28 กันยายน 2567

เรื่องไร้สาระ (42) เมืองมืด Rjukan


          หากนับรวมการที่เครื่องบินมาช้าไปหนึ่งชั่วโมง กับเจอด่านตม.อีกสองชั่วโมง เวลาสามชั่วโมงที่เราสำรองไว้ก็หมดพอดี แต่ก็ขับรถออกจากสนามบินออสโลด้วยความหวังว่าเราจะทำเวลาได้ทันตามแผน พอขับมาได้พักใหญ่จึงได้เรียนรู้ว่าที่เขาบอกว่าที่นี่จำกัดความเร็ว 80 กม./ชม.นั้นไม่จริงดอก ส่วนใหญ่จำกัดที่ 60 กม./ชม ช่วงผ่านบ้านเรือนผู้คนก็จำกัดให้วิ่งแค่ 40 พอถึงช่วงที่เปิดให้วิ่ง 80 กม.จริงๆก็วิ่งไม่ได้ เพราะถนนฉวัดเฉวียนและแคบถึงขนาดตีเส้นขาวแบ่งครึ่งไม่ได้ ต้องปล่อยให้รถที่สวนกันลุ้นกันเอาเอง ทำให้ใด้บทเรียนที่หนึ่งว่าการวางแผนเวลาเที่ยวนอร์เวย์นี้ต้องคูณสองไม่โลภมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีรถขับแซงหน้าเราไปเฟี้ยว เฟี้ยว เป็นว่าเล่น ไปได้สักพักก็เห็นพวกเฟี้ยวเหล่านั้นถูกตำรวจดักจับเข้าแถุวจ่ายค่าปรับที่ข้างทาง ทำให้กัปตันของเราถึงกับออกปากชมตัวเองที่มีความอดทนอดกลั้นไม่เหยียบคันเร่งตามคนอื่นเขา    

          เป้าหมายแรกของเราคือจะไปสวมหมวกกันน็อกใส่ที่ครอบหูเพื่อนั่งรถไฟขนแร่ลงไปชมเหมืองเงินที่นอกเมือง Kongsberg ฟังว่าเราต้องเดินทางลงลึกไปจากผิวดินถึง 1 กม. ซึ่งเป็นระดับลึกกว่าน้ำทะเล 500 เมตร น่าจะอลังการ์อยู่ แต่เราต้องไปให้ทันรอบเที่ยงวันเมื่อออกจากเหมืองจึงจะเดินทางต่อไปให้ทันถึงที่พักได้ก่อนมืด นี่ก็เที่ยงแล้วเรายังอยู่ห่างเหมือนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงตัดสินใจปลง เปลี่ยนแผนแวะดูโบสถ์ไม้โบราณแบบสะเตวี ชื่อ Heddal stave church ซึ่งเป็นอันที่เก๋าที่สุด ใหญ่ที่สุด สงวนไว้ดีที่สุดในบรรดาโบสถ์ไม้โบราณซึ่งทั้งประเทศมีเหลืออยู่แค่ 28 แห่ง แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 1300 และได้เป็นมรดกโลกด้วย

 


     เสร็จจากการชมโบสถ์ พวกเราซึ่งมีกันแค่ห้าคนก็ถือโอกาสควักเอาแซนด์วิชที่ซื้อมาจากสนามบินออกมาปิกนิคที่โต๊ะริมทุ่งนานั่นเลย จากนั้นก็เดินทางต่อไปอย่างไม่รีบร้อน ขับรถขึ้นทางเล็กไปบนเขาสูงมากที่ไม่มีต้นไม้เลย เห็นชาวบ้านนอร์เวย์เอารถยนต์มาจอดอยู่ริมทางเป็นจำนวนมากหลายสิบคัน เข้าใจว่าคงจะมีอะไรน่าสนใจจึงแวะดู ปรากฎว่าพวกเขาแค่มาจอดรถเพื่อเดินไพรขึ้นไปบนยอดเขาสูง นี่สมดังคำกล่าวที่ว่าการจะเดินไพรแบบชาวนอร์เวย์ไม่ต้องไปมองหาป้าย trail ใดๆทั้งสิ้น วันไหนแดดดีเห็นเขาจอดรถออกันอยู่ที่ไหนก็คือที่นั่นแหละเป็นแหล่งเดินไพรของเขา เดินดุ่มๆไปได้ทุกที่ไม่ตัองกลัวว่าจะไปบุกรุกที่ใครเพราะกฎหมายมีว่าที่ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ล้อมรั้วไว้ทำการใดการหนึ่งโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเดินได้

ขับขึ้นไปสูงมาก หนาวเย็น ที่คนมาเดินไพรกันเป็นร้อย


           เราหารือกันว่าวันนี้แดดดี เวลาที่พอมีจากการไม่ได้ลงเหมืองน่าจะพากันไปนั่งรถไฟแนวดิ่ง Tuddalsvegen ซึ่งจะพาเราวิ่งขึ้นตามอุโมงที่เจาะเป็นไส้ไว้ในภูเขาที่มีทิศทางเกือบตั้งดิ่ง พาเราขึ้นไปสูงถึง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เขาว่าวันที่แดดดีอย่างนี้สามารถมองเห็นไกลได้ถึงสวีเดน จะได้ขึ้นไปเดินยืดเส้นยืดสายหลังจากนั่งเครื่องบินมานานบ้าง ตกลงกันดิบดีแล้วจึงขับไปสถานีขึ้นรถ เตรียมไม้เท้าเดินไพรกันดิบดี เห็นกองหน้าที่เข้าไปในห้องขายตั๋วออกมาทำหน้าจ๋อยๆพิกลผมจึงตามไปดู ได้ความจากคนขายตั๋วซึ่งพูดภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนสุภาพเรียบร้อยแต่เย็นเฉียบว่า

     "คุณจะขึ้นไปตอนนี้ก็ขึ้นได้ แต่วันนี้ตอนนี้มีคนอยู่ข้างบนยอดเขาแล้วจำนวนมาก ขากลับลงมาคุณจะต้องรอคิวขึ้นรถไฟกลับอย่างน้อยสองชั่วโมง ถึงคุณจะเดินกลับเองก็ยิ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกัน"

     แป่ว..ว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการจะวางแผนใช้เวลาเที่ยวในประเทศนอร์เวย์นั้นคูณสองก็ยังอาจจะไม่พอ จะให้ดีต้องคูณสาม เพราะมีเรื่องเซอร์ไพรส์แยะ หิ..หิ ไม่เป็นไร ถ้างั้นเราแวะเที่ยวที่ Tinn Museum ซึ่งเข้าดูได้ฟรีสักสิบนาที เพราะของฟรีคงไม่มีอะไรให้ดูมาก แล้วก็เข้าไปเที่ยวที่จตุรัสเมืองรุคาน (Rjukan) ก่อนจากขับตรงดิ่งไปยังเมืองเรินดอล (Rondal) ซึ่งเป็นที่พัก 

     ทินน์มิวเซียมไม่ใช่ที่เขาขุดดีบุกนะครับ เป็นปาร์คเล็กๆเข้าฟรีที่เขาย้ายเอาบ้านชนบทแบบโบราณของจริงมาตั้งให้ชม มีห้องน้ำให้ด้วย แต่เราไม่ได้ทดสอบว่าใช้ได้หรือเปล่า มีพื้นที่ประมาณสิบไร่ มีบ้านประมาณสิบหลัง แต่ละบ้านมีหน้าต่างกระจกให้มองแบบถ้ำมองเข้าไปข้างในเพื่อดูเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวนายุคกลางใช้กันอยู่และจัดแสงไว้ให้สวยงามพอดี เดินได้สักพักก็ทั่วและสมความคาดหมายว่าของฟรีไม่มีอะไรมาก ที่น่าเซอร์ไพรส์ก็คือปาร์คฟรีนี้แม้จะไม่มีใครอยู่ประจำทำงานดูแลรักษาแต่ก็สอาดเรียบร้อยไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

เดินเล่นและถ้ำมองดูทินน์มิวเซียม


ยังพอมีเวลาเหลือ เราแวะเข้าไปเที่ยวในเมืองรุคาน (Rjukan) กันดีกว่า เมืองนี้ผมตั้งชื่อให้ว่า "เมืองมืด" กล่าวคือที่คนเขาล่ำลือกันว่ากันว่าที่เมืองทรอมโซ (Tromso) ตอนเหนือของประเทศผู้คนบ่นว่าสามเดือนในหนึ่งปีจะไม่ได้เห็นตะวันเลยนั้นเด็กๆ ที่เมืองมืดแห่งนี้ แต่ละปีคือจากปลายเดือนกันยาถึงต้นเดือนมีนา จะไม่ได้เห็นตะวันเลย ทั้งเมืองอยู่ในความมืดตลอดห้าเดือน เพราะเมืองนี้ยัดอยู่ในก้นหุบเขาที่เกิดจากเทือกเขาสูงสองเทือกวางขนานกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก ที่ตรงนี้มันอยู่ราวเส้นละติจูด 60 องศาเหนือ แปลว่าตอนเที่ยงวันแดดมันจะไม่ตั้งหัวแบบบ้านเรา แต่มันจะสองเฉียงๆเลียดดินทำมุมเงยอยู่แค่ 30 องศา อาการจะหนักเป็นพิเศษในหน้าหนาวเพราะตะวันมันอ้อมข้าว เดือดร้อนกันจนเมื่อราวร้อยปีก่อนถึงต้องทำรถไฟแนวตั้งดิ่งเอาคนขึ้นไปหาแดดที่บนเขา มาเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้ชาวเมืองได้ลงขันกันสร้างกระจกยักษ์ขนาด 17 ตารางเมตร จำนวนสามบาน ตั้งเรียงตระหง่านไว้บนเขาด้านทิศเหนือ แล้วทำระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมให้กระจกหมุนตามดวงอาทิตย์ตลอดเวลาไม่ว่ากี่โมงกระจกก็จะสะท้อนแสงแดดให้ส่องลงมาที่จตุรัสกลางเมืองพอดี เห็นไหมครับว่าแดดมันเป็นของดีมีราคาแค่ไหน ถ้าไม่มีมันถึงจะเห็นคุณค่า

โปรดสังเกตกระจกสะท้อนแสงแดดวับๆบนเขานู้นลงมา

กระจกยักษ์ทั้งสามบานตั้งตระหง่านอยู่บนเขา

     เรามาเมืองมืดในเดือนที่ยังไม่มืด จึงมีโอกาสได้เดินเล่นชมเมือง เป็นเมืองเล็กๆที่มีความสวยงามเพราะทั้งเมืองสร้างขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อให้พนักงานของบริษัทที่ต้องมาทำงานในเมืองมืดนี้ได้เอาครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ และได้มีสังคมแบบชาวบ้านชาวเมืองอื่นๆเขา สถาปัตย์กรรมจึงเป็นแบบว่าถ้าเป็นระดับวิศวะก็อยู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าเป็นระดับพนักงานขุดก็อยู่บ้านอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น จึงเป็นเมืองเล็กระดับตำบลแห่งเดียวในโลกที่มีทั้งผังเมืองและผังชนิดของบ้านที่ทำไว้ร้อยปีแล้ว เมืองรุคานนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วย ไม่ใช่เพราะมันมืด แต่เพราะมันเป็นเมืองที่ทั้งเมืองคนตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรับใช้อุตสาหกรรมรุ่นปี 1900 โน่น

เดินเล่นในเมืองมืด ในเดือนที่ยังไม่มืดดี

     จากนั้นก็ขับรถต่อไปมุ่งหน้าตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่สูงอันเปล่าเปลี่ยว มีหิมะดารดาษตามยอดเขา นานๆมีบ้านคนเสียทีหนึ่ง บางครั้งขับไปนานมาเจอบ้านอยู่หลังเดียวตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทางกลางความหนาวเย็นและควันไฟกรุ่นลอยขึ้นมาจากปล่องบนหลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้า ผมขอให้กัปตันหยุดรถเพื่อถ่ายรูปบ้านหลังนี้มาให้ดูด้วย 

     นั่งรถกันต่อมาอีกหนึ่งอสงไขยเวลาก็มาถึงเมืองรอนดาล (Rondal) เข้าพักในกระท่อมในที่จอดรถบ้าน ที่ข้างบ้านพักมีบ้านหลังหนึ่งที่หลังคาบ้านไม่ใช่แค่ปลูกหญ้าเท่านั้น แต่ปลูกเป็นป่าเลยทีเดียว ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย 

บางหลังไม่ปลูกแค่หญ้าบนหลังคา แต่ปลูกป่าเลย

     สไตล์การมุงหลังคาด้วยหญ้ามีเป็นเอกลักษณ์ของสะแกนดิเนเวียมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในนอร์เวย์ บ้างมีหลังคาเขียวเรียบร้อยเหมือนสนามหญ้า บ้างเป็นป่าอย่างหลังที่อยู่ข้างบ้านที่ผมพักนี้ บ้างทำเป็นสวนดอกไม้ บ้างเป็นที่นกกาอาศัยทำรัง มีคนเล่าว่าบ้างเอาแพะแกะขึ้นไปเล็มหญ้าบนหลังคาก็มี แต่ผมยังไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง ทำไมถึงทำหลังคาแบบนี้กันมาแต่โบราณก็ไม่มีใครทราบได้ ได้แต่เดาเอาว่าอาจเพื่ออาศัยพืชเป็นฉนวนทำให้อุ่นในหน้าหนาวและเย็นสบายในหน้าร้อน และสบายหูจากเสียงดังข้างนอกด้วย บ้างเดาว่าน่าจะเอาไว้ดูดซับน้ำฝนซึ่งตกปรอยๆทั้งปีเพราะมันลดการไหลทิ้งจากหลังคาได้ถึงปีละ 40-90% ผมไปศึกษาวิธีทำหลังคาชนิดนี้เมื่อไปเยี่ยมหมู่บ้านไวกิ้งในอีกสองวันต่อมา จึงได้ทราบว่าสมัยก่อนวิธีทำเขาต้องถากเอาเปลือกไม้เบิร์ช (berch) มามุงเป็นชั้นล่างเพื่อกันน้ำก่อน แล้วใส่ดินใส่ปุ๋ยแล้วปลูกหญ้าหรือพืชอื่นลงไป แต่สมัยนี้การใช้เปลือกไม้เบิร์ชนั้นเด็กๆแล้ว เขาหันมาใช้ของสมัยใหม่ที่กันน้ำได้เริ่ดกว่าที่เรียกว่า.. พลาสติก แทน หิ หิ  

    นี่ทนเมาเครื่องบินนั่งเขียนมาตั้งนานเพิ่งเล่าได้วันเดียวนะเนี่ย การเดินทางรอบนี้นาน 14 วัน จะให้เขียนเล่าทุกวันก็ไม่ไหวเพราะพรุ่งนี้ผมก็ต้องเริ่มสางงานที่กองสุมไว้รอคงไม่มีเวลาเขียนแล้ว จึงขอตัดช่องน้อยเอารูปมาแปะต่อท้ายให้ดูประมาณวันละรูปแทนก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

สองตายา บนหน้าผ่า pulpit rock

บริกเกน ห้องแถวมหาชน ถ่ายตอนโพล้เพล้




ปิคนิกที่ฟาร์มบนเขา ที่เห็นลิบๆข้างล่างโน้นคือเมืองฟร็อม

จากบนเขาตำบล Loen ตั้งใจถ่ายกลาเซียร์สีขาวบนสุดของภาพ


กระท่อมทึ่พักของเราบนเขาที่ปลายสุดของ Geiranger fjord

นั่งปล่อยอารมณ์ข้างถนนตอนขับเลียบสันเขาจากกีแรงเกอร์

ถ่ายจากหัว "เรือเงียบ" ขณะล่อง Trollfjord ที่โลโฟเทน

สองตายายในคืนออกล่าแสงเหนือที่โลโฟเทน

โรงแรมที่พักที่ตำบลฮอมเนย (Hamnøy)

หัวปลาขนาดบะเร่อบะร่าที่เอามาตากให้แห้งลมเย็น



ปิกนิกกันที่หาด Haukland ที่โลโฟเทน ก่อนไฮกิ้งขึ้นเขา





ซุปไวกิ้งเลี้ยงแขก ถ้วยละ 160 โครน

แพ Kon Tiki ของแท้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองออสโล


........................................................