กลไกการเกิดปัญญาญาณ ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นผู้วิเศษ
คุณหมอสันต์ครับ
การจะเกิดปัญญาญาณต้องฝึกสมาธิเข้าถึงฌาณก่อนใช่หรือไม่ครับ
…………………………………………………………….
ตอบครับ
คำถามของคุณหากจะตอบว่าใช่หรือไม่ใช่คุณก็จะไม่ได้ประโยชน์มากนัก ผมจะอธิบายกลไกการเกิดปัญญาญาณดีกว่านะ จะได้เป็นการแก้ความเข้าใจผิดของแฟนบล็อกจำนวนหนึ่งที่คิดว่าปัญญาญาณเป็นเรื่องคุณสมบัติวิเศษ เป็นเรื่องของผู้วิเศษ ซึ่งเป็นความเข้าใจหรือความเชื่อที่เหลวไหลทั้งเพ
สิ่งที่ปรากฎต่อเราที่เดี๋ยวนี้ซึ่งปกติเราจะรับรู้ได้ทีละหรือทีละทางเลือกนั้นอย่างนั้น ความจริงแล้วมันปรากฎอยู่พร้อมกันทีเดียวทีละเป็นร้อยเป็นพันอย่าง มีทางให้เลือกเป็นร้อยเป็นพัน แต่เรารับรู้ไม่ได้ เปรียบเสมือนแสงอาทิตย์ซึ่งมีสีขาว เราก็นึกว่ามันมีสีเดียวเพราะตาเรารับรู้ได้สีเดียว แต่พอเอาแก้วปริซึมมาคั่นเราจึงรู้ว่ามันมีถึงเจ็ดสี
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราเปิดวิทยุฟังเพลงอยู่ทาง FM107 ได้ยินเพลงป๊อบเพลินๆอยู่ แต่ในขณะเดียวกันนั้นยังมีสถานีวิทยุอีกเป็นร้อยเป็นพันสถานีกำลังออกอากาศพร้อมกันสาระพัดเรื่อง บ้างเล่าข่าว บ้างอธิบายวิธีทำเกษตร บ้างขายยาสมุนไพร เราไม่รู้เลยว่าเพราะเราได้ยินแต่เพลงของ FM107 เพราะวิทยุของเราจูนได้คลื่นเดียว ส่วนคลื่นอื่นนั้นมันถูกบังไว้ไม่ให้เรารู้ไม่ให้เราเห็น แต่มันก็อยู่ที่นั่นในเวลานั้นเหมือนกันแหละ
แล้วอะไรละที่มาบังให้เราเห็นแค่อย่างเดียวหรือชิ้นเดียวขณะที่เดี๋ยวนี้มีของปรากฎอยู่เป็นร้อยเป็นพันทำไมเราไม่เห็น อะไรมาบังอยู่ ตอบว่ากรอบของความคิดของเราเองนั่นแหละ ที่บังไม่ให้เราเห็นส่วนที่เราไม่เห็น เพราะเราจะเห็นเฉพาะที่ความคิดหรือความเชื่อของเราเปิดให้เราเห็นเท่านั้น
ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังนะ ว่าความคิดเป็นกรอบบังไม่ให้เราเห็นสิ่งที่มีอยู่ที่นั่นได้อย่างไร สมัยผมเป็นหมอหนุ่มๆ ครูของผมซึ่งเป็นหมอในวัยใกล้เกษียณแล้วท่านหนึ่งเล่าว่าสมัยท่านเป็นเด็กอายุ 8 ขวบ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดครองไทย และทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปในบ้านของท่านเพราะคุณพ่อของท่านเป็นแม่ทัพของฝ่ายไทยอยู่ตอนนั้น เข้าไปแล้วก็เอาปืนจ่อหัวท่านซึ่งเป็นเด็กอยู่เพื่อบีบบังคับให้คุณแม่ของท่านบอกความลับที่พวกมันต้องการ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านเห็นไส้ความเลวของคนญี่ปุ่น พอผมจะไปทำงานเมืองนอก ท่านก็สอนผมว่าอย่าไปคบกับหมอญี่ปุ่น มันชอบเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ซึ่งผมก็รับฟังและจดจำคำสอนของท่านไว้เป็นอย่างดี
เมื่อผมไปทำงานเมืองนอกจริง ตอนนั้นลูกชายอายุราวหนึ่งขวบ กำลังชอบเล่นของเล่น ผมไปทำงานเมืองนอกแม้จะถอนเงินจนเกือบเกลี้ยงธนาคารคือจำได้ว่าเหลือติดบัญชีอยู่ 5,000 บาท แต่เงินที่ติดตัวไปก็ต้องประหยัด เพราะกว่าเงินเดือนๆแรกจะออกก็มีเรื่องต้องกินต้องใช้ ไปดูของเล่นแบบที่ลูกชอบซึ่งมีเสียงติ๊งๆต๊องๆมีการเคลื่อนไหว เห็นราคาแล้วจะเป็นลม ชั้นที่ราคาถูกที่สุดไม่มีเสียงไม่เคลื่อนไหวก็ยังชิ้นหนึ่ง 20 เหรียญซึ่งผมไม่มีปัญญาซื้อหาดอก เผอิญวันหนึ่งหมอญี่ปุ่นที่ทำงานด้วยกันมาเยี่ยมพร้อมกับเมียของเขา เขากำลังจะกลับไปญี่ปุ่น ขณะที่ผมกำลังเข้ามารับตำแหน่งแทนเขา เราทำงานเหลื่อมกันอยู่ประมาณหนึ่งเดือน เมียเขาเอาของเล่นเก่าของลูกชายเขาชื่อโตชิมาให้ลูกชายผมเล่น ซึ่งลูกชายผมชอบมากและเล่นมันราวกับได้ขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว ได้รู้จักและทำงานด้วยกันหนึ่งเดือน มีความชอบพอกัน ครอบครัวของเราทั้งสองเป็นเพื่อนกันต่อมาอีกหลายสิบปี ทำให้ผมได้เห็นอีกด้านหนึ่งของคนญี่ปุ่นซึ่งครูผมไม่เห็น เพราะครูมองคนญี่ปุ่นผ่านกรอบความคิดของท่านซึ่งบังเอาส่วนหนึ่งไว้ เปิดให้เห็นแต่ส่วนที่ความคิดอยากจะเห็น นี่เป็นตัวอย่างว่าความคิดบังความจริงไว้บางส่วนทำให้เราเห็นไม่หมดได้อย่างไร ส่วนที่ถูกความคิดบังไว้นั่นแหละ หากมันถูกเปิดออก มันก็คือปัญญาญาณ ซึ่งก็คือการเห็นสิ่งที่มีอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นถูกความคิดบังไว้ไม่ให้เห็น เรียกอีกอย่างว่าปัญญาญาณคือการเห็นตามที่มันเป็น
แล้วทำอย่างไรละ จึงจะได้เห็นส่วนที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยเห็น ก็ต้องเอาสิ่งที่บังอยู่คือความคิดออกไปให้หมดก่อน เพราะปัญญาญาณไม่เกิดในขณะมีความคิด
การจะเอาความคิดออกไป ก็ต้องเข้าใจว่าความคิดที่ทำให้เราเข้าใจผิดว่าอัตตาหรืออีโก้ของเราเป็นเรื่องจริงนั้น เป็นความคิดที่ดำรงอยู่ได้เพราะเวลาในใจ (psychological time) เช่น ความกลัว เป็นการจินตนาการว่าสิ่งที่เราไม่อยากได้จะเกิดกับเราในอนาคต ส่วน ความหวัง เป็นการจินตนาการว่าสิ่งที่เราอยากได้จะเกิดกับเราในอนาคต ส่วน ความเสียใจ หรือรู้สึกผิดนั้นเป็นการเรียบเรียงประสบการณ์เก่าเสียใหม่ (re-create) เพื่อฉายซ้ำให้เราเห็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตแต่ว่าฉายซ้ำกันที่ปัจจุบันนะ ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความหวัง ความเสียใจ ความรู้สึกผิด ล้วนเป็นความคิดที่อาศัยเวลาในใจเป็นที่สิงสถิตย์ทั้งสิ้น ถ้าหดเวลาในใจให้แคบลงมาจนเหลือแค่เดี๋ยวนี้ ความคิดเหล่านั้นก็จะไม่มีที่อยู่ พูดง่ายๆว่าถ้าอยู่กับเดี๋ยวนี้ ยอมรับทุกอย่างที่มีอยู่ที่เป็นอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ต้องหนี หรือไม่ต้องวิ่งหาอะไรในอนาคต ก็ไม่ต้องกลัวไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องเสียใจกับอะไร ในภาวะที่ปลอดความคิดอย่างนี้ หากมีอะไรเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ณ เดี๋ยวนี้ เราจะเห็นมันหมด นี่แหละที่เรียกว่าเห็นตามที่มันเป็น คือหมายความว่าเห็นมันโดยไม่เกี่ยวกับการพยายามปกป้องอัตตาหรืออีโก้ของเรา การเห็นทั้งหมดโดยไม่มีอะไรถูกความคิดบังไว้นี่แหละ คือปัญญาญาณ
ดังนั้นปัญญาญาณไม่ใช่คุณวิเศษ หรือต้องเป็นผู้วิเศษ คนที่เห็นสิ่งต่างๆด้วยปัญญาญาณมากที่สุดคือคนที่ไม่มีกรอบความคิดอะไรในใจ ยกตัวอย่างเช่นเด็กก่อนเข้าเรียนอนุบาล เด็กเมื่อถูกปล่อยลงไปในสนามหญ้าท่านกลางหญ้าระบัด สัตว์ แมลงต่างๆ เด็กจะเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น และเลือกหยิบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกับสิ่งที่น่าสนใจหรือเร้าใจเขาที่สุด นี่คือการใช้ปัญญาญาณเลือกทำในสิ่งที่ถูกจริตหรือเป็น passion ของตัวเอง นี่คือกำเนิดของความริเริ่มสร้างสรรค์ หรือ creativity เป็นกลไกการเรียนรู้แบบรับรู้ทุกอย่างตามที่มันเป็น ซึ่งเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่จะทำให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในทุกสภาวะสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่เคยเห็นหรือไม่เคยเห็นมาก่อนก็ตาม
แต่พอเด็กเข้าโรงเรียน เด็กจะถูกสอนให้เห็นซ้ำซากเฉพาะที่ความคิดอยากให้เห็น คือเห็นในกรอบคอนเซ็พท์ต่างๆของความคิดเช่น ความถูกต้อง ความดี ความปลอดภัย ความสะอาด เป็นต้น นั่นหมายความว่าได้เกิดการเรียนรู้ด้วยกลไกแบบใหม่ขึ้นแล้ว คือกลไกการย้ำคิด หรือ compulsiveness คือเด็กจะถูกสอนให้ย่ำอยู่ในร่องของความคิดเดิม ออกไปนอกร่องไม่ได้เพราะนั่นถูกนิยามว่าคือความผิดพลาดหรือ mistake ซึ่งจะถูกลงโทษทันที ด้วยการเรียนแบบใหม่นี้ เด็กที่เคยเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็นมาก่อนก็จะกลายเป็นเห็นเฉพาะที่กรอบความคิดเปิดให้เห็น ปัญญาญาณที่เคยมีสมัยก่อนเข้าโรงเรียนก็จะหายไป โดยมีสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” ซึ่งแท้จริงแล้วคือผลที่เกิดจากรีไซเคิลความจำเก่าๆ ตำราเก่าๆ หรือขี้ปากซ้ำซากของคนรุ่นเก่า เข้ามาแทนที่
เล่ามาถึงตรงนี้คุณคงพอจะอนุมาณได้แล้วนะ ว่าปัญญาญาณไม่ใช่ความเป็นผู้วิเศษ หรือต้องเป็นผู้วิเศษก่อนจึงจะเกิดได้ หรือต้องบรรลุฌานก่อนจึงจะเกิดได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ปัญญาญาณเป็นการได้เห็นสิ่งรอบตัวทั้งหมดตามที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งโอกาสแบบนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อไม่มีกรอบของความคิดเข้ามาเลือกบดบังบางส่วนเอาไว้ ดังนั้นเงื่อนไขหลักที่จะเกิดปัญญาญาณก็คือต้องปลอดความคิด
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์