หากมีงานทำอยู่แล้วให้กอดงานของคุณไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด

ผลอะรูมิไร้ อะไรมิรู้

 

เรียน อ.สันต์ ที่เคารพ

    หนูเรียนโค้ชกับอาจารย์แล้วกลับมาทำงานโค้ชเป็นหลักขณะที่งานประจำเป็นงานรอง ปัญหาคือตอนนี้คนไข้ในมือมี 29 คนได้ มันล้าทางจิตวิญญาณ เวลา deep coach แล้ว return พลังงานไม่ทันค่ะ ไม่รู้ว่าต้องใช้วิธีใด ถ้า อ.จะช่วยแนะนำได้ค่ะ เวลามีงานบริหาร ประสานงานประชุมฝ่ายที่ได้รับมอบหมาย หนูก็ต้องทำแบบตั้งใจตั้งสติ ใช้ตรรกะ แล้วรู้สึกว่าไม่มีแรง focus ทำให้ดีเหมือนก่อน เหมือนทำๆ ไปให้พอใช้ได้ เวลาสลับ mode การทำงานระหว่างเป็นโค้ชกับงานประจำจะต้องตั้งลำเป็น วันๆ ไปเลย แบ่งให้ชัดเจน ไม่งั้นเวลาสวิงโหมด จะเหนื่อยจิตวิญญาณมากเลยค่ะ ตอนนี้สิ่งที่ชอบ แล้วรู้สึกอยากทำจริงๆ ก็คืองานโค้ช อยากทำโค้ชเพียวๆ เลย แต่ติดเรื่องพยายามหาช่องทางออนไลน์ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวได้ในระดับหนึ่ง ทำฐานปลอดภัย ก่อน move ออกมา 100% เพราะถ้าขืนทำต่อในระบบนี้ต่อไป อาชีพโค้ชจะสูญพันธ์ไป ตามแรงที่หมดของหนูค่ะ หนูจำเป็นต้องเลือกหรือตัดสินใจจริงๆ (วันก่อนคุยกับ หน.ว่า ช่วยหาทีมเภสัช น้องใหม่ก็ได้มาช่วยทำโค้ชหน่อย แกบอกว่ายาก ไม่มีหรอก 
คนอย่างเทอมันแค่ 1/100, วันก่อนทีม หมอคลีนิคอ้วนประชุมกัน เรื่องคนไข้ผ่าตัด bariatric ให้หนูเข้านั่งด้วย และบอกจะทำ DSC แต่ไม่มีพูดถึงการเพิ่ม MI coach สักแอะ...หมอก็รู้สึกว่ามันยาก เป็นไปไม่ได้..แต่หนูว่ามันได้ แม้เล็กๆ น้อยๆก็รู้สึกภูมิใจว่าชีวิตมันมีความหมาย

    สรุปคำถามก็คือ ในน่านน้ำโค้ชสุขภาพ ออนไลน์ หนูมีแนวโน้มหารายได้ +ไปต่อเป็นอาชีพได้จริงมั้ย ในความเห็นอ.สันต์ และถ้าไปได้ อ. แนะนำแนวทางอย่างไรบ้างคะ...ตอนนี้หนูก็ promote case ใน tiktok ไปบางส่วน ก็เริ่มมีคนสนใจประปรายมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่กล้า charge เงิน (ลองถามคนไข้ 2 คนที่ success) คน 1=ให้ ชม.ละ 250/ทั้งcourse 6000 -10000 บาท,คน2 = ชม.ละ 600 เอาจริง ให้เยอะกว่าที่หนูคิดให้ตัวเองอีกค่ะ 555 ก็เลยเริ่มรู้สึกต้องก้าวออกจาก comfort zone ไป, แต่ก็กลัวไปไม่รอดค่ะ อายุมากแล้ว 40 ขึ้น แต่หนูไม่สามารถไปจ่ายยาเฉยๆ แล้วมีความสุขได้แล้วจริง มันเหมือนนี่มันไม่ใช่งาน 
ด้วยความเคารพ
................

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านที่อยู่นอกวงการตามทันก่อนนะครับ

    DSC ย่อมาจาก Disease Specific Care แปลว่า การดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีจำเพาะเจาะจงสำหรับโรคที่ผู้ป่วยเป็น
    MI ย่อมาจาก Motivational Interview แปลว่า การสนทนาเพื่อปลุกหรือชี้ความบันดาลใจ ซึ่งเป็นทฤษฎีการเปลี่ยนนิสัยคนที่ถูกนำมาใช้เป็นรากฐานของการฝึกสอนโค้ชสุขภาพ

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

    1. ถามว่า ถ้าไม่ชอบงานประจำแต่ชอบงานข้างๆคูๆมากกว่า จะเสี่ยงลาออกไปจากงานประจำเพื่อไปมีความสุขกับการทำสิ่งที่ชอบดีไหม ตอบว่า..นับตั้งแต่ปีพ.ศ.นี้เป็นต้นไปจนครบ 3-5 ปีข้างหน้า หากคุณมีงานทำอยู่แล้วให้กอดงานของคุณไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด กรณีเดียวที่จะต้องออกคือถูกเขาถีบออก เพราะว่าใน 3-5 ปีข้างหน้านี้จะเป็นยุคข้าวยากหมากแพงแสนสาหัส ผู้คนจะถูกถีบออกจากงานออกมาเตะฝุ่นกันเป็นจำนวนมากชนิดที่งานอะไรที่มนุษย์พอจะทำเพื่อแลกเงินได้จะมีคนเฮโลแย่งกันทำอุตลุตไม่เว้นแม้แต่งานโค้ช ยังไม่นับว่าผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการให้ข้อมูลความรู้หรือการคิดวิเคราะห์จะถูกหุ่นยนต์ทำออกมาแข่งแบบแจกให้ฟรีๆแถมทำได้ดีกว่าคนด้วย ดังนั้น ช่วงนี้ให้เลิกฝันที่จะทิ้งงานเก่าไปหางานใหม่ที่จะได้รายได้ใกล้เคียงกันไว่ก่อนเถอะนะ

    2. ถามว่าก็ไม่ชอบงานเก่าแล้วอะ มันไม่สนุกเหมือนกับไม่ใช่งานแล้วอะ จะให้ทำไง ตอบว่าเอ..คุณนี่พูดไม่รู้เรื่องหรือไง นัยยะของคำตอบข้อแรกคือการมีข้าวกินและมีที่ซุกหัวนอนจะเป็นวาระแห่งชาติใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ เรื่องทำอะไรแล้วสนุกอะไรไม่สนุกเป็นวาระรองที่จิ๊บจ๊อย งานประจำไม่สนุกก็หางานข้างๆคูๆที่สนุกทำอย่างที่คุณกำลังทำอยู่นั่นก็ดีแล้วไง หากทำสองอย่างควบกันแล้วมันเครียดมากเกินไปคุณก็ลดปริมาณงานข้างๆคูๆลง หรือไม่ก็แอบใส่เกียร์ว่างในงานประจำสลับบ้างก็ได้ เป็นต้น คือความเครียดเป็นสิ่งเลวร้ายที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่คุ้ม ยกตัวอย่างเช่นทำงานหากตั้งใจเอามือทำอย่างดีแล้วมันเครียดมากเกินไป ก็เปลี่ยนมาทำแบบเอามือทำบ้างเอาตีนทำบ้างแต่ไม่เครียดก็ย่อมจะดีกว่า หิ..หิ

    3. ถามว่าการประกอบอาชีพโค้ชสุขภาพ จะแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม มันจะพอยาไส้ไหม ตอบว่า..ไม่พอหรอกครับ อย่างน้อยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ก็ไม่พอแน่นอน
     คำตอบสำหรับคำถามนี้ของคุณ ผมจำกัดขอบเขตการตอบอยู่แต่ภาคเอกชนเท่านั้นนะ เพราะในภาคราชการซึ่งมีความต้องการโค้ชสุขภาพมาช่วยลดการบริโภคยารักษาโรคเรื้อรังลงนั้น คนเป็นโค้ชเขาเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ เขามีเงินเดือนกินแน่นอนกินอยู่แล้ว เขาไม่มีปัญหา
    แต่ในภาคเอกชนการเป็นโค้ชสุขภาพต้องหากินกับ health tourism หรือ wellness center ตามหัวเมืองท่องเที่ยว ซึ่ง ณ ขณะนี้ธุรกิจดังกล่าวยังไม่บูมหรือยังไม่เกิดด้วยซ้ำ การจะหวังหากินกับลูกค้ารายย่อยแบบเก็บเงินรายหัวได้บ้างไม่ได้บ้างนั้น มันยึดเป็นอาชีพไม่ได้ดอก เพราะในยุคข้าวยากหมากแพงทั้ง "โค้ช" ก็ดี ทั้ง "โค้ชชี่" ก็ดี ต่างก็ไม่มีเงินจะจ่ายค่าเช่าที่ซุกหัวนอนหรือจะซื้อข้าวกินด้วยกันทั้งคู่ แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าโค้ชให้คุณละครับ

    4. ผมดูโหงวเฮ้งเอาจากจดหมายที่เขียนมาและจากวัยของคุณแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องการชอบหรือไม่ชอบงาน แต่มันอาจจะเป็นโรคที่เรียกว่า "กลุ่มอาการเอียนงาน" (burn-out syndrome) มากกว่า ซึ่งหากเป็นด้วยเหตุนี้จริง การจะแก้ปัญหาด้วยการลาออกจากงานก็ยิ่งจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คันเข้าไปใหญ่ ถ้าเป็นโรคนี้คุณต้องหันไปหาวิธีรักษาที่งานวิจัยบอกว่าได้ผล เช่น การยอมรับการสนับสนุนจากเพื่อน (peer support), การฝึกสติลดความเครียด, การออกกำลังกาย, การลาพักร้อน การจัดเวลาพักประจำวัน และการหันเหไปทำอะไรอื่นบ้าง เช่น กีฬา ดนตรี ธรรมชาติ โยคะ เขียนบันทึก (reflective writing) เป็นต้น 
    ส่วนคำแนะนำส่วนตัวผมมีคำเดียว คือ “ดุล (balance)” คุณต้องเรียนรู้ที่จะถ่วงดุลในทุกๆเรื่อง ดุลระหว่างการเป็นผู้ให้กับการเป็นผู้รับ ดุลระหว่างความเครียดกับการผ่อนคลาย ดุลระหว่างความซีเรียสกับการเม้คโจ๊คไร้สาระหัวเราะบ้าง ดุลระหว่างการออกกำลังกายกับการนอนหลับ ดุลระหว่างการทำงานกับการอยู่ว่างๆเฉยๆแบบไม่ต้องทำอะไร ดุลระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ดุลระหว่างสถานที่ทำงานกับที่บ้าน คุณต้องตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ว่าคือ “ชีวิตที่ได้ดุล” รื้อทิ้งชีวิตเก่าไปไม่ต้องสนใจ ทิ้งแบบหักดิบเลย ยังไม่ต้องไปคิดไกลถึงว่าจะเลิกอาชีพหรือไม่เลิก เพราะนั่นมันไม่เกี่ยวอะไรกับเป้าหมายใหม่เฉพาะหน้า เป้าหมายที่จะมี..”ชีวิตที่ได้ดุล” ในวันนี้ ใช้เวลานานเท่าที่ตัวเองต้องการในการจัดดุลของชีวิตในวันนี้ เน้นเฉพาะวันนี้ ทีละวันๆ เริ่มต้นแต่ละวันด้วยพิธีกรรมที่ผ่อนคลาย เช่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออย่างน้อยก็ใส่ใจมองดูอะไรที่สวยๆงามๆนอกหน้าต่าง กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย ปรับการนอนหลับ ออกแดด สัมผัสลม สัมผัสดิน สัมผัสหญ้า กำหนดขอบเขตขีดเส้นตายไม่ให้งานรุกเข้ามาในชีวิตส่วนตัว โดยการแบ่งแยกเวลากันให้เด็ดขาด หลีกหนีจากเทคโนโลยีและหน้าจอซึ่งมีแต่จะเพิ่มความคิดไร้สาระเสียด้วยก็จะยิ่งดี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรรณานุกรม

1. Bianchi, R., Boffy, C., Hingray, C., Truchot, D., & Laurent, E. Comparative symptomatology of burnout and depression. Journal of Health Psychology, 2013;18(6):782-787.

2. Maslach C., Jackson S. E., Leiter M. P. Maslach Burnout Inventory Manual. 3rd ed. Palo Alto, CA: Consulting Psychologists Press; 1996.

3. Becker J. L., Milad M. P., Klock S. C. Burnout, depression, and career satisfaction: cross-sectional study of obstetrics and gynecology residents. Am J Obstet Gyn. 2006;195(5):1444–1449.

4. Shapiro S., Astin J., Bishop S., Cordova M. Mindfulness-based stress reduction for health care professionals: results from a randomized trial. Int J Stress Manage. 2005;12(2):164–176. 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

แจ้งข่าวด่วน หมอสันต์ตัวปลอมกำลังระบาดหนัก

เลิกเสียทีได้ไหม ชีวิตที่ต้องมีอะไรมาจ่อคิวต่อรอให้ทำอยู่ตลอดเวลา

ไปเที่ยวเมืองจีนขึ้นที่สูงแล้วกลับมาป่วยยาว (โรค HAPE)

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"