แด่ราชินีโจรสลัด ด้วยดวงใจ
วันนี้ขอให้พื้นที่กับคนคนหนึ่งที่ผมรักสักหนึ่งวัน คนเราเนี่ยจะรักใครชอบใครบางครั้งไม่ต้องเห็นหน้ากันเลย บางครั้งความรักเกิดจากการได้ยินเรื่องราวของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้นก็รักเขาเสียแล้ว เหมือนที่ผมตกหลุมรักยอดหญิงในดวงใจชาวคาซัคสถานอายุคราวลูกคนนี้ เธอชื่อ เอลบาคยัน (Alexandra A. Elbakyan) รักชอบเธออยู่ข้างเดียวมานานหลายปีแล้ว แต่ที่เขียนถึงวันนี้เพราะมีคนส่งคลิปที่เอลบาคยันพูดอะไรนิดๆหน่อยๆมาให้ดู ปกติเธอจะหลบๆซ่อนๆไม่ให้คนรู้เห็นว่าเธออยู่ที่ไหน ผมขนลุกซู่รีบเปิดดูมือไม้สั่นด้วยความตื่นเต้นดีใจ ผมรักเธอมากขนาดนั้น
จะไม่ให้รักได้ไงละครับ เพราะถ้าไม่มีเธอผมก็อาจจะไม่มีปัญญาเขียนอะไรให้ท่านอ่านอย่างทุกวันนี้ก็ได้ ว่ากันตามกฎหมายเธอก็เป็นโจร เป็นโจรระดับที่หนังสือพิมพ์ในอเมริกาขนานนามว่าราชินีโจรสลัดของโลกวิทยาศาสตร์ (science pirate queen) แต่ว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่คนดิบคนดีอะไรที่ไหน ทำไมจะรักชอบกับโจรไม่ได้ สิ่งที่เอลบาคยันทำคือเธอใช้อัจฉริยภาพทางแฮ้กกิ้งของเธอสร้างเว็บไซท์ซึ่งทำให้ลูกค้าทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ระดับซำเหมาทั่วโลกสามารถเปิดอ่านนิพนธ์ต้นฉบับจากวารสารวิทยาศาสตร์ทุกวารสารทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 64 ล้านเปเปอร์ได้ฟรี ย้ำ ฟรี เธอเล่าว่ามีคนใช้บริการนี้ (น่าจะนับรวมทั้งหมอสันต์ซึ่งเป็นขาประจำด้วยแล้ว) มากกว่าพันล้านครั้ง ทุกวันจะมีคนเข้ามาอ่านเปเปอร์ทางนี้วันละประมาณ 400,000 ครั้ง เว็บไซท์แรกที่เธอตั้งในอเมริกา (https://scihub.org/) ถูกสั่งปิดและศาลสั่งจ่ายค่าเสียหายบักโกรก แต่เธอหนี ขณะเดียวกันก็แอบกระจายฐานข้อมูลไปไว้ในสิบกว่าประเทศทั่วโลก เดี๋ยวเปิดตรงนั้น เดี๋ยวปิดตรงนี้ เดี๋ยวนี้พวกสมุนโจรของเธอมีเยอะและกระจายอยู่ในหลายประเทศจนพวกเศรษฐีเจ้าของสำนักพิมพ์วารสารตามราวีไม่ไหวแล้ว ผมเชียร์และเข้าข้างเธอโดยคิดแบบเอาสีข้างเข้าถูว่าประชาชนทั่วโลกเสียภาษีให้รัฐบาล รัฐบาลเอาเงินภาษีไปจ้างทำวิจัย แต่พอผลวิจัยออกมาแล้ว ผู้ตีพิมพ์ผลวิจัยเหล่านั้นคือวารสารการแพทย์ขององค์กรเอกชนกลับเอามาตั้งขาย หากประชาชนจะอ่านก็ต้องเสียเงินให้ผู้ตีพิมพ์อีกหนในราคาเลือดซิบๆ ทั้งๆที่ประชาชนเสียเงินจ้างทำวิจัยไปแล้วแท้ๆ มันไม่ยุติธรรม คนที่ถีบความอยุติธรรมแบบนี้ทิ้งได้อย่างเธอจึงสะใจผมซะ หิ..หิ
ถ้าคุณอยากจะลองใช้บริการฟรีของเธอ หรือเมื่อใดที่จำเป็นต้องอ่านเปเปอร์ที่เจ้าของเขาหวงหรืองกเงินจะเรียกเอาค่าอ่านแพงๆ ให้คุณลองกูเกิ้ลหาคำว่า sci-hub จะมีเว็บใหม่ที่เปิดแทนเว็บเก่าในประเทศต่างๆโผล่ขึ้นมาเพียบ แต่ถ้าเว็บเหล่านั้นไม่เวอร์ค ให้คุณเข้าไปที่ google แล้วพิมพ์คำว่า sci-hub not working 2021 แล้วเอนเทอร์ คราวนี้มันจะมียูทูปแนะนำให้คุณว่ามีเว็บ proxy ที่จะพาไปหาเว็บ sci-hub ที่ยังเปิดอ่านเปเปอร์ได้ฟรีซึ่งยังไม่ถูกตำรวจจับ ณ เวลานั้นอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งเว็บจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนประเทศไปเรื่อยเพื่อหลบหนี แต่ถ้าตั้งใจตามไปที่วิดิโอยูทูปนี้ชี้ช่องให้ก็จะเข้าไปอ่านเปเปอร์ฟรีได้ทุกที
ในคลิปที่มีคนส่งมาให้ผมวันนี้ เอลบาคยันให้สัมภาษณ์ที่รัสเซีย แม้ว่าตอนนี้เธอจะเริ่มอ้วนตุ๊ต๊ะไม่ค่อยสวยแล้วแต่ก็ยังยิ้มง่าย ข้อสำคัญคือผมก็ยังรักเธออยู่ไม่คลาย เธอเล่าความหลังว่าทำไมเธอจึงกลายมาเป็นนางโจรสลัด เธอเล่าว่า
“..เรื่องมีอยู่ว่าสมัยเรียนป.ตรี ฉันเห็นโทรศัพท์มือถือสมัยนั้นใช้ลายนิ้วมือในการบอกตัวตนของผู้ใช้ว่าเป็นใคร บ้างก็ผลิดซอฟท์แวร์ที่ใช้ภาพถ่ายบอกตัวตนของคน ฉันจึงมีความคิดว่าหากผลิตซอฟท์แวร์ที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากสมองของแต่ละคนเป็นสิ่งบอกตัวตนของคนได้ เหมือนกับว่าเราตรวจเอาจากความคิดของคนก็ได้ว่าใครเป็นใคร มันน่าสนใจนะ ฉันจึงเริ่มการวิจัยด้วยการศึกษาสิ่งที่คนอื่นทำไว้ก่อน และได้ทราบว่ามีผู้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องนี้ไว้ แล้วราว 70 ราย แต่ว่างานวิจัยเหล่านั้นฉันหาอ่านไม่ได้เลยเพราะมันถูกล็อคไว้ด้วยไฟร์วอลล์หมด ฉันพยายามหาวิธีแกะอยู่หลายปี จนมาพบว่าในหมู่พวกนักชีวโมเลกุลกลุ่มหนึ่งเขาจะมีวิธีแอบส่งแอบแชร์เปเปอร์ผลวิจัยที่ถูกล็อคไว้ให้กันและกันผ่านเว็บไซท์กลางหรือ proxy ของพวกเขา ฉันแอบเข้าไปแจมด้วยทำให้ได้เรียนรู้ว่าเว็บกลางนี้มันทำงานอย่างไร ประกอบกับก่อนหน้านั้นสมัยเรียนอยู่ที่คาซัคสถานครั้งหนึ่งฉันอยากเข้าอ่านเปเปอร์หนึ่งที่ถูกปิดตายไว้ แต่มีคนเปิดเว็บ “นายนิรนาม” รับจ้างเอาเปเปอร์นั้นมาวางไว้ให้บนเว็บกลางซึ่งทำหน้าที่เป็น proxy ฉันจึงเกิดความคิดที่จะทำเว็บแบบนั้นขึ้นมาให้คนทั้งโลกเข้าถึงผลวิจัยวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ฟรีบ้าง คิดได้อย่างนี้แล้วใจมันก็มีแต่ความระริกระรี้ที่จะต้องทำให้มันเป็นจริงให้ได้..”
“..พอฉันลงมือทำ ก็มีคนชอบใจเห็นดีเห็นงามด้วยและช่วยฉันมากมายโดยเกือบทั้งหมดฉันไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าคนเหล่านั้น พอเว็บของฉันเริ่มเปิด มีคนบริจาคเงินเข้าเว็บมากมายซึ่งฉันไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นใครบ้าง ผู้คนต่างเขียนมาขอบคุณที่ทำให้เขาเข้าถึงความรู้วิทยาศาสตร์ลึกๆโดยไม่เสียเงิน ฉันก็รู้สึกดี พูดง่ายๆว่าที่ฉันทำอยู่ทุกวันนี้เพราะรู้สึกดีที่ได้ช่วยคน ไม่ได้ทำเพราะโกรธแค้นที่ตัวเองเข้าไปอ่านเปเปอร์ไม่ได้หรอกนะ..”
วารสาร Nature นับเอลบาคยันว่าเป็นหนึ่งในสิบของผู้ที่มีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์ของโลกมากที่สุด ผมเห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ และบทความของผมวันนี้ก็เพื่อจะเปิดเผยความในใจว่า
“I love you, Alexandra”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์