การฉีดสารอุดตันหลอดเลือดที่หัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม (Geniculate artery embolization)
(ภาพวันนี้ / เผาข้าวหลามกินกัน วันไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำไร่กาแฟอยู่บนดอยสูง)
(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)
เรียนคุณหมอสันต์ครับ
ตามที่ แผนกรังสีร่วมรักษาของรพ. …. โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อแต่ใช้วิธีรักษาด้วยรังสีแทนนั้น เป็นวิธีที่ใช้ได้จริงหรือไม่ครับ ได้ผลจริงไหม เพราะผมเองก็มีปัญหาปวดเข่ามาก หมอแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า แต่ผมไม่อยากผ่า ควรทำหรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวคุณหมอสันต์ด้วยครับ
ขอบพระคุณครับ
…………………………………………………………
ตอบครับ
1.. ถามว่าแผนกรังสีร่วมรักษาเขาจะเอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่าเขาไม่ได้เอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อม แต่เขารับรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีฉีดสารอุดตัน (emboli) เข้าไปปิดกั้นหรืออุดตันหลอดเลือด geniculate artery ที่ไปเลี้ยงหน้าสัมผัสของหัวเข่า เรียกวิธีรักษาแบบนี้ว่า Geniculate Artery Embolization (GAE) แต่เหตุที่การรักษาแบบนี้ต้องไปทำที่แผนกรังสีก็เพราะแผนกรังสีเป็นเจ้าของเครื่องฉีดสี (angiography) แผนกอื่นที่มีเครื่องแบบนี้นอกจากแผนกรังสีแล้วก็มีแต่แผนกหัวใจเท่านั้น แผนกกระดูกยังไม่มี
2.. ถามว่าการฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อเข่ารักษาโรคข้อเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายได้หรอกครับ แต่มีสารพัดวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเสื่อม วิธีดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยตามลำดับก็คือการลดน้ำหนักและทำกายภาพบำบัดสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหน้าขาหลังขาและเอ็นรอบหัวเข่าก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็กินยาแก้ข้ออักเสบ (์NSAID) ซึ่งจะบรรเทาอาการได้ตราบใดที่ยังกินยาอยู่ ถ้ายังปวดมากอยู่ก็ไปขั้นที่สองคือฉีดสะเตียรอยด์เข้าข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้ราวสามสัปดาห์ ถ้ายังปวดอยู่อีกก็ฉีดจาระบี (hyaluronic acid) เข้าไปในข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้สักหกเดือน หากยังปวดอยู่อีกก็โน่น…ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซะเลย
ส่วนการแก้ปวดด้วยวิธีฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อ (GAE) นี้เป็นวิธีใหม่ ซึ่งมีความรุกล้ำรุนแรงน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ถามว่าวิธี GAE นี้มันได้ผลไหม ตอบว่ามีงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์แล้วราวร้อยกว่าเกือบๆสองร้อยงานวิจัย เกือบทั้งหมดเป็นงานวิจัยระดับต่ำ แต่มีอยู่หนึ่งงานวิจัยที่เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยระดับสูงเชื่อถือได้ ผมจึงจะพูดถึงงานวิจัยนี้เพียงงานวิจัยเดียว ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการเจ็บหัวเข่าระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 21 คน มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำ GAE ของจริงคือฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าจริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งทำทีเป็นเอาเข้าห้องฉีดสีทำ GAE แต่ไม่ได้ฉีดสารเข้าไปอุดหลอดเลือดจริง แล้วตามประเมินอาการปวดเข่าของทั้งสองกลุ่มเมื่อครบ 1 เดือน และ 12 เดือนหลังฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้ทำ GAE จริงอาการปวดเข่าน้อยลงและการใช้งานเข่าดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ
สรุปว่าการรักษาแบบฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและเพิ่มการใช้งานหัวเข่าได้ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีหลังการฉีด
3.. ถามว่าควรทำ GAE หรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวหมอสันต์ด้วย ฮั่นแน่ หาเรื่องให้หมอสันต์เจ็บตัวอีกละ ตอบว่าความเห็นส่วนตัวผมไม่มี มีแต่การวิเคราะห์ผลวิจัยนี้นั่นแหละครับ ว่า (1) งานวิจัยนี้ได้ผลว่าดีสำหรับคนปวดเข่าระดับเล็กน้อยถึงระดับปานกลางเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับคนปวดเข่าระดับมากอย่างคุณ หากคุณจะลองรับการรักษาแบบนี้ก็ต้องเป็นการลองด้วยความกล้าของคุณเอง อย่าอิงผลวิจัยนี้ เพราะผลวิจัยนี้ใช้ไม่ได้กับคนปวดเข่าระดับมาก (2) ผลวิจัย GAE ในเชิงความปลอดภัยต่อหัวเข่านั้น ประเมินกันเฉพาะในระยะสั้น 1 ปี อย่างเก่ง 2 ปี หลังจากนั้นการจงใจไปอุดหลอดเลือดของหัวเข่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหัวเข่าในระยะยาวยังไม่มีใครรู้ ผมเองรู้แต่ว่าหากเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าหลอดเลือดแขนงที่ตีบนั้นอุดตันไปซะก็จะหายเจ็บหน้าอกเป็นปลิดทิ้ง เพียงแต่ถ้าโชคไม่ดีกล้ามเนื้อหัวใจตายไปมากก็มักตามมาด้วยหัวใจล้มเหลว นั่นเป็นเรื่องที่หัวใจ แต่ที่หัวเข่ามันคนละเรื่อง การอุดหลอดเลือดที่หัวเข่านานไปจะเกิดอะไรขึ้นผมไม่รู้ หมอกระดูกก็ยังไม่รู้ เพราะวิธีรักษาด้วยการอุดหลอดเลือดเพิ่งมาเริ่มทำกัน ผลระยะยาวต้องตามดูกันต่อไป คุณอยากจะลองก็เอาเลยครับ ใครที่อยากรับการรักษาอะไรใหม่ๆผมเชียร์ทั้งนั้น เพราะในทางการแพทย์ผู้ที่เป็นกองหน้าทำไปก่อนย่อมเป็นผู้ทำความดีด้วยการสร้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คนที่จะมาทำภายหลัง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Bagla S, Piechowiak R, Sajan A, Orlando J, Hartman T, Isaacson A. Multicenter Randomized Sham Controlled Study of Genicular Artery Embolization for Knee Pain Secondary to Osteoarthritis. J Vasc Interv Radiol. 2022 Jan;33(1):2-10.e2. doi: 10.1016/j.jvir.2021.09.019. Epub 2021 Oct 2. PMID: 34610422.