จะฉีดยา Semaglutide เพื่อลดน้ำหนักดีไหม
(ภาพวันนี้ / กุหลาบเหลืองกลางดงคอสมอส)
(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)
อาจารย์คะ
หมอที่รักษาดิฉันแนะนำให้ฉีดยา …(semaglutide) ลดน้ำหนัก ท่านบอกว่าเป็นยาลดน้ำหนักที่ดีกว่าวิธีลดน้ำหนักทุกวิธีที่เคยมีมา มันจริงไหมคะ และว่ามันเป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคสมองเสื่อมได้ด้วย อยากปรึกษาคุณหมอสันต์แบบ second opinion ว่าดิฉันควรจะเริ่มฉีดยารักษาโรคอ้วนตามที่คุณหมอของดิฉันแนะนำดีไหม
ขอบพระคุณค่ะ
……………………………………………………….
ตอบครับ
ปกติผมจะไม่ตอบคำถามเรื่องยา เบื้องหน้า นั้น เป็นเพราะแนวทางการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังของผมไม่ใช่การใช้ยา แต่เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต เบื้องหลัง นั้น เป็นเพราะเรื่องยาก็ดี เรื่องวัคซีนก็ดี เป็นพื้นที่อันตราย ซึ่ง ม. ออกกฎห้ามมิให้ผมไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ผมเห็นว่าการตอบจดหมายของคุณเป็นโอกาสให้ผมได้ทบทวนภาพใหญ่ของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่
ยาที่คุณถามมานั้นผมขอใช้แต่ชื่อเซมากลูไตด์ (semaglutide) ซึ่งเป็นชื่อทางเภสัชวิทยาหรือ “ชื่อจริง (generic name)” ของมันนะ จะไม่ใช้ชื่อการค้า (Trade name) เพื่อป้องกันปัญหาการกระทบผลประโยชน์ใครเข้า เพราะไม่ใช่เจตนาของผมที่จะเขียนบล็อกเพื่อทุบหม้อข้าวใคร
การจะเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของยาตัวนี้ผมขอปูพื้นให้เข้าใจกลไกการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความอยากอาหารของมนุษย์เราก่อน ซึ่งอย่างน้อยต้องรู้จักฮอร์โมนตัวสำคัญ 3 ตัว คือ
อินสุลิน (insulin) เป็นฮอร์โมนที่คอยวัดระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด มีหน้าที่ในยามมีอาหารการกินเหลือเฟือ กล่าวคือถ้าพบว่ามีน้ำตาลหรือไขมันในเลือดมากก็จะ (1) สั่งให้เซลล์ทั่วร่างกายเปิดรับเอาน้ำตาลและไขมันจากภายนอกเซลล์เข้าไปในเซลล์ (2) กระตุ้นให้เซลล์เผาผลาญกลูโค้สออกมาเป็นพลังงาน (3) ถ้าน้ำตาลต่ำก็ทำให้หิว ถ้าน้ำตาลสูงก็ทำให้อิ่ม
กลูคากอน (glucagon) เป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับอินสุลิน ซึ่งมีหน้าที่ในยามขาดแคลนอาหาร กล่าวคือมันจะออกฤทธิ์ (1) สั่งให้ตับสลายเอาแป้งสำรอง(ไกลโคเจน)ออกมาเป็นกลูโค้สแล้วปล่อยออกมาในกระแสเลือด (2) ระงับไม่ให้เซลล์สร้างพลังงานจากกลูโค้สซึ่งกำลังขาดแคลน (3) โปรโมทการสร้างกลูโค้สผ่านวิถีใหม่ (de novo gluconeogenesis) คือแทนที่จะใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบก็เปลี่ยนไปใช้โมเลกุลอื่นเช่นใช้กลีเซอรอลที่ได้จากไขมันไตรกลีเซอไรด์แทน เป็นต้น (กลไกนี้ถูกระงับโดยยาเบาหวานบางตัวเช่น metformin)
อินครีติน (incretin) เป็นฮอร์โมนผู้ช่วยของอินสุลินที่มีฤทธิ์เหมือนอินสุลิน มันช่วยอินสุลินได้จากการที่ (1) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงสมองจะสั่งระงับการปล่อยอินสุลิน แต่การปล่อยฮอร์โมนอินครีตินไม่ถูกระงับโดยการเพิ่มระดับน้ำตาล ทำให้มันยังช่วยทำหน้าที่แทนอินสุลินทำงานได้ (2) มันระงับการทำงานของกลูคากอนได้โดยเข้าไปปิดตัวรับกลูคากอนทำให้กลูคากอนออกฤทธิ์ไม่ถนัด เหตุที่มันทำอย่างนี้ได้เพราะมันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกลูกากอน ดังนั้นมันจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า glucagon like peptide-1 (GLP-1) (3) มันทำให้อิ่ม
ยาเซมากลูไตด์ที่คุณถามมานี้ มันเป็นยาฉีด ซึ่งมีฤทธิ์เสริมการทำงานของ GLP-1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยของอินสุลินนั่นเอง
เอาละ จบเรื่องเบสิกแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
1.. ถามว่ายาเซมิกลูไตด์นี้เป็นยาลดความอ้วนที่ดีกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นที่เคยมีมาก่อนหน้าทั้งหมดจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ เพราะยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบการลดน้ำหนักด้วยยาฉีดเซมิกลูไตด์กับวิธีลดน้ำหนักวิธีอื่นไม่ว่าจะวิธีใดๆ มีแต่ข้อมูลเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก จึงยังไม่มีข้อมูลอะไรจะมาพูดได้ว่ายานี้ดีกว่าการลดน้ำหนักวิธีอื่น ในอนาคตก็คงจะไม่มีข้อมูลนี้ อย่างน้อยก็คงไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบการกินยากับการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เพราะใครที่ไหนจะลงทุนทำวิจัยที่ทำให้ตัวเองขายยาไม่ได้
2. ถามว่ายาเซมากลูไตด์มีผลลดน้ำหนักได้จริงๆมากแค่ไหน ตอบว่างานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสซึ่งรวมเอางานวิจัยผู้ป่วยอ้วนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานทั้งหมดที่ทำมาก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยรวม 3613 คน แบ่งเป็นกลุ่มฉีดยาจริงทุกสัปดาห์บ้างทุกวันบ้างรวม 2,350 คน อีกกลุ่มฉีดยาหลอก 1,263 คน ทำวิจัยอยู่นานเฉลี่ยประมาณ 1 ปี สรุปผลได้ว่ากลุ่มที่กินยาเซมิกลูไตด์ลดน้ำหนักเฉลี่ยได้มากกว่ากลุ่มฉีดยาหลอก 11.85% ซึ่งถือว่าลดได้เป็นเนื้อเป็นหนังพอสมควร แต่นี่เป็นการประเมินผลในระยะแค่ 1 ปีนะ ระยะยาวยังต้องตามดูกันอีกยาวไกล เพราะแค่ทำมาประมาณหนึ่งปีงานวิจัยนี้ก็พบว่ากลุ่มผู้ฉีดยาจริงมีอัตราเลิกฉีดยาไปกลางคันเพราะทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหวมากกว่ากลุ่มฉีดยาหลอก 2 เท่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกลุ่มฉีดยาหลอก 1.6 เท่า (นิยามภาวะแทรกซ้อนรุนแรงว่าคือ ตาย, หรือต้องเข้ารักษาตัวในรพ., หรือต้องอยู่รพ.นานขึ้น, หรือพิการหรือทุพลภาพหรือไร้สรรถภาพ, หรือทำให้พิการแต่กำเนิด) ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเป็นเรื่องระบบตับ ตับอ่อน และน้ำดี (ซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายของฮอร์โมนครีเอติน)
3.. ถามว่าหมอสันต์แนะนำว่าควรฉีดยาเซมากลูไตด์เพื่อลดน้ำหนักไหม ตอบว่าหมอสันต์เป็นแพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิต (lifestyle medicine doctor) แปลไทยให้เป็นไทยว่าคือหมอที่ช่วยให้คนไข้รักษาโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนการใช้ยา มุ่งลดละเลิกการใช้ยา หากจะใช้ยาก็ใช้เมื่อจำเป็นอย่างแท้จริง ดังนั้นคำตอบของหมอสันต์ก็คือให้เปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งการกินการออกกำลังกายการจัดการความเครียดให้มันเต็มที่สุดความสามารถก่อน และให้เวลาตัวเองล้มแล้วลุกๆ อย่างนานเกินพอ อย่าเพิ่งไปคิดถึงการใช้ยา อย่างเช่นยาเซมากลูไตด์นี้มีงานวิจัยเปรียบเทียบเล็กๆชิ้นหนึ่งซึ่งเชื่อถือได้พบว่ากลุ่มที่กินยาจริงกินอาหารน้อยลงกว่ากลุ่มกินยาหลอก แนวทางการแก้ปัญหาของผมคือถ้าคุณอยากจะได้ผลดีข้อที่กินน้อยลงนี้คุณก็รูดซิปปากของคุณเสียเองสิครับ ผมหมายถึงว่าเช่นการทำ IF เป็นต้น ผมไม่แนะนำให้ใครใช้ชีวิตแบบตามใจปากแล้วไปหายามากินหรือฉีดแก้ปัญหาที่เกิดจากการตามใจปากของตัวเอง เพราะการแก้ปัญหาด้วยยามันแก้ได้เพียงชั่วคราว หากยานั้นเป็นยาดีที่สุดที่คนกินคนฉีดทุกคนทนยาได้ (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาดีขนาดนั้น) แม้จะเป็นยาดีที่สุดที่คุณทนยาได้นานหลายปีคุณก็ยังต้องฉีดยานั้นไปตลอดชีวิตอยู่ดี หยุดฉีดเมื่อไหร่ก็อ้วนเมื่อนั้นเพราะเหตุของการอ้วนของคุณคือวิถีชีวิตที่ผิดพลาดมันยังอยู่ ผมจึงไม่แนะนำให้เลือกทางนั้น
อีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ของจริงเลยนะครับ คือยังไม่มียาตัวไหนที่จะเปลี่ยนนิสัยการเสพย์ติดอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นยาจิตเวชทุกชนิดและยาเซมากลูไตด์นี้ก็ไม่เว้น ปัญหาการเสพย์ติดอาหารจะต้องแก้โดยการเปลี่ยนนิสัยตัวเองให้สำเร็จเท่านั้น
4.. ถามว่ายาเซมากลูไตด์รักษาสมองเสื่อมและทำให้อายุยืนจริงไหม ตอบว่าข้อมูลที่คุณได้รับมานั้นเป็นผลวิจัยในหนูทดลอง ซึ่งเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับต่ำที่วงการแพทย์ไม่ได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วย หมอสันต์ไม่รับวิเคราะห์หรือวิจารณ์ผลวิจัยในสัตว์ทดลอง เพราะเดี๋ยวพวกหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันจะมองเห็นหมอสันต์เป็นคนบ้องตื้น ไม่รู้จักแม้กระทั่งวิธีจัดชั้นของหลักฐานวิทยาศาสตร์ ผมจึงขอไม่ตอบคำถามนี้ว่าจริงหรือไม่จริง
ปล. ถ้าเกิดคุณพบยาแก้สมองเสื่อมขึ้นมาจริงๆ ขอผมสักเม็ดนะ หิ..หิ ผมก็จำเป็นต้องใช้เหมียนกัล..ล
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Tan HC, Dampil OA, Marquez MM. Efficacy and Safety of Semaglutide for Weight Loss in Obesity Without Diabetes: A Systematic Review and Meta-Analysis. J ASEAN Fed Endocr Soc. 2022;37(2):65-72. doi: 10.15605/jafes.037.02.14. Epub 2022 Aug 23. PMID: 36578889; PMCID: PMC9758543.