เรื่องไร้สาระ (34) ห้ามสบตา ห้ามยิ้ม (ตอน2)
อาทิตย์ 5 พย.
ตื่นเช้า แช่น้ำร้อน แล้วลงมากินอาหารเช้าของโรงแรมในชุดยูคะตะรองเท้าแตะเช่นเคย แต่คราวนี้ผมเอาลิงมาแบ้คอัพด้วย เพราะสยองจากโจ๊กที่กัปตันเล่าให้ฟังเมื่อคืน
กัปตันเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งกัปตันกับพวกนักขี่มอไซค์บิ๊กไบค์ด้วยกัน 5 คน พากันมาทัวร์ญี่ปุ่นด้วยการขับบิ๊กไบค์ไปตามชนบทป่าเขาแวะนอนตามโรงแรมเรียวกังเล็กๆซึ่งแต่ละเรียวกังก็มักจะมีหญิงแม่บ้านสูงอายุคนหนึ่งมาคอยดูแลความเรียบร้อยและทำอาหารให้กิน ทีมงานจ้างไกด์เป็นคนญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้และเป็นนักขับบิ๊กไบค์ที่ขับไปด้วยกันด้วย วันหนึ่งเข้าพักในเรียวกังเล็ก ใส่ชุดยูคะตะนั่งล้อมวงดื่มเบียร์และกินอาหารเย็นสรวลเสเฮฮากันอยู่ เห็นแม่บ้านยิ้มๆกระซิบกระซาบกับไกด์เป็นภาษาญี่ปุ่น กัปตันจึงถามไกด์ว่า
“แม่บ้านเธอพูดอะไรแปลให้ฟังหน่อยสิ”
ไกด์แปลเสียงดังฟังชัดพร้อมกับชี้ไปที่สมาชิกคนหนึ่งว่า
“เธอบอกว่าให้เพื่อนคนนั้นนั่งให้เรียบร้อยหน่อย เดี๋ยวคนอื่นเอาตะเกียบคีบผิดคีบถูก”
(ฮ้า..ฮะ..ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
เสร็จจากมื้อเช้าเราออกไปเดินย่อยอาหารที่สระน้ำร้อนกลางเมือง มีคนสรวมชุดยูคะตะใส่เกี๊ยะหรือรองเท้าแตะออกมาเดินเล่นก่อนเราแล้วจำนวนมาก บ้างนั่งเอาเท้าแช้น้ำร้อนฟรีกันแต่เช้า ควันไอร้อนสีขาวคุกรุ่นไปทั่ว แม้กระทั่งฝาท่อระบายน้ำทิ้งข้างถนนก็มีควันไอร้อนกรุ่นออกมา เมื่อแดดส่องเฉียงๆก็เกิดเงาเป็นความสวยงามอีกแบบ

แล้วเราก็ออกเดินทางต่อไป วันนี้ต้องมุ่งหน้าตรงไปยังที่หมายไม่มีการแวะที่ไหน เพราะคุณแจ่มวางแผนจะให้ไปปีนขึ้นเขาสูงไปถึงสระน้ำบนเขาชื่อฮัปโป้ (Happo Pond) ซึ่งแปลว่าสระรูปเลขแปด พยากรณ์อากาศบอกว่าวันนี้ฝนตกทั้งวัน แต่เราไม่มีทางเลือกต้องขึ้นเขาวันนี้เพราะมันเป็นวันสุดท้ายที่แชร์ลิฟท์จะเปิด เราจำเป็นต้องอาศัยแชร์ลิฟท์เพื่อประหยัดกำลังขาในช่วงแรกและเพื่อให้ไปกลับได้ทันในหนึ่งวัน เราใช้เวลาสองชั่วโมงขับมาถึงเมืองฮะคุบะ (Hakuba) ซึ่งมีวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นเมืองเกษตรกรรมทำไร่ทำนาอยู่ในหุบเขา แต่การใช้เมืองนี้เป็นฐานจัดโอลิมปิกฤดูหนาวในปีค.ศ. 1998 ได้เปลี่ยนเมืองนี้ให้เป็นสกีรีสอร์ทไปอย่างถาวร

เรามุ่งตรงไปขึ้นแชร์ลิฟท์ซึ่งต้องขึ้นถึงสามทอด ทอดแรกเป็นกระเช้า ทอดที่สองและสามเป็นแชร์ลิฟท์แบบไปยืนรอให้เก้าอี้มาดันก้นก่อนแล้วจึงนั่งลง ขาลุกขึ้นต้องเล็งให้ดีว่าลุกแล้วจะเดินออกไปทางไหน ไม่งั้นโดนเก้าอีตีก้นเอา
พอจบลิฟท์ตัวที่สามคราวนี้ก็เริ่มออกเดิน อากาศครื้มแบบที่ขาเที่ยวเขาเรียกว่า “ฟ้าเน่า” แต่เราไม่ได้มาเอาฟ้า เรามาออกกำลังกาย ทางเดินขึ้นเขาช่วงแรกชัดเจนไม่มีหลง เพราะเป็นทางเดินปูหิน แต่ว่าเป็นหินแบบตะปุ่มตะป่ำต้องค่อยๆเดินไปทีละก้อนไม่งั้นล้ม พอเดินสูงขึ้นไปอากาศเย็นขึ้นๆจนต้นไม้ขึ้นไม่ได้มีแต่เขาหัวโล้นที่อากาศเย็นจัด แต่คนเดินร้อนจนต้องลอกคราบชั้นนอกออก เดินแล้วพัก เดินแล้วพัก ท่ามกลางความขมุกขมัวสลับกับฝนปรอยๆ เดินขึ้นมานานประมาณสองชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงที่หมาย คือสระน้ำฮัปโป้ เหนื่อยจนต้องวางเป้ลงนอนแผ่หราอยู่ที่ริมสระ



พักเหนื่อยอ้อยอิ่งจนใกล้เวลาที่แชร์ลิฟท์ตัวสุดท้ายจะลง แล้วก็ถึงเวลาลง คนหนึ่งว่า
“เออคนเราหนอ ขึ้นมาแทบตายแล้วก็ลง แล้วขึ้นมาทำไมเนี่ย” อีกคนตอบว่า
“จะสมัครใจแข็งตายอยู่บนนี้ก็ไม่มีใครว่าอะไรนะ”
ขาลงอากาศเมฆดูจะเปิดให้มีแสงรำไรสลับบ้าง ทำให้มองเห็นวิวภูเขาด้านข้างทางเดินสวยขึ้น


กว่าเราจะลงลิฟท์กลับมาถึงชั้นล่างก็มืดค่ำพอดี ความอ่อนล้าจากการเดินขึ้นเขาลงเขาทั้งวันทำให้ไม่มีใครเรียกร้องจะดูโน่นดูนี่อีก ต่างพร้อมใจกันตรงเข้าที่พัก ซึ่งเป็นอพาร์ตเม้นท์เล็กๆชื่อ Wadano gateway suites and apartment ออกแบบไปทางฝรั่งเพราะเจ้าของเป็นฝรั่ง คุณแจ่มเล่าว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เจ้าของโรงแรมในฮะคุบะเจ๊งระเนระนาด ต้องขายโรงแรมให้ฝรั่งซึ่งมีลูกค้าขาเล่นสกีประจำอยู่ในมือเป็นแถวๆ


จันทร์ 6 พย.
วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ตื่นสาย เพราะพยากรณ์บอกว่าฝนจะตกทั้งวันจึงไม่มีเหตุที่จะต้องรีบ ออกจากที่พักเราไปเที่ยวชมปราสาทมัตสุโมะโตะ (Matsumoto castle) ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวหนึ่งชั่วโมง มันเป็นปราสาทไม้ดั้งเดิมหนึ่งในสามแห่งที่หลงเหลืออยู่ในประเทศญี่ปุ่นทีมีอายุรอดมาได้ถึง 400 ปี ความเป็นมาของปราสาทแห่งนี้คือเดิมมันผุเหลาเหย่มากจนเทศบาลขายเชียงกงไปแล้ว แต่มีครูใหญ่คนหนึ่งและกก.อบต.อีกคนหนึ่งสองแรงแข็งขันได้กระตุ้นเร่งเร้าให้ชาวเมืองช่วยกันลงแรงจัดงานหาเงินซื้อปราสาทคืนมาและเอาแรงงานชาวบ้านและเด็กนักเรียนซ่อมปราสาทนี้ขึ้นมาใหม่ ความดีของทั้งสองคุณจึงถูกจารึกไว้ที่ทางเข้าปราสาท

ขึ้นชื่อว่าปราสาท ก็ต้องเต็มไปด้วยค่าย คู ประตู หอรบ ที่ยิงปืน ยิงธนู และการตั้งแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ของยุคสมัยนั้นเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ผมสนใจคือโครงสร้างภายในของปราสาทซึ่งเป็นไม้หมด ดูแล้วช่างละม้ายคล้ายคลึงกับบ้านไม่สักโบราณหลังหนึ่งที่มวกเหล็กวาลเลย์ที่ผมกำลังช่วยญาติซ่อมแซมอยู่ ทำให้มีกำลังใจขึ้นว่าหากตั้งใจซ่อมให้ดีมันอาจจะอยู่ไปได้อีกหลายร้อยปีก็ได้ (ถ้าลูกหลานเขาไม่รื้อทิ้งเสียก่อน)
จบการเดินในปราสาทออกมาข้างนอกแล้ว คณะเขาเร่งรัดว่าจะต้องรีบเดินออกทางนี้ แต่ผมเห็นคนแต่งตัวสวยทะมัดทะแมงน่าถ่ายรูปจึงตอบไปว่า
“เดี๋ยว.. ผมขอถ่ายรูปนินจาสาวก่อน”
เธอคงเดาออกว่าผมพูดถึงเธอ เธอรีบแก้ความเข้าใจผิดให้ทันทีว่า
“I am not a Ninja. I am a Samurai”
“ฉันไม่ใช่นินจา ฉันเป็นซามูไร” ผมรีบขอโทษ

“ฮู้ย..ย ขอโทษ ขอโทษ ไปลดศักดิ์ชั้นกันลงแบบยอมรับไม่ได้เลย แต่ไหนๆคุณก็ประกาศตัวว่าเป็นใครแล้ว ไหนลองพิสูจน์ให้ผมเห็นหน่อยสิว่าคุณเป็นของจริง”
เท่านั้นแหละ เธอชักมีดาบยาวเฟื้อยออกมาจากฝักอย่างรวดเร็วจนมีเสียงดัง “เควี้ยว..ว” แล้วก็ทำท่าฟาดฟัน จ้วงแทง เร็วและมั่นคง แล้วยกคมดาบขึ้นพาดเสมอลูกตา ก่อนที่จะสอดปลายมีดกลับเข้าฝักเสียงดังสวบอย่างรวดเร็วไม่ติดขัด แถมด้วยท่าสุดท้ายเธอควักของชิ้นหนึ่งออกมาจากไหนไม่รู้แล้วคลี่ออกเป็นพัดสีฟ้าขาว แล้วยิ้มหยีตาแบบญี่ปุ่น
ผมปรบมือและร้องชม
“บราโว่ บราโว่”
ความฉับไวในเชิงดาบของสาวซามูไรคนนี้ ทำให้ผมนึกถึงตอนผมเป็นเด็กนักเรียนมัธยม นำกองลูกเสือไปถวายบังคมพระจอมเกล้าวันที่ 23 ตุลา แต่ละสถาบันต้องผลัดกันเข้ามาถวายบังคมหน้าพระรูปจำลอง กองที่เข้ามาถวายบังคมก่อนหน้าผมเป็นกองตำรวจซึ่งแต่งตัวด้วยชุดราชปะแตนขาว นำโดยนายตำรวจอายุค่อนข้างมากซึ่งห้อยกระบี่ไว้ที่ข้างเอว พอถึงเวลาท่านก็ตะโกนออกคำสั่งอย่างห้าวหาญว่า
“วันทยาวุธ”
พร้อมกับตัวท่านเองนั้นชักกระบี่ออกมาจากฝักอย่างรวดเร็วเสียงดัง “เชี้ยะ” แล้วชูกระบี่ขึ้นไปบนท้องฟ้า ดูเท่ระเบิด เป็นที่ประทับใจของพวกเราเหล่าลูกเสือวัยรุ่น แต่ไฮไลท์มาถึงตอนที่ท่านออกคำสั่ง
“เรียบ..วุธ”
พร้อมกันนั้นตัวท่านก็เสียบกระบี่เข้าฝัก แต่ท่านเสียบไม่เข้ารู ต้องยักแย่ยักยันในที่สุดต้องเอามือจับปลายกระบี่จ่อปากรูฝักจึงจะเสียบกลับได้ เป็นที่ขบขันแก่พวกเราเหล่าลูกเสือที่เพิ่งชื่นชมท่านมาแหม็บๆ

ออกจากซามูไรมา เราเดินผ่านเด็กนักเรียนระดับประถม มีสองคนพยายามมองหน้าผมและสื่อสารด้วยสายตา ผมยิ้มให้ เธอทั้งสองจึงรวบรวมความกล้าเดินเข้ามาหา มาขอสัมภาษณ์แบบเป็นการบ้านส่งครู โดยที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ผมพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า
“ผมให้สัมภาษณ์คุณได้แต่ผมพูดญี่ปุ่นไม่ได้นะ พูดได้แต่อังกฤษ แล้วคุณพูดอังกฤษได้ไหมละ”
ความที่อยากจะสัมภาษณ์ให้ได้ คนหนึ่งพยักหน้าหงึกๆแล้วพูดออกมาได้หนึ่งคำว่า
“Hello”
จากนั้นก็เป็นรายการแนะนำตัวทีละคน คนแรกเริ่มต้นด้วยการกางโผที่เตรียมมาออกมาอ่านว่า
“My name is ชิโกะ ชิเกะ My school is ชิโกะ ชิเกะ”
จบการสัมภาษณ์ แล้วคนที่สองก็เอาบ้างแบบเดียวกันแต่ว่าตะกุกตะกักกว่ากันมาก คุณครูซึ่งเป็นหญิงวัยราวสี่สิบและยืนดูห่างๆได้เข้ามาช่วยพยายามอธิบายผมว่านี่เป็นโครงการฝึกสอนเด็กให้กล้าแนะนำตัวเอง แต่ผมรู้สึกว่าครูก็ตะกุกตะกักยิ่งกว่านักเรียนเสียอีก ตอนจบครูพยักหน้าเตือนนักเรียน ซึ่งเธอก็นึกขึ้นได้ จึงล้วงเข้าไปในกระเป๋าเอากระดาษชิ้นหนึ่งยื่นให้ผมและพูดอะไรเป็นภาษาญี่ปุ่นยาวเหยียด คุณแจ่มแปลว่านี่เป็นงานฝีมือของเธอขอมอบให้ผม ผมโค้งคำนับเธอ แล้วก็คำนับกันไปคำนับกันมา ผมหันไปบอกคุณแจ่มให้กระซิบถามคุณครูหน่อยว่าผมจะให้เงินเด็กได้ไหม คุณครูสั่นหน้าแบบรัวๆพูดว่า
“อุน อุน อุน อุน..น น น น น”
ผมจบการสนทนาด้วยการโค้งคำนับเด็กทั้งสองกลางถนนแบบกึ่งล้อเล่น แต่คุณครูและเด็กๆต่างรีบโค้งคำนับตอบอย่างจริงจังขมีขมัน โค้งกันไปโค้งกันมาอยู่กลางถนนจนผมเห็นนักท่องเที่ยวบางคนอมยิ้มและแอบถ่ายรูปไว้
คุณแจ่มเล่าว่าพวกเพื่อนๆเข้ามาชื่นชมหนูน้อยทั้งสองกันใหญ่ว่าเก่งจังกล้าจังที่สัมภาษณ์คนต่างชาติได้สำเร็จ

เราออกจากปราสาทเพื่อไปเที่ยวต่อ จุดถัดไปที่แวะคือสวนโออิเดะ (Oide Park) ซึ่งเป็นสวนสวยมีบ้านญี่ปุ่นเก่าๆหลายหลังและมีทิวทัศน์รอบๆดีมากหากท้องฟ้าใสดีมีหิมะบนยอดเขาเป็นฉากหลัง ไม่มีใครมาเที่ยวที่นี่เลย แต่แม้จะเป็นวันฟ้าเน่าอย่างนี้ที่นี่ก็ยังเป็นสถานที่ประทับใจของผมมากที่หนึ่ง เพราะผมเป็นคนชอบอะไรเก่าๆแบบบ้านๆ
เดินชมบ้านและธรรมชาติได้ราวหนึ่งชั่วโมงก็ถูกฝนไล่จนเราต้องขึ้นรถไปข้างหน้ากันต่อ



เราไปขึ้นแชร์ลิฟท์เพื่อไปดูวิวบนยอดเขาอิวาตาเกะ (Iwatake) แม้ฝนจะตกพรำๆ ฟ้าจะดำ ไม่เห็นหิมะบนยอดเขา เราก็ไม่ยั่น อย่างน้อยก็มีรุ้งกินน้ำให้ดูละวะ
ที่บนเขานี้มีชิงช้าให้นั่งสองแบบ แบบเตี้ยซึ่งโยกเอาเอง กับแบบสูงซึ่งต้องให้เขาลากขึ้นไปไปอยู่บนเนินแล้วนับถอยหลังเคานท์ดาวน์แบบปล่อยจรวด แล้วเขาก็ตัดหางเชือกปล่อยให้ชิงช้าแกว่งไปมองดูวิวไปโดยไม่ต้องกลัวหล่น เพราะเขามีเซฟตี้ล็อคแน่นหนาอยู่ เว้นเสียแต่ว่าหากเกิดฮาร์ทแอทแทค หัวห้อยร่องแร่งลงมา อันนั้นน่าจะอยู่นอกเหนือการประกันใดๆ
พวกเราผลัดกันลองชิงช้าแบบโยกเองเตี้ยๆ ซึ่งหากขยันดันตัวเองก็จะแกว่งขึ้นไปได้สูงจนเชือกสลิงหย่อนแล้วปล่อยตัวเองให้ร่วงลงมาด้วยความหวาดเสียวก็ทำได้ มีกัปตันคนเดียวที่สมัครใจโล้ชิงช้าแบบปล่อยจรวด โดยมีพวกเราเป็นกองเชียร์ จะว่าไปแล้วตรงชิงช้าแบบปล่อยจรวดนี้มีวิวดีกว่าชิงช้าแบบโยกเอง

เสร็จจากโล้ชิงช้าก็เป็นเวลาค่ำ เรากลับเข้าที่พักที่เดิมในเมืองฮะคุบะ

อังคาร 7 พย.66
วันนี้ฝนตกพรำๆ เราขับออกจากเมืองฮะคุบะเพื่อไปยังอุทยานแห่งชาติคามิเคาชิ (Kamikuochi) สถานที่แห่งนี้เอารถส่วนตัวเข้าไปไม่ได้ มีแต่รถ ขสมญ. (ขนส่งมวลชนญี่ปุ่น) เท่านั้นที่จะเข้าไปได้ เราต้องไปจอดรถทิ้งไว้แล้วนั่งรถเมลขสมญ.ต่อ ปลายสุดของรถเมลไปถึงสะพานคัปปะ (Kappa Bridge) ซึ่งเป็นสะพานดังจากนิยายโดยนักเขียนดังรุ่นดั้งเดิมของญี่ปุ่น จึงมีนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด สะพานนี้ไม่ใช่ของจริง เป็นสะพานรุ่นที่ 5 ซึ่งสร้างแล้วสร้างอีกหลังจากถูกน้ำพัดพังครั้งแล้วครั้งเล่า


เราใช้เวลาที่เหลือของวันนี้เดินป่าในคามิเคาชิ ข้ามแม่น้ำชื่ออะซุสะ (Azusa river) เลยไปนิดเดียวก็เป็นจุดที่มีวิวสวยซึ่งเราแวะปิคนิคกันที่นี่จากนั้นก็เดินไพรไปยังโรงแรมที่พักชื่อ Kamikouchi onsen hotel ซึ่งตั้งอยู่ในป่าสงวนนี้เอง

พุธ 8 พย.66
วันนี้แดดดี เรากะเดินป่าเช้าจรดเย็น เริ่มต้นด้วยการออกจากประตูโรงแรมมาชม “แม่คะนิ้ง” หรือเกล็ดน้ำแข็งที่จับอยู่ตามใบไม้ก่อน จากนั้นก็เริ่มออกเดินป่าอย่างจริงจัง มุ่งขึ้นไปทางเหนือ เดินผ่านหนองน้ำดะเคะซะวะ (Dakesawa Marsh) ซึ่งมีความสวยงามและเป็นธรรมชาติมากเสียจนต้องนึกของคุณคนญี่ปุ่นที่สงวนรักษาธรรมชาติที่สวยงามอย่างนี้ไว้ให้คนทุกชาติทุกภาษาได้มีโอกาสมาชื่นชม


เส้นทางเดินป่าบางตอนก็เป็นป่าสนสีเขียว บางตอนก็เป็นป่าไม้เบิร์ชซึ่งมีแต่ลำต้นสีขาว บางตอนก็เป็นป่าแห้งที่ใบไม้ร่วงไปหมดแล้ว
เดินเลียบไปตามทางน้ำใสไหลเย็น ที่ใสแจ๋วจนมองเห็นก้อนกรวดทุกเม็ด ปลาทุกตัว และสาหร่ายสีเขียวบ้าง สีดำบ้าง
เดินไปหลายกม.ในที่สุดก็มาถึงศาลเจ้าเล็กๆชื่อศาลโอคุโนะมิยะ (Hataka-jinja Okunomiya) เป็นปากทางเข้าไปสู่บึงน้ำที่ใช้ประกอบพิธีโบราณชื่อบึงเมียวจิน (Myojin Pond) แบ่งเป็นสองสระ หลวงพี่ล้อมรั้วสระทั้งสองไว้เพื่อเก็บเงินค่าเข้าไปดูสระ ผมแอบมองผ่านรั้วก็รู้แล้วว่าหลวงพี่ใช้ลูกเล่นหาเงินกับคนที่ยังไม่บรรลุธรรมซึ่งเดินมาสุดปลายทางแล้วอยากจะหาอะไรสักอย่างไว้เป็นป้ายบอกชัยชนะของตัวเองว่าทำสำเร็จแล้ว แต่รู้ทั้งรู้ ผมก็ซื้อตั๋วเข้าไปดู ซึ่งก็พบว่าไม่มีอะไรจริงๆ แต่ไหนๆก็เสียเงินเข้าไปแล้ว จึงถ่ายภาพความไม่มีอะไรมาให้ท่านดูด้วยจะได้คุ้มค่าเงิน

เราเดินเลียบน้ำต่อไปจนถึงสะพานเมียวจิน จึงข้ามสะพานมาหาที่นั่งปิคนิคแบบยาจกกินอะไรกันไปตามมีตามเกิดที่นี่ ในหน้าร้อนที่นี่เป็นโรงแรมสำหรับนักเดินป่าที่น่าจะคึกคัก แต่ตอนนี้ปิดหมดแล้ว แม้แต่ส้วมยังปิดเลย

อิ่มกันดีแล้วเราเดินเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันออกเพื่อลงไปทางใต้สุด ระหว่างทางเจอลิงพันธุ์ตัวใหญ่หน้าแดงแจ๊ดหกเจ็ดตัวตั้งทัพซุ่มรออยู่ข้างทางข้างหน้า สมาชิกท่านหนึ่งว่า
“มันจะปล้นเรากระมัง”
ผมจำได้ว่าคุณแจ่มเคยสั่งเสียไว้ว่าเมื่อเจอลิง
“ห้ามสบตา ห้ามยิ้ม”
เธอว่าเพราะการสบตาเป็นการสื่ออารมณ์กลัวกันและกันซึ่งจะนำไปสู่การชิงลงมือก่อนเพื่อระงับความกลัวของตัวเอง ยิ่งการยิ้มยิ่งไม่ได้เลย เพราะสำหรับลิงไม่มีการยิ้ม มีแต่การแยกเขี้ยวใส่กัน ซึ่งนั่นหมายถึงสัญญาณที่พร้อมจะเข้าห้ำหั่น
พวกเราจึงเล่นบทจ่าเฉย เดินไปทำไม่รู้ไม่ชี้ มาถึงหน้าพวกมันแล้วพบว่าพวกมันก็ทำตัวแบบจ่าเฉยเหมือนกัน คือทำเป็นมองไม่เห็นเรา แล้วเดินเป็นขบวนไปตามทางนำหน้าบ้างตามเราบ้างเฉยเลย ทำทีเหมือนว่าไม่มีพวกเราอยู่ในป่านี้ จนมันเบื่อเล่นละครแล้วจึงแยกย้ายพากันออกจากทางเดิน ไปนั่งเด็ดใบไม้ไผ่เตี้ยเคี้ยวกินกันตุ้ยๆ

เรามาตั้งต้นเดินป่าภาคบ่ายกันที่ทะเลสาปที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดอยู่ทางใต้สุดชื่อทาอิโชะ (Taisho Pond) แล้วเดินเลียบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำขึ้นมา มาถึงตอนนี้ขาของพวกเราชักล้าแล้วเพราะเดินกันมาแล้ว 7 ชั่วโมง การแวะถ่ายรูปจึงน้อยลง ป่าส่วนนี้เป็นป่าไม้เบิร์ชแห้งโกร๋น ทางเดินบางช่วงผ่านสะพานไม้เล็กๆยาวเหยียดมีน้ำใสเหมือนกระจก ตะวันเริ่มคล้อยต่ำจะลับเหลี่ยมเขา เราเร่งฝีเท้าเพื่อให้กลับถึงที่พักก่อนมืด เพราะคุณแจ่มเล่าว่าที่นี่หากมืดแล้วแขกยังไม่กลับที่พักโรงแรมจะถือว่าหลงป่าแล้วจะเริ่มกระบวนการค้นหา ซึ่งเราไม่อยากมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นคนที่ทำให้คนอื่นเขาต้องมาค้นหาเรา




พฤหัส 9 พย.
เช้าวันนี้คุณแจ่มบอกว่าเราต้องขับรถตียาวไปทะเลสาปทั้งห้าเพื่อให้ทันได้ดูวิวแถบนั้นและทันเข้าร่วมงานฟูจิเฟสติวัลเพราะวันนี้แดดดี วันพรุ่งนี้ฝนจะตก ผมต่อรองว่าขอแวะดูเมืองนารายกูจิ เพราะผมมาญี่ปุ่นตั้งหลายวันแล้วยังไม่ได้เห็นญี่ปุ่นของจริงที่ผมอยากเห็นเลย เมืองนี้ฟังว่าเป็นตำบลในสมัยเอโดะซึ่งใน 150 ปีหลังมานี้ยังคงวิถีชีวิตและเอกลักษณ์เดิมไว้เหนี่ยวแน่นจนผมอยากไปสัมผัส ทุกคนต่างช่วยดูแผนที่แล้วว่าไม่เห็นมีเมืองชื่อนี้เลย ดูไปดูมา นี่ไง หมู่บ้านนะระอิ-จุกุ (Narai-juku) อยู่ตำบลนะระอิ (Narai) อำเภอชิโอะจิริ (Shiojiri) จังหวัดนะงะโนะ (Nagano) โถ ขออำไพ หนูจำชื่อผิด กัปตันบอกว่า
“ไม่เป็นไร วันนี้ถือว่าเราไปสำรวจเมืองใหม่”


การได้มาเดินที่หมู่บ้านระงะอิจุกุนี้ทำให้ผมดีใจเทียบกับได้ขึ้นสวรรค์เลยเชียว เพราะมันเป็นหมู่บ้านคลาสสิกที่หยุดเวลาไว้ได้เป็นร้อยปี แถมปลอดนักท่องเที่ยวอีกต่างหาก ผมเดินผ่านร้านขายของกินที่มีคุณปู่คุณย่าสองคนอายุบวกกันเหยียบสองร้อยให้บริการอยู่ เห็นข้าวหนึกงาแบบที่ผมเคยกินสมัยเป็นเด็กอยู่ภาคเหนือก็สั่งมากิน อยากจะได้ชาเขียวร้อนๆแต่ไม่รู้จะบอกคุณปู่ว่าอย่างไร พูดอะไรไปก็ไลฟ์บอยเพราะคุณปู่ไม่รู้เรื่อง แต่ท่านก็หยิบไอโฟนขึ้นมาพยายามใช้กูเกิ้ลทรานสเลชั่นสื่อสารกับผมแต่ไม่เป็นผล ผมทำท่าซดน้ำชาร้อนๆท่านเข้าใจและชี้ไปที่กระติกน้ำร้อน แต่ผมอยากได้ชาเขียวท่านไม่เข้าใจ ผมก็ไม่รู้จะใบ้คำว่าชาเขียวยังไง ต้องไปเรียกคุณแจ่มมาช่วย ท่านจึงชี้ว่าชาเขียวใส่ไว้ในถ้วยให้แล้วทางนั้น เอาไปต้มกินเองเลยฟรีไม่คิดเงิน

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมดีใจทึ่ได้มาที่นี่วันนี้เพราะเดินเที่ยวไปสองสามรอบผมสรุปได้เลยว่าหากผมยังไม่ตายและกลับมาที่นี่อีกในสิบปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นที่นี่จะไม่มีแล้ว เพราะเท่าที่ผมเห็น ทั้งผู้ค้าผู้ขายก็ดี ผู้พักอาศัยในเมืองก็ดี ลูกค้าที่มาซื้อของก็ดี ล้วนแล้วแต่อยู่ในวัยระดับ “เดอะ” คือแปดสิบถึงเกินร้อยแล้วทั้งนั้น เมื่อคนรุ่นนี้ตายไป คนรุ่นหลังใครเขาจะมาขายข้าวหนึกงานแถมชาเขียวร้อนๆฟรีอีกต่อไปละครับ
ออกจากนะระอิ-จุกุ เราขับมุ่งหน้าไปทะเลสาปทั้งห้าที่ตีนภูเขาไฟฟูจิ เป้าหมายคือเพื่อสนองความโลภทางสายตาคือไปดูใบไม้แดงที่นั่น ทั้งๆที่ดูกันมาแบบแดงจนไม่รู้จะแดงยังไงแล้ว หิ หิ
เราขับแวะดูตรงนั้นตรงนี้ สุดแล้วแต่เขาว่าแดงที่ไหนก็ไปกันที่นั่น

แล้วไปจบที่งานเทศกาลประจำปีชมอุโมงค์ใบเมเปิ้ล โมมิจิ ไคโร (Momiji Kairo) ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบคาวากูชิโกะ เลียบแม่น้ำสายเก่า Nashikawa ป็นจุดชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยสุดโรแมนติกแห่งหนึ่งในแถบภูเขาฟูจิ พอจอดรถเข้าไปในงานก็พบว่ามีผู้คนล้นหลามพูดกันล้งเล้งจ๊งเจ๊งเสียงดังลั่น ประมาณ 50% เป็นภาษาไทย หิ..หิ


ในงานมีอาหารให้ซื้อกินแบบงานวัด ผมซื้อบะหมี่โซบะร้อนๆได้หนึ่งชามก็หาที่นั่ง อากาศเย็นยะเยือก ท้องฟ้าเพิ่งเปิดให้เห็นภูเขาไฟฟูจิ หากหรี่ซาวด์แทร็คให้เบาลงหน่อย และโฟกัสที่แบ้คกราวด์ของภาพคือฟูจิ ก็จะยังได้ความรู้สึกว่าเป็นประเทศญี่ปุ่นอยู่

อิ่มกันดีแล้วเราเข้าโรงแรมที่พัก แต่เดิมจะพักแถวนี้แต่มัวชักเข้าชักออกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาที่พักแถวนี้เต็ม คุณแจ่มจึงอาศัยบารมีของเพื่อนได้ที่พักในชนบทไม่ไกลชื่อเป็นภาษาเยอรมันว่า ไอเน่ เพาเซ่ (Iine Pause) พอเข้าไปข้างในก็มีรายการเซอไพรส์เพราะหญิงญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของชื่อยูจิโกะเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกันกับคุณแจ่มจึงทักทายกันวิ้ดว้ายกระตู้วู้ สักพักก็มีผู้ชายไทยโผล่ออกมาทักทายว่า
“สวัสดีครับ”
คุยกันไปคุยกันมาเป็นสามีของยูจิโกะ อ้าว เธอแต่งงานกับคนไทยเหรอ เป็นเซอร์ไพรส์ดอกที่สอง

พอรู้ว่าเจ้าของโรงแรมเป็นของคนไทย พวกเราก็เกิดความย่ามใจ เอากิจกรรมที่แอบทำในห้องนอนมาทำที่ห้องโถง เอาเบียร์มาดื่ม กัปตันเอาเครื่องบดกาแฟมาบดแกร๊ก แกร๊ก สามีของโยจิโกะชื่อคุณยันเป็นนักดนตรีด้วยทั้งเปียโนกีต้าร์โดยเปิดดนตรีแบ้คอัพจากอินเตอร์เน็ทแล้วเล่นลีดเมโลดี้ เขาเล่นเพลงบลูส์ให้ฟัง แล้วเล่นเพลงญี่ปุ่นชื่อซูบารุ ผมร้องเพลงญี่ปุ่นไม่เป็น จึงร้องเพลงไทยของดอน สอนระเบียบ ซึ่งแอบใช้ทำนองเดียวกัน
“เหม่อมองฟ้าคืนนี้แสงดาวเรียงรายสวยเด่น
แต่ใจฉันคืนนี้สุดแสนลำเค็ญหม่นหมาง”

ยูจิโกะแม้จะเป็นคนญี่ปุ่นแต่ก็พูดไทยได้คล่อง และรู้ธรรมเนียมคนไทยเป็นอย่างดี มีอัธยาศัยน่ารักจนผมไม่ลังเลเลยที่จะแนะนำแฟนบล็อกหมอสันต์ให้มาใช้บริการโรงแรมเล็กๆในชนบทของเธอ เธอถามผมว่า
“คุณหมอเป็นมังสะวิรัติ กินไข่ขนได้ไหมคะ”
กัปตันฟังแล้วรีบแก้ไขให้ว่า
“ไข่คน ไม่ใช่ไข่ขน”
ผมนึกในใจว่า หึ หึ แค่เรียก scramble egg ว่า “ไข่คน” นี่ผมก็จั๊กจี้มากแล้วนะ พอมาเรียกว่า “ไข่ขน” นี่ ผมสยองเลย
ถึงตอนนี้คุณแจ่มเล่าเสริมว่าช่วงหนึ่งของชีวิตเธอมีอาชีพสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่น มีลูกศิษย์มาเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ เธอสอนให้ผลัดกันแนะนำตัวเองทีละคน ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นแพทย์หญิง เธอแนะนำตัวเองว่า
“ดิฉันเป็นหม้อ”
ฮ้า..ฮ่า..ฮ่า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
ศุกร์ 10 พย.
เช้านี้ฝนตกพรำอีกแล้ว เราขับรถออกจากที่พักเพื่อไปเที่ยวหมู่บ้านน้ำใส (Oshino Hakkai) ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังอันดับหนึ่ง พอขับไปถึงลงจากรถเข้าไปหลบฝนที่ร้านอาหารและของฝากก็ต้องเผชิญกับฝูงชนและเสียงอันดังร้องเรียกกันให้เต๊ะท่าถ่ายรูป เดี๋ยวมินิฮาร์ท เดี๋ยวยกแม่โป้ง(มือ) ทำให้คณะของเราต้องสลายตัวเป็นตัวใครตัวมันอย่างรวดเร็ว ผมเดินตากฝนพรำเข้าซอยย่อยลงไป ย่อยลงไป เพื่อให้ไกลฝูงชน เดินมาจนถึงทางแยกเล็กมาก มีป้ายเล็กๆว่า Choshi-Ike Pond แปลว่าสระขวดเหล้าสาเก มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษว่าเป็นสระที่หญิงสาวในชุดแต่งงานมือหนึ่งถือขวดเหล้าสาเกมาโดดน้ำตายที่นี่ ผมร้องฮ้อทันที วังบัวบาน ใช่แล้ว สระนี้ควรมีชื่อภาษาไทยว่าวังบัวบาน

ผมเดินเข้าไปเป็นสระเล็กขนาดไม่เกิน 80 ตรม.รูปทรงแบบน้ำเต้า ล้อมรั้วไม้ไผ่ไว้โดยรอบ อากาศเย็น ฝนตกพรำๆ น้ำนิ่งและใส มีผมมาดูอยู่คนเดียว อดไม่ได้ต้องฮัมเพลงขึ้น
“..เอาวังน้ำไหลเย็น นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม เป็นเสียงประโคมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย..”
พอผมฮัมเพลงจบ บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ขึ้นทันที ยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีกเมื่อมีหญิงสาวญี่ปุ่นสองคนเข้ามาอย่างเงียบๆแล้วพูดอะไรกับบ่อน้ำเบาๆเหมือนสวดมนต์ แล้วโบกมือลาก่อนจากไป แน่นอนเธอไม่ได้ลาตาแก่ดอก เธอลาเจ้าสาวบัวบาน ผมเดินตามหลังออกมาเพื่ออ่านป้ายให้ละเอียดอีกที อ้อ.. ที่นี่เป็นที่คนมาขอพรให้บัวบานเป็นแม่สื่อให้สำเร็จเรื่องชีวิตรัก มิน่า..

ผมชักชอบชายขอบของหมู่บ้านน้ำใสนี้เสียแล้ว จึงเดินต่อไปในทิศทางออกไปนอกหมู่บ้านอีก เดินทวนกระแสน้ำไปจนเข้าคลองซอยเล็กลงๆจนนำมาถึงบ่อต้นน้ำเป็นหลุมขนาดเล็กประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งเมตร น้ำดูนิ่งสนิท แต่สังเกตให้ดีจะพบว่าปลาตัวหนึ่งที่อยู่กลางบ่อนั้นทำท่าเอาหัวดิ่งลงเหมือนเครื่องบินกำลังจะแลนดิ้งและมันขยับครีบทวนกระแสน้ำไว้ตลอดเวลา ประกอบกับอาการของสาหร่ายทั้งหลายที่ปากบ่อนั้นลู่กระจายเหมือนโดนน้ำพัดอย่างแรง เมื่อผมตามน้ำไปดูจนพ้นปากบ่อเข้าคลองระบายจึงรู้ว่าน้ำที่ไหลขึ้นมาจากบ่อนี้มีปริมาณมากจนน้ำในคลองไหลเชี่ยวกรากได้ ทั้งๆที่ผิวบ่อนั้นนิ่ง น่าอัศจรรย์


ออกจากหมู่บ้านน้ำใสเราไปเที่ยวศาลเจ้ามรดกโลกอีกแห่งชื่อฟุจิโยชิดะเชนเกน (Kita guchi hongu Fuji Sengen Shrine) เป็นศาลเจ้าที่เก๋าและสวยงามอีกแห่งหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในวันนี้คือต้นแป๊ะก๊วยต้นใหญ่ของศาลเจ้าออกใบเหลืองร่วงหล่นเต็มพื้นพอดี คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมว่าหน้านี้ต้องมาถ่ายรูปครอบครัวพร้อมหน้าบนลานแป๊ะก๊วยสีเหลือง คุณพ่อใส่สูทผูกเน็คไท คุณแม่สวมกระโปรงดำสวมเสื้อโค้ทดำ คุณลูกๆสวมชุดกิโมโนหลากสีน่ารัก ผมขออนุญาตคุณแม่ถ่ายรูปคุณลูกคู่หนึ่งไว้ คนที่ไม่มีลูกก็เอาหมามาถ่ายรูปแทน บางครอบครัวมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายมาด้วย คุณแจ่มเล่าว่าผู้หญิงญี่ปุ่นสูงอายุเดี๋ยวนี้หันไปนิยมเลี้ยงหุ่นยนต์หมาและหุ่นยนต์คนแทนของจริงเพราะเลี้ยงง่ายกว่า แต่วันนี้ผมยังไม่เห็นใครเอาหมาหุ่นยนต์มาถ่ายรูปที่นี่
แล้วขับรถขึ้นไปเที่ยวเขาฟูจิชั้นที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่รถขึ้นได้แต่ไม่เห็นอะไรเลยเพราะต้องกรำฝนและม่านหมอกหนาทึบทั้งขาขึ้นขาลง กลับมาถึงโรงแรมคุณแจ่มได้ชวนเพื่อนซึ่งชำนาญพื้นที่แถบนี้มาพาเที่ยว ผมเผอิญไม่ได้ขออนุญาตท่านไว้จึงขอไม่เอ่ยนาม ท่านพาไปกินข้าวร้านญี่ปุ่นที่อร่อยและคลาสสิกระดับนั่งแล้วลุกไม่ขึ้นเพราะไม่ใช่ที่นั่งแบบมีหลุมให้หย่อนขาได้ แล้วท่านพาไปเที่ยวงานวอลค์ วอลค์ วอลค์ เพื่อชมใบไม่เปลี่ยนสีตอนกลางคืนได้รับความเพลิดเพลินมาก

รุ่งขึ้นเพื่อนคุณแจ่มจัดการจองรถไฟเข้าโตเกียวให้ และตามมาสั่งเสียให้ขึ้นตู้หมายเลข 6 นะ อย่าขึ้นผิด ก่อนขึ้นให้ดูตัวเลขบนพื้นชานชะลาและยืนให้ตรงเลข ขึ้นไปแล้วให้ซุกกระเป๋าไว้ที่หลังม้านั่งตัวสุดท้ายของตู้จะมีซอกนิดหนึ่งพอให้ซุกกระเป๋าใหญ่เข้าไปได้ ที่นั่งเบอร์ 7ab8a แจ้งนายตรวจแยกสองอย่างว่าจ่ายเงินด้วยตั๋ว แต่จองที่นั่งด้วยอินเตอร์เน็ท โห.. สั่งเสียละเอียดยิบนับเป็นพระคุณจริง
เราบอกลาคุณแจ่มกับเพื่อนเธอ และกัปตัน ซึ่งทั้งหมดมีนัดกันต่ออีก จากนี้เราต้องไปต่อของเราเองในโตเกียว ซึ่งเป็นเรื่องของการเดินตาม ม. จับจ่ายซื้อของไม่น่าจะมีอะไรตื่นเต้ล ผมจึงขอจบเรื่องไร้สาระ (34) ไว้เพียงแค่นี้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์