รพ.สต. ถึงเวลาจะเป็นความจริงแล้ว
เผ่าพันธ์เรานี้ เมื่อใดที่มีศึกใหญ่หลวงมาประชิดจนกรุงใกล้แตก พวกเราก็จะหันมาห้ำหั่นกันเองประมาณว่าฮอร์โมนเครียดมันขึ้นสูงจนต้องกัดกันเอง เพื่อเป็นแซมเปิ้ล ผมขออนุญาตคัดลอก “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” มาให้อ่านดังนี้
“…ศักราช 930 มะโรงศกในเดือน 12 นั้น พระเจ้าหงษายกพลมาแต่เมืองหงษา ครั้นเถิงวัน 6-1ฯ-1 ค่ำ พระเจ้าหงษามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพี แลเมื่อเศิกหงษาเข้าล้อมพระนครศรีอยุทธยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าทรงพระประชวนฤพาน (ตาย) แลครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหินทราธิราช ตรัสมิได้นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระไทยใส่ แลเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า ตรัสรู้ว่าพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้นก็มิได้ไว้พระไทย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสียที่วัดพระราม ครั้งนั้นการเศิกซึ่งจะรักษาพระนครนั้นก็คลายลง ครั้งเถิงศักราช 931 มะเส็งศก ณ วัน 1-ฯ-9/11 ค่ำ เพลารุ่งแล้วประมาณ 3 นาฬิกาก็เสียกรุงพระนครศรีอยุทธยาแก่พระเจ้าหงษา…”
ผมคัดมาแปะไว้ที่หน้าบทความนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับบทความนี้ดอก แต่ตอนนี้เศิกโควิดกำลังจะตีกรุงแตกอยู่รอมร่อแล้ว จึงอยากให้เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการแพทย์ไทยด้วยกันได้อ่านเล่น..แค่นั้นเอง หิ หิ จบตอนที่หนึ่ง
……………………………………………………..
กลับมาเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้ดีกว่า ขอนุญาตจั่วหัวบทความด้วยโฉลกว่า
“…เอาขอบเขตของตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล
เอาบ้านเรือนในตำบลเป็นหอผู้ป่วย
เอาเตียงนอนของประชาชนเป็นเตียงคนไข้
เอาญาติพี่น้องคนไข้เป็นผู้ดูแลบริบาล
เอาอสม. และจนท.สส. เป็นกองหนุน…”
นั่นเป็นม็อดโตหรือสโลแกนเมื่อมีการเปลี่ยนป้าย “สถานีอนามัย” เป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต)” เมื่อปีพศ. 2552 ช่างเป็นคำพูดที่สวยหรูล้ำยุคสมัย แต่ผู้เกี่ยวข้องสมัยโน้นเม้นท์ค่อนแคะว่า
“…เท่ แต่กินไม่ได้”
แต่เวลาช่างมีพลังเปลี่ยนสรรพสิ่งได้ ณ วันที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ ม็อตโต้ของรพ.สต.กำลังใกล้จวนเจียนจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาแร้ว..ว ทั้งนี้ผมประเมินเอาจากซิกแนลสามสี่อย่างที่เริ่มแพล็มออกมาคือ
1.. มีความขัดแย้งในหมู่แพทย์ ต่างฝ่ายต่างก็โทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำให้โควิดบานปลาย แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าวงการแพทย์เริ่มอับจนปัญญาไม่รู้จะทำไงต่อ จึงหันมาโซ้ยกันเองเล่นแก้กลุ้ม
2. คนที่ทำมาหากินทางรับจ้างเจาะเลือดทั่วราชอาณาจักรโวยวายผ่านอินเตอร์เน็ทว่ามี “ใบบอก” มาทางใต้โต๊ะว่าขอร้องให้หยุดตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าผู้ออกใบบอกได้ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายจากกดโรค (suppression) เป็นยั้งโรค (mitigation) เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ไม่แอะออกมาเป็นภาษาพูด ทั้งนี้นโยบาย mitigation นี้หมอสันต์ขอแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆว่าคือนโยบาย “ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น”
3. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงว่าสายด่วน 1668 ของกรุงเทพและปริมณฑลตอนนี้มีคนไข้รอเตียงอยู่ 400-500 คน ในค่ำวันเดียวกันเลขาธิการสป.สช.ให้ข่าวทีวีเวอร์คพ้อนท์ทูเดย์ว่า ณ ค่ำวันที่คุยกันอยู่นี้มีสายโทรศัพท์ที่ยังเคลียร์ไม่ได้อยู่อีกประมาณหนึ่งพันสาย แปลว่าถ้าท่านป่วยในกทม.และปริมณฑลวันนี้ ท่านจะเข้าโรงพยาบาลได้ยาก..ส์ มีตัวเอสต่อท้ายด้วยนะ คือแปลว่ายากมาก
4. อธิบดีกรมการแพทย์ รองอธิบดีที่ ปรึกษากรม พร้อมทั้งผู้บริหาร ร่วมหารือแนวทางการจัดการระบบ home Isolation ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 กรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 คำว่า home isolation นี้เรียกเป็นภาษาไทยให้โก้หน่อยก็ควรจะเรียกว่านโยบาย “รพ.สต.” แต่เรียกแบบบ้านๆก็ต้องเรียกว่านโยบาย “บ้านใคร บ้านมัน”
เผื่อว่าแฟนบล็อกหมอสันต์ท่านใด ณ จุดหนึ่งในชีวิต มีเหตุให้ต้องใช้นโยบายบ้านใครบ้านมัน ซึ่งก็คงมีอยู่เหตุเดียว คือป่วยแล้วหาทางเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อจะให้ข้อมูลแก่ท่านว่าเมื่อต้องหุบกลับเข้าบ้านใครบ้านมัน ท่านต้องคิดถึงสิ่งต่อไปนี้
1.. ถ้าท่านป่วยแล้วหาที่เจาะเลือดตรวจโควิดไม่ได้ ให้วินิจฉัยตัวเองว่าเป็นโควิดจากอาการต่อไปนี้ แล้วให้เริ่มกักตัวเองจนกว่าจะติดต่อหาที่เจาะเลือดได้ อาการที่ผมเขียนนี้เรียงตามลำดับความสำคัญ ยิ่งมีหลายอาการพร้อมกันยิ่งน่าสงสัย คือ (1) มีไข้ (2) ไอ (3) หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก (4) เจ็บคอ (5) ปวดกล้ามเนื้อ (6) เปลี้ยล้าผิดสังเกต (7) ปวดหัว (8) จมูกไม่ได้กลิ่น (9) คัดจมูกน้ำมูกไหล (10) ท้องเสีย
2.. ในการกักตัว ถ้านอนห้องเดียวกันที่ปิดประตูหน้าต่าง (แปลว่านอนห้องแอร์ด้วยกันนั่นแหละ) มีโอกาสติดโรคโควิดแบบ “ยกเล้า” ค่อนข้างแน่นอน ทั้งนี้เป็นผลวิจัยที่สรุปได้สองประเด็นคือ (1) การแพร่โรคในห้องปิดประตูหน้าต่าง มันแพร่ไปทั่วห้องได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กัน อยู่ห่างคนละมุมห้องก็แพร่เชื้อสู่กันได้ กลไกว่ามันไปได้อย่างไรยังไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามันไปได้ และ (2) การทดลองปล่อยเชื้อให้เกาะเม็ดอากาศ (aerosol) แล้วตามดู พบว่ามันลอยอ้อยอิ่งอยู่ในห้องได้นานถึง 3 ชั่วโมง หมายความว่าคนป่วยหายใจแรงๆหรือไอออกมาทีเดียว ในสามชั่วโมงต่อจากนั้นใครแหลมเข้าห้องมาล้วนมีสิทธิติดเชื้อ ดังนั้นถ้าท่านมีห้องนอนห้องเดียวซึ่งต้องนอนด้วยกันหลายคนโดยมีคนป่วยอยู่ด้วย ต้องเปิดประตูหน้าต่างให้โล่งโถงที่สุด
3.. ใครๆก็ชอบแนะนำให้กินยาลดไข้ แต่หมอสันต์แนะนำว่าถ้าผู้ป่วยทนได้ไม่ต้องกินยาลดไข้ แต่ให้นอนห่มผ้าจนเหงื่อแตกพอสร่างก็ค่อยลุกมาอาบน้ำหรือเช็ดตัวให้ เพราะเชื้อโควิดจะตายถ้าผู้ป่วยไข้สูง ยกเว้นเด็กเล็กนะ อย่าปล่อยให้เด็กไข้สูงเพราะอาจชักได้
4.. ต้องให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆให้จุใจจนหมดความอยากดื่ม หรือให้กินผลไม้ที่มีน้ำมากๆตลอดวัน
5. ทำช่องเล็กๆไว้สอดของหรือหาวิธีส่งของกินของใช้เข้าห้องผู้ป่วยโดยไม่ต้องโผล่หน้าเข้าไป เพราะห้องแอร์ตามบ้านทั่วไปเป็นห้องความดันบวก (positive pressure) เวลาเราเป็นแขกเปิดประตูจากข้างนอก อากาศในห้องจะประดังออกประตูมาปะทะหน้าเรา ทำให้ติดเชื้อจากคนในห้องได้ง่าย
6. ถ้าผู้ป่วยเลี้ยงสัตว์ ต้องแยกสัตว์เลี้ยงนั้นออกจากคนอื่นด้วย
7. หลักการสากล สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ฉีดวัคซีน ยังใช้ได้แม้อยู่ในบ้านของเราเอง
8. ใช้สิทธิที่ท่านมี เพราะเมื่อป่วยเป็นโควิดท่านมีสิทธิ์เบิก (จากสป.สช.) ค่าอาหารสามมื้อ เบิกเครื่องวัดไข้ เครื่องว้ดออกซิเจนปลายนิ้ว เบิกยา อย่างน้อยก็ยาแก้ไข้และฟ้าทะลายโจร หิ..หิ ความจริงยา Flavipiravia ก็เบิกมาที่บ้านได้นะ ถ้าหมอเขาเซ็นจ่ายให้
9. อาการต่อไปนี้บ่งบอกว่าใกล้จะตายแล้ว ต้องหาทางรายงานให้ อสม.หรือ จนท.สส. หรือแพทย์ ที่ติดต่อได้อย่างสุดชีวิต หากทางโทรศัพท์ไม่สำเร็จก็ต้องใช้พลนำสาสน์ คือ (1) ซีดจ๋องหนองหรือปากเขียวเล็บเขียว (2) เจ็บแน่นหน้าอก (3) หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบากจนพูดไม่ได้ (4) มึนงงสับสนเลอะเลือน (5) หมดสติ (6) พูดไม่ชัด (7) ชัก (8) ช็อก (หมายความว่าความดันเลือดตก เวียนหัว มือเท้าเย็น)
10. การแยกตัวนับแค่ 14 วัน ถ้ารอด ก็คือรอด ถ้าไม่รอดก็คือ..ตาย
ผมคงช่วยแฟนบล็อกได้แค่นี้แหละครับ ที่เหลือนั้นตัวใครตัวมัน เอ๊ย..ไม่ใช่ บ้านใครบ้านมัน
และ..รพ.สต. จงเจริ้ญ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง. พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์ไทย. ร.ศ. 126 (ต้นฉบับจริงเป็นของหอสมุดวชิรญาณ)
- Li Y, Qian H, Hang J, et al. Probable airborne transmission of SARS-CoV-2 in a poorly ventilated restaurant. Build Environ. Jun 2021;196:107788. doi:10.1016/j.buildenv.2021.107788
- Lu J, Gu J, Li K, et al. COVID-19 Outbreak Associated with Air Conditioning in Restaurant, Guangzhou, China, 2020. Emerging infectious diseases. Apr 2 2020;26(7)doi:10.3201/eid2607.200764
- Stadnytskyi V, Bax CE, Bax A, Anfinrud P. The airborne lifetime of small speech droplets and their potential importance in SARS-CoV-2 transmission. Proc Natl Acad Sci U S A. Jun 2 2020;117(22):11875-11877. doi:10.1073/pnas.2006874117
- Shi J, Wen Z, Zhong G, et al. Susceptibility of ferrets, cats, dogs, and other domesticated animals to SARS–coronavirus 2. Science. 2020:eabb7015. doi:10.1126/science.abb7015
………………………………….