ชีวิตหนึ่งนี้คือประสบการณ์การสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ถูกจดจำไว้ภายใต้คอนเซ็พท์ของเวลา

(ภาพวันนี้ / พวงประดิษฐ์ เลื้อยคลุมต้นลิ้นฟ้า)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมเป็นนักศีกษาแพทย์ ม. … ปี 6 ผมมาเรียนแพทย์เพราะรายการเกมหมอยอดนักสืบที่อาจารย์ทำทางโทรทัศน์ช่อง 9 ร่วมกับคุณสัญญา คุณากร ซึ่งผมดูเอาจากยูทุป ผมติดตามบล็อกของอาจารย์เรื่อยมาและสนใจเป็นพิเศษเมื่ออาจารย์สอนเรื่องความหลุดพ้น ผมมีคำถาม 1. ชีวิตคืออะไรครับ จากมุมมองของอาจารย์ 2. ความหลุดพ้นคืออะไรครับ 3. จำเป็นหรือไม่ที่ทุกคนต้องเสาะหาความหลุดพ้น

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

……………………………….

ตอบครับ

ถามว่าชีวิตคืออะไร ตอบว่า ชีวิตคือประสบการณ์ที่สิ่งมีชีวิตสนองตอบต่อสิ่งเร้า

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย มีกลไกสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ผ่านเข้ามาทางอยาตนะ (sense organ) ของมัน การสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งคือหนึ่งประสบการณ์ (experience)

อายตนะของมนุษย์เมื่อมองจากมุมวิทยาศาสตร์มีห้าอย่าง คือตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง แต่แท้จริงแล้วยังมีอย่างที่ 6 คือ “ใจ” ของเราเองก็ทำตัวเป็นอายตนะรับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาทางใจโดยตรงได้ด้วย ดังนั้นผมจึงมองอยาตนะว่ามีหกตัวไม่ใช่ห้าตัว

ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในที่ที่มีความรู้ตัวหรือความสามารถรับรู้ (consciousness) พร้อมเปิดรับอยู่เท่านั้น หมายความว่าประสบการณ์เกิดได้เฉพาะแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น นั่นทำให้ทุกประสบการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เพราะแค่เวลาที่ผมพูดคำว่าเดี๋ยวนี้จบ ตัวเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว หมายความว่าของเก่าที่เกิดขึ้นดับหายไปแล้วและมีของใหม่เกิดขึ้นมาแทน ดังนั้นจะหาความมั่นคงแน่นอนอะไรกับแต่ละประสบการณ์ย่อมไม่ได้ทั้งสิ้น

ทุกประสบการณ์นี้จะถูกจดจำอย่างเที่ยงตรงบ้าง อย่างผิดๆถูกๆบ้าง ไว้ภายใต้คอนเซ็พท์ของเวลา ว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง แล้วจะถูกนำไปผูกเป็นวงจรการสนองตอบของใจแบบซ้ำซากจนเป็นอัตโนมัติ ทำให้เมื่อรับรู้สิ่งเร้าเดิม การสนองตอบก็มักเป็นแบบเดิมซ้ำซากในทิศทางแบบที่เคยสนองตอบมาแล้ว ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เหมือนกับพฤติกรรมของหุ่นยนต์อย่างกับแกะ ต่างกันที่มนุษย์มีศักยภาพที่จะสังเกตให้เห็นความเป็นหุ่นยนต์ของตัวเอง และปรับเปลี่ยนวิธีสนองตอบให้แตกต่างจากการสนองตอบซ้ำซากแบบหุ่นยนต์ได้

ถามว่า อ้าว เมื่อชีวิตเป็นเพียงประสบการณ์ในมิติของเวลา แล้วถ้างั้น “ฉัน” ซึ่งเป็นเจ้าของชีวิตนี้อยู่ที่ไหนละ

ตอบว่า “ฉัน” มีอยู่สองตัวนะ “ฉันตัวเล็ก” คือฉันที่เป็นบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงอีกคอนเซ็พท์หนึ่ง หรือเป็นอีกความคิดหนึ่งที่สมมุติเอาความคิดอื่นมาคลุกเคล้าปะติดปะต่อกันว่าร่างกายนี้ ประกอบกับชื่อนี้ นามสกุลนี้ บวกกับคอนเซ็พท์อื่นๆเช่นปริญญา เกียรติ ยศ ฐา บรรดาศักดิ์ โฉนดที่ดิน บัญชีธนาคาร ที่ตนมี รวมกันเป็นบุคคลที่มีสกุลรุณชาติขึ้นมาหนึ่งคน คนคนนี้ก็คือ “ฉันตัวเล็ก” ซึ่งความที่มันเป็นเพียงความคิด ฉันตัวเล็กนี้ก็อยู่ในมิติของเวลาด้วย และทุกส่วนของมันก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

ส่วน “ฉันตัวใหญ่” เป็นความสามารถรับรู้ (consciousness) ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวดองกับฉันตัวเล็ก และอยู่นอกมิติของเวลา อุปมาเหมือนคนนั่งเปิดดูอัลบั้มภาพถ่ายไปทีละหน้า คนที่เปิดดูไม่ได้เข้าไปอยู่ในแต่ละหน้าของอัลบั้มนั้น ฉันตัวใหญ่เปรียบเหมือนความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ที่ประสบการณ์ทุกประสบการณ์ (รวมทั้งประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปของร่างกายนี้ด้วย) ล้วนเกิดขึ้นและดับหายไปในฉันตัวใหญ่นี้ โดยที่ฉันตัวใหญ่ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการจะเกิดขึ้นหรือจะดับหายไปของประสบการณ์ใดๆ แค่รับรู้เฉยๆ

เมื่อเราพูดถึงตัวเองว่า “ฉัน” เราหมายถึงทั้งฉันตัวเล็กและฉันตัวใหญ่รวมกัน ยามใดที่เราให้ค่ากับการเป็นฉันตัวเล็กมากกว่าเราก็จะเดือดร้อนเจ็บอายไปด้วยกับความไม่แน่นอนของประสบการณ์ต่างๆที่ฉันตัวเล็กต้องประสบแล้วกระทบกระทั่งถึงตัวตนสมมุติของมัน แต่ยามใดที่เราให้ค่ากับการเป็นฉันตัวใหญ่มากกว่าเราก็จะมีแต่ความสงบเย็นและยอมรับความเปลี่ยนแปลงของแต่ละประสบการณ์ทุกช็อต ทุกช็อต ได้อย่างไม่อาทรร้อนใจกับอะไร

2.. ถามว่าความหลุดพ้นคืออะไร ตอบว่าคือการย้ายตัวตน (change of identity) จากฉันตัวเล็กไปเป็นฉันตัวใหญ่ได้สำเร็จ ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการวางความยึดถือในความทรงจำใดๆเกี่ยวกับประสบการณ์ของฉันตัวเล็กซึ่งล้วนเป็นความคิดลงไปให้หมด ทั้งนี้โดยเลือกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ตัวเราเองถนัด เช่น (1) การหันเหความสนใจจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจหรือมาอยู่กับพลังชีวิต (2) การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของฉันตัวใหญ่ซึ่งเป็นผู้สังเกตจากภายนอก ทั้งนี้นับรวมทั้งการสังเกตดูความคิดของตัวเองด้วย (3) การผ่อนคลายร่างกาย ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเงื่อนไข (4) การฝึกจดจ่อสมาธิ ผ่านการทำ meditation หรือนั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งผ่านการฝึกจดจ่อกับกิจที่อยู่ตรงหน้า เป็นต้น

3.. ถามว่าจำเป็นไหมที่ทุกคนต้องแสวงหาความหลุดพ้น ตอบว่าไม่จำเป๊น..น ที่เราเรียกว่าหลุดพ้นเราหมายถึงหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือหลุดพ้นจากความอยาก (รวมทั้งความอยากรู้) หรือหลุดพ้นจากความเบื่อ (ผมเพิ่งคุยกับนักจิตวิทยาฝรั่งคนหนึ่งเขาบอกผมว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขคือความเบื่อ ซึ่งผมว่าเออ..เม้คเซ้นส์) ดังนั้นคนที่ไม่ทุกข์อะไร ไม่อยากรู้อะไร ไม่เบื่ออะไร ก็ไม่ต้องดิ้นรนไปเสาะหาความหลุดพ้นอีก เพราะตอนนี้ได้หลุดพ้นไปเรียบร้อยแล้ว จะไปเสาะหาพรืออีกละ

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมเห็นว่าคุณจะเติบโตไปเป็นหมอรุ่นใหม่ในวันหน้า ผมจึงขอคุยกับคุณเพิ่มเติม ว่า

“ประสบการณ์” หากมองจากมุมวิทยาศาสตร์น่าจะแบ่งเป็นประสบการณ์ทางใจและประสบการณ์ทางร่างกาย แต่ผมกลับเห็นว่าประสบการณ์มีที่เกิดที่เดียวเท่านั้น คือที่ในใจเรา แม้เหตุการณ์ในร่างกายเราเช่นความปวดเราก็รับรู้เป็นประสบการณ์ได้ที่ในใจของเราเท่านั้น ส่วนการชี้จุดว่าความปวดนี้มาจากร่างกายส่วนไหนนั้นเป็นเพียงคอนเซ็พท์หรือนิยามที่เราตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นว่าตรงนี้เรียกว่าตับ ไต ไส้ พุง แขน ขา แต่หากใจไม่ได้รับรู้ความปวดนั้นเลย การนิยามตำแหน่งแห่งหนบนร่างกายก็ไม่จำเป็น

“โรค” ที่เกิดกับมนุษย์ หากมองจากมุมวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ก็จะถูกนิยามว่าเป็นผลที่เกิดจากเหตุต่างๆสมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ผมต้องท่องหมวดสาเหตุของโรคว่ามีเก้าหมวด คือ ติดเชื้อ, อักเสบ, บาดเจ็บ, เนื้องอก, เป็นแต่กำเนิด, เกิดจากการเผาผลาญ, ภูมิต้านทาน, ฮอร์โมน, และ…โรคหมอทำ (หิ..หิ กลุ่มโรคสุดท้ายนี่ผมไม่ได้แกล้งว่านะ วิชาแพทย์รุ่นโน้นเขาแบ่งเป็นหนึ่งหมวดจริงๆ) 

แต่หลังจากได้ประกอบอาชีพแพทย์มาเกือบห้าสิบปีตั้งแต่หนุ่มจนอายุเจ็ดสิบกว่า สมองของผมคงจะเริ่มเพี้ยน จึงแอบก่อร่างทฤษฎีใหม่ขึ้นในใจของผมเองว่าโรคทั้งหมดนี้ ความจริงแล้วมีสาเหตุหรือธรรมชาติหลักเหมือนกันหมด คือมันเป็นแค่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจของผู้ป่วยเท่านั้นเอง จริงอยู่ร่างกายบางส่วนบางอวัยวะอาจเน่าพุพอง แต่ที่เรียกว่าเน่าก็ดีหรือพุพองก็ดี ล้วนเป็นเพียงนิยามหรือคอนเซ็พท์ที่เกิดจากใจสนอบตอบต่อสิ่งเร้า ซึ่งในที่นี้ก็คือภาพหรืออาการของร่างกายที่รับรู้ได้ที่ใจทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งว่าทำไมภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วผลตรวจออกมาจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเจาะเลือดออกมาแล้วโมเลกุลชนิดนั้นเพิ่มขึ้น ชนิดนี้ลดลง ทั้งหมดก็ล้วนเป็นแค่คอนเซ็พท์ทางวิทยาศาสตร์ที่ผูกโยงขึ้นมาเป็นวิชาแพทย์เท่านั้น ซึ่งชื่อว่าคอนเซ็พท์ก็คือความคิดที่คนหลายคนยึดถือซูฮกตามๆกันมา จะเป็นความจริงแท้ที่เปลี่ยนแปลงมิได้ก็หาไม่

ประเด็นที่ผมจะชี้ก็คือเมื่อมองโรคทุกโรคว่าคือประสบการณ์การสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจ เหตุการณ์บนร่างกายเป็นเพียงสิ่งเร้าหนึ่งที่เข้ามาสู่ใจเท่านั้น โรคทุกโรคก็หายได้หากเปลี่ยนวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจได้สำเร็จ

ฝากเอาไปคิดต่อเป็นการบ้าน เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าคุณจะกลายเป็นหมอที่มีวิธีพิเศษที่ช่วยให้คนไข้รักษาโรคทุกโรคได้ด้วยตัวของเขาเองนอกเหนือไปจากวิชาแพทย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี