ยังไม่เก็ทเรื่องการสร้างสรรค์ (Creativity)
(ภาพวันนี้ / ดอกชบา หน้าหนาว)
อาจารย์ครับ
ผมเป็นนักเรียน SR34 กลับจากแค้มป์มาคิดถึงคำพูดของอาจารย์
อาจารย์ว่าชีวิตมีสองด้าน คือสถานะการณ์ในชีวิตกับการใช้ชีวิต ตรงนี้ผมเข้าใจ
อาจารย์ว่าให้โฟกัสที่การใช้ชีวิต ไม่ไปโฟกัสสถานะการณ์ในชีวิต ตรงนี้ผมเข้าใจ
อาจารย์ว่าชีวิตใช้กันทีละลมหายใจ ตรงนี้ผมเข้าใจ
อาจารย์ว่าประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรให้ลมหายใจนี้มันดำเนินไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ ตรงนี้ผมเข้าใจครึ่งเดียว คือสงบเย็นผมเข้าใจ แต่สร้างสรรค์ผมไม่เข้าใจ มันอันเดียวกันกับที่สถาปนิกเข้าสร้างสรรค์งานออกแบบหรือจิตรกรเขาสร้างสรรค์ภาพเขียนหรือเปล่า ถ้าเราไม่ใช่สถาปนิกหรือจิตรกรมันจะมาเกี่ยวกับเราอย่างไร แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับการใช้ชีวิตให้สงบเย็น แล้วทำไมใน SR อาจารย์ถึงย้ำเรื่องการสร้างสรรค์มาก
ขอคำอธิบายครับ
……………………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าสร้างสรรค์ (creativity) คืออะไร ตอบว่าคือ “ความสามารถ” หรือ “พลัง” ที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือคิดไอเดียใหม่ๆ หรือชี้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การลอกเลียน คอนเซ็พท์นี้ครอบคลุมได้ทุกเรื่อง รวมไปถึงการใช้ชีวิต การทำงาน การสื่อสาร การสร้างความบันเทิงให้ตนเองและผู้อื่น คือการสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องงานออกแบบก่อสร้างหรืองานศิลปกรรม
2.. ถามว่าสร้างสรรค์ (creativity) มันดีอย่างไร ตอบว่ามันทำให้เกิดมุมมองที่กว้างใหญ่ไม่คับแคบและเกิดนวัตกรรมคือวิธีใหม่ๆในการดำรงชีวิตและแก้ปัญหาในชีวิต
ในระดับสังคม การขาดความสร้างสรรค์ทำให้สังคมนั้นกลายเป็น “สังคมราชฑัณฑ์” คือสังคมที่นักโทษเขาอยู่กัน มีรั้วรอบขอบชิด ทุกคนเสพย์ติดหรือยึดติดวิถีชีวิตที่เหมือนเดิมซ้ำซากวันแล้ววันเล่า ผู้คนมีมุมมองต่อสรรพสิ่งอย่างคับแคบและยึดมั่นในอคติเดิมๆไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ในระดับบุคคล การขาดความสร้างสรรค์คือการตายของความตื่นและรู้ตัว คือการขังตัวเองไว้ในย่านความคิดที่ตนเห็นว่าเป็นเขตปลอดภัย (comfort zone) ถ้าเป็นชีวิตการทำงานเขาเรียกว่าคือการเป็นต้นไม้ตายซาก (dead wood) คือการใช้ชีวิตแบบรีไซเคิ้ลอดีตอันบูดอับขึ้นราซ้ำๆซากๆ เมื่อถูกลากออกมาประจันหน้ากับความเป็นจริงที่ปัจจุบันก็จะเกิดอาการช็อกตาตั้งรับไม่ได้
เขียนถึงตรงนี้ขอเล่าเรื่องเล่าโจ๊กฝรั่งเรื่องหนึ่ง ว่าชายคนหนึ่งเดิมมีอาชีพขับรถให้ธุรกิจงานศพ (funeral house) ต่อมาเงินไม่พอกินจึงเปลี่ยนอาชีพมาขับแท็กซี่ วันหนึ่งขับไปส่งผู้โดยสารแล้วขับเลยจุดที่ผู้โดยสารตั้งใจจะลง ผู้โดยสารจึงเอื้อมมือมาสะกิดหัวไหล่แท็กซี่
“จอดตรงนี้ จอดตรงนี้เลย นี่แหละที่ผมจะลง”
เท่านั้นแหละ แท็กซี่สะดุ้งโหยง เผลอเหยียบคันเร่งเอารถเข้าเสยเสาไฟโครมใหญ่ ผู้โดยสารจมูกแตกเลือดกำเดาไหล จึงพูดกับแท็กซี่ด้วยความไม่เข้าใจว่า
“ผมแค่บอกว่าผมจะลงตรงนี้ ทำไมคุณต้องตกอกตกใจขนาดนั้น” แท็กซี่ตอบว่า
“ผมเคยแต่ขับรถส่งคนตายครับ”
ฮิ ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
3.. ถามว่าแล้ว “สร้างสรรค์” มาเกี่ยวอะไรกับ “สงบเย็น” ตอบว่า ในแง่ของกลไกการเกิด ความสร้างสรรค์เป็นฝาแฝดผู้น้องของความสงบเย็น กล่าวคือชีวิตของปุถุชนที่จมอยู่กับสถานะการณ์ในชีวิตนั้นทั้งไม่สงบเย็นทั้งไม่สร้างสรรค์ เพราะมัวไปจมอยู่ในความคิดมุ่งปกป้องและเชิดชูอัตตาของตัวเองแล้วจะสงบเย็นได้อย่างไร ต่อเมื่อเลิกยุ่งกับสถานะการณ์ในชีวิตมาใส่ใจการใช้ชีวิตทีละลมหายใจ ตั้งใจวางความคิดที่มุ่งมั่นปกป้องเชิดชูอัตตาตัวเองลง จนความคิดเบาบางหรือหมด ก็จะเหลือแต่ความรู้ตัวซึ่งเป็นแก่นข้างในใจเราซึ่งมีธรรมชาติสามอย่างคือ (1) เป็นความสงบเย็น (2) เป็นความตื่นและพร้อมรับรู้ (3) เป็นพลังปัญญาญาณ (intuition) ที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆได้ ดังนั้น ถ้าไม่มีความสงบเย็น ก็จะไม่มีการสร้างสรรค์ เพราะต้องสงบเย็นนิ่งจนเกิดพลังจากสมาธิก่อนจึงจะเกิดพลังปัญญาญาณที่จะมาสร้างสรรค์อะไรได้ ลำพังความคิดอ่าน (intellect) นั้นทำได้แค่รีไซเคิลความจำเก่าๆเท่านั้น จะเอามาสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆไม่ได้ดอก
4.. ถามว่าทำไมใน SR หมอสันต์ย้ำแต่เรื่องการสร้างสรรค์ ตอบว่าเพราะอยากให้สมาชิก SR เปลี่ยนอาชีพจากขับรถส่งคนตายทั้งชาติมาหัดขับรถส่งคนเป็นบ้าง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับเดี๋ยวนี้ให้เต็มศักยภาพที่ตนมี ถ้าชีวิตในวันนี้ของเราเหมือนเมื่อวานนี้ทุกอย่าง แปลว่าเราอยู่ในโลกของอดีตซึ่งเป็นโลกเสมือนที่ตายไปแล้วไม่มีอยู่จริงแล้ว หากเป็นอย่างนั้นวันแล้ววันเล่าวันหนึ่งเราก็จะตายจากโลกนี้ไปแบบหมอนๆเซ็งๆโดยไม่ได้ใช้ศักยภาพที่เรามีให้สมกับที่ได้เกิดมาเลย แต่ถ้าวันนี้เราถามตัวเองว่าวันนี้จะทำอะไรใหม่ให้ต่างจากเมื่อวานนี้บ้าง อะไรใหม่ๆนั่นแหละคือการสร้างสรรค์ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆเช่นปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง หรือยิ้มให้คนสักคนหนึ่ง หรือเล่าโจ๊กให้ใครสักคนหัวเราะ มันเป็นความตื่นเต้นท้าทาย มันเป็นความมหัศจรรย์ การจะทำแบบนี้ได้ต้องเลิกจมอยู่ในความคิดเสียดายอดีตหรือกังวลถึงอนาคตที่เป็นความคิดขาประจำในหัวไปเสียก่อน มาอยู่กับเดี๋ยวนี้ให้ได้ก่อนเพราะความสร้างสรรค์เกิดที่เดี๋ยวนี้ ฟังเสียงที่เข้าหูมาที่เดี๋ยวนี้ มองภาพที่เห็นจะจะที่เดี๋ยวนี้ ตั้งใจพูดกับคนที่อยู่ตรงหน้าเมื่อเดี๋ยวนี้ เมื่อหมดความคิดเรื่องอดีตอนาคต ความสงบเย็นก็จะเกิดเอง การสร้างสรรค์ของจริงก็จะตามมาเอง ดังนั้นประเด็นหลักของการใช้ชีวิตจึงเหลือแต่ว่า..
“ทำอย่างไรการใช้ชีวิตในลมหายใจนี้จึงจะเป็นไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์