ความตาย..หรืออาหารเย็น สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน
เรียน คุณหมอสันต์
คุณแม่อายุ 89 มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันสูง ไตระยะ 4 และตอนนี้มีโรคกระดูกสะโพกยุบ ทำให้ต้องนั่งวีลแชร์ตลอด ไม่สามารถเดินได้เอง ประเด็นคือ คุณแม่รู้สึกอยากตาย ร้องไห้ และพูดว่า ไม่นึกเลยว่าแก่มาจะต้องมีสภาพแบบนี้ (ขาไม่ดี) ทั้งๆ ที่โรคเบาหวาน ความดัน แกคุมตัวเองได้ดีมาตลอด 30 ปีที่เป็นจนถึงปัจจุบัน ปัญหาคือหนูจะช่วยแม่ไม่ให้คิดว่าอยากตายได้อย่างไร อยากให้แม่เข้าใจว่าร่างกายก็เป็นเช่นนี้แล..เหมือนว่าพูดง่าย แต่ทำใจยาก
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
……………………………………………………………………………..
ตอบครับ
ผู้สูงวัยไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถึงจุดหนึ่งแล้วส่วนใหญ่จะมีชีวิตแบบนี้เหมือนกันหมด คือผ่านวันเวลาไปด้วยความรู้สึกยากเย็น วกวนอยู่แต่ในความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความย้ำคิดที่สับสนไร้จุดหมาย มีชีวิตอยู่แบบว่า..รอการมาของความตาย หรือไม่ก็อาหารเย็น สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (หิ หิ ขออำไพที่บรรยายโอเวอร์ไปหน่อยเพื่อให้เห็นภาพ)
มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1.. ถามว่าหนูจะให้แม่เข้าใจว่าร่างกายก็เป็นเช่นนี้แหละได้อย่างไร ตอบว่าท่านเข้าใจของท่านดีอยู่แล้ว คุณไม่ต้องไปพยายามอะไร ปัญหาของท่านไม่ใช่ความไม่เข้าใจ แต่ปัญหาของท่านคือการเผลอไปอยู่ในความย้ำคิดที่เนื้อหาสาระของมันทำให้ท่านเป็นทุกข์
2.. ถามว่าหนูจะช่วยแม่ไม่ให้คิดว่าอยากตายได้อย่างไร ตอบว่าคุณช่วยคนอื่นไม่ให้คิดไม่ได้หรอก เพราะความคิดเป็นของอัตโนมัติซึ่งถูกชงหรือถูกนำเสนอขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีตของใครของมัน คือแม้เจ้าตัวก็ไม่ได้ตั้งใจคิด แต่มันมาเองในหัว หัวใครหัวมัน แล้วคนอื่นจะมาช่วยเบรคความคิดให้ได้อย่างไร
สิ่งที่คุณจะช่วยได้คือ
2.1 การดำรงชีวิตของคุณเองแบบอยู่เหนือความคิดให้ได้ก่อน คือฝึกทักษะที่จะสังเกตให้เห็นความคิดของตัวเอง ฝึกทักษะที่จะวางความคิดที่ตนวินิจฉัยแล้วว่าไร้สาระ หรือพาเข้ารกเข้าพง คำว่าความคิดที่พาเข้ารกเข้าพงนี้ผมหมายถึงความคิดที่ชวนให้ปกป้องอัตตาหรือ identity ของตนเองซึ่งมันไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง
2.2 เมื่อคุณใช้ชีวิตอย่างนั้นได้แล้ว คุณจึงจะช่วยคุณแม่ของคุณได้โดยการเริ่มสอนให้คุณแม่หัดมอง (recall) ให้เห็นความคิดของตัวเอง โดยใช้จังหวะที่เหมาะสม เช่น พอคุณแม่เริ่มพิลาปรำพันถึงโชคชะตาหรือความอยากตาย คุณก็หาจังหวะตัดตอนว่า
“ความอยากตายเป็นความคิดนะคะ คุณแม่ลองตั้งใจมองดูมันหน่อยสิ เรากับความคิดเป็นคนละสิ่งคนละอันกันนะ เราสามารถชำเลืองดูความคิดของเราได้ และเมื่อถูกเรามอง ความคิดมันก็จะฝ่อหายไป”
2.3 จากนั้นก็อาศัยจังหวะชักลากดึงให้คุณแม่หลุดออกจากการอยู่ในความคิดหรืออยู่ในสถานการณ์ชีวิต มาใช้ชีวิตเสียที เพราะคนเรามีจำนวนไม่น้อยที่แก่จวนเจียนจะตายอยู่แล้วก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเองจริงๆเลย ได้แต่ถูกสถานการณ์ชีวิตพัดพาไปจนชนวันสุดท้าย การใช้ชีวิตผมหมายถึงการดำรงอยู่อย่างตื่นตัว สงบเย็น และสร้างสรรค์ ไม่ว่าสถานการในชีวิตเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตก็ยังทำได้สบายๆ การใช้ชีวิตเราไม่ได้ต้องการต้นทุนอะไรมาก นี่ผมพูดจากประสบการณ์ของตัวเองซึ่งชีวิตบางช่วงก็เจียนตายแทบไม่เหลืออะไรแล้ว ผมพบว่าต้นทุนในการใช้ชีวิตที่เราต้องการคือขอแค่มีลมหายใจเท่านั้น เมื่อใดที่มีลมหายใจอยู่ เมื่อนั้นก็ใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้
แล้วการใช้ชีวิตนี้เราใช้กันที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หมายถึงทีละลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้นิดหนึ่ง ยิ้ม หายใจออกเบาๆยาวๆ ผ่อนคลายร่างกายจากหัวถึงเท้า และรับรู้พลังชีวิตที่อาบรดแทรกซึมอยู่ทั่วร่างกาย สบายๆ สงบเย็น ผ่อนคลาย และมีพลังที่จะสร้างสรรค์อะไรได้ตลอดเวลา แค่นี้แหละ การใช้ชีวิต คำว่าสร้างสรรค์หมายถึงการทำอะไรดีๆให้โลกหรือให้ชีวิตอื่น ไม่ใช่การทำอะไรเพื่อขยายความยึดมั่นหรือเพื่อปกป้องอัตตาหรือ identity ของตนซึ่งไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง นั่นไม่ใช่สร้างสรรค์
3. คุณถามมาสองข้อผมตอบให้หมดแล้วนะ คราวนี้ผมคุยเพิ่มเติมเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ประโยชน์ไปด้วย
อายุ 89 สะโพกหัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนติดเตียงรอวันตายนะ ยังสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพสมวัยได้ อย่างน้อยก็เดินได้พึ่งตนเองได้ ที่เราคิดว่าผู้สูงอายุติดเตียงไปแล้ว นั่นไม่จริงหรอก ผมยังไม่เคยเห็นผู้สูงอายุที่ติดเตียงจริงๆชนิดที่ฟื้นฟูไม่ได้สักคนเดียว
เขียนมาถึงตอนนี้ขอเล่าความหลังประสาคนแก่หน่อยนะ ตอนนั้นเป็นประมาณปีพ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ อยุธยาจมน้ำอยู่หลายเดือน คุณบิณฑ์ (พระเอกหนังนักกู้ภัย) ได้เอาเรือมารับผม ตั้งใจจะไปดูแลพวกควาญช้างที่ติดเกาะอยู่พร้อมกับช้างจำนวนมาก แล้วตั้งใจจะไปต่อให้ถึงวัดอะไรก็ไม่รู้ซึ่งมีผู้แจ้งข่าวว่ามีคนแก่ติดอยู่บนศาลาวัดราว 20 คนมาเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว
เสร็จภาระกิจกับพวกควาญช้างกำลังจะไปต่อ ก็มีชาวบ้านมาขอให้ไปดูยายซึ่งเป็นอัมพาตขยับตัวไม่ได้มาเดือนกว่าแล้ว ต้องหามกันหนีน้ำไปทางโน้นทีทางนี้ที เมื่อไปถึงคุณยายอัมพาตนอนแบ็บอยู่บนบ้านพื้นปริ่มเหนือผิวน้ำราวหนึ่งคืบ ตัวบ้านมีขนาดประมาณห้องส้วม ผมทักทายคุณยายซึ่งคะเนอายุคงจะประมาณแปดสิบกว่าๆ คุยกันไปตรวจร่างกายไป แล้วก็สรุปว่าคุณยายไม่ได้เป็นอัมพาตเพียงแต่นอนติดเตียงมานาน จึงบอกพระเอกหนังว่า
“บิณฑ์ คุณหิ้วปีกข้างโน้น ผมหิ้วปีกข้างนี้ ผมจะทำกายภาพบำบัดให้คุณยายเดินได้”
เราสองคนฝึกคุณยายให้หัดเดินใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเธอก็ยิ้มเผล่นั่งเองและโกงโก๊ะโกงโก้เคลื่อนย้ายตัวเองได้ จึงลาคุณยายเพื่อเดินทางกันต่อไป ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพื่อให้คนแก่ที่ติดเตียงทั้งหลายได้เข้าใจว่าแก่ติดเตียงจริงๆนั้นไม่มีหรอก ทุกกรณีฟื้นฟูได้ทั้งนั้นแหละ ได้มากได้น้อยอีกเรื่องหนึ่ง ไหนๆเล่าแล้วก็เล่านอกเรื่องต่ออีกหน่อยนะ พอเดินทางต่อก็ปรากฎว่ามืดแล้ว อยุธยายามน้ำท่วมใหญ่กลางคืนคุณจะเห็นแต่เงาเจดีย์โผล่พ้นน้ำ แต่ยอดเจดีย์เตี้ยหรือศาลาการเปรียญที่อยู่ใต้น้ำไม่เห็นหรอก แม้ว่าจะมีไฟฉายส่องสว่างอย่างดีแค่ไหนก็ตาม แล้วก็
“โครม”
หน้าอกเรือเสยเอาอะไรสักอย่างใต้น้ำเข้าอย่างจัง บรรดาลูกเรือกระเจิงกันไปกองอยู่ท้องเรือ ลูกน้องหันหน้ามามองคุณบิณฑ์เป็นเชิงว่ายกเลิกภาระกิจกลับบ้านกันดีกว่าไหมเพราะมืดมองอะไรไม่เห็นและเป้าหมายก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนรู้แต่ว่าห่างจากที่นี่ประมาณ 10 กม. พระเอกหนังหันมาถามผมว่า
“คุณหมอว่าไงดีครับ”
ผมนึกในใจว่าอ้าว ถึงบทผู้ร้ายแล้วรีบมอบให้ผมเล่นเชียวนะ หิ หิ ผมก็จึงตอบไปอย่างซินเซียร์เสียงดังฟังชัดว่า
“ผมว่ากลับเหอะ ผมมานี่ยังไม่ทันได้สั่งเสียลูกเมียเลย”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์