คุณจะไปสนใจทำไม เพราะมันเป็นเรื่องนอกประเด็น
(ภาพวันนี้ / วันใหม่ชีวิตใหม่ รดน้ำ ปัดกวาด เปิดร้าน จัดร้าน ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีหรือไม่มีลูกค้า)
(กรณีที่ใช้ fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)
เรียนคุณหมอสันต์
ผมเป็นสัตวแพทย์ ตามอาจารย์มานานและปฏิบัติตามทั้งเรื่องสุขภาพกายสุขภาพจิต ผมศึกษาทั้งพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูแต่ยังจับไม่ได้ว่าอะไรคือจุดต่างที่แท้จริงของศาสนาทั้งสองและผมควรจะให้น้ำหนักตามทางไหนมากกว่ากัน อีกคำถามหนึ่งผมอยากให้อาจารย์สอน trick ที่จะทำให้หลุดพ้นได้เร็วขึ้น ผมเชื่อว่าอาจารย์ต้องมีแต่อาจารย์ไม่ได้พูดถึง และอีกคำถามหนึ่งคนใกล้ชิดในบ้านเป็นคนขี้โมโหผมควรช่วยอย่างไรดี อีกข้อหนึ่ง ลูกเขาเป็นคนไม่เอาไหนไม่เอาหน้าที่การงาน ผมจะทำอย่างไรดี
………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าพุทธกับฮินดูต่างกันอย่างไรอย่างไหนดีกว่ากัน ตอบว่า คุณจะรู้ไปทำไมละครับ มันเป็นเรื่องใบไม้นอกกำมือ เป็นเรื่องนอกประเด็น ถ้าคุณเป็นนักอ่านคุณจะรู้ว่าเรื่องนี้เถียงกันมามากกว่าหนึ่งพันปีแล้ว บางยุคบางสมัยก็จัดเวทีโต้วาทีต่อหน้ากษัตริย์ แต่จนป่านนี้ก็ยังเถียงกันไม่ตกฟาก คุณจะเอาเวลาในชีวิตไปยุ่งกับเรื่องที่เขาใช้เวลาเป็นพันๆปีก็ยังเถียงกันไม่จบทำไมละครับ ในเมื่อคุณมีสัมปทานในชีวิตนี้อย่างมากก็ 100 ปีเท่านั้น
เหตุหนึ่งที่การเถียงกันไม่ตกฟากเพราะคู่โต้วาทีทั้งสองฝ่ายต่างใช้ “ภาษา” ไปโต้เถียงกันเรื่องลักษณะหรือธรรมชาติของความรู้ตัว (consciousness) ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตที่ภาษาจะครอบคลุมไปถึงหรือตามไปอธิบายได้ ทางเดียวที่คุณจะเข้าถึงเรื่องที่เขาเถียงกันนี้ได้คือคุณต้องเข้าถึงด้วยประสบการณ์ของคุณเอง ซึ่งนับว่ายังเป็นเรื่องโชคดีที่ทั้งสองค่ายต่างก็อาศัยประสบการณ์เดียวกัน คือการฝึกสมาธิวางความคิด
2.. ถามว่ามี trick หรือลูกเล่นอะไรที่จะทำให้หลุดพ้นจากกรงของความคิดของตัวเองได้ง่ายๆ ตอบว่าให้คุณลองลูกเล่นต่อไปนี้
2.1 สร้างความสม่ำเสมอ ซ้ำๆซากๆ ที่เก่า เวลาเดิม เพราะความคิดที่โผล่ขึ้นมาในใจเราเป็นวงจรซ้ำซากแบบที่เป็นรากฐานของวิชาพฤติกรรมของสัตว์ (animal behavior) นั่นแหละ การแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยการสร้างพฤติกรรมซ้ำซากเข้าไปทดแทนความคิดซ้ำซากไร้สาระเก่าๆเหล่านั้นให้ได้ก่อน เช่นนั่งสมาธิทุกเช้าหรือก่อนนอนแบบตรงเวลาทุกวัน
2.2 สนใจอะไรทำอะไรทีละอย่าง one thing at the time เรื่องอื่นให้ต่อคิวไว้ อย่าไปทำหลายอย่างพร้อมกัน (multi-tasking) หากมีเรืองต่อคิวเกินหนึ่งเรื่องกลัวลืมก็จดไว้ หมดเรื่องที่หนึ่ง ค่อยไปทำเรื่องที่สอง หมดเรื่องที่สอง ค่อยไปทำเรื่องที่สาม
2.3 ให้ความสำคัญกับความเงียบ ความว่างๆ บ้าง เมื่อมันเงียบก็สังเกตความเงียบ เมื่อมันว่างก็สังเกตความว่าง อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปจากชีวิตคนเราทุกวันนี้คือ “ความมืด” ให้สนใจความมืดบ้าง เมื่อมันมืดอย่ารีบหาแสงสว่างมาจุด ทิ้งให้มันมืดๆอยู่อย่างนั้นสักพัก สนใจสังเกตมัน เพราะความว่างก็ดี ความเงียบก็ดี ความมืดก็ดี มันก็คือความรู้ตัวที่เป็นสนามให้กิจกรรมของใจเช่นอารมณ์ความคิดเกิดขึ้นนั่นเอง
2.4 วิถีชีวิตของคุณก็มีส่วนช่วยให้การฝึกสติวางความคิดเดินหน้าช้าเร็วได้นะ ถ้าจะให้ดีคุณควรเลือกวิถีชีวิตที่ง่ายๆ (simple life) หลีกเลี่ยงวิถีชีวิตที่ทำให้เราจมอยู่ในโลกของความคิด โลกของหน้าจอ โลกของคอนเซ็ทพ์ ชั่ว ดี ถี่ ห่าง ผู้ดี ไพร่ ยากจน ร่ำรวย ปริญญาตรี โท เอก การเปรียบเทียบที่มักตามมาด้วยความอิจฉา การลุ้นสงคราม ทั้งหมดนี้เป็นโลกของความคิดที่ไร้สาระทั้งนั้น หาโอกาสปลีกวิเวกหลีกเร้นจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด การปล่อยวางความยึดถือจะง่ายขึ้นหากใช้ชีวิตในแนวทางลดการซื้อลดการสะสมควบคู่ไปด้วย เมื่อใดสิ่งทางโลกหรือโลกิยะบิสิเนสเหล่านี้ไม่สามารถดึงใจเราให้หันเหออกไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลางได้ เมื่อนั้นเราก็พร้อมที่จะนั่งลงฝึกสมาธิให้ได้ผลดีมากขึ้น
2.5 การกินอาหารก็มีผล ถ้ากินแบบสวาปามเข้าไปเต็มท้อง ก็แน่นอนว่าจะต้องขึ้นอืดไปอีกหลายชั่วโมงแทบทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าปรับอาหารให้เบาลง กินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น กินอาหารในรูปแบบที่มีพลังอยู่ในตัว คืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงมากเกินไปและไม่ถูกเก็บไว้นานเกินไป อาหารในกระป๋องในกล่องในซองพลาสติดซีลนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย มันเป็นอาหารที่ไร้ชีวิตไปนานแล้วมันคงจะให้พลังชีวิตคุณได้ยาก
2.6 ควบคู่กับการฝึกสติ ให้คุณฝึกการปล่อยวางความยึดถือในตัวตนเข้ามาแบบคู่ขนานกันไป ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ฝรั่งที่กำลังเห่อการฝึกสติกันอยู่ทั่วโลกทั้งในยุโรปและอเมริกาไม่ค่อยรู้จักและไม่ค่อยได้สอนกันในโรงเรียนของเขา คือการปล่อยวางความยึดถือมันคงไม่ถูกจริตของฝรั่ง คือเขาสอนแต่เทคนิคการเอาสติเสียบเข้ามาตัดตอนความคิดแบบซ้ำๆๆๆ แต่ไม่พูดถึงการวางความคิดยึดมั่นถือมันในอัตตาและการพาตัวให้ห่างจากโลกิยะบิสิเนสอันได้แก่ กิน กาม เกียร์ติ หรือโลภ โกรธ หลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คืออะไรที่จะดูดเราให้แกว่งออกไปหาสิ่งที่ชอบ หรือแกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งการแกว่งนั่นแหละคือกลไกการเกิดความคิดนั่นเอง
ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับการปล่อยวางโลกิยะบิสิเนส ไปมุ่งมั่นฝึกสติตามแบบฝรั่งตะพึดอย่างเดียว ท้ายที่สุดคุณอาจมีสติสมาธิที่แข็งแรงได้ก็จริง แต่คุณก็ยังจะไม่ตระหนักรู้ความจริงของชีวิตอยู่ดี เพราะความยึดมั่นในสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของคุณมันหนาจนบดบังไม่ให้เกิดการเห็นตามที่มันเป็นได้ เหมือนกับคุณมีกำลังแขนแข็งแรงตั้งใจจะพายเรือกลับบ้านตอนกลางคืนแต่ลืมแกะเชือกที่ผูกหลักออก คุณพายให้ตายก็ไม่ไปไหน โลกิยะบิสิเนส อุปมาอุปไมยก็คือเชือกที่ผูกเรือคุณไว้นั่นแหละ
3.. ถามว่าคนใกล้ชิดเป็นคนขี้โมโหควรทำอย่างไร ตอบว่าคนที่มีความโกรธเป็นเจ้าเรือนเป็นคนมีความหวั่นไหว กลัว ไม่มั่นคง อยู่ในใจ การสื่อสารช่วยเคลียร์ความกลัวนี้ได้ระดับหนึ่ง ความเห็นอกเห็นใจก็ช่วยได้อีกระดับหนึ่ง การหาโอกาสชักชวนฝึกวางความคิดผ่าน meditation ก็เป็นอีกทางช่วยอีกหนึ่ง การชวนเปลี่ยนยุทธวิธีเช่นแทนที่จะนั่งคิดแต่เป็นห่วงสงสารตัวตนของตัวเองหรืออยากจะเอาชนะคะคานเพื่อบูสต์ความสูงเด่นของอีโก้ตัวเองกลับมา เปลี่ยนมาใช้ยุทธวิธีมอกโลกให้กว้างออกไปว่าโลกนี้ไม่ใช่มีแต่คนสองคนที่กำลังทะเลาะกันอยู่นี้ โลกนี้ยังมีคนอื่นที่แย่กว่าเรามาก เอาพลังงานของเราไปทำอย่างไรจะช่วยคนอื่นได้ ถ้าใช้ยุทธวิธีนี้การจมปลักกับอัตตาของตัวเองก็จะเบาบางลง การจะได้สัมผัสกับเมตตาธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติอันสงบเย็นข้างในเราก็มีมากขึ้น และข้อสุดท้าย..วิธีช่วยที่ได้ผลดีสุดคือคุณยอมรับเขาตามที่เขาเป็นแล้วตัวคุณตั้งใจทำตัวเป็นคนใจเย็นให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วเขาจะได้ใบบุญเอง
ทำไมคุณไม่โมโหโกรธหมาแมวที่คุณรักษาอยู่ล่ะ ก็เพราะมิชชั่นของสัตวแพทย์คือใช้ความรู้ของตนเข้าใจโรคของสัตว์และหาทางช่วยให้สัตว์หายป่วย คุณมองทุกอย่างที่สัตว์ทำเป็นอาการป่วยหมด แล้วทำไมคุณจะมองอย่างนั้นกับคนใกล้ชิดไม่ได้ละครับ
4.. ถามว่าลูกเป็นคนไม่เอาไหนจะทำไงดี ตอบว่าคนรุ่นใหม่ ผมหมายถึงคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมาก ไม่ได้นิยมการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาบริโภคตะพึดอย่างคนรุ่นแก่แล้ว บางส่วนหันหลังให้กับวิถีชีวิตแบบเดิมที่เกิดมาก็เอาแต่จะหาเงินไปเลย ดังนั้นก่อนที่คุณจะสะแตมป์ว่าเขาเป็นคนไม่เอาไหน คุณมองให้เห็นปรัชญาชีวิตด้านดีที่คุณไม่มีแต่เขามีไว้บ้างก็ดี จริงอยู่เด็กรุ่นใหม่มีแน้วโน้มจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือเอาแต่ได้ แต่นั่นก็อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เขาเกิดมามันปั้นให้เขาคิดอย่างนั้น เช่นก็ในเมื่อพ่อแม่มีเงินแล้วเขาจะสะสมเงินอีกทำไมละ ใช้เงินพ่อแม่ไม่ง่ายกว่าหรือ เป็นต้น (ซึ่งผมว่าเขาคิดดีนะ หิ..หิ)
ผมอยากให้คุณมองคนรุ่นลูกด้วยความเข้าใจมากกว่านี้ ทำไมคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูก ก็เพราะชีวิตของพวกเขาเองไม่มีความสุข แล้วเขาจะทำลูกเพื่อมามีชีวิตที่ไร้สุขอีกทำไม ชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่พิสูจน์ตัวเองต่อหน้าเขาแล้วว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่ “suck” แปลว่า “ห่วยแตก” แล้วคุณจะให้เขาเอาอย่างใครดีล่ะ ไล่มองไปสิ ผู้ใหญ่ผู้โตของประเทศ นักการเมือง พ่อค้า ครูอาจารย์ ตำรวจ ทหาร หมอ พระที่วัด ส่วนใหญ่ล้วนมีชีวิตแบบมือถือสากปากถือศีลชนิดเห็นตำตาอยู่จะจะทนโท่ไม่กระมิดกระเมี้ยน
กล่าวโดยสรุป คุณทำเขาเกิดมาแล้ว คุณมีเงินมีปัญญาเลี้ยงเขาได้ก็สงเคราะห์เขาไปเหอะ แต่อย่าไปเคี่ยวเข็ญบังคับให้เขาทำอะไรตามคุณเลย ปล่อยให้เขาค้นพบทางของเขาเอง วิธีนี้อาจทำให้โลกวันข้างหน้าดีขึ้นกว่าวันนี้ ไม่ต้องกังวลว่าถ้าคุณตายไปโดยที่เขาก็ยังไม่พบทางแล้วจะยังไง นั่นเป็นเรื่องของเขา คุณจะไปเดือดร้อนอะไรละเพราะคุณตายไปแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์