอย่างนี้

พอคุณสร้างโลกทัศน์แบบนั้นแล้ว ผมเรียนรู้มาแล้ว ด้วยบทเรียนราคาแพง ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง โดยรวมแล้วคุณจะรู้สึกแย่ลง เพราะจนกว่าคุณจะได้มันมา ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร คุณก็จะรู้สึกแย่ แล้วความเครียดก็จะเพิ่มขึ้นเพราะเดิมพันมันสูงขึ้น มันไม่ใช่แค่การชนะหรือแพ้ มันเป็นความรู้สึกว่าคุณจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ถ้าได้หรือไม่ได้อะไรมา ความเครียดก็เลยเพิ่มขึ้น ถ้าคุณไม่ได้มา คุณก็เครียด

ถ้า[00:53:00]คนอื่นได้ไปแทน คุณก็ยิ่งเครียดเพราะมันเหมือนยิ่งส่งเสริมแนวคิดว่าโลกนี้คือการแข่งขัน ใครดีใครได้ ทีใครทีมัน คุณได้มากฉันก็ได้น้อย มีโอกาสครั้งเดียวต้องรีบกอบโกย อะไรทั้งหมดนั่น

แต่ต่อให้คุณได้มันมา มันอาจยั่วยวน ณ ขณะนั้น แบบ อ้า ฉันได้มาแล้ว ทีนี้ฉันก็มีความสุขแล้ว แต่มันมักอยู่ได้ไม่นาน มันมักจะมีคำถามตามมาว่า แล้วไงต่อ มันไม่เคยพอ ลองนึกดูว่าคุณเคยคิดสักกี่ครั้งแล้วว่า ถ้าฉันหารายได้ได้ถึง สมมุติว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปี นั่นก็จะพอแล้ว ฉันก็จะมีความสุข [00:53:30] แล้วพอคุณทำได้คุณก็คิดว่า เอ ที่จริง 20,000 อาจจะดีกว่า

คนไข้ของผมคนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยบอกว่า “ผมไม่เคยมีความสุขกับวิวที่เห็นจากยอดเขาเวลาปีนขึ้นมาถึงเลย สายตาผมมันมองไปหายอดต่อไปแล้ว” หรือถ้าไม่ถามว่าแล้วไงต่อ ก็จะมีคำถามว่า แล้วไง ได้อะไรขึ้นมา มันไม่ได้ให้ความรู้สึกเปี่ยมความหมายอย่างยั่งยืนเลย

มีคนไข้คนหนึ่งบอกว่า ความรู้สึกผิดหวังเวลาทำอะไรได้สำเร็จตามเป้าที่คิดว่าจะทำให้มีความสุข แต่มันมีอยู่แค่แป๊บเดียว มันมากจนเขาต้องตั้งเป้าทำอะไรพร้อมๆ กันไว้เป็นโหลตลอดเวลา [00:54:00] แล้ววงจรมันก็ดำเนินไปเรื่อยๆ

ทีนี้ บรรดาฤๅษีสวามีสมัยโบราณและแรบไบของชาวยิวและบาทหลวงและพระและแม่ชีและนักสอนของชาวมุสลิมและอื่นๆ เขาไม่ได้คิดค้นการทำสมาธิและอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อแก้หลอดเลือดอุดตันหรือพลิกผันโรคหรือช่วยให้เก่งกีฬาหรือเรียนได้ดีหรือนำบริษัทได้สำเร็จ มันช่วยทั้งหมดนั้นได้ แต่มันยังมากกว่านั้นมาก มันเป็น จะเรียกว่าเทคนิคทางเวชศาสตร์วิถีชีวิตก็ได้ ที่ทรงพลัง เพื่อการแปรเปลี่ยน ที่จะแปรเปลี่ยนชีวิตของเรา
เพราะการเปลี่ยนแปลงมันยาก

แต่ถ้าคุณต้องทนความเจ็บปวด[00:54:30]มากถึงระดับหนึ่ง แนวคิดของการเปลี่ยนแปลงมันก็เริ่มน่าดึงดูดมากขึ้น แล้วพอคนสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เขาก็รู้สึกดีขึ้น แล้วเขาก็มักจะบอกกับผมทำนองว่า การที่หัวใจขาดเลือดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตฉันเลย แล้วครั้งแรกที่ผมได้ยินผมก็คิดว่า นี่คุณเป็นอะไร บ้าหรือเปล่า แล้วเขาก็จะบอกว่า ไม่ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันหันมาสนใจ แล้วทำให้ชีวิตของฉันมีความสุขและเปี่ยมความหมายขึ้นเหลือเกิน ซึ่งถ้าไม่เจอภาวะนั้นก็คงไม่ได้หันมาสนใจ มันเป็นโอกาส… มันเป็นโอกาสศักดิ์สิทธิ์เลยก็ว่าได้เวลาที่ใครกำลังทุกข์ทนเจ็บปวด แต่เราก็ไม่ค่อยได้ใช้โอกาสนั้น

แล้วสำหรับผม หนึ่งในแกนหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิตคือ[00:55:00]การเข้าไปพบผู้คน ณ จุดที่เขาอยู่ แล้วเวลาที่เขากำลังทนทุกข์ มันก็มีโอกาสและแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเมื่อกลไกทางชีวภาพเหล่านี้มันตอบสนองเป็นพลวัต ทำให้เขาสามารถลดความเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็วเวลาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

แต่เวลาทำสมาธิจนจบแล้ว เวลาที่คุณรู้สึกสุขสงบ คุณจะตระหนักได้ว่าการทำสมาธินั้นไม่ได้นำความสุขสงบสวัสดีมาให้คุณ มันอยู่ตรงนั้นของมันอยู่แล้ว พอคุณไม่ได้ไปรบกวนมัน ถึงจะแค่ชั่วคราว คุณทำจิตใจและร่างกายให้เงียบสงบลง คุณจึงสัมผัสได้ถึง[00:55:30]ความสงบสุขและสุขภาพดีที่อยู่ภายใน และตระหนักได้ว่านั่นคือสถานะธรรมชาติของเรา ไม่ใช่ว่าการทำสมาธิมันเอาอะไรที่คุณไม่มีมาให้ แต่มันช่วยให้คุณไม่ไปรบกวนสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง

ซึ่งมันก็อาจจะฟังดูเหมือนเล่นคำอีก แต่นัยของมันลึกซึ้งจริงๆ เพราะถ้ามันอยู่ข้างนอก ถ้าคุณมีสิ่งที่ฉันคิดว่าฉันต้องการ จะเป็นเงินหรืออำนาจหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณก็จะมีอำนาจเหนือตัวฉัน แต่ถ้ามันเป็นตัวฉันที่ไปรบกวนสุขภาพของตัวเอง ฉันก็สามารถแก้ไขได้ ไม่ใช่ให้โทษตัวเอง [00:56:00] แต่เพื่อเสริมพลังให้ตัวเอง

แล้วคำถามมันก็จะเปลี่ยนจาก ฉันจะต้องทำยังไงถึงจะได้สิ่งที่ฉันคิดว่าฉันต้องการเพื่อที่จะมีความสุขและสุขภาพดี แต่เป็นฉันจะหยุดรบกวนสิ่งที่มีอยู่แล้วได้ยังไง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ฉันทำได้ และมันเป็นพลังแปรเปลี่ยนสำหรับผู้คนได้มากจริงๆ

และมันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมรักงานนี้มาก เพราะมันเป็นโอกาสที่จะได้ช่วยผู้คนใช้ประสบการณ์ของความทุกข์เป็นประตูนำไปสู่การแปรเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง ผมขอเปิดสไลด์กลับขึ้นมาหน่อย อาจารย์ด้านจิตวิญญาณของผม สวามีสัจจิทานันท์ มักมีคนถามเขาว่า “คุณเป็นฮินดูเหรอ” เขาจะตอบว่า “เปล่า [00:56:30] ผมเป็นอันดู” นี่ก็เป็นที่มาของชื่อหนังสือของผมว่า อันดูอิท คือตั้งชื่อเป็นเกียรติให้เขาด้วย และมันก็เป็นปุ่มที่ผมชอบที่สุดบนคีย์บอร์ด ปุ่มอันดูหรือย้อนกลับ

และตอนนี้เราก็มีอะไรอย่างนั้นในชีวิตของเราแล้ว เราสามารถอันดูหรือพลิกผันย้อนการดำเนินไม่เฉพาะของโรคเรื้อรังหลายอย่าง แต่ยังรวมถึงความทุกข์ในชีวิตของเราโดยรวมด้วย แล้วเขาก็มักเขียนคำบนกระดานว่าเจ็บป่วย (illness) แล้ววงรอบตัวไอ (I) กับคำว่าสุขภาพ (wellness) แล้ววงรอบสองตัวแรกคือวี (we) ซึ่งพอเราก้าวผ่านจากไอไปวี จากตัวฉันที่โดดเดี่ยว แยกต่างหาก อยู่กับความเครียด ไปเป็นพวกเรา [00:57:00] คือสุขภาพ ชุมชน นี่ก็คือแก่นสำคัญของการเยียวยารักษา

อัลดัส ฮักซลีย์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง ปรัชญาอมตะ ซึ่งเขาพยายามกลั่นกรองหาว่าประเพณีทางจิตวิญญาณและศาสนาที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายมีจุดร่วมอะไรเหมือนกัน มันคือความเสียสละ การให้อภัย ความเห็นอกเห็นใจ และความรัก เพราะนั่นคือสิ่งที่ช่วยปลดปล่อยเราจากความทุกข์

ถ้าเรามองว่า คุณ เป็นสิ่งที่แยกต่างหาก แยกขาดกัน เป็นสิ่งอื่น [00:57:30] นั่นมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ เราทำสิ่งแย่ๆ กับคุณได้เพราะคุณเป็นสิ่งอื่น คุณต่างจากตัวฉัน แต่ถ้าเราบอกได้ว่าในระดับหนึ่งเราอาจแยกกัน แต่ในอีกระดับหนึ่งเราต่างเป็นส่วนของอะไรที่ใหญ่กว่าที่เชื่อมโยงเราทั้งหมด สำหรับผมนั่นเป็นสิ่งที่มีพลังแปรเปลี่ยนมาก และการทำสมาธิและเทคนิคอื่นๆ แบบนั้น เวลาที่คุณทำจิตใจให้เงียบสงบลงมากพอ นอกจากคุณจะสัมผัสได้ถึงความสุขสงบสวัสดีภายใน แต่คุณอาจจะได้สัมผัสถึงความเป็นหนึ่งเดียวด้วยว่า ในระดับหนึ่งเรามีตัวตนแยกกัน ในอีกระดับหนึ่ง เราต่างเชื่อมโยงถึงกันหมด เราเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่มากกว่าตัวเราเอง

มันคล้ายกับถ้า[00:58:00]เปรียบเทียบกับเครื่องฉายภาพยนตร์สมัยก่อน เวลาคุณเข้าไปโรงหนัง แสงที่เป็นหนึ่งดียวนั้นส่องผ่านแผ่นฟิล์มแล้วก็ฉายให้เห็นเป็นชื่อและภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่แยกกันอยู่บนจอ แต่คุณก็จะเข้าถึงมันไม่ได้เต็มที่ถ้าไม่ตระหนักไปด้วยว่ามันมีสองระดับซ้อนกันอยู่ ว่าเราก็เป็นแสงข้างหลังนั้นเช่นกัน

เหตุผลที่ผมทำงานนี้ก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่าการสมคบคิดของความรัก สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมเคยมีภาวะซึมเศร้าหนักจนเคยคิดสั้น นั่นเป็นประตูของผม [00:58:30] เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเริ่มสนใจทำอะไรพวกนี้ที่มันช่วยผมมาได้มากเหลือเกิน แล้วผมก็ตระหนักได้ว่ามันก็ช่วยคนอื่นได้เช่นกัน ว่าในฐานะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เรามีอภิสิทธิ์และโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะได้ทำงานช่วยคนที่กำลังเป็นทุกข์ และไม่ใช่แค่ช่วยให้เขาเบี่ยงหลบความเจ็บปวดหรือทำให้มันชาหรือเบี่ยงเบนความสนใจ แต่รวมถึงการใช้มันเป็นตัวจุดประกายหรือประตูสำหรับการแปรเปลี่ยนชีวิตของเขาด้วย มันคือสิ่งที่ผมเรียกว่าการสมคบคิดของความรัก เพราะมันช่วยให้เราได้กลับสู่บทบาทผู้เยียวยารักษา ไม่ใช่แค่ช่างเทคนิค

ใช่ [00:59:00] ประเด็นด้านเทคนิคของการแพทย์นั้นสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือศิลปะแห่งการแพทย์และประเด็นเบื้องลึกด้านจิตวิญญาณของการแพทย์ ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาอะไร นี่คือแนวคิดที่เป็นพื้นฐานของประเพณีทางจิตวิญญาณที่สำคัญทั้งหมด และมันก็สามารถช่วยเราและช่วยคนไข้ของเราใช้ประสบการณ์ของความทุกข์เป็นประตูนำไปสู่การแปรเปลี่ยนที่แท้จริง

เลโอนาร์ด โคเฮน เคยกล่าวถึงรอยร้าวที่แสงลอดเข้ามา บาดแผลของเราก็เป็นหน้าต่างสำหรับดวงวิญญาณและการแปรเปลี่ยนของตัวเรา [00:59:30] และนั่นคือทำไมหลังจากทำงานนี้มา 40 กว่าปี ผมถึงยังซาบซึ้งกับมันยิ่งกว่าที่เคย เพราะในชีวิตคนเราจะมีโอกาสบ่อยแค่ไหนกันที่จะได้ทำงานช่วยผู้คนที่กำลังทุกข์ ที่จะนำเขาไปหาเวชศาสตร์วิถีชีวิต ซึ่งสามารถช่วยแปรเปลี่ยนชีวิตของเขาไปในทางที่ดีกว่าก่อนที่เขาจะป่วยอีกด้วยซ้ำ

สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าอย่างน้อยแนวคิดเหล่านี้บางอย่างจะได้เป็นประโยชน์บ้างในวันนี้ ถ้าคุณสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของเรา สามารถเข้าไปดูได้ที่ ornish.com ทุกอย่างบนนั้นฟรีไม่คิดเงิน หนังสืออันดูอิทเล่มใหม่ก็กล่าวถึงหลายประเด็นเหล่านี้เช่นกัน [01:00:00] แต่ที่สำคัญที่สุด ลองเอาไปทำดูในชีวิตของตัวคุณเอง แล้วหลังจากทำไปไม่กี่วัน คุณก็จะสัมผัสถึงประโยชน์ได้ด้วยตัวคุณเอง แล้วนั่นจะทำให้คุณเป็นครูสอนคนอื่นที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น ขอบคุณมากที่สนใจฟัง ผมขอบคุณจริงๆ …………………………………………………
[อ่านต่อ...]

27 มีนาคม 2565

โรคหลอดเลือดโป่งพองใต้จอตา Polypoidal Choroidal Vasculopathy- PCV

ภาพวันนี้: เฟื่องฟ้าสีส้ม

เรียนคุณหมอ

ผมมีอาการมองอะไรก็ตามที่เป็นเส้นตรงเช่นขอบวงกบประตูจะเห็นว่ามันไม่ตรง มันเหมือนโย้ไปเหมือนภาพที่มีหยดน้ำมาขวางกั้น ไปตรวจตากับหมอตาอย่างละเอียดแล้วสรุปว่าไม่พบอะไรผิดปกติ แต่รู้สึกว่ามันต้องไม่ปกติ จึงไปหา second opinion กับหมอคนตาคนที่สอง ซึ่งบอกว่าสงสัยว่าผมจะเป็นโรค pcv และแนะนำให้ผมไปหาหมอ … ที่โรงพยาบาล … ซึ่งผมก็ไป แล้วก็ได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรค pcv และนัดหมายให้ไปยิงเลเซอร์ร่วมกับฉีดยาเข้าลูกตาเข็มละ 1 แสนบาท ในระหว่างที่ตรวจไปตรวจมาอยู่นี้ อาการมองเส้นตรงเป็นเส้นโย้มันค่อยๆดีขึ้นเอง ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่ายาเข็มละแสนนี้มันยาอะไร จำเป็นต้องฉีดไหมครับ

ขอบคุณครับ

…………………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนอื่น เพื่อเป็นความรู้ไว้ใส่บ่าแบกหามสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ขอพูดถึงโรค PCV ซึ่งย่อมา Polypoidal Choroidal Vasculopathy แปลว่าโรคหลอดเลือดโป่งพองใต้จอตา สักเล็กน้อย โรคนี้เป็นโรคในกลุ่มโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย (Age related macular degeneration – AMD) ชนิดที่มีของเหลวไหลออกมากองอยู่นอกหลอดเลือด (exudative) บางทีจึงเรียกว่าจอประสาทตาเสื่อมชนิดแฉะ (wet AMD) มีหลอดเลือดเล็กๆโป่งพองร่วมกับมีเลือดและน้ำเหลืองออกมาออกันอยู่ที่ชั้นใต้จอประสาทตาจนบวมตุ่ยเป็นตุ่มเรียกว่า exudative polyp ทำให้การมองเห็นตรงกลางลานสายตาเสียหรือบิดเบี้ยวไป

เอาละ ทีนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่ายาที่จะฉีดเข้าตาเข็มละแสนเนี่ยมันยาอะไร ตอบว่าเออ..แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย

จะให้ดีคุณก็ถามหมอตาที่เขาจะฉีดสิครับว่ายาที่จะฉีดมันชื่อยาอะไร ถามผม ผมก็ได้แต่เดาเอาว่ามันคงจะเป็นยาในกลุ่มที่เรียกว่า Anti-vascular endothelial growth factor (anti-VEGF) ตัวนี้มันไม่ใช่ยาแบบทั่วๆไป แต่เป็นแอนตี้บอดี้แบบที่เรียกว่า monoclonal antibody ที่ผลิตโดยการเอาเซลร่างกายของเราเป็นเชื้อ ฉีดเข้าไปในร่างกายสัตว์เพื่อวานให้ร่างกายสัตว์ผลิตแอนตี้บอดี้ต่อเซลร่างกายเราขึ้นมา แล้วเราเอามาใช้ทำลายเซลของร่างกายเราเองที่เราไม่ต้องการ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเซลเยื่อบุหลอดเลือดที่งอกใหม่ในลูกตา นี่ผมเดาเอาจากที่ได้เคยอ่านงานวิจัยหนึ่งชื่อ The EVEREST trial ซึ่งทดลองรักษาโรค PCV เปรียบเทียบสามวิธีระหว่าง (1) ยิงเลเซอร์กระตุ้นยา (photodynamic therapy -PDT) อย่างเดียว (2) ฉีด anti-VEGF อย่างเดียว (3) ทั้งยิงทั้งฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้ผลคือยิงเลเซอร์อย่างเดียวกับยิงเลเซอร์ควบฉีด anti-VEGF ผมก็เลยเดาว่าหมอเขาจะเอาวิธีสองอย่างควบนี้มารักษาคุณ เดาผิดเดาถูก ผมไม่รับประกัน

2.. ถามว่าควรจะเดินหน้ารักษาด้วยการยิงเลเซอร์ควบฉีด anti-VEGF ไหม ตอบว่าผมให้ความเห็นในฐานะแพทย์ประจำครอบครัวนะ ไม่ใช่ specialist ผมมีความเห็นว่าการรักษานี้มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการมองเห็นไม่ชัดด้วยการพยายามทำให้ตุ่ม exudative polyp ที่บวมตุ่ยมันแห้งฝ่อลงไป แต่คุณเล่าเองว่าขณะรอกันไปรอกันมาอยู่นี้การมองเห็นของคุณชัดขึ้นมาเองแล้ว ก็แสดงว่าตุ่มบวมน้ำเหลืองและเลือดนั้นมันฝ่อไปเองแล้ว แล้วจะไปยิงไปฉีดมันอีกทำไมละครับ ทั้งนี้คุณต้องเข้าใจนะว่ากลไกพื้นฐานที่ทำให้เกิดโรค PCV ขึ้นมานี้วงการแพทย์ยังไม่มีความรู้เลยว่ามันเกิดจากอะไร การยิงการฉีดนี้ทำเพื่อบรรเทาอาการมองไม่เห็นเท่านั้น ยังไงก็ไม่ได้ไปแก้ไขกลไกพื้นฐานของโรคหรอกครับเพราะเรายังไม่รู้กลไกพื้นฐานของโรคเลย พูดง่ายว่าการรักษานี้ไม่ได้บำบัดสาเหตุให้หาย ได้แค่บรรเทาอาการ หากไม่มีอาการแล้ว ประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่มีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะไปเสี่ยงกับการรักษาแบบรุกล้ำใดๆ ซึ่งมักมาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนระดับหนึ่งเสมอ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Tan CS, Ngo WK, Chen JP, Tan NW, Lim TH; EVEREST Study Group. EVEREST study report 2: imaging and grading protocol, and baseline characteristics of a randomised controlled trial of polypoidal choroidal vasculopathy. Br J Ophthalmol. 2015 May;99(5):624-8. doi: 10.1136/bjophthalmol-2014-305674. Epub 2015 Mar 10.
[อ่านต่อ...]

25 มีนาคม 2565

วันนี้ผมจะให้ลอง meditation ในรูปแบบที่ง่ายที่สุด

(ภาพวันนี้: ดอกหญ้าริมสระบ้านมวกเหล็ก)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR)

คนที่มา SR หลายครั้งจะแปลกใจว่ามาแต่ละครั้งผมไม่เห็นพูดเหมือนครั้งก่อนเลย เพราะผมจะเปลี่ยนมุมของการพูดไปตามที่ผมคิดว่าคนฟังในแต่ละกรุ๊ปจะเก็ท บางทีผมไม่ตั้งใจจะเปลี่ยนวิธีพูด แต่อะไรบางอย่างมาสะกิดให้ผมเปลี่ยน ซึ่งผมก็เปลี่ยนตามอย่างว่าง่าย เอาเป็นว่ามาที่นี่จะไม่มีคำแนะนำหรือบทเรียนตายตัว

หัวใจของเรื่องในการมาเข้าแค้มป์ SR ก็คือให้คุณเปลี่ยน identity ของคุณสำเร็จ เพราะการจะหลุดพ้นไปจากกรงของความคิด หากคุณไม่เปลี่ยน identity ไปจากการเป็นบุคคลคนนี้ชื่อนี้ คุณไม่มีทางจะหลุดพ้นไปไหนได้เลย เพราะทุกความคิดล้วนชงขึ้นมาเพื่อปกป้อง identity นี้ทั้งสิ้น

การเปลี่ยน identity ไม่ได้หมายถึงการทุบทำลาย identity เดิมจนตัวบุคคลผู้นั้นหายไปจากสังคมหนีไปบวชหรือเป็นบ้าไปเสียแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น อุปมาอุปไมย เปรียบเหมือนผมมีบ้านสองหลัง หลังหนึ่งอยู่กรุงเทพ อีกหลังหนึ่งอยู่มวกเหล็ก แต่ก่อนผมอยู่แต่บ้านกรุงเทพ นานๆจะมาบ้านมวกเหล็กเสียทีหนึ่ง เดี๋ยวนี้ผมมาอยู่บ้านมวกเหล็กเป็นส่วนใหญ่ อยู่บ้านกรุงเทพน้อยมาก นี่เรียกว่าผมเปลี่ยนบ้าน แต่ว่าบ้านกรุงเทพก็ยังอยู่ ยังไม่ได้ขายทิ้ง คนที่กรุงเทพที่อยู่แถวนั้นล้วนรู้ว่านี่เป็นบ้านหมอสันต์โดยไม่เปลียนแปลง แม้ว่าตัวหมอสันต์จะไม่ค่อยได้อยู่แล้ว

ฉันใดก็ฉันนั้น ชีวิตนี้ประกอบขึ้นมาจากสามส่วนใหญ่คือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว

ความคิดและร่างกายถูกมัดรวมกันขึ้นมาเป็นบุคคลสมมุติคนหนึ่ง ผมเรียกว่าเป็น identity-1 หรือ ID-1 อย่างตัวหมอสันต์นี้เกิดจากร่างกายนี้ กับชุดความคิดและคอนเซ็พท์การใช้ชีวิตอย่างนี้ บวกกับประสบการณ์ในอดีตในรูปของความจำอย่างนี้ ทั้งหมดนี้คลุกเคล้าปั้นแต่งขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนเป็นบุคคลชื่อหมอสันต์ ความจริงคำว่าบุคคลหรือ person นี้มาจากคำว่า persona ซึ่งเป็นชื่อของหน้ากากโลหะที่ใช้แสดงละครกลางแจ้งในสมัยกรีกโบราณ นักแสดงต้องตะโกนผ่านปากซึ่งทำเป็นรูปโทรโข่งเล็กๆเพราะสมัยนั้นไม่มีเครื่องขยายเสียง ทุกวันนี้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในยุโรปยังเก็บหน้ากากแบบนี้ไว้อยู่

(หมอสันต์หยิบกระดาษขึ้นมาฉีกเป็นรูปาก จมูก ตา และใช้ปากกาวาดหน้าผู้หญิง มี คิ้ว และขนตางอน ทาปากแดง)

ผมจะทำหน้ากาก persona ขึ้นมาอันหนึ่ง เป็นหน้ากากผู้หญิง เมื่อใดก็ตามเมื่อผมสวมหน้ากากนี้ ผมก็จะกลายเป็นผู้หญิงหน้าตาสะสวยชื่อ..คุณอร

(หมอสันต์หยิบหน้ากากขึ้นมาปิดหน้าตัวเอง แล้วพูดดัดเสียงเป็นผู้หญิง)

“สวัสดีคะ อรนะคะ อ๋อ..รับประกันมีคุณภาพตามที่อรบอกทุกอย่างค่ะ

อรเป็นพนักงานขายก็จริง แต่คนอย่างอรจะไม่ขายอะไรที่หากอรเป็นลูกค้าแล้วตัวอรเองจะไม่ซื้อนะคะ”

คุณอร ทำงานติดต่อลูกค้า จ๊ะ จ๋า ทั้งวัน ลูกค้าชอบเธอและซื้อของเธอมาก ตกเย็นเธอเดินออกจากห้องทำงานซึ่งอยู่ในบ้านนั้นเอง เธอเข้าห้องน้ำ ถอดเสื้อผ้า แน่นอนถอดหน้ากากของผู้หญิงนักขายตรงชื่ออรออกด้วย เข้าไปเปิดฝักบัวอาบน้ำ น้ำเย็นฉ่ำพุ่งกระจาย เธอผ่อนคลายปล่อยใจสัมผัสความเย็น ไม่มีความคิดอะไรในหัว มีแต่ความตื่น ความสามารถรับรู้ สบายๆ ไม่มีความคิด ตอนนี้เธอย้ายมาเป็นอีก identity หนึ่งซึ่งเป็นส่วนลึกของเธอเองแล้วโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าเป็น ID-0 ก็แล้วกัน คือเป็น “ความรู้ตัว” ที่ตื่นและรับรู้ทุกอย่างแบบสบายๆ

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น กริ๊ง..ง เธอหยิบผ้าเช็ดตัว เดินออกจากห้องน้ำ ก่อนที่จะเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ เธอหยิบหน้ากากของผู้หญิงชื่ออรขึ้นมาสวมก่อนโดยอัตโนมัติ โปรดสังเกต ตอนนี้เธอเปลี่ยนกลับมาเป็น ID-1 เหมือนเดิมแล้วนะ

“อรพูดค่ะ”

………

“อรกำลังฟัง”

“……………”

(ขึ้นเสียงปรี๊ด)

“พี่ทำอย่างนี้กับอรได้ยังไง อรไม่อยากจะเชื่อเลย

อรยอมทำทุกอย่างเพื่ออนาคตของเรา

อรทิ้งงานที่อรรักมาดูแลลูกให้พี่ พี่ทำอย่างนี้กับอรได้ยังไง ฮือ..ฮือ”

“….”

ไม่ต้อง ไม่ต้อง ไปเลย พี่ไปเลย ไป๊ เราสองแม่ลูกอยู่กันได้ พี่ไปเสียจากบ้านนี้ ไม่ต้องกลับมา ไป๊ ไป๊ ไป๊….”

ละครเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ในองค์ประกอบทั้งสามของชีวิตคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) ความรู้ตัวนี้ สองส่วนแรกคือร่างกายและความคิดถูกมัดรวมกันเป็น identity-1 คือความเป็นบุคคลหรือหน้ากากของเรา ส่วนความรู้ตัว คือความตื่นยามที่ปลอดความคิดนั้นเป็น ID-0 ซึ่งเป็นส่วนลึกของเราที่มีธาตุแท้เป็นความสงบเย็นที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องกับ ID-1

ที่ผมพูดถึงว่าการจะหลุดพ้นจากความคิดต้องมีการ change of identity ผมหมายถึงว่าเราจะต้องค่อยๆย้ายบ้านจาก ID-1 ไปอยู่บ้าน ID-0 มากขึ้นๆเหมือนผมย้ายจากบ้านกรุงเทพมาอยู่บ้านมวกเหล็กมากขึ้นๆ เพราะถ้าเรายังปักหลักเป็น ID-1 สารพัดความคิดซึ่งชงขึ้นมาเพื่อปกป้อง ID-1 ก็จะยังรังควาญเราไม่เลิก

ถามว่า แล้วการจะเปลี่ยน identity ให้สำเร็จจะต้องทำอย่างไร

ตอบว่าจะต้องเปลี่ยนโดยการวางความคิดผ่านการฝึก meditation ซึ่งมีมากมายหลายวิธี แต่วันนี้ผมจะแนะนำวิธีที่ผมเห็นว่าเบสิกที่สุด ง่ายที่สุด และได้ผลเร็วที่สุด ให้คุณทดลองทำกันเดี๋ยวนี้เลย

basic meditation นี้มีองค์ประกอบแค่สามส่วนคือ

(1) Relax ผ่อนคลายร่างกายและยิ้ม

(2) Observe สังเกตทุกอย่างที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้

(3) No judge ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิพากษา

เอ้า ทุกคนเริ่มฝึกเลย นั่งท่าไหนก็ได้ แต่ขอให้ตั้งกายตรงขึ้น

เริ่ม ส่วนที่หนึ่ง ด้วยการผ่อนคลายร่างกายก่อน หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ แล้วผ่อนคลายร่างกายลงไปด้วย ผ่อนคลายร่างกายไปทุกส่วน ทีละส่วน เริ่มที่ใบหน้าก่อน ยิ้มที่มุมปากนิดๆ เพราะหากเรายิ้มได้แปลว่าเราผ่อนคลายได้จริง แล้วก็ไปผ่อนคลายคอบ่าไหล่ ลำตัว แขนขา ผ่อนคลายร่างกาย ยิ้ม..ม relax…x….x

แล้วก็มา ส่วนที่สอง คือการสังเกต สังเกตทุกอย่างที่เข้ามาสู่การรับรู้ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ภาพที่เห็น ทั้งที่อยู่ไกล ท้องฟ้า ภูเขา และใกล้เข้ามา บ้าน บึงน้ำ ต้นไม้ สนามหญ้า

คราวนี้ลองหลับตา สังเกตเสียงที่เข้ามา เสียงนกร้องดัง เสียงไก่ขันไกลๆ เสียงหมาเห่าเบาๆไกลมาก

สังเกตความคิดของเราด้วย เมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ สังเกตดูมันจากข้างนอกแบบไม่ไปผสมโรงคิดต่อยอด ปล่อยให้ความคิดผ่านเข้ามา เฝ้าดูมัน ให้เห็นมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

แล้วก็มา ส่วนที่สาม คือไม่ไตร่ตรอง ไม่พิพากษา อันนี้ไม่ใช่แอ๊คชั่น เป็นเพียงภาคขยายของการสังเกตแต่ว่ามันสำคัญผมจึงแยกมาเป็นส่วนที่สามให้จำได้ คือไม่ว่าเราจะสังเกตรับรู้ภาพ เสียง สัมผัส หรือความคิด เราจะรับรู้มันตามที่มันเป็น ไม่ไปคิดต่อยอด ไม่ไปตัดสินว่ามันดีมันเลว รับรู้และยอมรับสิ่งเร้าทุกอย่างที่เข้ามาตามที่มันเป็น

บางครั้งความคิดลบเจ้าประจำโผล่ขึ้นมา เช่นความกลัว ความกังวล ความเสียใจ เราก็รับรู้มันโดยไม่หลบหลีกหรือชิงชังรังเกียจ เผชิญหน้ากับมันตรงๆ ขณะรู้ตัวอยู่ ยอมรับว่ามันมาแล้ว มันอยู่ที่นี่แล้ว ทำความรู้จักมันเสียเลย อ้อ ความกลัวมาอีกแล้วหรือ อย่าเพิ่งไปไหนนะ ความกลัวจ๋า อยู่ที่นี่ด้วยกันก่อน ขอทำความรู้จักกันให้ลึกซึ้งหน่อย ว่าความกลัวจริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร แล้วก็สังเกตดูความกลัว อ้อ มันทำให้ใจเต้นเร็วอย่างนี้ มันทำให้ลมหายใจหอบฟืดฟาดอย่างนี้ อ้อเป็นอย่างนี้นี่เอง ความกลัว

การไม่ไตร่ตรอง ไม่พิพากษา หมายความว่าไม่เอาความคิดที่มุ่งจะปกป้อง ID-1 เข้ามาผสมโรงดราม่าด้วยกับสิ่งเร้าใดๆที่ผ่านเข้ามา ณ ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้

การบ้านตลอดสี่วันที่อยู่ที่นี่ ให้ทุกคนฝึกทำ basic meditation นี้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลาที่ว่างและคิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะกำลังเดินเล่น กินข้าว อาบน้ำ อย่าลืมว่าคุณมา retreat นะ แปลว่ามาปลีกวิเวกหลีกเร้นจากสิ่งที่เคยรบกวนคุณ อะไรละที่เคยรบกวนคุณ ก็ความคิดของคุณนั่นแหละ การฝึก meditation ด้วยสามองค์ประกอบนี้จะทำให้คุณสังเกตเห็นความคิดและวางความคิดคุณได้ ตอนกลางคืนให้ลองออกมาอยู่คนเดียวในความเงียบ ในความมืด เพื่อจะได้ฝึกสังเกตความคิดในรูปแบบที่อาจจะไม่เคยโผล่มาเลยเมื่อเราอยู่ที่บ้าน เช่นความกลัวความมืด เป็นต้น ใช้องค์ประกอบทั้งสามของ meditation คือ (1) Relax ผ่อนคลายและยิ้ม (2) Observe สังเกต (3) No judge ไม่ไตร่ตรองไม่พิพากษา

เป้าหมายคือวางความคิดด้วยการ change of identity คือการฝึกนี้จะพาเราออกจาก ID-1 ซึ่งเป็นโลกของความคิดที่มีแต่จะปกป้องความเป็นบุคคลตัวปลอมของเรา ไปเป็น ID-0 ซึ่งเป็นความรู้ตัว อันเป็นความตื่น รับรู้ สงบเย็น สบายๆ ไม่มีผลประโยชน์ดองกับบุคคลคนไหนทั้งสิ้น หากคุณได้รู้จักความแตกต่างระหว่าง ID-1 กับ ID-0 และเกิดความตั้งใจจะย้ายจาก 1 ไปเป็น 0 แล้ว การมาอยู่ที่นี่สี่วันก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มเวลา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 มีนาคม 2565

โรคลืมทุกอย่างเกลี้ยงชั่วคราว (Transient Global Amnesia - TGA)

(ภาพวันนี้: พี้จั่น)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมอายุ 51 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ยาก็ไม่ได้กิน ขณะพักหลังอาหารกลางวันผมยังมีสติดีอยู่ ไม่ได้หมดสติหรือเบลอแต่อย่างใด แต่ผมเกิดจำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าเมื่อตะกี้ผมทำอะไรอยู่แล้วผมกำลังจะต้องทำอะไรต่อไป ผมมองไปรอบตัวผมยังรู้ว่าผมอยู่ที่ไหนและคนรอบตัวที่เดินไปเดินมาเป็นใครบ้าง มือเท้าผมยังขยับหยิบฉวยอะไรได้ หน้าผมก็ไม่ได้เบี้ยว รู้แค่นั้น ผมยังพูดกับคนอื่นได้ แต่ไม่รู้จะพูดอะไรกับเขาดี จึงแอบขับรถกลับบ้านเงียบๆแล้วนอนพัก พอตกค่ำผมรู้สึกว่าผมค่อยๆนึกอะไรออกมากขึ้น แต่ก็นึกรายละเอียดตอนเกิดเรื่องไม่ได้ ผมไปตรวจที่โรงพยาบาล …. หมอทำซีที.แล้วสรุปว่าผมเป็นมินิสโตร๊คให้ยาแอสไพรินและวิตามินบี.มากิน ผมส่งผลซีทีมาให้คุณหมอดูและรบกวนคุณหมอแนะนำด้วยครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………………………………

1..เอาประเด็นการวินิจฉัยก่อน ภาพซีทีที่ส่งมาให้นั้นเป็นภาพสมองที่ปกติดีนะครับ คือไม่มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเราก็หวังอยู่แล้วว่าการทำซีทีสมองในภาวะฉุกเฉินจะช่วยเราได้แค่นั้น คือแค่บอกเราว่ามีเลือดออกในสมองหรือมีเนื้องอกในสมองหรือเปล่า เมื่อไม่มีเลือดออก ไม่มีเนื้องอก การวินิจฉัยก็ต้องอาศัยอาการและการตรวจพบทางคลินิกเป็นสำคัญ หากตรวจพบว่ามีอาการหมดสติวูบหนึ่งร่วมกับมีอาการทางประสาทวิทยาเฉพาะที่ (localizing sign) เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือแขนขาอ่อนแรง เป็นอยู่ไม่นานก็กลับมา ก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในสมองชั่วคราว (transient ischemic attack – TIA) หรือที่หมอใช้คำว่ามินิสะโตร๊คนั่นแหละ แต่ในกรณีของคุณนี้ฟังตามเรื่องที่คุณเล่า คุณไม่หมดสติเลย ไม่มีอาการทางประสาทวิทยาเฉพาะที่เลย การใช้กล้ามเนื้อของคุณปกติดี มีแต่ลืม..ลืมหมดแล้วหรือไร ลืมไปหมด ลืมแม้กระทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นแหม็บๆเดียวนี้ แต่ว่ามันลืมอยู่ไม่นาน คือนานไม่เกิน 1 วันแล้วก็จะเริ่มนึกอะไรได้ใหม่ อย่างนี้ไม่ใช่ TIA ภาษาหมอเขามีชื่อเรียกโรคอย่างนี้อยู่นะ เขาเรียกว่า Transient Global Amnesia (TGA) ไม่มีชื่อภาษาไทย ซึ่งผมขอแปลไว้ใช้เองว่า “โรคลืมทุกอย่างเกลี้ยงชั่วคราว” โรคชื่อแปลกๆเท่ๆอย่างนี้คุณเชื่อขนมเจ๊กกินได้เลย ว่าวงการแพทย์ยังไม่รู้หรอกว่ามันเกิดจากอะไร และจะรักษามันอย่างไร

2.. ถามว่าโรคลืมทุกอย่างไปหมดชั่วคราวนี้เกิดจากอะไร ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ชี้บ่งทั้งสิ้น มีแต่มั้งศาสตร์หรือโหราศาสตร์ว่าน่าจะเกิดจากสมองกระหย่อมหนึ่งที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความจำเกิดขาดออกซิเจนไปชั่วคราว หรือมีลิ่มเลือดเล็กไปอุดแล้วสลายไปคล้ายกรณี TIA แต่ไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวรุนแรงเท่า หรืออาจจะเป็นเพราะหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณนั้นเกิดหดตัว เช่นกรณีเป็นไมเกรน หรือเครียด หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือถูกความเย็นจัดทันที หรือแอลกอฮอล์หรือยากล่อมประสาทในขนาดมาก หรือเบ่ง (หมายถึงเบ่งเช่นเบ่งอึ ไม่ใช่เบ่งว่ากูใหญ่) หรือแม้กระทั่งตอนไคลแม็กซ์ของการมีเซ็กซ์ เพราะมีแฟนบล็อคคนหนึ่งเคยเขียนมาเล่าให้ผมฟังว่าเป็นแบบนี้จนเวลามีเซ็กซ์ไม่กล้าปล่อยให้ถึงไคลแมกซ์ ไม่งั้น..เป็นเรื่อง ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุตามโหราศาสตร์คือการเดาเอานะ สาเหตุตามวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบครับ

3.. ถามว่าโรค TGA นี้รักษาอย่างไร ตอบว่าจะไปรู้เรอะ หิ..หิ ก็สาเหตุยังไม่รู้แล้วจะไปรู้วิธีรักษาได้อย่างไร เมื่อเราไม่รู้วิธีรักษา ก็สมควรอยู่เฉยๆ อยู่นิ่งๆ อยู่ดึ้งๆ ปล่อยให้ร่างกายรักษาตัวเขาเอง อย่าเที่ยวไปรักษาด้วยการทำโน่นทำนี้ทั้งๆที่ยังไม่รู้สาเหตุ

4.. ถามว่าแล้วจะป้องกันไม่ให้เป็นได้อีกไหม ตอบว่าได้ถ้าคุณจับทางได้ว่าอะไรนำคุณไปสู่การเกิดอาการเช่นนี้ แล้วคุณก็หลีกเลียงสิ่งนั้นเสีย คุณต้องไล่รายการยอดนิยมที่เคยเกิดเรื่องแบบนี้กับคนอื่นมาก่อน ที่มีบันทึกไว้ในตำราแพทย์ก็ได้แก่

4่.1 ความเครียดหรือการมีอารมณ์รุนแรง

4.2 การออกแรงมากๆ หรือการเบ่งเช่นเบ่งอึหรืออยากจะไอแล้วกลั้นไว้

4.3 แอลกอฮอลหรือยากล่อมประสาท

4.4 การถูกความเย็นจัดหรือร้อนจัดกะทันหัน

4.5 เซ็กซ์

5.. ถามว่าเป็นแบบนี้แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอบว่าอนาคตก็คือความไม่แน่นอนเหมือนอย่างอนาคตของใครต่อใครนั่นแหละ ผมบอกให้คุณใจชื้นได้แต่ว่าการเป็นโรคนี้ไม่เกี่ยวกับอัมพาต อัมพฤกษ์ 95%ของคนเป็นโรคนี้เป็นเองหายเองแบบหายแล้วหายเลย มี 5% ที่กลับเป็นซ้ำแต่อาการก็คล้ายๆเดิม คือไม่ถึงตายหรือคางเหลืองดอก ภาษาแพทย์ใช้คำว่าโรคนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ

6.. คำแนะนำส่วนตัวของผมนอกจากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นห้าตัวข้างต้นแล้ว คุณควรจะปรับอาหารของคุณมากินพืชที่หลากหลายให้มากขึ้นด้วยจุดประสงค์สองอย่าง คือ (1) เพื่อเพิ่มไขมันโอเมก้า 3 จากอาหารพืชเช่นนัทต่างๆโดยเฉพาะวอลนัท แฟลกซีด เจียซีด เป็นต้น เพราะมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งบ่งชี้ไปทางว่าไขมันโอเมก้า 3 ชลอการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดเล็กๆน้อยที่อาจร่วมเป็นสาเหตุหนึ่งของ TGA ได้ (2) เพื่อเพิ่มพืชที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเช่นขมิ้นชัน เพราะความผิดปกติใดๆในร่างกายรวมทั้งในสมอง สืบโคตรเหง้าศักราชไปแล้วมักหนีไม่พ้นการเกิดการอักเสบขึ้นในหลอดเลือดหรือในเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นจากฤทธิ์เดชของอนุมูลอิสระ การเพิ่มอาหารพืชที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้

นอกจากนี้งานวิจัยการหดตัวของหลอดเลือดที่แขนผ่านกลไกการลดปริมาณไนตริกออกไซด์ที่เยื่อบุผิวด้านในหลอดเลือด พบว่ามีตัวเหนี่ยวไกให้หลอดเลือดแดงหดอยู่ตัว 5 อย่าง คือ (1) ความเครียดเฉียบพลัน (2) ไขมันเพิ่มขึ้นในเลือดทันที (3) เกลือโซเดียมเพิ่มขึ้นในเลือดทันที (4) ภาวะร่างกายขาดน้ำ (5) สารพิษเช่นบุหรี่และยาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้า ยังไม่มีใครรู้ว่าการหดตัวของหลอดเลือดที่แขนจะเหมือนกับที่สมองหรือเปล่า แต่เป็นการไม่เสียหลายที่คุณจะหลีกเลี่ยงตัวเหนี่ยวไกทั้งห้าตัวนี้ไว้เสียด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Yang Y, Kim JS, Kim S, Kim YK, Kwak YT, Han IW. Cerebellar Hypoperfusion during Transient Global Amnesia: An MRI and Oculographic Study. J Clin Neurol. 2009 Jun. 5(2):74-80. 
  2. Winbeck K, Etgen T, von Einsiedel HG, et al. DWI in transient global amnesia and TIA: proposal for an ischaemic origin of TGA. J Neurol Neurosurg Psychiatry. 2005 Mar. 76(3):438-41.
  3. Lin KH, Chen YT, Fuh JL, Li SY, Chen TJ, Tang CH, et al. Migraine is associated with a higher risk of transient global amnesia: a nationwide cohort study. Eur J Neurol. 2014 May. 21(5):718-24. 
  4. Pantoni L, Bertini E, Lamassa M, et al. Clinical features, risk factors, and prognosis in transient global amnesia: a follow-up study. Eur J Neurol. 2005 May. 12(5):350-6.
  5. Hinge HH, Jensen TS, Kjaer M, et al. The prognosis of transient global amnesia. Results of a multicenter study. Arch Neurol. 1986 Jul. 43(7):673-6.
[อ่านต่อ...]

23 มีนาคม 2565

คนแก่อกหักรักคุด สิ่งที่อยากจะหนี คือความคิดของตัวเอง

(ภาพวันนี้: ช้างน้าว ที่บ้านมวกเหล็ก)

เล่าอย่างสั้นๆคือผมไม่ใช่เด็กแล้ว แต่ผมอกหัก ถูกชิงรัก ผู้ชิงจากผมไปก็คือเพื่อนร่วมงานของผมเอง เขากลายมาเป็นสามีของเจ้านายของผม ผมพยายามหักใจไม่เอาเรื่องส่วนตัวมายุ่งกับเรื่องงาน แต่มันก็อดไม่ได้ เพราะมันต้องเจอกันทุกวัน ต้องพูดคุย ต้องทำงานด้วยกัน จนผมกำลังคิดจะหาที่ทำงานใหม่ ไปให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆที่อึดอัดนี้เสีย แต่งานที่นี่เป็นงานที่ดี มั่นคง ผมมีรายได้ดี เจ้านายก็ดีกับผมมาก แต่ไม่มากพอที่จะเลือกผม ผมกำลังหักใจว่าอย่าเห็นแก่เงิน ไปเสาะหาชีวิตใหม่ดีกว่า

อยากขอคำแนะนำคุณหมอ เพราะติดตามอ่านและนับถือคุณหมอมานาน

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

ถ้าคุณไม่ขึ้นประโยคแรกว่าคุณไม่ใช่เด็กแล้วผมคงทิ้งจดหมายคุณลงตะกร้าไปแล้ว เพราะจดหมายวัยรุ่นเรื่องอกหักรักคุดมีเข้ามามากแต่ผมเลิกตอบไปแล้วเพราะมันไม่มีสาระอะไรใหม่ แต่ของคุณมันมีประเด็นใหม่อยู่ตรงที่ว่าถึงจะแก่แล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่พออกหักรักคุดขึ้นมา กลไกการแก้ปัญหาที่คุณกำลังใช้อยู่ มันก็ไปตกอีหรอบเดียวกันกับที่เด็กๆเขาใช้นั่นแหละ คือไม่ทุบมันให้แหลกหรือตายกันไปข้าง ก็ไปเสียให้พ้นๆจะได้ลืมๆกันไป ผมหยิบจดหมายคุณขึ้นมาตอบ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเราจะใช้ประโยชน์จากความแก่ในการแก้ปัญหานี้ให้แตกต่างจากเด็กๆได้อย่างไร

ดราม่าในชีวิตของคุณ ที่ว่าคุณตกหลุมรักเจ้านาย แต่เธอตัดสินใจไปกับคนอื่นซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เป็นเพื่อนร่วมงานซังกะบ๊วยที่คุณรู้เช่นเห็นชาติว่าเป็นนายงี่เง่านั่นเอง อันนั้นช่างมันเถอะ อย่าไปเจาะลึกเลย เพราะชีวิตใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนยากจนหรือร่ำรวย ไร้การศึกษาหรือเรียนมากจบป.ตรีโทเอก หยิบขึ้นมาสักคนเถอะ มันล้วนเป็นเรื่องน้ำเน่าไร้สาระที่เขียนเป็นนิยายขายได้เป็นวรรคเป็นเวรทั้งนั้น เราอย่าไปพูดถึงมันเลย เพราะมันเป็นแค่นิยาย เป็นแค่ fiction หรือจะพูดให้มีระดับหน่อย มันก็เป็นแค่ life situation คือเป็นแค่สถานะการณ์ในชีวิต ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

มาพูดถึงตัวชีวิต หรือการใช้ชีวิต (living) ของคุณดีกว่า คุณบอกว่าทุกวันนี้คุณเป็นทุกข์เพราะเห็นอะไรตำตา ผมเข้าใจความคิดของคุณนะ เพราะความคิดของคุณเรา สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ทุกความคิดล้วนชงขึ้นมาเพื่อปกป้อง identity ของเราทั้งสิ้น อันนี้ใครๆก็เข้าใจได้ คุณก็เข้าใจ แต่ประเด็นของผมก็คือมันเป็นแค่ความคิดนะ คุณจะหนีไปทำงานที่อื่นเพื่อหนีความคิดของคุณ หิ หิ มันอาจจะสำเร็จในเรื่องนี้ แต่พอมีเรื่องใหม่เข้ามาก็..เอาอีกละ

คุณเขียนมาขอคำแนะนำ เอาละต่อไปนี้คือคำแนะนำนะ ผมแนะนำให้คุณเลิกคิดเรื่องจะทำงานที่ไหนเสีย ตรงนั้นไม่สำคัญจะเอายังไงก็แล้วแต่คุณ แต่เรื่องสำคัญคือให้คุณเริ่มออกเดินบนเส้นทางที่จะเปลี่ยนหรือทิ้ง identity เดิมของคุณจากการเป็นชุดอีโก้ที่คับแคบนี้ ไปเป็นความรู้ตัวซึ่งเป็นชีวิตในส่วนลึกที่สงบเย็นและไม่ระคายอะไรที่จะมากระทบหรือแม้แต่จะมาพังอีโก้ของคุณก็ตาม การออกเดินทางนี้ผมแนะนำให้คุณทำสองขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1. เป็นการดำเนินการในสนามความคิด พูดง่ายๆว่าเปลี่ยนมุมมองการคิด ทำแบบพวกจิตวิทยาคิดบวกเขาทำกัน ทำนองนั้นแหละ ในสนามความคิด หากคุณรู้จักเลือกความคิด คุณก็พัฒนาขึ้นไปเล่นในสนามที่สูงขึ้นไปได้ ในสนามความคิดนี้ผมแนะนำให้คุณเอาชนะอุปสรรคตัวเดียวคือการไม่ยอมรับ (non-acceptance) ทุกอย่างที่คุณมีอยู่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะการไม่ยอมรับเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คุณขึ้นไปเล่นในสนามที่สูงกว่านี้ไม่ได้ ได้แต่วนเวียนอยู่กับความคิด กลัว อิจฉา โกรธ เกลียด อยู่นั่นแหละ ในสนามระดับนี้แค่คุณรู้จักมองรู้จักคิด คุณก็พลิกเกมได้แล้ว ตรงนี้ผมขอยกกวีของบรมครูชาวมุสลิมชื่อ รูมี (Rumi) มาให้คุณอ่านแทนคำพูดของผมนะ รูมีสอนว่า

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความอิจฉา” ในชีวิตเรา 
     ก็การไม่ยอมรับสิ่งดีๆที่คนอื่นได้รับนั่นแหละคือความอิจฉา ถ้าเรายอมรับสิ่งดีๆที่คนอื่นได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราต่อไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความโกรธ” ในชีวิตเรา 
     ก็การที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายในชีวิตเรานี้มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรานั่นแหละคือความโกรธ หากเรายอมรับความจริงอันนี้ได้มันก็จะกลายเป็นความโอนอ่อนผ่อนปรนไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความเกลียด” ในชีวิตเรา 
     ก็การไม่ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละคือความเกลียดในชีวิตเรา หากเรายอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นได้ มันก็จะกลายเป็นความรักหรือเมตตาธรรมไป..”

      “..แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความกลัว” ในชีวิตเรานี้ 
     ก็การไม่ยอมรับว่าทุกอย่างในชีวิตนี้มันล้วนไม่แน่นอนนั่นแหละคือความกลัวในชีวิต หากเรายอมรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้ ชีวิตก็เป็นเรื่องของการผจญภัยไม่ใช่เรื่องของความกลัวอีกต่อไป

ขั้นตอนที่ 2. ถึงบรมครูรูมีจะสอนให้คิดดีอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดอย่างไรเสียคุณก็ต้องเลิกเล่นกับความคิดเพื่อขึ้นมาเล่นในสนามที่สูงขึ้นมาจากสนามของความคิด ผมหมายถึงการพาความสนใจข้ามพ้นไปจากความคิดไปเป็นผู้สังเกตมองดูความคิด สนามนี้จะพาคุณหลุดพ้นจากความคิดและเกิดอิสรภาพในชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งการจะขึ้นมาเล่นในสนามนี้ได้คุณจะต้องฝึกวางความคิดผ่านการสังเกตดูความคิด (aware of a though) ซึ่งผมได้เขียนถึงบ่อยมาก คุณหาอ่านย้อนหลังเอาเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

22 มีนาคม 2565

นพ.สันต์ร่วมกับดร.พญ.สุวิณา จัดแค้มป์โรคเบาหวานครั้งแรก (DM-1)

1. ความเป็นมา
มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ทั้งในรูปแบบเขียนบล็อกตอบคำถาม และในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังต่างๆทุกโรคด้วยตัวเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ซึ่งได้ผลดีมาก และทำมาได้ห้าปี 20 รุ่นแล้ว แต่ก็มีความคิดอยู่ตลอดมาว่าหากสามารถทำแค้มป์ให้ผู้ป่วยแยกแต่ละโรคได้ก็น่าจะมีประโยชน์มาก

ต่อมาก็ผมได้พบอาจารย์ พญ.ดร. สุวิณา รัตนชัยวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน มาหลายสิบปีและจบปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้ทำงานวิจัยวิทยานิพนธิ์ด้านอิมมูโนพันธุกรรมของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ (Graves’ disease) และครอบครัว ในขณะเดียวกันก็ได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลวิจัยพื้นฐานด้านพยาธิสรีระวิทยาและพยาธิกำเนิดของโรคเบาหวานจนเป็นที่เข้าใจทั้งประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes) ซึ่งขาดอินซูลิน และประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes) ซึ่งดื้อต่ออินซูลิน  จนได้ตระหนักว่าวิธีการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด หาใช่เป็นการรักษาโรคเบาหวานอย่างแท้จริงไม่ มันเป็นเพียงการบรรเทา (ช่วยลดอาการปัสสาวะบ่อย/หิวน้ำบ่อย) ของโรคเบาหวาน ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงจนเกินไปเท่านั้น ผลกระทบต่อการทำงานของผนังเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งผนังเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทุกขนาดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติยังคงมีอยู่ และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนเกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรค เบาหวาน (Chronic complications of diabetes) เช่นเบาหวานขึ้นจอตา ปลายประสาทเสื่อม/มือเท้าชา มีแผลเรื้อรังที่เท้า (Diabetic foot) หลอดเลือดสมองและหัวใจตีบ/อุดตัน  การทำงานของไตเสื่อมถอยจนเกิดไตวายเรื้อรังในที่สุด

อาการต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพียงแค่รู้จักดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมี “สติ” ทั้งนี้เพราะมูลเหตุอันแท้จริงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นเกิดจากความไม่รู้หรือ “อวิชชา” ในด้านอาหารโภชนาการ ร่วมกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการใช้ชีวิตประจำวัน “ขาดซึ่งสติ” ในด้านการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมในการบำรุงรักษา “ร่างกาย/สุขภาพกาย” ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวอย่างแท้จริงที่ “จิต/วิญญาณ” เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เพียงที่เดียวของเรา ให้เราสามารถทำหน้าที่ตามบริบทที่ธรรมชาติได้ให้มาอยู่รับใช้ทางความคิดของผู้เป็นนายให้ดำรงตนอย่างมีสุขภาพดี ไม่ก่อให้เกิดความถดถอยในการทำงานของเซลล์และเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างอินซูลินของตับอ่อนจนมีปริมาณไม่เพียงพอในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติได้ จึงมองเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการบริโภคและการใช้ชีวิต ในการจัดการกับโรคเบาหวานเสียใหม่ โดยให้ตัวผู้ป่วยเข้ามาเรียนรู้วิธีการจัดการกับโรคของตัวเองด้วยตัวเองให้มากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตีบ แตก ตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เนื้อสมอง เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร ทั้งๆ ที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ผมจึงได้เชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรหลักในการทำแค้มป์เบาหวานครั้งนี้


2. แค้มป์เบาหวานเหมาะสำหรับใครบ้าง


แค้มป์เบาหวานจัดขึ้นสำหรับ

2.1 ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ประสงค์จะลุกขึ้นมาจัดการกับโรคของตัวเองด้วยตัวเองเพื่อลดปริมาณการใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร

2.2 ผู้ประสงค์จะป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคอ้วนลงพุง/เมตาโบลิก ซินโดรม (Metabolic syndrome) หรือเป็นว่าที่โรคเบาหวาน (Pre-diabetes) คือผู้มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับเป็นเบาหวาน  ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง  เป็นต้น

2.3 ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน (Care giver) ที่ต้องรับผิดชอบการตระเตรียมอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย


         3. ภาพรวมของแค้มป์เบาหวาน

3.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) โดยมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) มาช่วยทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดการโรคของตนเองด้วยตนเอง

3.2 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกจากแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม การปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม หลักสูตรนี้จะเติมเต็มเฉพาะส่วนที่ผู้ป่วยต้องทำด้วยตนเอง

3.3 ก่อนเริ่มแค้มป์ ผู้สมัครเข้าค่ายอบรมทุกท่านต้องตอบแบบสอบถาม (ผ่าน Google form) เพื่อให้แพทย์ได้ทราบพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวัน (อาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคบ่อย รวมทั้งกิจกรรมในการดำเนินชีวิตที่ยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน) จะช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต เป็นไปได้ไม่ดีได้ล่วงหน้า

3.4 ในวันแรกที่มาเข้าแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, ผู้ช่วยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลา

3.5 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคเบหวาน ซึ่งรวมถึงทักษะโภชนาการ การทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง โภชนาการขณะอยู่ในแค้มป์จะเป็นแบบ low fat, plant-based, whole food คือไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย

3.6 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 4 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปปฏิบัติที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ Wecare App ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง
สมาชิกสามารถใช้ Wecare App นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บใหม่ๆ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนได้ต่อเนื่อง สมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขภาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปให้โดยแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญ 7+5 ตัวของตนคือดัชนีสุขภาพทั่วไป 7 ตัวคือ (1) น้ำหนัก  (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (ข้อนี้อาจใช้พฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระแทนได้) (6) เวลาที่ใช้ในการเดินและหรือออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ 

บวกดัชนีเฉพาะเบาหวานอีก 5 ตัวคือ (1) ส่วนสูง (2) เส้นรอบเอว (3) ปริมาณน้ำเปล่าที่ดื่มต่อวัน (4) ปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือแอลกอฮอลเป็นองค์ประกอบ (5) จำนวนครั้งของการลุกขึ้นปัสสาวะหลังเข้านอน เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ด

3.7 สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของท่านหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง Wecare App คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้าแดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว
สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Patient Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

3.8 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแล (Care giver) มาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น


     4. หลักสูตร (Course Syllabus)


     4.1 วัตถุประสงค์
     4.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคเบาหวาน ทั้งพยาธิสรีระวิทยาและพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา อาการวิทยา
b. รู้จักตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค
c. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
d. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียง
e . รู้วิธีการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการและบำบัดตนเองให้หายจากโรคโดยอาศัย “สติ” ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

f. ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, plant based, whole food) รู้โทษของเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอม

g. ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสี่แบบ คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) การยืดเหยียด (stretching exercise) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)

h. ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด

i. ในแง่ของแรงบันดาลใจ รู้จักพลังงานของร่างกาย (internal body) และการใช้พลังงานของร่างกายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ต่อเนื่อง

k. ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์และพลังของกลุ่มและรู้วิธีทำกิจกรรมในกลุ่ม

l. ในแง่ของการติดตามดูแลตนเอง รู้วิธีใช้ Health Dashboard ในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง

     4.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
c.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
f.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One mile walk test ให้ตัวเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
h.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
i.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
j.         สามารถกำกับดูแลท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
k.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิค relax breathing ได้
l.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
m.     สามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในเชิงเป็นผู้เปิดแชร์ความรู้สึกและเป็นผู้ให้การพยุงได้
n. สามารถใช้ Health Dashboard ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

4.1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข

     5. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์

วันที่ 1 (ของ 4 วัน)

ผู้มาเข้าแค้มป์ควรเดินทางมาถึงเวลเนสวีแคร์ก่อน 9.00 น.

9.00-12.00 Registration & Initial assessment by doctor.
(1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ (2) เช็คอินเข้าห้องพัก (3) วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด ประเมินดัชนี 15 ตัว จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคลผ่าน app ของตนเอง (4) ผลัดกันเข้าพบกับแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคน เพื่อให้แพทย์จัดทำสรุปปัญหาสุขภาพเก็บไว้ในเวชระเบียน ทุกท่านต้องมาพบแพทย์ตรงตามเวลานัด เพราะท่านจะไปใช้เวลาของคนอื่นมิได้
13.30-15.00 น.  แนะนำทีมงานและทำความรู้จักซึ่งกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน

15.00-16.00 น.  ภาพใหญ่ของโภชนาการเพื่อพลิกผันโรคเรื้อรัง และกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

และซักถามข้อสงสัย (ถ้ามี) โดยทีมงานหลัก (นพ. ปัณณพัฒน์  ดร.พญ.สุวิณา และนพ.สันต์)

วันที่ 2. (ของ 4 วัน)
07.00 – 08.30 การออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training)
08.30 – 10.00  สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00  เหตุและปัจจัยอันใดที่ทำให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน                     (ดร.พญ.สุวิณา รัตนชัยวงศ์)

Tea break included
12.00 -14.00   สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว
14.00 – 16.00  คำแนะนำโภชนาการขององค์กรวิชาชีพต่างๆ และกิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ

การอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับฉลากอาหารเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปและการเลือกซื้อ

17.00 – 19.00  สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเย็น

วันที่ 3. (ของ 4 วัน)
7.00 – 8.30 น. การจัดการความเครียดผ่าน โยคะ สมาธิ และไทชิ
8.30 – 10.00   ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00  การจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองโดยอาศัย “สติ” ในการเลือกบริโภคเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร ได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือใช้ยาที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลตกในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และเรียนรู้ว่าเหตุใดจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้?

12.00 -14.00   ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว
14.00 – 16.00  โรคร่วมกับโรคเบาหวาน (หัวใจ ความดัน ไขมัน โรคไต โรคอ้วน โรคสมองเสื่อม) 
17.00 – 19.00  สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเย็น

19.00 – 20.00  แบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สนทนาเกี่ยวกับเบาหวานและปัญหาที่มี

วันที่ 4. (ของ 4 วัน)
7.00 – 8.30 น.  การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
8.30 – 10.00   ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00  อาหารคือยา ฝึกสติในการเลือกบริโภค เพื่อลดการใช้ยา ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 การใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมในผู้เป็นเบาหวานที่ขาดอินซูลิน

12.00 -14.00   ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว

14.00-15.00    ผู้เข้ารับการอบรมให้ข้อมูลย้อนกลับถึงสิ่งที่ได้รับหรืออยากได้เพิ่มเติมในการเข้าค่ายนี้

15.00             ปิดแค้มป์

******************

หมายเหตุ 1. อาจมีการเปลี่ยนแปลงตารางการอบรมบ้างตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของผู้เข้ารับการอบรม

   6. วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

6.1 โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  063 6394003 หรือ 02 038 5115
6.2 ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
6.3 ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

            7. ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 4 วัน 3 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี) คนละ 15,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 12,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     8. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข  0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com

     9. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

9.1 ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องกรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับโรคของตนซึ่งพยาบาลจะประสานงานส่งไปให้

9.2 ทุกท่านควรเดินทางมาถึงเวลเนสวีแคร์ในเช้าวันแรกก่อน 9.00 น.

9.3 พยาบาลประจำโปรแกรมนี้คือคุณสายชล (โอ๋) ซึ่งสมาชิกสามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ 065 586 2660 หรืออีเมล  totenmophph@gmail.com

     10. สถานที่เรียน

คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) กรณีมารถยนต์สามารถใช้กูเกิลแม็พ Wellness We Care Center Saraburi

11. วันเวลาสำหรับแค้มป์ DM-1

วันที่ 12-15 พค. 65

12. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ DM-1

รับจำนวนจำกัด 15 คน

…………………………………………………………………

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]