เปลี่ยนอาหารเพื่อรักษาโรคจิต คอนเซ็พท์ใหม่ของวงการแพทย์.. Microbiome
เรียนคุณหมอสันต์
หนูเป็นโรคพานิก (อายุ28 ปี) มักมีอาการแน่นหน้าอกขึ้นมาถึงคอแบบหายใจจะไม่ออก ไปตรวจคลื่นหัวใจ เอ็คโค วิ่งสายพาน เจาะเลือดดูเอ็นไซม์หัวใจ สรุปว่าหัวใจปกติ รักษาอยู่กับคุณหมอ … (จิตแพทย์) มาได้แปดเดือนแล้ว คุณหมอบอกว่าอายุยังน้อยอย่าหวังพึ่งยาไปตลอดชีวิต ให้ปรับวิธีใช้ชีวิต หันไปออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ซึ่งหนูก็พยายามทำอยู่ แต่ไม่ดีขึ้น หนูไม่คิดว่าหนูจะมีชีวิตอยู่กับโรคอย่างนี้ได้ ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นพยาบาลอยู่อเมริกาได้แนะนำให้เปลี่ยนอาหารเป็น plant based และให้เขียนมาหาคุณหมอสันต์ หนูสงสัยว่าอาหารจะไปเกี่ยวอะไรกับการเป็น panic disorder และไม่เห็นว่าการเปลี่ยนอาหารจะช่วยได้ตรงไหน แต่ก็รับปากว่าจะเขียนมาหาคุณหมอสันต์ จึงรบกวนคุณหมอตอบด้วยนะคะว่าถ้าหนูเปลี่ยนอาหารมันจะหายไหม
………………………………………………………………………
ตอบครับ
ถามว่าการเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักจะช่วยรักษาโรคจิตประสาทได้หรือ ตอบว่าได้อยู่นะครับ หิ..หิ นี่ไม่ใช่คำตอบของจิตแพทย์นะ แต่เป็นคำตอบของหมอสันต์ซึ่งเป็นหมอจับฉ่าย คำตอบนี้ตอบจากแนวโน้มใหม่ที่มีการก่อตัวของสาขาใหม่ที่เรียกว่า “จิตโภชนศาสตร์” ไม่ใช่จิตโภชนานะ คำนี้ผมแปลมาจากคำว่า Nutritional Psychiatry หมายถึงการใช้อาหารรักษาปัญหาทางจิตประสาท การก่อตัวของสาขาใหม่นี้มันมาจากสองทาง
ทางหนึ่ง คือผลวิจัยติดตามผู้ป่วยหลายรายการแสดงความสัมพันธ์ว่าอาหารที่มีพืชมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเมดิเตเรเนียนจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยและโรคกังวลน้อยลง ซึ่งผมเอางานวิจัยเหล่านั้นบางส่วนมาแหมะไว้ให้ที่ท้ายบทความนี้สำหรับท่านที่สนใจ
อีกทางหนึ่ง คือการมาอย่างรวดเร็วของหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร (gut microbiome) กับการทำงานของระบบประสาทและสมองของคนเรา ซึ่งผมเอาผลวิจัยบางชิ้นมาแหมะไว้ข้างล่างนี้เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ตามไปอ่านเช่นกัน
เนื่องจากการตอบคำถามนี้เป็นครั้งแรกที่ผมพูดถึง gut microbiome ผมจึงขอขยายความเพื่อให้ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ได้เข้าใจคอนเซ็พท์นี้ให้ถ่องแท้ก่อนนะ เพราะสมัยก่อนวิชาแพทย์จะเน้นว่าจุลชีวิตอันได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส และรา คือเชื้อโรคที่ต้องคอยระวังไม่ให้มันบุกรุกเข้ามาในร่างกายเรา แต่สมัยนี้คอนเซ็พท์นั้นเปลี่ยนเป็นว่าในร่างกายเรานี้มันมี “ชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร” นี่เป็นคำที่ผมแปลจาก gut microbiome คือผมจะให้หมายถึงระบบนิเวศน์วิทยา(ecosystem) ในลำไส้ นึกภาพเวลาเราไปดำน้ำดูปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ เราจะเห็นสารพัดสัตว์น้ำและพืชน้ำอยู่ด้วยกันทั้งกุ้งหอยปูปลาหลากสีหลากรูปร่าง ม้าน้ำ ปะการัง สาหร่ายแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนพึ่งพาอาศัยกันอย่างลงตัว ในทางเดินอาหารเราก็มีจุลชีวิตทั้งหลายทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ จำนวนมากอยู่อาศัยเป็นชุมชนในลำไส้ในลักษณะเดียวกันเดียวกับที่เราเห็นสัตว์และพืชเมื่อไปดูปะการังที่อยู่ก้นทะเลนี่แหละ มันมีกันเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามากถึง 38 ทริลเลี่ยนชีวิต ผมไม่รู้เหมือนกันว่านับกันยังไง รู้แต่ว่าส่วนใหญ่มันจะอยู่ในร่างกายเราแบบอยู่ดีๆ ช่วยเจ้าบ้านทำโน่นทำนี่ถ้อยทีถ้อยอาศัย จนมีแพทย์บางคนเรียกร่างกายเรานี้ว่าเป็น Holobiome หรือชุมชนสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เซลร่างกายของเรานะ แต่จุลชีวิตอื่นก็อาศัยอยู่ในนี้อีกเพียบโดยไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายนี้ที่แท้จริงคือใคร รู้แต่ว่าถ้าบรรดาผู้อาศัยทะเลาะกันเมื่อไหร่ชุมชนก็พังทันที
เพื่อให้ท่านเห็นความลึกซึ้งของคอนเซ็พท์ microbiome ว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างไว้อย่างลงตัวแล้วและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังถึงผลวิจัยที่เรารู้แน่แล้วว่ามันเป็นอย่างนี้แล้วจริงๆ เช่น
(1) ในระหว่างตั้งครรภ์ แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จำนวนหนึ่ง จะอพยพมาตามกระแสเลือด ผ่านรกแม่ เข้ามาอยู่ในลำไส้ทารกก่อนคลอด
(2) เมื่ออายุครรภ์ได้ราวเก้าเดือน แบคทีเรียในลำไส้แม่จะสื่อสารให้เม็ดเลือดขาวของร่างกายแม่มารับเอาตัวแบคทีเรียไปปล่อยที่น้ำนม เพื่อให้ทารกดูดเอาไปตั้งหลักแหล่งในลำไส้ของทารก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในน้ำนมแม่จึงมีแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้งแล็คโตบาซิลลัสอยู่ด้วย
(3) ในน้ำนมแม่มีโมเลกุลอาหารชนิดหนึ่งชื่อโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ธรรมชาติใส่ไว้เพื่อให้แบคทีเรียใช้เป็นอาหารได้ การมีไว้ในนมแม่ก็เพื่อเตรียมไว้เป็นอาหารแก่แบคทีเรียที่จะตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ของทารก
(4) พอเข้าสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แบคทีเรียในช่องคลอดของแม่จะค่อยๆเปลี่ยนไปคล้ายแบคทีเรียในสำไส้ เพื่อให้ทารกที่คลอดผ่านมาได้กินเข้าไป ตรงนี้สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ไปหัดทำคลอด ผมก็สงสัยอยู่ครามครันว่าทำไมสารคัดหลั่งในช่องคลอดของแม่มีกลิ่นคล้ายอึทั้งๆที่ในการทำคลอดผมก็ป้องกันไม่ให้อึเข้ามาแปดเปื้อนอย่างเข้มงวดสุดๆ ตอนนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าเป็นธรรมชาติของเปลี่ยนชนิดของแบคทีเรียนี่เอง
(5) แบคทีเรียในสำไส้ สามารถสื่อสารกับเซลสมอง เซลผิวหนัง เซลเส้นผม และมีส่วนร่วมกำกับการทำงานของเซลและเนื้อเยื่อเหล่านั้นด้วย รวมทั้งการร่วมกำกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกเชิงลบด้วย ทำให้ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความจำ อารมณ์ ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ความผุดผ่องของผิวหนัง และความมันของเส้นผม กลไกที่จุลชีวิตในลำไส้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลร่างกายนั้นทำผ่านการที่มันผลิตโมเลกุลชนิด short chain fatty acid ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่างๆต่อเซลร่างกายได้
(6) มีงานวิจัยเพิ่มจำนวนแล็คโตบาซิลลัสในลำไส้แล้วพบว่าช่วยเร่งการหายของแผลที่ผิวหนังได้หนึ่งเท่าตัว
(7) งานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีวิตในทางเดินอาหารได้ก้าวหน้าไปจากสมัยก่อนมากจนหากแพทย์รุ่นเก๋าระดับรุ่นผมไม่ตามข่าวก็จะตกยุคไปเลย เพราะสมัยที่คนรุ่นผมเรียนแพทย์ การจะศึกษาชนิดและนับจำนวนจุลชีวิตต้องเอามันมาเพาะเลี้ยงในจาน petri dish ซึ่งเป็นจานเพาะเลี้ยงเชื้อที่มีวุ้นเป็นอาหารของมันก่อน เพาะแล้วก็ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง แล้วจึงตักเอาที่เพาะขึ้นออกมาดูมานับ แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว อาศัยข้อมูล genome mapping การศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียแค่ใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรม (DNA) ในสารคัดหลั่ง เยื่อบุ และในอุจจาระ ดูแค่นี้ก็รู้หมดแล้วว่ามีจุลชีวิตอยู่กี่ชนิดทั้ง แบคทีเรีย รา ไวรัส ชนิดไหนมีจำนวนเท่าไร
(8) ปัจจุบันนี้ ฐานข้อมูล ZOE มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไมโครไบโอมใหญ่มากพอจนหากตรวจทราบชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แล้วสามารถทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะมีดัชนีวัดสุขภาพตัวอื่น (เช่น ความดัน น้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ) ว่าเป็นอย่างไร และทุกวันนี้ก็เริ่มมีคนทำชุดตรวจไมโครไบโอโตมออกมาขายแล้วว่าใครมีจุลชีวิตชนิดไหนมากชนิดไหนน้อย ไปภายหน้าการวินิจฉัยโรคอาจทำแค่ตรวจอึแล้ววินิจฉัยโรคทั้งทางกายทางจิตได้เยอะแยะก็ได้
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะวกเข้าประเด็นสำคัญว่าไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของเรานี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทางดีหรือทางร้ายได้ ตามอาหารที่เรากิน ไมโครไบโอมกินอาหารที่มีกากมากที่หลากหลาย กากหมายถึงอาหารพืชเท่านั้น เพราะอาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก ดังนั้นเท่าที่ความรู้ของวงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ อาหารที่จะสร้างสรรค์ไมโครไบโอมดีที่สุดคืออาหารพืชที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท เมล็ดพืช ธัญญพืช ถ้าเป็นไขมันก็ควรเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันมะกอกซึ่งถูกโฉลกกับไมโครไบโอมยิ่งนัก ย้ำว่าต้องกินพืชทั้งมากทั้งหลากหลาย อย่ากินพืชอยู่ไม่กี่อย่างซ้ำซาก งานวิจัยความหลากหลายการกินพืชในแต่ละเดือนของคนอเมริกันพบว่า 10% กินพืช 0-5 ชนิด ส่วนใหญ่ 70% กินพืชไม่เกิน 20 ชนิด มีเพียง 15% เท่านั้นที่กินพืชเกิน 30 ชนิดขึ้นไป ดังนั้นจะให้ดีเดือนสองเดือนก็ไปตลาดซื้อพืชทุกอย่างมาอย่างละนิดอย่างละหน่อยให้ได้ 30 ชนิดขึ้นไปมาตัดยอดปั่นกินเพื่อสร้างความหลากหลายเสียบ้าง รับประกันว่าดีต่อร่างกายและจิตประสาทแน่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Adana RAH, van der Beek E, Buitelaare JK et al. Nutritional psychiatry: Towards improving mental health by what you eat. European Neuropsychopharmacology 2019: 29 (12) : 1321-1332
- J.S. Lai, S. Hiles, A. Bisquera, A.J. Hure, M. McEvoy, J. Attia. A systematic review and meta-analysis of dietary patterns and depression in community-dwelling adults. Am. J. Clin. Nutr., 99 (2014), pp. 181-197
3. T. Psaltopoulou, T.N. Sergentanis, D.B. Panagiotakos, I.N. Sergentanis, R. Kosti, N. Scarmeas. Mediterranean diet, stroke, cognitive impairment, and depression: a meta-analysisAnn. Neurol., 74 (2013), pp. 580-59
4. T.G. Dinan, C. Stanton, C. Long-Smith, P. Kennedy, J.F. Cryan, C.S.M. Cowan, M.C. Cenit, J.W. van der Kamp, Y. Sanz. Feeding melancholic microbes: MyNewGut recommendations on diet and mood. Clin. Nutr. 2019 ;38(5):1995-2001. doi: 10.1016/j.clnu.2018.11.010.
5. U. Fresan, M. Bes-Rastrollo, G. Segovia-Siapco, A. Sanchez-Villegas, F. Lahortiga, P.A. de la Rosa, M.A. Martinez-Gonzalez. Does the mind diet decrease depression risk? A comparison with mediterranean diet in the SUN cohort. Eur. J. Nutr., 58 (2019), pp. 1271-1282
6. D. Moreno-Agostino, F.F. Caballero, N. Martin-Maria, S. Tyrovolas, P. Lopez-Garcia, F. Rodriguez-Artalejo, J.M. Haro, J.L. Ayuso-Mateos, M. Miret. Mediterranean diet and wellbeing: evidence from a nationwide survey. Psychol. Health, 34 (2019), pp. 321-335
7. Carabotti M, Scirocco A, Maselli MA, Severi C. The gut-brain axis: interactions between enteric microbiota, central and enteric nervous systems. Ann Gastroenterol. 2015;28(2):203-209.