หมอสันต์ขอเวลานอกพูดกับน้องๆแพทย์โรคหัวใจ
(ภาพวันนี้ / สมเด็จพระราชบิดา)
(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค ต้องคลิกที่ภาพข้างล่างจึงจะอ่านบทความเต็มได้)
กราบเรียนคุณหมอสันต์
ผมอายุ 51 ปี มีเรื่องปรึกษาเร่งด่วน คือเมื่อ … ผมไปตรวจ check up ประจำปีที่ … ซึ่งหลายๆปีผมไปตรวจทีหนึ่ง คุณหมอดูคลื่นหัวใจของผมแล้วถามว่าผมมีอาการใจสั่นหรือรู้สึกอะไรที่หน้าอกบ้างไหม ผมก็บอกว่าผมสบายดีไม่มีอาการอะไร แต่ท่านว่าดูคลื่นหัวใจแล้วท่านไม่สบายใจ คุณหมอท่านให้ผมตรวจเอ็คโค่ได้ผลปกติ ให้ผมตรวจวิ่งสายพานได้ผลว่าอาจมีอะไรอยู่แต่ยังไม่ชัด แพทย์นัดหมายให้ผมไปตรวจสวนหัวใจเมื่อวันที่ … ขณะสวนหัวใจแพทย์ได้คุยกับภรรยาของผมว่าฉีดสีพบจุดตีบที่หลอดเลือดหัวใจควรแก้ไขด้วยการใส่ stent เพื่อป้องกันการเกิดหัวใจวาย ภรรยาผมก็ตกลง ออกจากโรงพยาบาลแล้วผมได้ยาลดไขมัน ยาลดความดัน ยากันเลือดแข็งอีกสองตัว ซึ่งแพทย์บอกว่าทั้งหมดนี้ผมต้องกินไปตลอดชีวิตทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นผมไม่ต้องกินยาอะไรเลย ความดันเลือดผมก็ปกติ แต่ไขมันผมมีสูงบ้าง แต่ตั้งแต่วันนั้นมาผมไม่เคยรู้สึกสบายเลย ผมกลายเป็นคนป่วยจริงๆหลังจากที่ได้ไปตรวจสุขภาพประจำปี
ผมอยากถามคุณหมอว่าผมเป็นโรคหัวใจจริงหรือเปล่า ถ้าเป็น วิธีรักษาที่ผมได้รับมาถูกต้องไหม ถ้าถูกต้องแล้วเรื่องที่ผมต้องกินยาตลอดชีวิตนี้ผมจะต้องทำอย่างไรเพราะผมไม่อยากกินยาตลอดชีวิตครับ
ขอบพระคุณคุณหมอสันต์ครับ
……………………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (IHD) จริงไหม ตอบว่าจริงครับ จากหลักฐานการตรวจสวนหัวใจที่คุณส่งมาให้ คุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดระดับไม่มีอาการ มีรอยตีบที่พอเห็นได้ชัดอยู่สองจุด โดยที่โคนหลอดเลือดข้างซ้าย (LM) ยังปกติ ประเด็นสำคัญคือคนไทยที่อายุเท่าคุณนี้ เป็นโรคนี้แล้วในระดับแบบคุณนี้ผมประมาณว่า 35% (จากตัวเลขงานวิจัยปัจจัยเสี่ยงหลักในคนไทย) ดังนั้นการจับเอาคนวัยนี้ที่เดินถนนอยู่ไปตรวจสวนหัวใจแล้วพบว่าเป็นโรคนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าตื่นเต้นแต่อย่างใด การวินิจฉัยที่ง่ายกว่านั้นคือหากเป็นคนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีไขมันในเลือดสูงหรือความดันเลือดสูงหรือเป็นเบาหวาน ให้วินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคนี้ และให้ลงมือจัดการโรคไปได้เลยด้วยการเปลี่ยนอาหารเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต รับประกันว่าเดินไปไม่ผิดทางแน่
2.. ถามว่าใส่ขดลวดแล้วถ้าไม่อยากกินยาตลอดชีวิตได้ไหม ตอบว่าการจัดการโรคหัวใจขาดเลือดคือการจัดการปัจจัยเสี่ยง อันได้แก่ไขมัน ความดัน เป็นต้น วิธีจัดการคือการเปลี่ยนอาหารเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ซึ่งคุณหาอ่านรายละเอียดเอาในบล็อกนี้ได้เพราะผมตอบเรื่องพวกนี้ไปแยะมาก เมื่อคุณเปลี่ยนอาหารเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้ดี ไขมันในเลือดที่สูงมันจะลงมาเป็นปกติเอง ความดันเลือดที่สูง ก็จะลงมาเป็นปกติเอง เมื่อนั้นคุณก็เลิกยาลดไขมันและยาลดความดันได้
ส่วนยาต้านเกล็ดเลือดทั้งสองตัว (clopidogrel กับ aspirin) นั้น ในกรณีของคุณนี้เป็นการใช้ยาลดการกลับมาอุดตันใหม่หรืออุดตันในขดลวด (secondary prevention) งานวิจัยผู้ป่วยหลังการทำบอลลูนใส่ขดลวดพบว่าหากควบยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวจะลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในขดลวดได้มากกว่ากินตัวเดียวหรือไม่กินเลย อย่างน้อยก็ใน 3 เดือนแรก หลังจาก 12 เดือนไปแล้วการกินตัวเดียวหรือสองตัวหลักฐานปัจจุบันนี้ก้ำกึ่งว่าอาจไม่แตกต่างกัน ดังนั้นพอครบ 12 เดือนแล้วคุณขอหมอลดเหลือตัวเดียวได้ ส่วนการจะต้องกินไปตลอดชีวิตหรือไม่นั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบการกินหรือไม่กินยานี้ในคนที่ใส่ขดลวดไปแล้วนานๆเช่น 5 ปีไปแล้ว ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณควรกินไปก่อน รอจนมีงานวิจัยหรือข้อมูลใหม่ๆออกมาชี้ชัดว่าหากเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิตได้ดีการกินยาต้านเกล็ดเลือดตลอดชีพอาจไม่จำเป็นก็เป็นได้ อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้จากผลวิจัยแล้วว่าในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่ได้เป็นโรคถึงขั้นเกิดการอุดตันเส้นเลือด การให้ยาต้านเกล็ดเลือด (primary prevention) กับไม่ให้เลย ได้ผลในการลดอัตราตายไม่แตกต่างกัน ย้ำว่ากรณีหลังนี้ไม่ใช่กรณีของคุณนะ กรณีของคุณนั้นเป็น secondary prevention
3.. ถามว่าการรักษาที่คุณได้รับไป เป็นการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์ไหม ตอบว่าตรงนี้ผมขออนุญาตไม่ตอบครับ เพราะแพทยสภามีกฎว่าแพทย์ไม่พึงวิจารณ์การประกอบวิชาชีพของแพทย์ด้วยกันเองให้คนไข้ฟัง
4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมมา แบบไม่ได้จะพูดกับคุณ เป็นการพูดแบบขอเวลานอก คือผมอยากจะพูดกับแพทย์โรคหัวใจที่เป็น interventionist รุ่นน้องๆ คือจะพูดกันแบบตรงๆ โต้งๆ ว่าการที่เรารวบหัวรวบหางจับคนไข้ที่ไม่มีอาการป่วยอะไรแค่เขามาตรวจสุขภาพประจำปีไปทำการตรวจสวนหัวใจและทำบอลลูนใส่ขดลวดแบบม้วนเดียวจบทั้งๆที่เรารู้อยู่แล้วว่าคนไข้จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลดอัตราตายหรือในแง่ของการบรรเทาอาการ และเรารู้ๆอยู่แล้วว่าจะมีผลเสียที่จะเกิดกับคนไข้ตามมารวมทั้งการที่คนไข้ต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดไปตลอดชีวิตด้วย แต่ทั้งๆที่รู้ เราก็ยังทำ ผมฟังข่าวว่าน้องๆหากินแบบนี้กับคนไข้ซ้ำๆซากๆ ผมเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผมในฐานะแพทย์โรคหัวใจรุ่นพี่ซึ่งเคยได้ร่วมจรรโลงกิจการของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในฐานะกรรมการมาอยู่ช่วงหนึ่งเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี จึงขอเขียนแทรกเข้ามาในบทความนี้ ด้วยเจตนาที่จะเตือนสติน้องๆ ให้คิดถึงพระดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาที่พวกเราเคารพนับถือว่าเป็นบิดาของวงการแพทย์ไทย และปั้นพระรูปของท่านไว้เตือนใจเราที่หน้าคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งท่านว่า..
“..ในขณะที่ท่านประกอบกิจแพทย์ อย่านึกว่าท่านตัวคนเดียว จงนึกว่าท่านเป็นสมาชิกของ “สงฆ์” คณะหนึ่ง คือคณะแพทย์ ท่านทำดีหรือร้าย ได้ความเชื่อถือหรือความดูถูก เพื่อนแพทย์อื่นๆจะพลอยยินดีเจ็บร้อนอับอายด้วย…”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์