นพ.สันต์ขอแฟนๆบริจาคเงินช่วยงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19
บรรยากาศโควิดช่วงนี้ดูเหมือนจะซาลงไป แต่ในวงการแพทย์รู้ว่าระลอกใหม่กำลังก่อตัว เพราะมันเป็นธรรมชาติของโรคที่จะเป็นอย่างนี้ คนในวงการแพทย์ไม่มีใครนิ่งนอนใจหรือสบายใจกลับบ้านนอนหรอก ผมเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มุมมองของผมคือการขจัดโรคในระลอกใหม่นี้จะต้องแตกต่างจากเดิมคือต้องพุ่งเป้าไปที่การรีบฆ่าไวรัสทันทีที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อเพื่อสกัดไม่ให้คนไปท่วมโรงพยาบาล ซึ่งอาวุธที่มีอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ก็มีอยู่แค่สามตัว คือฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์เมคติน และฟาวิพิราเวียร์ ทั้งสามตัวนี้ไม่รู้ตัวไหนดีกว่าตัวไหน ไอเวอร์เมคตินนั้นทางศิริราชกำลังทำวิจัยอยู่ ฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ยังไม่มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ผมทั้งเชียร์ทั้งลุ้นให้มีการวิจัยยาสองตัวนี้แต่มันก็ไม่เกิด จึงชักชวนสมัครพรรคพวกที่เป็นแพทย์ เภสัช นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล และแพทย์แผนไทย ก่อเป็นทีมเพื่อทำวิจัยนี้เสียเอง เพื่อพิสูจน์ว่าฟ้าทะลายโจรกับฟาวิพิราเวียร์ ตัวไหนที่ได้ผล ถ้าได้ผลทั้งคู่ ตัวไหนดีกว่า ได้แกนนำทั้งหมด 14 คน แน่นอนว่าต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยงานอีกหลายสิบคนอยู่เบื้องหลัง มีผอ.รพ.มวกเหล็กเป็นหัวหน้า ผมเองก็ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัยด้วย โดยจะทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งเป็นหลักฐานทางการแพทย์ระดับสูงสุดที่จะทำได้ โดยตั้งชื่องานวิจัยนี้ไว้ว่า
“งานวิจัยเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด19”
ตอนนี้การทำงานได้มาถึงขั้นตอนที่เข็นโครงการวิจัยผ่านการอนุมัติของ “คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน” ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่สุดจนได้รับอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มลงมือทำวิจัยกับผู้ป่วยตัวเป็นๆไปแล้วในวันนี้ หมอสันต์เต็มร้อยกับงานนี้ กะว่าจะเอาให้เสร็จก่อนสิ้นปี คือหวังว่าจะเสร็จก่อนที่คลื่นลูกใหญ่ของโควิดคลื่นต่อไปจะมา
งานวิจัยนี้จะใช้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิดแน่นอนแล้วจำนวน 234 คน แบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละ 78 คน คือ กลุ่มที่ 1. รักษาด้วยผงฟ้าทะลายโจรส่วนเหนือดิน กลุ่มที่ 2. รักษาด้วยผงฟ้าทะลายโจรเฉพาะส่วนใบ กลุ่มที่ 3. รักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ โดยใช้ตัววัดผลสามตัวคือ (1) อัตราการเกิดปอดอักเสบในภาพเอ็กซเรย์ (2) อัตราการเคลียร์ไวรัสออกจากตัวได้หมด (viral clearance) (3) อัตราการเปลี่ยนความรุนแรง(เขียวเหลืองแดง) ของโรค การวิจัยจะใช้เวลา 3 -6 เดือนขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่อาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยว่าจะได้มาครบในเวลาเท่าใด
ผมรับหน้าเสื่อเป็นผู้หาเงินทุนมาสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีบริษัทยาเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์เจ้าเดียวเหมาหมดแต่ผมปฏิเสธไปเพราะไม่อยากให้คนกังวลว่าสปอนเซอร์มีผลประโยชน์แอบแฝงในการวิจัยครั้งนี้ การจะไปตั้งต้นของบประมาณกับราชการก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีและเขาอาจจะไม่ให้ จึงขอใช้วิธีรับบริจาคเงินจากคนทั่วไปแทน งานวิจัยนี้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ 8,000 บาทต่อหนึ่งคนของผู้ป่วยในกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นค่าน้ำยา reagent ในการตรวจนับไวรัส (viral loading) ซึ่งต้องมีต้นทุนสูงถึง 7,650 บาทต่อคน ที่เหลืออีกเล็กน้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ งานวิจัยนี้ใช้ผู้ป่วย 234 คน งบประมาณรวมก็คือ 1,872,000 บาท
ที่เขียนบล็อกวันนี้ก็เพื่อขอการสนับสนุนจากแฟนๆบล็อกหมอสันต์ให้ช่วยกันลงขันบริจาคเงินช่วยการวิจัยนี้ คนละเล็กคนละน้อย เป็นร้อยเป็นพันได้ทั้งนั้น โดยโอนเงินบริจาคของท่านเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขามวกเหล็ก เลขบัญชี 6788706913 ชื่อบัญชี “บัญชีเงินบริจาคของโรงพยาบาลมวกเหล็ก” แล้วกรุณาแชร์สลิปมาที่ LineID ของผมชื่อ drsant ด้วยเพื่อผมจะได้ใช้จัดทำบัญชีผู้บริจาค ถ้ามีเวลาก็ช่วยเขียนเพิ่มในท้ายใบสลิปว่า “research” ก็จะยิ่งเป็นพระคุณ แต่ไม่มีเวลาเขียนก็ไม่เป็นไรเพราะยังไงผมก็จะติดตามนำมาใช้ในงานวิจัยนี้ทุกบาทแน่นอน หรือจะสะแกน QR Code ข้างล่างนี้ก็ได้ เรียกว่าเป็นแบบ e-donation ซึ่งเอาเป็นหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้สองเท่าด้วย ส่วนท่านที่บริจาคผ่านเลขบัญชีก็ขอใบลดภาษีได้โดยเขาเฟซบุ้คโรงพยาบาลมวกเหล็กแล้วส่งข้อความให้ชื่อและที่อยู่เขาไป หรือโทรศัพท์หาคุณกนกกาญจน์ 0860181350
และเพื่อเป็นการประเดิมหมอสันต์ใด้ “จ่อม” กระปุกในวันที่แจ้งข่าวนี้ 1 แสนบาทเอาเคล็ดไปเรียบร้อยแล้ว
บล็อกวันนี้เขียนขึ้นเพื่อขอความเมตตาจากแฟนๆบล็อกหมอสันต์ต่อคนไทยด้วยกันที่จะป่วยเป็นโรคโควิดในอนาคต โดยช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรนี้ให้ทำได้สำเร็จ ความเมตตาของท่านถ้ามาในรูปของเงินก็จะสะดวกดีนะครับ หิ..หิ ในรูปแบบอื่นไม่ต้องก็ได้ อย่างเช่นฟ้าทะลายโจรนี่ก็มีพร้อมหมดแล้ว
จบข่าวการเปิดรับเงินบริจาคสนับสนุนการวิจัยฟ้าทะลายโจรเพียงเท่านี้
ข้างล่างนี้เป็นรายละเอียดการวิจัย งานวิจัยนี้เมื่อประกอบเข้ากับอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งจ่อคิวกำลังจะทำตามหลังกันมา (เปรียบเทียบฟ้าทลายโจรกับยาหลอกในการรักษาโควิด) ก็จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าทลายโจรที่สมบูรณ์แบบครบถ้วนพอที่จะผลักดันให้ใช้ฟ้าทลายโจรเป็นมาตรฐานการรักษาโรคโควิดในระดับประเทศได้ และจะมีผลต่อเกษตรกรไทยผู้ปลูกฟ้าทลายโจรอย่างมหาศาล (โปรโตคอลนี้แค่แนบมาให้ท่านผู้สนใจดูเท่านั้น แต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดไม่ได้แล้วเพราะกก.จริยธรรมได้อนุมัติไปแล้ว)
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
…………………………………………………
เอกสารหมายเลข 2.
1. ชื่อโครงการวิจัย (Research title)
งานวิจัยเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด19 ระยะเริ่มติดเชื้อ
Prospective randomized trial to compare using Andrographalispanticulata powder and extract,and Favipiravir in treatment of early COVID-19
2. ชื่อคณะผู้วิจัย (Investigators)
…..
3. ความสำคัญและที่มาของปัญหา (Research background)
เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ได้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์และสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนี้อย่างกว้างขวาง โดยที่ยังไม่มีหลักฐานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ยืนยันว่ายาทั้งสองมีประสิทธิผลในการรักษาโรคนี้เลย ผลวิจัยทบทวนวรรณกรรม (meta-analysis) ที่ทำกับงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 9 รายการ [1] พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์นอกจากการทำให้บรรเทาอาการในวันที่ 7 ของการรักษาได้ดีกว่ายาอื่นที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุมแล้ว ยานี้ทำให้ไวรัสหมดจากตัว (viral clearance) ได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม การใช้ออกซิเจนไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม อัตราย้ายเข้าไอซียู.และอัตราตายก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ในส่วนของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนั้นยังไม่เคยมีงานวิจัยระดับRCT ที่ใช้ยานี้รักษาโรคโควิด-19 ตีพิมพ์ไว้เลย
ทั้งนี้การใช้ผงบดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคในปัจจุบันนิยมใช้ใน 2 รูปแบบ คือ (1) ผงบดจากส่วนเหนือดิน (arial part) ของฟ้าทลายโจร (2) ผงบดจากส่วนของใบของฟ้าทลายโจรเท่านั้นโดยที่ยังไม่ทราบว่าการใช้ทั้งสองวิธีนี้มีประสิทธิผลในการรักษาโรคแตกต่างกันหรือไม่
4. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)
เพื่อตอบคำถามว่า
1. ยาฟาวิพิราเวียร์ในขนาด 3600 มก.ในวันแรกและ 1600 มก.ในวันที่ 2-5 มีประสิทธิผลในการรักษาโรคโควิด-19 ระยะเริ่มติดเชื้อแตกต่างจากฟ้าทลายโจรในขนาด 180 มก.ต่อวันนาน 5 วันหรือไม่
2. ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิผลในการรักษาโรคโรคโควิด-19 ระยะเริ่มติดเชื้อแตกต่างผงบดจากส่วนของใบในขนาดแอนโดรกราฟโฟไลด์ ที่เท่ากัน (180 มก.ต่อวัน 5 วัน) หรือไม่
5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย (Expected Benefits)
คำตอบที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานนำไปสู่การปรับปรุงแผนการรักษาโรคโควิด-19ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจรให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
6. ทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Review)
ในส่วนของฟาวิพิราเวียร์ยานี้เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสผ่านการระงับเอ็นไซม์ RNA polymerase ผลิตขึ้นที่ญี่ปุ่นเพื่อใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ในปีค.ศ. 2014 ต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคนี้โดยมีผลวิจัยที่บ้างบ่งชี้ว่ามีประสิทธิผลบ้างบ่งชี้ว่าไม่มีประสิทธิผล ได้มีงานวิจัยรวบรวมผลการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (meta-analysis of RCT)[1] เพื่อประเมินผลของการใช้ฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด19 เทียบกับกลุ่มควบคุมรวมทั้งสิ้น 9 งานวิจัยโดยใช้ตัวชี้วัดสำคัญ 5 ตัวได้ผลดังนี้
-การมีอาการดีขึ้นเมื่ออยู่รพ.ครบ 7 วันพบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลดีกว่ากลุ่มควบคุม (p=0.001)
-การขจัดเชื้อหมดจากตัว (viral clearance) ใน 14 วันพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (p=0.094)
-การต้องใช้ออกซิเจนมากหรือน้อยพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากยากลุ่มควบคุม (p=0.664)
-อัตราการต้องเข้ารักษาในไอซียู พบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (P=0.759)
-อัตราตายรวมในผู้ป่วยพบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (P=0.664)
-Adverse drug reaction ของยา favipiravir
ข้อมูลการวิจัยในคน Erdem et al. [8] พบว่าผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์เกิดขึ้น 13% ขณะใช้ยานี้รักษาโรคโควิดส่วนใหญ่เกิดเอ็นไซม์ของตับและ total bilirubin สูงผิดปกติส่วนใหญ่เป็นแล้วหายเองโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ
งานวิจัยโดยKawasuji et al ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างระดับของการเกิดพิษต่อตับกับขนาดของฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ (dose-liver toxicity relation)
Pilkington et al. รายงานว่าผู้ป่วยที่กินฟาวิพิราเวียร์ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงที่พบมากจนน่ากังวลคือการเกิดกรดยูริกสูงส่วนความกังวลว่ายานี้ทำให้เกิด teratogenicity นั้นไม่มีหลักฐานรองรับมากพอ
Yaylaci et al. ศึกษาย้อนหลังผู้ป่วยที่ได้รับฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดเพื่อดูผลของยาต่อระบบเม็ดเลือดพบว่ายานี้กดการทำงานของ erythroid series โดยไม่มีความผิดปกติใน series อื่น
Takoi et al ได้รายงานผู้ป่วยที่ได้ฟาวิพิราเวียร์สองรายที่มีไข้สูงหลังได้ยาทั้งๆที่อาการทางคลินิกทุกอย่างสงบแล้ว
ในภาพรวมฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง
ในส่วนของการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด เมื่อแรกเริ่มมีโควิด19ระบาดเมื่อปลายปีค.ศ. 2019 ที่ประเทศไต้หวันได้มีผู้ทำการวิจัยในห้องทดลองซึ่งพิสูจน์ได้ว่าแอนโดรกราฟโฟไลด์ซึ่งเป็นโมเลกุลออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรสามารถยังยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโควิดในจานเพาะเลี้ยงได้โดยผ่านกลไกการระงับเอ็นไซม์โปรตีเอสของไวรัส [2] ต่อมาคณะผู้วิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในห้องทดลองซึ่งยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์อยู่ด้วยสามารถยับยั้งการขยายตัวของไวรัสในเซลเยื่อบุปอดมนุษย์ได้ [3]
ผลดีของการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19ในคน เริ่มปรากฎในลักษณะของข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา [4] มีผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมรวม 37,656 คนหายป่วยสะสม 35,472 คน (94.2%) ตายสะสม 47 คน (0.1%) ซึ่งเมื่อเปรียบกับข้อมูลระดับประเทศขณะนั้นซึ่งมีจำนวนผู้ป่วย 345,027 คน ตายสะสม 2,791 คน (0.8%) แล้วก็พบว่าในเรือนจำมีอัตราตายต่ำกว่าถึง 8 เท่า โดยที่ขนาดของฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในเรือนจำไม่แน่นอน ขนาดสูงสุดใช้ประมาณ 144 มก.ต่อวันนาน 5 วัน แต่มีผู้ป่วยจำนวนมากได้ขนาดต่ำกว่านั้น
ได้มีการทำวิจัยในรูปแบบย้อนหลังกลับไปดูกลุ่มคน (retrospective cohort study) ในโรงพยาบาล 9 แห่งที่รับคนไข้ คลัสเตอร์ใหญ่ตลาดกุ้งมหาชัย [5] โดยย้อนไปดูคนไข้โควิด19 ที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่มีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันนาน 5 วันจำนวน 309 คนแล้วเอาผลไปเทียบกับผู้ป่วยโควิด19 อีก 526 คนที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจรพบว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบน้อยกว่า (14.64% vs 0.97, p<0.001%)
และมีอีกงานวิจัยหนึ่ง [6] ทำกับคนไข้ในด่านกักกันโรคในรูปแบบการวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ใช้ผู้ป่วย 57 คนสุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่ง 29 คนให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วันอีกกลุ่มหนึ่ง 28 คนให้กินยาหลอกพบว่ากลุ่มกินฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบน้อยกว่า (10.7% vs 0%) แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p=0.1) งานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างรอการตีพิมพ์
ในระดับสากล มีงานวิจัยหนึ่งที่ลงทะเบียนไว้กับ ClinicalTrial.gov มีแผนจะใช้แอนโดรกราฟโฟไลด์ขนาดประมาณ 90-120 มก.ต่อวันรักษาโรคโควิด19 เปรียบเทียบกับยาหลอก ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการวิจัย[7]
Adverse drug reaction ของฟ้าทลายโจร
Suwankesawong et al. ได้รายงานการแพ้ยาซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ฟ้าทลายโจรที่รับทราบจากการตอบแบบสอบถามจำนวน 248 รายพบว่ามีการแพ้ที่รุนแรงถึงขั้นต้องรักษาในรพ. 16 รายเป็น anaphylactic shock 5 ราย, anaphylactic reaction 4 ราย, angioedema 4 ราย
ข้อมูลในห้องทดลองบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรระงับcytochrome P450 แต่งานวิจัยโดยWongnawa et al เพื่อทดสอบการเกิด interaction ระหว่างฟ้าทลายโจรกับ midazolam ซึ่งเป็นยาที่ไวที่สุดต่อการแย่งใช้กลไก CYP3A4 โดยทำวิจัยเปรียบเทียบในคนทั้งในแง่ pharmacokinetics และ pharmacodynamics พบว่าฟ้าทลายโจรไม่ได้มีผลต่อ pharmacokinetic parameter ของ midazolam แต่อย่างใด ดังนั้นความกังวลเรื่องยาตีกันระหว่างฟ้าทลายโจรกับยาอื่นที่ออกฤทธิ์ผ่าน cytochrome P450 ทั้งหมดจึงเป็นเพียงความกังวลจากข้อมูลในห้องทดลอง แล้วคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นกับยาอื่นๆมากมายในคนโดยที่หลักฐานเชิงประจักษ์กลับพบว่าไม่มีผลจริงในคนแต่อย่างใด
ความกังวลว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับเป็นความกังวลที่ถูกสร้างขึ้นโดยยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ในคนรองรับ นับถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการวิจัยในคนที่ให้ผลบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับ ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยในสัตว์พบว่าฟ้าทลายโจรลดพิษต่อตับซึ่งเกิดขึ้นจากยาอื่นที่มีพิษต่อตับ เช่นพาราเซตตามอล
งานวิจัยย้อนหลังดูการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด 309 รายและงานวิจัยแบบ RCT เปรียบเทียบการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วย 58 ราย ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงและมีผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มใช้ฟ้าทลายโจรและกลุ่มควบคุม
Leelarasamee et al. ได้ทำวิจัยแบบ RCT ในผู้ป่วย 862 คนเพื่อเปรียบเทียบการใช้ผงบดฟ้าทลายโจรกับยาหลอกในการรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนโดยให้กินยานาน 4 วันพบว่ามีผลไม่พึงประสงค์ของฟ้าทลายโจรเกิดขึ้น 4.3% โดยทั้งหมดเป็นภาวะแทรกซ้อนระดับไม่รุนแรงและไม่แตกต่างจากกลุ่มกินยาหลอก
ในภาพรวมฟ้าทลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยในแง่ของการใช้เป็นยาหากระวังการเกิดการแพ้แบบรุนแรงไว้ล่วงหน้า
7.นิยามศัพท์ (Definition of Terms)
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) พืชสมุนไพรชนิดล้มลุก ใบสีเขียวปลายเรียวแหลม มีรสขม มีต้นกำเนิดจากอินเดียและจีน แพร่หลายในเอเชีย ใช้เป็นยาป้องกันและรักษาหวัดและไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิผลในการทำลายเชื้อไวรัสซาร์สโควี 2 ในห้องทดลอง แต่ประสิทธิผลการรักษาโควิด-19 ในคนยังสรุปไม่ได้แน่ชัด
แอนโดรกราฟโฟไลด์ (Andrographolide)โมเลกุลในฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสารละลายในแอลกอฮอล์ เชื่อกันว่าเป็นสารออกฤทธิ์หลักในฟ้าทะลายโจร และทั่วโลกใช้เป็นตัวบ่งชี้ขนาด (dose) ของผงบดหรือสารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรด้วย
ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)ยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ใช้เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยบล็อคเอ็นไซม์ RNA polymerase ซึ่งไวรัสอาศัยใช้แบ่งตัว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยที่ประสิทธิผลของยายังสรุปแน่ชัดไม่ได้
ปอดบวม (pneumonitis) คือภาวะการอักเสบในปอดที่เป็นผลตามหลังการติดเชื้อซาร์สโควี2 ถือเป็นตัวชี้วัดจุดจบที่เลวร้ายของโรคตัวหนึ่ง
ไวรัสหมดจากตัว (viral clearance)คือภาวะที่ร่างกายของผู้ติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้ไวรัสหมดไปจากตัวได้ ซึ่งทราบได้จากการตรวจ RT-PCR ที่จากเดิมเคยได้ผลบวกเปลี่ยนเป็นผลลบภาย 14 วันนับจากวันวินิจฉัยโรค
อัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (hospital admission rate) หมายถึงร้อยละของผู้ถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
อัตราการเข้ารักษาในไอซียู (ICU admission rate) หมายถึงร้อยละของผู้ถูกรับไว้รักษาในไอซียู.
ระยะเวลานอนในโรงพยาบาล (hospital length of stay) หมายถึงจำนวนวันที่ผู้ป่วยต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาล
อัตราตายใน 90 วัน (90 days mortality rate) หมายถึงร้อยละของผู้ตายภายใน 90 วันนับจากวันที่เริ่มวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19
- ระเบียบวิธีการวิจัย (Research Methodology)
รูปแบบการวิจัย
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (randomized controlled trial ) ขั้นตอนการวิจัยมีดังนี้
เกณฑ์คัดเข้าผู้ป่วยอาสาสมัคร (inclusion criteria)
คัดเลือกผู้เข้าร่วมตามเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครดังนี้
อายุ 18 ปี ถึง < 60 ปี
ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจ RT-PCR test ได้ผลบวก
ได้รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) , ศูนย์แยกตัวในชุมชน (community isolation) , รพสนาม ,และ FAI , CAI ในจังหวัดสระบุรี โดยคณะผู้วิจัยสามารถกำกับตรวจสอบดูแลได้อย่างทั่วถึงทุกวัน ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินิจฉัยโรคได้
เป็นผู้ป่วยสีเขียว (มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ ไม่มีปอดอักเสบที่วินิจฉัยจากภาพเอ็กซเรย์)
เกณฑ์คัดออกผู้ป่วยอาสาสมัคร (exclusion criteria)
ภาพเอกซเรย์ปอดแรกรับมีอาการแสดงของปอดอักเสบ
อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
เป็นโรคเรื้อรังต่อไปนี้ คือ (1 )โรคอ้วน (2) โรคเบาหวาน (3 ) โรคหัวใจและหลอดเลือด (4 ) โรคไตเรื้อรัง (5 ) โรคปอดเรื้อรัง ( 6 ) โรคตับแข็ง (7) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทานยาที่มีข้อห้ามอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
แผนการตรวจแรกรับ
ซักประวัติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และโรคเรื้อรัง
ตรวจร่างกาย (1) น้ำหนัก (2) ส่วนสูง (3) อุณหภูมิ (4) ชีพจร (5) ความดันเลือด (6) Oxygen Saturation
เจาะเลือด (1) CBC (2) BUN (3) Cr (4) SGOT (5) SGPT (6) Bilirubin (7) CRP (8) HbA1c
RT-PCR day 0
เอกซเรย์ปอด day 0
แผนการตรวจติดตาม
RT-PCR ครั้งแรก ในวันที่ 5, และครั้งที่สองในวันที่ 10 ของการวิจัย
เอกซเรย์ปอด ในวันที่ 1 (แรกรับ) และวันที่ 5 ของการวิจัยและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอาการทางปอด
เจาะเลือด (1) CBC (2) BUN (3) Cr (4) SGOT (5) SGPT (6) Bilirubin (7) CRP (8) HbA1c วันที่ 10 หรือวันจำหน่ายกลับ
Specification ของผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร
Dry arial part Andrographis paniculata
Andrographolides content 3.1% w/w
บรรจุ 400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่ง แคปซูล (11.35 mg.andro/cap)
เป็นยาสมุนไพรไทยที่ผลิตโดยรพ.หนองโดน ขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยา
Specification ของผงบดจากเฉพาะส่วนของใบของฟ้าทะลายโจร
Dry leaves only part of Andrographis paniculata
Andrographolides content 6.06% w/w
บรรจุ 400 มก. ผงบดต่อหนึ่ง แคปซูล (24.24 mg.andro/cap)
เป็นยาสมุนไพรไทยที่ผลิตโดยรพ.เสาไห้ ขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยา
มาตรฐานยาฟาวิพิราเวียร์
ใช้ตัวยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มก. ของโรงพยาบาลมวกเหล็ก บรรจุในรูปยาเม็ด
การจัดเตรียมยาและจ่ายยา
ยาที่ใช้สำหรับทุกกลุ่ม จัดเตรียมให้โดยเภสัชกรซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาให้ผู้ป่วย บรรจุซองต่อมื้อต่อคนในขนาดบรรจุเดียวกันทุกคนโดยกำกับรหัสประจำตัวที่ซอง
การเตรียมยา จ่ายยา และบันทึกผล เป็นแบบ double blind คือ
ผู้เตรียมยาเป็นผู้เตรียมยาลงซองต่อมื้อต่อคนโดยใช้รหัสยา ส่งมอบให้ผู้สุ่มตัวอย่าง แต่ไม่แจ้งว่ารหัสใดหมายถึงยาตัวใด
ผู้สุ่มตัวอย่างจ่ายยาตามรหัสแยกตามกลุ่ม โดยไม่ทราบว่ากลุ่มไหนได้ยาอะไร
ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองได้ยาอะไร
ผู้ประเมินผลลัพธ์ ทั้งแพทย์ผู้ประเมินสีของความรุนแรง และรังสีแพทย์ผู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ ไม่ทราบว่าผู้ป่วยรายไหนได้ยาอะไร
การประเมินผลสรุปความแตกต่างของผลการรักษาในแต่ละกลุ่มตอนท้ายการวิจัยจะประเมินตามรหัสโดยผู้ประเมินไม่ทราบว่ารหัสไหนคือยาตัวใด เมื่อสรุปผลประเมินแล้ว ผู้เตรียมยาจึงจะเปิดเผยต่อทีมผู้วิจัยว่ารหัสใดคือยาตัวใด
การแบ่งกลุ่มผู้ป่วย
กลุ่มที่ 1. ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่ง แคปซูล (11.35 mg.andro/cap) ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days )
ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 6,240 แคปซูล
กลุ่มที่ 2. ผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ผงบดต่อหนึ่ง แคปซูล (24 mg.andro/cap)
ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหาร ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days)
ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 3,120 แคปซูล
กลุ่มที่ 3. ฟาวิพิราเวียร์ 3600 มก.ในวันแรก และ 1600 มก.ต่อวันในวันที่ 2-5 (รวม 10,000 มก./course/คน)
ฟาวิพิราเวียร์ 200 มก ต่อ เม็ด
ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร ในวันแรก
และวันที่ 2-5 รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร
ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 3,900 เม็ด
การคำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่าง (Sample size calculation)
การศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากประชากรไม่สามารถกำหนดได้ จึงคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยการวิเคราะห์ Power analysis โดยกำหนดค่า effect size = 0.3, alpha = 0.05, PowerOf Test = 0.90, DF = 9 ประมาณค่าขนาดตัวอย่างแบบทดสอบสมมุติฐานสองทางคำนวณด้วยโปรแกรม G*Power version 3.1.9.7 ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างขั้นต่ำ 221 คนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถอนตัวออกจากการวิจัย (คาดว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 5) จึงใช้ขนาดตัวอย่างรวมในการศึกษาครั้งนี้ 234 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามเงื่อนไขการทดลอง 3 เงื่อนไขได้จำนวนกลุ่มละ 78 คน
การสุ่มตัวอย่างผู้ป่วย(Randomization)
การศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้ถูกแบ่งเข้าสู่เงื่อนไขการทดลอง 3เงื่อนไข จำนวนกลุ่มละ 78 คนด้วยการสุ่มแบบจัดบล็อก (Block randomization) เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถทำนายลำดับที่เกิดจากการสุ่ม และอคติที่เกิดจากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง (selection bias) ได้
การกำหนดผลลัพธ์ (outcome) ของการวิจัย
ผลลัพธ์หลัก (primary outcome) คือ
1. การเกิดปอดอักเสบขึ้นใหม่ (new pulmonary infiltration) วินิจฉัยจากการอ่านฟิลม์เอ็กซ์เรย์ปอด แบบ double blind โดยรังสีแพทย์
2. การลดปริมาณไวรัส (viral load)ในวันที่ 0, 5, 10 ของการวิจัย
การเปลี่ยนสีบ่งชี้ความรุนแรงของโรคจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสีหนึ่ง
สีเขียว = มีอาการน้อย อุณหภูมิไม่เกิน 37.6 องศาซี. ชีพจรไม่เกิน 90ครั้ง/นาที อัตราการหายใจไม่เกิน 25ครั้ง/นาที) O2sat 96% ขึ้นไป)โดยไม่ใช้ออกซิเจน
สีเหลือง = (1) มีอาการมาก หรือ (2) ชีพจรเกิน 90ครั้ง/นาที (3)หอบเหนื่อยหายใจเร็วเกิน 25ครั้ง/นาทีหรือ (4) Oxygen sat 93-95% โดยไม่ใช้ออกซิเจน (5)ภาพเอ็กซ์เรย์มี new infiltration
สีแดง = มีภาวะหายใจล้มเหลว
ผลลัพธ์รอง (secondary outcomes)คือ
1. ตัวชี้วัดการอักเสบ (CRP) เมื่อวันที่ 1 และ 10
2. การต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล (hospital admission) ใน30 วันนับจากวันได้รับการวินิจฉัย
3. การต้องเข้ารักษาในไอซียู. (ICU admission) ใน 30 วันนับจากวันได้รับการวินิจฉัย
4. การเสียชีวิตใน 30 วัน (30 day mortality)นับจากวันได้รับการวินิจฉัย
5. ภาวะแทรกซ้อนของการรักษา (การทำงานของตับ, การทำงานของไต, ความดันเลือด, การเปลี่ยนแปลงอาการทางร่างกายจากยา)
การวิเคราะห์ทางสถิติ (Statistic Analysis)
การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ SPSS (Statistical Package for the Social Sciences)ในการประมวลผลข้อมูล แบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วน คือ
การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นเพื่อให้ทราบลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง: การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลทางสถิตินั้นหากตัวแปรที่นำมาวิเคราะห์เป็นตัวแปรแบบนามมาตราจะนำเสนอข้อมูลด้วยตารางการแจกแจงความถี่และการกระจายร้อยละ ส่วนในกรณีที่ตัวแปรเป็นตัวแปรระดับช่วงจะนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยโดยใช้ค่าเฉลี่ย (Mean,x̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
การวิเคราะห์การแปรผัน 2 ทาง (Bivariate Analysis):โดยใช้การวิเคราะห์แบบตารางไขว้ (Cross-tabulation) และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย เพื่อแสดงลักษณะทั่วไปและแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรอิสระว่ามีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ด้วยค่าไคสแคว์ ( c2) และการเปรียบเทียบคุณลักษณะ (characteristic) ของผู้ป่วย โดยใช้สถิติทดสอบค่าสถิติที (Independent t -test)กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ <0.05
การรักษามาตรฐานสำหรับทุกกลุ่ม
ทุกรายจะได้รับการรักษาตามคำสั่งการการรักษามาตรฐาน และได้รับยาบรรเทาอาการทุกอาการที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
ข้อพิจารณาด้านจริยธรรม
มาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย (safety precaution)
มีการประเมินผลลัพธ์หลักของแต่ละกลุ่มวันต่อวัน ในระหว่างการวิจัยแต่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาวิจัย หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีอุบัติการณ์ เกิดผลลัพธ์หลักมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ การวิจัยนี้จะถูกยกเลิกกลางคัน เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้ป่วยในกลุ่มนั้นได้รับความเสียหายหากทำวิจัยต่อไป
ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และการป้องกันแก้ไข
ความเสี่ยงต่อจิตใจ ( Psychological harm ) สำหรับผู้ป่วย อาจได้รับความกระทบการะเทือนทางจิตใจ ความเป็นส่นตัวในการเปิดเผยข้อมูล ประวัติและผลการรักษา
การป้องกันแก้ไข การเก็บรวบรวม ข้อมูลจะดำเนินการโดย บุคลากรทางการแพทย์ ที่ถูกมอบหมายเพื่อเก็บข้อมูลไม่นำข้อมูลที่ผู้ป่วยไม่อนุญาตนำมาเปิดเผย ไม่มีการเปิดเผยใบหน้าและชื่อข้อมูลของผู้เข้าร่วมวิจัยผู้วิจัยจะบันทึกข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว มีรหัสการเข้าถึงข้อมูลผู้วิจัยเพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้าถึง
ความเสี่ยงต่อร่างกาย ( Physical harm ) ผู้ป่วยอาจได้รับความเจ็บปวดจากการตรวจพิเศษ เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตรวจตามมาตรฐานการวินิจฉัยโรค อาการไม่พึงประสงค์จากกการใช้ยา
การป้องกันแก้ไข การตรวจประเมินดูแลคัดแยก ผู้ที่เป็นสีเขียว ที่เข้าร่วมโครงการให้ละเอียด และหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรืออาการรุนแรงระหว่างการใช้ยาหรือค่าผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการพบค่าการทำงานผิดปกติที่คาดว่าเป็นผลจากการใช้ยา ให้หยุดการใช้ยาทันที่ แจ้งผู้ศึกษาทันทีและแพทย์หรือผู้ให้บริการในสถานพยาบาลที่ได้รับการดูแลรักษาที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการศึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้ปฏิบัติงาน
ความเสี่ยงต่อร่างกาย ( Physical harm ) อาจได้รับความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 อย่างใกล้ชิด จากการตรวจสวอบ การเจาะเลือดผู้ป่วย หรือการติดตามอาการ
การป้องกันแก้ไข ผู้ปฏิบัติทุกคนสวมชุด PPE ที่เหมาะสม มีพื้นที่กั้นโซนฉากกั้นกรณีที่ต้องตรวจเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจ การเก็บข้อมูลใช้รูปแบบออนไลน์ และการติดตามโดยโทรศัพท์มือถือ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ความเสี่ยงต่อจิตใจ ( Psychological harm) อาจได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจ ความไม่สบายใจ ความกดดันในการถามคำถามการติดตามอาการ
การป้องกันแก้ไข หากผู้ปฏิบัติงานไม่สะดวกในการปฏิบัติ สามารถปฏิเสธหรือร้องขอให้ผู้ที่ชำนาญกว่า ปฏิบัติแทนได้ ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต - ระยะเวลาการวิจัย (Duration)
1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ( 6 เดือน ) - ผลการวิจัย (Results)
- สรุป (Discussions and conclusions)
- บรรณานุกรม (References)
1. Hassanipour, S., Arab-Zozani, M., Amani, B. et al. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep 11, 11022 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-90551-6
2. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. BiochemBiophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
3. Khanit Sa-ngiamsuntorn, AmpaSuksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
4. กรุงเทพธุรกิจ 14 กค. 64. กรมราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังหายป่วยโควิด-19 แล้ว 94.2%. Accessed on August 6, 2021 athttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948538
5. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
6. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. KulthanitWanaratna, PornvimolLeethong, NitaphaInchai, WararathChueawiang, PantitraSriraksa, AnutidaTabmee, SayompornSirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
7. Swedish Herbal Institute. Effect of Kan-Jang® Supplementation in Patients Diagnosed With COVID-19: A Randomized, Quadruple-blind, Placebo-controlled Trial. Accessed on August 6, 2021 at https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04847518
8. Erdem, H. etal. Treatment of SARS-cov-2 pneumonia with Favipiravir: Early results from the Ege University cohort, Turkey. Turk.J.Med.Sci. (2020).
9. Kawasuji H, Tsuji Y. et al. Association between high serum favipiravir concentrations and drug-induced liver injury. medRxiv 2021.05.03.21256437; doi: https://doi.org/10.1101/2021.05.03.21256437
10. Pilkington, V., Pepperrell, T. & Hill, A. A review of the safety of Favipiravir—A potential treatment in the COVID-19 pandemic?. J. Virus Erad. 6, 45–51. https://doi.org/10.1016/S2055-6640(20)30016-9 (2020).
11. Yaylaci S, Dheir H. et al. The effects of favipiravir on hematological parameters of covıd-19 patients. Rev Assoc Med Bras (1992). 2020 Sep 21;66Suppl 2(Suppl 2):65-70. doi: 10.1590/1806-9282.66.S2.65.
12. Takoi H, Togashi Y. et al. Favipiravir-induced fever in coronavirus disease 2019: A report of two cases. Int J Infect Dis. 2020 Dec;101:188-190. doi: 10.1016/j.ijid.2020.09.1450
13. Suwankesawong, W., Saokaew, S., Permsuwan, U. et al. Characterization of hypersensitivity reactions reported. among Andrographis paniculata users in Thailand using Health Product Vigilance Center (HPVC) database. BMC Complement Altern Med 14, 515 (2014). https://doi.org/10.1186/1472-6882-14-515
14. Wongnawa M, Soontaro P et al. The effects of Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees on the pharmacokinetics and pharmacodynamics of midazolam in healthy volunteers. Songklanakarin J. Sci. Technol. 34 (5), 533-539,
15. Leelarasamee A, Suankratay C, Hunnangkul S, Udompunturak S, Krittayaphong R, Poonsrisawat J, Wongsakorn N, et al. The Efficacy and Safety of Andrographis paniculata Extract for the Treatment of Acute Nonspecific Upper Respiratory Tract Infections: A Randomized Double Blind Placebo Controlled Trial. J Med Assoc Thai 2021;104:1204-13.
16. Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide against galactosamine & paracetamol intoxication in rats. Indian J Med Res. 1990 Aug;92:284-92. PMID: 2228075.
17. Subramaniyan, Vetriselvan & Uthirapathy, Subasini & Rajamanickam, G.V.. (2011). Hepatoprotective activity of Andrographis paniculata in ethanol induced hepatotoxicity in albino Wistar rats. Pharmacie Globale. 2.
( …………………………………………………..)
หัวหน้าคณะผู้วิจัย