BA2 ไม่ได้รุนแรงกว่า BA1 แต่โรคโควิดในเมืองไทยยังไม่ยอมเป็นโรคประจำถิ่น
(ภาพวันนี้: กาแฟอาราบิก้า ที่บ้านมวกเหล็ก)
โอไมครอนพันธ์ุ BA2 ไม่ได้รุนแรงมากกว่า BA1 ผิดจากที่วงการแพทย์คาดการณ์ไว้
งานวิจัยขนาดใหญ่ซึ่งสปอนเซอร์โดยสภาวิจัยทางการแพทย์อัฟริกาใต้ (ASMRC) ซึ่งทำการวิจัยข้อมูลแห่งชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 680,555 คน เพื่อมุ่งเจาะดูความแตกต่างของอัตราการต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (hospitalization rate) และอัตราตาย (mortality rate) ของผู้ติดเชื้อโอไมครอนรุ่นใหม่ชนิด BA2 เปรียบเทียบกับรุ่นเก่า BA1 พบว่าเชื้อ BA2 แพร่ได้เร็วกว่า BA1 จริง แต่ความรุนแรงในคนจริงๆไม่แตกต่างกัน ทั้งอัตราการเข้าโรงพยาบาลและอัตราตาย ไม่ต่างกันเลย
ข้อมูลนี้ตรงกับรายงานในเว็บไซท์ของสถาบันจีโนมิกแห่งชาติเด็นมาร์ค (STATENS SERUM INSTITUT) ซึ่งเป็นสถาบันจีโนมิกชั้นหนึ่งแห่งหนึ่งของโลก และประเทศเด็นมาร์คตอนนี้ก็เป็นประเทศแช้มป์ที่ติดเชื้อ BA2 เร็วกว่าเพื่อนคือตอนนี้ 100% เป็น BA2 ขณะที่อเมริกายังเป็นกันแค่ประมาณ 5% ข้อมูลของสถาบันจีโนมิกแห่งชาติเด็นมาร์คซึ่งศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยโควิด BA1และ BA2 จำนวน 932 คน พบว่าทั้ง BA1 และ BA2 มีอัตราเข้าโรงพยาบาลเท่ากัน อัตราตายเท่ากัน ขณะที่ BA2 แพร่เชื้อได้เร็วกว่า
และขณะนี้ข้อมูลจากทุกประเทศทั่วโลกที่มีการติดเชื้อ BA2 รวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่ง BA2 กำลังอยู่ในขาขึ้น พบว่าอัตราตายรวมของทุกประเทศกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นข้อมูล ณ ขณะนี้ทำให้อุ่นใจได้อย่างหนึ่งว่าแม้ BA2 จะมากขึ้น แต่ก็ไม่รุนแรงไปกว่า BA1
หลายประเทศลดเกียร์ลง
ระลอกการระบาดของโควิดในระดับโลกยังคงไม่จบ และคงจะไม่กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้ง่ายๆ แต่ว่าหลายประเทศพากัน “ลดเกียร์” เลิกการควบคุม คือปฏิบัติต่อโควิดเสมือนเป็นโรคประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว ผมเดาเหตุผลว่าประเทศเหล่านั้นเขาตัดสินใจไปทางนั้นเพราะ
1.. มีข้อมูลของทางอังกฤษชัดเจนแล้วว่าโอไมครอนติดต่อง่ายมากจนการขยันตรวจคัดกรอง ไม่ได้ลดจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลง จึงเลิกคัดกรองมันเสียเลย
2.. มีข้อมูลจากหลายประเทศว่าการบังคับกักกันตัวเอง (self isolation) 5 วันบ้าง 10 วันบ้าง ไม่ได้ลดจำนวนผู้ป่วยโดยรวมที่ต้องเข้ารพ. ก็เลยเลิกบังคับให้กักกันตัวเองไปเสียด้วย
3.. มีข้อมูลแน่ชัดว่าการติดเชื้อธรรมชาติ ให้ภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในรูปของปริมาณแอนติบอดี้ในเลือดดีกว่า ให้ภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้มากกว่า และให้ภูมิคุ้มกันยาวนานกว่าการฉีดวัคซีน จึงมีแนวคิดว่าขณะที่อัตราการเข้ารพ.ต่ำและอัตราตายต่ำมากอย่างนี้ จะมัวมาเฝ้ารอฉีดวัคซีนเข็ม 4, 5, 6, 7, 8 ไปทำไมกัน ปล่อยให้ติดเชื้อธรรมชาติให้ถ้วนทั่วหน้ากันทุกคนไปซะ ในอนาคตการควบคุมโรคจะง่ายและถูกเงินกว่ากันมาก พูดง่ายๆว่าเป็นแนวคิดฉวยโอกาสที่สายพันธ์ไม่รุนแรงกำลังระบาดเอาเชื้อโรคสายพันธ์เบามาเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันแทนวัคซีนซะเลย
ในประเทศไทยโควิดก็ยังไม่ยอมประจำถิ่น
การระบาดของโอไมครอนในเมืองไทยซึ่งเข้าสู่ขาขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 4 มค. 65 โดยเพิ่มจำนวนหนึ่งเท่าตัว (doubling time) จาก 2-3000 ต่อวันขึ้นมาอยู่ระดับ 8,000 ต่อวันภายในเวลาแค่ 4 วัน แล้วทำท่าจะลงในช่วง 18 มค. 65 ขณะที่ข้อมูลจากทางห้องแล็บก็ยืนยันว่าขณะนั้นโอไมครอนเข้าแทนที่เดลต้าแล้วเกือบ 100% ในกทม. ทำให้ตายใจว่าโรคขึ้นเร็วลงเร็ว และเป็นจุดที่รัฐบาลบอกให้สธ.ไปหาทางทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งคนส่วนใหญ่รวมทั้งผมก็เห็นดีเห็นงามด้วยช่วยลุ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับไม่ได้ลงจริงตามคาด แต่มันก็ไม่ขึ้นพรวดพราด คงเป็นเพราะระบบควบคุมโรคของเราค่อนข้างดี แต่ยังไม่ดีพอที่จะขจัดโรคได้ เพราะมันทรงๆอยู่ในระดับวันละ 8,000 ราย นานจนสิ้นเดือนมค. พอเริ่มเดือนกพ.ก็เพิ่มพรวดพราดในระดับเพิ่มเท่าตัวในเวลาแค่ 14 วัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นขาขึ้นที่เร็วปานกลางทีเดียว แม้ถึงวันนี้ซึ่งเข้ามาวันที่ 27 กพ.แล้วก็ยังขึ้นในระดับนี้อยู่ ระลอกของการระบาดที่ไม่สม่ำเสมออย่างนี้ประกอบกับความไม่แม่นยำของข้อมูลผู้ติดเชื้อในประชากรจริงทำให้คาดเดาได้ยาก ว่าขาขึ้นระดับเพิ่มเท่าตัวทุก 14 วันนี้อย่างจะคงอยู่ไปนานเท่าใด
เตียงโรงพยาบาลคือยุทธปัจจัยหลัก
หันมามองเตียงโรงพยาบาลซึ่งเป็นตัวกำหนดวิธีจัดการโรคที่แท้จริงบ้าง เมื่อเริ่มต้นปีนี้ซึ่งโรคทรงอยู่ระดับ 3,011 รายต่อวัน เราใช้เตียงโรงพยาบาล 15,704 เตียง ใช้เตียงสนาม 15,438 เตียง ที่เหลือให้อยู่บ้าน
พอมาช่วง 31 มค. ซึ่งโรคกระโดดขึ้นมาแล้วทรงอยู่ที่วันละ 8,008 ราย เราใช้เตียงโรงพยาบาล 41,566 เตียง ใช้เตียงสนาม 32,716 เตียง
พอมาวันนี้ (27 กพ.) ซึ่งโรคกำลังวิ่งขึ้นเป็นวันละ 24,719 ราย เราใช้เตียงโรงพยาบาล 85,075 เตียง ใช้เตียงสนาม 59,537 เตียง ซึ่งเป็นการใช้เตียงในบรรยากาศที่ต้องโทรศัพท์หาเตียงกันวุ่นวายอีกแล้ว ทั้งหมดนี้แม้อัตราตายยังคงต่ำระดับ 0.16% แต่หากมันยังเพิ่มในระดับนี้ เตียงรพ.นะสิ จะไม่พอเอา เพราะคนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีโรคร่วม หากไม่มีเตียงรพ.รองรับ อัตราตายที่ต่ำๆอยู่ก็จะไม่ต่ำแล้ว เพราะโรคร่วมเป็นเหตุ
การจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่นต้องมีสองเงื่อนไข
คำว่า “โรคประจำถิ่น (endemic)” หมายความว่าโรคที่เราคาดเดาพฤติการณ์มันได้ และจัดการมันได้ แต่ตอนนี้เรายังคาดเดาพฤติการณ์มันไม่ได้ แถมหากเตียงเราหมดเราก็จะจัดการมันไม่ได้อีกต่างหาก ดังนั้น ณ วันนี้โควิดจึงยังไม่ใช่โรคประจำถิ่นแน่นอน มันยังเป็นโรคระบาดที่เรายังเอาไม่อยู่ ในขณะที่เงินของเราก็หมดหน้าตักแล้ว ตกงานกันมาก็หลายปีแล้ว วัคซีนก็หวังพึ่งในแง่จะใช้สร้างภูมิคุ้มกันฝูงชน (herd immunity)เพื่อควบคุมโรคยังไม่ได้เพราะมันป้องกันการติดเชื้อรุ่นใหม่ได้น้อย ได้แต่อาศัยใช้ลดการเข้ารพ.และลดการตายลงได้บ้างเท่านั้น ถ้าเราควบคุมโรคไม่อยู่ แล้วเราจะทำพรือดี
ทางสองแพร่งที่ถูกบังคับให้เลือก
ผมเขียนบทความนี้เพื่อเสนอให้คิดยุทธศาสตร์ล่วงหน้า หากเตียงโรงพยาบาลของเราหมด สถานะการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนตอนที่โรคโควิดเกิดขึ้นใหม่ ตอนนั้นโรคมีอัตราตายสูง ความเชื่อมั่นในวัคซีนมีมาก และโรคมีขีดความสามารถแพร่กระจาย (infectability) ต่ำ แต่วันนี้โรคมีอัตราตายต่ำ บางรายงานต่ำใกล้ศูนย์ทีเดียว(ในกลุ่มคนที่ไม่มีโรคร่วมมาก) ขณะที่โรคมีความสามารถในการแพร่กระจายสูงชนิดที่การตรวจคัดกรอง สอบสวน กักกันโรค แทบไม่มีความหมายเลยจนหลายประเทศเลิกใช้ไป วัคซีนก็ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ดังหวัง ประกอบกับเงินที่กู้เขามาก็หมด คนก็พากันตกงาน เศรษฐกิจของชาติก็ตกสะเก็ด ยุทธศาสตร์เดิมที่มุ่งกดโรค (suppression) หรือยุทธการปิดเมือง(lock down) ที่เราเคยใช้ได้ผลเรื่อยมา หรือแม้กระทั่งยุทธการหน่วงโรค (mitigation)ให้ยืดเยื้อเรื้อรังและระดมฉีดวัคซีนเข็มสี่ห้าหกเจ็ดแปดกันไปไม่รู้จบสิ้น ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสียแล้ว
ผมเสนอให้รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ปล่อยโรค (unmitigated) ปล่อยให้ประชาชนดูแลตัวเองในแง่ของป้องกันตนเอง โดยที่รัฐยกเลิกมาตรการควบคุมทั้งหมดเสีย ปล่อยทุกอย่างแบบโล่งโจ้ง ล่อนจ้อน อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม(2 เข็ม)ไปเกือบ 70% แล้ว ด้วยขีดความสามารถในการแพร่เชื้อของโอไมครอนที่คาดความเร็วได้จากทั้งที่อังกฤษและอัฟริกาใต้ (และเด็นมาร์กในกรณี BA2) และด้วยอัตราตายที่ต่ำทั้ง BA1และBA2 ผมว่าเราจะเดือดร้อนกันเบ็ดเสร็จโหลงโจ้งก็ไม่น่าจะเกิน 2 เดือนทุกคนก็จะได้ติดเชื้อโอไมครอนไม่ BA1ก็BA2 กันถ้วนหน้า หลังจากนั้นโรคน่าจะกลับลงมาอยู่ในระดับที่เราจัดการมันได้แบบโรคประจำถิ่นที่แท้จริง แทนที่จะเลี้ยงโรคให้เป็นโรคระบาดไปอีกซึ่งไม่รู้จะนานกี่ปี
ควรมิควรสุดแล้วแต่ลุงตู่จะกรุณา
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Nicole Wolter, Waasila Jassat, DATCOV-Gen author group, Anne von Gottberg, Cheryl Cohen. Clinical severity of Omicron sub-lineage BA.2 compared to BA.1 in South Africa. medRxiv 2022.02.17.22271030; doi: https://doi.org/10.1101/2022.02.17.22271030