อย่า "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เพราะจะปิดโอกาส "รู้"

     วันหนึ่งผมคุยกันในวงเล็กๆในแค้มป์ Spiritual Retreat มีคนถามผมว่าทำอย่างไรจึงจะมีศรัทธาต่ออะไรสักอย่างจริงจังได้เหมือนคนอื่นเขาบ้าง ผมตอบว่า

     "ไม่จำเป็นหรอก มันมีสองวิธีให้คุณเลือกซึ่งจะพาคุณไปถึงฝั่งได้ทั้งคู่ คือ ถ้าคุณนับถือพระเจ้า คุณก็ทำงานร่วมกับพระเจ้าของคุณ ถ้าคุณไม่นับถือพระเจ้า คุณก็เป็นพระเจ้าเสียเอง" 

     แล้วก็มีคนถามผมว่า

     "หมอสันต์เชื่อเรื่องพระเจ้าด้วยหรือ" ผมตอบว่า

     "ผมไม่ "เชื่อ" อะไรทั้งนั้น และไม่ "ไม่เชื่อ" อะไรทั้งนั้น" 

     วันนั้นๆไม่มีโอกาสได้คุยกันเจาะลึกนอกจากคำตอบสั้นๆ จึงขอใช้บล็อกวันนี้เพื่อการนี้สักหน่อยนะ

     คืออะไรก็ตามที่เรารู้อย่างชัดเจนแล้วเช่นน้ำเป็นของเหลว หรือไฟเป็นของร้อน อย่างนี้ไม่ต้องมีใครมาถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะไม่จำเป็น มันชัดอยู่แล้ว คำถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่อเกิดเฉพาะกับของที่เราไม่รู้

     ประเด็นของผมคือในการจะหลุดพ้นออกไปจากกรงความคิดของคุณเองนี้ อย่า "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" อะไรทั้งสิ้น

     เพราะโมเมนต์ที่คุณเชื่อ (belief) คุณได้สะกดจิตตัวเองหรือจัด (identify) ตัวเองว่าเป็นคุณเป็นพวกเดียวกันหรือแบบเดียวกันกับความเชื่อนั้นไปเรียบร้อยแล้ว ความเชื่อนั้นจะฝังลงไปเป็นความจำของคุณ รอเวลาที่จะกลับขึ้นมาเป็นความคิดใหม่ซึ่งจะบงการชีวิตของคุณไปตามทิศทางนั้น

     เช่นเดียวกันเมื่อคุณ "ไม่เชื่อ" อะไร คุณก็สะกดจิตตัวเองหรือ identify ตัวเองว่าอยู่ตรงข้ามกับสิ่งนั้นไปเรียบร้อยแล้วอีกเช่นกัน ผลก็จะเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าคุณไปอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณไม่เชื่อ

     ทั้งการ "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เป็นการปิดโอกาสที่คุณจะได้ "รู้" เพราะการที่คุณจะรู้ขึ้นมาได้ คุณต้องตั้งต้นจากการที่คุณยอมรับก่อนว่าคุณไม่รู้

     ทั้งการเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ ผ่านกลไกที่สิ่งเร้า (stimuli) ผ่านเข้ามาทางอายตนะ (sensors) ถูกแปลงเป็นภาษา (names and forms) เทียบเคียงคลุกเคล้ากับความจำ (memory) ที่ได้บันทึกไว้ แล้วตกกระทบกลายเป็นความรู้สึก (feeling) บนกายและใจ แล้วเกิดเป็นความคิด (thought) เชื่อหรือไม่เชื่อขึ้นต่อยอดความรู้สึกนั้น

     แต่การยอมรับว่าไม่รู้ ไม่ใช่ความคิดนะ เป็นการเปิดรับ (receptive) สิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะตามที่มันเป็นโดยไม่คิดอะไรต่อยอด ไม่พิพากษา ไม่วิเคราะห์ตัดสิน ไม่ "เชื่อ" และไม่ "ไม่เชื่อ" เพียงเปิดรับรู้ตามที่มันเป็น และยอมรับว่ายังไม่รู้อะไรที่มากกว่าที่มันปรากฎตรงๆโต้งๆต่ออายตนะ

     การใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นการใช้ชีวิตแบบถูกกำกับโดยความจำแต่หนหลัง ไม่ว่าจะในรูปของการศึกษาอบรม การยึดมั่นในคอนเซ็พท์ถูกผิด ดีชั่ว ศีลธรรม ประเพณี จึงเป็นการใช้ชีวิตในแบบที่บูดๆ จืดๆ ชืดๆ หรือบางครั้งก็เน่าๆ ซ้ำๆซากๆ ไม่มีวันที่จะหลุดออกมาได้

     ขณะที่การใช้ชีวิตอยู่กับการเปิดรับสิ่งที่เข้ามาที่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็นโดยหากไม่รู้ก็ยอมรับว่ายังไม่รู้ เป็นการใช้ชีวิตแบบน่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ กับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาตลอดเวลา ทีและแว้บ ทีละแว้บ เพราะใครจะไปรู้ได้ว่าแว้บต่อไปอะไรจะเข้ามา มันจึงเป็นชีวิตที่น่าตื่นเต้น น่าพิศวง ท้าทาย ชวนให้ทำความรู้จัก

     ความเชื่อทำให้คุณ "กลายเป็น" หรือ becoming ซึ่งในการเกิดมามีชีวิตครั้งหนึ่งนี้ ยิ่งคุณกลายเป็นอะไรต่ออะไรมากเท่าใด คุณก็ยิ่งติดกับดักความเป็นบุคคลของคุณมากเท่านั้น หมดโอกาสที่จะเปิดรับอะไรในรูปของสิ่งใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ อย่างปลอดอิทธิพลของตัวตนหรืออีโก้ได้

     ชีวิตนี้มีอยู่สามส่วนนะ คือ ร่างกาย ความคิด และ ความรู้ตัว ตัวความรู้ตัวซึ่งเป็นส่วนที่สถาพรที่สุดของชีวิตนั้นเป็นพลังงานหรือคลื่นความสั่นสะเทือนชั้นที่ละเอียดและมีศักยภาพสูงสุดที่อยู่นอกบัญญัติของภาษา การจะเข้าถึงพลังงานชั้นในสุดนี้ได้เราจำเป็นต้องอาศัยคลื่นความสั่นสะเทือนหรือพลังงานเป็นตัวพาเราไป ไม่ใช่อาศัยความเข้าใจภาษาพาไป พลังงานนั้นปรากฎต่อเราในรูปของอาการถูกจริต (passion) หมายความว่าเราชอบอะไรมากๆมันจะเกิดพลังงานคึกคักกระดี๊กระด๊าขึ้นในตัว นั่นแหละคือสะพานที่ทอดให้เราเดินเข้าไปสู่ความรู้ตัว หรือสู่ความหลุดพ้น

     เราจะได้รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราชอบจริง หรือสิ่งที่ถูกจริต หรือ passion ของเรา ก็ต่อเมื่อเรามีโอกาสได้มีชีวิตอยู่กับสิ่งใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ อยู่ตลอดเวลา เราก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าเราถูกจริตกับอะไร ไม่ถูกจริตกับอะไร แต่ถ้าหากเราไปจมอยู่ในความคิดคือความเชื่อหรือความไม่เชื่ออันเป็นแกงเก่าๆชืดๆบูดๆเสียแล้ว เราจะไปมีโอกาสได้สัมผัสเปรียบเทียบได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบจริง อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อย่างดีเราก็ทำได้แค่สะกดจิตตัวเองให้อยู่ในความเชื่อหรือความไม่เชื่อนั้นไปจนตาย หมดโอกาสที่จะได้ออกมาจากชีวิตแบบเก่าๆบูดๆอย่างชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนของเราที่ถูกครอบด้วยระบบการศึกษาแบบถูกบังคับให้เชื่อ ชนิดที่พอโตขึ้นเมื่อเปิดให้เลือกทำอะไรที่ตัวเองชอบ เขาหรือเธอก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าในชีวิตนี้เขาหรือเธอไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มีแต่ความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี เชื่อว่าคนอื่นเป็นคนไม่ดี เป็นต้น แต่ไม่มีประสบการณ์ว่าทำอะไรอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตตัวเองเบิกบาน กลายเป็นคนไม่รู้วิธีที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุข ได้แต่คอยเอาความเชื่อของตัวเองไปพิพากษาตัดสินคนอื่น ถ้าคนอื่นเขาทำตรงกับสะเป๊คในใจของตัวเองก็ดีไป ถ้าเขาทำไม่ถูกสะเป๊คตัวเอง ตัวเองในฐานะผู้พิพากษาก็เป็นทุกข์ไปเพราะการกระทำของคนอื่นเขา น่าเสียดายนะ ในชีพที่แสนสั้นนี้ หากเสียเวลาไปกับเรื่องแบบนี้เสียชั่วชีวิต ก็จะเสียชาติเกิดเปล่าๆ

     นอกจากจะเป็นตัวปิดหนทางไปสู่ความหลุดพ้นแล้ว ความเชื่อ (belief) ยังมีผลข้างเคียงอีกนะ มันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราต้องทะเลาะกันหรือทำสงครามฆ่ากันตายทีละเป็นเบือเพื่อปกป้องความเชื่อหรือตัวตน (identity) ของเราไม่ว่าจะในรูปของศาสนา เผ่าพันธ์ ประเทศชาติ เพศ ผิวสี สถาบัน ก็ตาม

     อนึ่ง อย่าเอาความเชื่อ (belief) ไปสับสนกับความไว้วางใจ (trust) ในสิ่งที่ปรากฎต่อเราตรงหน้าเดี๋ยวนี้นะ ความไว้วางใจในสิ่งที่ปรากฎอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรายอมรับปัจจุบัน และทิ้งความคิดไร้สาระอย่างความกลัวและความหวังได้ ดังนั้นความไว้วางใจไม่ปฏิเสธสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วตรงหน้าจึงเป็นของมีประโยชน์ แต่ความเชื่อในความคิดเป็นตุเป็นตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตัวเองยังไม่รู้นั้นเป็นของมีโทษ อย่าเอามาปนกัน เพราะการพูดถึงสิ่งนี้ด้วยภาษามีความเสี่ยงมากที่จะเอาสองสิ่งนี้มาสับสนปนเปกัน เช่นคำว่าศรัทธา (faith) มักถูกใช้ไปในสองความหมายตามแต่ผู้ใช้จะหยิบไปใช้ บ้างใช้ในความหมายว่าเป็นความเชื่อ บ้างใช้ในความหมายว่าเป็นความไว้วางใจ จะใช้ศัพท์ตัวไหนในความหมายไหนไม่สำคัญเพราะมันเป็นแค่ภาษา แต่ขอให้จับสาระให้ได้ว่าความเชื่อเป็นของมีโทษ ความไว้วางใจเป็นของมีประโยชน์

ปล. 
     คำว่า อายตนะ หมายถึงเครื่องมือที่เราใช้รับรู้สิ่งเร้า ซึ่งในภาษาวิทยาศาสตร์หมายถึงห้าอย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง แต่ในทาง spiritual ต้องหมายความรวมถึงอย่างที่หก คือ "ใจ" ด้วย ผมขอให้สนใจตรงนี้เป็นพิเศษนะ ตรงที่ "ใจ" ในฐานะที่เป็นอายตนะ เพราะหากไม่สนใจก็จะไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร เพราะใจ (mind) นี้ปรากฎอยู่ได้ในสองสถานะ ขึ้นอยู่กับว่าความสนใจ (attention) จะไปจดจ่อคลุกเคล้าอยู่ที่ตรงไหน หากความสนใจไปคลุกเคล้าอยู่ในความคิด (thinking a thought) ใจก็จะปรากฎในสถานะของความคิด แต่หากความสนใจถอยกลับมาเป็นผู้สังเกตความคิด (aware of a thought) ใจก็จะปรากฎเป็นผู้สังเกต ใจที่เป็นผู้สังเกตนี่แหละคือใจที่ทำหน้าที่เป็นอายตนะ ไม่ใช่ใจที่ปรากฎเป็นความคิดอันเป็นสิ่งที่ถูกส้งเกตนะ อย่าเอามาสับสนปนเปกัน 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67