05 กันยายน 2567

หลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic Aortic Aneurysm)


(ภาพวันนี้ / พู่จอม

พล หล่นเกลื่อนพื้น)

เรียนคุณหมอที่นับถือ


ผมอายุ 71 ปี อยู่เชียงใหม่ครับ หมอตรวจพบว่าผมเป็นเส้นเลือดโป่ง ในทรวงอก เยื้องด้านขวา ขนาด 6.2 เซ็นต์ แนะนำให้ผมผ่าตัดรักษา และให้กลับไปปรึกษาครอบครัว เมื่อครบสามเดือนแล้วให้ไปพบหมอ
ผมควรผ่าตัดหรือมีวิธีรักษาแบบอื่นไหมครับ และมีอันตรายไหมครับ ผมสูง178 น้ำหนัก78 ผมมีอาชีพเล่นเปียโนและเป่าแซก ทำงานอาทิตย์ละสองวันยังเป่าแซกได้ไหมครับ และในช่วงนี้ผมออกกำลังกายได่ไหมครับ ปกติผมจะจ๊อกกิ้งวันละครึ่งชั่วโมง สลับยกเวทน้ำหนัก 2 กิโล 30 คร้้ง ( 2 เซ็ท) ตอนนี้หยุดทำครับ
ขอความกรุณาให้คุณหมอแนะนำครับ

.....................................................................

ตอบครับ

1.. ก่อนตอบคำถาม ผมขอสรุปก่อนนะว่าโรคที่คุณเป็นนี้คือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic aortic aneurysm) ซึ่งมีหลายชนิด หลายตำแหน่ง หลายระดับความรุนแรง ผมไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงขอเดาเอาว่าเป็นชนิดเกิดบนช่วงหลอดเลือดโค้งลง (descending aneurysm) และไม่มีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นชนิดที่มีระดับความรุนแรงต่ำที่สุดในบรรดาโรคเดียวกันนี้

2.. ถามว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ทรวงอกโป่งพอง มีอันตรายไหม ตอบว่ามีอันตรายสิครับ กล่าวคือในขนาดที่ใหญ่ 6.0 ซม.ขึ้นไปอย่างของคุณนี้ มันมีโอกาสแตก 14.2% ต่อปี

3.. ถามว่ามีวิธีรักษากี่วิธี ตอบว่ามีวิธีรักษา 3 วิธี คือ

วิธีที่ (1) ผ่าตัด (aneurysmectomy/aortoplasty หรือ open repair) เป็นการผ่าตัดใหญ่จนถึงโคตรใหญ่ มีอัตราตายสูง (ในคนอายุขนาดคุณผมให้อัตราตายสูงถึง 10%) และมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคือมีโอกาสเป็นอัมพาตท่อนล่าง 6.7% เพราะในการผ่าตัดต้องหนีบหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงแกนประสาทสันหลังไว้ช่วงเวลาหนึ่งทำให้แกนประสาทสันหลังขาดเลือด

วิธีที่ (2) เจาะรูที่ขาหนีบแล้วเอาหลอดเลือดเทียมและขดลวดถ่างเข้าไปใส่ (Thoracic endovascular aortic repair - TEVAR) เป็นการรักษาแบบหรูไฮเลิศสะแมนแตน แต่ว่ามันเบิกค่าอุปกรณ์แพงๆไม่ได้นะคุณต้องออกเงินเอง และบ่อยครั้งพอตรวจดูภาพของโรคอย่างละเอียดแล้วพบว่าทำ TEVAR ไม่ได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค นอกจากนั้นอัตราการเกิดอัมพาตท่อนล่างก็ยังมีอยู่ 2.3%

วิธีที่ (3) ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น อยู่เฉยๆ ยอมรับความเสี่ยงที่จะแตกดังโพล้ะ 14.2% ต่อปี

4.. ถามว่ากรณีของคุณควรรับการรักษาแบบไหนดี ตอบว่ากรณีของคุณให้คุณจับไม้สั้นไม้ยาวเอาเองดีที่สุดครับ ผมให้ข้อมูลประกอบไปหมดแล้ว ถ้าเป็นตัวหมอสันต์เป็นผู้ป่วยซะเองหมอสันต์จะเลือกไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะหมอสันต์รับไม่ได้เลยกับการต้องมาเป็นอัมพาตท่อนล่างเอาเมื่อยามแก่ อีกอย่างหนึ่งถึงจะตายแบบแตกดังโพล้ะหมอสันต์ก็ไม่กลัว ชอบเสียอีก เพราะมันตายเร็วดี หิ..หิ นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่แตกแล้วดวงไม่ถึงฆาตเขาหามส่งโรงพยาบาลให้หมอเขาผ่าตัดด่วนทัน ผมก็ไปลุ้นอัตราตายจากการผ่าตัดด่วนซึ่งน่าจะอยู่ที่ 20% เรียกว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ยังมีลุ้นได้สองรอบ

5.. ถามว่าจะเป่าแซ็กโซโฟน ยกน้ำหนัก เล่นกล้าม และวิ่งจ๊อกกิ้ง ได้ไหม ตอบว่าปูนนี้แล้วคุณอยากทำอะไรก็ทำไปเหอะ

ในแง่ของหลักฐานวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการเป่าแซ็กหรือยกน้ำหนักหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้หลอดเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วแตกเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายจะช่วยลดความดันเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลอดเลือดแตก

6.. ถามว่าหมอสันต์มีอะไรจะแนะนำอีกไหม ตอบว่าควรใส่ใจรักษาความดันเลือดไม่ให้สูง ด้วยการ (1) กินพืชผักผลไม้มากๆ (2) ลดเกลือในอาหารลง (3) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (4) ลดน้ำหนัก ในกรณีของคุณหากคุณลดน้ำหนักลงสัก 10 กก. ก็จะได้ดัชนีมวลกาย 21 ซึ่งกำลังดี แต่ความดันตัวบนคุณจะลดลงไปจากเดิมประมาณ 20 มม. ซึ่งดีต่อโรคหลอดเลือดโป่งพองมากๆ

7.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่เป็นคอมเม้นต์นอกประเด็นของหมอสันต์ ว่าคุณอายุ 71 ปีแล้วยังเป่าแซ็กหากินได้ ผมงืด..ด จริงๆ ผมยกย่องให้คุณไอดอลของผมเลยนะเนี่ย อ่านจดหมายของคุณแล้วทำให้ผมขยันตั้งใจซ้อมสีไวโอลินมากขึ้น เผื่อวันหน้าผมอาจจะต้องใช้มันหากินบ้าง หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Umegaki, Takeshi et al. Paraplegia After Open Surgical Repair Versus Thoracic Endovascular Aortic Repair for Thoracic Aortic Disease: A Retrospective Analysis of Japanese Administrative Data. Journal of Cardiothoracic and Vascular Anesthesia, Volume 36, Issue 4, 1021 - 1028