อย่าถูกชักใบให้เรือเสีย..ด้วยเปลือกนอกของศาสนา
เรียนอาจารย์หมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันดูคลิปที่อาจารย์หมอไปพูดกับวิทยากรฝรั่ง อยากถามมากพอสมควร พยายามหาคำตอบเองก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ ว่าที่พูดกันวันนั้นถึงดวงวิญญาณ (soul) แล้วในศาสนาพุทธมีดวงวิญญาณไหม ถ้าไม่มีแล้วศาสนาพุทธมีชาติหน้าไหม ถ้ามีชาติหน้าแล้วไม่มีดวงวิญญาณ แล้วอะไรจะเป็นตัวพาไปเกิดชาติหน้า ที่คุยกันวันนั้นมันเหมือนพุทธตรงไหนบ้าง อีกอย่างหนึ่งที่วันนั้นพูดกันถึงการ connecting to the divine ซึ่งหมายถึงอีกดวงวิญญาณหนึ่งที่ใหญ่กว่า สิ่งนั้น (the divine) ในศาสนาพุทธมีไหม ถ้าไม่มีจะเอาอะไรเป็น back up ให้อุ่นใจในการใช้ชีวิตว่าเรามีผู้คอยช่วยอยู่
..........................................
ตอบครับ
1.. ถามว่าศาสนาพุทธมีดวงวิญญาณ (soul) ไหม ตอบว่าเอ้อ แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย
ผมรู้แต่ว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้ในบทสวดที่ชื่อว่า "อนัตตลักขณสูตร" ว่า ชีวิตคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ที่ประกอบขึ้นมาจากห้าองค์ประกอบย่อย คือ
(1) สิ่งเร้า อันได้แก่ภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัส
(2) ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับรู้สิ่งเร้า
(3) ความจำ ที่เก็บบันทึกไว้แต่อดีตแล้วโผล่เข้ามาร่วมแจมด้วย
(4) ความคิด ที่เกิดขึ้นจากการผสมคลุกเคล้าสิ่งเร้าเข้ากับความจำและความรู้สึก
(5) ความรู้ตัว ที่เข้ามารับรู้ประสบการณ์นั้นๆในแต่ละครั้ง
ทั้งห้าส่วนนี้รวมกันเกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง แล้วก็ดับสลายแยกย้ายกันไปคนละทาง เหลือไว้แต่ความจำที่บันทึกประสบการณ์นี้ไว้เผื่อให้โผล่มาแจมในประสบการณ์ครั้งต่อไปได้อีก
ทั้งหมดนี้ผมไม่เห็นมีตรงไหนที่จะเป็นดวงวิญญาณ (soul) ที่เป็นสิ่งถาวรเป็นนิรันดร แบบอยู่ยงคงกระพันต่อไปไม่สิ้นสุดไม่มีเกิดไม่มีตาย ไม่มีเลยครับ ดังนั้นผมตอบตามความเข้าใจของผมว่าพุทธไม่มีดวงวิญญาณแบบถาวร
2.. ถามว่าถ้าไม่มีดวงวิญญาณแล้วอะไรเป็นตัวพาไปเกิดในชาติหน้าละ หิ..หิ ตอบว่าตรงนั้นผมไม่เกี่ยวแล้วครับ คุณไปหาเอาเองข้างหน้าเถอะนะ เพราะตัวผมนี้ใช้ชีวิตอยู่กับเดี๋ยวนี้เท่านั้น อยู่กับประสบการณ์นี้เท่านั้น อย่าว่าแต่ชาติหน้าเล้ย อีกหนึ่งนาทีข้างหน้านี้ผมยังไม่ไปยุ่งด้วยเลย ชีวิตในความหมายของผมคือประสบการณ์ในใจที่เกิดขึ้นตอนนี้ บัดนาว แค่นี้ชีวิตผมก็ตื่นเต้นมหัศจรรย์ทุกลมหายใจมากพอแล้ว ประเด็นคือผมจะรับรู้ประสบการณ์ที่เดี๋ยวนี้อย่างไร จะรับรู้แบบให้ตัวเองทุกข์ หรือจะเอาแบบให้ตัวเองสุข ตรงนั้นเป็นเรื่องของผมเองที่ผมเองเลือกได้ ซึ่งแน่นอนผมก็ย่อมเลือกรับรู้ประสบการณ์ในแบบที่ทำให้ตัวเองสุข เรื่องอะไรผมจะรับรู้ประสบการณ์ในแบบที่ทำให้ตัวเองทุกข์ละครับ ถูกแมะ ด้วยการใช้ชีวิตแบบนี้ ผมมองไม่เห็นประโยชน์ของคอนเซ็พท์เรื่องชาติหน้าเลย
3.. ถามว่าที่คุยกับฝรั่ง (Br. Charlie Hogg) วันนั้นมันเหมือนพุทธตรงไหน ตอบว่าส่วนที่เหมือนกันเป๊ะนั้นก็มีอยู่ และเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดเสียด้วย ซึ่งหากเราทำได้แค่นั้นก็เหลือเฟือแล้ว นั่นก็คือส่วนที่ว่าตัวตน (body-mind identity) ที่เราอุปโลกน์ขึ้นจากการผูกโยงร่างกายนี้เข้ากับความคิดที่ต่อยอดให้ร่างกายนี้เป็นบุคคลคนหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงมายาชั่วคราว เราอย่าไปหลงยึดถือว่ามันจะจีรังยั่งยืนอะไร เราควรจะทิ้งหรือปล่อยวางความยึดถือในตัวตนนี้ไปซะ แค่เนี้ยะ นี่คือส่วนที่เหมือนกันซึ่งเผอิญเป็นส่วนสำคัญที่สุด ทำได้แค่นี้ก็สุดหรูแล้ว ไม่ต้องไปสนใจอะไรอย่างอื่นอีกหรอกคู้น..น ส่วนที่นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่คุ้มค่าที่จะไปสนใจให้มากความดอก ทำส่วนวางความยึดถือในตัวตนชั่วคราวนี้ลงให้ได้ก็พอแล้ว บรรลุธรรมแล้ว หลุดพ้นแล้ว
4.. ถามว่า The divine ในศาสนาพุทธมีไหม ตอบว่าถึงผมไม่ได้ศึกษาคำสอนพุทธมาอย่างลึกซึ้งแต่ผมก็พอจะตอบคุณด้วยความมั่นใจได้ตรงนี้เลยว่า the divine ในแบบเป็นพระเจ้าตัวเป็นๆที่มีอำนาจดลบันดาลโน่นนี่นั่นให้เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์นั้นในคำสอนพุทธไม่มีดอกครับ ไม่มีอย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นลายเซ็น (signature) ของพุทธ ซึ่งสอนว่าชีวิตมนุษย์ถูกดลบันดาลด้วยห้าปัจจัยที่ท่านสอนไว้ในอนัตตลักขณะสูตรในข้อ 1 แค่นั้นแหละ ชีวิตนี้จึงล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพระจ้งพระเจ้าที่ไหนดอก หากไม่นับสิ่งเร้าจากภายนอกที่เรากำหนดไม่ได้เสียอย่างหนึ่งแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอื่นๆล้วนเป็นผลงานของเราเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความจำที่เราเก็บเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ หรือเราจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าครั้งนี้ด้วยการคิดอย่างไร หรือเราจะรับรู้ประสบการณ์ครั้งนี้ในแบบไหน (แบบจะให้ตัวเองเป็นสุขหรือทุกข์) ทั้งหมดนี้อยู่ที่ตัวเราเองจะเลือกเอาเองทั้งสิ้น
5.. ถามว่าถ้าไม่มี The divine แล้วจะเอาอะไรมาให้เราเชื่อมโยงหรือ connect เพื่อแบ้คอัพตัวเองให้อุ่นใจ ตอบว่าอ้าว ก็ในเมื่อทุกอย่างมันจบที่คุณเอง ทุกอย่างมันขึ้นกับคุณเองว่าจะเอาอย่างไร แล้วจะหาอะไรมาแบ้คอัพทำพรือละครับ
6.. ถามว่าในศาสนาพุทธมีอะไรที่เทียบได้กับ The divine ไหม ตอบว่าถ้าจะมองหา the divine ในลักษณะที่คุณจะเอามาแบ้คอัพให้คุณอุ่นใจในการใช้ชีวิตนั้นผมว่าในคำสอนพุทธที่แท้จริงคงไม่มี อาจมีในพิธีกรรมที่เป็นเปลือกนอกที่มีผู้เสนอขายตัวช่วยแบ้คอัพให้อุ่นใจกันอย่างดกดื่นจนเฝือไป แต่พิธีกรรมก็คือพิธีกรรม มันไม่ใช่แก่นคำสอนอยู่แล้ว
แต่ถ้าคุณหมายถึง the divine ที่เป็นความความหลุดพ้นจากทุกข์ไปอยู่ในภาวะที่ ตื่น รู้ สงบ สงัด(จากความคิด) เบิกบาน เมตตา สิ่งนั้นในคำสอนของพุทธก็มีอยู่แล้วนะ ก็คือนิพพานนั่นไง ซึ่งการพูดถึงด้วยภาษาอาจจะเป็นแค่วาทะกรรมที่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร แต่ผมท้าทายให้คุณทดลองวางความคิดยึดถือในตัวตนลงไปให้หมดเพื่อจะได้เข้าไปทดลองรู้จักกับมันด้วยตัวคุณเอง
7.. ข้อนี้ผมแถมให้นะ คุณอย่าไปสนใจเรื่องทางจิตวิญญาณในเชิงวิชาศาสนาเปรียบเทียบเลย เดี๋ยวคุณจะกลายเป็นที่ปรึกษาของนักรบในสงครามศาสนาไปเสียฉิบ เพราะผมเห็นคนที่จบปริญญาเอกทางศาสนาบางคนเป็นอย่างนั้นไปเสียแล้ว หรืออย่างเบาะๆคุณก็จะถูกชักใบให้เรือเสียด้วยศาสนาแล้วพาลเสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ
ผมแนะนำว่าคุณควรสนใจเชิงลงมือทดลองปฏิบัติ ใครว่าอะไรดีเอามาลองด้วยตัวเองให้หมด ยิ่งตรงไหนที่ทุกฝ่ายว่าดีเหมือนกันตรงกันเป๊ะยิ่งต้องลองก่อน อย่างเช่นฮินดูกับพุทธต่างก็ว่าเหมือนกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยในเรื่องความจำเป็นต้องวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอันเป็นสิ่งชั่วคราวนี้ลงไปให้หมด ให้คุณลองตรงนี้ก่อน ไม่ใช่ลองในฐานะเป็นพุทธหรือเป็นฮินดู แต่ลองในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง วิธีลองก็คือฝึกวางความคิดลงไปให้หมด เพราะความยึดถือในตัวตนนั้นถูกนำเสนอต่อเราในรูปของความคิดที่มุ่งปกป้องและเชิดชูตัวตนตัวนี้ให้ปลอดภัยและสูงเด่น ฝึกวางมันลงไปทั้งหมดก่อน ด้วยเทคนิคการวางความคิดที่ผมเคยพูดถึงไปแล้วบ่อยมาก
จนเมื่อความคิดสงัดลงแล้ว จึงค่อยเข้าไปสำรวจทดลองดูในขั้นลึกซึ้งต่อไป คือเมื่อปลอดความคิดแล้วสนามที่จะเข้าไปสำรวจต่อมันก็จะเหลือแต่ (1) ความเงียบ (2) ความว่างเปล่า และ (3) ความลึกลับดำมืด ซึ่งคุณไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ตรงนั้นแหละ ผมยุให้คุณเข้าไปสำรวจเลย
แผนที่นำทางที่คุณจะใช้สำรวจก็เป็นแผนที่หยาบๆที่เขียนโดยนักสำรวจรุ่นก่อน ว่าแคแรคเตอร์ของ the divine หรือนิพพานนั้น มันน่าจะมีประมาณเจ็ดอย่างคือ (1) มันเป็นความตื่น ซึ่งก็คือไม่หลับ (2) มันเป็นความสามารถรับรู้ หรือ consciousness (3) มันสงัดจากความคิด (4) มันสงบ (peace) (5) มันเป็นเมตตาธรรม (love) คือไม่มีตัวตนเราเขา (6) มันเป็นความเบิกบาน (joy) (7) มันเป็นความเปิดกว้างยอมรับทุกอย่างที่เข้ามาหา (acceptance)
ทั้งเจ็ดอย่างนี้เป็นแผนที่หยาบๆที่คนรุ่นเก่าเขียนไว้ จริงเท็จอย่างไรไม่มีใครรู้ชัวร์ๆดอก ต้องทดสอบทดลองสัมผัสเอาเอง แต่การมีแผนที่ก็ดีกว่าดุ่ยๆเข้าไปแบบไม่มีแผนที่เลย
ลุยเลยครับ ไม่ต้องมีครู เพราะการกลับเข้าไปข้างใน ใครที่ไหนจะมาเป็นครูให้คุณได้ คุณต้องสำรวจเรียนรู้สิ่งใหม่นี้ด้วยตัวคุณเอง โดยเฉพาะสำหรับคุณหรือท่านผู้อ่านท่านใดก็ตามที่รู้สึกว่าชีวิตนี้ได้เรียนรู้เจนจบมาทุกอย่างที่คนเขาพูดถึงกันว่าดีๆก็ล้วนรู้เห็นไปดูมาหมดสิ้นแล้ว ลองหันมาสำรวจเรียนรู้สิ่งใหม่นี้ดูด้วยตัวท่านเอง ผมเรียกถนนเส้นนี้ว่า spiritual path ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนานะ แต่เกี่ยวกับการค้นพบครั้งใหญ่ในชีวิตของตัวเราเอง ผมรับประกันท่านได้อย่างหนึ่งว่าเมื่อเดินบนถนนเส้นนี้แล้วท่านจะไม่บ่นว่าชีวิตนี้ไร้ค่าน่าเบื่อไม่มีอะไรจะให้เรียนให้รู้ต่อไปอีกเลย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์