ผลวิจัยความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 ในคนไทยที่กินมังสวิรัติกับที่กินอาหารทั่วไป
วันนี้ผมขอแปลบทคัดย่อผลวิจัยเรื่องความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 ในคนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติกับที่กินอาหารทั่วไปซึ่งผมเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยเอง งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bangkok Medical Journal สาระของงานวิจัยน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคอันเกิดจากการขาดวิตามินบี.12 ในหมู่ผู้กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนม
โปรดสังเกตว่าในงานวิจัยนี้ใช้วิธีวัดโฮโมซีสเตอีนซึ่งเป็นสารที่จะคั่งค้างในร่างกายเมื่อขาดวิตามินบี.12 เป็นตัวชี้วัดแทนการวัดค่าวิตามินบี.12 โดยตรง เนื่องจากค่าโฮโมซีสเตอีนมีความไวในการตรวจคัดกรองภาวะขาดวิตามินบี 12. (95.6%) มากกว่าการวัดตัววิตามินบี.12 โดยตรง (50%) เพราะตัววิตามินบี.12 มีโมเลกุลชนิดที่ไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดผลลบเทียมได้มาก
อนึ่ง ก่อนอ่านงานวิจัยผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อยว่าโรคขาดวิตามินบี. 12 แสดงอาการผิดปกติบนร่างกายได้ 3 แบบใหญ่ๆคือ
(1) เป็นโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต (megaloblastic anemia)
(2) เป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อมหรือการอักเสบของระบบประสาทและสมอง รวมทั้งโรคปลายประสาทอักเสบและโรคสมองเสื่อม
(3) เป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งรวมถึงหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจด้วย อันสืบเนื่องจากการคั่งของสารโฮโมซีสเตอีน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง
(คำแปล) บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:
เพื่อตรวจดูสถานะของวิตามินบี.12 โดยอาศัยการวัดระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดในคนไทยผู้ใหญ่สามกลุ่ม แต่ละกลุ่มจำนวน 100 คน คือ กลุ่มที่ 1. คนไทยที่กินอาหารทั่วไปซึ่งไม่ใช่มังสวิรัติ กลุ่มที่ 2. คนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติชนิดไม่กินไข่ไม่กินนม (vegan) กลุ่มที่ 3 คนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติไม่กินไข่ไม่กินนมและเป็นผู้มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 สูงคือกินมังสวิรัติมาเกิน 20 ปี หรืออายุเกิน 64 ปี หรือมีอาการหรืออาการแสดงที่สงสัยว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี.12
ระเบียบวิธีวิจัย:
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบตัดขวาง (descriptive cross sectional study) เพื่อตรวจดูระดับโฮโมซีสเตอีนในคนไทยที่กินอาหารทั่วไปและอาหารมังสะวิรัติรวม 300 คน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 โดยใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการ chemiluminescent microparticle immunoassay (CMIA) โดยใช้เครื่องตรวจ Architec machine เมื่อได้ผลระดับโฮโมซีสเตอีนแล้วก็เอาของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน
ผลการวิจัย:
มีอาสาสมัครคนไทยวัยผู้ใหญ่เข้าร่วมการวิจัย 300 คน (เป็นชาย 105 คน เป็นหญิง 195 คน) ในจำนวนนี้ 100 คนเป็นผู้กินอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่มังสวิรัติ อีก 100 คนเป็นผู้กินอาหารมังสวิรัติ อีก 100 คนเป็นผู้กินอาหารมังสวิรัติที่มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 สูงร่วมด้วย พบว่าในจำนวน 100 คนที่เป็นผู้กินอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่มังสวิรัตินั้น พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ (มากกว่า 15.4 Umol/L) เพียง 1 คน (1%) ขณะที่ในจำนวน 100 คนของไทยที่กินอาหารมังสวิรัติชนิดไม่กินไข่ไม่กินนม พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ 52 คน (52%) และในจำนวน 100 คนของคนไทยที่กินอาหารมังสวิรัติไม่กินไข่ไม่กินนมที่เป็นผู้มีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 อยู่แล้วด้วย พบผู้มีระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงผิดปกติ 70 คน (70%)
บทสรุป:
คนไทยวัยผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนมมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี.12 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการสะสมของสารโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงกว่าคนไทยที่กินอาหารทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ (p 0.001) คณะผู้วิจัยจึงแนะนำว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่ไม่กินนมควรกินวิตามินบี.12 เสริมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขนาดการกินเสริมที่แนะนำโดยสมาคมแพทย์มังสวิรัติอเมริกัน (AVMA) คือ 50-100 ไมโครกรัม ต่อวัน หรือ 500-1000 ไมโครกรัมต่อสัปดาห์
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Chaiyodsilp, MD S, Phuriwattanapong, MD S, Chaiyaphak, MD W, Chaiyodsilp, MD S, Pruisart, MSc P. Determination of Vitamin B12 Deficiency Status in Vegan and Non-Vegan Thais by Assessment of Homocysteine Level. BKK Med J [Internet]. 2021Feb.27 [cited 2021Mar.7];17(1):15-9. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/bkkmedj/article/view/216161