การวิดพื้น (push-up) กับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

กราบเรียนคุณหมอสันต์
สามีของดิฉันอายุ 61 ปี ตอนที่ทำงานไม่มีอาการผิดปกติอะไร พอเกษียณดิฉันจี้ให้เขาไปเข้ายิมออกกำลังกาย เขาไปกลับมาเล่าให้ฟังว่าเทรนเนอร์ให้เขาวิดพื้น เขาคุยว่าเขาวิดได้ถึงสิบที แต่อีกราวเจ็ดวันต่อมาก็มีอาการเจ็บหน้าอกตอนนั่งดูทีวี.ขยับตัวนิดเดียวก็เจ็บ ดิฉันพาไปโรงพยาบาลหมอตรวจแล้วส่งสัยว่าเป็นโรคหัวใจแต่ตรวจคลื่นหัวใจแล้วบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเร่งด่วน แต่หมอบอกว่าเนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอกจึงไม่อยากเสี่ยงให้วิ่งสายพาน และแนะนำให้ตรวจสวนหัวใจ ดิฉันอยากถามคุณหมอว่าการวิดพื้นทำให้เจ็บหน้าอกได้หลายวันได้หรือเปล่า การวิดพื้นปลอดภัยต่อหัวใจไหม ควรให้เขาวิดพื้นต่อไปหรือเลิก แล้วสามีดิฉันควรจะตรวจสวนหัวใจไหม
ขอบพระคุณคะ

..............................................................

ตอบครับ

     แม่เฮย ผู้ชายรุ่นเดอะเนี่ยเห็นแมะ อายุมากจนเกษียณแล้วเมียก็ยังตามบังคับกะเกณฑ์จู้จี้จุกจิกแม้ในเรื่องการออกกำลังกายซึ่งควรจะเป็นเรื่องความสำราญส่วนตัวแท้ๆ ก็ยังไม่วายถูกภรรยาแทรกแซง พอไม่สบายเธอก็พาไปหาหมอและตัดสินใจให้เสร็จสรรพว่าจะต้องตรวจอะไรจะต้องทำอะไร ชีวิตของผู้ชายรุ่นเดอะนี้เป็นชีวิตที่ด้านหนึ่งน่าอิจฉาที่มีคนเอาใจใส่ดูแล แต่อีกด้านหนึ่งน่าเห็นใจนะที่บั้นปลายต้องมามีชีวิตแบบนกน้อยในกรงทอง ฮี่ ฮี่ ผู้ชายรุ่นหลังหากไม่อยากมีชีวิตเป็นนกน้อยในกรงทองให้หัดปกครองดูแลสุขภาพโชว์ผลงานของตัวเองให้ ม. เห็นเสียตั้งแต่ยังหนุ่มนะครับ อย่าให้ภรรยาเขาประเมินว่าเราเป็นทารกน้อยที่เอาตัวไม่รอด

    มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

    1. ถามว่าการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อหน้าอกไม่ว่าจะเป็นวิดพื้นหรือยกดัมเบลดึงสายยืด ทำให้เจ็บหน้าอกหลังจากนั้นหลายวันได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เขาเรียกว่าอาการปวดกล้ามเนื้อแบบชลอตัวเกิดหลังออกกำลังกาย (DOMS - delayed onset muscle soreness) ถือเป็นเรื่องธรรมดาหลังการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แนวทางการรักษาคือ หากหยุดออกกำลังกายไปเลยกลับจะหายช้า แต่หากออกกำลังกายต่อไปไม่หยุดจะหายเร็วกว่า

     2. ถามว่าการวิดพื้น (push-up) ปลอดภัยต่อหัวใจไหม ตอบว่าการวิดพื้นก็เหมือนการฝึกกล้ามเนื้อแบบอื่นๆที่มีความปลอดภัยต่อหัวใจแน่นอน

     ยิ่งไปกว่านั้น ผมเพิ่งนึกได้ว่าฮาร์วาร์ดเพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการวิดพื้นกับการเป็นโรคหัวใจในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open โดยทำวิจัยในพนักงานดับเพลิงจำนวน 1,104 คน อายุ 21-66 ปี ใช้เวลาติดตามวิจัยนาน 10 ปี โดยเปรียบเทียบความสามารถในการวิดพื้น (ได้รอบละกี่ครั้ง) กับผลการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) ซึ่งทำอย่างน้อยปีละครั้ง ตลอดสิบปีที่วิจัยอยู่ มีผู้เกิดจุดจบที่เลวร้ายด้านหัวใจขึ้น 37 คน เมื่อวิเคราะห์ผลวิจัยสรุปได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์เป็นเชิงเส้นว่าคนที่วิดพื้นได้มากจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อย โดยความเสี่ยงจะเริ่มลดลงในคนที่วิดพื้นได้ 11 ครั้งขึ้นไป และมีความเสี่ยงลดลงถึง 96% ในผู้ที่วิดพื้นได้ถึง 40 ครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างการวิดพื้นกับการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ช้ดเจนกว่าการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) ดังนั้นนอกจากการวิดพื้นจะเป็นการออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดังเช่นวิธีออกกำลังกายอื่นๆแล้ว ยังเป็นวิธีตรวจประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้อย่างดีซะด้วยนะ คือยิ่งวิดพื้นได้มาก ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อย และหากถือตามงานวิจัยนี้ ชายชาตรีทุกคนควรสามารถวิดพื้นได้อย่างน้อย 11 ครั้งขึ้นไปจึงจะเริ่มลดการตายจากโรคหัวใจลงได้

     3. ถามว่าสามีของคุณควรจะตรวจสวนหัวใจไหม อันนี้ผมขอตอบตามข้อมูลเท่าที่คุณให้มานะ คำตอบของผมอาจจะผิดก็ได้หากมีข้อมูลอะไรมากกว่านี้แต่คุณไม่ได้ให้มา ข้อบ่งชี้ของการตรวจสวนหัวใจมีกรณีเดียว คือเมื่อใดก็ตามที่ต้องยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดที่มีข้อบ่งชี้ให้รักษาแบบรุกล้ำ (หมายถึงใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหรือทำผ่าตัดบายพาส) แต่ผมดูข้อมูลของสามีคุณที่ให้มาแล้วไม่มีหลักฐานอะไรชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาแบบรุกล้ำ กล่าวคือ

     3.1 โอกาสเป็นโรคหัวใจแบบไม่ด่วน (stable angina) แทบไม่มีเลย เพราะอาการเจ็บหน้าอกเกิดขณะพัก และสัมพันธ์กับการขยับตัวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการปวดกล้ามเนื้อหรือเอ็นบนผนังหน้าอก

    3.2 โอกาสเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ชนิดที่ต้องรีบรักษาก็ไม่มี เพราะการตรวจคลื่นหัวใจเมื่อเข้าโรงพยาบาลก็วินิจฉัยแยกได้เด็ดขาดแล้วว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่มีความผิดปกติแบบเร่งด่วน

    ดังนั้นผมวินิจฉัยว่าสามีของคุณเจ็บหน้าอกจากการปวดกล้ามเนื้อแบบชลอตัวเกิดหลังการออกกำลังกาย (DOMS) มากกว่า จึงไม่มีข้อบ่งชี้ให้ทำการตรวจสวนหัวใจ

     การตรวจยืนยันเรื่องนี้หากอยากทำก็ทำได้ไม่ยาก คือรอให้พ้นระยะของการปวดกล้ามเนื้อแบบ DOMS ซึ่งปกติอยู่ไม่เกิน 14 วัน แล้วก็ไปตรวจวิ่งสายพาน (EST) ถ้าผลตรวจเป็นลบก็..จบข่าว

     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านทั่วไปด้วย คือคนส่วนใหญ่ไปกลัวการออกกำลังกายว่าจะทำให้หัวใจเป็นโน่นเป็นนี่ แม้แต่หมอเองบางทีก็ห้ามคนไข้ไม่ให้ออกกำลังกายเสียเอง ทั้งๆข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันแน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่าการออกกำลังกายเป็นคุณและจำเป็นสำหรับการป้องกันและรักษาโรคหัวใจ สำหรับท่านที่ต้องการติดตามไปสืบค้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าผมพูดจริงหรือเปล่า ผมได้ลงเอกสารอ้างอิงไว้สองอัน อันแรก [2] เป็นคำแนะนำการออกกำลังกายของของสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) และสมาคมพันธมิตรต่างๆ ซึ่งรวบรวมหลักฐานวิทยาศาสตร์ไว้ดีมากและตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Circulation เมื่อปีกลาย อันที่สอง [3] เป็นผลวิจัยการป่วยและตายด้วยโรคห้วใจโดยสัมพันธ์กับระดับการออกกำลังกายซึ่งทำวิจัยในคนหลายชาติหลายภาษาทั่วโลกกว่า 130,000 คน ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Lancet เมื่อสองปีมานี้เอง ทั้งสองหลักฐานนี้เป็นหลักฐานที่มากเกินพอที่จะกระตุ้นให้ใช้การออกกำลังกายเป็นเครื่องมือทั้งป้องกันและรักษาโรคหัวใจ ส่วนความกลัวของแพทย์ส่วนหนึ่งและของคนทั่วไปที่ว่าออกกำลังกายแล้วหัวใจจะมีอันเป็นไปอย่างโน้นอย่างนี้นั้นเป็นเพียงความเชื่อหรือคอนเซ็พท์ที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลย เราจึงไม่ควรไปให้น้ำหนัก จะเป็นการชักใบให้เรือเสียเปล่าๆ

    ดังนั้น โปรดบังคับให้สามีคุณวิดพื้นต่อไป ฮิ ฮิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Yang J, Christophi CA, Farioli A, et al. Association Between Push-up Exercise Capacity and Future Cardiovascular Events Among Active Adult Men. JAMA Netw Open. 2019;2(2):e188341. doi:10.1001/jamanetworkopen.2018.8341
2. Lobelo  F, Rohm Young  D, Sallis  R,  et al; American Heart Association Physical Activity Committee of the Council on Lifestyle and Cardiometabolic Health; Council on Epidemiology and Prevention; Council on Clinical Cardiology; Council on Genomic and Precision Medicine; Council on Cardiovascular Surgery and Anesthesia; and Stroke Council.  Routine assessment and promotion of physical activity in healthcare settings: a scientific statement from the American Heart Association.  Circulation. 2018;137(18):e495-e522. doi:10.1161/CIR.0000000000000559PubMedGoogle ScholarCrossref
3. Lear  SA, Hu  W, Rangarajan  S,  et al.  The effect of physical activity on mortality and cardiovascular disease in 130,000 people from 17 high-income, middle-income, and low-income countries: the PURE study.  Lancet. 2017;390(10113):2643-2654. doi:10.1016/S0140-6736(17)31634-3

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี