โรคกังวลเกินเหตุหลังฉีดวัคซีนแอสตร้า
เรียนคุณหมอสันต์
ตามที่หนูเขียนมาปรึกษาคุณหมอเรื่องความกังวลหลังการฉีดวัคซีนเข็มสามว่าเป็นแอสตร้า แล้วคุณหมอตอบหนูสั้นๆว่ารับประกันว่าวัคซีนไม่ทำให้หนูตาย แต่หนูอาจตายได้ด้วยความคิดกังวลของหนูเอง ให้ฝึกวางความคิด หนูก็อ่านบล็อกเก่าๆของคุณหมอแล้วทดลองทำ แต่มันหยุดคิดไม่ได้ คุณหมอเคยบอกว่าอุบัติการลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมองเกิดน้อยในระดับหนึ่งในแสน แต่หนูก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนูเป็นหนึ่งในแสนนั้นละ หนูจะทำอย่างไร หนูอาจเป็นอัมพาต อาจพิการ หนูทำอย่างไรก็ไม่วายเอามาคิดในส่วนของหนึ่งในแสนนี้ ว่าเราอาจจะโชคร้าย ไม่รู้จะทำอย่างไงเหมือนกันเพราะเวลาอยู่ว่างๆ ก็จะคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา กังวลจนนอนไม่หลับ อาการปวดหัวก็กำเริบไม่หายมาสามสัปดาห์แล้ว ตอนนี้กลายเป็นโรคเครียดไปแล้วค่ะ นอนไม่ค่อยหลับ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไง ปรึกษาคุณหมอว่าหนูจะทำอย่างไรดี ต้องไปตรวจอะไรเพื่อยืนยันว่าไม่มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดอุดตันในสมองแน่นอนได้ไหม
ขอบพระคุณที่ตอบเมลหนูค่ะ
……………………………………
ตอบครับ
อามิตตาภะ พุทธะ ท่านผู้อ่านแฟนประจำเห็นจดหมายของเด็กวัยรุ่นแล้วอย่าเพิ่งหมดความอดทนนะครับ ปกติน้อยมากที่ผมจะตอบจดหมายวัยรุ่น แต่บางฉบับก็มีอารมณ์หยิบขึ้นมาตอบอย่างฉบับนี้เป็นต้น วาระหลักคือความกังวลในใจของเด็กวัยรุ่นซึ่งมัน “วกวน” อยู่นั่นแหละไม่ไปไหน เนื้อหาสาระที่ทำให้กังวลเราที่เป็นคนเฒ่าคนเถิบผ่านโลกมามากฟังแล้วก็จะแอบกลั้นหัวเราะว่าช่างเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี เช่นบางคนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็กังวลเป็นตุเป็นตะว่าจบแล้วตัวเองจะเป็นหมอโหล่ยโท่ยที่คนไข้ไม่นับถือ กังวลจนไม่เป็นอันอ่านหนังสือ บางคนไปเที่ยวผู้หญิงมาหนึ่งครั้งก็กังวลว่าจะติดเชื้อ HIV มิใยที่ผลการตรวจจะได้ผลลบซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่เลิกกังวลและเวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วก็ยังไม่เลิกกังวล นี่ตอนนี้มาแบบใหม่กันอีกละคือไปฉีดวัคซีนโควิดมาโดยที่ปักใจเชื่อมาก่อนจากการที่ถูกโชเชียลมีเดียกรอกหูว่าต้องได้วัคซีนเทพเท่านั้นจึงจะไร้ปัญหา พอถูกฉีดวัคซีนไม่เทพเข้าก็ตามมาด้วยความกังวลร้อยแปดจนพ่อแม่ต้องพาไปหาจิตแพทย์ เป็นต้น คือความกังวลของวัยรุ่นนี้สาระมันไม่ได้อยู่ที่เรื่องที่คิดกังวลเสียแล้ว แต่สาระมันอยู่ที่เด็กสมัยนี้ตกเป็นทาสของความย้ำคิดของตัวเองอย่างสิโรราบถอนตัวไม่ขึ้น ทำไมลูกหลานของเราถึงตกอยู่ในกองทุกข์แบบนี้ได้ทั้งๆที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่ก็ให้ทุกอย่างที่ให้ได้จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่มนุษย์เรา “ถวาย” เครื่องอำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ลูกๆในระดับสูงสุดกว่ายุคไหนๆแล้ว แต่ทำไมลูกที่ได้กลับเป็นมนุษย์พันธุ์ขี้กังวลหรือขี้กลัวเกินเหตุจนดำเนินชีวิตปกติแทบจะไม่ได้ เออ..ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
ผมก็รำพึงรำพันไปงั้นแหละ มาตอบคำถามของคุณหนูท่านนี้ดีกว่า ตามเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ (DSM-V) โรคที่คุณเป็นอยู่นี้ชื่อ GAD (ย่อมาจาก gerneralized anxiety disorder) คือภาวะที่มีความกังวลซ้ำซาก เกินเหตุ ไม่สมจริง และบั่นทอนร่างกายจิตใจ ซึ่งก่ออาการไปทุกระบบเช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) เป็นต้น ไม่สามารถคุมความกังวลของตัวเองจนมีความผิดปกติทางพฤติกรรม (เถรตรง เจ้าระเบียบ ทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ มีปัญหาสลึงเดียวก็ร้องกระต๊ากสิบบาทร้อยบาท) ในทางการแพทย์ การรักษาโรคนี้ที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือการใช้ยา เช่นยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้บ้า (antipsychotic drug) ร่วมกับการปลอบด้วยคำพูด (psychotherapy) การทำพฤติกรรมบำบัดแบบให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavioral therapy – CBT) แพทย์บางท่านก็ใช้วิธีรักษาแบบอื่นควบ เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ส่วนวิธีรักษาของหมอสันต์นั้นไม่ใช้วิธีมาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้นซักกะอย่าง หมอสันต์เน้นอย่างเดียวคือให้คนป่วยต้องรักษาตัวเอง ซึ่งต้องลงไปให้ถึงรากของปัญหา การจะไปวิ่งหาที่วิธีตรวจแปลกๆในโรงพยาบาลเพื่อค้ำประกันว่าจะไม่ป่วยจะไม่ตายนั้นไร้สาระและไม่ใช่เหตุของปัญหา เหตุของปัญหาคือความคิด ผมจะชี้แนะคุณนะ คุณต้องอ่านอย่างอดทนนะ เพราะมันอาจจะเข้าใจยากอยู่ คือต้องทำความเข้าใจกับสมองของเราก่อน ความกังวลก็คือ “ความคิด” นั่นแหละ โดยธรรมชาติเมื่อได้รับสิ่งเร้า (stimulus) สมองจะเอาข้อมูลนี้ไปผสมกับความจำในอดีตแล้วก่อร่างความคิดหรือความรู้สึกใหม่ (though formation) ขึ้นมา สิ่งเร้าที่ว่านี้บางทีก็เป็นข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้เช่นตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง บางทีก็เป็นความคิดที่ป๊อบขึ้นมาในสมองเองดื้อๆแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อก่อเป็นความคิดใหม่ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะบันทึกไว้ในความจำ แล้วความคิดนั้นก็ฝ่อไป ถูกแทนที่ด้วยความคิดที่ใหม่กว่าอีกๆๆ โดยที่ความจำที่บันทึกไว้นั้น จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อความคิดครั้งใหม่ๆในอนาคต เป็นเช่นนี้วนเวียนอยู่ไม่รู้จบ คนที่กังวลจึงมักคิดกังวลซ้ำๆซากๆ กลไกการก่อความคิดนี้เกิดขึ้นแทบจะเป็นอัตโนมัติ ความคิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปมีผลต่อพฤติกรรม นั่นก็คือความคิดนั้นจะเป็นนายเรา เหมือนกับวงจรการเกิดพฤติกรรมซ้ำซากในสัตว์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสัตว์ตัวนั้น
แต่อันที่จริงสมองมนุษย์ยังมีความสามารถอีกแบบหนึ่งคือสามารถเฝ้ามองการเกิดขึ้นและการฝ่อไปของความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าสมองมีความสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งแบบไหน ไม่จำเป็นต้องสนองตอบออกไปแบบอัตโนมัติเสมอไป จิตแพทย์ชาวยิวชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ได้อธิบายกลไกนี้ว่าเมื่อมีสิ่งเร้าเข้าสู่การรับรู้ของสมอง ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบออกไป จะมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ฝึกทักษะความรู้ตัว (awareness) มาดีพอ จะสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างนี้เพื่อเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นแบบใด เช่นเมื่อตัวเขาเองถูกนาซีทรมาน แทนที่เขาจะสนองตอบด้วยการโกรธแค้น กลัว หรือโศกเศร้า แต่ด้วยการมีทักษะความรู้ตัวที่ดี เขาสามารถเลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง คือเขาสมมุติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เขาใช้ประกอบการสอนนักเรียนแพทย์ว่านาซีทรมานเชลยอย่างไร สมมุติให้ตัวเขาออกไปยืนเป็นผู้ยืนบรรยายเหตุการณ์นี้อยู่ที่หน้าห้องสอน ขณะที่ร่างกายของเขากำลังถูกพวกนาซีทรมานอยู่นั้น คือเขาเปลี่ยนสิ่งเร้าเดิมที่เคยทำให้เขาโกรธ กลัวหรือเศร้า ไปเป็นความรู้สึกดีๆที่ได้เผยแพร่ความรู้แทน
การที่เราจะพลิกบทบาทจากการเป็นทาสของความคิดที่ก่อตัวขึ้นในหัวของเราได้นั้น กุญแจสำคัญคือต้องมีทักษะที่จะรู้ตัว (aware) ซึ่งหมายถึงการชำเลืองดู ว่า ณ ขณะนั้นมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นสมอง และสมองก่อความคิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นผู้ดูการเกิดความคิดได้สำเร็จ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนมาเป็นเราคือผู้รู้ทันความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นทาสของความคิดนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวอีกต่อไป การจะรู้ตัว หรือ aware นี้เป็นทักษะ (skill) เหมือนการว่ายน้ำ ต้องลงมือฝึกทำบ่อยๆ ทักษะจึงจะเกิด มันไม่ใช่เป็นความรู้ (knowledge) ที่อ่านเข้าใจแล้วก็สำเร็จกิจแล้ว ลำพังคุณอ่านคู่มือการว่ายน้ำแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็นตราบใดที่ไม่เคยลงน้ำฉันใด การพัฒนาทักษะที่จะรู้ตัวและวางความคิดได้ก็ฉันนั้น ผมคงแนะนำคุณได้คร่าวๆแค่นี้ ส่วนการจะฝึกทักษะ หากจะฝึกทำเองให้ทำตามที่ผมเคยเขียนสอนหมอเด็กๆคนหนึ่งในบล็อกนี้ (https://drsant.com/2020/10/blog-post_11-2.html) หากคุณทำเองแล้วไม่สำเร็จ ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์