เบื่อรบกับลูกตอนรับประทานอาหาร
คุณหมอสันต์คะ
หนูติดตามคุณหมอมาตั้งแต่เป็นสาว ตอนนี้เป็นแม่ของลูกชายอายุ 5 ขวบ แล้วหนูมีปัญหาต้องรบกับลูกเวลาเขาทานอาหาร หนูทั้งบังคับ ติดสินบน หลอกล่อ ต่อรอง และแม้กระทั่งอ้อนวอนเพื่อให้เขายอมทานสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ว่าเขาไม่เอา จะเอาแต่คุ้กกี้ โดนัท ไอศครีม ช็อกโกแล็ต แล้วเขาผอมมาก ขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ด้วยค่ะ
……………………………………………………………………….
ตอบครับ
อ่านจดหมายของคุณแล้วทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวที่ชุมชุนวัดพระพุทธบาทห้วยต้มซึ่งเป็นชุมชนมังสวิรัติที่อ.ลี้ จ.ลำพูน และได้เข้าไปเยี่ยมหน่วยย่อยของชุมชนนี้เรียกว่าหมู่บ้านน้ำบ่อน้อย ซึ่งชาวบ้านกะเหรี่ยงที่นั่นปักหลักยึดวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่ยอมเอาไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าหมู่บ้าน ผมได้พบกับคุณแม่ยังสาวท่านหนึ่งอยู่กับลูกสาววัยกำลังไปอนุบาล เธอฟ้องผมว่าลูกสาวไม่ยอมทานข้าว ทานแต่ขนม ทำอย่างไรก็ไม่ยอม นี่แสดงว่าแม้แต่ชุมชนที่มีกฎเกณฑ์บังคับไม่ให้เอาเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน ก็ยังไม่วายที่ลงท้ายแล้วเด็กก็ยังได้ทานแต่ของไม่ดี
การวิจัยเรื่องการป้อนอาหารเด็กพบว่ายิ่งพ่อแม่กดดันและหลอกล่อให้เด็กทานอาหารบางชนิดมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะต่อต้านและไม่ชอบอาหารชนิดนั้นมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญ การชมเชยหรือการให้กำลังใจมากเกินไปก็เป็นการกดดันให้ทานในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่งงานวิจัยพบว่ายิ่งพ่อแม่กีดกันห้ามไม่ให้ลูกทานอาหารอื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ลูกๆอยากทานนั้นและอาจถึงขั้นแอบทานอาหารเหล่านั้นเอง
อย่าลืมว่าเป้าหมายการป้อนข้าวลูกก็คือจะวางรากฐานในการป้อนหรือการให้อาหารอย่างไร ให้ลูกเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดด้วยตัวเขาเอง เราต้องการให้เขามีความสุขเพลิดเพลินกับการได้ทานอาหารดีๆเช่น ถั่ว ผัก ผลไม้ ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่แค่ตอนอยู่ต่อหน้าเรา
เรื่องนี้นักโภชนาการคนดังคนหนึ่งชื่อ Ellyn Satter ได้ทำวิจัยแล้วคิดค้นวิธีป้อนอาหารเด็กคล้ายๆโครงการคนละครึ่ง เธอเรียกวิธีของเธอว่า “การแบ่งความรับผิดชอบ” คือด้านพ่อแม่มีหน้าที่จัดหาของดีๆมาให้ลูกได้ทาน ส่วนลูกมีหน้าที่ทานอย่างมีอิสระเสรี คือจะทานอะไรไม่ทานอะไร จะทานมากทานน้อย สุดแล้วแต่ท่าน หมายความว่าพ่อแม่ต้องมีความสุขกับการได้ทานของดีๆอย่างถั่ว นัท ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีก่อนนะ ถ้าพ่อแม่ก็ชอบทานของไม่ดี แต่จะบังคับให้ลูกทานแต่ของดีๆ อย่างนี้ไม่เวอร์คเพราะถ้าพ่อแม่ยังไม่เอ็นจอยของดีแล้วลูกเขาจะไปเชื่อว่ามันเป็นของดีได้อย่างไร
คอนเซ็พท์ของเอลลีนคือขณะที่พ่อแม่กำลังมีของดีๆทาน กำลังเอ็นจอยที่ได้ทาน จึงเอาของดีๆนั้นมาแบ่งปันให้ลูกได้ทานด้วยกัน ได้เอ็นจอยด้วยกัน ถ้าลูกไม่ทานก็ไม่เป็นไร เพราะพ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว คราวนี้ก็แค่สูดหายใจเข้าลึกๆ ถอยออกมา ปล่อยให้เด็กทำส่วนที่เหลือ ไม่มีการยั่วยุ เจรจา บังคับ ติดสินบน หรือแม้แต่ยกย่อง แค่เพลิดเพลินกับการเป็นเพื่อนลูกขณะเขาทานอาหาร ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะขาดอาหาร หรือจะเลือกทานของไม่ดี เพราะพ่อแม่เป็นผู้จัดหาแต่ของดีๆมาวางบนโต๊ะ ของไม่ดีไม่เอาเข้าบ้าน เด็กมีทางเลือกแค่จะทานของดีหรือไม่ทาน ทานมากหรือทานน้อย ในขณะที่พ่อแม่ก็กำลังทานกันอย่างเอร็ดอร่อยอยู่ตรงหน้า และเชิญชวนให้ลูกมาร่วมทานด้วยกัน เป็นบรรยากาศที่พ่อแม่ลูกมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันแชร์ของดีของชอบให้กันและกัน ไม่มีการต่อสู้หรือบังคับ การจะทำอย่างนี้ได้สำเร็จมันต้องมีการวางแผนจัดหาอาหารเข้าบ้านให้ดี และต้องคงเส้นคงวา ต้องมีความอดทนระดับเยี่ยมยอด แล้วจะได้ผล คือเด็กจะทานเลือกทานอาหารเองเป็น และเอ็นจอยการทานอาหารดีๆ แม้ไปไกลหูไกลตาเราแล้วความสามารถในการเลือกนี้ก็จะยังอยู่
ส่วนความกังวลที่ว่าลูกผอมมากนั้น มันไม่ใช่เรื่องของการไม่รู้จักเลือกทาน แต่มันเป็นเรื่องของอาหารที่มีให้ทานมันเป็นอาหารด้อยคุณค่า หากมีแต่ของดีให้ทาน อย่าว่าแต่คนเลย หมาแมวมันก็ยังเลือกทานของมันเองได้ สมัยเด็กๆผมเป็นเด็กวัด หน้าเข้าพรรษาหมาแมวก็อ้วน หน้าออกพรรษาหมาแมวก็ผอม ไม่ใช่เพราะมันไม่มีความรู้จะเลือกกิน แต่เพราะมันไม่มีของดีให้กิน ดังนั้นหากคุณมีแต่ของดีไว้บนโต๊ะอาหาร ของไม่ดีไม่มีเลย เดี๋ยวน้ำหนักของลูกคุณก็จะกลับมาปกติ
นี่ผมแนะนำไปตามหลักวิชานะ ตัวผมเอง สมัยที่ลูกผมเล็กๆผมก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ดอกเพราะสมัยนั้นผมไม่ได้มีความรู้โภชนาการมากเท่าสมัยนี้ อีกอย่างหนึ่งตอนหนุ่มๆผมมัวแต่ทำงานไม่มีเวลามาใส่ใจครอบครัวในรายละเอียด เมื่อกลับถึงบ้านผมก็อยากเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูกเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยให้ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงว่าอาหารจะมีผลเสียต่อลูกอย่างไรในระยะยาวหรอก คุณลูกท่านชอบอะไรผมก็หามาถวายให้ คือเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูแบบติดสินบนแลกกับรอยยิ้ม สมัยนั้นผมยังทำงานอยู่เมืองนอก ดังนั้นลูกของผมตอนนั้นจึงเป็นขาประจำเหนียวแน่นของเคนตั๊กกี้ แมคโดนัลด์ จอร์จี้พาย ดันกินส์ ไอศครีม และแน่นอน..โค้ก
แต่ถ้าย้อนเวลาไปได้ หากผมต้องเลี้ยงเด็กเล็กๆใหม่อีกครั้ง ผมจะเลี้ยงแบบที่ผมบอกคุณวันนี้นะ และผมเชื่อว่าเมื่อลูกโตขึ้นเขาจะขอบคุณผมมากกว่าตอนนี้ที่ไม่ต้องมาลำบากยั้งใจตัวเองในการไม่ทานอาหารขยะ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์